วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554


‘ทักษิณ’ไม่ใช่ ‘อาชญากร’

จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข
         ปีที่ 7 ฉบับที่ 325 ประจำวัน จันทร์ ที่ 29 สิงหาคม 2011
         การเคลื่อนไหวเดินทางไปยังประเทศต่างๆของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี  แต่ละครั้งมักได้รับความสนใจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ล่าสุดญี่ปุ่นออกวีซ่าหรืออนุญาตเป็นกรณีพิเศษให้อดีตนายกฯทักษิณเดินทางเข้าประเทศ ย่อมสะท้อนถึงบทบาทของ พ.ต.ท.ทักษิณ รวมถึงข้อกล่าวหาที่ว่า “อาชญากรข้ามชาติ” และทำไมพรรคประชาธิปัตย์ถึงได้กลัว พ.ต.ท.ทักษิณ ตรงนี้มีคำตอบ
นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย มองว่า สิ่งที่ต้องสังเกตคือ ทำไม พ.ต.ท.ทักษิณเข้าประเทศญี่ปุ่นได้ พรรคประชาธิปัตย์ถึงต้องร้อนตัว เชื่อว่ามีหลายเหตุผล และแน่นอนเราเคารพว่าศาลวินิจฉัยว่า พ.ต.ท.ทักษิณทำผิดตรงนั้นตรงนี้ จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยเป็นเรื่องของทางวิชาการ และเป็นเรื่องการต่อสู้ทางกฎหมาย รวมทั้งกระบวนการยุติธรรมของอดีตนายกฯทักษิณ ซึ่งควรให้โอกาสท่านในการต่อสู้ตรงนี้ ที่สำคัญการที่ญี่ปุ่นอนุญาตให้ พ.ต.ท.ทักษิณเข้าประเทศได้ทำให้เกิดความชัดเจนในข้อเท็จจริงบางเรื่อง


“สิ่งที่รัฐบาลชุดที่แล้วทำ จะถูกจะผิดวันนี้เริ่มปรากฏชัดแล้ว และการที่ พ.ต.ท.ทักษิณเข้าจีนหรือญี่ปุ่นได้ก็แทงใจดำพอสมควร เพราะเมื่อเข้าได้แล้วก็สามารถพิสูจน์ได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ใช่อาชญากรข้ามชาติอย่างที่ถูกกล่าวหา และที่ผ่านมาเป็นเรื่องกดดันทางการเมือง เมื่อประเทศอื่นๆเห็นการเปลี่ยนผ่านของรัฐบาล ซึ่งไม่ใช่ว่าเขาจะเอาใจรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แต่แน่นอนเมื่อนโยบายเปลี่ยนเขาก็อาจมีการถามไถ่กัน และอาจจะเกิดความชัดเจนขึ้นว่า ไม่มีความกดดันทางการเมืองตรงนั้นแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณก็สามารถเข้าเมืองได้”


ประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ ญี่ปุ่นติดใจรัฐบาลชุดที่แล้วอยู่หลายเรื่อง เช่น เรื่องที่นายฮิโร มูราโมโต ช่างภาพรอยเตอร์ชาวญี่ปุ่น ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์นองเลือด 10 เม.ย. 2553 เป็นสิ่งที่รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามกดดันรัฐบาลไทย และพยายามหาคำถามมาตลอด แต่รัฐบาลไทยไม่สามารถให้คำตอบได้ จึงคาดหวังกับรัฐบาลใหม่ โดยเฉพาะ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่กำกับกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ จะต้องเอาเรื่องนี้ออกมาให้ชัด เพราะเขายังติดใจเนื่องจากไม่มีคำตอบ


ว่าที่พันตรีวิษณุ บุญมารัตน์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง มหาวิทยาลัยบูรพา ให้ความเห็นว่า การเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณในการตระเวนเดินทางไปยังต่างประเทศๆ เป็นลักษณะการแสดงบทบาททูตทางการค้ามากกว่า เพื่อหวังช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย เพราะต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในสภาพที่ไม่ดีนัก และบทบาทในเวทีโลกต่างก็ยอมรับในตัว พ.ต.ท.ทักษิณเกี่ยวกับความสามารถในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และการที่ญี่ปุ่นให้เอกสิทธิ์แก่ พ.ต.ท.ทักษิณในการเข้าประเทศนั้น ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลญี่ปุ่นให้ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพราะรัฐบาลไทยแทรกแซงไม่ได้


“การที่ พ.ต.ท.ทักษิณเดินทางไปประเทศต่างๆได้น่าจะเป็นบทพิสูจน์ได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้เป็นอาชญากรข้ามชาติตามที่รัฐบาลชุดที่แล้วกล่าวหา ที่สำคัญตำรวจโลกก็ไม่ได้ออกหมายจับตั้งแต่แรก และไม่ได้กล่าวหาว่า พ.ต.ท.ทักษิณเป็นอาชญากรข้ามชาติ ชาวโลกจึงให้การยอมรับ พ.ต.ท.ทักษิณในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง และ พ.ต.ท.ทักษิณเคยมีแนวคิดที่จะจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นด้วยซ้ำไปหลังเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549”


พ.ต.ท.ทักษิณเป็นผู้บารมีทางการเมือง โดยประเทศต่างๆทั่วโลกยังให้ความเคารพและยอมรับอยู่ต่อไป เป็นคีย์แมนของประเทศไทยและรัฐบาลชุดใหม่ ดังนั้น บทบาทของ พ.ต.ท.ทักษิณคงไม่มาเล่นการเมืองภายในประเทศ แต่จะเป็นลักษณะของการแสดงบทบาทการเมืองระหว่างประเทศหรือสากล ซึ่งเชื่อว่าไม่ใช่แค่ญี่ปุ่นหรือเยอรมนีเท่านั้น ต่อไปไม่ว่าจะเป็นสหรัฐหรือประเทศทั่วโลกจะให้ พ.ต.ท.ทักษิณเดินทางเข้าประเทศอย่างแน่นอน


“ผมยกตัวอย่างคดีที่ดินรัชดาฯที่ พ.ต.ท.ทักษิณถูกศาลตัดสิน จะไม่มีน้ำหนักกลายเป็นคดีการเมืองในที่สุด เพราะคนที่ซื้อจริงๆคือคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร ส่วน พ.ต.ท.ทักษิณเป็นแค่ผู้ค้ำประกันให้แค่นั้น แต่คดีนี้คนซื้อไม่ผิด คนค้ำประกันกลับผิด ประเทศทั่วโลกยังตั้งข้อกังขาตรงนั้นอยู่ ดังนั้น พรรคประชาธิปัตย์คงกลัวทั่วโลกยอมรับ พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล สั่งให้กระทรวงการต่างประเทศไล่ล่า พ.ต.ท.ทักษิณ และขู่บางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ว่าถ้าให้ พ.ต.ท.ทักษิณเข้าประเทศ บริษัทญี่ปุ่นที่ลงทุนในเมืองไทยจะไม่ได้รับอำนวยความสะดวก รัฐบาลญี่ปุ่นถึงยอม เพราะไม่อยากให้ธุรกิจเสียหายจึงไม่ออกวีซ่าให้ในช่วงนั้น”



ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7 
ฉบับ 325 วันที่ 27 สิงหาคม – 2 กันยายน 2554  พ.ศ. 2554 
หน้า 20 คอลัมน์ คนการเมือง โดย กิตติพิชญ์ ยิ่งวรการสุข 
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น