วันเสาร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

'เพื่อไทย' สงวนท่าที ให้ทีมยุทธศาสตร์ศึกษาข้อเสนอ 'อภิสิทธิ์' ก่อน

'เพื่อไทย' สงวนท่าที ให้ทีมยุทธศาสตร์ศึกษาข้อเสนอ 'อภิสิทธิ์' ก่อน
Sat, 2014-05-03 17:24

           ชี้ยังไม่ได้ปฏิเสธ แต่จะนำสิ่งที่เสนอไปศึกษาละเอียดก่อนที่จะประกาศท่าทีต่อไป ด้าน 'จาตุรนต์' ซัดโรดแม็ปเผด็จการชี้เป็นเนื้อหาเดิมกับ กปปส.-นักวิชาการขวางเลือกตั้ง ซัดตระเวนเดินสายเพื่อฟอกตัว 'คำนูณ' ฟันธงรัฐไม่รับข้อเสนอ 'อภิสิทธิ์'
          3 พ.ค. 2557 มติชนออนไลน์รายงานว่าเมื่อเวลา เวลา 11.30 น.วันที่ 3 พฤษภาคม ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงท่าทีของ พรรคเพื่อไทยอย่างเป็นทางการ ภายหลังนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงทางออกประเทศไทย ว่าพรรคเพื่อไทยขอเสนอความเห็นและตั้งข้อสังเกต 3 ประการ คือ 

  • 1. พรรคเพื่อไทยเป็นสถานบันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย และเป็นพรรคการเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วม จึงยินดีรับข้อเสนอของทุกภาคส่วนรวมไปถึงข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ที่ได้เสนอทางออกให้กับประเทศด้วย 
  • 2. พรรคเพื่อไทยได้มีมติมอบหมายให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคไปประชุมหารือเพื่อศึกษาข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์อย่างละเอียดก่อนที่จะกำหนดท่าทีและแนวทางของพรรค สอดรับกับสิ่งที่นายอภิสิทธิ์เสนอ คือ พรรคเพื่อไทยยังไม่ได้ปฏิเสธ แต่จะนำสิ่งที่เสนอไปศึกษาละเอียดก่อนที่จะประกาศท่าทีต่อไป 
  • 3. พรรคเพื่อไทยพร้อมสนับสนุนทุกแนวทางที่ยึดมั่นในกติกาของระบอบประชาธิปไตยที่อยู่ในกรอบที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคจะไม่สนับสนุนแนวทางที่จะให้มีการระงับ ยกเว้น หรือยุติการใช้รัฐธรรมนูญ แม้จะยุติโดยชั่วคราวก็ตาม 
                
           อย่างไรก็ตาม กรรมการบริหารพรรคทุกคนล้วนมีความเห็นต่อเรื่องดังกล่าว แต่การจะประกาศท่าทีอย่างเป็นทางการของพรรค ทุกคนเห็นตรงกันว่าควรให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ของพรรคได้ศึกษาอย่างละเอียดก่อน โดยคาดว่าจะใช้เวลาไม่นานในการในการศึกษาข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ จากนั้นพรรคจะออกมาประกาศจุดยืนต่อสังคมต่อไป ทั้งหมดก็เพื่อความเป็นเอกภาพของพรรคเพื่อไทย
'จาตุรนต์' ซัดโรดแม็ปเผด็จการชี้เป็นเนื้อหาเดิมกับ กปปส.

           วันเดียวกันนี้ (3 พ.ค.) ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่านายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โพสต์บนเฟซบุ๊กส่วนตัว Chaturon Chaisang กรณีให้สัมภาษณ์สดผ่านไทยพีบีเอส เกี่ยวกับข้อเสนอ "แผนเดินหน้าประเทศไทย" ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ความว่า "…สิ่งที่นายอภิสิทธิ์เสนอ คือ กระบวนการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เป็นระบบเผด็จการนั่นเอง สิ่งที่นายอภิสิทธิ์เสนอเป็นระบบเผด็จการแท้ๆ ครับ"
           นายจาตุรนต์ ให้ความเห็นว่า "ครม.ยังไม่ได้หารือกัน ผมจะให้ความเห็นในฐานะรัฐมนตรีคนหนึ่ง ที่ยังรักษาการอยู่และเป็นคนของพรรคเพื่อไทยด้วย ซึ่งยังไม่มีการคุยกันในพรรคเพื่อไทย แต่ในความเห็นผมขณะนี้ มีความเห็นว่าเรื่องที่เสนอเป็นเรื่องเนื้อหาเดิม ที่กลุ่ม นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.ก็ดี นักวิชาการบางส่วนก็ดี ที่ขัดขวางการเลือกตั้ง และต้องการให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง กับต้องการให้เกิดนายกรัฐมนตรีคนนอก รัฐบาลคนนอก หรือที่นายสุเทพต้องการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เป็นเนื้อหาเดียวกัน
          ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลย แต่ใช้วิธีการใหม่หน่อย คือ คุณอภิสิทธิ์ซึ่งเป็นคู่กรณีโดยตรง เป็นผู้ร่วมขัดขวางการเลือกตั้งโดยตรง ก็เปลี่ยนบทบาทตัวเองมาเป็นการไปรับฟังความเห็นฝ่ายโน้นฝ่ายนี้มานิดหน่อย แล้วก็มาเสนอราวกับว่าคุณอภิสิทธิ์กลายเป็นคนกลางไปแล้ว
          ทั้งที่คุณอภิสิทธิ์ก็คือ ตัวปัญหาเช่นเดียวกัน เป็นตัวปัญหาโดยตรงกับรัฐบาล ทีนี้มาเปลี่ยนบทบาท ก็ไม่เป็นเหตุเป็นผลอะไรว่าจะเปลี่ยนบทบาทได้จริง 
แต่โดยเนื้อหาแล้ว เนื่องจากเป็นเนื้อหาเดิม ใครที่ยืนยันหลักการประชาธิปไตย ใครที่ยืนยันว่า แม้รัฐธรรมนูญจะไม่ดี แต่ก็ต้องทำตามรัฐธรรมนูญไปก่อน ก็รับข้อเสนอคุณอภิสิทธิ์ไม่ได้แน่ๆ
           ข้อเสนอของคุณอภิสิทธิ์ จึงเป็นการปูทางให้กับการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้น ผมเชื่อว่าอย่างนั้น เป็นการปูทางเตรียมการเพื่อที่จะบอกว่าไปฟังความเห็นแล้ว แล้วเสนอให้นายกฯ ลาออก ให้ครม.ลาออก เพื่อจะให้เกิดสุญญากาศ แล้วจะใช้วุฒิสภาหานายกฯ คนใหม่ แต่ ครม.และนายกฯ ไม่ยอมทำตาม เพราะฉะนั้น เมื่อถึงเวลาศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน ก็ตัดสินให้ผลอย่างนั้นออกมา
           นอกจากนั้น อีกประเด็นก็คือ การที่คุณอภิสิทธิ์ไปตระเวนพบคนโน้นคนนี้มาบ้างเล็กน้อย แล้วมาเสนอข้อเสนอราวกับว่าเป็นคนกลาง ก็เท่ากับเป็นการฟอกตัวคุณอภิสิทธิ์ เพราะคือตัวการในการขัดขวางการเลือกตั้ง และไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้งก่อนจะปฏิรูป เป็นฝ่ายเดียวกันกับนายสุเทพและองค์กรอิสระกับศาลรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการล้มระบอบประชาธิปไตย
            แต่ว่ามาฟอกตัวทำเหมือนกับว่าไปฟังความเห็นมาแล้ว มีข้อเสนอที่ดี ไม่ใช่ข้อเสนอส่วนตัวของคุณอภิสิทธิ์ หรือพรรคประชาธิปัตย์ ฟอกตัวในอีกความหมายหนึ่ง ก็คือ การที่คุณอภิสิทธิ์ไม่ลงสมัคร ซึ่งวิธีการหนึ่งของการบอยคอยการเลือกตั้ง และขัดขวางการเลือกตั้งนั่นเอง
            ที่คุณอภิสิทธิ์เสนอมาบอกว่า จะเว้นวรรคเพื่อพิสูจน์ข้อเสนอว่า จะไม่ได้ประโยชน์อะไรจากข้อเสนอที่เสนอขึ้นมา เลยทำให้การไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งของคุณอภิสิทธิ์ดูดีขึ้นจากคุณอภิสิทธิ์เอง ทั้งที่ความจริงคือเรื่องเดิม คือการไม่ลงสมัคร เพื่อขัดขวางการเลือกตั้ง เพราะไม่ศรัทธาในระบบการเลือกตั้ง ไม่เชื่อว่าประเทศจะต้องเลือกตั้งเสียก่อน แต่เลือกวิธีที่นายกฯ มาจากไหนก็ไม่รู้ นอกระบบ นอกรัฐธรรมนูญทั้งหมด
เป็นระบบที่เผด็จการ เพราะว่าเอาใครก็ไม่รู้มาเป็นนายกฯ กัน และจะมาบริหารประเทศกัน
             เพราะฉะนั้น ข้อเสนอนี้จะไม่ได้รับการต้อนรับจากฝ่ายประชาธิปไตย เชื่อว่านายกรัฐมนตรีจะไม่ทำตามข้อเสนอของคุณอภิสิทธิ์แน่นอน 
และแม้ว่าจะมีนายกฯ คนนอกเกิดขึ้นจริงๆ ก็จะมีการคัดค้านจากฝ่ายประชาธิปไตยทั่วประเทศอย่างหนักหน่วงมากยิ่งกว่าที่ กปปส.เคยชุมนุมคัดค้านรัฐบาล" 

            ส่วนข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า "ข้อเสนอหลายข้อ หากคุยกันดีๆ น่าจะเกิดขึ้นได้หลังการเลือกตั้ง เป็นความคิดที่ดีๆ หลังการเลือกตั้ง แต่การที่จะให้นายกฯ และ ครม.ลาออก เพื่อให้เกิดสุญญากาศเป็นไปไม่ได้แน่นอน ถ้าจะให้เกิดสภาพอย่างนั้น ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินมา ตัดสินผิดๆ ตัดสินขัดรัฐธรรมนูญ อย่างที่เกิดขึ้นแล้วหลายๆ ครั้ง ให้ทำมาอีก จึงจะเกิดขึ้นได้
             แต่จะมาให้ใช้วิธีลาออกกันอย่างนี้ คือ ให้คณะรัฐมนตรีชุดนี้ร่วมทำลายประชาธิปไตย ร่วมทำลายหลักการประชาธิปไตย ร่วมทำลายหลักการที่ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนลงไป แทนที่จะให้ประชาชนทั้งประเทศเลือกนายกฯ เลือกรัฐบาล กลายเป็นให้ใครก็ไม่รู้มาเลือกกัน มาจากไหนก็ไม่รู้ด้วย 
อันนี้เป็นการทำลายหลักการประชาธิปไตย คณะรัฐมนตรีชุดนี้จึงไม่มีทางที่จะร่วมมือได้เลย" 

             นอกจากนี้ นายจาตุรนต์ ยังกล่าวถึงทางออกประเทศไทยว่า "ก็มาหารือกัน แล้วมาพูดกันเรื่องว่า เมื่อเลือกตั้งแล้ว ทำอย่างไรได้รัฐบาลที่เป็นยอมรับร่วมกันว่าจะปฏิรูป แล้วมาหารือกันว่ากระบวนการปฏิรูปจะเป็นอย่างไร ที่จะเป็นที่ยอมรับและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ในการทำอย่างนี้ พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง ก็คงจะไม่ใช่เอาคนของตัวเองมาเป็นรัฐบาลทั้งหมด เอาคนข้างนอกมาบ้างก็ได้ เอาคนที่มีความรู้เรื่องการปฏิรูปมาร่วมกันได้ แล้วมาช่วยกันคิด อาจจะผ่านกระบวนการที่รับฟังความเห็นคนให้กว้างขวาง เป็นรัฐบาลสักระยะหนึ่งแล้วก็ออกไป ให้มีการเลือกตั้งใหม่
            บางจุดก็คล้ายกันกับที่คุณอภิสิทธิ์เสนอ จุดต่างกันตรงที่ว่าจะทำโดยการกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย หรือทำโดยกระบวนการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย สิ่งที่คุณอภิสิทธิ์เสนอ คือ กระบวนการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เป็นระบบเผด็จการนั่นเอง สิ่งที่คุณอภิสิทธิ์เสนอเป็นระบบเผด็จการแท้ๆ ครับ"
'คำนูณ'ฟันธงรัฐไม่รับข้อเสนอ'อภิสิทธิ์'

          เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่านายคำนูณ สิทธิสมาน สว.สรรหา กล่าวว่า ข้อเสนอทางออกประเทศด้วยแผนเดินหน้าประเทศไทยของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะเป็นส่วนที่แก้ไขวิกฤตการเมืองได้ หากทุกฝ่ายยอมรับ แต่ตนเชื่อว่าจะเป็นไปได้ยากที่จะให้รัฐบาลชุดปัจจุบัน รวมถึงเครือข่ายของพรรคเพื่อไทยและกลุ่มมวลชนที่สนับสนุนรัฐบาลยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว และอาจมองข้อเสนอดังกล่าวว่าเป็น กปปส.จำแลงได้
         อย่างไรก็ตามเงื่อนไขที่นายอภิสิทธิ์เสนอนั้น เป็นสิ่งที่ทราบดีอยู่แล้วว่ารัฐบาลต้องปฏิเสธ เพราะไม่ได้เป็นไปตามหลักการของรัฐธรรมนูญและขัดหลักประชาธิปไตย โดยเฉพาะ การตั้งนายกรัฐมนตรีคนนอก
         ทั้งนี้ มองว่า สิ่งที่นายอภิสิทธิ์เสนอไปนั้นเพื่อเป็นสิ่งที่ให้รัฐบาล และคนในตระกูลชินวัตรพิจารณาว่าจะออกจากตำแหน่งด้วยการลาออกเอง หรือให้องค์กรอิสระ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้มีคำวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่ง ทั้งนี้ตนเชื่อว่าภายในสัปดาห์หน้าการตัดสินคดีความต่างๆ ที่อยู่ในชั้นพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญจะดำเนินการแล้วเสร็จ และแนวทางที่จะดำเนินต่อไปคือสิ่งที่นายอภิสิทธิ์ได้ระบุออกมา
          นายคำนูณ กล่าวว่า สำหรับแนวความคิดที่อยากให้ประธานวุฒิสภาดำเนินการตั้งนายกฯ คนกลางนั้น ข้อเท็จจริงรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ แต่ตนเชื่อว่าหากสถานการณ์ของบ้านเมืองเดินไปสู่ทางตัน หรือ ภาวะสูญญากาศ คือ ช่วงที่ประเทศไม่มีรัฐบาลบริหาร ต้องมีการหารือว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งเชื่อว่าประธานวุฒิสภาจะตัดสินใจตามความรุนแรงของสถานการณ์บ้านเมือง
http://www.redusala.blogspot.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น