พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน “โลกวันนี้วันสุข”
5 กรกฎาคม 2556
ในหลายเดือนที่ผ่านมา ฝ่ายเผด็จการได้ก่อการรุกครั้งใหม่เพื่อโค่นล้มรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ด้วยวิธีการเดิม ๆ คือ ส่งมวลชนเสื้อเหลืองสารพัดชื่อมาเคลื่อนไหวบนท้องถนน เรียกร้องให้มีรัฐประหาร ประสานกับสื่อมวลชนกระแสหลักช่วยกันกระพือโจมตีรัฐบาลทั้งจริงและเท็จปะปนกัน สร้างสถานการณ์ให้เห็นว่า รัฐบาลเสื่อมความนิยมจากทุจริตคอรัปชั่นและละเมิดสถาบันกษัตริย์ รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ที่สนับสนุนกลุ่มมวลชนเสื้อเหลืองบนท้องถนนอย่างเปิดเผย และที่สำคัญคือ การใช้องค์กรตุลาการในมือ เข้ามาสะกัดกั้นการทำงานของรัฐบาลและรัฐสภา ขัดขวางกฎหมายและโครงการต่าง ๆ ที่ริเริ่มโดยรัฐบาล และตั้งแท่นเตรียมยุบพรรค ปลดนายกรัฐมนตรี
แต่ดูเหมือนว่า แกนนำพรรคเพื่อไทยจะยังไม่เข้าใจถึงแก่นแท้ของสถานการณ์ทั้งหมด ยังคงดำเนินยุทธศาสตร์การเมืองแบบเลือกตั้งล้วน ๆ ต่อไป ดังจะเห็นได้จากแนวทางของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และในการเลือกตั้งซ่อมสส.เขตดอนเมือง ซึ่งพ่ายแพ้อย่างน่าอับอายทั้งสองกรณี
สถานการณ์ปัจจุบันเป็นการต่อสู้ทางชนชั้นระหว่างกลุ่มจารีตนิยม พวกทุนเก่า และชนชั้นกลางในเมืองฝ่ายหนึ่ง กับประชาชนรากหญ้า ชนชั้นกลางในชนบทและกลุ่มทุนใหม่อีกฝ่ายหนึ่ง และก็เป็นการต่อสู้สองแนวทางระหว่างระบอบเผด็จการจารีตนิยมกับระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยม เป็นการต่อสู้ที่ไม่อาจประนีประนอมกันได้และจะต้องแตกหักในที่สุด
ในการต่อสู้นี้ ฝ่ายจารีตนิยมพ่ายแพ้การเลือกตั้งใหญ่สองครั้ง แต่ก็ยังมีกลไกที่เข้มแข็ง ทั้งกองทัพ ตุลาการ พรรคประชาธิปัตย์ สื่อมวลชนกระแสหลัก องค์กรพัฒนาเอกชน และฐานมวลชนในเขตกรุงเทพและเมืองใหญ่ การเลือกตั้งทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นทุกครั้งในปัจจุบันจึงไม่ใช่การเลือกตั้งในระบอบรัฐสภาที่เป็นปกติภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคง แต่เป็นการต่อเนื่องของสงครามชนชั้นและสงครามสองแนวทาง
พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งใหญ่ทั้งสองครั้งก็เพราะประชาชนส่วนใหญ่ที่เลือกพรรคเพื่อไทยนั้นต้องการประชาธิปไตย ขณะที่ประชาชนอีกส่วนหนึ่งไปเลือกพรรคประชาธิปัตย์ก็เพราะพวกเขาไม่ต้องการประชาธิปไตย แต่ต้องการระบอบจารีตนิยม ส่วนการแข่งขันด้วยนโยบายและโครงการนั้นเป็นเรื่องรอง
กรุงเทพฯและปริมณฑลเป็นเขตฐานมวลชนหลักของพวกจารีตนิยมและพรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่พรรคเพื่อไทยก็มีฐานคะแนนเสียงและคนเสื้อแดงในจำนวนที่ก้ำกึ่งกัน การเลือกตั้งท้องถิ่นกรุงเทพฯเป็นการต่อเนื่องของการต่อสู้สองแนวทางและการต่อสู้ทางชนชั้นระดับชาติ การแพ้ชนะการเลือกตั้งท้องถิ่นกรุงเทพฯจึงตัดสินกันที่ดุลกำลังของฐานคะแนนเสียงทั้งฝ่ายว่า จะสามารถระดมออกมาได้อย่างเต็มที่หรือไม่ ประเด็นนโยบายและโครงการมีความสำคัญเป็นรอง
คำถามคือ แล้ว “คนกลาง ๆ” หรือ “คนไม่มีสี” อยู่ตรงไหน? คำตอบคือ คนพวกนี้เป็นพวกเฉื่อยชาทางการเมือง หากมีรายได้ไม่สูงก็จะหมกมุ่นกับการทำมาหากิน หากมีรายได้สูง ก็หมกมุ่นกับการหาความสุขส่วนตัว คนพวกนี้ไม่สนใจชะตากรรมของบ้านเมืองและความขัดแย้งใด ๆ ไม่สนใจการเลือกตั้งและส่วนใหญ่จะนอนหลับทับสิทธิ์
แกนนำพรรคเพื่อไทยยังไม่เข้าใจถึงการต่อสู้สองแนวทางในระดับท้องถิ่นกรุงเทพฯ จึงยังคงดำเนินยุทธวิธีทางการเมืองเสมือนเป็นระบอบรัฐสภาตามปกติ คือสร้างกระแสเลือกตั้งด้วยกลยุทธ์การตลาด ประดิษฐ์คำขวัญนโยบายสวยหรู เสนอขายชุดโครงการหลากหลาย เอาผลงานของรัฐบาลระดับชาติเป็นเครื่องประกันคุณภาพ แต่จงใจละเลยไม่ชูประเด็นการต่อสู้ทางประชาธิปไตย ไม่ชี้ให้เห็นว่า หากต้องการประชาธิปไตย ปฏิเสธเผด็จการ ก็ต้องเลือกพรรคเพื่อไทย
แกนนำพรรคเพื่อไทยเชื่อลม ๆ แล้ง ๆ ว่า ด้วยผลงานระดับชาติ คำขวัญหรู ๆ ชุดนโยบายหลากหลาย จะทำให้มวลชนกรุงเทพฯ “คนกลาง ๆ” หรือ “คนไม่มีสี” สนใจหันมาลงคะแนนให้กับผู้สมัครพรรคเพื่อไทย เมื่อรวมกับฐานเสียงพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงแล้ว ก็จะชนะเลือกตั้งท้องถิ่นได้ แต่นี่เป็นความเข้าใจผิด เพราะยุทธวิธีดังกล่าวนอกจากจะไม่ได้เสียงจาก “คนกลาง ๆ” “คนไม่มีสี” แล้ว พฤติกรรมอ่อนแอโลเลในการเมืองระดับชาติของพรรคเพื่อไทยยังทำให้การสนับสนุนจากมวลชนคนเสื้อแดงลดน้อยถอยลงไปอีกด้วย ผลก็คือ พรรคเพื่อไทยแพ้การเลือกตั้งท้องถิ่นกรุงเทพฯและปริมณฑลทุกครั้ง และจะแพ้ซ้ำซากเช่นนี้ต่อไปอีก
จะเห็นได้ว่า นโยบายเอาใจคนกรุงเทพฯสารพัดไม่เคยได้ผลตอบรับ ตั้งแต่การต่อสู้ป้องกันไม่ให้น้ำท่วมกรุงเทพชั้นใน โครงการรถยนต์คันแรก โครงการบ้านหลังแรก โครงการรถไฟฟ้า และโครงการอื่น ๆ คนกรุงเทพฯที่เป็น “เหลือง” และ “คนกลาง ๆ” จำนวนมากได้ประโยชน์โดยตรง แต่ก็ยังไม่ลงคะแนนให้พรรคเพื่อไทยเพราะคนกรุงเทพฯที่ “เหลือง” ก็ต่อต้าน “ระบอบทักษิณ” ขณะที่ “คนกลาง ๆ” ไม่สนใจใช้สิทธิ์เลือกตั้ง
ในทางตรงข้าม พรรคประชาธิปัตย์กลับมีความชัดเจนในเรื่องนี้ พวกเขาหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่นกรุงเทพฯและปริมณฑลด้วยการชูความขัดแย้งการเมืองระดับชาติเป็นธงนำ ปลุกระดมฐานมวลชนของตนด้วยการชูธง “ต้านระบอบทักษิณ” หากแพ้เลือกตั้งในกรุงเทพฯและปริมณฑลก็คือ แพ้ต่อ “ระบอบทักษิณ” ทำให้สามารถระดมพลังมวลชนของฝ่ายตนออกมาได้อย่างเต็มที่ และชนะเลือกตั้งทุกครั้ง นัยหนึ่ง พรรคประชาธิปัตย์รู้ดีว่า นี่คือสถานการณ์สู้รบ ต้องชูเป้าหมาย “ต่อต้านระบอบทักษิณ” จึงจะยืนอยู่ได้
หากองค์กรตุลาการเดินหน้าไปถึงขั้นจะยุบพรรคและปลดนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทยจะทำอย่างไร? ข้อเสนอข้อหนึ่งภายในพรรคเพื่อไทยคือ ให้สู้กับตุลาการด้วยการยุบสภาและมีการเลือกตั้งใหม่ โดยเชื่อมั่นว่า ประชาชนจะเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยเข้ามาด้วยคะแนนล้นหลามอีกครั้ง ซึ่งจะเป็นการยับยั้งฝ่ายตุลาการ
แต่นี่เป็นข้อเสนอที่ไร้เดียงสาด้วยวิธีคิดของการเมืองแบบเลือกตั้งล้วน ๆ คือเชื่อว่า ฝ่ายจารีตนิยม “กลัวการเลือกตั้ง” และเชื่อว่า เมื่อยุบสภาแล้ว ฝ่ายจารีตนิยมจะต้องยอมให้มีการเลือกตั้งใหม่อย่างแน่นอนเพราะไม่มีทางเลือกอื่น นี่เป็นความเชื่อที่ผิด พรรคเพื่อไทยจะต้องไม่ลืมบทเรียนจากการยุบสภาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 ซึ่งแทนที่จะได้เลือกตั้งใหม่ กลับนำไปสู่สภาวะสูญญากาศทางการเมือง ให้พวกจารีตนิยมสร้างวิกฤตการเมืองขึ้นทีละขั้น ขัดขวางไม่ให้มีการเลือกตั้ง จนเป็นเงื่อนไขสุกงอมให้เกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
หากพรรคเพื่อไทยสู้กับตุลาการด้วยการยุบสภาก็จะเป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง เพราะจะเหลือแต่รัฐบาลและรัฐมนตรีรักษาการ ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร เปิดช่องโอกาสให้พวกจารีตนิยมใช้ตุลาการ สมาชิกวุฒิสภาแต่งตั้ง และมวลชนเสื้อเหลืองบนท้องถนน ตลอดจนกองทัพในมือได้อย่างเต็มที่
สิ่งที่พรรคเพื่อไทยจะต้องทำในสถานการณ์สู้รบนี้ จึงไม่ใช่การยุบสภาอย่างเด็ดขาด แต่เป็นการเดินแนวทางการเมืองแบบมวลชน ชูธงประชาธิปไตยให้สูงเด่น เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญและนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองโดยเร็ว พึ่งพาสนับสนุนมวลชนของตนอย่างเต็มที่ ดึงความเชื่อมั่นของมวลชนคนเสื้อแดงกลับคืนมา ต่อสู้กับกลไกของจารีตนิยม ทั้งตุลาการและพรรคประชาธิปัตย์อย่างเต็มที่ด้วยแนวทางทั้งในและนอกสภา
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น