วันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2554

ธรรมะ-ความศักดิ์สิทธิ์อำนาจ-การรัฐประหาร

โต๊ะกลมระดมความคิด
         จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้
         ปีที่ 12 ฉบับที่ 3037 ประจำวัน พฤหัสบดี ที่ 21 เมษายน 2011
         โดย เรียวจันทร์ (ปฏักทอง)
http://www.dailyworldtoday.com/columblank.php?colum_id=51683
         ในยุคโบราณของประเทศส่วนใหญ่สำหรับภูมิภาคซึ่งเราเรียกให้เป็นชมพูทวีป ศาสนาย่อมเป็นสถาบันที่มีความสำคัญต่อการปกครองบ้านเมือง หลายประเทศในแถบนี้รวมทั้งประเทศไทยเราก็ใช้ประโยชน์จากพระพุทธศาสนาเข้ามาเกี่ยวเนื่องกับการปกครองในแบบสังคมประเพณี...

ข้อนี้คงเป็นความจริงที่ว่า คำสั่งสอนในพระพุทธศาสนายังได้ทำหน้าที่ต่อการขัดเกลาสำนึกจิตใจของประชาชนในชาติให้กลายเป็นคนดี ปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรม...มิใช่เท่านั้น ศาสนาพุทธยังเกี่ยวข้องกับสังคมสุวรรณภูมิอีกหลายมิติ แม้กระทั่งยังเป็นหน้าที่สำคัญสำหรับผู้นำประเทศ ทั้งนี้ จะต้องทะนุบำรุงพระศาสนาไปด้วยพร้อมกันกับความรับผิดชอบต่อการบริหารจัดการบ้านเมือง

แต่ทุกอย่างนั้นเราคงต้องพิจารณาเป็นสองทาง เพราะคุณูปการของศาสนายังขึ้นอยู่กับ “เจตนาที่จะนำไปใช้” ดังนั้น มิติของทั้งอำนาจหรือการเมืองยังเป็นอีกปัจจัยที่ต้องใช้ศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ความยุ่งยากและสับสนวุ่นวายคงอยู่ตรงนี้เอง เมื่อมีผู้ใช้ศาสนาเอามาเป็นเพียงฉากหน้าหรือข้ออ้างในเชิงวาทกรรมเพื่อการครอบงำความเชื่อ

ในความเชื่อของหลายชาติในสุวรรณภูมิเมื่ออดีต จะเป็นพม่า มอญ ลาว ไทย เขมร จะมีคติความเชื่อของตนว่า “พระมหากษัตริย์นั้นเป็นพระโพธิสัตว์ โดยสั่งสมผลบุญบารมีมาจากอดีตชาติ แล้วด้วยอำนาจบุญกุศลซึ่งบำเพ็ญมานั้น จึงได้อุบัติขึ้นมาเพื่อปกครองประชาชนพลเมืองทั้งหลาย” นี่ยังถือเป็นลัทธิความเชื่อของชาวพุทธกับพระมหากษัตริย์ตั้งแต่ยุคโบราณ เชื่อกันว่าเมื่อพระโพธิสัตว์อุบัติขึ้นในโลกแล้ว พระองค์ก็ต้องบำเพ็ญบารมีให้ยิ่งๆขึ้นไป ถ้าเราได้ตรวจตราศึกษาประวัติศาสตร์ย้อนไปหาพระราชกรณียกิจหลักของพระมหากษัตริย์ นอกจากจะปกครองไพร่ฟ้าประชาชนให้อยู่เย็นเป็นสุขสันติ ยังต้องทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง...

แม้เรื่องเหล่านี้จะเป็นอจินไตยหรือบางคนเห็นเป็นมหาอมตะนิยาย เห็นเป็นเรื่ององค์อวตารจุติมาจากพระโพธิสัตว์หรือพระมหาโพธิสัตว์ แต่ก็เป็นลัทธิความเชื่อที่ผู้คนในหลายประเทศได้ยึดถือสืบเนื่องและปฏิบัติมาเป็นเช่นนี้ยาวนานแล้ว...
ปัจจุบันก็ยังเชื่อกันอยู่?

เราคงไม่ไปวิพากษ์วิจารณ์ว่า “ความเชื่อตามศาสนาพราหมณ์” ในเรื่องของเทพเทวะองค์ต่างๆได้เข้ามาปะปนผสมอยู่ในความเชื่อของผู้คนกันสักกี่มากน้อย แต่ “เชื่อว่าอาการเหล่านี้มีอยู่อย่างแน่นอน”

คือถ้าความเชื่ออะไรจะเป็นประโยชน์ต่อความเป็นอยู่ของสมาชิกในสังคม แม้จะเบือนหรือผิดออกไปบ้างจากคำสั่งสอนดั้งเดิมแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสมณโคดม หากไม่นำไปสู่วิกฤตอะไรคงต้องถือให้เป็นการประทับตราอนุมัติหรืออนุโลมที่จะใช้ให้เชื่อถือและปฏิบัติกันได้?

ที่บอกว่าศาสนาพุทธกับวิถีแห่งอำนาจยังเป็นสิ่งเกี่ยวข้องกัน ข้อนี้เห็นจะไม่ได้หมายถึงคำสั่งสอนของศาสนาพุทธไปมีความสัมพันธ์กับเรื่องอำนาจแต่อย่างใด? ซ้ำยังย้ำให้ผู้คนได้ลด ละ และเลิกไปจากความถือตัวตน ไม่ยึดติดแม้กระทั่งบรรดายศศักดิ์หรืออำนาจวาสนาอันเป็นของตัวเอง...

น่าจะมีเพียงอำนาจเท่านั้นที่ได้พยายามเข้ามาข้องแวะใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือหรือสิ่งคุ้มครองให้แก่อำนาจนั้นๆ เรายกตัวอย่างธรรมเนียมกษัตริย์ของพม่าหรือของไทยเมื่อโบราณ ยามที่พระองค์จะประกาศศึกสงคราม หวังเข้าไปยึดครองดินแดนแว่นแคว้นอื่นๆ ถ้าอ่านพงศวดารทั้งไทยหรือพม่าก็จะอ้างถึงเหตุผลความชอบธรรมในสงครามที่ต้องกระทำเพื่อ “คุ้มครองอาณาประชาราษฎร์ รวมทั้งยังเป็นการคุ้มครองพระรัตนตรัยอีกด้วย”

ดังนั้น บ่อยครั้งที่มีการกระทบกระทั่งจนขัดแย้งเกิดศึกสงครามต่อกันในระหว่างชาติบ้านเมืองที่ต่างนับถือพระพุทธศาสนา ถือพระพุทธเจ้าองค์เดียวกัน ไตรปิฎกร่วมกัน แต่ยังสามารถถือดาบเข้าประหัตประหารเพื่อผลาญชีวิตซึ่งกันและกัน สมรภูมิหลายครั้งที่เลือดนองแผ่นดินมักมีความจริงเช่นนี้?

เป็นเรื่องน่าฉงนอยู่ไม่น้อยสำหรับคำประการศึกที่ไพร่พลแหลกลาญ ชีวิตถูกปลิดเป็นใบไม้ร่วง ยังจะเป็นภารกิจในการคุ้มครอง “พระรัตนตรัยโดยเจตนาแท้จริงอีกหรือ?” ข้อนี้เองที่เราพิจารณาเห็นได้ชัดจากมิติของการสร้างความชอบธรรมในอำนาจ และสงครามบ่อยครั้งที่จำเป็นจะต้องยึดโยงเอาทั้งความศักดิ์สิทธิ์ที่สูงส่งและธรรมะเข้ามาเป็นเครื่องมือประกอบสำหรับอธิบายถึงเหตุผลความชอบธรรม...

หากเราเอาตรรกะเข้ามาพิจารณา สังคมของเพื่อนบ้านเมืองพุทธที่ต้องก่อสงครามเพื่อรักษาอาณาประชาราษฎร์ และคุ้มครองพระรัตนตรัย ก็มีความเป็นไปได้อยู่เหมือนกันที่จะต้องมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นพวกอธรรม จึงทำให้อีกข้างเป็นฝ่ายธรรมะ ซึ่งต้องประกาศสงครามต่อสู้ในการรักษาพระรัตนตรัยอันสูงส่ง...

เมื่อสมัยโบราณก็อาจเป็นเช่นนั้น แต่มาในปัจจุบันสำหรับเมืองไทยยังมีผู้อิงถึงเรื่องธรรมะและความชอบธรรมเพื่อปราบเสี้ยนหนามในแผ่นดิน เดินเอาธรรมนำหน้าแล้วกวักมือเรียกหวังให้ทหารปฏิวัติ อิงพระอรหันต์ อิงความศักดิ์สิทธิ์แห่งแผ่นดิน อ้างญาณของพระนเรศวรฯ สุดสารพัดบรรดาความศักดิ์สิทธิ์...หรืออำนาจ การรัฐประหาร เริ่มกลายเป็นสิ่งเดียวกับธรรมะตลอดจนความศักดิ์สิทธิ์สูงส่งทั้งหลาย...

นานๆไปธรรมะกับความชั่วคงสามารถกลมกลืนเป็นเรื่องเดียวกันได้จริงไหม?

*******************


http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น