นักกิจกรรมทางสังคมเผาตำรากฎหมายประท้วงหน้าศาล
Posted: 25 Jan 2013 04:25 AM PST (อ้างอิงจากเวบไซท์ประชาไท)
นักวิชาการ นักกิจกรรมทางสังคม ญาติผู้เสียชีวิตในปี53 รณรงค์หน้าศาลเผาตำรากฎหมายจำลอง ชี้ มาตรา112 กระบวนยุติธรรมไทยมีปัญหา
25 มกราคม 2556 เวลาประมาณ 12.00น. บริเวณหน้าศาลอาญารัชดา กลุ่มนักกิจกรรมทางสังคมและนักวิชาการประมาณ 50 คนได้เดินทางมาทำกิจกรรมรณรงค์แสดง
ความไม่เห็นด้วยต่อกรณีที่ ศาลพิพากษาจำคุก 11 ปี คดีหมิ่นเบื้องสูง
นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตบรรณาธิการ นิตยสารวอยซ์ ออฟ ทักษิณ Voice of
Taksin ด้วยการอ่านและแจกแถลงการณ์รวมทั้งทำการจุดไฟ “เผาตำรากฎหมายเชิงสัญลักษณ์” พร้อมชูป้ายข้อความต่างๆ(ตามภาพ)
ในกิจกรรมดังกล่าวได้มีการกล่าวปราศัยถึงความเป็นเผด็จการของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ ความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรม ทั้งในเรื่องการริดรอนสิทธิการ
ให้ประกันตัว จนถึงกระบวนการในการพิจารณาคดี โดยได้ยกกรณีของดารณี
ชาญเชิงศิลปกุล นายธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล นายอำพล ตั้งนพกุล และนายสมยศ
พฤกษาเกษมสุข โดยผู้ปราศัยได้ประกาศว่ากิจกรรมที่ได้ทำร่วมกันนี้เป็นการแสดงออกเชิง สัญลักษณ์ด้วยการเผาตำราเรียนกฎหมาย
แถลงการณ์กิจกรรม “เผาตำรากฎหมายเชิงสัญลักษณ์”
25 มกราคม 2555 หน้าศาลอาญา รัชดาฯ
การจัดกิจกรรม “เผาตำรากฎหมายเชิงสัญลักษณ์” ในวันนี้ เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มคนที่มีที่มาหลากหลาย แต่มีจุดร่วมเหมือนกันประการหนึ่งคือ ไม่เห็นด้วยกับความเผด็จการของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และอดรนทนไม่ได้กับความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับผู้ต้องขังคดีนี้
ไม่ว่าจะเป็น การพิจารณาคดีของนางสาวดารณี หรือ ดา ตอร์ปิโด ที่ศาลอนุญาตให้มีการพิจารณาคดีในทางลับโดยไม่ถือว่าเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือกรณีการถูกตัดสินว่ามีความผิด แม้ว่าจะไม่สามารถพิสูจน์ได้จนสิ้นสงสัย ดังเช่นในกรณีของนายธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล หรือ หนุ่มเรดนนท์ ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นเว็บมาสเตอร์ของเว็บไซต์ นปช.ยูเอสเอ หรือกรณีของนายอำพล หรือ อากงเอสเอ็มเอสที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ส่งเอสเอ็มเอสหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ
ปัจจุบัน นางสาวดารณีต้องโทษจำคุก 15 ปี นายธันย์ฐวุฒิ ต้องโทษจำคุก 13 ปี และนายอำพล ต้องโทษจำคุก 20 ปีก่อนต้องจบชีวิตลงในเรือนจำเมื่อปีที่ผ่านมา
วันที่อากงเสียชีวิต พวกเราหลายคนมาอยู่ที่นี่ หน้าศาลอาญารัชดาแห่งนี้ เรียกร้องความเป็นธรรมให้อากง แต่สิ่งที่พวกเราได้รับกลับกลายเป็นการดาหน้าออกมาพูดความจริงเพียงครึ่งเดียวของบรรดาบุคคลในแวดวงตุลาการ
ล่าสุด การพิพากษาลงโทษนายสมยศ พฤกษเกษมสุข นักกิจกรรมสายแรงงานและบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin เป็นเวลา 10 ปี โดยผลักภาระความรับผิดให้นายสมยศ โดยไม่มีการพิสูจน์ให้สิ้นสงสัยในเรื่องเจตนากระทำผิด อันเป็นพื้นฐานของคดีอาญา ยังไม่ต้องพูดถึงสิทธิในการประกันตัว อันเป็นสิทธิพื้นฐานตามหลักสากล แต่สำหรับประเทศไทยเรานี้ ต้องเป็นอภิสิทธิชนเท่านั้นจึงจะเข้าถึงสิทธินี้ได้
กรณีทั้งหมดที่กล่าวมานี้ และอีกหลายกรณีที่ไม่ได้กล่าวถึง สะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมไทยล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการผดุงไว้ซึ่งหลักนิติธรรม อันเป็นหัวใจของการปกครองระบอบประชาธิปไตย…
หากบุคคลให้สถาบันตุลาการที่ได้ชื่อว่าเป็นคนดี เป็นผู้ที่มีความเที่ยงตรง กลับไม่ปฏิบัติตามหลักการพื้นฐานทางกฎหมายเหล่านี้ ความยุติธรรมที่แท้จริงจะบังเกิดได้อย่างไร?
แล้วตำรากฎหมายที่วางกองอยู่ตรงหน้าที่เราได้ร่ำเรียนมานั้น จะยังมีความหมายอะไรต่อไปอีก?
“พอกันที 112! พอกันทีความไร้หลักการของกระบวนการยุติธรรมไทย!”
หมายเหตุ: กิจกรรม “เผาตำรากฎหมาย” จึงเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ หนังสือที่นำมาเผาเป็นตำราเรียนกฎหมายที่ทำจำลองขึ้นมา
ขวัญระวี วังอุดม จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เข้าร่วมรณรงค์ กล่าวกับประชาไทหลังสิ้นสุดกิจกรรมรณรงค์ครั้งนี้ว่า เราต้องการจะสื่อให้เห็นว่าความไม่ยุติธรรมที่เกิดจากตัวกฎหมายกับกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบตั้งแต่ตำรวจ อัยการ ศาล เห็นว่าสิ่งที่เล่าเรียนกันมามันใช้ไม่ได้อีกแล้ว กิจกรรมนี้ทำให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมถูกตั้งคำถามและท้าทายยมากขึ้น นับตั้งแต่คดีองกง หรือกลุ่มปฏิญญาหน้าศาล
พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ บิดาของ นายสมาพันธ์ ศรีเทพ ผู้เสียชีวิตจากเหตุการสลายการชุมนุมเดือนพฤษภา 53 หนึ่งในผู้เข้าร่วมรณรงค์ กล่าวกับประชาไทว่า ในทางสาธารณะมันมีทัศนคติว่าผู้ต้องหาในคดีนี้ ที่เป็นผู้ถูกกล่่าวหากลายเป็นจำเลย ซึ่งถูกตัดสินไปแล้วและไม่สามารถหลุดออกจากคดีนี้ได้ โดยส่วนตัวแล้วผมรู้สึกเฉยๆ กับกระบวนการยุติธรรมไทยเมือเทียบกับกรณีการเสียชีวิตของลูกชาย แต่ก่อนเขาพูดกันว่าศาลเป็นที่พึ่งสุดท้าย แต่ตอนนี้ประชาชนต้องพึ่งอยู่บนตีนตนเอง และเชื่อว่ากิจกรรมนี้เป็นสิ่งที่คนตัวเล็กตัวน้อยทำอะไรได้บ้างเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม"
อนุสรณ์ อุณโณ คณะสังคมวิทยา ธรรมศาสตร์ ผู้เข้าร่วมกิจกรรม กล่าวถึงเหตุผลในการเข้าร่วมกิจกรรมว่า อย่างแรกสุด 112 เป็นกฎหมายที่มีปัญหาในหลายระดับ (อุดมการณ์ การบังคับใช้ การตีความ ฯลฯ) อย่างที่สองกรณีคุณสมยศมันมีความพิลึกพิลั่นในการตัดสินเพิ่มอีก อย่างที่สามที่สำคัญมากคือมันจำเป็นต้องมีการเคลื่อนไหว "บนท้องถนน" เพราะลำพังแต่เพียงการแสดงความเห็นหรือเคลื่อนไหวในวงเสวนาหรือสื่อออนไลน์มันไม่พอ
นักวิชาการจาก มธ.ตอบเมื่อถูกตั้งคำถามว่ากิจกรรมอาจมีความคาบเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาลว่า “ผมไม่แน่ใจว่าในทางกฎหมายนิยามการละเมิดอำนาจศาลไว้อย่างไร แต่ผมไม่คิดว่าการแสดงความเห็นต่างหรือวิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินของศาลบนฐานของเหตุผลและข้อเท็จจริงจะเป็นการละเมิดอำนาจศาล เพราะไม่แล้วศาลก็จะกลายเป็นอำนาจสูงสุดและเบ็ดเสร็จที่ไม่สามารถตรวจสอบหรือถ่วงดุลได้ ซึ่งไม่น่าจะเป็นวิสัยของระบอบประชาธิปไตยอย่างที่ควรจะเป็น”
ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า นายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวว่า กรณีมีผู้ชุมนุมมาประท้วงหน้าศาลอาญานั้นได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ศาลอาญาดูเเลรักษาความสงบ ซึ่งก็ไม่มีเหตุการณ์ร้ายเเรงหรือลุกลาม ส่วนที่มีการเผาตำรา หรือเเจกเอกสารนั้นก็เป็นการแสดงความไม่เห็นด้วยในกระบวนการยุติธรรม ทางศาลอาญาก็จะไม่มีการดำเนินคดีอะไรต่อคนกลุ่มนี้ เพราะจะเป็นการต่อความยาว ผู้ชุมนุมก็ชุมนุมบริเวณข้างหน้าศาลไม่ได้เข้ามาชุมนุมในเขตรั้วของศาล คิดว่าคงจะไม่มีเหตุการณ์ลุกลามไปกว่านี้แล้ว เพราะทางศาลอาญาได้ชี้เเจงผ่านสื่อมวลชนไปเเล้วถึงคดีของนายสมยศ และเชื่อว่าประชาชนทั่วไปซึ่งเป็นคนส่วนมากและมีความคิดเป็นกลางจะมีความเข้าใจ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ คนบางกลุ่มมีการปลุกระดมเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือโดยการดึงต่างประเทศเข้ามา ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะมีความเข้าใจในวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมของประเทศไทยหรือไม่ แต่ที่ตนเชื่อว่าจะไม่บานปลาย เพราะกระบวนการยุติธรรมเรามีบทบัญญัติชัดเจนและตรวจสอบได้
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น