วันเสาร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2555

อาการเหลิง-ดันทุรัง

 อาการเหลิง-ดันทุรัง
(อ้างอิงจาก VoiceTV Member)  http://www.voicetv.co.th/


         ยงยุทธ วิชัยดิษฐ ตัดสินใจลาออกจากรัฐมนตรีเพราะถูกใครบีบก็แล้วแต่ ประเด็นสำคัญคือกระแสสังคมบีบ จนหลายฝ่ายเริ่มเห็นว่าถ้าอยู่ในตำแหน่งต่อไปก็จะกระเทือนทั้งรัฐบาล

          ผมไม่ได้บอกว่ายงยุทธเลว ชั่ว ตาม ปปช.ชี้มูล จนไม่อาจเอาไว้ในตำแหน่ง นั่นเป็นอีกประเด็นหนึ่ง (และไม่ได้บอกว่าดีเลิศประเสริฐศรีเช่นกัน-ฮา) ยงยุทธมีสิทธิตอบโต้ข้อกล่าวหาเรื่องที่ดินอัลไพน์ ผิด-ไม่ผิด เป็นอีกประเด็นหนึ่ง เพราะอันที่จริงข้อต่อสู้ของยงยุทธก็มีแง่มุมที่พอรับฟังได้

          ปปช.ชี้ว่ายงยุทธทุจริต เมื่อครั้งรักษาการปลัดกระทรวงมหาดไทยปี 2545 กรมที่ดินสั่งให้ที่ดินอัลไพน์กลับไปเป็นธรณีสงฆ์ตามคำวินิจฉัยของกฤษฎีกา แต่ยงยุทธรับอุทธรณ์แล้วเพิกถอนคำสั่ง วินิจฉัยว่าอัลไพน์ไม่ใช่ที่ธรณีสงฆ์ หลังจากนั้นก็ได้เป็นปลัดมหาดไทยย้อนหลัง

            พูดง่ายๆ คือ ปปช.เห็นว่ายงยุทธช่วยเสนาะ-ทักษิณ จนตัวเองได้เก้าอี้ แต่ยงยุทธก็มีข้อต่อสู้ว่าเมื่อครั้งเป็นอธิบดีกรมที่ดินปี 2543 ในรัฐบาลชวน หลีกภัย ก็เคยวินิจฉัยไว้อย่างนี้ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเพราะใครมีอำนาจ (อย่าลืมว่าสมัยนั้นยงยุทธก็คือเด็ก ปชป. มีพี่ชาย ธวัช วิชัยดิษฐ เป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี คนสนิทที่ชวน หลีกภัย ไว้วางใจฝากฝังได้ทุกอย่าง ฮิฮิ) และหลังจากนั้น ปลัดมหาดไทย 9 คน ทั้งในยุค คมช.และ ปชป.ก็ไม่เห็นมีใครกล้าเพิกถอนที่ดินอัลไพน์กลับไปเป็นที่ธรณีสงฆ์ เพราะจะมีปัญหาตามมา ทำให้ผู้อยู่อาศัย 292 ครัวเรือนเดือดร้อน กรมที่ดินและกระทรวงมหาดไทยอาจถูกฟ้องด้วย

            อย่างไรก็ดีปัญหาอยู่ที่คำสั่ง ปปช.ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อนุกรรมการข้าราชการพลเรือน กระทรวงมหาดไทย แม้โต้แย้งแทนยงยุทธว่าไม่ผิดแต่ก็ต้องสั่งไล่ออกจากราชการ โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2545 ที่ยงยุทธเกษียณอายุ จากนั้นก็บอกว่าเข้าข่ายล้างมลทินตาม พ.ร.บ.ล้างมลทินปี 2550 ยงยุทธดำรงตำแหน่ง ส.ส.และรัฐมนตรีได้โดยไม่ขาดคุณสมบัติ

             ตรงนี้ต่างหากที่สังคมฟังแล้วเหมือนอุ้มกัน ไล่ออกปุ๊บปั๊บล้างมลทินเสร็จสรรพ โดยตัวเองยังอยู่ในเก้าอี้ มท.1 แม้จะอ้างเลขากฤษฎีกาฯ เลขา ก.พ.แต่สังคมก็มองว่าข้าราชการเกรงรัฐมนตรี ข้อโต้แย้งต่างๆ ของยงยุทธจึง “ฟังไม่ขึ้น”

             ในทางกฎหมาย ยงยุทธจะได้รับการล้างมลทินหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ในทางการเมือง ยงยุทธถูกมองว่ากอดเก้าอี้ หวงเก้าอี้ ใช้อำนาจค้ำเก้าอี้ตัวเองไปแล้ว จะพูดอะไรก็เถียงไม่ออก

           คนเราเวลาตกเป็นจำเลยสังคม แม้พูดอย่างให้ความเป็นธรรม บางครั้งอาจไม่ผิดหรือผิดบ้างแต่ไม่ได้เลวร้ายไปหมดอย่างที่ถูกประณาม แต่ถ้าออกมาตอบโต้ เถียงคำไม่ตกฟาก เราก็มักจะเห็นกันว่ายิ่งโต้ยิ่งแย่ ถูกมองว่าแก้ตัว ตะแบง แถ โดยเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่ง ผู้มีฐานะทางสังคม

            ลองเปรียบเทียบกับหมอเถื่อนที่ฉีดสารฟิลเลอร์ให้นางแบบสิครับ พอออกมารับผิด เสียใจ มอบตัว ไปเยี่ยม เห็นไหมว่าเกือบเป็นพระเอกไปเลย ลองเถียงว่าตัวเองไม่ผิดสิ กระแสสังคมก็มีทั้งด้านที่ถูกต้องและฉาบฉวยอยู่ด้วยกัน

           ถ้ายงยุทธแสดงสปิริตลาออกทันทีที่ อนุ ก.พ.มีคำสั่ง ลาออกจากรัฐมนตรี รองนายกฯ คงไว้แต่ตำแหน่ง ส.ส.เพื่อให้ กกต.ส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ขาดเป็นบรรทัดฐาน ยงยุทธก็จะเป็นพระเอก เป็นผู้ที่น่าเห็นใจ แล้วสังคมก็จะหันมารับฟังข้อต่อสู้ ว่าเออ บางแง่มุมมันก็ไม่ค่อยเป็นธรรมกับเขานะ ฯลฯ ยงยุทธยังสามารถไปแลกหมัดกับ ปปช.อยู่นอกรัฐบาลได้ (ฝากแซว ปปช.ด้วยว่าทีป๋าเหนาะทำไมปล่อยให้ลอยนวล)

           แต่ถ้ายื้อกันต่อไป สมมติยงยุทธไม่ลาออก กกต.ชี้ ศาลรัฐธรรมนูญชี้ แต่ละดอก จะยิ่งกดดันและสะเทือนไปทั้งรัฐบาล

อำนาจหอมหวาน

             คำถามที่ตามมาคือ ทำไมยงยุทธและพรรคเพื่อไทยมองสถานการณ์ไม่ออก ยังพยายามดันทุรังจนนาทีสุดท้ายที่ไปไม่รอดแล้ว มิหนำซ้ำ บรรดาแกนนำ นปช.ก็ช่วยกันปกป้อง กระทั่งวันลาออกยังเห็น ตู่-เต้น ไปยืนเรียงแถวประดับบารมี

             คือถ้าแสดงสปิริตแล้วให้กำลังใจกัน ก็ถูก แต่นี่กว่าจะแสดงสปิริต

             ผมยกเรื่องนี้มาพูดในรายการ Wake Up ตั้งแต่วันจันทร์ว่ายงยุทธควรลาออก แต่แปลกใจว่าในพรรคเพื่อไทยไม่ยักมีใครแสดงความเห็น สามัคคีอุ้มหัวหน้าพรรคกันดีจัง พอมีแกนนำ นปช.สุรินทร์ไปร้อง กกต.ก็มองว่าเลื่อยขาเก้าอี้ ถูกด่าขรม แม้น่าจะจริงเพราะพาดพิงถึงสามีคุณระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช แต่ถามว่าคนในพรรคไม่ถกกันบ้างหรือว่าความเหมาะสมอยู่ตรงไหน จนต้องให้ทีมยุทธศาสตร์บ้านเลขที่ 111 ออกโรง (ตามข่าว)

             ยงยุทธวันนี้ไม่ใช่ยงยุทธเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ตอนที่ไม่มีใครอยากรับเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยงยุทธวันนี้คือ มท.1 ผู้มีบารมีทั่วประเทศทั้งจากตำแหน่ง และความเป็น “สิงห์” (ดำ) ถ้าพูดถึงความสำคัญต่อรัฐบาล ยงยุทธมีความสำคัญสูงยิ่งในการช่วงชิงอำนาจ กระชับอำนาจ ในฐานะอดีตปลัดมหาดไทยที่รู้ช่องและใช้ข้าราชการเป็น

             ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า “เนียน” ในการเอาพระนาย สุวรรณรัฐ น้องชายองคมนตรีกลับมาเป็นปลัดในฐานะผู้มีอาวุโสลำดับหนึ่ง ทั้งยังให้ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล เป็นผู้ว่าเชียงใหม่ต่อไปจนเพิ่งย้ายมานั่งรองปลัดกระทรวง ขณะที่ตำแหน่งอื่นๆ ก็วางคนของตัว คนของพรรค คนของนักการเมืองกลุ่มต่างๆ

            แน่นอนขณะเดียวกันยงยุทธก็กลายเป็นไม้ใหญ่ที่ใครๆ วิ่งเข้าหา มีบารมี มีหน้าห้อง พวกพ้องบริวาร ต่างจากสมัยเป็นแค่หัวหน้าพรรคเพื่อไทยลิบลับ คนเราเวลามีลูกขุนเยอะๆ ต้องระวังนะครับ เพราะคุณจะมองไม่เห็นความจริง ประเมินสถานการณ์ผิด

              ผมทำนายไว้แล้วว่ารัฐบาลนี้จะอยู่ยาว แต่อยู่แบบแย่ๆ สาเหตุที่อยู่ยาวทั้งที่อยู่ภายใต้โครงสร้างอำมาตย์ รัฐธรรมนูญก็ยังไม่ได้แก้ ก็เพราะสังคมไม่มีทางออก จำต้องกลับมายอมรับวิถีประชาธิปไตย ที่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ไม่ต้องการเห็นรัฐประหาร หรือตุลาการภิวัตน์ ยุบพรรค ตัดสิทธิ จนเกิดการตั้งรัฐบาลในค่ายทหารอีก

              เวลาพูดถึงกระแสสังคม เราต้องแยก 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือกระแสที่สร้างโดยฝ่ายค้านฝ่ายแค้น สื่อ เสื้อเหลือง เสื้อหลากสี ที่ อ.เกษียร เตชะพีระ เรียกว่า The Zombie Opposition แต่อีกส่วนหนึ่งคือกระแสของคนกลางๆ (ซึ่งไม่ใช่เป็นกลาง เพราะความเป็นกลางจริงๆ ไม่มี) คนที่ไม่ได้ติดตามการเมืองมากนัก ไม่ได้เข้าข้างหนึ่งข้างใดอย่างชัดเจน เพียงมีความเห็นเป็นเรื่องๆ เห็นด้วยกับอะไรที่ฟังดูพอมีเหตุผล และอยากเห็นความสงบ อยากทำมาหากิน ซึ่งคนเหล่านี้ที่เลือกพรรคเพื่อไทยก็ไม่ใช่น้อย

             กระแสสังคมกลางๆ ที่อยากเดินทางสายกลางนี่แหละเป็นฐานสำคัญ ให้รัฐบาลอยู่ได้แบบที่ อ.เกษียรเรียกว่า The Politics of Mediocrity คืออยู่ไปแบบถูๆ ไถๆ เฮงๆ ซวยๆ อาศัยว่าพวกขบวนการซอมบี้สติแตก สร้างความเบื่อหน่ายให้ผู้คนทั่วไปมากกว่า

             รัฐบาลไม่ได้อยู่ด้วยกระแสนิยมของคนทั่วไป คนจำนวนไม่น้อยอาจคล้อยตามฝ่ายค้านในบางเรื่อง เช่น จำนำข้าวทำให้เสียหาย แต่ก็ไม่เห็นด้วยนะ ถ้าจะร้องศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค ล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะเดี๋ยวเสื้อแดงก็ออกมายึดราชประสงค์ ยึดผ่านฟ้า จลาจลนองเลือด เศรษฐกิจพินาศอีก ฉะนั้นอะไรที่ทนได้ก็ทนไปเถอะ ใช่ว่ารัฐบาล ปชป.หรือ คมช.จะดีนักหนา

             ผมเข้าใจว่ารัฐบาลก็รู้ พรรคเพื่อไทยก็รู้ ว่า “อยู่ยาว” แต่สำคัญว่า “อยู่ยาว” แล้วย่ามใจ เหลิงอำนาจ หาผลประโยชน์ หรือจะอาศัยช่วงเวลานี้ค่อยๆ สร้างรากฐานประชาธิปไตย นำไปสู่การรื้อโครงสร้างที่เป็นรากเหง้าของปัญหา

              ไม่ได้บอกว่าคนที่คิดอย่างหลังไม่มีเสียเลย แต่ท่าจะน้อยมาก โดยเฉพาะในหมู่ที่ขึ้นมาใช้อำนาจเป็นรัฐมนตรีอยู่ตอนนี้

              รัฐบาลทำอะไรที่สวนกระแสหลายอย่าง แสดงท่าทีไม่สนใจเสียงวิจารณ์ของสังคม อย่างเช่นการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ที่เอาอดีต ผบ.ตร.ไปเป็นปลัดกระทรวงคมนาคม ทั้งที่ประเทศไทยต้องเดินหน้าไปสู่การพัฒนาระบบขนส่งขนานใหญ่ สร้างรถไฟฟ้า สร้างรถไฟความเร็วสูง จากเหนือ-ใต้ ออก-ตก ซึ่งจะพลิกโฉมหน้าของประเทศ (และถ้าทำสำเร็จ พรรคเพื่อไทยอาจเป็นรัฐบาลอีก 20 ปี)

              หรือเอาอดีตปลัดกระทรวงพัฒนาสังคม พี่สาว ส.ส.ผู้ถูกปลดกลางอากาศ มาเป็นปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ถามว่าเพื่องานปฏิรูปการศึกษา รับมือเปิดเสรีอาเซียน หรือเพื่อยุติศึกภายในพรรค เกรงใจทั้งสันติ พร้อมพัฒน์ และประวัฒน์ อุตตะโมต แต่ไม่เกรงอนาคตของชาติเลย

              อรุณ วัชระสวัสดิ์ ยังเขียนการ์ตูนล้อแบบปลงๆ เมื่อเธอประกาศว่าทุกคนจะเริ่มต้นที่ศูนย์พร้อมกัน

             ไม่ใช่แค่เรื่องโยกย้ายข้าราชการ แต่เรื่องการประมูลก่อสร้าง ก็มี “กลิ่นไม่ดี” อย่างที่ ปปท.ตรวจพบ เราอาจบอกว่ามันเกิดขึ้นได้ในโครงการมากมายเป็นเบี้ยหัวแตก แต่ถามว่ารัฐบาลตื่นตัว แสดงท่าทีเข้มงวดกวดขัน ติดตามตรวจสอบหรือไม่ หรือว่ามันเป็นจริงที่แบ่งโครงการลงพื้นที่แล้วนักการเมืองเอาไปเร่ขายผู้ รับเหมา

              เช่นเดียวกับจำนำข้าว ปัญหาเชิงนโยบายเรื่องที่วิจารณ์กันว่ารัฐบาลเข้ามาผูกขาดตลาด เป็นเรื่องหนึ่ง ปัญหารั่วไหลเป็นอีกเรื่องหนึ่ง รัฐบาลควรรู้อยู่แล้วว่าทุจริตง่าย ทำไมไม่วางมาตรการเข้มงวดแต่แรก

              ปัญหาของรัฐบาลที่มีแต่รัฐมนตรีเกรดบี หรือซี มีทั้งเรื่องประสิทธิภาพ ความโปร่งใส และเหลิงอำนาจ แม้แน่นอนว่าอยู่ได้ แบบ Mediocrity คือถูไถไปเพราะสังคมไม่มีทางเลือก แต่รัฐบาลก็ควรเลือกที่จะทำให้กระแสสังคมไม่พอใจน้อยหน่อย ผ่อนสั้นผ่อนยาว ผ่อนหนักผ่อนเบา ไม่ใช่หักด้ามพร้าด้วยเข่าอยู่เรื่อยๆ

             ทีเรื่องที่ควรหักอย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลับไม่กล้าหัก แต่มาสวนกระแสกับเรื่องเก้าอี้รัฐมนตรี หรือการแต่งตั้งโยกย้าย

             ที่จริงผมเข้าใจวิถีการแย่งชิงอำนาจแบบฝ่ายการเมือง ที่ต้องวางคนของตัว ของพรรค รวมทั้งต้องสร้างสัมพันธ์กับกลุ่มธุรกิจ นั่นเป็นสิ่งที่เดิน 2 ขาได้ แต่อีกขาหนึ่งที่ทิ้งไม่ได้เลยคือเดินไปสู่การปฏิรูปประชาธิปไตย ตอบสนอง รักษา และขยายฐานมวลชน ที่เป็นพลังประชาธิปไตย และเป็นฐานที่แท้จริง

            ยงยุทธลาออก น่าจะเป็นโอกาสปรับคณะรัฐมนตรี ที่ส่วนหนึ่งก็มาจากตัวแทนกลุ่มก๊วนการเมือง ไม่ได้บริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ และแทบไม่มีส่วนร่วมกับการต่อสู้ของมวลชน นี่ไม่ได้บอกว่ารัฐมนตรีต้องมาจากเสื้อแดง ถ้ามีความสามารถ แมวสีไหนก็จับหนูได้ แต่ถ้าทั้งไม่เอางานไม่เอาถ่าน ไม่เคยกระตือรือร้นร่วมการต่อสู้ เพียงเป็นตัวแทนกลุ่มก๊วน (ซึ่งก็ได้รับเลือกมาจากความตื่นตัวของมวลชน) แล้วจะมานั่งอยู่ทำไม

          รัฐบาล ต้องทบทวนว่า “อยู่ยาว” แล้วจะทำอะไร จะรักยาวให้บั่นหรือคิดสั้นย่ามใจ อย่าลืมว่า “จุดเปลี่ยน” พร้อมจะมาถึงทุกเมื่อและมันอาจผกผันกว่าที่คิดกันไว้ก็ได้

             ส่วนนักประชาธิปไตย มวลชนผู้รักประชาธิปไตย อาจจะต้องตระหนักว่าเรามาถึงโหมดใหม่ ที่ขบวนการซอมบี้ไม่สามารถล้มรัฐบาลได้ แน่นอน เรายังต้องปกป้องรัฐบาลเพื่อไทยในแง่ของการปกป้องระบอบประชาธิปไตย แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเริ่มตรวจสอบนักการเมืองไปพร้อมๆ กัน

ดำทุรัง Men in Black

             โพลล์ออกมาว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับข้อเสนอ คอป.ในขณะที่ชาวเสื้อแดงโวยวายคอเป็นเอ็น ไม่ยอมรับผลสรุปที่ว่า “ชายชุดดำมีจริง”   ฟังเหมือนไม่เป็นผลดีเลย รายงาน คอป.กลายเป็นอาวุธทิ่มแทง นปช.และรัฐบาลเพื่อไทยไปเสียฉิบ

             ที่จริงมันก็มีด้านที่เป็นผลร้าย แต่ไม่ใช่เป็นอย่างนั้นเสียหมด อย่างที่ผมเขียนครั้งก่อน รายงาน คอป.สรุปว่ามีชายชุดดำทำให้มีผู้เสียชีวิต 9 คน แต่ประชาชนที่เหลือ 83 คนมีจำนวนมากที่ คอป.ชี้ชัดว่ากระสุนมาจากทหาร

             เพียงแต่ คอป.ใช้ทัศนะของตนมาเน้นเรื่องชายชุดดำ และการชุมนุมของ นปช.ที่ไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบ มีลักษณะยั่วยุ โดยไม่กล่าวถึงการใช้กำลังทหาร ใช้กระสุนจริง ตามคำสั่ง ศอฉ.ว่าเป็นการกระทำที่สมควรแก่เหตุหรือไม่

             แกนนำ นปช.ไปดิ้นพัลวันกับการปกป้องตัวเอง ปฏิเสธเรื่องชายชุดดำ ทั้งที่มันเป็น fact ปฏิเสธเรื่องยั่วยุ เพราะเป็นการโต้แย้งจากจุดยืนตัวเอง ที่กลัวติดคุก ไม่ใช่จุดยืนของมวลชนที่เข้าร่วมการต่อสู้อย่างบริสุทธิ์

              มวลชนมาเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ทวงความยุติธรรม ไม่พอใจที่ถูกปล้นอำนาจ พวกเขาอาจจะรุนแรงแบบบ้านๆ  แต่พวกเขาไม่มีอาวุธสงคราม ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับชายชุดดำ ใครจะสั่งชายชุดดำมาก็แล้วแต่ มวลชนไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เหตุใดรัฐบาลอภิสิทธิ์จึงสั่งให้ใช้กำลังทหารพร้อมปืนเอ็ม 16 ปืนติดกล้อง เข้าไปกระชับพื้นที่ โดยออกคำสั่งปลายเปิด ให้ทหารยิงได้เมื่อเห็นใครต้องสงสัย ทำให้มวลชนผู้บริสุทธิ์ตายเป็นเบือ ในรายงาน คอป.ก็บอกอยู่ชัดเจน

              แกนนำ นปช.ไม่ได้ถกอย่างนี้ แกนนำ นปช.จะบอกว่าตัวเองถูกทุกข้อ ไม่มีใครเกี่ยวข้องกับชายชุดดำ ซึ่งมันฝืนความจริง สังคมก็เลยรู้สึกว่า “แถ”

           ตัวอย่าง เช่นการไปจ้องจับผิดอนุกรรมการ 2 คนว่าเป็นพันธมิตร ปัญหาของรายงาน คอป.ไม่ได้อยู่ที่ข้อมูล แต่อยู่ที่ทัศนะ ซึ่งทัศนะที่นำมาสรุป เป็นผลจากตัวกรรมการเอง ไม่ใช่ระดับจิ๊กจ๊อกแค่อนุกรรมการ 2-3 คนหรอก

              ผมเสียดายที่รัฐบาลและ นปช.ไม่รู้จักใช้รายงาน คอป.ศอกกลับพรรคประชาธิปัตย์บ้าง เช่น ข้อมูลที่ชัดเจนว่า นักข่าวญี่ปุ่น นักข่าวอิตาลี ตายเพราะกระสุนจากทางทหาร มวลชนเกือบทั้งหมดตายเพราะกระสุนจากทางทหาร ไม่มีกรณีชายชุดดำยิงคนเสื้อแดงอย่างที่ ปชป.อ้าง มีแต่ฝีมือชายชุดเขียวทั้งนั้น

            หรือการที่ คอป.ยอมรับว่า ทหารไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่ง ศอฉ.อย่างเคร่งครัด จึงทำให้มวลชนตายเป็นเบือ แต่ คอป.กลับตำหนิ ศอฉ.เพียงว่าไม่ติดตามตรวจสอบ ทั้งที่ควรจะสอบสวนว่า ศอฉ.ออกคำสั่งปลายเปิดเช่นนี้ ได้คำนึงถึงผลที่ตามมาหรือไม่ การออกคำสั่งแบบนี้แล้วมีผู้ปฏิบัติไม่เคร่งครัดทำให้คนตาย 2-3 ราย ก็ถือว่าผิดที่ผู้ปฏิบัติ แต่ออกคำสั่งแล้วมีคนถูกยิงตาย 80 กว่าราย คำสั่งต้องมีปัญหาแล้วครับ

              รัฐบาล พรรคเพื่อไทย นปช.เล่นไม่เป็นทั้งสิ้น เอาแต่จะเข้าชื่อกัน 50,000 ชื่อไปต่อต้านรายงาน คอป.ไม่ให้รับรองรายงาน คอป. เออ ทำไมไม่ทำอย่างเครือข่ายญาติ 112 ไปเรียกร้องอธิบดีศาลอาญาให้ประกันตัวผู้ต้องหาตามข้อเสนอ คอป.

              ส่วนที่โพลล์ออกมาว่าคนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับข้อเสนอ คอป.ก็ไม่ต้องกังวล เพราะไม่ใช่คนเห็นด้วยเรื่องชายชุดดำมีจริง กระแสสังคมที่ต้องการเห็นความสงบ พึงพอใจกับรายงานที่ออกมาโรยหน้าว่า “ผิดทั้งคู่” และมีข้อเสนอให้หาทางเลิกแล้วต่อกัน คนส่วนใหญ่ซึ่งไม่ได้อ่านรายละเอียดก็รู้สึกว่า “ดูดี”

              ฉะนั้นต้องทำความเข้าใจความต้องการของสังคม และเดินไปในเส้นทางนี้ ส่วนรายละเอียดจะตอบโต้กันอย่างไร ก็ให้แยกแยะเป็นประเด็น

              ตัวอย่างเช่น ข้อเรียกร้องของ อ.คณิต ณ นคร ที่ให้ทักษิณวางมือ ก็ต้องโต้สิครับว่า อ.คณิตแกมาเรียกร้องอะไรเหนือรายงาน คอป.ที่ทำมากับมือ ถือว่าผิดมารยาท คณะกรรมการสรุปไปแล้ว ถูกผิดอย่างไรก็ว่ากัน แต่ประธานกลับมีข้อเสนอนอกเหนือรายงาน ซึ่งไม่สมควรยิ่ง ถ้าจะไปให้สัมภาษณ์ภายหลังอีก 6-7 วันก็ว่าไปอย่าง

               ประเด็นสำคัญคือต้องเข้าใจว่า ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา 6 ปีนับแต่รัฐประหาร หรือ 11 ปีนับแต่มีรัฐบาลทักษิณ มันมีลักษณะที่ “ผิดทั้งคู่” จริง ไม่ได้มีใครถูกต้อง ดีงาม ขาวสะอาด แฟร์เพลย์ เล่นตามกฎกติกามารยาท เพียงแต่อะไรคือสาเหตุปัจจัย อะไรที่ทำให้ปัญหาลุกลาม

              รัฐบาลทักษิณไม่ได้ดีเลิศประเสริฐศรี ทำแต่สิ่งดีๆ ให้มวลชน ไม่เคยทำอะไรผิด รัฐบาลทักษิณมาจากประชาธิปไตย แต่ไม่เป็นประชาธิปไตย กระนั้นการรัฐประหารล้มล้างรัฐบาล ยิ่งทำให้ความขัดแย้งบานปลาย ไปกันใหญ่ โดยเฉพาะเมื่อดึงเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้อง ดึงสถาบันตุลาการมากำจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ขบวนการซอมบี้ทำทุกอย่างเพื่อเอาชนะ แพ้เลือกตั้งก็ยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน ใช้อำนาจตุลาการยุบพรรค ตัดสิทธิ จนตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร มวลชนเสื้อแดงก็ลุกฮือขึ้น แน่นอน ไม่ใช่มานั่งพับเพียบชุมนุมเรียกร้อง เป็นม็อบที่มีอารมณ์ ถูกปลุกให้คลั่งแค้น ก้าวร้าว มีลักษณะรุนแรง  

          แต่มันก็คือการแสดงออกของผู้ถูกกระทำจนเหลืออด เหตุใดผู้ที่ยึดอำนาจไปจากประชาชนจึงใช้ข้ออ้าง “ชายชุดดำ” ส่งกำลังทหารเข้ามาปราบปราม ซึ่งไม่เพียงมีคนตายจำนวนมาก แต่คนอีกเป็นพันก็ถูกจับกุมคุมขังภายใต้กระบวนการที่ไม่ยุติธรรม

             ภายใต้ข้อสรุป “ผิดทั้งคู่” ที่ต้องยอมรับ มันมีด้านที่ “ผิดยิ่งกว่า” ตรงนั้นต่างหากที่จะต้องชี้ให้สังคมเห็น แต่ถ้าเริ่มต้นจาก “กรูไม่ผิด” ก็ยากที่จะให้ใครคล้อยตาม

                                                                                    ใบตองแห้ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น