สมยศโผล่! งานพระราชทานปริญญา ม.เชียงใหม่
Posted: 24 Jan 2013 10:59 AM PST (อ้างอิงจากเวบไซท์ประชาไท)
นักศึกษา นักกิจกรรมทางสังคม จัดกิจกรรมป่วนทางวัฒนธรรม (cultural
jamming) รณรงค์กรณีที่นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการนิตยสารเสียงทักษิณ
(Voice of Taksin) ถูกศาลอาญาตัดสินจำคุกรวม 11 ปีด้วยข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
Congratulation
24 มกราคม 2556 เวลาประมาณ 16.00 น. บริเวณลานหน้าศาลาธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หลังจากเสร็จสิ้นพิธีพระราชทานปริญญาบัตรประจำปีแล้ว กลุ่มนักเรียนห้องเรียนประชาธิปไตย (Cafe Democracy @Book Re:public) ซึ่งประกอบด้วยนักศึกษาระดับปริญญาตรีและโท จากสถาบันต่างๆ ในเขตเชียงใหม่ ร่วมกับกลุ่มนิติม่อน นักทดลองทางศิลปะที่รณรงค์ประเด็นสิทธิเสรีภาพอย่างต่อเนื่อง
ได้จัดกิจกรรมป่วนทางวัฒนธรรม (cultural jamming) รณรงค์กรณีที่นายสมยศ
พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการนิตยสารเสียงทักษิณ (Voice of Taksin)
ถูกศาลอาญาตัดสินจำคุกรวม 11 ปีด้วยข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
ในกิจกรรมป่วนทางวัฒนธรรมครั้งนี้ กำหนดให้กลุ่มนักเรียนราว 10 คนเข้าไปทำ "บูมหรือการร่วมแสดงความยินดีด้วยการล้อมวงตะโกนเชียร์" ให้กับบัณฑิตใหม่ที่เพิ่งรับปริญญา มีใจความว่า "S.O.M.Y.O.T FREE SOMYOT 112 112 112" โดยผู้เข้าร่วมสวมหน้ากากรูปใบหน้าสมยศ พฤกษาเกษมสุข และยังมีนักแสดงภายใต้หน้ากากสมยศสวมชุดครุยเป็นซีรี่ส์ "สม-ยศ" ปะปนอยู่ในหมู่บัณฑิตใหม่ที่กำลังถ่ายภาพเป็นที่ระลึกในโอกาสแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสสำเร็จการศึกษา
BOOM "S.O.M.Y.O.T FREE SOMYOT 112 112 112"
ตัวแทนกลุ่มกิจกรรมฯกล่าวว่า "หน้ากากที่เราสวมใส่ไม่ได้หมายความว่าเรากลัวที่จะเปิดเผยใบหน้า แต่เป็นการดึงดูดความสนใจของผู้คนและ ยังเป็นสัญลักษณ์ย้ำเตือนถึงอีกหนึ่งใบหน้าที่ต้องตกเป็นเหยื่อของความไม่เป็นธรรมของกฎหมายอาญา มาตรา 112 แม้ในบรรยากาศของการแสดงความยินดีเราก็ไม่ควรหลงลืมเหยื่อที่ยังไม่ได้รับความยุติธรรมในสังคม เราอยากจุดประกายให้กับเพื่อนๆ ในรั้วมหาวิทยาลัยว่า งานรับปริญญาแต่ละปีมีคนมาร่วมเป็นจำนวนมาก ควรจะเป็นโอกาสในการทำกิจกรรมรณรงค์เพื่อสังคมที่ดีกว่า มหาวิทยาลัยควรจะเป็นพื้นที่เปิดทางความคิด อย่างที่เราทำอยู่นี่ก็เป็นสิ่งที่ทุกๆ คนก็ทำได้เช่นกัน ไม่สำคัญว่าจะชื่ออะไร หรือว่าหน้าตาเป็นอย่างไร"
ต่อข้อถามถึงความคาดหวังต่อผลของกิจกรรม ตัวแทนกลุ่มตอบว่า "เชื่อว่าจะมีผลสะท้อนทางสังคมบ้าง อย่างน้อยก็ใน Social Media คงจะกระตุ้นให้คนสนใจได้บ้าง และเราจะไม่หยุดอยู่แค่นี้"
กิจกรรมนี้ได้รับความสนใจพอสมควรหากประเมินจากสายตาที่สะท้อนความสงสัยของฝูงชนในบริเวณในแต่ละครั้งที่แสดงการบูม บัณฑิตคณะนิติศาสตร์รายหนึ่งที่กลุ่มกิจกรรมเข้าไปทำบูมบอกว่า "มีอะไรบางอย่างเกิดขึ้น ทำให้เรารู้สึกว่าบางทีมันอาจถึงเวลาที่เราต้องมีการเปลี่ยนแปลงอะไรหรือเปล่า .. กระบวนการบังคับใช้ 112 ด้วยความที่จบกฎหมายมาทำให้เราได้รู้ว่า มันมีปัญหาในลักษณะใดบ้าง ไม่ได้บอกว่ามันจะต้องถูกล้มเลิก แต่อาจเป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องพิจารณาบทบาทและกระบวนการต่อไปของมาตรานี้หรือเปล่า"
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น