แก้วสรร ยืนยัน พร้อมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในร่างประกาศ กสทช. เรื่อง “มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตหรือสัญญาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่” 25 กรกฎาคม นี้
แก้วสรร อติโพธิ ประธานคณะทำงานการมีส่วนร่วมและสร้างความเข้าใจแนวทางการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz เผยถึงประเด็นการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในร่างประกาศ กสทช. เรื่อง “มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตหรือสัญญาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. ...” ว่า คณะทำงานได้สรุปประเด็นที่จะขอรับฟังความคิดเห็น 7 ประเด็น ได้แก่ เรื่องฐานอำนาจทางกฎหมาย เนื้อหาความคุ้มครอง ค่าธรรมเนียมการคงสิทธิ เลขหมาย ผู้มีหน้าที่ให้ความคุ้มครอง ระยะเวลาคุ้มครอง การหยุดให้บริการ และค่าธรรมเนียม
แก้วสรร ระบุว่า จากนี้ไปคณะทำงานฯ จะส่งคำอธิบายพร้อมประเด็นให้ผู้มีส่วนได้เสียที่เป็นหน่วยงานราชการ ได้แก่ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ คณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้อง และรัฐวิสาหกิจ, เอกชนคู่สัญญาสัมปทานทั้งหมด, สมาคมโทรคมนาคมต่างๆ, องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคต่างๆ และประชาชนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยทั่วไป เพื่อศึกษาและให้ความคิดเห็นโดยสรุปส่งให้สำนักงาน กสทช. ตามเอกสารแบบฟอร์มการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ และส่งแบบฟอร์มสรุปความคิดเห็นมายังสำนักงาน กสทช. เลขที่ 87 ถ.พหลโยธิน ซ.พหลโยธิน 8 พญาไท กทม. 10400 ภายในวันที่ 17 กรกฎาคม 2556 ซึ่งผู้มีส่วนได้เสียสามารถแจ้งความประสงค์ในแบบฟอร์มเพื่อขอเข้าร่วมนำเสนอความคิดเห็นหรือให้ข้อมูลในประเด็นต่างๆ ด้วยวาจาต่อคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นได้ ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2556 ระหว่างเวลา 09.00–15.00น. ณ สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดี กรุงเทพฯ คณะทำงานกำหนดมาตรการรองรับผลกระทบอันเกิดจากการสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน การใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz จะนำผลที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะไปปรับปรุง ร่างประกาศฯ และนำเสนอที่ประชุม กทค. เพื่อพิจารณาต่อไป ซึ่งการให้ความคิดเห็นในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาระบบโทรคมนาคมไทย
แก้วสรร กล่าวว่า ความจำเป็นและหลักการของ (ร่าง) มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. ... เป็นการดำเนินการโดยคำนึงถึงกฎหมาย การคุ้มครองประชาชนผู้บริโภค และระยะเวลาที่สัมปทานจะสิ้นสุด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดมาตรการและเตรียมการรองรับผลของการสิ้นสุดของการอนุญาต สัมปทาน หรือ สัญญา การให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่องปราศจากข้อจำกัดในระหว่างที่การจัดสรรคลื่นความถี่ดังกล่าวแก่ผู้รับใบอนุญาตรายใหม่ยังไม่แล้วเสร็จ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 27 (4) (6) และ (13) ประกอบกับมาตรา 83 และมาตรา 84 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544
แก้วสรร กล่าวว่า เนื่องจากสัญญาสัมปทานแรกของประเทศไทยจะสิ้นสุดอายุสัมปทานในวันที่ 15 กันยายน 2556 เป็นการสิ้นสุดสัญญาบริการคลื่นความถี่ 1800 MHz ด้วยบทบาทของ กสทช. จึงต้องมีมาตรการกำกับดูแลเพื่อให้ผู้ใช้บริการไม่ได้รับผลกระทบจากการสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ตลอดจนมีเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการเร่งโอนย้ายผู้ใช้บริการให้เสร็จภายในช่วงเวลาคุ้มครอง ซึ่งต้องไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ระหว่างนี้ผู้ประกอบการจะไม่สามารถรับผู้ใช้บริการรายใหม่เพิ่มเข้าสู่ระบบเดิมได้อีก ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวไม่ได้เป็นการต่ออายุสัมปทาน และไม่ใช่การจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ตามมาตรา 45 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 แต่เป็นการกำกับดูแลเพื่อให้ผู้ใช้บริการไม่ได้รับผลกระทบจากการสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน
สำหรับการคุ้มครองผู้บริโภค (ร่าง) ประกาศฉบับนี้ กำหนดให้ผู้ให้บริการเร่งการโอนย้ายผู้ใช้บริการไปเครือข่ายอื่น และยังคงต้องดูแลเรื่องคุณภาพบริการให้ได้คุณภาพ คิดค่าบริการตามประกาศที่เกี่ยวข้อง สำหรับผู้ใช้บริการคงเหลือที่ไม่แจ้งความประสงค์จะขอย้ายไปยังผู้ให้บริการรายอื่น โดยผู้ให้บริการต้องประชาสัมพันธ์แจ้งเงื่อนไขความคุ้มครอง กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดความคุ้มครอง และการโอนย้ายเครือข่ายให้ผู้ใช้บริการทราบอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ระหว่างขั้นตอนการดำเนินการ ผู้ให้บริการจะไม่สามารถรับลูกค้ารายใหม่เพิ่มเข้ามาในระบบได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น