จำนำข้าวเพื่อใคร อจ.นิด้า-มธ.เฉลย ใครได้-ใครเสียประโยชน์ ?
คอลัมน์ การเมือง ในมติชน ออนไลน์ วันอังคารที่ 02 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เวลา 10:20:50 น.
มาตรการ "จำนำข้าว" ถูกต่อต้านมาตั้งแต่พรรคเพื่อไทย ชูเป็นหนึ่งในนโยบายที่ใช้เป็นประเด็นหาเสียงเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 ด้วยเหตุผลว่า ในอดีต โครงการนี้เปิดโอกาสให้เกิดการทุจริต เงินในโครงการนี้จะรั่วไหลจำนวนมาก ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ย้ำว่า ต้อง "ประกันราคาข้าว" เท่านั้นชาวนาถึงจะได้ประโยชน์ แต่พรรคเพื่อไทยยืนยันจะใช้นโยบายนี้มาตลอดเช่นกัน
ผลคือ พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 อย่างถล่มทลาย
มาตรการจำนำข้าวจึงเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับผลการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 อย่างชัดเจน และมันเป็นความชัดเจนที่พรรคซึ่งไม่ค่อยชนะเลือกตั้งอาจไม่เข้าใจ
การจำนำข้าว มีจุดเด่นที่ "รัฐ" รับซื้อข้าวทั้งหมด ในราคาที่กำหนดไว้ 1.5-2 หมื่นบาท ทำให้กลุ่มธุรกิจที่เคยทำกำไรจากราคาข้าวที่ขึ้นๆ ลงๆ เสียประโยชน์มหาศาล ในแง่หนึ่ง มาตรการนี้ เท่ากับเปลี่ยนโครงสร้างการซื้อขายข้าวเกือบทั้งระบบ ผู้ที่ลืมตาอ้าปาก ล้างหนี้ได้ ย่อมเป็นชาวนา เป็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญในชนบท แหล่งปลูกข้าว ในวิถีชีวิตของชาวนา
ขณะที่คนเมืองผู้บริโภคข้าว ได้ยินแต่ข่าวร้ายจากนักธุรกิจค้าข้าว ข่าวร้ายจากนักวิชาการบางกลุ่ม ข่าวร้ายที่ระบุว่า มีการทุจริต โกง ข้าวที่ไปอยู่ในมือรัฐบาลมีจำนวนมาก และราคาสูง ทำให้ไม่สามารถขายหรือระบายออกไปได้ ข่าวที่ระบุว่า ตลาดซื้อขายล่วงหน้าเสียหาย เพราะขายล่วงหน้าเอาไว้ในราคาถูก แต่ต้องซื้อข้าวราคาแพงไปส่งมอบ ข่าวจาก "เสียงอเมริกา" หรือวอยซ์ออฟอเมริกา ระบุว่า มาตรการนี้ทำให้ไทยสูญเสียตำแหน่งผู้ส่งข้าวมากที่สุดให้เวียดนามไปแล้ว
แม้ว่าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ตอกย้ำมาตลอดว่า การจำนำข้าวเป็นโครงการโคตรโกง ทุจริตทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง แต่
สุดท้าย กลับเป็นนักวิชาการจากนิด้า หรือสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
และธรรมศาสตร์บางส่วน ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุติโครงการนี้
เป็นการเคลื่อนไหวที่เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดอีกครั้งหนึ่ง ท่ามกลางคำถามว่า หากจำนำข้าวโคตรโกงจริง ทำไมไม่แก้ไขที่ต้นเหตุคือการทุจริต แทนที่จะล้มทั้งโครงการ
ความเห็นจาก นายวิโรจน์ อาลี แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็น่าสนใจ นายวิโรจน์กล่าวว่า หลักคิดเรื่องการไม่เข้าไปแทรกแซงราคาสินค้าในท้องตลาดนั้น เป็นโลกในอุดมคติ ไม่มีประเทศไหนในโลกทำได้ หลายประเทศก็เข้าไปแทรกแซงสินค้าเกษตรเช่นกัน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรของเขา แม้กระทั่งสหภาพยุโรปยังใช้วิธีการนี้เช่นกัน
ขอตั้งข้อสังเกตว่าเพราะเหตุใดกลุ่มนักวิชาการกลุ่มนี้จึงออกมาคัดค้านเฉพาะ
โครงการรับจำนำข้าว ทั้งที่ความเป็นจริงมีอีกหลายเรื่อง
โดยเฉพาะประเด็นที่กลุ่มทุนตามระบบทุนนิยมผูกขาดการค้า
แต่กลับไม่ไปคัดค้านกั
กรณีจำนำข้าว ชี้ให้เห็นปัญหาหลายประการ
ปัญหาของรัฐบาล อาจจะอยู่ที่ความมั่นใจว่า ชาวนาพอใจมาตรการจำนำข้าว จึงไม่มีความพยายามจะสร้างความกระจ่างชี้แจงให้สังคมเห็นภาพ ปัญหาของข่าวสารด้านเศรษฐกิจ ถูกยึดกุมอยู่โดยเครือข่ายธุรกิจและนักการเมือง ขณะเดียวกัน ไม่มีข่าวจากชาวนาว่า พอใจมาตรการแค่ไหน อยากให้ปรับปรุงแก้ไข มีการรั่วไหลอย่างไร
การตอบโต้ระหว่างฝ่ายคัดค้าน และเห็นด้วย ยังเปิดโปงให้เห็นสภาพบางประการ
อาทิ คำถามว่า ทำไมเมื่อธนาคาร สถาบันการเงินล้ม รัฐทุ่มเงินเข้าไปอุดอย่างไม่คิดชีวิต ไม่เคยมีใครว่ากล่าว ครั้นเมื่อนำเงินมาสนับสนุนการจำนำข้าว กลับกลายเป็น "อาชญากรรม" ที่อาจจะต้องขึ้นโรงขึ้นศาล
หรือความอาลัยอาวรณ์ตำแหน่งผู้ส่งออกข้าวมากที่สุดในโลก ขณะที่ชาวไร่ชาวนา ผู้ผลิตข้าวเลี้ยงคนทั้งโลก แชมป์ตัวจริง กลับเป็นคนขี้โรคทางการเงิน ล้มละลายเรื้อรัง
ทำ
ให้บทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์ ที่ว่า
"ข้าวนี้นะมีรส ให้ชนชิมทุกชั้นชน
เบื้องหลังสิทุกข์ทน และขมขื่นจนเขียวคาว"
ที่เขียนไว้หลัง พ.ศ.2500
เวลาผ่านไปหลายสิบปี ยังเป็น "อมตะ" ด้วยฝีมือนักการเมือง นักวิชาการและกลุ่มทุนค้าข้าว
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น