วันศุกร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2554

รากเหง้า‘หน้าด้าน’จากสมัยโบราณ
ความศักดิ์สิทธิ์-ความอดทน-ความถูกต้อง
รากเหง้า‘หน้าด้าน’จากสมัยโบราณ
ความศักดิ์สิทธิ์-ความอดทน-ความถูกต้อง

         จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้
         ปีที่ 12 ฉบับที่ 3030 ประจำวัน ศุกร์ ที่ 8 เมษายน 2011
         โดย เรืองยศ จันทรคีรี
http://www.dailyworldtoday.com/columblank.php?colum_id=51309


ติดตามกระแสสังคมในขณะนี้มีชีพจรอย่างหนึ่งที่ก่อเป็นกระแสอันน่าสนใจ กระแสซึ่งกล่าวถึงนี้เป็นความเห็นที่วิพากษ์วิจารณ์ “อาการหน้าด้านในทางอำนาจกับสังคมไทย” เราจะบอกให้เป็นความจริงหรือพิจารณาในเชิงวาทกรรมก็ได้...

แต่ข้อวิพากษ์วิจารณ์ถึงสถานการณ์หน้าด้านเริ่มถูกแทรกเข้ามาแทน “สถานการณ์ตอแหล” มิใช่เป็นลักษณะแยกขาดจากกัน หากเป็นอนุกรมที่ใหญ่โตขึ้นจากแม่บทตอแหล เรื่องราวนี้เห็นทีต้องสนใจและขยายขอบข่ายความเข้าใจเพิ่มขึ้น?

บางคนเฝ้ามองพฤติกรรมหน้าด้านถือเป็นด้านหนึ่งของตอแหล อาจจัดให้กลายเป็นอนุกรมซึ่งยังต้องอาศัยการทำตอแหลเป็นส่วนประกอบสำคัญ ตรงนี้แล้วแต่จะพูดถึงอย่างไร?

ให้พฤติกรรมทั้งสองต่างเป็นเหรียญคนละหน้าก็ได้ ยังมีทรรศนะซึ่งสรุปถึงหน้าด้านในฐานะ “อนุกรม” เป็นอนุกรมที่ขึ้นต่อเนื่องมาจาก “แม่บท” แม่บทอันหมายถึงพฤติกรรมตอแหลนั่นเอง

หากแต่บทบาทของตัวลูกหรือแขนงอนุกรม คือหน้าด้านได้เป็นตัวลูกที่มีขนาดและบทบาทใหญ่โตขึ้นมากกว่าตัวแม่ ทั้งนี้ทั้งนั้น อนุกรมของหน้าด้านยังต้องอิงอาศัยอยู่กับตัวแม่อย่างเลี่ยงไม่พ้น

เพราะหากไม่มีความหน้าด้านที่เพียงพอก็เห็นจะตอแหลไม่ได้หรือยังเกิดประสิทธิภาพที่หย่อนยานในการก่อพฤติกรรมเช่นนั้น ตอแหลกันไม่เต็มที่!

เมื่ออธิบายเช่นนี้จึงทำให้เกิดการลงลึกหาคำตอบในฐานะ “norm” ของสังคมไทย อนุกรมตัวนี้มีพัฒนาการและรากเหง้าความเป็นมาอย่างไร?

ผู้สนใจศึกษาได้เล็งไปที่วิธีพิจารณาคดีเมื่อสมัยโบราณของสังคมไทย เราย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์เพื่อหาคำตอบสำหรับหัวข้อ Trial by ordeal หมายถึงการพิจารณาคดีหรือพิสูจน์ถึงความบริสุทธิ์ด้วยวิธีทรมาน ข้อนี้นับเป็นการตัดสินหรือพิสูจน์ว่าใครผิดและไม่ผิดโดยการทรมานผู้ถูกกล่าวหา หากผ่านการทรมานนั้นไปได้ ไม่บาดเจ็บล้มตาย กระทั่งบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยแล้วก็หายเร็ว ผลที่เกิดขึ้นย่อมเท่ากับผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งได้ผ่านกระบวนการพิสูจน์จะกลายเป็น “คนบริสุทธิ์”

ฉะนั้นจึงมีตัวอย่างสำหรับการดำน้ำให้อึดและทนได้นานที่สุด ระหว่างทั้งสองฝ่ายหากใครทนไม่ไหวโผล่พ้นน้ำขึ้นมาเสียก่อนอาจถูกประหารชีวิตหรือโดนคุมขังกระทำทรมานลงโทษในฐานะ “ผู้ผิด” บางวิธียังให้สองฝ่ายเดินลุยกองไฟ ผู้ใดลุยไปได้ตลอดรอดฝั่งก็ถูกสรุปให้บริสุทธิ์ ใครที่ทนไม่ไหว ทนพิษบาดแผลไม่ได้ จะถูกเปลี่ยนสถานะไปเป็นนักโทษทันที?

การพิจารณาคดีในสมัยโบราณเช่นนี้ย่อมมีความเป็นมาคล้ายกับการพิจารณาคดีโดยการต่อสู้ ถือเป็น Judicium Dei ทั้งหมด

สำหรับกระบวนการเช่นนี้มีรากเหง้ามาจากปรัชญา ซึ่งวางอยู่บนพื้นฐานที่เชื่อว่าพระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะเข้ามาช่วยแสดงปาฏิหาริย์ในนามของผู้บริสุทธิ์ เป็นวัฒนธรรมตามลัทธิพหุเทวนิยม 

กระทั่งอาจเป็นประเภทวัฒนธรรมของชนเผ่า ซึ่งมีความเชื่ออย่างเต็มที่ในลัทธิวิญญาณนิยม ด้านหนึ่งนั้นสำหรับการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ยังนับให้มีความสำคัญในระดับเดียวกับการตั้งสัตย์ปฏิญาณ พิธีดื่มน้ำสาบานอะไรในทำนองนั้น?

กระบวนการพิสูจน์ความบริสุทธิ์เช่นนี้จึงเกี่ยวข้องกับคัมภีร์พระธรรมศาสตร์อันเป็นกฎหมายแม่บทเมื่อสมัยโบราณของไทยสำหรับใช้พิจารณาคดีความ ซึ่งพระธรรมศาสตร์นั้นยังมีรากฐานมาจาก “คัมภีร์ธรรมสัตถัม” อันเป็นของชนชาติมอญ ที่ได้รับอิทธิพลมาจากคัมภีร์มนูธรรมศาสตร์จากอินเดียอีกทอดหนึ่ง

หากแต่มอญได้เลือกเอาเฉพาะหลักสำคัญที่เป็นกฎหมายแท้ๆ นำเข้ามาปรับใช้กับพระพุทธศาสนา กฎหมายโบราณของไทยยังมีลักษณะของพระธรรมศาสตร์ปนอยู่กับพระราชศาสตร์ที่ตราขึ้นโดยใช้พระธรรมศาสตร์เป็นหลัก แต่ถือว่าพระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในการตราราชศาสตร์ขึ้นมาเพื่อสร้างความเหมาะสมกับประเพณีปฏิบัติ สถานการณ์ที่แตกต่างตามยุคสมัย...

วิธีพิจารณาคดีแต่โบราณของไทยเราได้ใช้เป็นระบบ 2 มาตรฐานมาตั้งนานแล้ว ฝ่ายแรกจะเป็นพราหมณ์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนิติศาสตร์ เรียกเป็น “ลูกขุน” ฝ่ายที่สองจะเป็นพนักงานคนไทยเรียกว่า “ตระลาการ”

ระบบของความยุติธรรมมีรากเหง้าความเป็นมาเช่นนี้เอง เป็นปรัชญาแบบปนๆ และผสมกันอย่างไรชอบกล

ด้วยความเชื่อที่อำนาจศักดิ์สิทธิ์จะคุ้มครองผู้บริสุทธิ์  บุคคลซึ่งเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ย่อมมีคุณสมบัติของ “ความอดทนเป็นอย่างสูง” หากเราตัดมิติแห่งพระเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทิ้งไป เห็นจะไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่า ถ้าผู้ใดมีความอึดและอดทนมากกว่าจะกลายเป็นผู้บริสุทธิ์ได้ ข้อนี้ชี้ให้เห็นหลักการแห่งความอดทนกลายเป็นคุณสมบัติสำหรับผู้ชนะคดีที่ต้องมีอยู่?

พอนานๆเข้าในความอดทนนั้นเปลี่ยนสภาพเป็นมิติที่เทียบเท่ากับการมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ความคุ้มครองพ้นจากผองภัย 

เรื่องของการทำผิดทำถูกจึงขึ้นอยู่กับว่าผู้ใดจะอดทนได้มากกว่ากัน แล้วหลักการอดทนที่ทำให้ชนะได้ถึงคลี่คลายกลายเป็นแบบอย่างให้ก่อเกิดธรรมเนียมในประเภท “ด้านได้อายอด”

อาการหน้าด้านมีทั้งประวัติศาสตร์ความเป็นมา ปรัชญา และความศักดิ์สิทธิ์กับอำนาจ...อิทธิฤทธิ์ของมันย่อมรุนแรงนักสำหรับสังคมไทย เช่นนี้เอง “หน้าด้าน” สามารถกลายเป็นความชอบธรรมถูกต้องในสังคมเช่นนี้ หน้าด้านที่ลึกซึ้งทำให้ตอแหลได้อย่างแยบยล?
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น