'อภิสิทธิ์' เสนอ 10 ข้อ 'นายกฯ ลาออก' - 'ตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล'
| |
Sat, 2014-05-03 11:36
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เสนอ กปปส. ทำข้อเสนอปฏิรูปแล้วจัดประชามติ - ชะลอเลือกตั้ง นายกฯ ลาออก เปิดทางให้มีนายกฯ คนกลางโดยประธานวุฒิสภาสรรหาคนกลางรักษาการจนกว่าประชามติจะผ่านแล้วเลือกตั้งใหม่ พร้อมท้ายิ่งลักษณ์ "ถอยเพื่อชาติ" - สวนดุสิตโพลล์เผยประชาชนขอ "อภิสิทธิ์" จริงใจหาทางออกประเทศ หวั่นเลือกตั้งเจอป่วน-เสียงบเปล่า
3 พ.ค. 2557 - เมื่อเวลา 11.00 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้แถลงข่าวหัวข้อ "เดินหน้าประเทศไทย ปฏิรูปภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ" ที่โรงแรมสุโกศล ถ.ศรีอยุธยา
อภิสิทธิ์เสนอโมเดลตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล ปฏิรูป 6 เดือน ท้ายิ่งลักษณ์ "ถอยเพื่อชาติ"
โดยในคำแถลงของนายอภิสิทธิ์ตามที่มีการเผยแพร่ในเว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า "เมื่อ 10 วันที่แล้ว ผมได้สื่อสารถึงพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งประเทศว่าผมได้ติดตาม และเฝ้าดูสถานการณ์ของบ้านเมือง และตัดสินใจว่า ผมอยู่เฉยไม่ได้ ผมเห็นสภาพปัญหาที่พี่น้องประชาชนต้องเดือดร้อนเพราะสภาพการเมืองไทยที่ไม่มีทางออก และเห็นแนวโน้ม รับทราบถึงความกังวลของพี่น้องคนไทยทุกคนกลับอนาคตที่จะเกิดขึ้น จึงได้ประกาศตัวว่า จะเดินหน้าในการเสนอทางออกและหาคำตอบให้กับประเทศ"
"10 วันที่ผ่านมา ผมก็ยังมองเห็นว่า สภาพบ้านเมือง สภาพความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนนั้นดำรงอยู่เหมือนเดิม มีพี่น้องชาวนา ฆ่าตัวตาย จากการที่ไม่ได้รับเงินจำนำข้าวเพิ่มขึ้น ค่าไฟขึ้น ค่าแก๊สขึ้น ปัญหาเกี่ยวกับทุจริต คอร์รัปชั่น ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจโดยไม่ชอบ ก็ยังเป็นคดีความทั้งหลายซึ่งสังคมก็ใจจดใจจ่อว่าจะยุติอย่างไร และจะส่งผลอย่างไรต่ออนาคตของประเทศชาติ"
"รัฐบาลก็ประกาศเดินหน้าบอกว่าจะเร่งกำหนดวันเลือกตั้ง โดยการเร่งอนุมัติพระราชกฤษฎีกาที่จะกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ กลุ่มมวลชนต่างๆ ก็ประกาศที่จะมีการชุมนุมใหญ่ในระยะเวลาอีก 1 – 2 สัปดาห์ข้างหน้า สิ่งที่ผมทำทั้งหมดผมก็ได้อธิบายหลักการมามากแล้ว และจะไม่เสียเวลาในการทวนตรงนั้น แต่ย้ำว่าข้อเสนอในวันนี้ ที่ผมเรียกว่าเป็นแผนในการเดินหน้าประเทศไทยนั้น ทำขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยง 3 อย่าง"
"10 วันของการทำงาน ผมขออนุญาตขอบคุณทุกๆ ฝ่ายที่ได้โอกาสผมได้เข้าพบแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แล้วก็ขอขอบคุณพี่น้องประชาชนที่ได้ให้ความสนใจ รวมทั้งทุกฝ่ายที่ได้วิพากษ์วิจารณ์ ให้ข้อคิดต่างๆ ที่นำมาสู่การนำเสนอแผนในวันนี้ และสิ่งที่ท่านทั้งหลายได้แลกเปลี่ยนกับผมนี้ จะอยู่ในแผนที่จะได้นำเสนอตรงนี้ เช่น การที่ผมพบปะกับกลุ่มเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปประเทศ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า RNN ก็ทำให้ผมได้มีความมั่นใจว่า เรามีกลุ่มคนที่พร้อมที่จะเข้ามารับผิดชอบการทำงานด้านการปฏิรูปประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ได้ผูกติดอยู่กับการเป็นฝักฝ่ายทางการเมือง การที่ผมพบกับท่านผู้บัญชาการทหารสูงสุด ท่านก็ได้ยืนยันความกังวลของผมว่า ถ้าไม่มีใครทำอะไร แนวโน้มเหตุการณ์ก็จะนำไปสู่ความรุนแรง และท่านก็ยังยืนยันหลักการว่า ปัญหาแบบนี้สมควรที่จะให้ฝ่ายการเมืองมาหาคำตอบทางการเมือง ผมขอบคุณ กกต. ที่ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าแม้จะกำหนดวันเลือกตั้ง แม้จะพยายามปรับปรุงแก้ไขปัญหา ที่เคยเกิดในวันที่ 2 กพ. และก่อนหน้านั้น ท่านก็ยังยอมรับกับผมอย่างตรงไปตรงมาว่า การเลือกตั้ง ถ้าดำเนินการไปในบรรยากาศอย่างนี้ยากที่จะประสบความสำเร็จ และผมขอบคุณพรรคการเมืองที่ผมได้ไปพบ ที่ทุกพรรคก็บอกว่าถ้าสามารถจะดำเนินการให้มีการจัดการเลือกตั้งที่มีความเรียบร้อยได้ แม้การเลือกตั้งนั้นจะช้าไปสักนิดก็ไม่ติดใจ"
"ฉะนั้นแผนที่ผมจะนำเสนอในวันนี้ ผมจะขอสรุปเบื้องต้นก่อนว่า ถ้าทุกฝ่ายยอมรับข้อเสนอหรือแผนของผม ประเทศจะสามารถเดินหน้าปฏิรูปได้ทันที เป็นการปฏิรูปที่ไม่มีปัญหาในเชิงข้อกฎหมาย เป็นการปฏิรูปที่จะมีความชัดเจน มีความต่อเนื่อง และการปฏิรูปหลักๆ จะสำเร็จเสร็จสิ้นได้ภายในระยะเวลาประมาณ 1 ปีครึ่ง"
"ประการที่ 2 ถ้าทุกฝ่ายยอมรับตามแผนที่ผมเสนอในวันนี้ ภายในระยะเวลา 150 - 180 วัน เราก็จะมีการเลือกตั้งที่เสรี สุจริต เที่ยงธรรม เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายได้"
"3. ถ้าทุกฝ่ายยอมรับแผนนี้ เราจะมีรัฐบาลคนกลางตามกฎหมาย ที่เกิดขึ้นจากการยินยอมพร้อมใจของทุกฝ่ายมาบริหารจัดการขั้นตอนการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง และ
4. เราจะมีรัฐบาลเฉพาะกิจ เพื่อการปฏิรูปหลังการเลือกตั้งที่จะมีอายุ 1 ปี นี่คือสิ่งที่เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้น ถ้าหากว่าทุกฝ่ายเดินตามแผนนี้"
"ผมขออนุญาตที่จะขยายความให้สั้นที่สุดว่า ขั้นตอนการดำเนินการนั้นเป็นอย่างไร แต่ในเอกสารที่ผมจะแจกให้หลังจากที่แถลงเสร็จ จะมีรายละเอียดทั้งหมด รวมทั้งมีการตอบคำถามเกี่ยวกับข้อกฎหมาย ตอบคำถามเกี่ยวกับหลักการประชาธิปไตย อธิบายรายละเอียดบางอย่างเพิ่มเติมด้วย สิ่งที่จะต้องดำเนินการเป็นอย่างนี้ครับ"
"สิ่งแรกเลยที่จะต้องทำก็คือว่า ต้องขจัดเงื่อนไขใดๆ ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการเดินหน้าแผนที่ทุกฝ่ายยอมรับซึ่งต้องเริ่มต้นด้วยการชะลอการตราพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งที่รัฐบาลตั้งใจจะทำในวันที่ 6 หรือวันที่ 8 ที่จะถึงนี้"
"ประการที่ 2 กกต. จะต้องใช้เวลาในช่วงนี้ในการไปดำเนินการปฏิรูประบบบริหารจัดการการเลือกตั้งด้วยการใช้อำนาจที่ กกต. มีตามกฎหมาย กกต. ออกระเบียบ กำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการหาเสียงเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดแนวทางของการสืบสวน สอบสวนในการลงโทษผู้ที่กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งได้โดยเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งระเบียบนี้จะเป็นหัวใจในการที่จะทำให้แผนนี้ประสบความสำเร็จได้"
"ประการที่ 3 เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปร่วมกับ กปปส. ใช้เวลาประมาณ 15 – 30 วัน จัดทำข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมชัดเจนในเรื่องของการจัดตั้งองค์กรที่เรียกว่า สภาปฏิรูป ซึ่งจะเป็นองค์กรที่จะมาทำหน้าที่ในการจัดทำข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศทั้งหมด ซึ่งจะเป็นองค์กรที่ต้องปลอดจากนักการเมือง และพรรคการเมือง กำหนดประเด็นที่จะต้องมีการดำเนินการปฏิรูปให้ชัด จัดลำดับความสำคัญเช่น จะทำเรื่องอะไรก่อน ไม่ว่าจะเป็นการทุจริต คอร์รัปชั่น การปฏิรูปการเมือง กำหนดกรอบเวลาให้ชัดว่า การปฏิรูปในเรื่องเร่งด่วนที่สุดนั้นต้องเสร็จภายในระยะเวลาเท่าไหร่ และก็กำหนดแนวทางที่จะให้ประชาชนในฝ่ายต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปได้อย่างไร"
"ประการที่ 4 เมื่อข้อเสนอเกี่ยวกับปฏิรูปมีความเป็นรูปธรรมชัดเจนแล้ว จะมีการนำข้อเสนอนี้ไปจัดทำประชามติ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ จะใช้เวลา 90 วัน เพื่อให้ประชาชน ให้ความเห็นชอบกระบวนการการปฏิรูป ให้การปฏิรูปมีความชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตย และเพื่อให้การลงประชามตินี้มีผลผูกมัดรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งว่า ไม่สามารถที่จะฝืนมติของประชาชน ในการที่จะต้องดำเนินการให้มีการปฏิรูปได้"
"ประการที่ 5 นอกจากการปฏิรูปจะได้รับการสร้างความชอบธรรมจากการประชามติแล้ว กระบวนการประชามติ 90 วัน จะเป็นการพิสูจน์ความจริงใจของทุกพรรคการเมือง ในการที่จะต้องมาร่วมกันรณรงค์สนับสนุนการปฏิรูป และจะเป็นระยะเวลาที่จะทำให้การสร้างบรรยากาศของการที่จะมีการเลือกตั้งที่เรียบร้อยเกิดขึ้นได้ หมายความว่าในระหว่างการจัดทำประชามติ จะต้องมีการพิสูจน์ให้เห็นว่าพรรคการเมืองทุกพรรคสามารถออกไปรณรงค์เกี่ยวกับเรื่องการปฏิรูปได้ทุกพื้นที่ในประเทศไทยโดยไม่มีการขัดขวาง โดยไม่มีความรุนแรง"
"ประการที่ 6 ข้อนี้สำคัญครับ การจะสร้างความมั่นใจในเรื่องของการจัดทำประชามติ และการเลือกตั้งต่อไป จำเป็นจะต้องมีรัฐบาลเฉพาะกาล คนกลาง ที่เกิดขึ้นบนความยอมรับของทุกฝ่าย มาบริหารการจัดทำข้อเสนอในเรื่องการทำประชามติ ในเรื่องการปฏิรูป และการเลือกตั้ง โดยผมเสนอว่ารัฐบาลนี้จะเกิดขึ้นได้โดยการที่นายกรัฐมนตรีจะต้องนำคณะรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง หรือในกรณีที่คณะรัฐมนตรีอาจจะไม่ลาออกจากตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีสามารถปรับรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง แล้วตัวเองลาออกตาม เป็นการดำเนินการเพื่อให้เปิดทางไปสู่การเป็นรัฐบาลคนกลาง โดยรัฐบาลคนกลางนั้นก็ต้องมาจากการสรรหานายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ที่ประธานวุฒิสภาจะต้องเป็นผู้ดำเนินการ ประธานวุฒิสภา จะต้องให้ความมั่นใจว่า จะสรรหานายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีนี้ที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ ซึ่งรวมถึงเป็นที่ยอมรับของรัฐบาลชุดปัจจุบัน และ กปปส."
"ประการที่ 7 เมื่อรัฐบาลชุดนี้เกิดขึ้นแล้ว ต้องทำความเข้าใจตรงกันว่า รัฐบาลนี้มีอำนาจจำกัด ภารกิจหลักคือการเข้ามาดำเนินการบริหารช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่การเลือกตั้งเท่านั้นไม่มีอำนาจในการตรากฎหมาย ไม่มีอำนาจในการแก้กฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่มีองค์กรนิติบัญญัติ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการเลือกตั้ง และมีตัวแทนของประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น แต่รัฐบาลเฉพาะกาลที่เกิดขึ้นนี้มีความคล่องตัวกว่ารัฐบาลปัจจุบัน เพราะเมื่อไม่มีส่วนได้เสียกับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในครั้งต่อไป ไม่น่าจะเข้าอยู่ในใต้เงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 ผมจึงมั่นใจว่า จะมีความคล่องตัวในการมาแก้ปัญหาหลายอย่าง เช่นปัญหาเงินจำนำข้าว เช่นปัญหาที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการดูแลเรื่องค่าแก๊ส และเรื่องอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันนี้รัฐบาลที่พ้นไปและอยู่เพียงรักษาการนี้ ไม่สามารถที่จะทำได้เพราะมีข้อจำกัดทางด้านอำนาจ"
"ประการที่ 8 เมื่อมีการจัดทำประชามติเสร็จสิ้น เรียบร้อย กระบวนการปฏิรูปเดินหน้าได้ ก็จัดให้มีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ คือภายใน 45 – 60 วัน โดยทุกพรรคการเมือง และผู้สมัครของพรรคการเมืองที่จะเข้าร่วมในการเลือกตั้งซึ่งควรจะเป็นทุกพรรค ต้องยืนยันว่าจะสนับสนุนการทำงาน และสนับสนุนข้อเสนอของสภาปฏิรูปหลังการเลือกตั้ง หากไม่ทำ ระเบียบที่ กกต. ออกตามที่ผมบอกก่อนหน้านี้จะถือว่าเป็นการหลอกลวง อันเป็นการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง มีโทษคือตัวบุคคลคือเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง และพรรคคือ ยุบพรรค"
"ฉะนั้นเมื่อเลือกตั้งเสร็จ รัฐบาลนี้ในประการที่ 9 ก็จะมีอำนาจในการบริหารราชการตามปกติ แต่ถูกผูกมัดว่าจะต้องผลักดันการปฏิรูปที่เสนอโดยสภาปฏิรูป ซึ่งจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ ภายในกรอบระยะเวลา 1 ปี แล้วจัดการเลือกตั้งใหม่"
"และประการสุดท้าย ก็คือเมื่อมีการเลือกตั้งใหม่อีกรอบหนึ่งแล้ว ทุกอย่างก็กลับเข้าสู่สภาวะปกติที่เรามีการเมืองหลังการปฏิรูป"
"ผมพูดตั้งแต่วันแรกครับว่า ไม่มีฝ่ายไหนจะได้ 100% จากสิ่งที่ผมเสนอ แต่ผมก็อยากจะชี้ให้เห็นว่าฝ่ายต่างๆ น่าจะได้สิ่งที่เป็นความต้องการหลักของตัวเอง รัฐบาลได้เห็นการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในกรอบเวลาที่ชัดเจน บุคคลในรัฐบาลมีสิทธิ์กลับไปลงเลือกตั้งในอีกระยะเวลา 5 – 6 เดือนข้างหน้า เพียงแต่ว่าข้อเสนอผมนี้เสนอให้ท่านทั้งหลายเหล่านั้นถอยออกไปเป็นระยะเวลาสั้นๆ เพียง 5 – 6 เดือน กปปส. ได้รัฐบาลคนกลางเข้ามา ได้สภาปฏิรูป ได้ความมั่นใจว่าการปฏิรูปนี้ถูกขัดขวางไม่ได้ เพียงแต่ กปปส. ไม่ได้สภานิติบัญญัติ หรือรัฐบาลที่ กปปส. นำเสนอต่อไปเท่านั้นเองครับ"
"แต่ผมคิดว่าข้อเสนอของผมนี้ ที่ได้ 100% เลย คือประเทศชาติบ้านเมือง เพราะประเทศเราได้ทั้งการปฏิรูป ได้ทั้งการเลือกตั้ง ไม่มีนองเลือด ไม่มีปฏิวัติ รัฐประหาร สถาบันหลักของชาติไม่ถูกละเมิด เศรษฐกิจได้รับการประคับประคอง ชาวนาได้เงิน ปัญหาต่างๆ แก้ไขได้ด้วยความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น"
"เพราะฉะนั้นข้อเสนอนี้ แผนนี้ ผมได้บอกแล้ว ผมรวบรวมจุดร่วม ผมเอาแนวคิดของท่านทั้งหลายที่เสนอมา มาประกอบกันเป็นข้อเสนอเพื่อเดินหน้าประเทศไทยจริงๆ และ 2 วันที่แล้ว ผมก็ได้ประกาศไปแล้วว่า การเดินตามแผนนี้ทั้งหมด ผมไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัวใดๆ ทั้งสิ้น และจะไม่มีโอกาสไปรับตำแหน่ง หรือมีสถานะในทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น จะขอเป็นแค่ประชาชนคนหนึ่งในการที่จะสนับสนุนการปฏิรูปประเทศ ถ้าจะได้ ก็ได้ความสุข จากที่ประเทศสงบลง และประเทศเดินหน้าได้"
"ถามว่าเมื่อมีข้อเสนออย่างนี้แล้ว จะเดินต่ออย่างไร โดยข้อเท็จจริงในช่วงต้นที่ผมเริ่มทำงานนี้ ก็มีคำถามถึงผมตลอดว่า กับรัฐบาลก็ดี กับกปปส. ก็ดี ผมจะไปพบหรือไม่อย่างไร ผมเรียนว่าเมื่อทำงานไปผมเห็นชัดเจนครับ การที่ผมไปพบปะรัฐบาล หรือ กปปส. ก่อนที่จะประกาศข้อเสนออย่างนี้ จะไม่ช่วยข้อเสนอนี้เลยครับ เพราะจะถูกตีความว่าเป็นเรื่องของการที่จะไปเจรจาต่อรอง เกิดความหวาดระแวงมากมาย ไปพบฝ่ายหนึ่งก่อนอีกฝ่ายก็จะมีความรู้สึกว่ามีปัญหา"
"แต่วันนี้ผมสื่อข้อเสนอนี้ไปถึงทั้งรัฐบาล และกปปส. แต่ต้องบอกว่าข้อเสนอของผมนั้นต้องไปที่รัฐบาลก่อน เหตุผลที่ต้องไปที่รัฐบาลก่อน เพราะรัฐบาลต้องไปยับยั้งบางสิ่งบางอย่างที่กำลังจะทำในขณะที่กรณีของ กปปส. นั้น เท่าที่ผมทราบการนัดหมายอะไรต่างๆ จะเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 13 – 14"
"ประการที่ 2 ที่ผมบอกว่าที่ไปที่รัฐบาลก่อน เพราะข้อเสนอของผมนั้นการตอบรับจากฝ่ายรัฐบาลจะง่ายกว่าการที่ กปปส. จะตัดสินใจตอบรับหรือไม่ เพราะข้อเสนอของผมนั้นในฝ่ายรัฐบาลนั้น คนๆ เดียวตัดสินใจได้ครับ คือคุณยิ่งลักษณ์ ในขณะที่ กปปส. นั้น เป็นธรรมชาติของมวลชน ผมว่าทุกฝ่ายที่เคยทำมวลชนมาทราบดี การจะตัดสินใจอะไรในนามของมวลชนนั้นก็ต้องใช้เวลา เพราะฉะนั้นผมก็เรียนว่า ผมจะนำเสนอนี้ที่มีรายละเอียดเป็นลายลักษณ์อักษรให้มีใครไปส่งให้กับรัฐบาล และ กปปส. ในวันอังคาร ซึ่งเป็นวันทำการ"
"แล้วทั้ง 2 ฝ่าย ผมขอแค่เพียงว่าให้พิจารณาข้อเสนอผมให้ละเอียด ในส่วนของรัฐบาลนั้น ผมจะฟังคำตอบจากคุณยิ่งลักษณ์คนเดียว คนอื่นไม่เกี่ยวครับ เพราะการตัดสินใจในส่วนของรัฐบาลนั้น คุณยิ่งลักษณ์ทำได้คนเดียว ถ้ามีความสงสัยจะให้ผมอธิบายอะไร ผมยินดี เช่นเดียวกับ กปปส. ในกรณีที่รัฐบาลเห็นว่าหลักการของแผนนี้ไปได้"
"ผมก็เลยจะถือโอกาสนี้สื่อถึงนายกฯ ยิ่งลักษณ์ผ่านสื่อมวลชนที่มาอยู่ในวันนี้ครับ ผมอยากจะถามคุณยิ่งลักษณ์ว่า ข้อเสนอของผมมันมีตรงไหนที่เสียหายกับประเทศชาติ ผมอยากจะถามคุณยิ่งลักษณ์ว่าในฐานะที่เป็นนักการเมือง คุณยิ่งลักษณ์ต้องการให้ประเทศเดินหน้าหรือไม่ สิ่งเดียวที่คุณยิ่งลักษณ์จะต้องสละในขณะนี้ตามแผนของผม คือการถอยออกไปจากอำนาจ 5 – 6 เดือน โดยที่คุณยิ่งลักษณ์เองก็รู้ตัวอยู่แล้วว่าสถานภาพของคุณยิ่งลักษณ์ก็แขวนอยู่บนความไม่แน่นอน และไม่สามารถทำงานเต็มที่ให้กับประชาชนได้อยู่แล้วภายในระยะเวลา 5 – 6 เดือน"
"ผมอยากจะถามคุณยิ่งลักษณ์ว่า คุณยิ่งลักษณ์จะถอยไป 5 – 6 เดือน ได้มั้ยครับ ผมนั้นเป็นนักการเมืองโดยอาชีพ 20 กว่าปี นี่คืออาชีพผมครับ ผมเข้ามาด้วยความตั้งใจ ผมเข้ามาด้วยความมุ่งมั่นว่าผมจะมาทำอาชีพนี้ บ้านเมืองมาถึงจุดนี้ ผมยังถอยออกจากการเมืองได้นับรวมเป็น 2 ปีนะครับ คุณยิ่งลักษณ์จะถอย 5 – 6 เดือนให้กับประเทศได้หรือไม่"
"ผมขอถือโอกาสนี้ สื่อสารไปถึงคุณสุเทพ ว่าถ้ารัฐบาลเขาตอบรับหลักการตรงนี้ คุณสุเทพจะเห็นภาพของรัฐบาลคนกลาง และการปฏิรูปที่จะเกิดขึ้น นั่นคือเป้าหมายของการต่อสู้ของท่าน และมวลมหาประชาชนอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าวิธีการที่จะเดินไปสู่เป้าหมายนี้มันต่างกัน ผมขอเพียงแค่ว่า อย่าเพิ่งรีบปฏิเสธผม เพราะสิ่งที่ผมเสนอไม่ได้ไปบั่นทอนการต่อสู้อะไรของท่านทั้งสิ้น ขอเวลาว่า ถ้าวันนี้รัฐบาลเขารับหลักการว่าเขาพร้อมที่จะมาเดินหน้าตรงนี้ ท่านกับมวลมหาประชาชน ก็ไปพิจารณาว่าจะเดินหน้าประเทศไทยไปอย่างนี้ด้วยกันหรือไม่"
"สุดท้ายครับ ผมผ่าน 10 วันมานี้ ท่ามกลางคำวิพากษ์วิจารณ์ ท่ามกลางเสียงค่อนขอดการ กระแนะกระแหน หรืออะไรก็ตาม ผมไม่ติดใจ ผมถือว่าเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของนักการเมือง และเป็นหน้าที่ของพรรคการเมือง ผมทราบดีว่าทุกคนมีความต้องการอยากจะเห็นประเทศเป็นอย่างไร ผมเข้าใจดีว่าหลายคนเสียสละเหน็ดเหนื่อยแค่ไหนที่ต่อสู้เพื่อให้ได้ตามความต้องการของตัวเอง แต่ผมอยากให้ทุกคนที่เป็นคนไทยถามใจตัวเองครับ ว่าเราคิดเหรอครับว่า บ้านเมืองของเรานั้นจะเดินหน้าได้บนความขัดแย้ง และเอาชนะกันไม่จบไม่สิ้น เราจะสร้างบ้านเมืองบนจุดร่วมของความเป็นคนไทยด้วยกัน หรือเราคิดว่าเราจะสามารถสร้างบ้านเมืองได้บนความเกลียดชัง"
"ผมเจอคนจำนวนมากใน 10 วันที่เขาบอกว่าเขาเห็นกับผมว่า บ้านเมืองต้องเดินบนจุดร่วม บ้านเมืองต้องเดินบนแนวทางที่ในที่สุดคนไทยทุกคนมาเป็นหนึ่งเดียว แต่ผมก็เรียกร้องครับ สื่อมวลชน นักวิชาการ พี่น้องประชาชนนั้นไม่ว่าจะนับตัวเองว่าอยู่ฝ่ายไหน หรือไม่นับตัวเองว่าอยู่ฝ่ายใดเลยนี้ ถ้าเห็นว่าสิ่งที่ผมนำเสนอในวันนี้เป็นประโยชน์กับบ้านเมือง ไม่เสียหายกับบ้านเมือง ท่านต้องออกมาพูดครับ ท่านอย่าให้คนจำนวนมากที่ปรารถนาจะเห็นบ้านเมืองเดินไปด้วยความเรียบร้อยนี้กลายเป็นคนกลุ่มเดียวที่ไม่มีสิทธิ์ มีเสียงในการแสดงออกในสังคมในวันนี้"
"ผมทราบตั้งแต่วันแรกที่ตัดสินใจทำเรื่องนี้ว่า จะประสบความสำเร็จนั้นเป็นเรื่องยากมาก แต่ผมก็มีความหวังอยู่เสมอและผมเชื่อว่าสิ่งที่ผมทำในวันนี้ไม่สูญเปล่า ถ้าเป็นไปอย่างที่ผมหวัง คือเกิดการตอบรับ ประเทศเดินหน้าได้ ถ้าจะสะดุด ไม่ได้รับการตอบรับจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ไม่เป็นไรครับ สังคมไทยได้เห็นทางเลือกนี้แล้ว สังคมไทยได้เห็นทางออกนี้แล้ว แล้วถ้ามีคนเก่งกว่าผม ดีกว่าผม ใช้ตัวนี้ให้เป็นประโยชน์เพื่อให้สังคมมีทางออกต่อไปในอนาคต หรือถ้าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น มันเป็นตัวช่วยนำทางให้บ้านเมืองหาทางออกได้ ผมก็ถือว่าสิ่งที่ผมได้ทำไปคุ้มค่าแล้ว"
"ผมขอขอบคุณพี่น้องสื่อมวลชน และพี่น้องประชาชนที่ได้ติดตามการทำงานของผมแล้วก็ยืนยันครับว่า ไม่ว่าแผนนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่อย่างไรก็ตาม ในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่ง ผมก็ยังจะยืนยันทำหน้าที่ของผมในฐานะพลเมืองที่จะผลักดันให้ประเทศก้าวไปสู่สิ่งที่ดีกว่าคือการปฏิรูปแบบยั่งยืนครับ ขอบคุณครับ"
ในช่วงตอบคำถามสื่อมวลชน ตอนหนึ่งอภิสิทธิ์กล่าวด้วยว่า "กรณีของรัฐบาล ถ้ารัฐบาลประกาศเลือกตั้ง ผมก็ถือว่านั่นคือคำปฏิเสธแล้ว แต่ว่าถ้ารัฐบาลบอกว่า หลักการนี้แผนนี้เป็นหลักการที่สนใจ อย่าเพิ่งถึงว่ารับ ก็ต้องมาเดินให้เป็นไปตามแผนด้วยกันกับทุกฝ่าย ซึ่งระยะเวลาไม่มากนะครับ เพราะข้อเสนอของผมนี้จะต้องเกิดขึ้นก่อนศาลตัดสิน หลักสำคัญเกี่ยวกับการได้รัฐบาลมาแทนรัฐบาลชุดปัจจุบันของผมนี้คือเป็นรัฐบาลที่เกิดจากการยินยอม พร้อมใจ ไม่ใช่รัฐบาลที่ถูกบังคับมาจะโดยอะไรก็ตามในบ้านเมือง เพราะถ้าเป็นหลักที่เกิดโดยความยินยอมพร้อมใจเท่านั้น เราถึงจะทำให้กระบวนการต่อไปจะประชามติ จะเลือกตั้ง จะปฏิรูปนี้มันเป็นไปด้วยความราบรื่นได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องได้คำตอบที่เร็วพอสมควร เพราะมันถูกจำกัดโดยเงื่อนไขของเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น กับเงื่อนเวลาที่จะเกิดขึ้น"
ส่วนข้อเสนอของคนเสื้อแดงนั้น อภิสิทธิ์ตอบว่า "คนเสื้อแดงนั้น ประการแรกไม่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงนอกรัฐธรรมนูญ ข้อเสนอผมนั้นเขาได้เห็นการเลือกตั้ง และจะมีการได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งสิ้นปีนี้ ซึ่งถ้าปล่อยสภาพที่เป็นอยู่มีใครกล้ารับประกันกับผมมั้ยครับว่าจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งภายในสิ้นปีนี้ ถ้าปล่อยสภาพอย่างที่เป็นอยู่ และนี่คือสิ่งที่เขาได้ สิ่งเดียวที่เขาต้องเสียก็คือ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไป 5 – 6 เดือนอย่างที่ว่า และกลุ่มเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปนี้เป็นกลุ่มที่รัฐบาลให้การยอมรับอยู่แล้วนะครับ และเขาก็สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในฐานะภาคประชาชนในการที่จะช่วยจัดข้อเสนอต่างๆ ที่เกี่ยวกับการปฏิรูปได้เช่นเดียวกันครับ เพราะฉะนั้นผมก็บอกว่า สิ่งที่เขาได้ เยอะนะครับ สิ่งเดียวที่เขาเสียก็คือสิ่งเดียวกับที่คุณยิ่งลักษณ์เสียเท่านั้นเองก็คือ 5 – 6 เดือนนี้"
สวนดุสิตโพลล์ขอ "อภิสิทธิ์" จริงใจหาทางออกประเทศ หวั่นเลือกตั้งเจอป่วนทำงบสูญ
วันเดียวกันนี้ (3 พ.ค.) เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่าสวนดุสิตโพลล์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,147 คน ระหว่างวันที่ 30เม.ย. - 2 พ.ค. 2557 เรื่องประชาชนคิดอย่างไร? กรณีการเดินสายพูดคุยของ นายอภิสิทธิ์ และ กกต. กับ นายกฯ ยิ่งลักษณ์กำหนดวันเลือกตั้ง 20 ก.ค. 57 พบว่า ประชาชนร้อยละ 42.98 ประชาชนคิดว่า การเดินสายของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเพื่อพูดคุยกับทหาร ปลัดกระทรวงยุติธรรม พรรคการเมืองต่างๆ เพื่อหาทางออกประเทศไทย ขอให้ทำเพื่อบ้านเมืองอย่างแท้จริง มาจากความตั้งใจ จริงใจ บริสุทธิ์ใจ ไม่มีผลประโยชน์ใดแอบแฝง ขณะที่ ร้อยละ 52.29 คิดว่า การที่ กกต.กับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตกลงจะมีการเลือกตั้ง ส.ส. ในวันที่ 20 ก.ค.นี้ กลัวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะมีปัญหาอีก และสูญเสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์
| |
http://www.redusala.blogspot.com/
|
ดาวน์โหลดคลิ๊ปคนเสื้อแดง
วันเสาร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2557
'อภิสิทธิ์' เสนอ 10 ข้อ 'นายกฯ ลาออก' - 'ตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล'
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น