วันศุกร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2554

ญาติวีรชนบุกทำเนียบ จี้‘มาร์ค’เอ่ยขอโทษ
ญาติวีรชนบุกทำเนียบ จี้‘มาร์ค’เอ่ยขอโทษ
http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=10370

         จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้
         ปีที่ 12 ฉบับที่ 3033 ประจำวัน พุธ ที่ 13 เมษายน 2011


คณะกรรมการญาติวีรชน พฤษภา 35 บุกทำเนียบรัฐบาลยื่นหนังสือเรียกร้อง “อภิสิทธิ์” ทำตามข้อเสนอคณะกรรมการอิสระเพื่อติดตามผู้สูญหายและช่วยเหลือผู้เสียหายเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เฉ่งตั้งแต่นั่งนายกฯรับปากว่าจะทำมาปีกว่าแต่เรื่องยังเงียบ นอกจากนี้ยังจี้ให้แสดงความเสียใจและเอ่ยปากขอโทษต่อเหตุการณ์นองเลือดเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 ที่มีคนเสื้อแดงบาดเจ็บ เสียชีวิตจำนวนมาก เพื่อให้เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความปรองดอง

วันที่ 12 เม.ย. 2554 ที่บริเวณประตูอรทัย ทำเนียบรัฐบาล ระหว่างที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรีนายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการญาติวีรชน พฤษภา 35 พร้อมด้วยผู้สนับสนุนกว่า 20 คน เข้ายื่นหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ขอให้ปฏิบัติตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อติดตามผู้สูญหายและช่วยเหลือผู้เสียหายจากเหตุการณ์เดือน พ.ค. 2535 และขอให้รัฐบาลแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์และความสูญเสียเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 เพื่อสร้างแนวทางปรองดอง

หนังสือของคณะกรรมการญาติวีรชนฯระบุว่า ขอให้รัฐบาลเร่งรัดดำเนินการตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อติดตามผู้สูญหายและช่วยเหลือผู้เสียหายจากเหตุการณ์เดือน พ.ค. 2535 รวมถึงหาทางให้ความช่วยเหลือเยียวยาทางจิตใจแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เดือน พ.ค. 2535 เพราะหลังจากคณะกรรมการอิสระที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน หมดหน้าที่ลง พบว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการขัดแย้งและผิดเงื่อนไขของคณะกรรมการ คณะกรรมการญาติวีรชนฯจึงต้องการทราบว่านายกรัฐมนตรีจะช่วยเหลือ แก้ไขปัญหา และให้ความเป็นธรรมอย่างไร ซึ่งก่อนหน้านี้ 1 ปีเศษคณะกรรมการได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีมาแล้วแต่ไม่มีความคืบหน้าใดๆ

หนังสือระบุอีกว่า จากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 ทั้งที่สามารถหลีกเลี่ยงความรุนแรงได้ แต่กลับมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก รัฐบาลจึงควรออกมาแสดงความเสียใจและขอโทษ เพื่อเป็นการอโหสิกรรมและแสดงความจริงใจ เป็นแนวทางไปสู่การปรองดอง

นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง ส.ว.อุทัยธานี โฆษกคณะกรรมการติดตามสถานการณ์บ้านเมือง วุฒิสภา กล่าวถึงความล่าช้าในการสืบหาสาเหตุการตายของผู้ชุมนุม นปช. ว่าเป็นเรื่องธรรมดาของคนมีอำนาจที่ต้องการดึงหรือปัดให้เรื่องพ้นตัวเองมากที่สุด โดยเฉพาะผู้มีอำนาจในสังคมไทย ซึ่งตั้งแต่หลังการปฏิวัติเมื่อปี 2549 ก็พยายามดึงทุกองค์กรเข้ามาอยู่ในความควบคุมให้มากที่สุด เกิดวิถีอุปถัมภ์ ระบบบุญคุณ สิ่งเหล่านี้จะทำให้การพิสูจน์ความจริงและคดีความเกี่ยวกับการตายของคนเสื้อแดงถูกยื้อออกไปเรื่อยๆ

นายสิงห์ชัยกล่าวอีกว่า คณะกรรมการได้ติดตามเรื่องตลอด แต่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ก็ไม่เคยมาชี้แจง แต่การทำงานก็ได้ข้อมูลจากส่วนต่างๆมากพอสมควร อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการชุดนี้หมดวาระการทำงานพร้อมกับนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ที่เป็นผู้ลงนามแต่งตั้ง แต่จะพยายามผลักดันให้มีการตั้งกรรมการชุดใหม่ขึ้นมาติดตามงานต่อ โดยได้เสนอต่อคณะกรรมาธิการกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิ) แล้วว่าให้บรรจุวาระแต่งตั้งกรรมการเข้าสู่ที่ประชุมวุฒิสภา ซึ่งการทำงานต่อไปคงง่ายขึ้นเพราะกฎหมายออกคำสั่งเรียกบุคคลมาชี้แจงหรือเอกสารมีผลบังคับใช้แล้ว แต่หากที่ประชุมวุฒิสภาไม่เห็นด้วยกับการตั้งกรรมการชุดใหม่จะขอให้ประธานวุฒิสภาใช้อำนาจแต่งตั้งในรูปแบบเดิม
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น