วันศุกร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2554

จุดจบของขบวนการขวาจัด
จุดจบของขบวนการขวาจัด
http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=10345


         จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข
         ปีที่ 6 ฉบับที่ 306 ประจำวัน จันทร์ ที่ 11 เมษายน 2011
         โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ


จนถึงต้นเดือนเมษายนนี้ การชุมนุมของฝ่ายขบวนการเสื้อเหลือง ทั้งกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติที่หน้าทำเนียบรัฐบาลและกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ ต่างก็ย่างเข้าสู้เดือนที่ 3 แต่ไม่มีแนวโน้มเลยว่าการต่อสู้ของพวกเขาจะบรรลุข้อเรียกร้องและได้รับชัยชนะ และเป็นที่คาดการณ์ว่าการชุมนุมของฝ่ายขบวนการเสื้อเหลืองจะยุติลงด้วยความปราชัยภายในเทศกาลสงกรานต์นี้

ปัญหาสำคัญก็คือ การชุมนุมของพวกเขาครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนน้อยมาก ผู้เข้าร่วมชุมนุมในแต่ละวันมีเพียงหลักร้อย น้อยครั้งที่จะถึงหลักพัน และไม่เคยได้หลักหมื่น เหลือเพียงแฟนประจำจำนวนน้อยที่ยืนหยัดเข้าร่วมสม่ำเสมอ นอกจากนี้กระแสสังคมและแนวร่วมก็แสดงการตอบรับน้อย และยังมีความขัดแย้งภายในขบวนการอันสลับซับซ้อน

ดังนั้น ด้วยมวลชนที่เข้าร่วมอันน้อยนิดเช่นนี้ทำให้ขบวนการเสื้อเหลืองไม่สามารถที่จะเคลื่อนไหวอย่างมีพลังได้ การชุมนุมปิดถนนไปเรื่อยก็คงไม่ได้ประโยชน์ การล้มเลิกการชุมนุมกลับบ้านช่วงสงกรานต์น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด
ความตกต่ำและความพ่ายแพ้ครั้งนี้จะเป็นหลักหมายในจุดจบของฝ่ายพันธมิตรฯและฝ่ายขบวนการเสื้อเหลือง และเป็นการเก็บฉากโดยตัวของตัวเองหลังจากที่ได้ยุยงสร้างความแตกแยกและก่อการจลาจลในบ้านเมืองมา 5 ปี โดยไม่มีรัฐบาลชุดไหนทำอะไรได้ เพราะเป็นขบวนการมีเส้นที่มีผู้ยิ่งใหญ่ถือหางอยู่เบื้องหลัง
ความเสียหายทางการเมืองและสังคมที่เกิดจากการเคลื่อนไหวของฝ่ายพันธมิตรเสื้อเหลืองมีมากมายหลายเรื่อง ที่ใหญ่ที่สุดคือการสนับสนุนให้เกิดการทำลายระบอบประชาธิปไตย และนำบ้านเมืองถอยหลังสู่ระบอบอำมาตยาธิปไตย นอกจากนี้ก็คือการปลุกลัทธิคลั่งชาติ สร้างความขัดแย้งกับมิตรประเทศ จนก่อให้เกิดความยากลำบากอย่างยิ่งแก่รัฐบาลในการดำเนินนโยบายต่างประเทศต่อไป นอกจากนี้ยังมีการปลุกปั่นสังคม ใช้ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นเครื่องมือให้ร้ายทำลายผู้บริสุทธิ์

นี่ยังไม่นับรวมความเสียหายทางเศรษฐกิจโดยตรงเหลือคณานับที่เกิดจากการชุมนุมปิดทำเนียบรัฐบาล ปิดสนามบิน ทำลายบรรยากาศการท่องเที่ยว และทำลายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับเพื่อนบ้าน เป็นต้น

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ทั้งที่ฝ่ายพันธมิตรฯและขบวนการเสื้อเหลืองก่อการละเมิดกฎหมาย สร้างความเสียหายแก่สังคมอย่างมากมายเช่นนี้ เหตุใดจึงอยู่มาได้ถึง 5 ปี

คำตอบก็คือ ในระยะแรกฝ่ายพันธมิตรฯและขบวนการเสื้อเหลืองเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ดีของฝ่ายอำมาตยาธิปไตย ในการสร้างกระแสมวลชนและปลุกการเมืองบนท้องถนนมาสร้างความปั่นป่วน เพื่อปูทางไปสู่การรัฐประหารในเดือนกันยายน พ.ศ. 2549 และต่อมายังกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการเคลื่อนไหวทำลายรัฐบาลพลังประชาชนใน พ.ศ. 2551 เพื่อเปิดทางให้พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการเมืองอีกด้านหนึ่งของฝ่ายอำมาตย์ ได้จัดตั้งรัฐบาลใหม่แทน ในระยะนั้นฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์และขบวนการเสื้อเหลืองสมประโยชน์กัน จึงประสานและหนุนช่วยกัน

แต่ต่อมาเมื่อรัฐบาลประชาธิปัตย์บริหารประเทศมาได้ 2 ปี ฝ่ายนำของกลุ่มพันธมิตรฯเห็นว่าฝ่ายตนได้รับผลประโยชน์ไม่คุ้มค่า และยังเห็นว่ารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ตอบสนองนโยบายขวาจัดของฝ่ายตนเพียงพอ จึงได้ก่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองขึ้นใหม่ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยอาศัยเรื่องที่รัฐบาลกัมพูชาจับกุมตัวนายวีระ สมความคิด และพรรคพวก 7 คน เป็นข้ออ้างเพื่อกดดันให้รัฐบาลประชาธิปัตย์ดำเนินนโยบายขวาจัดตามข้อเรียกร้องของตน เมื่อฝ่ายรัฐบาลประชาธิปัตย์ไม่ตอบสนอง ฝ่ายขบวนการเสื้อเหลืองก็ตัดความสัมพันธ์และโจมตีรัฐบาลประชาธิปัตย์อย่างรุนแรงขึ้นทุกที

การโจมตีพรรคประชาธิปัตย์ในระยะแรกอยู่ในประเด็นว่า รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ไม่ยินยอมยกเลิกข้อตกลงร่วมไทย-กัมพูชา พ.ศ. 2543 และพยายามปฏิบัติกับกัมพูชาในฐานะมิตรประเทศ ขณะที่ฝ่ายพันธมิตรฯเห็นกัมพูชาเป็นอริราชศัตรูผู้ช่วงชิงดินแดนไทย ต่อมาก็โจมตีความล้มเหลวในการบริหารของพรรคประชาธิปัตย์ในทุกเรื่อง และท้ายที่สุด ประเด็นการเรียกร้องของฝ่ายพันธมิตรฯก็ก้าวไปสู่การปฏิเสธระบบการเมืองแบบเลือกตั้งทั้งหมด โดยเรียกร้องให้ประชาชนปฏิเสธการเลือกตั้งด้วยการโหวต “โน” แก้ปัญหาทางการเมืองโดยให้มีการเว้นวรรคประเทศไทยเป็นเวลา 3-5 ปี เพื่อจัดระเบียบใหม่ แล้วจึงค่อยให้มีการฟื้นฟูประชาธิปไตยอีกครั้ง ข้ออ้างของฝ่ายพันธมิตรฯคือ นักการเมืองทุกพรรคล้วนมีแต่คนเลว จึงต้องเว้นวรรคเอาคนดีเข้ามาปกครอง ขจัดอิทธิพลของนักการเมืองชั่วเรียบร้อยแล้วจึงให้มีการเริ่มต้นกันใหม่

ความเสียหายเฉพาะหน้าจากการเคลื่อนไหวของฝ่ายพันธมิตรฯมี 2 ประเด็นหลักคือ ประเด็นแรก ในเรื่องการต่างประเทศ ก่อนหน้านี้การดำเนินกิจการความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านเป็นเรื่องทางเทคนิคของกระทรวงการต่างประเทศ และในกรณีที่มีปัญหาพรมแดนเข้ามาเกี่ยวข้องจะเป็นบทบาทของฝ่ายกองทัพที่รับผิดชอบชายแดน และฝ่ายกรมแผนที่ทหาร ฝ่ายการเมืองมักจะเป็นฝ่ายรับทราบและดำเนินงานตามกรอบที่มีการเจรจากันไว้แล้ว แต่การดำเนินการฉันปรกติเช่นนั้นถูกฝ่ายพันธมิตรฯตีความว่าเป็นการขายชาติ ยกดินแดนให้กัมพูชา ฝ่ายพันธมิตรฯได้ผลิตผู้รู้ดีด้านพรมแดนกัมพูชาจำนวนมากมาติติงและวิจารณ์การดำเนินงานปรกติของกระทรวงการต่างประเทศ

ผลจากเรื่องนี้ที่เห็นเป็นรูปธรรมคือ การที่สมาชิกสภาผู้แทนและวุฒิสภาจำนวนมากไม่กล้าลงคะแนนเสียงในญัตติเรื่องข้อตกลงร่วมของคณะกรรมการพรมแดนไทย-กัมพูชา (เจบีซี) จนที่ประชุมสภาล่มในวันที่ 29 มีนาคม นอกจากนี้ยังรวมถึงความลังเลที่จะดำเนินการตามข้อตกลงเจบีซีต่อไป และไม่ยอมให้ผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซียเข้ามาประจำในพื้นที่พิพาท ทั้งที่เป็นไปตามมติของที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนด้วยซ้ำ

ความเสียหายประเด็นต่อมาคือเรื่องโหวตโน แม้ว่าในทางความเป็นจริงการใช้สิทธิที่จะไม่เลือกใครหรือโหวตโนเป็นสิทธิประชาธิปไตยแบบหนึ่ง แต่การรณรงค์โหวตโนของฝ่ายพันธมิตรฯเป็นความตั้งใจที่จะคว่ำกระดานไม่ให้มีการเลือกตั้งและก่อวิกฤตทางการเมือง เพื่อเปิดให้มีการรัฐประหารโดยกองทัพ หรือมีการใช้พระราชอำนาจแต่งตั้งรัฐบาลใหม่ที่จะบริหารโดยการเว้นวรรคนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการปฏิเสธประชาธิปไตยที่ถือหลักว่าเสียงประชาชนคือเสียงสวรรค์ และความจริงแล้วไม่เคยมีหลักประกันแต่อย่างใดว่า กลุ่มคนดีทั้งหลายที่เป็นนักการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จะมีคุณสมบัติอันดีวิเศษที่จะมาบริหารบ้านเมือง โดยปราศจากการตรวจสอบจากประชาชน

กรณีการผลักดันการเคลื่อนไหวเรื่องโหวตโนได้นำมาซึ่งความขัดแย้งภายในของขบวนการเสื้อเหลืองชัดเจนขึ้น เพราะฝ่ายพันธมิตรฯโดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นำเสนอโดยไม่มีการหารือกับพรรคการเมืองใหม่ นายสนธิได้กล่าวในวันที่ 23 มีนาคมว่า ให้พรรคการเมืองใหม่สนับสนุนการโหวตโน โดยการคว่ำบาตรไม่ส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้ง และย้ำว่าพรรคการเมืองใหม่จะต้องปฏิบัติตามพันธมิตรฯ ถ้าหากว่านายสมศักดิ์ โกศัยสุข หัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ และนายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการพรรค จะนำพรรคการเมืองใหม่ลงเลือกตั้งก็ให้ลาออกจากพันธมิตรฯ

การประกาศเช่นนี้สร้างความยากลำบากอย่างมากแก่อนาคตของพรรคการเมืองใหม่ เพราะนับตั้งแต่ก่อตั้งพรรคเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2552 เพิ่งจะได้มีการส่งผู้สมัครลงแข่งขันในการเลือกตั้ง ส.ก. และ ส.ข. เขตกรุงเทพมหานครเพียงครั้งเดียว และยังพ่ายแพ้ไม่ได้รับเลือกตั้งเลย ถ้ายังไม่ส่งผู้สมัครลงแข่งขันในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น สถานะความเป็นพรรคการเมืองในระบอบรัฐสภาคงมืดมน
ภายใต้แนวโน้มเช่นนี้ กลุ่มพันธมิตรฯ กลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติ และพรรคการเมืองใหม่ คงจะพังลงด้วยกัน แต่จะประมาทในพลังทางการเมืองของกลุ่มนี้ไม่ได้ ตราบเท่าที่ยังไม่ทราบท่าทีของฝ่ายอำมาตย์ที่อยู่เบื้องหลังขบวนการเสื้อเหลืองว่า จะกำหนดท่าทีต่อพรรคประชาธิปัตย์และการเลือกตั้งอย่างไร

*******************

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 306 
วันที่ 9-22 เมษายน พ.ศ. 2554 หน้า 9 คอลัมน์ ถนนประชาธิปไตย โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น