ศาล (ศาสนา) กับการหลอกตัวเอง
เกริ่นนำ
ศาลศาสนา (Inquisition) หรือในชื่อทางการว่า “กระบวนการไต่สวนผู้ผิดต่อจารีต” (Inquisitio Haereticae Pravitatis) ถูกสถาปนาขึ้นในศตวรรษที่ 12 โดยศาสนจักรโรมันคาทอลิกภายใต้การรับรองของสันตะปาปา (Pope) ซึ่งกระบวนการไต่สวนที่ว่า จะถือว่าจำเลยกระทำความผิดไว้ก่อนและเป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องแก้ต่างเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ของตน ไม่เช่นนั้น ก็มักจะถูกพิพากษาให้ประหารชีวิตด้วยวิธีการเผาทั้งเป็น (Burn on Stake) หรือกักขังหน่วงเหนี่ยว ที่สำคัญองค์คณะของศาลศาสนาจะผูกขาดการตีความกฎหมายด้วย นั่นหมายความว่า จำเลยจะไม่มีสิทธิ์ตีความกฎหมายเป็นอื่นได้ เพราะประธานและลูกขุนของศาลศาสนา คือ ผู้พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งกฎหมายอันศักดิ์สิทธิ์นั่นเอง
ในประวัติศาสตร์ บุคคลที่มีชื่อเสียงมากมาย ไม่ว่าจะเป็น นักบวชของศาสนจักร หรือ นักวิทยาศาสตร์ ล้วนแต่เคยถูกพิพากษาให้ประหารชีวิตด้วยน้ำมือของ ศาลศาสนามาแล้วทั้งนั้น รายที่น่าสนใจ คือ นักบวชคณะดอมีนิกัน ชื่อ จีออรฺดาโน บรูโน (Giordano Bruno) ในข้อหานอกรีต เพราะ เขียนหนังสือชื่อ On the Infinite Universe and Worlds (1584) ซึ่งศาลศาสนาตีความว่า มีเนื้อหาขัดแย้งกับข้อความเชื่อของศาสนจักร แน่นอนที่สุด เขาถูกเรียกตัวไปไต่สวนและถูกตัดสิน ประหารชีวิตในปี 1600 ควรรู้ ตำราล่าแม่มด (Malleus Maleficarum) ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ไปก่อนหน้า ในปี 1487 ผู้เขียนเป็นนักบวชคณะเดียวกันกับบรูโน และเหตุการณ์นี้อาจทำให้เกิดประโยคที่ว่า “พระเจ้าพร้อมจะหักหลังคุณ?” [1]
เนื้อหา
“ไม่ใช่ว่าศตวรรษที่ 21 ไม่อยากฆ่า แต่ว่า ฆ่าไม่ได้ตรงๆ” เป็นอะไรที่ต้องเน้นย้ำอยู่บ่อยๆ เพื่อจะได้เข้าใจกลเกมของผู้มีอำนาจซึ่งปรารถนาจะกำจัดผู้ขัดขวางอำนาจเสมอ เพราะประเด็นเรื่อง “ฆ่า” เป็นสิ่งที่ประชาคมโลกซึ่งมีประวัติศาสตร์ของรอยแผลทางใจจากการฆ่ามา มากจะไม่ยอมให้เกิดขึ้น ฉะนั้น “การฆ่า” ต้องกระทำอย่างปิดบัง ซ่อนเร้น และซับซ้อน และบ่อยครั้งอีกเช่นกันที่ “การฆ่า” วิวัฒนาการไปเป็นการลิดรอนเสรีภาพ
อาจกล่าวได้ว่า “การลิดรอนเสรีภาพเป็นทางเดียวที่ชอบธรรมในกรณีที่ไม่อาจฆ่าได้” และเรื่องนี้ไม่ใช่ไม่เคยเกิดขึ้น แต่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาหลายร้อยปีแล้ว ในปี 1633 นักดาราศาสตร์กาลิเลโอ ถูกศาลศาสนาพิพากษาภายใต้การรับรองของสันตะปาปาประมุขของศาสนจักรว่า ให้กาลิเลโอยืนยันสิ่งที่ตนเองพูดว่าไม่ใช่ความจริง มากไปกว่านั้น เขาถูกส่งตัวไปกักบริเวณที่เมืองซีเอนา โดยสันตะปาปาที่เคยเป็นเพื่อนของกาลิเลโอสำทับกับเขาว่า ถ้าพูดและเขียนเรื่องทำนองนี้อีกจะต้องประสบชะตากรรมเดียวกันกับ บรูโน ที่ถูกเผาไปเมื่อ 33 ปีที่แล้วอย่างแน่นอน จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่เราเห็นนี้ แน่นอนว่า ศาสนจักรไม่อาจหลบเลี่ยงความรับผิดชอบต่อเสรีภาพในบั้นปลายชีวิตของกาลิเลโอได้ ฉะนั้น ในปี 1992 สันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ในนามประมุขของศาสนจักร ทรงแสดงความเสียใจเกี่ยวกับความผิดพลาดนี้อย่างเป็นทางการ ต่อมาในปี 2008 ได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ของเขาไว้ที่กำแพงด้านนอกของนครรัฐวาติกันด้วยในโอกาสครบรอบ 400 ปีของการสร้างกล้องโทรทรรศน์ของเขา
จะเห็นได้ว่าสิ่งที่ทำให้ทุกอย่างเป็นไป คือ “การตัดสิน” ในกรณีนี้เป็น “การตัดสินของศาลศาสนา” และที่ตามมาอย่างติดๆ คือ “บรรทัดฐานของการตัดสิน” เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า การตัดสินหรือพิพากษาในยุคปัจจุบัน เป็นเรื่องจำเป็นมากที่จะต้องพิจารณาคำพิพากษาในกรณีที่ใกล้เคียงกันในอดีต เพื่อใช้เป็นบรรทัดฐาน หรือเพื่อสร้างบรรทัดใหม่ ตามวัตถุประสงค์ขององค์ผู้พิพากษาอย่างใดอย่างหนึ่ง และบางครั้ง “การตัดสิน” อาจมีปัญหาก็ได้ เช่นเดียวกับที่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของบรูโน หรือ กาลิเลโอ (นั่นเป็นเหตุผลที่ยุคปลดปล่อยพยายามจะพัฒนาระบบกฎหมายเพื่อให้หลุดพ้นจากมรดกของศาลศาสนานี้)
ซาร์ตร (Sartre:1905-1919) นักคิดแนวอัตถิภาวะนิยม เสนอว่า มนุษย์ทุกคนมีแนวโน้มที่จะหลอกตัวเอง (mauvais foi) กล่าวคือ ความพยายามที่จะไม่รับรู้เสรีภาพของตัวเองด้วยการแสร้งว่าเราไม่มีเสรีภาพ ฉะนั้น มนุษย์ที่หลอกตัวเองแบบนี้จำเป็นต้องอ้างอะไรก็ตามที่เป็นบรรทัดฐานหรือกฎเกณฑ์ตายตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อยืนยันว่าการกระทำของตนเองนั้นถูกต้อง ไม่ว่าจะเทียบกับกฎเกณฑ์ทางศาสนา หรือ กฎหมายก็ตามแต่จริต ฉะนั้น มนุษย์เหล่านี้จะมีข้อแก้ตัวอยู่เบื้องหลังและจะมีการแสดงเหตุผลที่ชอบธรรมอยู่เบื้องหน้าเสมอ [2] สมมติ เราเชื่อข้อเสนอของซาร์ตร นั่นแปลว่า เราไม่อาจตัดสินใครเชิงคุณค่าได้ แม้กระนั้น เรายังพอตัดสินในเชิงตรรกะได้ว่า ใครก็ตามที่เราพิจารณา “หลอกตัวเอง” หรือไม่? นั่นคือ เราจะรู้ว่า สิ่งที่ใครก็ตามเลือกยืนอยู่บนความผิดพลาด(หลอกตัวเอง)หรือยืนอยู่บนความจริง [3]
กลับมาที่ศาลศาสนา เห็นได้ชัดแล้วว่ามีการอ้างกฎเกณฑ์ หรือ ปทัสสถาน บางอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ ในที่นี้ บรรดาองค์คณะผู้พิพากษาหรือแม้แต่สันตะปาปาเองต่างอ้างข้อพระคัมภีร์เพื่อตัดสิน และการอ้างนั้นไม่ทำให้พวกเขาต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เลือกเพราะพระคัมภีร์ถูกสถาปนาว่าเป็นความชอบธรรมไว้แล้ว ซาร์ตรเสนอว่า ที่จริงสถานการณ์ไม่ได้กำหนดให้เราตัดสินอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เป็นเราเองต่างหากที่ตัดสินอย่างนี้ แต่อย่างที่กล่าวไป มนุษย์มีแนวโน้มของการโทษสถานการณ์และจะไม่โทษตัวเอง เพราะต้องการปฏิเสธความรับผิดชอบ ฉะนั้นต้องโยนความผิดให้กับกระบวนการ ความจำเป็น หรืออะไรสักอย่างภายนอกที่อ้างว่ามีผลบีบบังคับให้ตัดสินเช่นนั้น
อย่างไรก็ตาม กระบวนการฆ่าในนามความชอบธรรมของศตวรรษที่ 21 ซึ่งทำได้ดีที่สุดแค่การลิดรอนเสรีภาพ เป็น “เหตุผลแท้” ที่อยู่เบื้องหลังการอ้างกฎเกณฑ์ที่ดูเหมือนจะดีงามต่างๆ เพราะ ธงได้ถูกตั้งไว้ก่อนหน้านั้นแล้วว่าจะปฏิบัติเช่นนี้และตัดสินเช่นนี้ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ที่สำคัญ เมื่อมีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ การโยนความผิดให้กับระบบหรือกระบวนการ หรือแม้กระทั่งตัวบทกฎหมายซึ่งไม่มีชีวิต เพื่อให้มันเป็นผู้รับผิดชอบเสรีภาพและชีวิตคนที่สูญเสียไป? ทั้งที่ ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจได้เลือกใช้เครื่องมือเหล่านั้นเองแท้ๆ แต่ความผิดกลับถูกโน้มน้าวบ่ายเบี่ยงให้ไปตกกับอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่ผู้ตัดสิน แบบนี้ตามความเข้าใจของซาร์ตรจะเรียกว่า “มนุษย์ตระบัดสัตย์ เป็นมนุษย์ที่สร้างกำแพงของข้ออ้างขึ้นมา และไม่รับผิดชอบอะไรเลย” [4]
ความตายของบรูโน? เสรีภาพที่ถูกลิดรอนของกาลิเลโอ? ใครเล่าจะรับผิดชอบ? ใช่แล้ว สำหรับมวลมนุษย์ที่ชอบหลอกตัวเอง ความพลาดพลั้งที่เกิดขึ้นทั้งหมดถูกโยนให้เป็นผลมาจากอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่น้ำมือมนุษย์ ทั้งๆที่ รู้อยู่แก่ใจว่า ทุกสิ่งทุกอย่างถูกดำเนินการและสำเร็จไปด้วยน้ำมือมนุษย์? ใครเล่าเป็นผู้สั่งการให้ประหารและลิดรอนเสรีภาพบุคคลเหล่านั้น? ไม่ใช่มนุษย์หรอกหรือ? ซึ่งวิธีคิดลักษณะนี้ กลับดำเนินอยู่ในบางประเทศที่ไม่ยอมรับความจริงอันโหดร้ายและขมขื่นของการถูกสาปให้มีเสรีภาพ นั่นเพราะยังไม่พร้อมที่จะรับผิดชอบภาระอันหนักอึ้ง หากแต่พร้อมจะโยนความรับผิดชอบนี้ให้สิ่งอื่น?
สรุป
สมมติ เราสร้างเหตุการณ์จำลองว่า มีกระบวนการไต่สวนผู้ผิดจารีตของสังคมหนึ่ง และกระบวนการดังกล่าวถูกรับรองภายใต้อำนาจชอบธรรมของความดีงาม ซึ่งบรรดาผู้ตัดสินของกระบวนการนั้นต่างอ้างความชอบธรรมที่จะตัดสินทุกอย่างตามกฎกติกาและความเป็นธรรม ต่อมาในยุคหนึ่ง บรรดาผู้ตัดสินกลับมีเจตนาแอบแฝงที่พิสูจน์ไม่ได้ (และไม่มีใครพิสูจน์ได้) ในการที่จะลิดรอนเสรีภาพผู้ผิดจารีตคนหนึ่ง และพฤติกรรมนี้ชัดแจ้งเสียจน มีใครในสังคมตะโกนถามด้วยความ สงสัย แต่คำตอบที่ได้รับกลับมาอยู่แค่ 2 อย่าง คือ 1 เงียบ (ลอยตัวเหนือปัญหา) 2 อ้างปทัสสถานและความจำเป็น เราจะกล่าวได้หรือไม่ว่า เป็นการหลอกตัวเอง? ซึ่งจริงๆ ไม่เห็นน่าอายเลยที่ยอมรับมาเสียตรงๆว่า “ก็ไม่พอใจ ก็อยากฆ่า แต่ฆ่าไม่ได้ตรงๆเลย ต้องอ้างนู่นอ้างนี่” อย่างน้อยที่สุดการยอมรับนั้นก็แสดงให้เห็นว่าไม่ได้หลอกตัวเอง เช่นเดียวกับศาลศาสนาในประวัติศาสตร์ที่ยุติบทบาทอย่างเป็นทางการไปแล้ว เพราะคงไม่อยากหลอกตัวเองด้วย และคงดีกว่านี้ถ้าเพื่อนที่อยู่ข้างเดียวกันหรือต่อสู้แบบผิดจารีตมาด้วยกันกล้ายอมรับออกมาตรงๆว่า “ผมพร้อมจะหักหลังคุณ ผมจะปล่อยให้คุณตายคนเดียว”
ข้อมูลเพิ่มเติม
[1] ธเนศ วงศ์ยานนาวา: เสวนาที่ Book Re:public “การควบคุมศิลปะ” http://prachatai.com/journal/2013/01/44535
[2] [3] [4] Jean-Paul Sartre, L''existentialisme est un humanism , http://www.danielmartin.eu/Textes/Existentialisme.htm
สมยศ พฤกษาเกษมสุข: เมื่อกาลิเลโอเจอข้อหา ไม่จงรักภักดี http://blogazine.in.th/blogs/somyot-redpower/post/3786
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น