วันศุกร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

“ปฏิวัติ”อีกเกิดสงครามกลางเมืองเกิดแน่!

“ปฏิวัติ”อีกเกิดสงครามกลางเมืองเกิดแน่!
         นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปช. ได้วิเคราะห์การเมืองปัจจุบันไว้อย่างน่าคิด โดยมองว่าจะเดินหน้าต่อไปได้อย่างราบรื่น ไม่มีการปฏิวัติรัฐประหาร เพราะเท่ากับนำประเทศไปสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรงจนนำไปสู่สงครามกลางเมือง และหากรัฐบาลเกี๊ยะเซียะกับอำมาตย์โดยลืมประชาชนที่เลือกเขาเข้ามาก็จะอยู่ ไม่ได้เช่นกัน มาฟังการวิเคราะห์ลึกๆได้ดังนี้

                                             +++++++++

สถานการณ์ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์

           ผมคิดว่ารัฐบาลชุดนี้ยังดีอยู่ ยังไปได้ดี ที่ว่าดีในที่นี้ดูจากความนิยมของประชาชน เนื่องจากรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง แล้วเขาแถลงนโยบายไว้ว่าเป็นรัฐบาลแล้วจะทำอะไรบ้าง เมื่อเขาได้เป็นเขาก็ทำ คนก็เห็นอยู่ว่าเขากำลังทำ สังเกตดูประชาชนจะติดใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นพิเศษ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นคนวางตัวดี คือวางตัวนิ่ง ไม่ตอบโต้ ไม่กะเปิ๊บกะป๊าบไปตามกระแสหรือตามการแหย่ของใครก็ตาม บุคลิกอย่างนี้เป็นบุคลิกที่ได้เปรียบ คนเขาชอบคนทำงาน ชอบคนนิ่งมากกว่าคนพูดมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสุภาพเรียบร้อย ความอ่อนโยน เหล่านี้ทำให้นายกรัฐมนตรีได้เปรียบ รัฐบาลก็ทำงานไป


         ทีนี้ปัญหาจะเกิดก็คือเรื่องของการเมืองในสภา คือฝ่ายค้านกับรัฐบาล เป็นธรรมดาที่ฝ่ายค้านมีหน้าที่ต้องแซวรัฐบาลเรื่อยไป ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ต้องฟัดเข้าไปก่อน รัฐบาลมีหน้าที่ที่จะต้องแก้ ทีนี้ก็เกิดการตอบโต้กันระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้าน เป็นข่าวให้เห็นเหมือนกับว่ารัฐบาลนี้กำลังโต้คลื่นโต้ลมอย่างรุนแรง ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น ประชาชนทั่วไปก็รับการบริหารของรัฐบาลนี้ได้


        ประเด็นเรื่องทุจริตคอร์รัปชันไม่ใช่ประเด็นที่เปราะบางหรือส่งผลกระทบ ต่อรัฐบาลอย่างแน่นอน เว้นแต่ว่ารัฐบาลไม่เอาใจใส่ ไม่ปราบปราม หรือทำปากว่าตาขยิบ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็อยู่ไม่ได้ ถ้ารัฐบาลตั้งใจเข้ามาบริหารเพื่อแสวงหาผลประโยชน์มิชอบต้องถูกโค่นล้มอย่าง แน่นอน ผมเป็นคนหนึ่งที่จะไม่เห็นด้วยและไม่สนับสนุนให้ทำอย่างนี้ แต่ถ้านโยบายใดดีก็ทำไป แต่ถ้ามีทุจริตคอร์รัปชันแล้วรัฐบาลเข้าไปปราบ เขาก็ทำหน้าที่ของเขาสมบูรณ์ ก็ควรให้เขาทำนโยบายนั้นตามที่ได้ประกาศไว้กับประชาชน


เริ่มมีองค์กรออกมาเคลื่อนไหวล้มรัฐบาล



        การที่มีองค์กรบางกลุ่ม เช่น องค์การพิทักษ์สยามออกมาเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาล ถือเป็นเรื่องสิทธิของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย องค์การพิทักษ์สยามพูดว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่พิทักษ์ปกป้องสถาบันเท่าที่ควร ก็ฟังดูว่ายังมีข้อด้อยข้อบกพร่องตรงไหน ผมเชื่อว่าทุกรัฐบาลมีหน้าที่อยู่แล้วที่จะปกป้องสถาบัน แต่ปกป้องอย่างไรอาจจะแตกต่างกัน ส่วนที่บอกว่ารัฐบาลชุดนี้เป็นหุ่นเชิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ประชาชนทั้งประเทศคงจะได้เห็นว่าเป็นหุ่นเชิดจริงหรือ ไม่

           ผมไม่รู้ว่าคนที่ประกอบขึ้นเป็นองค์การพิทักษ์สยามมีใครบ้าง แต่ผมรู้จัก พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ซึ่งเป็นแกนนำหลักของกลุ่มนี้ พล.อ.บุญเลิศเป็นคนที่ไม่ลึกลับซับซ้อน และไม่ใช่คนฝักใฝ่การเมืองประเภทสังกัดพรรคแล้วก็โค่นล้มผู้อื่น สนับสนุนพรรคของตนขึ้นมามีอำนาจแทน ไม่ใช่อย่างนั้น พล.อ.บุญเลิศเป็นคนที่จงรักภักดี ตรงนี้ผมพูดได้ เพราะรู้จักกันมาหลายสิบปีแล้ว เรารู้ความจริงข้อนี้ ไม่มีปัญหาและไม่มีอะไรเคลือบแคลง การเคลื่อนไหวของ พล.อ.บุญเลิศผมคิดว่าเคลื่อนไหวในยามอายุขนาดนี้ ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ปัญหาอยู่ตรงที่ว่าข้อมูลที่ได้รับมานั้นเป็นข้อมูลจริงหรือเป็นข้อมูลที่ หลอกลวง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ พล.อ.บุญเลิศจะต้องตรองเอาเอง และผมคิดว่าการเคลื่อนไหวของ พล.อ.บุญเลิศจะไม่ทำให้เกิดความเสียหายใดๆในทางการเมือง


          พล.อ.บุญเลิศเป็นรุ่นเดียวกับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรีและอดีตนายกรัฐมนตรี บางคนอาจนึกไปว่ามันซับซ้อนซ่อนเงื่อนโยงใยมาจาก พล.อ.สุรยุทธ์หรือเปล่า ผมพูดแทนได้ว่าไม่มีเรื่องเหล่านี้ ก็แสดงไปตามความคิดเห็นซื่อๆตรงไปตรงมา ผมคิดว่า พล.อ.บุญเลิศมีเจตนาดีต่อบ้านเมือง และไม่คิดจะโค่นล้มทำลายใครโดยอคติส่วนตน
นอกจากกลุ่มพิทักษ์สยามที่ออกมาเคลื่อนไหวแล้ว ยังมีกลุ่มการเมืองต่างๆออกมาเคลื่อนไหวบ้าง แต่การเคลื่อนไหวยังอยู่ในกรอบของการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ไม่น่าวิตก ถ้าไม่มีกลุ่มมวลชนใดๆมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเลยมันเป็นเรื่องที่น่าวิตก คือน่าวิตกว่าประเทศไทยชักจะเป็นอะไรไปแล้วที่คนในระบอบประชาธิปไตยทำไมไม่ มีความเห็นต่าง มันต้องมีความเห็นต่างเป็นธรรมชาติของมนุษย์ เพราะฉะนั้นคนที่เห็นต่างก็แสดงออกมา อย่าปิดบังอำพรางหรือไปแอบแสดงในที่ลับ ซึ่งจะเป็นผลเสียหายมากกว่า ออกมาสู่ที่แจ้งเป็นเรื่องที่ดี


หลายฝ่ายมองว่าหวังปูทางไปสู่การปฏิวัติอีก


         ผมไม่คิดว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้จะเป็นการปูทางไปสู่การรัฐประหาร เหตุผลก็คือว่าทุกคนได้เห็นผลร้ายของการรัฐประหารแล้ว มันเป็นผลร้ายที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติของการรัฐประหาร เสียหายต่อชื่อเสียงประเทศชาติ ภาวะเศรษฐกิจของประชาชน หรือแม้แต่ความมั่นคงของรัฐ เพราะคนที่ทำปฏิวัติรู้ตัวดีว่านานาประเทศที่เคยเป็นมิตรและเคยสนับสนุนกัน ในทางความมั่นคง เช่น สหรัฐ เขาไม่อาจให้ความช่วยเหลืออะไรได้ ในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมาสร้างรอยช้ำให้ประเทศมากกว่าที่คณะปฏิวัติกล่าวหารัฐบาลที่มาจาก การเลือกตั้ง
คือตัวเองกล่าวหาไว้มากมาย ดูแล้วรัฐบาลเลือกตั้งน่าเกลียดน่าชัง แต่เวลาตัวเองเข้ามาแล้วทำในสิ่งที่เลวร้าย เป็นแผลต่อประเทศชาติมากกว่าคำกล่าวหาที่มีต่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้น ถ้าหากวันนี้ยังมีคนคิดอยู่ว่าต้องหาทางทำปฏิวัติกันอีกรอบหนึ่ง ผมคิดว่ามันคงจะเป็นตัวตลกที่ประชาชนทั้งประชาชนผลักไสไล่ส่ง เรียกว่าคงไม่มีใครร่วมมือด้วย คือการเปลี่ยนแปลงใดๆถ้าจะเกิดขึ้น ผมเชื่อว่าในระบอบปัจจุบันต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงโดยชอบด้วยวิถีทางของรัฐ ธรรมนูญ อันนั้นทุกฝ่ายรับได้


         ผมขอย้ำว่าความคิดของคนที่คิดจะทำรัฐประหารมันห้ามกันไม่ได้ แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะฝ่ายที่เขาเข้าใจหรือพลังของมวลชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมวลชนคนเสื้อแดงประกาศต่อต้านการรัฐประหารตลอด เพราะเห็นภัยร้ายของการรัฐประหาร คนจำนวนนี้กำลังจะเป็นเสียงข้างมากของประเทศหรือเป็นไปแล้วก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นประเทศจะไม่เซไปจนเสียดุล คือกลับไปสู่การยึดอำนาจอีก เป็นไปไม่ได้ เพราะมีประชาชนคอยถ่วงดุลไว้อยู่


ถ้าเกิดปฏิวัติอีกประเทศชาติจะเป็นอย่างไร


         ผมคิดว่า ถ้ามีคนกล้าทำอีก ประเทศก็จะเป็นสงครามกลางเมือง ไม่ต้องอธิบายว่า
ความเสียหายจะเกิดขึ้นใหญ่หลวงอย่างไร คือมีแต่ความยับเยินไปด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย ไม่มีใครชนะ มีแต่ผู้แพ้กันทั้งประเทศ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าปรารถนาจะทำสงครามกลางเมืองกันก็ตามสบาย

ทหารจะกล้าทำปฏิวัติรัฐประหารอีกหรือไม่


        เราอย่าพูดว่าเขาไม่กล้าเลย อาจจะกระทบจิตใจหรือแสลงใจกันเปล่าๆ แต่เราพูดได้ว่าทีท่าของกองทัพภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ดูจะเข้าใจปัญหาที่ผ่านมา และเข้าใจปัญหาของระบอบประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นเขาคงไม่ปรารถนาที่จะทำสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย ผมเชื่อว่าเขาเข้าใจอย่างเดียวกับพวกเราที่เข้าใจว่าบ้านเมืองจะไปรอดต้อง เป็นประชาธิปไตยแล้วก็แบ่งหน้าที่กัน ผมดูว่าแนวจะไปทางนั้นมากกว่า


         ผมมั่นใจว่ารัฐบาลชุดนี้จะปลอดจากการยึดอำนาจ แล้วเราอย่าลืมว่าเงื่อนไขภายนอกมันบีบตัวเราเหมือนกัน ปี 2558 เราจะเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ขณะนี้ภาคเอกชน ภาคประชาชนตื่นตัวเตรียมรับสถานการณ์นี้ก็เพื่อความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ความอยู่เย็นเป็นสุข ถ้าหากเรามาก่อกวนกันเสียเอง เอาปัญหาการเมืองนอกระบบ เราก็จะเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของเราขึ้นมาไม่ได้ เพราะเราเป็นศูนย์กลางโดยอัตโนมัติ เงื่อนไขสถานการณ์โลกก็จะบีบเราอีก เศรษฐกิจโลก การเมืองโลกที่ไม่อาจย้อนกลับไปสนับสนุนระบบบ้าๆบอๆกันอีกต่อไปแล้ว


 
       ดังนั้น ผมไม่เป็นห่วงเรื่องการรัฐประหาร แต่เป็นห่วงการใช้ตุลาการภิวัฒน์ทำรัฐประหารมากกว่า เพราะเป็นของจริงที่เราได้ประจักษ์กันมา แต่แนวโน้มที่จะมีการปรับปรุงกฎหมายโดยแรงผลักดันของคนเสื้อแดงยังไม่หยุด หมายความว่าระบอบตุลาการภิวัฒน์จะค่อยๆสลายตัวไปโดยกระแสประชาธิปไตยขึ้นมา เวลานี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 จะปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปคงไม่ได้ คงมีการยกขึ้นมาแล้วโหวตกัน หรือโหวตแล้วสมมุติเป็นในทางไม่ดี วาระ 3 ก็ตก ผมคิดว่าตกก็ตกไป เพราะสามารถเสนอขึ้นมาใหม่ได้อีก ในการที่จะแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญก็ต้องเปลี่ยนผลิตผลของเผด็จการของ คมช. เช่น พวกองค์กรอิสระต่างๆก็ต้องล้างไป

การแก้รัฐธรรมนูญจะสำเร็จในรัฐบาลชุดนี้


         ผมมั่นใจว่าเราจะได้เห็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จในรัฐบาลชุดนี้ แต่อย่ามองในแง่ดีเกินไป เราลองมองในแง่ร้ายบ้างว่าแก้อะไรก็ไม่เสร็จสักเรื่องหนึ่ง ทำอะไรก็ไม่ได้ เปลี่ยนแปลงกฎหมายให้เป็นกฎหมายที่เป็นนิติรัฐ นิติธรรม ถ้าทำอย่างนี้ไม่ได้ คนที่จะรำคาญรัฐบาลก็ได้แก่คนเสื้อแดง ดังนั้น คนเสื้อแดงจะต้องคอยกระตุ้น คอยจี้คอยไชให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม เกิดนิติรัฐ นิติธรรมให้ได้ รัฐบาลเองจะอยู่ได้หรือไม่ได้คราวนี้ต้องเผชิญกับคนเสื้อแดง ขอย้ำว่าเราจะได้เห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างแน่นอน


          คอยดูปีหน้าเราคงจะได้เห็น ความจริงงานนี้จะต้องต่อเนื่องไป แต่ผลลัพธ์ที่จะเกิดออกมาปีหน้าก็คงชัดเจน อย่างน้อยที่สุดเวลานี้ก็มีโครงการประชาสังคมที่จะทำทั่วประเทศในเรื่องการ ปรองดองและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณมาแล้ว 90 ล้านบาท จะได้ทำความเห็น ความเข้าใจกับมวลชนทั่วประเทศ ถ้าผ่านจากการทำความเห็นเรื่องนี้ ทุกคนจะเดินไปสู่หนทางว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องการปรองดองเป็นเรื่องสำคัญ ปีหน้าน่าจะเป็นปีที่เราจะพบกับความน่ายินดี


แนวทางการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น


          หลักกว้างๆมีอยู่ว่า ประเทศต้องเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง จะต้องมีการยอมรับอำนาจของประชาชน ไม่ว่านิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ต้องมีจุดยึดโยงกับประชาชน ถ้าเป็นประชาธิปไตยแบบนี้ก็ปรองดองกันได้ ประการต่อมาเป็นเรื่องความเสมอภาค ถ้าเป็นประชาธิปไตยต้องเสมอภาค คือประชาชนต้องมีความเท่าเทียมกันในกฎหมาย การใช้กฎหมายต้องใช้อย่างมาตรฐานเดียว ไม่ใช่ 2 มาตรฐานหรือหลายมาตรฐานอย่างที่เป็นมา มันก็ปรองดองกันได้ ถ้าหากเราปรารถนาความเป็นเอกภาพแต่ชวนกันปรองดองโดยที่ไม่ปรับเรื่องเหล่า นี้ให้เข้าหลักเกณฑ์จะไปปรองดองอะไร ยังไง


         เรื่องความไม่เสมอภาคคือเรื่องความแตกแยก สังคมไหนไม่มีความเสมอภาค สังคมนั้นต้องแตกแยก สังคมไหนที่ไม่มีประชาธิปไตย สังคมนั้นก็ต้องแตกแยก เพราะจะมีคนดิ้นรนเพื่อเรียกหาประชาธิปไตย ผมจึงคิดว่าเรื่องความปรองดองไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นอะไร
ส่วนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองที่จะออกมาอยากให้ดูหน้าตากันก่อน ที่เราพูดกันโดยมาก เราคาดหมายอย่างนั้นอย่างนี้ ยังไม่เห็นหน้าตาว่าจริงๆเป็นอย่างไร ผมมั่นใจว่าความคิดของมหาประชาชนจะต้องเป็นของดี ไม่มีทางเป็นของเลวได้ ดังนั้น หน้าตาของกฎหมายที่จะออกมาหลังทำความเข้าใจเรื่องปรองดองกันแล้วไม่น่าวิตก ถ้าไม่ดีจริงคงไม่ผ่านมหาชนแน่นอน


มีคนมองว่ารัฐบาลกำลังปรองดองกับอำมาตย์


         การที่มีนักวิชาการออกมาระบุว่าขณะนี้รัฐบาลกับอำมาตย์กำลังปรองดอง เกี๊ยะเซียะกันอยู่ ผมมองว่าข้อกล่าวหานี้เป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรง แต่ไม่ใช่เป็นข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูลเสียทีเดียว เป็นข้อกล่าวหาที่ควรเอาใจใส่และติดตาม ผมมีความเห็นว่าถ้าหากรัฐบาลกับอำมาตย์มาปรองดองกันโดยละเลยหลักพื้นฐานที่ ผมพูดข้างต้นนี้แล้ว ทั้งรัฐบาลและอำมาตย์จะอยู่ไม่ได้ ประชาชนส่วนใหญ่จะทิ้งรัฐบาล ไม่เอาด้วย ดังนั้น อย่าไปกังวลเลย รัฐบาลอาจจะมีความจำเป็นในเรื่องเวลาของการบริหาร เขาเข้ามาอยู่ในอำนาจอาจจะก้นหม้อยังไม่ทันดำ ก็ต้องขอเวลาให้เขาบ้าง


         ผมก็เข้าใจในเรื่องนั้น คือเราไม่ได้คิดว่าถ้าได้เข้ามาเป็นรัฐบาลแล้วจะทำอะไรได้ตามใจชอบ ต้องมีเวลาให้เขาบ้าง เวลาจะทำให้เขาเกิดความมั่นคง ความมั่นใจ แล้วค่อยๆทำอะไรไป รัฐบาลไม่ใช่เอกชนที่จะทำอะไรได้ตามใจชอบ เพราะฉะนั้นข้อกล่าวหาที่ว่ารัฐบาลกับอำมาตย์อาจจะมาฮั้วกันก็เป็นข้อกล่าว หาที่เราจะต้องติดตามดูกันต่อไป แต่ผมเชื่อว่าเขาไม่ทรยศต่อประชาชน


รัฐบาลจะบริหารประเทศครบ 4 ปีหรือไม่


         รัฐบาลชุดนี้อยู่ได้ น่าจะครบ 4 ปี ไม่น่าจะมีเหตุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งหนึ่งที่จะต้องเตือนกันไว้เสมอคือ ถ้าจำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญก็ถือว่าเป็นเรื่องปรกติ ที่ทุกคนควรจะรับได้และทำใจได้ หมายความว่าสมมุติรัฐบาลบริหารประเทศมา 2 ปี แล้วรัฐบาลยุบสภาเลือกตั้งใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องที่วิตกทุกข์ร้อน ขอให้เห็นว่าถ้าเป็นไปตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญแล้วเป็นอันใช้ได้ ลองดูญี่ปุ่น เกาหลี เขาเปลี่ยนรัฐบาลบ่อย ไม่เห็นเป็นปัญหาอะไร เพราะเปลี่ยนตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญ ของเราผมก็ดูว่ารัฐบาลควรจะอยู่ครบเทอม 4 ปี แต่ถ้ามีเหตุรัฐบาลอยากยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องผิดปรกติ


ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 8 ฉบับที่ 384 วันที่ 3-9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 หน้า 16-17  คอลัมน์ ฟังจากปาก โดย กิตติพิชญ์ ยิ่งวรการสุข

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น