วันอังคารที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2559

หมอพรทิพย์ กลับลำ ปม GT200 ยัน "ไม่เคยเชื่อว่าใช้ได้ แต่น่าสนใจ"


พญ.พรทิพย์ อดีตอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ยืนยันปม GT200 ผ่านรายการเผชิญหน้า  "ไม่เคยเชื่อว่าใช้ได้ แต่น่าสนใจ" ระบุใช้แค่สกีนไม่ได้ใช้พิสูจน์ยืนยัน
21 มิ.ย.2559 จากกรณีเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา ศาลประเทศอังกฤษ ตัดสินยึดทรัพย์สินมูลค่ากว่า 7.9 ล้านปอนด์ (ราว 395 ล้านบาท) จาก เจมส์ แมคคอร์มิค ผู้ต้องหาในคดีจำหน่ายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดปลอม เพื่อนำเงินไปจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของแมคคอร์มิคและพรรคพวกซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ดังกล่าว (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) จนก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์พร้อมทั้งแสวงหาผู้รับผิดชอบกรณี GT 200 ในประเทศไทยจำนวนมาก ทั้งในแง่การจัดซื้อ และผลกระทบต่อสวัสดิภาพของเจ้าหน้าที่และประชาชน เนื่องจากเคยมีราษฎรใน อ.บันนังสตา จ.ยะลา อย่างน้อย 4 ราย เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดังกล่าว ซึ่งถูกออกหมายจับและดำเนินคดี เนื่องจากถูกตรวจค้นบ้านและถูกชี้ด้วยเครื่องจีที 200 โดยประชาไทเคยนำเสนอเรื่องมาแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2553 (อ่านต่อที่นี่)
สำหรับ 1 ในบุคคลที่ถูกถามถึงความรับผิดชอบคือ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ อดีตผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ล่าสุดเมื่อ 20 มิ.ย. ที่ผ่านมา ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ เผชิญหน้า Face Time ทางสปริงนิวส์ ที่มี ดนัย เอกมหาสวัสดิ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ และเผยแพร่ผ่านยูทูบ SpringNews โดยในครั้งนี้ พญ.พรทิพย์ กล่าวไว้ดังนี้

ประสบการณ์กับ GT200

พญ.พรทิพย์ กล่าวว่าเราไม่ได้มีโอกาสที่จะอธิบายหลังจากถูกถล่มไปในคราวที่แล้ว  พร้อมกล่าวถึงกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ตนด้วยว่า "ปัจจุบันก็ยังไม่หาย มันก็จะมีคนประเภทที่มีอารมณ์เกลียด ก็จะตาม ดูในเฟซบุ๊กอินสตราแกรม แล้วเดี๋ยวๆ มันก็พุ่งขึ้นมาแล้ว GT200 ว่าไง ก็ขี้เกียจตอบมัน"
 
"ต้องไล่อย่างนี้ เริ่มต้นเลยคือเหตุการณ์ระเบิด เป็นเหตุการณ์ที่คร่าชีวิตผู้คนมากมาย ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราเห็นตัวนี้ครั้งแรกต้องตอบเลยนะ ครั้งแรกเป็นทหารใช้ที่การตรวจค้นแถวๆ โรงเรียนอิสลามบูรพา ปี 50 ในคดีนี้เกิดอะไรขึ้น มันมีเหตุระเบิดเป็นอุบัติเหตุนอกโรงเรียนแล้วมันก็มีเลือดเข้าไปในโรงเรียน แล้วมีการเข้าไปตรวจค้นเจออุปกรณ์ประกอบระเบิดเต็มไปหมด ทางเราถูกขอให้เข้าไปเก็บหลักฐานของระเบิดและตรวจค้นโรงเรียน เสร็จแล้วเราก็เห็นทหารถืออุปกรณ์ตัวนี้ เราก็ถามว่าคืออะไร เมื่อเขาบอกว่าเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบ แต่ทหารที่ถือเป็นทีมกู้ระเบิดนะ ในมุมของเราเรายังไม่ปฏิเสธ เราสนใจ เราไม่ใช้ตรวจค้น ในการตรวจค้นครั้งนั้นก็เป็นการตรวจปอเนาะ 200 300 หลัง ก็ให้เขาเดินด้วยทีมของเขา แล้วพออุปกรณ์ตัวนี้มันตัด 2 มิติที่ไหนก็ให้เอาสติ๊กเกอร์ปิด แล้วทีมเราก็เข้าตรวจบ้าน คือถ้าตรวจมด 200 มันก็คงไม่ไหว" พญ.พรทิพย์ กล่าว
 
พญ.พรทิพย์ กล่าวว่า เราก็เริ่มเห็นว่าแปลกจัง ทำไมชี้เป้าแล้วตัด แต่เราไม่ได้ตรวจค้น ปรากฏว่าบ้านหลังนั้นก็จะตรวจพบสารระเบิด ตรวจทั้งเบื้องต้นและยืนยันแม้แต่จุดที่เป็นห้องเรียน ประมาณนั้น และไม่ได้เจอเฉพาะสารระเบิด เจอสารเสพติดในบางจุด เราเริ่มสนใจ ต่อมาในการขยายผลไปตามมือระเบิดแห่งหนึ่งปรากฏว่าในขณะที่เราตรวจค้นก็มีรถมาจอด 3-4 คน เราก็เริ่มไม่ไว้ใจ แล้วก็มีเจ้าหน้าที่กู้ระเบิดอยู่ เราก็เลยลอง ปรากฏว่ารถมันก็ตัดอยู่คันเดียว พอตัดกันนั้นเราก็ลองอีกเหมือน คือ เราก็ตามด้วยวิธีวิทยาศาสตร์ คือใช้ไอออนสแกน ก็ขึ้นยาเสพติด พอขึ้นยาเสพติดเราก็สืบต่อไปคือเอาไปขยายผลทางการทหารก็พบว่าเป็นบ้านหนึ่งในโกลก เห็นประสิทธิภาพ เราก็ถาม เครื่องนี้คือเครื่องอะไร เสร็จแล้วด้วยความไม่เชื่อ เพราะว่าเครื่อตัวเดียวมันประมาณ 1 ล้าน แต่ด้วยว่าเราได้รับการเหมือนกับเขาซื้อแล้วแบ่งมาให้ใช้ ที่สำคัญที่สุดพอเริ่มหาข้อมูลก็ทราบว่า ป.ป.ส. กับมหาดไทย ใช้ Alpha 6 ตรวจหายาเสพติดก่อนมาแล้ว 3-4 ปี แบบเดียวกันเลย 
 

ไม่เชื่อในเครื่อง เหตุเงื่อนไขเยอะ

"พอเราจำเป็นต้องใช้ ไม่อยากจะขอเสมอ เวลาตรวจค้น จะเข้าบ้านไหน มี 20 หลัง ก็มีเงินเหลือจ่าย ก็จะลองจัดซื้อมาเพื่อเอาไว้สกรีนนิ่ง ปรากฏว่าเราก็เริ่มเห็นข้อมูลของมัน ก็คือมันไม่น่าใช่เครื่องมือวิทยาศาสตร์ คือ เงื่อนไขเยอะมาก คนนั้นต้องไม่เหนื่อย อะไรประมาณนี้ แล้วเราก็กำลังแปลกใจเพราะว่าในทีมของเราก็จะมีคนเดียวที่ถือได้ค่อนข้างเปอร์เซนต์ 80-90 ประมาณนี้" พญ.พรทิพย์ กล่าว พร้อมกล่าวว่า แต่เปลี่ยนมือเมื่อไหร่ค่าความคลาดเคลื่อนสูงมาก
 
"ในมุมของเรา เราก็เหมือนกับอยากพิสูจน์ ตอนนั้นซื้อแล้ว 1 ตัว แล้วเวลาใช้ก็ขอยืมกับทางทหาร กำลังจะประสานกับทีมมหาวิทยาลัยที่เราทำงานด้วยกันไม่ว่าจะเป็นมหิดลหรือเนคเทคว่ามันคือเครื่องอะไร ก็เกิดประเด็นทันที โดยส่วนตัวนี่ไม่เชื่อ เพราะเรายังไม่จับเลย เพราะว่าด้วยความที่เราไม่เชื่อ แต่ว่าในการทำงานบางครั้งเราต้องลอง เพื่อให้ใช้เครื่องมือมันสกรีน มันไม่เคยสกรีนคนนะ เราใช้สกรีนสถานที่อย่างเดียว ต่อจากนั้นมาเริ่มเกิดเป็นประเด็นเพราะจำได้ว่าตอนที่เกิดเป็นประเด็นแล้วเราได้ยินข่าว แล้วก็มีบริษัทอังกฤษติดต่อมาเลย เราก็บอกมาเลยมาดู คือเราก็ไม่เชื่อไง แล้วเราก็ให้บริษัทของอังกฤษที่เข้ามา ตอนนั้นเราก็ไม่คิดว่าเขาจะฟ้อง ก็คือคุณก็ตั้ง เอาปืนสิ เพราะระเบิดมันผิดกฏหมายใช่ไหม" พญ.พรทิพย์ กล่าว
 
พญ.พรทิพย์ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า กรณีที่ติดต่อเข้ามานั้น เป็นช่วงที่เขากำลังจะฟ้องหมายความว่ารัฐบาลอังกฤษจะฟ้อง หรือใครสักคนที่จะฟ้องบริษัท ด้วยความที่จำไม่ได้ แต่รู้ว่าจะมาจับผิด เป็นเอกชน ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ตนก็แนะนำว่าจะขออนุญาตทางทหารเพื่อมาดูสาธิตการใช้เครื่อง 
 
ต่อกรณีคำถามว่าหน่วยงานที่มาตรวจสอบถึงเจาะมาที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์นั้น พรทิพย์ กล่าวว่า เขาอาจจะเห็นว่าหน่วยงานเราเป็นหน่วยงานวิทยาศาสตร์ เราจำได้ว่าตัวคนที่มานั้นให้เอาปืนไปซ่อน โดยที่คนของเราทำงานต่อ เพราะกำลังปิดล้อมตรวจค้น จำได้อย่างชัดเจน เจ้าหน้าที่ได้ผล 80-90 เปอร์เซนต์นั้น ก็เดินมันก็ตัดเจอปืน แล้วคนที่มาตรวจก็เงียบกริบเลย หลังจากนั้นก็เป็นเป็นประเด็นข่าวหนังสือพิมพ์เราจึงเริ่มรู้ว่าเขาคงเข้ามาตรวจสอบ
 

3 ประเด็นที่ควรเข้าใจ

"หลังจากนั้นที่เป็นข่าวให้โดนด่าอยู่ทุกวันนี้ แยกแยะก่อน ข้อ 1 คนที่อยู่ในพื้นที่ระเบิด อุปกรณ์อะไรที่มันสามารถสกีนได้สัก 20-30 อันนี้หมอไม่ได้แก้แทนตัวเอง มันเป็นธรรมดาที่เขาจะรู้สึกว่ามีก็ดีกว่าไม่ดี แต่ไม่ได้แปลว่าเครื่องนี้ใช้ได้ อันที่ 2 หมอบอกตลอดเวลา ไปถามใครก็ได้ว่าเครื่องมือนี้ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ แต่กำลังทำการพิสูจน์ ส่วนอันที่ 3 คือกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เพราะฉะนั้นแยกสิคะ เราไม่ได้รู้จักใครเป็นพิเศษเลย เรายังบอกไปเลยว่า เนื่องจากมีตัวเดียว ซื้อให้ถูกระเบียบเป๊ะเลยนะ" พญ.พรทิพย์ กล่าว
 

ไม่เคยเชื่อว่าใช้ได้ แต่น่าสนใจ

ผู้ดำเนินรายการระบุว่าตามบันทึกระหว่างปี 2551-2552 สถาบันนิติวิทยาศาสตร์จัดซื้อเครื่อง GT200 จำนวน 4 เครื่อง มูลค่า 4.48 ล้านบาท เฉลี่ยตอเครื่อง 1.1 ล้าน จากวันนั้นถึงวันนี้ในความรู้สึกของคุณหมอยังเชื่อว่ามันใช่ได้ หรือเปล่า  พญ.พรทิพย์ ตอบว่า "ไม่เคยเชื่อว่าใช้ได้ แต่น่าสนใจ"
 
พญ.พรทิพย์ กล่าวว่า เครื่องที่ได้นี่เป็นเครื่องที่งบเขาจัดสรรมาให้ซื้อในงบของสถาบันนิติฯ มันไม่ใช่ที่เราขอสำนักงบประมาณไป แล้วก็ได้อนุมัติมาไม่ใช่ แต่โดยส่วนตัวต้องการพิสูจน์ทราบว่าตกลงเครื่องมือนี้มันเป็นวิทยาศาสตร์ไหม ก็คือกำลังพยายาม 
 
"แต่ถามว่าเครื่องมือนี้ช่วยอะไรได้ไหม ช่วยได้พอสมควรในช่วงนั้น คือสกีนนิ่ง ถ้ามันตัดตรงไหน เราก็เลือกตรวจตรงนั้น แค่นั้นเอง ไม่ได้ ไปพิสูจน์คน" พญ.พรทิพย์ กล่าว
 

แจงมีประเด็นหลังซื้อเครื่องที่ 4 แล้ว

ผู้ดำเนินรายการถามต่อว่าซื้อเครื่องเดียวพอเข้าใจ ในเมื่อคุณหมอบอกว่า ไม่เคยเชื่อว่ามันเป็นอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ ไม่เคยเชื่อว่ามันใช้ได้ แต่เกิดการซื้อเครื่องที่ 2 นี่หลายคนก็มีคำถามจะอธิบายตรงนี้อย่างไร พญ.พรทิพย์ กล่าวว่า มันมามีปัญหาที่คนเริ่มประท้วงเริ่มเป็นประเด็นสังคมเมื่อหลังเครื่องสุดท้าย มันไม่ใช่มีประเด็นตั้งแต่เครื่องแรกแล้วจะดันทุรังซื้อ 2 3 4 มันมามีประเด็นปัญหาในตอนหลัง ตอนที่ซื้อหมดแล้ว 
 
ต่อกรณีต้องซื้อมากกว่า 1 เครื่องนั้น พญ.พรทิพย์ กล่าวว่าเพราะทีมเมื่อเราแบ่งทีมออกทำงานทั่วไปประมาณ 3 ทีม ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้
 
ผู้ดำเนินรายการถามว่าในเมื่อเครื่องที่ 1 ที่คุณหมดว่ามันประหลาดที่มันใช้ได้ผลเฉพาะคนคนเดียว ผิดมือหรือเปลี่ยนมือคนใช้มันจะมีค่าความคลาดเคลื่อนสูงมาก แล้วการซื้อเครืองที่ 2-4 นั้นจะให้ใครใช้ พญ.พรทิพย์ ตอบว่า เราพูดย้อนหลัง แต่ ณ วันที่มีเครื่องที่ 1 2 3 4 มันยังไม่อาจสรุปได้ว่าเป็นคนๆ เดียว คำตอบเรื่องการใช้ได้แม่นยำสำหรับคนๆ เดียวนั้น มาได้หลังจากการประมวลดูทั้งหมดว่าเนื่องจากเป็นประเด็นในสังคมขึ้นมา
 

เผยหนึ่งเดียวที่ใช่ได้แม่นเป็นคนสมาธินิ่ง 

สำหรับบุคคลที่สามารถใช้ได้แม่นยำนั้น พญ.พรทิพย์ เผยว่าปัจจุบันยังรับราชการอยู่ และมีบุคลิคตรงตามที่ระบุโดยเราจะดูแลเขาไว้ พร้อมกล่าว่า "เขาจะเป็นคนที่สมาธินิ่ง แล้วก็ร้อนคือร้อน หิวคือหิว เพราะฉะนั้นเราจะดูเขาออก เขาจะไม่เก็บ เพราะฉะนั้นเวลาเขาปฏิบัติงานก็ต้องไม่ทำ เหมือนเราทดลองอะไรบางอย่าง ซึ่งอาจจะมีคนด่านะ ด่าว่าเออคุณหมอทำไมลงทุน ขอโทษนะคะ ย้อนกลับไปดูเมื่อเหตุการณ์ปี 50 51 มันระเบิดทุกวัน มันตายเป็นเบือทั้งไทยพุทธไทยมุสลิม แล้วที่สำคัญคือทำไมมันประกอบระเบิดกันมากมาย เราก็มุ่งหา แล้วที่สำคัญนะคะ ประเทศอังกฤษก็ใช้แล้ว ไปที่อีรัก รัฐบาลก็ซื้อ มันก็เป็นเหตุที่ทำให้ทหาร ซึ่งเราไม่แก้ตัว ไม่ได้รู้สึกสงสัย
 

ใช้แค่สกีนไม่ได้ใช้พิสูจน์ยืนยัน

"เราไม่ได้ใช้เครื่องนี้พิสูจน์ยืนยัน เราใช้แค่เรียกว่าสกรีนนิ่ง" พญ.พรทิพย์ กล่าว
 
สำหรับความแตกต่างระหว่างสกรีนนิ่งกับการพิสูจน์ยืนยันนั้น พรทิพย์ กล่าวว่า ความที่เป็นการตรวจยืนยันมันจะต้องเป็นเครื่องมือวิทยาศาสตร์ การที่เป็นเครื่องมือวิทยาศาสตร์มันจะต้องมีการอธิบายกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ว่าเป็นวิธีทางวิทยาศาสตร์ เครื่องนี้ยังไม่มีการยืนยันว่าเป็นเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ และมันต้องมีความแม่นยำสูง อันนี้หลักการมันไม่แม่นยำ แต่ด้วยภาระกิจ อย่างที่บอกคนปฏิบัติงานจะรู้สึกปลอดภัยมีทำงานสะดวกกว่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น