วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2554


‘ร.ย.-ย.ล.’ทดสอบสปิริตชายไทย

               รายงาน(วันสุข)
         จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข
         ปีที่ 6 ฉบับที่ 312 ประจำวัน จันทร์ ที่ 30 พฤษภาคม 2011
         โดย วิษณุ บุญมารัตน์
            http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=10876
         ก่อนเข้าบทความวันนี้ ผู้เขียนขอฝากถึงกองกำลังติดความรู้ชาวไทยภาคอีสานเพื่อต่อสู้กับลูกจีนรักชาติของพลตรีจำลอง ศรีเมือง ว่า “เชื่อว่าทุกคนเคยแพ้ เชื่อว่าทุกคนเคยล้มเหลว แต่คนแพ้ไม่ใช่คนที่ล้มเหลว คนล้มเหลวคือคนที่ล้มเลิกต่างหาก สุดท้ายพวกเราจำไว้เสมอว่าจะชั่วจะดีเราก็เป็นคนไทย ไม่ใช่พวกลูกจีนรักชาติของพลตรีจำลอง ศรีเมือง”

ระยะนี้ผู้หญิงกำลังเป็นหัวข้อวิพากษ์ของสังคมอย่างน้อย 2 คน 2 ประเด็น หนึ่งคือ “เรยา” ตัวละครจากเรื่อง “ดอกส้มสีทอง” ที่เพิ่งจบไป ส่วนอีกคนหนึ่งคือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้สมัครรับเลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่อหมายเลข 1 ของพรรคเพื่อไทย ผู้ถูกคาดหมายว่าอาจเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศ


ในวันนี้ไม่ได้คิดจะชูธงเป็นกลุ่มสตรีนิยมหรือเฟมินิสต์ (Feminist) แต่กระแสข่าวผู้หญิงทั้งสองเรื่องก่อให้เกิดกรอบความคิดบางอย่างเกี่ยวกับสังคมไทย โดยเฉพาะกรอบความคิดของผู้ชายในปัจจุบันที่สะท้อนออกมาอย่างน่าสนใจโดยผ่านผู้หญิงทั้งสอง


ผู้หญิงคนแรก “เรยา” นั้นผู้เขียนไม่ได้ดูละครเรื่องดอกส้มสีทองตั้งแต่แรก มาดูในตอนท้าย เพราะอยากทราบว่าเหตุใดสังคมจึงพูดถึงเรื่องดังกล่าวแทบทุกสาขาอาชีพ จึงพบว่าเรื่องนี้มีองค์ประกอบที่ส่งเสริมกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นการเขียนบทที่แต่งเติมจากนิยายจนเข้มข้น หรือนักแสดงซึ่งรับบทโดยอารยา เอ ฮาร์เก็ต ที่เรื่องนี้ต้องยอมรับว่าเธอแสดงได้ดีจริงๆ ทำให้คนดูรู้สึกคล้อยตามอย่างมาก จนกระทั่งผู้ปกครองกลุ่มหนึ่งต้องออกมาเรียกร้องให้เซ็นเซอร์ภาพที่คิดว่าไม่เหมาะสมออกไป เพราะกลัวลูกหลานจะเอาอย่าง


แต่ลืมถามตัวเองไปว่าเลี้ยงลูกเหมือนกับที่แม่ของเรยาเลี้ยงหรือไม่ ดังที่ในตอนท้ายละครเรื่องนี้ได้ยกคำของ “ท่าน ว.วชิรเมธี” มาเตือนใจผู้ปกครองว่าถ้าหากใช่ก็สมควรจะกลัว เพราะในอนาคตจะมีคนแบบเรยาเกิดขึ้นในสังคมอีกมาก แต่หากไม่ใช่ เหตุใดจึงต้องกลัว ในเมื่อคำโบราณที่ว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” ยังใช้ได้ทุกสมัย แต่ต้องใช้ด้วยเหตุผล


ผู้เขียนคิดว่าละครเรื่องนี้ให้แง่คิดไม่เพียงเรื่องการเลี้ยงดูบุตรเท่านั้น ขณะเดียวกันเรยาก็ไม่ใช่เพียงสะท้อนการลุกขึ้นมาเรียกร้องขอเป็นที่หนึ่งแทนเมียหมายเลขหนึ่งเพียงอย่างเดียว ในมุมกลับกัน “เรยา” กลับสะท้อนภาพบางอย่างที่สามารถสอนใจผู้ชายไทยได้เป็นอย่างดี เพราะหากมองในเชิงสัญลักษณ์ “เรยา” คือบททดสอบความมีหิริโอตตัปปะของผู้ชายไทยนั่นเอง
“สินธร” ผู้ชายคนแรกของเรยา ยอมมีอะไรกับหญิงอื่นทั้งที่ตัวเองมีภรรยาอยู่แล้ว ยอมทุ่มเททรัพย์สมบัติที่ไม่ใช่ของตัวเองให้กับหญิงผู้มิใช่ภรรยาของตน แม้จะเลิกคบกับเรยาแล้วแต่ก็ยังไม่เลิกไขว่คว้าหาหญิงอื่นอีก ปล่อยให้กิเลสตัณหาพาชีวิตหาความสุขที่ไม่ถูกต้องไปเรื่อยๆ จนกระทั่งได้บทเรียนที่ต้องจดจำไปตลอดชีวิต


“ก้องเกียรติ” ผู้ชายคนที่ 2 ตกกระไดพลอยโจนไปกับกิเลสตัณหาที่เรยายื่นให้ แม้จะโดยไม่ตั้งใจและรำลึกเสมอว่าตนมีภรรยาแล้ว แต่ก้องเกียรติก็ไม่ยอมยุติความสัมพันธ์ที่ไม่ถูกต้อง เพราะถูกครอบงำจากประเพณีความเชื่อที่ต้องการมีบุตรสืบสกุล จึงทำให้กลืนไม่เข้าคายไม่ออกกับสิ่งที่ตนกระทำ หากเขากล้าที่จะแหวกม่านประเพณี ปัญหาครอบครัวคงไม่เกิดขึ้น


สุดท้าย เกียรติกร ผู้ชายที่ใช้เหตุผลเหนืออารมณ์ แม้จะรักเรยา แต่เมื่อทราบภูมิหลังของหญิงที่ตนรักก็ยังมีสติคิดใคร่ครวญความถูกต้องเหมาะสม ทำให้ไม่ตกเป็นเหยื่อของตัณหา และสามารถช่วยเหลือพี่ชายแก้ไขปัญหาได้อีกด้วย หากเกียรติกรเป็นผู้ชายที่ใช้อารมณ์เหนือเหตุผลอาจทำให้ต้องผิดใจกับพี่ชายและเกิดปัญหารักสามเส้าขึ้นได้


ในสังคมไทยสามารถหาผู้ชายที่เหมือนกับคนทั้งสามได้ไม่ยาก โดยเฉพาะสินธร ซึ่งมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะศีลธรรมของเราลดน้อยลงตามลำดับ
ผู้ชายหลายคนจึงติดตามเรื่องนี้เพื่อต้องการทราบว่าท้ายที่สุดแล้วก้องเกียรติแก้ปัญหาอย่างไร เผื่อจะได้นำไปใช้แก้ปัญหาของตัวเองบ้าง


จากตัวละครลองหันมาดูคนจริงๆบ้าง การลงสมัครในระบบบัญชีรายชื่อหมายเลข 1 พรรคเพื่อไทยของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ถูกจับตามองว่าเป็นนอมินีที่อดีตนายกรัฐมนตรี พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ส่งเข้าประกวด เพื่อเรียกคะแนนเสียงจากกลุ่มผู้สนับสนุนอดีตนายกฯให้มาท้าชนกับพรรครัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ จนทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้กลายเป็นการเลือกข้างระหว่างพรรคของหนุ่มหล่อกับพรรคของสาวสวย


แต่ยังไม่ทันที่จะมีการทำผลสำรวจว่าประชาชนส่วนใหญ่คิดจะเลือกพรรคใด พรรคประชาธิปัตย์ดูเหมือนจะแทบยอมรับในทันทีว่าการส่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ลงสมัครกลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดผู้สนับสนุนอดีตนายกฯได้เป็นอย่างดี เพราะไม่ว่าจะเป็นนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรค หรือนายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ออกมาปรามาสฝีมือการบริหารประเทศของ น.ส.ยิ่งลักษณ์เสียแล้ว


ยังไม่รวมสมาชิกคนอื่นที่ร่วมกันขุดคุ้ยเรื่องส่วนตัวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ออกมาสู่สาธารณะ เช่น นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ที่ถามถึงการถือหุ้นของสามีและบุตรของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ หรือการปล่อยข่าวเรื่องการแจ้งถือหุ้นเท็จเพื่อช่วยเหลือพี่ชาย ล้วนเป็นความพยายามเพื่อลดความน่าเชื่อถือ (Discredit) น.ส.ยิ่งลักษณ์ทั้งสิ้น


น.ส.ยิ่งลักษณ์คงต้องทำใจว่านับแต่วินาทีที่ลงสมัครรับเลือกตั้งจะต้องถูกการเมืองจากฝ่ายตรงข้าม “เล่น” อีกหลายยก ตราบเท่าที่กระแสข่าวคาดหมายผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรียังคงเป็น น.ส.ยิ่งลักษณ์หากพรรคเพื่อไทยสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้


ผู้หญิงคนที่ 2 นี้จึงเป็นสัญลักษณ์ของความเท่าเทียมทางเพศในสังคมไทย ความเท่าเทียมกันทางการเมืองไทย นั่นคือความเท่าเทียมที่ผู้หญิงจะถูกการเมือง “เล่นงาน” เท่ากับผู้ชาย โดยที่ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องเรียกร้อง แต่สามารถได้มาอย่างง่ายดายหากลงสมัครรับเลือกตั้ง ยังไม่นับการถูกขู่ฆ่า การลอบยิงขณะหาเสียงของผู้สมัครหญิงคนอื่นๆที่ประสบมาแล้ว


ความเป็นสุภาพบุรุษถูกเก็บไว้ชั่วคราวจนกระทั่งหลังเลือกตั้ง และขอให้ติดตามต่อไปว่าหากดวงประเทศไทยจะมีนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกจริง นักการเมืองชายทั้งหลายจะยอมรับได้หรือไม่


สปิริตคือคำตอบสุดท้ายครับ



ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 312 
วันที่ 28 พฤษภาคม – 3 มิถุนายน พ.ศ. 2554 หน้า 12  
คอลัมน์ หอคอยความคิด โดย วิษณุ บุญมารัตน์
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น