วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554


กองทัพต้องเปลี่ยนบทบาท?

         จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข
         ปีที่ 7 ฉบับที่ 325 ประจำวัน จันทร์ ที่ 29 สิงหาคม 2011
http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=11899
         การแถลงนโยบายของพรรคเพื่อไทยในฐานะรัฐบาลเป็นไปตามธรรมเนียมการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเน้นนโยบายต่างๆให้สอดคล้องกับแนวทางของพรรค แต่มีข้อสังเกตเกี่ยวกับนโยบายด้านความมั่นคง คำแถลงนโยบายถือว่าขาดสาระที่จะจัดการปัญหาหลักของกองทัพที่ดำรงอยู่และควรจะเป็นเป้าหมายหลักที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยน่าจะบริหารจัดการระบบความมั่นคงเสียใหม่ในปัจจุบัน ต้องยอมรับว่าปัญหาหลักด้านความมั่นคงของกองทัพในปัจจุบันที่จะไม่พูดถึงไม่ได้คือ ความสับสนในบทบาทหน้าที่ของทหารที่เข้ามายุ่งเกี่ยวและแทรกแซงในมิติทางการเมืองมากจนเกินไป ซึ่งในอดีตกองทัพเคยมีบทบาทโดยตรงทางการเมืองก็จริง แต่หลังจากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปในช่วงการเคลื่อนไหวของประชาชน ตลอดจนการมีประชาธิปไตยในระบบการเลือกตั้ง ทำให้กองทัพต้องปรับบทบาทของตนเอง จากเดิมทำหน้าที่รักษาความมั่นคงภายนอกมามีบทบาทในการป้องกันประเทศด้านภายใน และบทบาทด้านการพัฒนา พร้อมกันนั้นทหารก็ต้องกลับเข้าสู่กรม กอง


ช่วงสำคัญที่กองทัพถอยเข้าสู่กรม กอง เป็นการหาทางออกร่วมกันของผู้นำทหารที่มองสังคมในภาพกว้างปลายยุคสงครามเย็นที่คิดว่ากองทัพไม่จำเป็นต้องแทรกแซงทางการเมืองโดยตรง แต่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ในฐานะได้รับโอกาสให้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาประเทศร่วมอยู่ด้วยนั้น ถือเป็นการหาทางออกที่ดีให้กองทัพมีที่ยืนในสังคม และมีบทบาทมากกว่ากองทัพของนานาชาติ
ในวันนี้กองทัพกลับเข้ามามีบทบาททางการเมือง แต่เป็นการกลับเข้ามาตามกลไกทางอุดมการณ์ที่กองทัพถูกสั่งสอนและระดมให้ตีความคำว่า “ชาติ” คำว่า “รัฐ” และคำว่า “สถาบันพระมหากษัตริย์” เป็นภาระหลักที่กองทัพต้องเข้าพิทักษ์ปกป้องอย่างเถรตรง ไม่แยกแยะถูกผิด รวมถึงมองข้ามมิติของประชาธิปไตยแบบตัวแทน และไม่ตีความความมั่นคงในเชิงมนุษย์


เนื่องจากความมั่นคงเชิงมนุษย์นั้น เป็นนิยามที่มิได้ยึดถือเอาการรักษาพื้นที่หรือดินแดนเป็นเป้าหมายหรือจุดเน้นหลัก หากแต่มองว่าเป้าหมายสำคัญคือการทำให้อัตบุคคล ชุมชน หรือสังคมมีความเข้มแข็งและอยู่รอดปลอดภัย ในระยะยาวประเทศชาติจะมั่นคงอย่างถาวร และความหมายของความมั่นคงเชิงมนุษย์จึงเน้นเรื่องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง กำหนดชีวิตของตนเอง รวมถึงเน้นเรื่องความเท่าเทียม สิทธิมนุษยชน การไม่ถูกอำนาจนอกระบบต่างๆกดขี่ข่มเหง เป็นต้น
ดังนั้น หากกองทัพเคร่งครัดบนการตีความนิยามเรื่องการตีความเชิงมนุษย์แล้ว กองทัพจะตีความหรือมองภาพการเคลื่อนไหวของประชาชนเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 ที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่ต้องสนับสนุน เข้าอกเข้าใจมากกว่าจะมองเป็นภัยคุกคามและต้องทำลายล้าง เป็นต้น


ส่วนมิติการรักษาสถาบัน กองทัพก็ถือเอาเองว่าตัวเองเป็นผู้พิทักษ์หรือปกป้องสถาบันหลักของชาติเหนือกว่าคนกลุ่มอื่น ซึ่งไม่ได้มีข้อพิสูจน์อะไรว่าองค์กรอื่นหรือคนกลุ่มอื่นไม่ได้รักหรือเทิดทูนสถาบันเหมือนกลุ่มทหาร และก็ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของทหารโดยเฉพาะที่จะไปทำลายล้างกลุ่มอื่น โดยข้อหาเพียงว่ากลุ่มอื่นถูกตีไข่ใส่สีว่าไม่รักสถาบันหรือถูกกล่าวหาว่าจะทำลายสถาบัน เพียงแค่นี้กองทัพก็เลือดขึ้นหน้า และลั่นกระสุนสังหารประชาชนที่ถูกกล่าวหาแล้ว


รวมความแล้วผู้เขียนอธิบายแนวคิดเรื่องนี้ยืดยาวเพื่อที่จะบอกว่า รัฐบาลโดยพรรคเพื่อไทยไม่ได้เน้นการจัดการบริหารเรื่องสำคัญของกองทัพในมิติประชาธิปไตย ผู้เขียนเชื่อว่าทหารต้องมีบทบาทหลักในการป้องกันและรักษารัฐธรรมนูญ ไม่แทรกแซงทางการเมือง รวมถึงไม่มีหน้าที่ใช้กำลังรุนแรงกับประชาชน
ดังนั้น ทางที่ถูกแล้วรัฐบาลจะต้องไปจัดการปรับปรุงบทบาทของกองทัพไม่ให้มีการแทรกแซงทางการเมือง โดยการจัดการเรื่องมิติเชิงอุดมการณ์ของทหารไทยจากที่เคร่งครัดและตีความทั้งความมั่นคง การรักษาหน้าที่ รักษาประเทศ หรือสถาบันแบบเดิมดังที่กล่าวข้างต้นแล้ว ไปสู่การสำนึกในนิยามความมั่นคงเชิงมนุษย์ การพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ การยอมรับเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในทางการเมือง


สิ่งที่จะทำให้อุดมการณ์ของทหารเป็นไปตามแนวทางดังกล่าว จึงต้องเน้นไปที่ระบบคิด จิตสำนึกของทหารอันจะเกิดขึ้นจากการศึกษาในระบบโรงเรียนด้านหนึ่ง กับเรื่องของการกล่อมเกลาทางสังคมในวงการทหารในชีวิตตั้งแต่เป็นนักเรียนจนถึงในหน่วยทหาร


ผู้เขียนไม่สามารถจะอธิบายรูปธรรมได้ว่าควรทำเช่นใดบ้าง แต่วิธีการสร้างจิตสำนึกและเปลี่ยนวิธีคิดหรืออุดมการณ์ให้กับองค์กรนั้น สามารถหาองค์ความรู้ได้จากแหล่งทั่วๆไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีของกองทัพในต่างประเทศที่น่าสนใจสามารถนำมาเป็นข้อเปรียบเทียบได้


ที่สังคมไทยพบเห็นเป็นประเด็นสำคัญในช่วงการปราบปราบประชาชนเดือนพฤษภาคมนั้น ทหารทั่วไปมักถูกสอนให้รับคำสั่งแล้วกระทำตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด อันเนื่องมาจากทหารไทยถูกสอนทั้งโดยแง่กฎหมายและวัฒนธรรมองค์กรว่าคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเป็นเหมือนพรมาจากสวรรค์ ที่ต้องปฏิบัติตามอย่างไม่ลืมหูลืมตา ท้ายที่สุดเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ทหารถูกสั่งให้ยิงประชาชน โดยผู้ยิงไม่มีโอกาสหรือไม่มีสิทธิทบทวนเลยว่าเป้าหมายที่ถูกกระสุนของตนนั้น หรือสิ่งที่ตนทำลงไปนั้นมีความชอบธรรมตามกฎหมาย หรือถูกต้องมากน้อยแค่ไหน เพียงใด


ในบางประเทศจึงมีระบบอนุญาตหรือเปิดช่องไว้ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาสามารถทบทวนคำสั่งของผู้สั่งว่าชอบธรรมหรือไม่ หรือถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ หากไม่ชอบธรรมหรือถูกกฎหมาย ก็สามารถที่จะไม่ปฏิบัติตามด้วยวิธีต่างๆได้ นอกจากนั้นรัฐสภายังควรมีการปรับปรุงเพิ่มอำนาจหน้าที่และมีองค์กรโดยเฉพาะ เช่น ผู้ตรวจการทางทหารของรัฐสภา เพื่อให้ตัวแทนของประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมหลักในการตรวจสอบ ดูแล การปฏิบัติของทหารในหลายมิติอีกด้วย


หากพรรคเพื่อไทยทำแค่เพียงเท่าที่แถลงการณ์ไว้ในสภา ก็เชื่อว่าจะเป็นรัฐบาลที่ไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆในกองทัพได้เลย ยกเว้นจะหันกลับมาดูมิติที่สำคัญดังกล่าวข้างต้น ซึ่งยังมีเนื้อหาอีกเยอะ เพียงแต่วันนี้มีข้อจำกัดจึงเสนอได้เพียงเท่านี้ โปรดติดตามในฉบับต่อไป




ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7 ฉบับ 325 
วันที่ 27 สิงหาคม – 2 กันยายน 2554  พ.ศ. 2554 หน้า 10 
คอลัมน์ ทหารใหม่วันนี้ โดย ชายชาติ  ชื่นประชา
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น