วันเสาร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2556

รื่องเหลือเชื่อของศาลกับมาตรา 112

ธาชัย ยิ้มประเสริฐ: เรื่องเหลือเชื่อของศาลกับมาตรา 112
Posted: 25 Jan 2013 03:33 AM PST  (อ้างอิงจากเวบไซท์ประชาไท)


         เมื่อวันที่ 17 มกราคม ที่ผ่านมา ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาในคดีที่นายยศวริศ ชูกล่อม หรือ เจ๋ง ดอกจิก เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในกรณีที่คุณยศวริศถูกกล่าวหาว่า กล่าวถึงสถาบันเบื้องสูงด้วยถ้อยคำไม่เหมาะสม บนเวทีชุมชุมของแนวร่วมประชาธิปไต ยแห่งชาติ (นปช.) ที่เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2553 ในที่สุด ศาลก็ตัดสินว่า คุณยศวริศมีความผิดตามที่ถูกกล่าวหา จึงให้จำคุก 3 ปี แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์จึงลดโทษ 1 ใน 3 ให้จำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา

         การตัดสินคดีคุณยศวริศนี้ เป็นการสะท้อนให้เห็นความไม่ชอบธรรมจากศาลอีกครั้งหนึ่ง เหมือนเช่นกรณีที่ฝ่ายคนเสื้อแดงถูกดำเนินการในคดี 112 กรณีอื่น ในที่นี้ จะขอยกใจความตอนสำคัญที่ศาลอ้างในความผิดของคุณยศวริศ ดังนี้

           "ศาลพิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายที่นำสืบหักล้างกันแล้วเห็นว่า การที่จำเลยกล่าวถึง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ ทำนองว่า พล.อ.เปรม ไม่ยอมให้ยุบสภาและกล่าวต่อว่า อาจมีเหนือกว่านั้นก็ดี พล.อ.เปรม อาจจะไม่มีอะไร แต่จะมีอะไรอยู่เบื้องหลัง พล.อ.เปรมก็ดี คำว่า “อาจมีเหนือกว่านั้น” และคำว่า “มีอะไรอยู่เบื้องหลัง พล.อ.เปรม” ซึ่งการที่จำเลยกล่าวปราศรัยในลักษณะให้ผู้ฟังเข้าใจว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงอยู่เบื้องหลัง พล.อ.เปรม จึงเท่ากับว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรง ไม่ยินยอมให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีขณะนั้นยุบสภา โดยสั่งการผ่านทาง พล.อ.เปรม จึงเป็นการใส่ความว่า ทรงยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ...ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องจริง"

          ในที่นี้คงจะต้องขอแสดงความไม่เห็นด้วยกับคำตัดสิน เพราะจะเห็นได้ว่า คำปราศรัยของคุณยศวริศตามที่ศาลอ้างทั้งหมด ไม่ได้กล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระ เจ้าอยู่หัวเลย แต่มุ่งจะโจมตี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และฝ่ายอำมาตยาธิปไตย ที่เข้ามาแทรกแซงทางการเมือง คำว่า “อาจจะมีเหนือกว่านั้น” คุณยศวริศก็ไม่ได้ระบุว่าคืออะไร เป็นการถูกต้องหรือไม่ที่ศาลจะเป็นผู้ตีความเสียเองว่าหมายถึงอะไร และก็ตัดสินลงโทษตามที่ศาลตีความ กรณีนี้จึงเป็นตัวอย่างอีกครั้งหนึ่งว่า การตีความของศาลนั่นเอง เป็นที่มาของการนำเอาผู้บริสุทธิ์ไปเข้าคุก

           กรณีคำตัดสินของศาลในคดี 112 ที่มีปัญหาอย่างมากเกิดขึ้นแล้วตั้งแต่คดีของนายอำพน ตั้งนพคุณ ซึ่งศาลตัดสินในวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2554 เพื่อแย้งในกรณีไม่มีหลักฐานพยานที่จะพิสูจน์ได้เลยว่า คุณอำพนกระทำความผิดตามที่กล่าวหา แต่ศาลก็อธิบายว่า “แต่ก็เพราะเป็นการยากที่โจทก์จะสามารถนำสืบด้วยประจักษ์พยาน เนื่องจากผู้ที่กระทำความผิดที่มีลักษณะร้ายแรงดังกล่าวย่อมจะต้องปกปิดการกระทำของตนมิให้บุคคลอื่นได้ล่วงรู้ ทั้งจะอาศัยโอกาสกระทำเมื่อไม่มีผู้ใดรู้เห็น จึงจำเป็นต้องอาศัยเหตุผลจากพยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีที่โจทก์นำสืบเป็นเครื่องชี้วัดให้เห็นถึงการกระทำและเจตนาซึ่งอยู่ภายใน” ซึ่งถ้าใช้คำตัดสินเช่นนี้เป็นบรรทัดฐาน ต่อไปฝ่ายโจทย์ก็ไม่จำเป็นต้องหาประจักษ์พยานพิสูจน์ว่าจำเลยกระทำความผิดอีกต่อไป เพราะศาลสามารถหาความผิดของจำเลยจากหลักฐานแวดล้อมได้

           ลองเปรียบเทียบกับอีกคดีหนึ่ง ที่ศาลพิจารณาตัดสินเมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2555 ในคดีที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล ถูกฟ้องว่ากระทำผิดตามมาตรา 112 ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการที่คุณสนธิได้กล่าวปราศรัยในเวทีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2551 โดยนำคำปราศรัยของ น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ ดา ตอร์ปิโด ที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาเผยแพร่ซ้ำ คำตัดสินของศาลเป็นดังนี้

           “ศาลพิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานทั้ง 2 ฝ่ายแล้วเห็นว่า การพูดของจำเลยสืบเนื่องมาจากการที่ น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปะกุล พูดบนเวทีปราศรัยที่ท้องสนามหลวง เป็นการพูดโดยถอดข้อความบางตอนมาสรุปให้ประชาชนฟัง โดยจำเลยเห็นว่า คำพูดของ น.ส.ดารณี เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระ มหากษัตริย์ และพระราชินี จึงเรียกร้องให้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงศ์สุวรรณ ผบ.ตร.ขณะนั้น ให้ดำเนินคดีกับ น.ส.ดารณี จึงเห็นได้ว่าการที่จำเลยสรุปคำพูดของ น.ส.ดารณี เมื่อฟังโดยรวมแล้วเป็นการแสดงให้เห็นว่า จำเลยมีเจตนาที่จะเรียกร้องให้มีการดำเนินคดีกับน.ส.ดารณี การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการขยายคำพูดของ น.ส.ดารณี อันมีเจตนาโดยตรงเพื่อหมิ่นประมาท หรือดูหมิ่นพระมหากษัตริย์และพระราชินี การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง ให้พิพากษายกฟ้อง”

            ที่ยกตัวอย่างคำพิพากษาของศาลในกรณีนี้มา ไม่ได้หมายความว่า ต้องการให้คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ติดคุกในคดีนี้ เพราะไม่ว่าใครจะถูกดำเนินคดีติดคุกตามข้อหาในมาตรา 112 ผมก็ไม่เห็นด้วยทั้งสิ้น ยิ่งคุณดารณีถูกจำคุกโดยไม่เป็นธรรมมาจนถึงขณะนี้ นานกว่า 4 ปีแล้ว การยกกรณีคดีคุณสนธิในที่นี้ เพียงแต่อยากให้ศาลใช้บรรทัดฐานอันผ่อนปรนในลักษณะเดียวกับกรณีคุณสนธิ ยกประโยชน์ให้จำเลยในกรณีอื่นด้วย เพราะการกล่าวหากันด้วยความผิดตามมาตรา 112 ทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องการใส่ร้ายป้ายสีกันทางการเมือง ยิ่งกว่านั้น กฎหมายอาญามาตรา 112 ก็เป็นกฎหมายเผด็จการ แก้ไขให้ลงโทษสูงตามคำสั่งคณะรัฐประหารเมื่อ พ.ศ.2519 กฎหมายนี้จึงไม่มีความชอบธรรมแต่อย่างใด

            ในที่นี้ยังอยากจะเล่าถึงคดีตาม มาตรา 112 อีกกรณีหนึ่ง คือในวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2553 นายยุทธภูมิ มาตรนอก อาชีพรับจ้าง ได้ถูกนายธนะวัฒน์ มาตรนอก พี่ชายแท้ของตนเอง แจ้งจับในความผิดข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 ต่อมา นายยุทธภูมิได้มามอบตัว และยืนยันว่าไม่ได้กระทำความผิด แต่เกิดจากการกลั่นแกล้งของพี่ชายแท้ๆ โดยได้แสดงหลักฐานเป็นบันทึกการแจ้งความไว้เป็นหลักฐานว่าพี่ชายเคยจะใช้มีดทำร้ายและหนังสือ ข่มขู่ อย่างไรก็ตาม ศาลก็รับฟ้องคดีนี้ เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2555 และขณะนี้ นายยุทธภูมิถูกขังอยู่ในคุก เพราะศาลไม่ให้ประกันตัว

           ในกรณีนี้ จะเห็นได้ว่า กฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น กลายเป็นเครื่องมือต่อสู้ช่วงชิงผลประโยชน์กันในครอบครัวแล้ว

           ท้ายที่สุดคงต้องขอกล่าวถึง กรณีของ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ที่ต้องถูกจำคุกมาแล้วนานกว่าปีครึ่ง และ สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ที่ถูกจำคุกมาแล้ว 2 ปี ทั้งที่เป็นผู้บริสุทธิ์ ในกรณีของคุณสมยศที่ต้องติดคุกก็เพราะศาลริดรอนสิทธิในการประกันตัวนั่นเอง

             ถึงเวลาของสังคมไทย ที่จะต้องพิจารณาแก้ไข หรือยกเลิกมาตรา 112 อย่างเป็นจริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น