เปิดใจสลด 2 นปช.ชนะคดี
แฉถูกยิงแขนขาพิการ
ยังคุกคามซ้ำ-ต้องหนี
"ธิดา"เดินหน้าคดีปี 53
ตร.ชี้มีศพใหม่ใน 169
2 เสื้อแดงเหยื่อกระ สุนปืนปี"52 เปิดใจหลังชนะคดี ศาลแพ่งสั่งกองทัพชดใช้ เผยโดนยิงเข้าขาขวา กระดูกแตกพิการ ขณะไปขวางทหารที่สามเหลี่ยมดินแดง ระหว่างนอนอยู่ในร.พ.ต้อง
ผวาหนัก ถูกคุกคาม อีกคนชาวนาสุรินทร์ถูกยิงแขนพิการเหมือนกัน เรียกร้องรัฐบาลรีบดำเนินคดีคนสั่งการโดยเร็ว "ธิดา" ระบุเตรียมใช้เป็นแนวทางสู้คดี ชี้เหตุการณ์สลายม็อบปี"53
ชัดเจนกว่าทั้งภาพนิ่งและเคลื่อนไหว ระดมนักกฎหมายรวบรวมหลักฐานเอาผิด ขณะที่การประกันผู้ต้องหาเสื้อแดง ทนายนปช.ยื่นศาลอีก 3 รายที่มหาสารคาม ส่วนศาลขอนแก่นอนุญาต
ปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว 4 ราย
จากกรณีศาลแพ่งพิพากษาคดีที่นายไสว ทองอุ้ม และนายสนอง พานทอง 2 ผู้ชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ยื่นฟ้องสำนักงานนายกรัฐมนตรี, กองบัญชาการกองทัพไทย, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น, พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผบ.สส. และกองทัพบก กรณีถูกเจ้าหน้าที่ใช้อาวุธปืนยิงได้รับบาดเจ็บ ขณะสลายการ ชุมนุมในเหตุการณ์เดือนเม.ย.2552 ที่สามเหลี่ยมดินแดง โดยศาลตัดสินให้กองบัญชาการกองทัพไทย และกองทัพบก ร่วมกันชดใช้ให้นายไสว เป็นเงินจำนวน 1,200,000 บาท และนาย สนอง จำวน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี และจากกรณีดังกล่าว ทางกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สลายม็อบ 91 ศพ จะหยิบยกคดีนี้มาเป็นตัวอย่าง ยื่นฟ้องให้รัฐบาลและกองทัพรับผิดชอบ ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ความเรื่องนี้เมื่อวันที่ 22 ส.ค. ผู้สื่อข่าวเดินทางไปพบนายสนอง พานทอง อายุ 37 ปี ชาว จ.บุรีรัมย์ หนึ่งในผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บและศาลแพ่งสั่งให้กองทัพชดใช้เงิน ซึ่งนายสนองถูกยิงที่หัวเข่าขวา จนกระดูกแตกละเอียด แพทย์ต้องผ่าตัดกระดูกหัวเข่าทิ้ง ส่งผลให้ขาขวาพิการ ปัจจุบันนายสนองทำงานอยู่ที่อู่ซ่อมรถแห่งหนึ่งย่านดอนเมือง กรุงเทพฯ โดยนายสนองกล่าวถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาทั้งน้ำตาว่า เป็นคนรักประชาธิปไตย เดินทางไปร่วมชุมนุมกับเสื้อแดงทุกครั้งที่ออกมาเคลื่อนไหวขับไล่กลุ่มอำมาตย์ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นับตั้งแต่ปฏิวัติรัฐประหารเมื่อปีพ.ศ.2549
นายสนองกล่าวว่า จนกระทั่งมาถึงวันเกิดเหตุ เวลาประมาณ 03.00 น. วันที่ 13 เม.ย. 2552 ขณะนั้นชุมนุมอยู่กับกลุ่มเสื้อแดงหน้าปั๊มน้ำมันเชลล์ ถนนวิภาวดีรังสิต ช่วยป้องกันไม่ให้ทหารบุกเข้าสลายม็อบเสื้อแดงที่สามเหลี่ยมดินแดง หลังจากผ่านไปกว่าชั่วโมงก็ได้ยินเสียงปืนดังกึกก้องไปทั่วบริเวณ เห็นกลุ่มทหารจำนวน มากพร้อมอาวุธเดินรุกคืบเข้ามาใกล้ อยู่ห่างจากเสื้อแดง 20 เมตร จึงกระโดดไปหลบอยู่หลังต้นไม้หน้ากองดุริยางค์ทหารบก เห็นเด็กหนุ่มคนหนึ่งถอดเสื้อแดงออกไปนั่งอยู่กลางถนนเพื่อสกัดทหาร จึงวิ่งเข้าไปดึงตัวกลับเข้ามา เพราะกลัวถูกยิง ก่อนจะมีเสียงปืนดังรัว กลุ่มเสื้อแดงแตกกระเจิงหนีไปคนละทิศละทาง ส่วนตนเองถูกยิงที่ขาขวา พยายามหนีเอาชีวิตรอด ตัดสินใจกระโดดลงร่องน้ำหน้ากองดุริยางค์ทหารบก จนกระทั่งกลุ่มทหารบุกมาถึงตัว จึงตะโกนบอกไปว่าถูกยิงบาดเจ็บ ทหารช่วยนำขึ้นมาจากร่องน้ำและนำขึ้นรถ
นายสนองกล่าวต่อว่า ขณะนั่งอยู่บนรถทหารคิดว่ารอดตายแล้ว เดี๋ยวคงส่งร.พ.ทหารผ่านศึก ที่อยู่ใกล้กัน แต่ปรากฏว่าเมื่อรถไปจอดหน้าห้องฉุกเฉินกลับไม่เอาตัวลง พร้อมทั้งขับไล่เจ้าหน้าที่เปล ก่อนจะขับรถออกไปเลี้ยวซ้ายเข้าไปใน พล.1 รอ. ห่างร.พ.ไม่กี่ร้อยเมตร และลากตัวลงจากรถเอาไปขังไว้ในป้อมยาม หน้ากรม พร้อมกับเสื้อแดงอีก 3 คน และตลอดทั้งคืนเลือดไหลนองเต็มพื้น จนหมดแรงเพราะเสียเลือดมาก ก่อนจะมีทหารนำยาพาราเซตามอล 4 เม็ด มาให้กินแก้ปวด รุ่งเช้าก็ถูกนำตัวไปสอบสวน แล้วถึงจะนำตัวส่งไปผ่าตัดเอากระสุนออกที่ร.พ.ทหารผ่านศึก
ผู้ชุมนุมเสื้อแดงกล่าวอีกว่า ต้องผ่าตัดกระดูกเข่าถึง 4 ครั้งภายใน 2 อาทิตย์ ช่วงนอนพักรักษาตัวก็ถูกคุกคามตลอด มีกลุ่มชายฉกรรจ์หัวเกรียนเฝ้าอยู่ด้านล่าง อีกทั้งทางร.พ.ยังย้ายเตียงไปริมระเบียงด้านนอกอีก ทำให้กลัวถูกฆ่าปิดปาก เพราะจุดที่นอนนั้นฝั่งตรงข้ามมีแต่อาคารสูง กลัวถูกสไนเปอร์ยิง จึงอยู่ไม่ได้ ตัดสินใจประสานขอความช่วยเหลือจากนาย ชินวัตร หาบุญพาด ประธานชมรมแท็กซี่ ให้มาช่วยย้ายออกจากร.พ.โดยเร็ว หลังผ่าครั้งที่ 4 แล้วนายชินวัตรพากลุ่มรถแท็กซี่กว่า 50 คัน มาช่วยคุ้มกันออกจากร.พ. และพาไปรักษาตัวต่อที่ร.พ.เปาโล อีก 2 อาทิตย์ "หลังจากนั้นให้ไปอยู่ในเซฟเฮาส์เพื่อความปลอดภัย พออาการดีขึ้นก็ไปอยู่กับผู้ใหญ่คนหนึ่งที่อู่ซ่อมรถยนต์ ย่านสุทธิสาร อยู่ได้เพียง 2 วันก็ถูกคุกคามทั้งดักฟังโทรศัพท์ และอู่ถูกปาระเบิด จึงหลบหนีอีกครั้ง ก่อนตัดสินใจปรึกษาทนายนปช. พาไปแจ้งความดำเนินคดีกับรัฐบาลและกองทัพ จนกระทั่งศาลพิพากษาให้ผมชนะคดีในที่สุด ส่วนอาการบาดเจ็บผมต้องพิการขาเป๋ไปตลอดชีวิต เนื่องจากกระสุนทำลายกระดูกหัวเข่าจนแหลก ไม่สามารถใช้การได้อีกต่อไป ไม่สามารถไปสมัครงานที่ไหนได้เพราะพิการ ผมจึงต้องมาอาศัยขอทำงานเป็นช่างกับญาติผู้ใหญ่คนหนึ่ง ย่านดอนเมือง ส่วนการยื่นอุทธรณ์ค่าชดเชยใหม่หรือไม่นั้นขอปรึกษาทนายความก่อน" นายสนองกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า สำหรับนายไสว ทองอุ้ม ผู้ชุมนุมเสื้อแดงอีกคน ซึ่งถูกยิงเข้าที่ต้นแขนซ้าย กระดูกแขนหัก เส้นเลือดใหญ่ขาด ทำให้แขนซ้ายลีบพิการ ปัจจุบันทำนาอยู่ที่ จ.สุรินทร์ และไม่ประสงค์ขอเปิดเผยตัว แต่ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกล่าวว่า เดินทางไปร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดง ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็น นปก. จนมาเปลี่ยนเป็นนปช. ที่มีนายวีระ มุสิกพงศ์ เป็นประธาน เพื่อร่วมขับไล่ทหารยึดอำนาจ จากรัฐบาลประชาชนเมื่อปีพ.ศ.2549 ต่อมาวันที่ 8-12 เม.ย.2552 ไปร่วมชุมนุมขับไล่รัฐบาลที่ทำเนียบ จนกระทั่งเวลา 02.00 น. วันที่ 13 เม.ย. นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท แกนนำ นปช.ประกาศว่ามีทหารอยู่ที่สามเหลี่ยมดินแดง ต้องการชายฉกรรจ์จำนวนมากไปสกัดกลุ่มทหาร จึงพร้อมด้วยเพื่อนผู้ชุมนุมอาสานั่งรถกระบะไปยังจุดเกิดเหตุ
นายไสวกล่าวต่อว่า เมื่อไปถึงดินแดงแล้วปรากฏว่ายังไม่มีแกนนำ จึงพากันกระจายนอนพักผ่อนในพื้นที่ จนกระทั่งเวลา 04.00 น. แกนนำก็มาถึง ขณะนั้นเสียงปืนเริ่มดังเป็นชุดๆ ผู้ชุมนุมแตกกระเจิง มีเสียงหวีดร้องของผู้หญิงและเด็ก เมื่อมองไปบนท้องฟ้าเห็นแสงไฟจากกระสุนปืนจำนวนมาก กระสุนข้ามหัวไปมา พร้อมกับมีทหารชุดลายพรางจำนวนมาก เดินหน้ากระดานตรงเข้ามาหากลุ่มผู้ชุมนุมสามเหลี่ยม ดินแดง พร้อมกับสาดกระสุนใส่เป็นระยะ ตนวิ่งหลบหนีไปพร้อมกับเพื่อน ก่อนจะถูกยิงเข้าใส่ต้นแขนซ้ายทะลุ ล้มลงเลือดท่วมตัวก่อนจะสลบไป ช่วงนั้นก็ไม่รู้เหตุการณ์อะไรอีก มาฟื้นอีกครั้งก็อยู่ที่ร.พ.ราชวิถี เมื่อวันที่ 16 เม.ย. สลบไปนานถึง 3 วัน
"ทุกวันนี้แขนซ้ายไม่สามารถใช้งานได้อีก พิการไปตลอดชีวิต เนื่องจากกระดูกแขนแตก เส้นเลือดใหญ่ เส้นประสาทเสียหายขาดหลายจุด ไม่ทราบว่าเป็นกระสุนชนิดใด แพทย์บอกว่ารูออกด้านหลังใหญ่เท่าลูกมะนาว เป็นกระสุน ที่มีอานุภาพร้ายแรง เพราะตัดเส้นเลือดสำคัญหลายจุด แพทย์ต้องผ่าตัดตั้งแต่หน้าอกไปจนถึงข้อมือซ้าย เพื่อต่อเส้นเลือดใหม่ทั้งหมด ส่วนที่ศาลแพ่งพิพากษาให้ชดใช้เงินให้ผมนั้น ไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไรมากนัก สิ่งที่ผมกระทำไป หรือออกไปชุมนุมเรียกร้อง ก็เพื่อต้องการทวงคืนประชาธิปไตยที่ถูกปล้นไปจากประชาชนเท่านั้น เรื่องเงินทองไม่เคยอยู่ในหัว ถึงแม้วันนั้นจะตายก็ไม่เสียดายชีวิต และขอเรียกร้องให้รัฐบาลใหม่รีบนำตัวผู้ก่อเหตุ และคนสั่งการฆ่าประชาชนในสมัยรัฐบาลที่แล้ว มาเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายโดยเร็ว" นายไสวกล่าว
สำหรับความคืบหน้าประกันผู้ต้องหาเสื้อแดงนั้น นายคารม พลพรกลาง ทนายความนปช. เปิดเผยว่า ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว 3 แนวร่วมนปช. จำเลยคดีเผาศาลากลางจังหวัดมหาสารคาม และร่วมกันตั้งแต่ 10 คนปลุกปั่นยุยงก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง ที่ถูกยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดมหาสารคาม ใช้หลักทรัพย์เป็นตำแหน่งส.ส.มหาสารคาม 2 คน และส.ส. ร้อยเอ็ด 1 คนของพรรคเพื่อไทย ศาลพิจารณาแล้วเห็นควรส่งเรื่องให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาเพื่อมีคำสั่งต่อไป ส่วนที่เหลืออีก 6 คนเอกสารยังไม่พร้อม เนื่องจากส.ส.ต้องเดินทางร่วมประชุมแถลงนโยบายต่อรัฐสภา
นายคารมกล่าวว่า ส่วนที่ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว 4 แนวร่วมนปช. จำเลยคดีเผาศาลากลางจังหวัด และร่วมกันตั้งแต่ 10 คนปลุกปั่นยุยงก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง หลังจากใช้ตำแหน่ง ส.ส.ขอนแก่น ยื่นประกันตัว ศาลตีราคาประกันโดยให้จำเลยเพิ่มเงินสดอีกรายละ 500,000 บาท นอกเหนือจากการใช้ตำแหน่งส.ส.ยื่นประกันตัว แต่ทั้งนี้ศาลไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใดๆ ในการอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวแต่อย่างใด
ส่วนความคืบหน้าขุดพิสูจน์ศพลึกลับที่ จ.ระยอง นั้น พล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัต รอง ผบ.ตร. พร้อมด้วย พล.ต.ท.จรัมพร สุระมณี ผบช.สพฐ. พล.ต.ท.ไถง ปราศจากศัตรู ผบช. ภาค 2 และพล.ต.ต.ปรีชา เจริญสหายานนท์ ผบก.ระยอง ร่วมประชุมกันที่กองบังคับการตำรวจภูธร จ.ระยอง โดยพล.ต.อ.ปานศิริเปิดเผยว่า จากการประสานไปยัง บช.ภาค 8 และตรวจสอบจำนวนศพที่ส่งมาจาก จ.ชุมพร เบื้องต้นทราบว่าเป็นศพเพศชาย ทราบชื่อ 18 ศพ และไม่ทราบชื่อแยกเป็นผู้ชาย 144 ศพ ผู้หญิง 3 ศพ ในช่วงปี
อย่างไรก็ตาม หากผู้ที่มีญาติสูญหายไปกับการชุมนุม และมีความกังวล ทางเจ้าหน้าที่ก็มีหลักฐานภาพถ่ายพิสูจน์เอกลักษณ์รายบุคคลชัดเจน อาจไม่ต้องถึงขั้นขุดขึ้นมาพิสูจน์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการประชุมเจ้าหน้าที่เดินทางไปตรวจหลุมศพภายในวัดคลองตากวา หมู่ 1 ต.ชากพง อ.แกลง จำนวน 72 หลุม และยังคงล้อมเชือกกั้นไว้เพื่อกันบุคคลภายนอกเข้าไป จนกว่าจะตรวจพิสูจน์หลักฐานภาพถ่ายและสภาพศพ ที่ถูกบันทึกสาเหตุการตายในเบื้องต้นอย่างละเอียด
พล.ต.อ.ปานศิริ กล่าวว่า คณะทำงานตรวจสอบที่มาที่ไปของศพจากต้นทาง จ.ชุมพร โดยให้ตรวจสอบเอกสารหลักฐานว่าขนย้ายถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ รวมตรวจสอบเอกสารหลักฐาน นปช. 51 ราย ที่ระบุว่าหายไป อย่างไรก็ตาม ขณะนี้จะยังไม่ขุด 169 ศพขึ้นมาทั้งหมด เว้นแต่หากมีกรณีไหนที่สงสัยก็ตรวจสอบเป็นกรณีไป
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า พล.ต.ท.สัณฐาน ชยนนท์ ผบช.กมค. ทำรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นลายลักษณ์อักษรไปถึง พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร. โดยตั้งข้อสังเกตถึงพิรุธทางคดีเอาไว้ โดยเฉพาะระบุว่าบางศพยังมีลักษณะสดใหม่เห็นร่างกายภายในผ้าห่อคลุมค่อนข้างสมบูรณ์ คล้ายเพิ่งเสียชีวิตมาไม่นาน ต่างจากข้อมูลที่ว่าศพนิรนามทั้งหมดเสียชีวิตมาเกิน 5 ปีแล้ว เนื่องจากหากเป็นเช่นนั้นจริง ศพจะต้องแห้งมีน้ำหนักเบา ไม่จำเป็นต้องใช้คนช่วยกันหาม อีกทั้งบางโลงต้องใช้คนยกมากถึง 4 คน
วันเดียวกัน ที่พรรคเพื่อไทย นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย แถลงกรณีที่เดินทางไปเปิดหมู่บ้านเสื้อแดง ที่บ้านนามั่ง ต.นายวด อ.สร้างคอม จ.อุดรธานี และระบุกับประชาชนว่าจะมอบเงินกองทุนให้หมู่บ้านเสื้อแดง หมู่บ้านละ 1,000,000 บาท รวมถึงกองทุนเอสเอ็มอีให้หมู่บ้านเสื้อแดงอีกหมู่บ้านละ 500,000 บาท โดยหมู่บ้านไหนเปิดหมู่บ้านเสื้อแดงก่อนจะได้เงินก่อนว่า ขอยืนยันว่าเดินทางไปเปิดหมู่บ้านเสื้อแดงจริง แต่ไม่ได้พูดว่าหมู่บ้านใดเปิดก่อนได้เงินก่อน และไม่ได้เลือกทำเฉพาะหมู่บ้านเสื้อแดง แต่จะทำทั้ง 80,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ การที่พูดนโยบายดังกล่าวออกไปเพื่อให้แกนนำและประชาชนในหมู่บ้านได้ศึกษาวิธีการ เพราะมีปรัชญาว่าเมื่อใดที่ประเทศโอนเงินเข้าสู่คนยากคนจน ก็จะทำให้คนจนมีโอกาสในชีวิต มีฐานะที่ดีขึ้น ประเทศก็จะโตขึ้น
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพรมมา ภูมิพันธ์ ผู้ประสานงานองค์การแรงงานเพื่อประชาธิปไตย (อรป.) นำตัวแทน อรป.ยื่นหนังสือผ่านนายพันธุ์ศักดิ์ เจริญ ผอ.ศูนย์บริการประชาชน สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อร้องขอให้ปล่อยตัวนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และผู้ถูกกล่าวหาคนอื่นๆ ที่ถูกจับกุมจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ให้ได้รับสิทธิการประกันตัว เพื่อต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากผ่านมานานกว่า 80 วัน แต่ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว หรือให้สิทธิ์ผู้ถูกกล่าวหา
ด้านนายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ประธานคณะกรรมการเพื่อติดตามสถานการณ์บ้านเมือง วุฒิสภา กล่าวถึงการเชิญนายอภิสิทธิ์ เข้าชี้แจงกรณีสั่งสลายการชุมนุมว่า ได้รับการปฏิเสธผ่านเลขานุการของนายอภิสิทธิ์ โดยให้เหตุผลว่า มีภารกิจติดประชุมในวันแถลงนโยบายของรัฐบาล จึงขอเลื่อนกำหนดให้ส่งหนังสือเชิญเป็นวันที่ 29 ส.ค. ในครั้งนี้เป็นการกำหนดเองของนายอภิสิทธิ์ จึงต้องรอดูผลการนัดครั้งต่อไป หากยังได้รับการปฏิเสธอีกจนถึงการปิดประชุมในวันที่ 1 ก.ย. คงต้องสรุปบันทึกการประชุมครั้งแรกว่า ไม่ได้รับความร่วมมือจากอดีตรัฐบาล คาดว่า ในการประชุมของคณะกรรมการ วันที่ 25 ส.ค. ที่เชิญนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ มาร่วมชี้แจงข้อเท็จจริง ก็อาจจะได้รับการปฏิเสธด้วยเช่นกัน
ส่วนนางธิดา ถาวรเศรษฐ์ ประธานนปช. กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์สลายม็อบว่า อยู่ระหว่างหารือกับทีมทนายความนปช. และกลุ่มของนางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาน้องเกด เกี่ยวกับขั้นตอนต่างๆ ในการยื่นฟ้องศาลแพ่ง เชื่อว่าเหตุการณ์ปี 2553 มีหลักฐานชัดเจนมากกว่าปี 2552 มาก ทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว การให้ความช่วยเหลือนั้น จะต้องใช้นักกฎหมายจำนวนมาก เพื่อรวบรวมข้อมูลหลักฐานจากผู้บาดเจ็บ ดังนั้น จะดึงบุคคลที่มีความรู้ด้านกฎหมายจากส่วนต่างๆ รวมทั้งกลุ่มแกนนำ และส.ส.พรรคเพื่อไทย มาร่วมเป็นคณะกรรมการกองทุนยุติธรรมเสื้อแดงด้วย เพื่อช่วยกันทำคดีให้ลุล่วงโดยเร็ว
นางธิดา กล่าวว่า จากการรวบรวมข้อมูลผู้ได้รับบาดเจ็บในปี 2553 ทราบว่ามีอยู่ประมาณ 1,000 คดี จึงต้องขอโทษด้วยที่การให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้บาดเจ็บล่าช้า เนื่องจากที่ผ่านมาบรรดาแกนนำนปช.ต้องติดคุก และเชื่อว่าหลังจากนี้จะรวดเร็วมากขึ้น ขอให้ใจเย็นๆ สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าที่จะต้องเคลื่อนไหวให้รัฐบาลใหม่รีบดำเนินการโดยเร็ว คือนำตัวผู้สั่งการฆ่าประชาชนในปี 2552 และ 2553 มาเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายโดยเร็ว ส่วนกิจกรรมในวันที่ 19 ก.ย.นี้ เนื่องในวันครบ 5 ปี ปฏิวัติรัฐประหาร จะขอหารือกับแกนนำนปช.ก่อนว่าจะจัดรูปแบบงานออกมาอย่างไร รวมทั้งสถานที่จัดงาน ในเบื้องต้นรูปแบบน่าจะเป็นการรำลึกเหตุการณ์รัฐประหาร และรำลึกวีรชนที่เสียชีวิตในทุกๆ เหตุการณ์ ทั้งที่แยกคอกวัวและราชประสงค์ การจัดงานครั้งนี้จะจัดแบบให้กระทบกระเทือนต่อประชาชนน้อยที่สุด
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น