“จะต้องจัดการปกครองโดยมีสภา จะได้ช่วยกันปรึกษาหารือหลายๆความคิดดีกว่าความคิดเดียว ส่วนผู้เป็นประมุขของประเทศนั้น คณะราษฎรไม่ประสงค์ทำการแย่งชิงราชสมบัติ ฉะนั้นจึงได้อัญเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร”
“ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1” ลงวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ***********************
เมื่อปี 2525 ในโอกาสครบรอบ 50 ปี “การอภิวัฒน์สยาม 2475” สถานวิทยุบีบีซีภาคภาษาไทย (ยุติการกระจายเสียงจากสถานีวิทยุบีบีซี กรุงลอนดอน ในวันศุกร์ที่ 13 มกราคม 2549) จัดรายการสัมภาษณ์นายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ฝ่ายพลเรือน (หรือ “คณะราษฎร”) รัฐบุรุษอาวุโส และผู้ประศาสน์การ (อธิการบดี) คนแรกของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
การสัมภาษณ์มีขึ้น ณ ที่พักในอองโตนี ชานกรุงปารีส โดย ดร.จริย์วัฒน์ สันตะบุตร พนักงานนอกเวลาของบีบีซี โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญที่ขบวนการประชาชนที่พยายามรับภารกิจสำคัญสืบทอดจากเจตนารมณ์ในเบื้องต้นของการอภิวัฒน์ นายปรีดีได้มองย้อนหลังความล้มเหลวในการพยายามสถาปนาระบอบประชาธิปไตย รวมถึงการให้อรรถาธิบายถึงความเป็น “ประชาธิปไตยสมบูรณ์” ของรัฐธรรมนูญ ฉบับ 9 พฤษภาคม 2489
ก่อนอื่นขอนำประกาศ “คณะกรรมการราษฎร (คณะรัฐมนตรี)” ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2475 นั่นคือ 1 สัปดาห์หลังการยึดอำนาจ และประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 มาลงตีพิมพ์ดังนี้
*********************** แถลงการณ์คณะกรรมการราษฎร
เนื่องแต่คณะราษฎรได้มีประกาศแสดงถึงการกระทำของกษัตริย์ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. นี้ และต่อมาคณะราษฎรได้ยึดอำนาจการปกครอง และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระธรรมนูญการปกครองแผ่นดินแก่ราษฎรแล้วนั้น
ต่อมาเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. นี้ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา พระยาปรีชาชลยุทธ พระยาศรีวิสารวาจา พระยาพหลพลพยุหเสนา หลวงประดิษฐ์มนูธรรม กรรมการราษฎรได้ไปเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ วังสุโขทัย ทรงรับสั่งถึงความจริงที่ได้ทรงตั้งพระราชหฤทัยดีต่อราษฎร และทรงพระราชดำริจะให้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินแก่ราษฎรอยู่แล้ว และสิ่งอื่นๆที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยจะกระทำก็ล่าช้าไป หาทันกาลสมัยไม่ ส่วนการที่ข้าราชการในรัฐบาลของพระองค์ใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต ก็ทรงสอดส่องอยู่เหมือนกัน หาได้สมรู้ร่วมคิดด้วยไม่ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงปรารถนาดีต่อราษฎรเช่นนี้ และทรงยอมร่วมเข้าคณะราษฎร โดยเป็นประมุขของประเทศสยามแล้ว ฉะนั้น คณะกรรมการราษฎรจึงเชื่อมั่นว่าพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่ปรารถนาดีต่อราษฎร
ประกาศ ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2475 ***********************
ใจความสำคัญของเนื้อความในประกาศทั้ง 2 ฉบับนั้น แสดงอย่างชัดเจนถึงการเปลี่ยนผ่านการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน กระทั่งหลังการพระราชทานรัฐธรรมนูญ ฉบับ 10 ธันวาคม 2475 นั้นเอง จึงเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ
แต่ด้วยความผันผวนและการช่วงชิงอำนาจทางการเมืองตลอดช่วงแรกของการอภิวัฒน์ที่นำไปสู่การทำรัฐประหารและความพยายามก่อกบฏ นับจากในวันที่ 1 เมษายน 2476 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ในฐานะนายกรัฐมนตรี ประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร และงดใช้รัฐธรรมนูญเกือบทุกมาตรา ถัดมาในวันที่ 2 เมษายน คณะรัฐมนตรีชุดเดียวกันก็ผลักดันให้รัฐสภามีมติผ่านพระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการกำจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ซึ่งหมายถึง “คณะราษฎร” อันนำไปสู่การถูกเนรเทศโดยทางพฤตินัย เมื่อนายปรีดีถูกบังคับให้เดินทางออกนอกประเทศไปยังฝรั่งเศสในวันที่ 12 เมษายนนั้นเอง เนื่องจากความเห็นของนายปรีดีถูกโจมตีว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ภายหลังการเสนอร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจ
ต่อมาในวันที่ 10 มิถุนายน พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาทรงสุรเดช พระประศาสน์พิทยายุทธ และพระยาฤทธิอัคเนย์ ผู้นำสายทหารของคณะราษฎร ยื่นจดหมายลาออก ก่อนที่อีก 10 วันต่อมาคือในวันที่ 20 มิถุนายน พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาจึงเป็นผู้นำยึดอำนาจพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี หลังจากการรัฐประหารได้มีการล้างมลทินให้นายปรีดี พนมยงค์ หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม
จากนั้นตามมาด้วย “กบฏบวรเดช” ในเดือนตุลาคม 2476 และการประกาศสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477 และ “กบฏพระยาทรงสุรเดช” หรือ “กบฏ 18 ศพ” เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2482 ซึ่งรัฐบาล ป.พิบูลสงคราม ดำเนินการกวาดล้าง โดยพันเอกหลวงอดุลยเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ และรัฐมนตรีมหาดไทย จับตายนายทหารสายพระยาทรงสุรเดช 3 คน จับกุมผู้ต้องสงสัยจำนวน 51 คน ในจำนวนนี้ศาลพิเศษตัดสินปล่อยตัวพ้นข้อหา 7 คน จำคุกตลอดชีวิต 25 คน โทษประหารชีวิตจำนวน 21 คน แต่ให้เว้นการประหาร คงเหลือโทษจำคุกตลอดชีวิต 3 คน ที่เรือนจำบางขวางและตะรุเตา เนื่องจากเคยประกอบคุณงามความดีให้กับประเทศชาติคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร (ถูกถอดออกจากฐานันดรศักดิ์ แต่ได้มีการประกาศสถาปนาพระอิสริยยศฐานันดรศักดิ์ตามเดิมเมื่อ พ.ศ. 2487 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน โปรดเกล้าฯให้ประกาศสถาปนาพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2495), พลโทพระยาเทพหัสดิน และพันเอกหลวงชำนาญยุทธศิลป์
ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7 ฉบับ 325
วันที่ 27 สิงหาคม – 2 กันยายน 2554 พ.ศ. 2554
หน้า 13 คอลัมน์ พายเรือในอ่าง โดย อริน |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น