วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ส.ส.-ส.ว.คัดค้านและไม่ยอมรับการใช้อำนาจที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญ

ส.ส.-ส.ว.คัดค้านและไม่ยอมรับการใช้อำนาจที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญ




ส.ส.-ส.ว.คัดค้านและไม่ยอมรับการใช้อำนาจ
ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญ

เรื่อง    คัดค้านและไม่ยอมรับการใช้อำนาจที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญ

เรียน    พี่น้องประชาชนที่เคารพทุกท่าน

อ้างถึง  มติคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2556 และวันที่ 11 เมษายน 2556
กรณีรับคำร้องเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภาไว้พิจารณา 
                                ตาม ที่นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภาได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2556 กล่าวอ้างว่าการที่ประธานรัฐสภา และสมาชิกรัฐสภารวม 312 คน ได้เสนอและพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 68 ถือเป็นการล้มล้างการปกครองฯ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตาม วิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และต่อมานายบวร ยสินทร ได้ยื่นคำร้องในกรณีเดียวกันอีก ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2556 และวันที่ 11 เมษายน 2556 รับคำร้องทั้งสองฉบับไว้พิจารณา นั้น
                   ข้าพเจ้าในนามสมาชิกรัฐสภาทั้ง 312 คน ซึ่งเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ขอเรียนว่า การรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณานั้น เป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และหลักการพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุขอย่างชัดแจ้ง จึงเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจ ดังเหตุผลที่จะเรียนให้ทราบดังต่อไปนี้
                                ข้อ 1.  ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคำร้องกรณีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภาไว้พิจารณา
                   1.1  ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลที่มีอำนาจหน้าที่เฉพาะตามที่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องให้อำนาจไว้เท่านั้นเรื่องใด ที่รัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติให้อำนาจไว้โดย ชัดแจ้ง ศาลรัฐธรรมนูญย่อมไม่มีอำนาจที่จะรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาวินิจฉัยได้ และการที่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลย่อมต้องดำเนินการให้เป็นไปโดยยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา  197 ของรัฐธรรมนูญ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญต้องผูกพันและปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเช่นเดียว กับศาล และองค์กรอื่นๆตามรัฐธรรมนูญ การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องในเรื่องที่ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตนไว้ พิจารณา ย่อมเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
                   การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะให้เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาในหมวด 15 มาตรา 291 โดยกำหนดถึงผู้ที่จะเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ข้อห้ามในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ วิธีการเสนอญัตติ กระบวนการหรือขั้นตอนในการพิจารณา และลงมติในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม รวมถึงขั้นตอนการนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯและประกาศใช้ ทั้งนี้ ไม่มีถ้อยคำใดในมาตรา 291หรือมาตราอื่นในรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปตรวจสอบกระบวน การเสนอและพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญได้เลย และไม่มีหลักการในรัฐธรรมนูญ หรือบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบความชอบด้วย รัฐธรรมนูญของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมได้เช่นกัน อัน แตกต่างกับการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และการตราพระราชบัญญัติที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่จะตรวจสอบความ ชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างหรือพระราชบัญญัติดังกล่าวได้
                   1.2  อำนาจการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภานั้น มีข้อห้ามหรือข้อจำกัดเฉพาะตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 291 วรรคสองของรัฐธรรมนูญเท่านั้นกล่าวคือ ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐจากรัฐเดี่ยวเป็นสาธารณรัฐ หรือรัฐรูปแบบอื่น ๆจะเสนอมิได้ นอกเหนือจากข้อจำกัดนี้แล้ว รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติห้ามมิให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไม่ว่าใน มาตราใดแต่อย่างใด ศาลรัฐธรรมนูญจะสร้างข้อจำกัดเพิ่มเติมในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหรือตี ความรัฐธรรมนูญเพื่อขยายอำนาจของตนในเรื่องนี้มิได้เลย ดังนั้น รัฐสภาจึงชอบที่จะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้อย่างกว้างขวาง เช่น ปรับโครงสร้างองค์กรต่างๆ ให้มีหรือยกเลิกองค์กรบางองค์กร เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์เงื่อนไขใดๆในรัฐธรรมนูญ หรือแม้แต่การยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญแล้วจัดตั้งเป็นคณะตุลาการรัฐธรรมนูญก็ ย่อมทำได้ เหตุที่รัฐธรรมนูญกำหนดข้อจำกัดไว้เพียงเท่าที่กล่าวไว้ข้างต้น เพราะโดยหลักการแล้วแม้รัฐธรรมนูญจะเป็นกฎหมายสูงสุด แต่รัฐธรรมนูญก็ต้องพลวัตรเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพการเปลี่ยนแปลงของการเมือง สังคม เศรษฐกิจ เมื่อรัฐธรรมนูญบังคับใช้แล้วเกิดปัญหาก็ชอบที่รัฐสภาจะต้องแก้ไขเพิ่มเติม ได้ การวางข้อจำกัดมากเกินไปจนไม่อาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้โดยวิถีทาง รัฐสภาก็อาจทำให้มีการใช้วิธีการนอกรัฐธรรมนูญในการเปลี่ยนแปลงได้ เช่น การทำรัฐประหาร เป็นต้น ดังจะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญทุกฉบับก่อน พ.ศ.2540ไม่เคยวางข้อห้ามหรือข้อจำกัดในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้เลย ประกอบกับรัฐสภาเป็นองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งสมาชิกเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย และเกือบทั้งหมดมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน การที่สมาชิกรัฐสภาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจึงถือเป็นการกระทำในนามของ ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตย รัฐธรรมนูญทุกฉบับจะกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการแก้ไขเพิ่มเติมให้ ยากกว่าพระราชบัญญัติทั่วไป อันเป็นเหตุผลสำคัญของหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะแก้ไขเพิ่มเติมได้ก็แต่โดยรัฐสภาซึ่งได้รับมอบอำนาจมาจากประชาชนโดยตรงเท่านั้น
ดัง นั้น  ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หากไม่อยู่ในข้อจำกัดของการห้ามแก้ไขเพิ่มเติมตามมาตรา 291 วรรคสอง และการดำเนินการเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 291 แล้ว ย่อมเป็นอำนาจโดยชอบของรัฐสภาที่จะดำเนินการได้ องค์กรอื่นใดตามรัฐธรรมนูญรวมถึงศาลรัฐธรรมนูญย่อมไม่มีอำนาจที่จะเข้าไป ตรวจสอบ ซึ่งการแก้ไขจะเหมาะสมหรือไม่ ถูกใจทุกฝ่ายหรือไม่ ศาลไม่มีอำนาจตรวจสอบ เป็นความรับผิดชอบทางการเมืองของรัฐสภาต่อประชาชน
1.3    การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น ได้ยึดหลักการแบ่งแยกอำนาจหรือแบ่งแยกภารกิจในการใช้อำนาจอธิปไตยในทาง นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ออกจากกัน โดยอำนาจนิติบัญญัตินั้น ใช้โดยองค์กรรัฐสภา อำนาจบริหารใช้โดยคณะรัฐมนตรี และอำนาจตุลาการใช้โดยองค์กรศาลทั้งหลาย ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญ แต่ก็มีกระบวนการถ่วงดุลหรือกำหนดความสัมพันธ์ของการใช้อำนาจระหว่างองค์กร ไว้บางประการตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น การให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายที่ตราขึ้น โดยฝ่ายนิติบัญญัติ หรือการให้ฝ่ายนิติบัญญัติตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารได้ด้วยการเปิด อภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ เป็นต้น ทั้งนี้ เฉพาะเท่าที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เท่านั้น หากกรณีใดรัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติถึงความสัมพันธ์ของการใช้อำนาจระหว่าง องค์กรไว้แล้ว องค์กรใดองค์กรหนึ่งจะใช้อำนาจหน้าที่ของตนไปกระทบหรือแทรกแซงการใช้อำนาจ หน้าที่ขององค์กรอื่นมิได้
เมื่อ รัฐสภาได้ใช้อำนาจหน้าที่ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามที่รัฐธรรมนูญ บัญญัติไว้ และรัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่จะเข้าไปตรวจสอบได้แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญย่อมไม่มีอำนาจที่จะรับคำร้องเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐ ธรรมนูญไว้พิจารณาได้ไม่ว่ากรณีใด ในทำนองเดียวกับที่ศาลปกครอง ศาลแพ่ง หรือศาลแรงงาน ไม่มีอำนาจรับฟ้องคดีอาญา
1.4  การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับในอดีตที่ผ่านมารัฐสภาหรือองค์กรที่ทำ หน้าที่รัฐสภาก็ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีทั้งการแก้ไขเป็นรายมาตรา หรือแก้ไขทั้งฉบับเช่นใน พ.ศ.2538 หรือแก้ไขเพียงมาตราเดียวเพื่อจัดตั้งองค์กรขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้ง ฉบับเช่นใน พ.ศ.2539 และรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมหรือยกร่างขึ้นใหม่ทั้งฉบับนั้น ก็ได้ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาแล้ว รวมถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเอง ก็ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาแล้ว และยังคงมีผลใช้บังคับมาจนถึงปัจจุบัน กรณีจึงเห็นได้ว่ากระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น เป็นกระบวนการปกติในระบบรัฐสภาอันเป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐ ธรรมนูญ และที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันรัฐธรรมนูญก็ไม่เคยบัญญัติให้อำนาจแก่องค์กรใด เข้าไปตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภาเลยไม่ว่ากรณีใด
1.5  การใช้สิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามมาตรา 68 วรรคหนึ่ง อันจะอยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้นั้น ต้องไม่หมายความรวมถึงการใช้อำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญของ องค์กรต่าง ๆตามรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ เมื่อ พิจารณาถ้อยคำของบทบัญญัติมาตรา 68 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ..” ย่อมมีความหมายในเบื้องต้นว่า “บุคคล” นั้น ต้องเป็นบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองให้มีสิทธิและเสรีภาพ และสิทธิและเสรีภาพนั้นต้องเป็นสิทธิและเสรีภาพตามที่บัญญัติไว้ในรัฐ ธรรมนูญด้วย เมื่อพิจารณาบทบัญญัติ ในหมวด 3 ซึ่งใช้คำว่า “สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย” ซึ่งตัวบุคคลที่จะมีสิทธิเสรีภาพในหมวดนี้ได้ คือ บุคคลธรรมดาซึ่งมีสัญชาติไทย แต่ สิทธิเสรีภาพบางอย่างนิติบุคคลอาจเป็นผู้ทรงสิทธิได้ ดังนั้นคำว่า “บุคคล” นอกจากหมายถึงบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยแล้ว ย่อมรวมถึงนิติบุคคลสัญชาติไทยด้วยตามแต่ลักษณะและสภาพแห่งสิทธิเสรีภาพนั้น และโดยหลักแล้วย่อมไม่หมายถึงนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ และเมื่อรัฐธรรมนูญบัญญัติถึงหมวดสิทธิและเสรีภาพไว้เป็นการเฉพาะในหมวด 3 ตั้งแต่ส่วนที่ 1 ถึงส่วนที่ 13 ก็ย่อมมีความหมายว่า การใช้สิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามความในมาตรา 68 วรรคหนึ่งนั้น ก็ย่อมหมายถึงการใช้สิทธิและเสรีภาพตามที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้เท่านั้น
                   องค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญนั้นมิได้เป็น “บุคคล” ตามความหมายใน มาตรา 68 วรรคแรก แต่เป็นองค์กรที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายได้บัญญัติถึงอำนาจหน้าที่ไว้ ได้แก่ รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และองค์กรอื่น ๆตามรัฐธรรมนูญ การที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายได้บัญญัติให้อำนาจหน้าที่ไว้ เป็นเรื่องของการกำหนดภารกิจขององค์กรนั้นๆ ที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่บัญญัติไว้ การปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายขององค์กรเหล่านี้ จึงมิใช่เป็นเรื่องการใช้สิทธิและเสรีภาพ เพราะหากเป็นสิทธิและเสรีภาพแล้วก็เป็นสิทธิขององค์กรนั้นจะทำหรือไม่ทำก็ ได้ แต่กรณีนี้ถือเป็นอำนาจหน้าที่และภารกิจขององค์กร ทำนองเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้มีอำนาจหน้าที่ในการควบ คุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย เช่น เมื่อศาลได้ส่งคำร้องของคู่ความให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าบท บัญญัติแห่งกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญจะอ้างว่าเป็นสิทธิของศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาหรือไม่ พิจารณาก็ได้ เช่นนี้ย่อมไม่อาจทำได้  ดังนั้น การใช้สิทธิและเสรีภาพอันจะเข้าข่ายเป็นการกระทำตามมาตรา 68 วรรคหนึ่ง ต้องเป็นเรื่องการใช้สิทธิและเสรีภาพของ “บุคคล” และต้องจำกัดขอบเขตเฉพาะสิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรอง ไว้ตามรัฐธรรมนูญในหมวด 3 เท่านั้น จะตีความขยายความไปถึงการใช้อำนาจหน้าที่ขององค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญซึ่งไม่ได้ใช้สิทธิและเสรีภาพตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 3 ของรัฐธรรมนูญด้วยมิได้
                                การ แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาที่จะดำเนินการได้ตาม มาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญ การที่สมาชิกรัฐสภาทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาได้เสนอร่างรัฐ ธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ย่อมเป็นการดำเนินการตามที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้ และเป็นหน้าที่ของรัฐสภาที่จะต้องพิจารณาไปตามขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ ไว้ กรณีมิใช่เป็นเรื่องของการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในมาตรา 68 วรรคหนึ่งแต่อย่างใด
                                การ ที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การเสนอญัตติของสมาชิกรัฐสภา และการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภา เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ อันอยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะตรวจสอบได้ตามมาตรา 68 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญนั้น ผลจะกลายเป็นว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเหนือองค์กรทุกองค์กรในรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นรัฐสภา  คณะรัฐมนตรี  ศาล องค์กรอิสระ และองค์กรอื่นๆตามรัฐธรรมนูญนอกเหนือจากที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ เพราะศาลรัฐธรรมนูญสามารถเข้าไปตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรเหล่านั้นได้ ทั้งหมด อันจะกระทบต่อการใช้อำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญขององค์กรต่าง ๆ การตีความเช่นนี้เท่ากับศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้บัญญัติรัฐธรรมนูญเสียเอง และมีฐานะอยู่เหนือองค์กรอื่นทั้งปวง อันจะทำให้หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญฯและหลักการแบ่งแยกอำนาจ ซึ่งเป็นหลักสำคัญในรัฐธรรมนูญและหลักการสำคัญในระบบกฎหมายของรัฐถูกทำลายลง อย่างสิ้นเชิง 
นอก จากนี้ เมื่อพิจารณาจากถ้อยคำที่ปรากฏในข่าวของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ข่าวที่ 7/2556 วันพุธที่ 3 เมษายน 2556 ที่ว่า “...คงเหลือแต่เพียงให้บุคคลผู้ทราบการกระทำเสนอเรื่องให้อัยการสูง สุดตรวจสอบข้อเท็จจริงเพียงประการเดียว และให้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญในกรณีที่บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยเท่านั้น ไม่อาจใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญให้พ้นจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ในลักษณะอื่นนอกเหนือจากการใช้สิทธิและเสรีภาพ”แล้ว ยิ่งน่ากลัวและน่าเป็นห่วงว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะเข้าไปตรวจสอบการกระทำอื่นที่มิใช่การใช้สิทธิและเสรีภาพของ บุคคลตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 68 วรรคหนึ่ง ด้วยการอ้างสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ทั้ง ๆที่สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญในส่วนที่ 3 ของรัฐธรรมนูญนั้น มีบัญญัติไว้เพียง 2 มาตรา คือ มาตรา 68 และมาตรา 69 ถ้อยคำดังกล่าวในข่าวทำให้เข้าใจได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญสามารถเข้าไปตรวจสอบการใช้อำนาจหน้าที่ของทุกองค์กรได้หมดแม้ รัฐธรรมนูญจะมิได้บัญญัติไว้ก็ตาม  และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง  ก็จะเท่ากับว่าศาลรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเสียเอง ทั้งๆที่ศาลรัฐธรรมนูญยอมรับในคำวินิจฉัยที่ 18-22/2555 ว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันผ่านการลงประชามติโดยตรงของประชาชน การจะแก้ไขเพิ่มเติมโดยการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับ ก็ควรให้ประชาชนได้ลงประชามติเสียก่อนว่าสมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือ ไม่ หรือรัฐสภาจะใช้อำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราก็เป็นความ เหมาะสมและเป็นอำนาจของรัฐสภา
                   ถ้อยคำที่ปรากฎในข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวเสมือนจะบอกเป็นนัยว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่เคารพคำวินิจฉัยเดิม และหาทางออกให้กับคำร้องในขณะนี้ว่าศาลมีอำนาจ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งจะยิ่งเป็นการจงใจฝ่าฝืนทั้งคำวินิจฉัยของตนเองและบทบัญญัติของรัฐ ธรรมนูญ                      
                                ข้อ 2.  ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคำร้องตามมาตรา 68 ไว้พิจารณาโดยตรงโดยมิได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากอัยการสูงสุดก่อน
                   2.1  ตั้งแต่แรกที่มีการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ 2540 รัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้การยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญต้องผ่านองค์กรหรือ บุคคลตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเท่านั้นไม่มีบทบัญญัติใดให้สิทธิประชาชนที่จะ เสนอคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ครั้นเมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ก็เช่นกัน รัฐธรรมนูญยังคงหลักการใช้สิทธิต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า ต้องกระทำโดยองค์กรหรือบุคคลตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดหรือโดยผ่านองค์กรตามรัฐ ธรรมนูญ มีเพียงกรณีเดียวที่ประชาชนอาจใช้สิทธิโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ คือ ตามมาตรา 212 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกรณีที่บุคคลผู้ถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้มี สิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ แต่ก็มีเงื่อนไขว่า ต้องเป็นกรณีที่ไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีอื่นได้แล้วเท่านั้น และอำนาจศาลรัฐธรรมนูญก็เพียงวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อ รัฐธรรมนูญหรือไม่เท่านั้น นอกเหนือจากนี้แล้วไม่ปรากฏว่ารัฐธรรมนูญได้ให้สิทธิประชาชนในการใช้สิทธิ ยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เลย เช่นเดียวกับการใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 68 ที่ต้องเสนอเรื่องผ่านอัยการสูงสุดเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเสียก่อน                   
                   2.2  สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญนั้น มิใช่สิทธิส่วนบุคคลของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่เป็นสิทธิที่กำหนดขึ้นเพื่อประโยชน์สาธารณะของคนทั้งประเทศ เพราะการล้มล้างการปกครองฯก็ดี หรือการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้ เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญก็ดี ย่อมกระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นส่วนรวม ดังนั้น การจะปล่อยให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งใช้สิทธิโดยลำพังต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงโดย ที่ไม่ผ่านการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนนั้น อาจส่งผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะได้ เนื่องจากการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ เช่น การประกาศชักชวนประชาชนเพื่อแช่แข็งประเทศไทยด้วยการใช้กำลัง หรือกรณีการบุกยึดทำเนียบรัฐบาล ยึดสนามบิน เพื่อบีบบังคับรัฐบาลให้ลาออกนั้น ถือเป็นความผิดคดีอาญาร้ายแรงฐานกบฏในราชอาณาจักร บุคคลผู้ทราบการกระทำย่อมมีสิทธิแจ้งความกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเพื่อสืบ สวนสอบสวนดำเนินคดี ถ้าเห็นว่ามีมูลพนักงานสอบสวนก็เสนอเรื่องต่ออัยการ หากอัยการเห็นว่าคดีมีมูลก็มีหน้าที่ฟ้องคดีต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษา คดีอาญา และศาลก็มีหน้าที่ในการพิพากษาคดี อันเป็นกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่เป็นหลักสากล ซึ่งคดีเหล่านี้รัฐเท่านั้นที่เป็นผู้เสียหาย โดยอัยการเป็นตัวแทนรัฐในการฟ้องคดีต่อศาล และหากอัยการเห็นว่าคดีไม่มีมูล บุคคลใดบุคคลหนึ่งจะไปฟ้องคดีเองแทนรัฐไม่ได้
ดัง นั้น หากมีการกระทำตามมาตรา 68 วรรคแรก และบุคคลสามารถยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้แล้ว หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ยกคำร้อง เพราะไม่ใช่การล้มล้างการปกครองฯ ผลของคำวินิจฉัยย่อมต้องผูกพันอัยการสูงสุดด้วย แม้อัยการสูงสุดมีความเห็นว่ามีการล้มล้างการปกครองฯจริง ก็อาจมีปัญหาว่าจะดำเนินการฟ้องร้องผู้กระทำความผิดต่อไปได้หรือไม่เพียงใด  การตีความและสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ของศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยการทำตัวเป็นทั้งพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และศาล เช่นนี้ จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา 68 เสียเอง และทำให้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาทั้งระบบไม่อาจเดินไปได้ ด้วยเหตุนี้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ก็ดี พ.ศ.2550 ก็ดี คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 12/2549 ก็ดี เอกสารทางวิชาการและเว็บไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญก่อนมีคำวินิจฉัยที่ 18-22/2555 ตลอดจนความเห็นของนักวิชาการจึงตรงกันหมดว่าต้องเสนอเรื่องผ่านอัยการสูงสุด เสียก่อน เพราะอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีนี้มีเพียง 2 กรณี คือ การสั่งห้ามกระทำและสั่งยุบพรรคการเมืองหากพรรคการเมืองเป็นผู้กระทำผิด อันเป็นการเพิ่มเติมและดำเนินไปคู่ขนานกับการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม ทางอาญา
อนึ่ง  สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ได้อภิปรายไว้ในสภาร่างรัฐธรรมนูญว่า “...บทบัญญัติในมาตรา 67 (คือมาตรา 68 ในปัจจุบัน) ได้บัญญัติให้เป็นสิทธิของบุคคลที่จะใช้สิทธิในการนำเรื่องเสนอต่ออัยการสูง สุด.....บทบัญญัติของมาตรา 67 นั้น มีลักษณะของการที่จะลงโทษ ทั้งในเชิงของการเป็นโทษทางอาญาตามที่ปรากฏอยู่ในข้อความในวรรคที่ 2 รวมถึงโทษที่ไม่มีลักษณะทางอาญา แต่เป็นการลงโทษตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งหรือการเมือง นั่นคือโทษการยุบพรรค ... ในทางอาญานั้น ถ้าเราทราบว่ามีการกระทำความผิดกฎหมายอาญาเกิดขึ้น แม้ไม่รู้ตัวว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำความผิด ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็ยังเปิดช่องว่า สามารถไปกล่าวโทษกับเจ้าพนักงานได้... ผู้ทราบเหตุการณ์นั้นควรที่จะต้องมีสิทธิที่จะมาร้องเรียนต่ออัยการสูงสุด เพื่อให้ทำการตรวจสอบได้ ขั้นตอนที่มาร้องเรียนนั้นนี่ ก็เป็นหน้าที่ของอัยการสูงสุดครับ ท่านประธานครับ ที่จะต้องตรวจสอบเรื่องราวว่ามีมูลหรือไม่มีมูล ก่อนที่ท่านจะนำเรื่องเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ดำเนินการในขั้นตอนต่อไป... ขอแก้ไขคำว่า ผู้รู้ เป็นผู้ทราบการกระทำดังกล่าวมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อ เท็จจริงได้”
                จะ เห็นได้ว่า ผู้ร่างได้เสนอให้แก้ไขคำว่า “ผู้รู้เห็นการกระทำ” เป็น “ผู้ทราบการกระทำ” เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ที่ประชาชนทั่วไปสามารถไปแจ้งความกล่าวโทษบุคคลที่ใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อ ล้มล้างการปกครองฯได้ จึงต้องเสนอเรื่องผ่านอัยการสูงสุดก่อน
นอก จากนี้ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 18-22 / 2555 ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ชัดเจนว่ารัฐสภาจะใช้อำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราก็เป็นความเหมาะสมและเป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะดำเนิน การดังกล่าวได้ซึ่งจะเป็นการสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 และมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 4 คน ที่วินิจฉัยว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจในการตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐ ธรรมนูญของรัฐสภา ซึ่งคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญควรนำประเด็นดังกล่าวมาพิจารณาการรับคำร้อง การละเลยในข้อกฎหมายอันเป็นสาระสำคัญ จึงทำให้เห็นว่ามาตรฐานการรับคดีของศาลรัฐธรรมนูญนั้น มิได้ยืนอยู่บนหลักการของรัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรมที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ จึงไม่อาจยอมรับได้
2.3  เมื่อพิจารณาข้อความในมาตรา 68 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “...ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบ ข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำ ดังกล่าว...” หากพิจารณาตามหลักการตีความตามถ้อยคำภาษาที่เป็นลายลักษณ์ อักษรและเหตุผลทางกฎหมายจะได้ความหมายว่า ผู้ทราบการกระทำมีสิทธิอย่างเดียวคือ เสนอเรื่องต่ออัยการสูงสุด ส่วนอัยการสูงสุดนั้นสามารถกระทำได้ 2 ประการ คือ การตรวจสอบข้อเท็จจริง และยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำ เพราะคำว่า และระหว่างคำว่า ตรวจสอบข้อเท็จจริง กับยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งเป็นคำกริยาที่แสดงถึงการกระทำของอัยการสูงสุด มิใช่ของผู้ทราบการกระทำ หากแปลความว่าการยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นของผู้ทราบการ กระทำเสียแล้ว อัยการก็จะเหลือเพียงการตรวจสอบข้อเท็จจริงเท่านั้น เมื่อตรวจสอบแล้วก็ไม่อาจทำอะไรต่อไปได้ ยิ่งหากแปลความว่าการยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยทำได้ทั้งอัยการสูง สุดและผู้ทราบการกระทำแล้ว นอกจากจะขัดแย้งต่อบทบัญญัติโดยชัดแจ้งแล้วยังขัดต่อหลักแห่งเหตุผลอีกด้วย เพราะการบัญญัติเช่นนั้นจะทำให้การทำหน้าที่ของอัยการสูงสุดไม่อาจเป็นไปได้ อีกต่อไป เพราะเมื่อผู้ทราบการกระทำสามารถยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ก็ไม่จำต้องเสนอเรื่องต่ออัยการสูงสุดอีก หรือเมื่อเสนอเรื่องต่ออัยการสูงสุดแล้ว ผู้ร้องกลับมายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เองอีกเช่นนี้ สิ่งที่อัยการสูงสุดดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงไว้ก็จะไร้ผลอีกเช่นกัน การตีความของศาลรัฐธรรมนูญเช่นนี้ จะทำให้เกิดผลประหลาดที่ไม่มีเหตุผลทางกฎหมายรองรับ
การ ตีความของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิผู้ทราบการกระทำใช้สิทธิตามมาตรา 68 วรรคสอง ได้ 2 ทาง ย่อมทำให้อำนาจหน้าที่ของอัยการสูงสุดตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ขาดสภาพ บังคับ และไร้ผลในทางปฏิบัติ จึง เป็นการตีความที่ขัดต่อหลักความเป็นเอกภาพของรัฐธรรมนูญและหลักการคำนึงถึง ภารกิจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ เพราะการตีความรัฐธรรมนูญนั้นจะต้องตีความให้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมีผล บังคับใช้และต้องมีความสอดคล้องต้องกันทั้งระบบ จะทำให้บทบัญญัติส่วนหนึ่งมีผลบังคับใช้ แต่อีกส่วนหนึ่งไม่มีผลบังคับใช้มิได้ และการตีความจะต้องไม่ไปกระทบต่อการใช้อำนาจหน้าที่ขององค์กรอื่นๆ ตามรัฐธรรมนูญ เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของการกระทำอันเป็นการล้มล้างการปกครองฯ หรือกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็น ไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 68 วรรคแรก แล้ว เห็นได้ว่าการกระทำลักษณะดังกล่าวนี้เป็นเหตุแห่งการยุบพรรคการเมืองตามที่ บัญญัติไว้ในมาตรา 94 (1) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 ด้วย ขั้นตอนการยุบพรรคการเมืองได้กำหนดไว้ในมาตรา 95แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว ซึ่งมีกระบวนการตรวจสอบก่อนเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยต้องผ่านการตรวจสอบจากนายทะเบียนพรรคการเมือง หลังจากนั้นนายทะเบียนต้องเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งแล้วจึง จะแจ้งต่ออัยการสูงสุดเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาการขอให้ยุบพรรคการเมืองก็ดำเนินการโดยผ่านอัยการสูงสุดทุก ครั้งไปดังนั้น เมื่อองค์ประกอบแห่งการกระทำอันเป็นเหตุให้ยุบพรรคการเมืองทั้ง 2 กรณีเหมือนกัน การที่มาตรา 68 วรรคสอง กำหนดให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ จึงสอดคล้องกับกรณีการยุบพรรคการเมืองตามกฎหมายพรรคการเมืองเป็นการบัญญัติ กฎหมายที่สอดคล้องต้องกันเป็นระบบ
          นอกจากนี้เมื่อพิจารณาเทียบเคียงกับบทบัญญัติอื่นๆ ของรัฐธรรมนูญแล้ว หากกรณีใดรัฐธรรมนูญมีวัตถุประสงค์หรือเจตนารมณ์ที่จะให้บุคคลเลือกใช้สิทธิ ได้ 2 ทาง ก็จะบัญญัติไว้อย่างชัดเจน เช่น มาตรา 275 วรรคสี่ เรื่องการดำเนินคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูง ซึ่งให้สิทธิผู้เสียหายเลือกใช้สิทธิได้ โดยบัญญัติว่า
          “ ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาตามวรรคหนึ่ง เป็นผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานวุฒิสภา ผู้เสียหายจากการกระทำดังกล่าวจะยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม การทุจริตแห่งชาติ เพื่อให้ดำเนินการตามมาตรา 250 (2) หรือจะยื่นคำร้องต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เพื่อขอให้ตั้งผู้ไต่สวนอิสระตามมาตรา 276 ก็ได้แต่ ถ้าผู้เสียหายได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่ง ชาติแล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ต่อเมื่อคณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไม่รับดำเนินการไต่สวน ดำเนินการล่าช้าเกินสมควร หรือดำเนินการไต่สวนแล้วเห็นว่าไม่มีมูลความผิดตามข้อกล่าวหา”
          จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ชัดเจนถึงทางเลือกของผู้เสียหายในการยื่นคำร้องให้ ดำเนินคดีอาญาต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูง และยังกำหนดข้อจำกัดไว้ด้วยว่า หากเลือกดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว จะมาดำเนินการอีกช่องทางหนึ่งได้ ต้องเข้าเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ด้วย แต่กรณีตามมาตรา 68 วรรคสอง ไม่ได้บัญญัติให้ทางเลือกไว้สำหรับผู้ทราบการกระทำที่จะเสนอเรื่องต่ออัยการ สูงสุดก็ได้ หรือจะยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ ดังนั้น จึงต้องตีความถ้อยคำในบทบัญญัติและตามเจตนารมณ์ไปพร้อมกันว่า ผู้ทราบการกระทำต้องเสนอเรื่องไปยังอัยการสูงสุดได้ช่องทางเดียวเท่านั้น ส่วนการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจหน้าที่ของอัยการสูงสุด ศาลรัฐธรรมนูญจะไปกำหนดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญขึ้นเองโดยปราศจากเหตุผลทาง กฎหมายรองรับไม่ได้ ถ้า เป็นดังนั้น เท่ากับศาลรัฐธรรมนูญบัญญัติรัฐธรรมนูญขึ้นเอง และกระทำการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญเสียเอง จนอาจทำให้เข้าใจได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะทำให้รัฐสภาไม่สามารถทำหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ได้
ข้อ 3. มาตรฐานการรับคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจยอมรับได้      
3.1  การเร่งรัดพิจารณารับคำร้องอย่างผิดปกติวิสัยและขาดหลักความเสมอภาคในการพิจารณารับคำร้อง  ข้อ เท็จจริงที่เกิดขึ้นเมื่อมีผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 2 เมษายน 2556 ปรากฏว่าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้แถลงในวันนั้นว่า ในวันที่ 3 เมษายน 2556 คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะมีการพิจารณาคำร้องซึ่งก็ปรากฏว่า ในวันที่ 3 เมษายน 2556 นั้นมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญติดภารกิจไปต่างประเทศถึง 4 คน คงเหลือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพียง 5 คน แต่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 5 คน ได้ประชุมและมีมติอย่างเร่งด่วนในวันนั้นเองด้วยมติ 3 ต่อ 2 เสียง ให้รับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณา ทั้งที่ข้อเท็จจริงตามคำร้องมิใช่เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ศาลจะต้องรับดำเนิน การในทันทีทันใดควรต้องรอให้ตุลาการที่เหลืออีก 4 คน ได้เข้าร่วมประชุมด้วยเพื่อให้เกิดความรอบคอบ แม้องค์คณะทั้ง 5 คน ถือได้ว่าครบองค์ประชุมแต่การมีมติด้วยคะแนน 3 เสียง จากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมด 9 คนนั้น ย่อมขาดซึ่งความชอบธรรม แม้ต่อมาวันที่ 15 เมษายน 2556 ได้มีผู้มายื่นคำร้องในกรณีเดียวกันและศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติรับคำร้องไว้ พิจารณาด้วยคะแนน 5 ต่อ 3 เสียงก็หาได้สร้างความชอบธรรมให้เกิดขึ้นกับศาลรัฐธรรมนูญไม่ เพราะหากเปรียบเทียบข้อเท็จจริงที่มีบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ฝ่ายที่ต่อต้านการ แก้ไขรัฐธรรมนูญมายื่นคำร้องต่อศาลดังเช่นกรณีการชุมนุมขับไล่รัฐบาลและ ประกาศจะแช่แข็งประเทศไทยของพลเอกบุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ กับพวกซึ่งมีเจตนาล้มล้างรัฐบาล เมื่อมีผู้มายื่นคำร้องในวันที่ 5 และ 15 พฤศจิกายน 2555 เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งห้ามกระทำการ ศาลรัฐธรรมนูญกลับมิได้เร่งดำเนินการทั้งที่จะมีการนัดชุมนุมและปฏิบัติตาม แผนในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2555 ปรากฏว่าในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2555 ศาลได้เรียกแกนนำมาไต่สวนและมีมติไม่รับคำร้องไว้พิจารณาในวันเดียวกัน  เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วจะเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเรื่องการ ดำเนินการของรัฐสภาซึ่งมีขั้นตอนชัดเจนไม่จำเป็นที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องเร่ง รัดพิจารณาในทันที แต่กรณีของการชุมนุมขับไล่รัฐบาลนั้นเป็นกรณีเร่งด่วน แต่ศาลกลับมิได้เร่งดำเนินการแต่อย่างใด
นอก จากนี้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 คน ที่มีมติรับคำร้องไว้พิจารณาประกอบด้วย นายจรัญ ภักดีธนากุล และนายสุพจน์ ไข่มุกต์ ข้อเท็จจริงเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าทั้ง 2 คน มีส่วนได้เสียในรัฐธรรมนูญเพราะเคยเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญและ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ในด้านจรรยาบรรณของตุลาการ และตามหลักวิชาชีพแล้ว ย่อมไม่สมควรที่ตุลาการ 2 คนดังกล่าว จะร่วมพิจารณาคำร้องนี้ตั้งแต่แรกเพราะเป็นการขัดกันแห่งประโยชน์อย่างชัด แจ้ง        โดยเฉพาะนายจรัญ ภักดีธนากุล เอง ได้เคยแถลงผ่านสื่อมวลชนเป็นที่รับทราบกันโดยทั่วไปทำนองว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 นั้น มีข้อบกพร่องและเห็นสมควรว่าจะต้องมีการแก้ไข ซึ่งการแก้ไขอาจทำแบบรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 คือ แก้มาตราเดียวเพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมายกร่างได้ และเมื่อครั้งการพิจารณาคดีในคำวินิจฉัยที่ 18-22/2550 นั้น นายจรัญ ภักดีธนากุล ได้ถูกทักท้วงในเรื่องนี้ และได้ขอถอนตัวออกจากคดีไป มาในวันนี้ นายจรัญ ภักดีธนากุล กลับมีมติรับคำร้องเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้พิจารณา ทั้งที่ตนเองเคยพูดไว้ถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าทำได้ และในคดีดังกล่าวตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 4 คน ได้วินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัยส่วนตนโดยชัดเจนว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของรัฐสภา ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจไปวินิจฉัยกรณีดังกล่าว
3.2  การตีความของศาลรัฐธรรมนูญไม่สอดคล้องกับหลักการตีความกฎหมายลายลักษณ์อักษรและหลักการตีความรัฐธรรมนูญ เมื่อ พิเคราะห์การตีความของศาลรัฐธรรมนูญในการรับคำร้องไว้พิจารณาเห็นได้ว่าศาล รัฐธรรมนูญไม่ได้ใช้ทั้งหลักการตีความกฎหมายลายลักษณ์อักษรและหลักการตีความ รัฐธรรมนูญแต่ได้ใช้หลักการตีความของศาลเอง ทั้งนี้ เพราะเมื่อพิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง เกี่ยวกับองค์ประกอบความผิดและวรรคสองเกี่ยวกับขั้นตอนการเสนอคำร้องต่อศาล แล้ว ศาลได้ตีความผิดไปจากบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน กล่าวคือได้ตีความว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นการที่บุคคลได้ใช้ สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และตีความว่าการเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญสามารถทำได้ 2 ช่องทาง คือ เสนอเรื่องต่ออัยการสูงสุด เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือจะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงก็ได้ ซึ่งการตีความเรื่องนี้ทำให้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมีความขัดแย้งกันเอง ทำให้ขาดความเป็นเอกภาพของรัฐธรรมนูญ ทำให้บทบัญญัติส่วนที่ให้อำนาจอัยการสูงสุดไร้สภาพบังคับ และมีผลกระทบต่ออำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญของอัยการสูงสุด และรัฐสภา อันเท่ากับศาลรัฐธรรมนูญได้เข้าไปใช้อำนาจหน้าที่แทนอัยการสูงสุดและรัฐสภา เสียเอง
อีก ทั้งเนื้อหาสาระสำคัญของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 นั้นก็เพียงเพื่อให้เกิดความชัดเจนถึงกรอบ ขั้นตอนและวิธีการใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญของบุคคลผู้ทราบว่ามีการใช้ สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ โดยให้เสนอเรื่องไปยังอัยการสูงสุด เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนยื่นคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญของประชาชนก็ยังมีอยู่เช่นเดิม มิได้มีการตัดสิทธิดังกล่าวแต่อย่างใด เหตุที่มีการแก้ไขก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ตีความในลักษณะ ของการขยายเขตอำนาจรับคดีของตนเองว่า ให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง อันไม่สอดคล้องกับถ้อยคำในบทบัญญัติรวมถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ พ.ศ. 2540 และ พ.ศ. 2550 ฯลฯ ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นทั้งที่อำนาจการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภา นั้น จะยกเลิกมาตรา 68 หรือแก้ไขเป็นประการใดก็ย่อมทำได้
การ ตีความขยายเขตอำนาจตนเองของศาลรัฐธรรมนูญเช่นนี้ นับเป็นอันตรายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุขอย่างยิ่ง เพราะการตีความเพิ่มอำนาจให้กับตนเองดังกล่าว มีผลเท่ากับศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้บัญญัติรัฐธรรมนูญเสียเอง และไม่ต้องผูกพันตนต่อรัฐธรรมนูญ อีกทั้งไม่มีองค์การใดตรวจสอบถ่วงดุลได้ หากยอมรับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญก็จะเท่ากับเป็นการส่งเสริมให้ศาลรัฐธรรมนูญ ได้ขยายอำนาจของตนเองอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และทำลายหลักการแบ่งแยกอำนาจและหลักการสำคัญอื่นในรัฐธรรมนูญลงโดยสิ้นเชิง
ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น ในนามของสมาชิกรัฐสภาขอประกาศยืนยันเจตนารมณ์ร่วมกันอีกครั้งว่า ขอคัดค้านการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการรับคำร้องเรื่องการแก้ไขเพิ่ม เติมรัฐธรรมนูญของสมาชิกรัฐสภาไว้พิจารณาทั้งยังเป็นการรับคำร้องโดยตรงโดย ไม่ผ่านอัยการสูงสุดเสียก่อน สมาชิกรัฐสภาที่เกี่ยวข้องทุกคนขอยืนยันอย่างแน่วแน่ว่าจะปฏิบัติหน้าที่ใน ฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทยตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน และเพื่อคงไว้ซึ่งหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ หลักการแบ่งอำนาจ หลักนิติธรรม และเกียรติภูมิของสถาบันรัฐสภาอันเป็นหลักการและสถาบันที่สำคัญของการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต่อไป
อย่าง ไรก็ดีเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการรับคำร้องไว้พิจารณาและ มีคำวินิจฉัยในคำวินิจฉัยที่ 18-22/2555 และการรับคำร้องไว้พิจารณาในคดีนี้ พวกเราขอแจ้งมายังพี่น้องประชาชนทุกท่านและศาลรัฐธรรมนูญว่า ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญได้ไตร่ตรองและพิจารณาแนวทางการรับคดีเรื่องนี้เสียใหม่ เพื่อให้คงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์และความน่าเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญเอง โดยที่พวกเรามิได้มีอคติหรือเจตนาร้ายใดๆ ต่อศาลรัฐธรรมนูญแม้แต่น้อย แต่สถานะความเป็นสมาชิกรัฐสภาซึ่งเป็นผู้แทนของปวงชน ไม่อาจทนเห็นและยอมรับความผิดพลาดบกพร่องของศาลรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นและ ปล่อยให้เป็นเช่นนี้อีกต่อไปได้ ทั้งที่สมาชิกรัฐสภาได้โต้แย้งและคัดค้านอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ มาโดยตลอดตั้งแต่รับวินิจฉัยในคำวินิจฉัยที่ 18-22/2555 แล้ว จึงพร้อมกันแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการดำเนินการครั้งนี้เพื่อรักษาไว้ซึ่ง การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจอ้างผลแห่งคำวินิจฉัยที่เป็นเด็ดขาดและผูกพันองค์กร ต่างๆ มาใช้ในกรณีนี้ได้เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จะเป็นเด็ดขาดและ ผูกพันองค์กรต่างๆ นั้นต้องเป็นคำวินิจฉัยที่ชอบด้วยกฎหมายและอยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของศาล รัฐธรรมนูญเท่านั้นหากเป็นการวินิจฉัยที่เกินขอบเขตอำนาจแล้วก็ไม่มีผล ผูกพันองค์กรอื่น องค์กรต่างๆ ที่มีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญจึงชอบที่จะใช้อำนาจหน้าที่ของตนตามที่รัฐ ธรรมนูญบัญญัติไว้ต่อไปได้
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ
ขอแสดงความนับถือ
คณะสมาชิกรัฐสภา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น