‘เต้น’เชื่อนิรโทษฯเกิดปรองดอง
‘วราเทพ’ระบุพ.ร.ก.ต้องเป็นเรื่องเร่งด่วน
“ณัฐวุฒิ” เชื่อการออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรมจะสร้างความปรองดองของคนในชาติได้ ด้าน “วราเทพ” ระบุการออก พ.ร.ก. ต้องเสนอโดยคณะรัฐมนตรีเท่านั้น เป็นเรื่องเร่งด่วนเกี่ยวกับความปลอดภัยและความมั่นคง
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และแกนนำ นปช. กล่าวถึงข้อเสนอของกลุ่ม นปช. ที่เรียกร้องให้รัฐบาลออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรมนักโทษการเมือง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550-31 ธันวาคม 2554 ให้มีผลนิรโทษกรรมกับประชาชนทั้งสองฝ่ายว่า การเสนอกฎหมายดังกล่าวเพราะ นปช. มองว่ากลุ่มคนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองหลังเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อปี 2549 เป็นต้นมา ไม่ได้มีพื้นฐานเป็นอาชญากร แต่เป็นสุจริตชนที่แต่ละคนรู้สึกว่าตนเองเป็นผู้ถูกกระทำและไม่ได้รับความเป็นธรรมทางการเมือง จึงออกมาต่อสู้ตามอุดมการณ์เพื่อประชาชนเท่านั้น
แต่เมื่อต้องคดีความก็ควรได้รับโอกาสจากกระบวนการยุติธรรม เพราะเมื่อเทียบเคียงกับอาชญากรที่ก่อคดีอุกฉกรรรจ์ต่างๆแล้วก็ยังมีช่องทางจะได้รับโอกาสจากกระบวนการยุติธรรม และเมื่อตัดเงื่อนไขที่แกนนำของทุกกลุ่มจะได้รับออกไป ก็จะลดเงื่อนไขความขัดแย้งได้มากพอที่จะเดินหน้านิรโทษกรรมให้กับประชาชนทุกสีเสื้อได้ จึงนำมาสู่เหตุผลที่แกนนำ นปช. ยื่นข้อเสนอเรื่อง พ.ร.ก.นิรโทษกรรมให้รัฐบาลพิจารณา
“แกนนำ นปช. เห็นว่าประชาชนที่บริสุทธิ์ควรได้รับโอกาสจากกระบวนการยุติธรรม ซึ่งการยื่นอิสรภาพให้กับประชาชนที่ต้องคดีหรือถูกจองจำน่าจะเป็นช่องทางหนึ่งที่สร้างความปรองดองและสามัคคีของคนในชาติได้ต่อไป เพราะถ้าประชาชนรวมทั้งเพื่อนร่วมอุดมการณ์กังวลและรู้สึกว่าตัวเองได้รับความอยุติธรรม ความปรองดองก็จะเกิดขึ้นได้ยาก และ พ.ร.ก.นิรโทษกรรมที่เสนอจะมีผลเฉพาะประชาชนเท่านั้น” นายณัฐวุฒิกล่าว
ต้องเป็นเรื่องเร่งด่วน
นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า เรื่องดังกล่าวยังไม่มีการพูดคุยกันในส่วนของรัฐบาลในขณะนี้ และยังไม่ทราบรายละเอียดแนวทางของผู้เสนอ
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีแนวทางความเป็นไปได้ที่จะนำ พ.ร.ก.นิรโทษกรรมเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือไม่ นายวราเทพกล่าวว่า จากความเห็นส่วนตัวการที่จะมีการออก พ.ร.ก. รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจนในมาตรา 184 เรื่องของหลักการและเงื่อนไขในการออก พ.ร.ก. ตัวอย่างเช่น ต้องมีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นสาธารณะ ความปลอดภัยของประเทศ ความมั่นคงของเศรษฐกิจ ภัยพิบัติต่างๆ รวมทั้งยังมีเรื่องของความจำเป็นเร่งด่วนที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ เหล่านี้จะเป็นเงื่อนไขสำคัญในการพิจารณาว่าจะออกเป็น พ.ร.ก. ได้หรือไม่
รัฐยังไม่มีการหารือ
“ผมยังไม่ทราบถึงรายละเอียดที่ผู้เสนอต้องการให้นำเรื่องนี้ให้รัฐบาลพิจารณา เพราะฉะนั้นคงต้องดูว่ารายละเอียดข้อเสนอนั้นเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนดหรือไม่ ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นการพูดกันโดยไม่มีการหารือ ผมคิดว่าอาจเกิดความสับสน แต่หากมีการหารือหรือรับข้อมูลอย่างชัดเจนแล้วคงจะได้รับความเห็นมากขึ้น แต่ในชั้นนี้ขอให้ความเห็นในข้อกฎหมายก่อน”
ต่อข้อถามที่ว่า ในภาพรวมของรัฐบาลยังไม่มีแนวคิดที่จะออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรมใช่หรือไม่ นายวราเทพกล่าวว่า ขณะนี้อำนาจในการออก พ.ร.ก. เป็นอำนาจที่รัฐธรรมนูญให้เป็นของคณะรัฐมนตรี ซึ่งต้องดำเนินการตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 ในขณะนี้ยังไม่มีการพูดคุยกันในรายละเอียดจึงไม่สามารถออกความเห็นได้
3 สถาบันขอเวลาอีกระยะ
ขณะที่ ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยถึงการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญว่า ได้สอบถาม รศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาแล้ว ทราบว่า นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เชิญคณะนิติศาสตร์ และคณะรัฐศาสตร์จาก มธ. มหาวิทยาลัยรามคำแหง และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาหารือเกี่ยวกับประเด็นแก้รัฐธรรมนูญ 3 ประเด็นแก้ไข ซึ่งต้องเป็นความเห็นทางวิชาการในนามคณะ ไม่ใช่มหาวิทยาลัย
ศ.ดร.ศักดา ธนิตกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผู้แทนของคณะที่เข้าไปร่วมประชุมกับนายพงศ์เทพกลับมารายงานผลให้ทราบแล้ว แต่ขณะนี้ยังต้องขอเวลาคิดอีกระยะหนึ่ง และมีขั้นตอนต้องปรึกษากับคณาจารย์ที่เชี่ยวชาญด้านนี้ภายในกรอบที่ได้รับมอบมา ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าเรื่องนี้จะเคลื่อนไปอย่างไร จะทันระยะเวลา 60 วันหรือไม่
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น