วันเสาร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2556

"วีรพัฒน์" โต้ "อธิบดีศาลอาญา" เมื่อภูผาตระหง่านสง่าแล้วไซร้ เหตุไฉนจึงผวาเกรงก้อนหินมากระทบ?

วีรพัฒน์ ปริยวงศ์

"วีรพัฒน์" โต้ "อธิบดีศาลอาญา" เมื่อภูผาตระหง่านสง่าแล้วไซร้ เหตุไฉนจึงผวาเกรงก้อนหินมากระทบ?


เรียน อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา

ผมได้ทราบข่าวจากสื่อมวลชนว่า ท่านได้กล่าวถึงบทความของผมว่าเป็นการหมิ่นศาล ซึ่งข่าวมีเนื้อความว่า : 


"อธิบดีศาล" ชี้ บทความนักวิชาการอิสระหมิ่นศาล สั่งตรวจสอบด่วน

           เมื่อ วันที่ 24 มกราคม นายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวถึงบทความในเฟสบุ๊ค ของนาย วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักวิชาการกฏหมายอิสระ ว่า จากการที่ได้ทราบถึงเนื้อหาบทความมองได้ว่าเป็นการเเสดงความคิดเห็น ติเตียนวิจารณ์การทำงานเเละมีทัศนคติในเเง่ร้ายเเละมุ่งทำลายความน่าเชื่อ ถือต่อศาล ซึ่งศาลอาญาซึ่งเป็นผู้ใช้กฏหมายมีความเป็นธรรมในการพิจารณาคดีต่างๆ สิ่งที่ผู้เขียนบทความนี้มองเป็นการดูหมิ่นศาล มีการประชดเสียดสีศาลต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่การเเสดงความเห็นทางวิชาการที่มีเหตุผลน่าเชื่อถือ เป็นการเขียนบทความโดยอคติเป็นการส่วนตัว ศาลไม่ขัดข้องเเละพร้อมที่จะรับการวิจารณ์ เเต่ต้องเป็นในวงกว้างไม่ใช่เเเค่นักวิชาการกลุ่มหนึ่งที่มีอคติต่อศาล ในวงกว้าง รวมถึงประชาชน เเละผู้ที่เข้าใจถึงระบบการทำงานของศาล เรื่องบทความหมิ่นเหม่ที่ปรากฏในโลกอินเตอร์เนตนี้ เบื้องต้น ตนได้ให้ผู้พิพากษาที่เกี่ยวข้องตรวจสอบว่ามีบทความใดหมิ่นเหม่ เเละสร้างความเข้าใจผิดต่อศาลอาญามากน้อยเเค่ไหน ส่วนจะมีการพิจารณาดำเนินการใดต่อไปนั้นต้องรอดูผลการตรวจสอบนั้นซะก่อน

         "บท ความนี้เป็นการดูหมิ่นศาล ไม่ใช่การเเสดงออกทางวิชาการ เป็นการเเสดงความคิดเเบบคนไม่เข้าใจระบบ เเละจงใจดิสเครดิตศาล อยากถามกลับไปว่าคนส่วนมากเค้าเห็นด้วยกับผู้เขียนหรือไม่ เเละข้อเท็จจริงก็ไม่ได้เป็นอย่างที่เขียนในบทความ" นายทวีกล่าว

***


หากข่าวนี้ถูกต้องครบถ้วนจริง ผมขอเรียนชี้แจงต่อท่านอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ดังนี้

         ผมขอยืนยันความบริสุทธิ์และสุจริตใจที่ผมมีต่อสถาบันตุลาการ ว่าการแสดงความเห็นของผมทั้งหมดตลอดมานั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความใส่ใจ และความคาดหวังและศรัทธาที่ผมมีต่อสถาบันตุลาการอันต้องเป็นที่พึ่งของ ประชาชน เมื่อใดที่ผมมีความกังขาหรือไม่เห็นพ้องด้วยต่อเหตุผลของศาล ผมย่อมพึงใช้ความพากเพียรในการตรึกตรอง เพื่อวิพากษ์วิจารณ์ติชมเสนอแนะ ด้วยหวังว่าผมจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยพัฒนาสถาบันตุลาการให้เป็นที่พึ่งของ ประชาชนอย่างแท้จจริง

         ตลอดเวลาที่ผ่านมา ผมได้ใช้ความพากเพียรพยายามในการวิพากษ์วิจารณ์ศาลตามความรู้และหลักวิชา อย่างเต็มความสามารถ โดยไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนที่อาจต้องเสียไปจากการวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว เห็นได้จากผลงานทางวิชาการซึ่งผมได้แต่งไว้ในขณะศึกษาปริญญาโท ณ Harvard Law School อันมีเนื้อความเชิงวิพากษ์ที่แสดงถึงความศรัทธาและการให้ความสำคัญต่อสถาบัน ตุลาการอย่างเป็นประจักษ์ (โปรดดู http://discovery.lib.harvard.edu/?q=verapat) ตลอดจนบทวิพากษ์คำพิพากษาและคำวินิจฉัยต่างๆ ที่ศึกษาวิเคราะห์เหตุผลของศาลอย่างละเอียด (อาทิ http://bit.ly/Demcase ) และเมื่อมีผู้เสนอให้ยุบหรือแก้ไขอำนาจศาลด้วยเหตุผลที่ผมไม่เห็นพ้อง ผมก็ได้แสดงเหตุผลคัดค้านการยุบศาลเช่นกัน (อาทิhttp://astv.mobi/Azu0SSq )

       ส่วนความเห็นของผมล่าสุดต่อกรณีคำพิพากษาจำคุกนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ซึ่งเป็นเพียงการแสดงความเห็นในเบื้องต้นนั้น ผมได้แสดงออกด้วยความใส่ใจและคาดหวังศรัทธาต่อศาลดังทุกครั้ง และเมื่อศาลไม่ได้เผยแพร่คำพิพากษาฉบับเต็มต่อประชาชน ผมก็ได้ศึกษาเอกสารย่อคำพิพากษาที่จัดทำโดยศาลอย่างละเอียด จากนั้น จึงตั้งคำถามและแสดงความเห็นในเชิงวิชาการ ตามเสรีภาพที่รับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญไว้ที่ http://bit.ly/somyos112 

        ความเห็นของผมต่อกรณีคำพิพากษานายสมยศดังกล่าว มีสาระสำคัญสองประเด็น กล่าวคือ 

        ประเด็น ที่หนึ่ง ผมตั้งคำถามว่า หากประชาชนประสงค์จะตรวจสอบการพิจารณาคดีของศาล โดยการนำบทความในคดีที่ศาลเห็นว่ามีเนื้อหาผิดกฎหมายมาตรวจสอบวิพากษ์ วิจารณ์ ประชาชนควรจะกระทำได้ ใช่หรือไม่ และหากกระทำไปแล้ว จะถูกศาลพิพากษาว่ากระทำความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่ และหากประชาชนไม่อาจกระทำการตรวจสอบศาลด้วยเหตุที่ต้องเกรงกลัวต่อประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 112 แล้วไซร้ ก็ย่อมเกิดคำถามว่า มาตรา 112 มุ่งคุ้มครองผู้ใดกันแน่

        ประเด็น ที่สอง ผมได้แสดงความเห็นเชิงเสนอแนะในทางวิชาการ ถึงวิธีการตีความ มาตรา 112 ว่าศาลควรพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของบทบัญญัติที่มุ่งคุ้มครอง 'ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร' อันเป็นประโยชน์ร่วมกันของประชาชน กล่าวคือ มาตรา 112 มิได้มุ่งคุ้มครองที่ 'ตัวบุคคล' เหมือนความผิดหมิ่นประมาททั่วไป ดังนั้น การตีความบังคับใช้ มาตรา 112 จึงต้องพิจารณาว่า การกระทำตามข้อหานั้น นอกจากจะเป็นการ 'หมิ่น' หรือไม่แล้ว ยังจะต้องพิจารณาให้ลึกซึ้งตามเจตนารมณ์อีกด้วยว่า แม้นหากเป็นการ 'หมิ่น' จริง แต่การหมิ่นเช่นว่านั้น จะกระทบต่อ 'ความมั่นคง' อันเป็นประโยชน์ร่วมกันของประชาชนหรือไม่ อย่างไร ?

        แต่ เมื่อเอกสารย่อคำพิพากษามีเหตุผลที่ไม่ชัดเจน ผมจึงได้ตั้งคำถามในเชิงตรรกะตามหลักวิชาการต่อไปว่า หากศาลนำ มาตรา 112 มาเอาผิดกับผู้ตีพิมพ์บทความเพียงบทเดียวในฐานะภัยต่อความมั่นคงแห่งราช อาณาจักรได้แล้วไซร้ ก็น่าสงสัยว่า ศาลกำลังเห็นว่าพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ไทย อันเป็นที่ยกย่องสรรเสริญทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ แท้จริงแล้วก็สามารถถูกทำลายและล้มครืนลงจนกระทบต่อความมั่นคงได้โดยง่าย เพียงเพราะ 'บทความหนึ่งฉบับ' กระนั้นหรือ ? และหาก 'ตรรกะ' ของ 'ศาลอาญา' เป็นดังนี้ ก็ย่อมน่าสงสัยว่าศาลกำลังดูแคลน 'พระเกียรติยศ' ของพระมหากษัตริย์ไทย อีกทั้งดูถูกสติปัญญาและวิจารณญาณของประชาชนคนไทย อย่างโจ่งแจ้งที่สุดหรือไม่ ?

         หากเปรียบเปรยให้เข้าใจง่าย อาจกล่าวได้ว่า เมื่อภูผาตระหง่านสง่าแล้วไซร้ เหตไฉนจึงผวาเกรงก้อนหินมากระทบ ? 

        ผมขอเรียนท่านอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาว่า การตั้งคำถาม คือหัวใจของการวิพากษ์วิจารณ์ การแสดงความเห็นและการตั้งคำถามทั้งสองประเด็นที่กล่าวมานี้ ได้นำเสนอพร้อมกับบทความทางวิชาการเรื่อง "ตุลาการไทย กับ มาตรา 112" (โปรดดู http://bit.ly/VPon112 ) ตลอดจนบทสัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ ซึ่งเสนอการวิเคราะห์พร้อมข้อเสนอแนะเกี่ยวกับวิธีการตีความ มาตรา 112 อย่างละเอียด พร้อมยกตัวอย่างวิเคราะห์เทียบเคียงประกอบ อันล้วนเป็นการนำเสนอทางวิชาการที่สถาบันตุลาการพึงนำไปพิจารณาอย่างเร่ง ด่วนทั้งสิ้น

         ผมจึงขอความกรุณาท่านอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ตลอดจนผู้พิพากษาตุลาการผู้มีใจเป็นธรรมทั้งหลาย ได้โปรดลองพิจารณาถึงเนื้อหาสาระของคำถามและข้อสังเกต ตลอดจนบทความวิชาการดังกล่าว อันเป็นเนื้อเดียวกันของความเห็นทั้งหมดนี้ เพื่อให้ความจริงปรากฏว่า การแสดงความเห็นของผมนั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความใส่ใจ ความคาดหวังและความศรัทธาที่ผมมีต่อสถาบันตุลาการอันต้องเป็นที่พึ่งของ ประชาชน และเมื่อใดที่ผมมีความกังขาหรือไม่เห็นพ้องด้วยต่อเหตุผลของศาล ผมย่อมพึงใช้ความพากเพียรในการตรึกตรอง เพื่อตั้งคำถามและเสนอข้อคิดเห็นต่อศาล เพื่อหวังให้ศาลเป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างแท้จริง

          ผมเป็นประชาชนคนไทยคนหนึ่งที่เคารพและเห็นความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ และเมื่อผมเชื่อโดยสุจริตใจตามตรรกะและหลักวิชาว่า ศาลกำลังตีความ มาตรา 112 ไปในทางที่ไม่เป็นคุณต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ย่อมเป็นทั้งสิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ของผม ในฐานะประชาชนชาวไทย ที่จะตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์การตีความของศาลดังกล่าว

        หากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ อันทรงเป็นที่รักของปวงชนชาวไทย ยังทรงยอมให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์พระองค์ได้ ประชาชนอย่างผมก็ได้แต่เพียงหวังว่า ศาลของประชาชนซึ่งทำหน้าที่ในพระปรมาภิไธย จะยอมให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามต่อศาลเพื่อปกป้องพระเกียรติยศ ของพระมหากษัตริย์ไทยได้ เช่นกัน.

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา 

วีรพัฒน์ ปริยวงศ์
๒๔ มกราคม ๒๕๕๖

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น