วันศุกร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2556

คำ ผกา : ปรากฏการณ์เขื่อน

คำ ผกา : ปรากฏการณ์เขื่อน

          เรื่องพิลึกพิลั่นของการ “ค้านเขื่อน” ที่เกิดขึ้นกับเขื่อแม่วงก์ล่าสุดและน่าสนใจสำหรับฉันอย่างเป็นส่วนตัวและเขียนจากอคติล้วน ไร้หลักการ ไร้หลักวิชา แต่อยากแลกเปลี่ยน มีดังนี้
  1. เอ็นจีโอ นักอนุรักษ์ นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม นักวิชาการด้านทรัพยากรสิ่งแวดล้อมหัวก้าวหน้า “ฟันธง” มากว่าสามสิบปีแล้วกระมังว่า “เขื่อน” ไม่แก้ปัญหาน้ำท่วม เขื่อนไม่แก้ปัญหาฝนแล้ง เขื่อนทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งเรื่องทรัพยากร ทำลายป่า ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชน สร้างผลประทบต่อระบบนิเวศน์ฯ
  2. การประท้วงเขื่อนที่ผ่านมาทุกเขื่อน – ชนชั้นกลาง โดยเฉพาะชนชั้นกลางในเมือง (ยกเว้นชนชั้นกลางข้อ 1) มักประนามชาวบ้านที่ออกมาต้านเขื่อนว่าเป็น “ม็อบรับจ้าง”
  3. ม็อบต้านเขื่อนที่สู้มายาวมากและปรากฎตัวต่อสื่อเยอะมาก มีพลังมากคือ ม็อบเขื่อนปากมูล และเราคงจำเรื่องราวของยายไฮได้
  4. การเกี้ยเซี้ยเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาเรื่องปากมูล เอ็นจีโอระดับนำ, แกนนำชาวบ้าน ถูกดึงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย สสส. หมอประเวศ อานันท์ – ผ่านโครงการว่าด้วยเกษตรหมุนเวียน โรงสีชุมชน การพึ่งตนเอง ภูมิปัญญาชาวบ้าน – นักต่อสู้ “ชาวบ้าน” หลายคนมีศักยภาพสูงมากจนเปลี่ยนจาก “ชาวนา” “ชาวประมง” เป็นนักกิจกรรม, นักพูด ในฐานะตัวแทนภูมิปัญญาและพลังท้องถิ่น – หลายคนที่แขกเคยพบปะ กลายเป็นนักพูดเรื่องเกษตรหมุนเวียนที่มีงานหลักคือเป็นวิทยากรมากกว่าทำการเกษตร
  5. โดยไม่ทันตั้งตัว นักต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อม เอ็นจีโอ แกนนำชาวบ้าน  - ซึ่งน่าจะเป็นฝ่ายซ้าย – บอกตัวเองว่าชูธงอุดมการณ์เศรษฐกิจแบบซ้าย ต่อต้านทุนนิยม ระบบตลาดเสรี ปฎิเสธอำนาจรัฐ ต้องการตรวจสอบนักการเมืองและการเมืองระบบรัฐสภา – ถูกดูดกลืนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายอุดมการณ์ “อนุรักษ์นิยม” ที่ไม่ใช่ ลูกเสือชาวบ้าน แต่ผ่านองค์กรที่ดูใสสะอาด ปราศจากมลทิน เคร่งศีลธรรม เน้นการชำระจิตวิญญาณ อ้างถึงการพัฒนาจิตใจเหนือวัตถุ รักชาวบ้าน ต้องการลดความเหลื่อมล้ำ อย่าง สสส.
  6. เกือบทั้งหมดของกลุ่ม เอ็นจีโอ นักกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม แกนนำชาวบ้านที่ต้านเขื่อน สู้เพื่อคนจน สู้เพื่อการปฏิรูปที่ดิน โฉนดชุมชน เข้าร่วมต่อสู้ทางการเมืองกับ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มีพรรค กรีน ของเยอรมันเป็น “ความฝัน”
  7. มีการต้านเขื่อนอีกเนืองๆแต่ไมได้รับความสนใจจากชนชั้นกลางนัก เช่น กรณีเขื่อนแก่งเสือเต้นที่สู้มายาวนาน
  8. คุณศศิน เฉลิมลาภ (สังกัดข้อที่ 1) เกาะติดเรื่องเขื่อนแม่วงก์มายาวนานและมุ่งมั่นตรวจสอบกรณีการสร้างเขื่อนนี้
  9. ผู้สนับสนุนการสร้างเขื่อนมายาวนานและร่วมต้านเขื่อนกับข้อที่ 1 มาโดยตลอดจำนวนหนึ่ง ไม่สมาทานอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมแบบ สสส. และหลังการรัฐประหาร 2549 พวกเขาเริ่มตั้งคำถามกับพฤติกรรมสมุนเผด็จการภายใต้หน้ากากธรรมะของ สสส. – คนกลุ่มนี้ตั้งคำถามกับเขื่อนต่างออกไป นั่นคือ เชื่อมโยงเรื่องเขื่อนกับ “อำนาจนำสูงสุด” ของรัฐไทยนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 2500 เป็นต้นมา มากกว่าจะมองว่าเขื่อนเกิดจากความเหี้ยของรัฐบาล
  10. ชนชั้นกลางจำนวนมากที่เคยออกมาด่าม็อบปากมูล ม็อบแก่งเสือเต้นว่าเป็นม็อบรับจ้าง ได้ออกมาร่วมกับคุณศศิน ต่อต้านเขื่อนแม่วงก์และเลือดรักป่ารักธรรมชาติพลุ่งพล่านเดือดดาลอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน (ถ้าพวกเขาร้อนรุ่มได้สักครึ่งหนึ่งของตอนนี้แล้วไปช่วยม็อบปากมูลในเวลานั้นบ้าง ยายไฮคงไม่ต้องมานั่งทุบเขื่อนกับมือ)
  11. ปราโมทย์ ไม้กลัด นักสร้างเขื่อนตัวยง กลายมาเป็นนักต้านเขื่อนผู้แข็งขัน (กลับตัวกลับใจ? หรืออะไร?)
  12. กรณีแม่วงก์ต่างจากปากมูลตรงที่ กรณีปากมูล คนในพื้นที่ไม่เอาเขื่อน แต่คนนอกพื้นที่บอกว่า คนปากมูลเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน (หาปลา) มากกว่าประโยชน์ส่วนรวม (ไฟฟ้า, ชลประทาน) กรณีแม่วงก์คนในพื้นที่อยากได้เขื่อน โดนด่าเหมือนกันว่าเห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่ส่วนรวม  (ไม่รักษาป่าเพื่อสมดุลย์ของระบบนิเวศน์)

สรุป
นักต้านเขื่อนมีทั้งนักอนุรักษ์ไร้สีมีทั้ง นักต้านเขื่อนเสื้อแดง เรียกร้องหามาตรฐานเดียวในการสร้างเขื่อน อยากให้สาวถึงต้นตอเขื่อนและต้านทุกเขื่อน อย่าต้านเพียงเพราะเกลียดปลอดประสพและเกลียดอีปูมึง และมีทั้ง นักเพื่งจะเริ่มต้านเขื่อนแม่วงก์ เพราะ มึง อีปูคนเดียว เกลียดพรรคเพื่อไทย นักการเมืองแม่งโกงทั้งชาติ ใครสร้างเขื่อน ทำลายสัตว์ป่าของให้โคตรเหง้ามันฉิบหาย –  ตัวอิฉันฟังแล้วจะเป็นลม อะไรจะดุเดือดขนาดนั้น ยายไฮ ทุบเขื่อนด้วยมือยังไม่เคยว่าใครแรงๆ ขนาดนั้นเลย

หมายเหตุกองบรรณาธิการประชาไท: ข้อมูลที่ถูกต้องเรื่องเขื่อนที่นางไฮ ขันจันทา ทุบคือ เขื่อนห้วยละห้า 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น