วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554

‘จับถูก’หรือ‘จับผิด’ดี!


‘จับถูก’หรือ‘จับผิด’ดี!

จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข
 ปีที่ 7 ฉบับที่ 325 ประจำวัน จันทร์ ที่ 29 สิงหาคม 2011
http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=11878



          ทรรศนะชอบ “จับผิด” อยู่คู่กับสังคมไทยมาตั้งแต่เมื่อไรไม่รู้ พอใครทำอะไรผิดเราชอบนำมาเล่าต่ออย่างเมามันจนคนทำผิดแทบจะไม่อยากกลับตัวเป็นคนดี หรือไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไป เรื่องราวประเภทใครทำผิดจะอยู่คู่หน้า 1 


           หนังสือพิมพ์รายวันมาตลอด ตรงกันข้ามกับเรื่องดีๆ เรื่องคนทำดี กลับไม่มีคนสนใจ “ข่าวร้ายลงฟรี ข่าวดีต้องจ้างลง” จึงเป็นคำพูดที่คนไทยคุ้นเคยกันดี
จริงอยู่การลงข่าวแบบนี้เป็นอุทาหรณ์แก่ผู้คนในสังคม เป็นการเตือนหรือป้องปรามให้คนที่คิดจะทำอะไรไม่ดีเกิดความละอายหรือเกรงกลัว แล้วละเลิกความคิดที่จะทำไม่ดีนั้นเสีย


แต่อะไรที่สุดโต่ง ไม่สมดุล ก็สร้างปัญหาได้เช่นกัน


           จึงไม่แปลกสำหรับสังคมที่เต็มไปด้วยความหวาดระแวงดังเช่นทุกวันนี้ “การจับผิด” จึงเต็มไปหมด ยิ่งบุคคลผู้นั้นได้ชื่อว่าเป็น “บุคคลสาธารณะ” พวกเขาจะได้รับเกียรติจากสังคมให้มี “การคอยจับผิด” อย่างใกล้ชิดเลยทีเดียว


            เรามักใช้คำหรูๆแทนการคอยจับผิดว่า “การตรวจสอบ” แต่เป็นการตรวจสอบที่ดูไม่สมบูรณ์เลย เพราะเรามักมองเฉพาะความผิดพลาดของคนที่เราคอยจับตาอยู่เท่านั้น ส่วนสิ่งดีๆที่เขาทำเรากลับไม่นำพา


            โดยทรรศนะเช่นนี้ถูกนำไปใช้กับเด็กๆด้วย ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก เพราะเด็กจะพัฒนาตนเองได้ดีหากเขาได้มองเห็นข้อดี มองเห็นจุดแข็งของตัวเอง มากกว่าการถูกตอกย้ำความบกพร่อง


           “การจับผิด” นอกจากจะไม่ช่วยให้เกิดการพัฒนาคุณภาพของเด็กแล้ว เผลอๆอาจกลายเป็นโทษได้ด้วย เพราะมีเด็กไม่น้อยที่คิดว่า “ในเมื่อชีวิตไม่มีอะไรดีสักอย่างก็ขอชั่วให้มันสุดๆไปเลยดีกว่า”


           สองสามวันที่ผ่านมาผมเจอเหตุการณ์ “ครูที่เฝ้าแต่คอยจับผิดเด็ก” อยู่ตลอดเวลาเข้าอีกแล้ว


           ผมไปช่วยพรรคพวกที่ขอนแก่นอบรมครูเรื่อง “การใช้ดนตรี การเล่านิทาน และศิลปะเพื่อการพัฒนาความสามารถของนักเรียน” ระหว่างที่เพื่อนผมกำลังสอนว่าดนตรีสามารถทำให้เกิดพัฒนาการที่ดีกับเด็กได้อย่างไรก็มีครูถามขึ้นมาอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยว่า “เด็ก (อนุบาล) ใส่รองเท้ากลับข้างจะแก้ไขอย่างไร”


          เพื่อนผมซึ่งเป็นศัลยแพทย์ด้านหู คอ จมูก (เป็นนักดนตรีด้วย) ถึงกับเปรยออกมาดังๆว่า แล้วคำถามนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องดนตรีที่เขากำลังสอนอยู่อย่างไร


          ผมจึงต้องช่วยเขาแก้ปัญหา โดยบอกกับครูคนนั้นว่าผมไม่ขอตอบคำถามนี้ และไม่อยากให้ครูเฝ้าแต่คอยจ้องจับความผิดปรกติของเด็กแล้วหาทางแก้ไขด้วยตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพราะหลายเรื่องเป็นแค่พัฒนาการที่อาจจะล่าช้ากว่าคนอื่นบ้างของเด็กเท่านั้น ไม่ใช่ปัญหาใหญ่โตที่ครูต้องเป็นกังวล เมื่อเด็กโตขึ้น มีพัฒนาการดีขึ้น ปัญหานั้นจะหายไปเอง หรือบางปัญหาก็ซับซ้อนจนแม้จะอธิบายให้ฟังครูก็ไม่สามารถแก้ไขด้วยตัวเอง ต้องอาศัยจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา


           ผมอยากให้ครูเป็นครูที่คอยมองหาโอกาสในการพัฒนาเด็กมากกว่าทำตัวเป็นจิตแพทย์เฝ้าคอยจับตามองว่าเด็กมีความผิดปรกติอะไรบ้าง แล้วหาวิธีแก้ไข เพราะการทำเช่นนี้จะทำให้ครูมองไม่เห็นจุดแข็งของเด็ก จะทำให้มองเห็นแต่ความบกพร่องของเด็ก แล้วครูจะพัฒนาเด็กได้อย่างไร


          ส่วนเรื่องความผิดปรกติของเด็กนั้นปล่อยให้เป็นหน้าที่ของจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา ครูทำหน้าที่ของครูให้ดีที่สุดดีกว่า


            ปัญหาทำนองนี้ผมเจอบ่อยมาก จนบางครั้งเวลาถูกเชิญไปพูดกับครูตามโรงเรียนต่างๆผมจะออกตัวเลยว่าไม่ขอตอบคำถามเรื่องความผิดปรกติของเด็กว่าแต่ละปัญหามีวิธีแก้ไขอย่างไร แต่ถ้าถามผมว่าจะมีกระบวนการในการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กอย่างไรบ้างผมยินดี

คำถามที่เจอส่วนใหญ่จะเป็นทำนองว่า
         เด็กซนจะแก้ไขอย่างไร (ผมเคยตอบว่าแก้ที่วิธีคิดของครู เพราะขึ้นชื่อว่าเด็กแล้วมันต้องซน ถ้าไม่ซนนั่นอาจผิดปรกติได้)
         เด็กเอาเสื้อออกนอกกระโปรง ออกนอกกางเกงเวลาออกนอกบริเวณโรงเรียนจะแก้ไขอย่างไร
         เด็กชอบอ่านการ์ตูนจะทำอย่างไร
         เด็กทำ “แพลงกิ้ง” จะทำอย่างไร
         เด็กใส่สายเดี่ยวจะแก้อย่างไร ฯลฯ


         ทั้งหมดคือธรรมชาติของเด็ก มันไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นธรรมชาติที่อาจจะตรงกันข้ามกับความคาดหวังของครู


          สิ่งที่ไม่เป็นไปตามที่ครูหวังจึงกลายเป็นความผิดปรกติในสายตาของครู และครูจะคอยไล่ตาม “จับผิด” เด็กอยู่ตลอดเวลาตราบใดที่เด็กยังไม่เปลี่ยนพฤติกรรม หรือจนกว่าครูจะเลิก “จับผิด” พฤติกรรมเหล่านี้


           แล้วครูจะเอาเวลา เอาสมาธิที่ไหนไปคอย “จับถูก” เพื่อหาจุดแข็ง จุดเด่นของเด็ก


          คาร์ล โรเจอร์ส นักจิตวิทยาแนวมนุษยนิยมคนหนึ่ง กล่าวไว้ว่า เด็กจะมีพัฒนาการของตัวตนและบุคลิกภาพที่ดีหากเขาได้มองเห็นจุดแข็งของตนเอง ซึ่งยืนยันแนวคิดที่ว่าคนเรานั้นพัฒนาได้จากจุดแข็ง


          ถ้าเพียงแต่ครูของเราจะเปลี่ยนวิธีคิดจากคอย “จับผิด” มาเป็นคอย “จับถูก” เด็กไทยของเราจะดีและเก่งขึ้นอีกเยอะครับ



ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7 ฉบับ 325 
วันที่ 27 สิงหาคม – 2 กันยายน 2554  พ.ศ. 2554 
หน้า 39 คอลัมน์ สายใยครอบครัว โดย นพ.อุดม เพชรสังหาร
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น