วันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2554

เมื่อนิติราษฏร์ ปะทะ นิติแหล


นิติราษฎร์ vs นิติแหล
ใบตองแห้ง...ออนไลน์: นิติราษฎร์ vs นิติแหล
http://www.pchannel.org/index.php?name=others&category=19&file=readknowledge&id=743Wed, 2011-09-21 17:08

เรียนคุณใบตองแห้งที่นับถือ  

          พีเพิลออนไลน์ขอแสดงความชื่นชมบทความเรื่อง "นิติราษฎร์ VS นิติแหล" ซึ่งเราได้นำมาถ่ายทอดผ่านไปแล้ว

          ณ โอกาสนี้ ใคร่ขออนุญาตคุณใบตองแห้ง ขอเปลี่ยนชื่อใหม่ดังนี้. "นิติราษฎร์ VS นิติรัฐ" เหตุผล  นิติราษฎร์หมายถึงนักวิชาการที่นำเสนอความเห็นในรูปแบบนิติราษฎร์ ส่วนนิติรัฐหมายถึงพวกนักกฎหมายที่เป็นฝ่ายของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทั้งนี้โดยไม่ได้แก้ไขข้อความใด ๆ ของคุณเลย

          ขอขอบคุณ ณ โอกาสนี้   พีเพิลออนไลน์

          เมื่อวันอาทิตย์ ผมไปนั่งฟัง อ.วรเจตน์และคณะนิติราษฎร์แถลงเรื่องการลบล้างผลพวงรัฐประหาร 19 กันยา ซึ่งแน่นอนว่าเนื้อหาสาระในองค์รวมไม่เหมือนที่ออกมาในหน้าสื่อ โดยเฉพาะสื่อปฏิกิริยาขวาจัด ที่เพียงแต่จับประเด็น “ล้างผิดทักษิณ” แล้วเอาไปโจมตีขยายความ กระทั่งเอาคำพูดของคนอย่างถาวร เสนเนียม ที่กล่าวหาให้ร้ายนิติราษฎร์มาพาดหัว

          คำถามก็คือ ทำไมสื่อไม่ไปสัมภาษณ์นักกฎหมาย อย่างวิษณุ เครืองาม, บวรศักดิ์ อุวรรณโณ หรือมีชัย ฤชุพันธ์ ปรมาจารย์ที่ (เชื่อกันว่า) เป็นที่ปรึกษากฎหมายของ คปค.ดูบ้าง หรือถามสมคิด เลิศไพฑูรย์ ถามจรัล ภักดีธนากุล ถามตุลาการทั้งหลาย ให้โต้แย้งด้วยความเห็นทางหลักกฎหมายดูบ้าง ดูซิว่าจะโต้ขึ้นไหม

          แต่สื่อไปถามนักการเมือง และพยายามทำให้มันเป็นประเด็นทางการเมือง ไม่ใช่ประเด็นทางกฎหมาย (เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจมีผู้ให้สัมภาษณ์ที่อ้างว่าเป็นตุลาการคนหนึ่ง แต่ไม่กล้าเปิดเผยตัว ทำไมไม่กล้า ในเมื่อเป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริต ไม่ใช่การลอบกัด)

          นักการเมืองก็เลยแหลไปเรื่อย อย่างอภิสิทธิ์อ้าง “นิติรัฐ” เฮ้ย นิติรัฐอะไรวะ ยอมรับรัฐประหาร รัฐประหารนั่นแหละคือการทำลายล้างนิติรัฐ

          สาระสำคัญในข้อเสนอของนิติราษฎร์ ที่สื่อกระแสหลักทำเป็นไม่เข้าใจ คือข้อเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญผ่านการลงประชามติ ให้การรัฐประหาร 19 กันยายน “เสียเปล่า” ไม่เคยเกิดขึ้นและไม่มีผลทางกฎหมาย ซึ่งหมายความว่า ประกาศ คปค.ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน ถึงวันที่ 30 กันยายน 2549 ซึ่งแต่เดิมเคยถือกันว่า“ประกาศคณะปฏิวัติเป็นกฎหมาย” นั้น ต้องเสียเปล่าและไม่มีผลทางกฎหมายในทันที เพื่อให้ “รัฐประหารเสียเปล่า” อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น นิติราษฎร์จึงเสนอด้วยว่า ต้องประกาศให้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 มาตรา 36 และ 37 เสียเปล่า ถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลทางกฎหมาย เช่นกัน

          “มาตรา 36 บรรดาประกาศและคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ได้ประกาศ หรือสั่งไว้ ในระหว่างวันที่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2549 จนถึงวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ไม่ว่าจะเป็นในรูปใด และไม่ว่าจะประกาศ หรือสั่ง ให้มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ ให้มีผลใช้บังคับต่อไป และให้ถือว่า ประกาศหรือคำสั่ง ตลอดจนการปฏิบัติตามประกาศ หรือคำสั่งนั้น ไม่ว่าการปฏิบัติตามประกาศ หรือคำสั่งนั้น จะกระทำก่อน หรือหลัง วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นประกาศหรือคำสั่ง หรือการปฏิบัติ ที่ชอบด้วยกฎหมาย และชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 

          มาตรา 37 บรรดาการกระทำทั้งหลาย ซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึด และควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2549 ของหัวหน้า และคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมตลอดทั้งการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าว หรือของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้า หรือคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันได้กระทำไปเพื่อการดังกล่าวข้างต้นนั้น การกระทำดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่ว่าเป็นการกระทำเพื่อให้มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ รวมทั้งการลงโทษและการกระทำอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่น ไม่ว่ากระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ให้กระทำ และไม่ว่ากระทำในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อน หรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง”

          มาตรา 36 คือการรับรองประกาศ คปค.ให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ส่วนมาตรา 37 คือการนิรโทษกรรมให้ คปค.นั่นเอง

          ทั้งสองมาตราให้เสียเปล่า ไม่เคยมีผลทางกฎหมาย


          นี่คือข้อเสนอที่ยิ่งใหญ่ ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และวงการกฎหมายไทย ซึ่งตลอด 79 ปีของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย (ที่อยู่ใต้ยุคเผด็จการเสียเกือบครึ่ง) เรามีแต่คำพิพากษาศาลฎีกายุคก่อนกึ่งพุทธกาลที่ว่า “รัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์” คำสั่งของคณะรัฐประหารเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ประกาศคณะรัฐประหารถือเป็นกฎหมาย แล้วก็งมงายกราบกรานยึดถือกันต่อๆ มา

           วรรคทองของ อ.วรเจตน์จึงอยู่ที่การตั้งคำถามว่า เมื่อเรากลับมาสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยแล้ว อำนาจของประชาชนเป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้ว ทำไมเราจะลบล้างประกาศและคำสั่งของคณะรัฐประหารไม่ได้

          ทำไมเราจะทำให้ “รัฐประหารเสียเปล่า” ไม่ได้

          ตรงนี้ต่างหากที่นักกฎหมายจะต้องตอบ ตุลาการจะต้องตอบ ไม่ว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลยุติธรรม หรือตุลาการศาลปกครอง ถ้าพวกท่านยึดมั่นในหลักนิติรัฐจริง เมื่อรัฐประหารหมดอำนาจแล้ว เหตุใดเรายังต้องยึดถือประกาศและคำสั่งของคณะรัฐประหารเป็นกฎหมาย และเหตุใดเราจึงต้องยอมรับการนิรโทษกรรมให้ตัวเองของคณะรัฐประหาร

          ข้อเสนอของนิติราษฎร์ จึงเปิดมิติใหม่ของประชาธิปไตยไทย ซึ่งถ้าทำได้สำเร็จ ประเทศนี้ก็จะไม่มีรัฐประหารอีก เพราะรัฐประหารแล้วเสียเปล่า ไม่มีผล รัฐประหารแล้ว นิรโทษกรรมให้ตนเองตามอำเภอใจก็ไม่ได้ โปรดอ่านมาตรา 37 อีกครั้งนะครับ ...ไม่ว่าทำอะไรก็แล้วแต่ ไม่ว่าฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ไม่ว่าทำก่อน 19 กันยา ทำหลัง 19 กันยา “หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย” ให้พ้นผิด พ้นจากความรับผิดโดยสิ้นเชิง

          นี่หรือคือหลักนิติรัฐ นี่หรือคือสิ่งที่นักกฎหมายไทย ศาลไทย ยอมรับเสมอมา เพราะมันแปลว่าไม่ใช่แค่นิรโทษกรรมให้คณะรัฐประหารพ้นผิดจากข้อหากบฏ ฉีกรัฐธรรมนูญ “ปล้นอำนาจอธิปไตย” แต่หมายถึงว่าถ้ามีการทุจริตฉ้อฉล ปล้นงบประมาณแผ่นดิน เอางบราชการลับไปใช้โดยมิชอบ ยักยอกเข้ากระเป๋าตัวเอง ฯลฯ ในระหว่างวันที่ 19-30 ก.ย.2549 ก็พ้นผิดโดยสิ้นเชิง

           ถามหน่อยว่า ทำไมเราจะลบล้างการนิรโทษกรรมตัวเองของ คปค.ไม่ได้ ลบล้างด้วยอำนาจประชาชน แล้วลากคอนายพลผู้ก่อรัฐประหารขึ้นศาล เพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่าง เป็นที่หลาบจำไปชั่วลูกชั่วหลาน เป็นแบบเรียนเร็วใหม่ในโรงเรียนนายร้อย จปร.ว่าพวกเมริงอย่าริอ่านทำรัฐประหารเชียวนะ ต่อให้นิรโทษกรรมตัวเองไว้ แต่เมื่อไหร่มีการเลือกตั้ง อำนาจอธิปไตยกลับไปเป็นของประชาชน ประชาชนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ก็ทำให้นิรโทษกรรมเสียเปล่าได้ คราวนี้แหละ พวกเมริงติดคุกหัวโต เว้นเสียแต่จะทำรัฐประหารแล้วยึดอำนาจไปจนวันตาย
          สื่อลองยกประเด็นนี้ไปถามนักกฎหมายทั้งหลายใหม่สิครับ ว่าเห็นด้วยไหม ทำไมไม่เห็นด้วย ลองแจกแจงเหตุผลให้ฟังหน่อยสิ เปิดชื่อเปิดตัวมา ถามถาวร ถามอภิสิทธิ์ก็ได้ ถ้าคุณคัดค้านนิรโทษกรรมทักษิณ ทำไมคุณสนับสนุนนิรโทษกรรม คปค. ถ้าจะลากคอคนที่ก่อรัฐประหารขึ้นศาล ทั้งผู้กระทำ ผู้สนับสนุน และ “ผู้บงการ”คุณเห็นด้วยไหม มีเหตุผลอะไรที่คัดค้าน จะโทษว่าเป็นเพราะความชั่วความเลวของทักษิณจึงทำให้เกิดรัฐประหาร ก็ว่าไป ประชาชนจะได้เห็นธาตุแท้ว่าใครเป็นฝ่ายประชาธิปไตย ใครที่ปากอ้างว่าไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารแต่ปกป้องรัฐประหาร

          แต่สื่อส่วนใหญ่ไม่ได้เสนอข่าวนิติราษฎร์ในประเด็นนี้ด้วยซ้ำ ไม่ได้พูดถึงการลบล้างผลพวงรัฐประหารทั้งหมด ไม่ได้พูดถึงการลบล้างนิรโทษกรรม คปค.เพียงจับประเด็นเดียวว่า “ล้างผิดทักษิณ”
นับหนึ่งใหม่ เพื่อไทยไม่ทำหรอก


          ประกาศ คปค.ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายนถึง 30 กันยายน 2549 มี 30 ฉบับ ที่ส่งผลทางการเมืองอย่างสำคัญคือประกาศ คปค.ฉบับที่ 27 เพิ่มโทษกรรมการบริหารพรรคที่ถูกยุบ ตาม พรบ.พรรคการเมือง 2541 ให้ตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี กับประกาศ คปค.ฉบับที่ 23 และ 30 ฉบับแรกตั้ง คตส.โดยมีท่านสวัสดิ์ โชคิพานิช เป็นประธาน พร้อมกับกรรมการโดยตำแหน่งจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง แต่กลับลำเปลี่ยนใจออกประกาศฉบับสุดท้ายในวันที่ 30 พ.ย.พอดี คราวนี้ตั้ง คตส.โดยระบุตัวบุคคลซึ่งก็เห็นกันชัดเจนว่าอยู่คนละข้างกับรัฐบาลที่ถูกโค่นล้ม

          ที่จริงไม่ต้องพูดว่าเป็นผลพิษรัฐประหาร ประกาศ คปค.ทั้งสองฉบับก็ส่อเจตนาเล่นไม่ซื่ออย่างชัดเจน

          รัฐประหารทุกครั้งต้องฉีก พรบ.พรรคการเมือง ต้องสั่งยุบพรรคการเมือง มีแต่รัฐประหารครั้งนี้แหละครับ ที่ประกาศให้ พรบ.พรรคการเมืองบังคับใช้ต่อไป แต่ไปแก้กฎหมายเพิ่มโทษตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค แล้วเอาเรื่องยุบพรรคขึ้นศาล ต่อให้เด็กอมมือก็มองออกว่าจ้องยุบพรรคไหน (พรรคประชาธิปัตย์มั้ง)

          ประกาศตั้ง คตส.ครั้งแรกดูเหมือนจะเป็นกลาง น่าจะให้ความเป็นธรรมได้ แต่พอใครต่อใครวิ่งเข้าไปล็อบบี้โวยวาย บิ๊กบังก็หลายใจตั้งใหม่ คราวนี้แจ่มแจ้งเหลืองแจ๋ ไม่ต้องอ้าปากก็เห็นทะลุลำไส้ใหญ๋ ท่านสวัสดิ์ต้องลาออก เพราะต้องการรักษาชื่อเสียงเกียรติภูมิไว้ ไม่อยากมาแปดเปื้อน

          พอเริ่มต้นก็มีพิรุธแบบนี้ จะให้ประชาชนเขาเชื่อถือได้อย่างไร คดีความต่างๆ ที่วินิจฉัยออกมาจึงสร้างความแตกแยกในสังคมไทย เกิดวิกฤติศรัทธาต่อสถาบันตุลาการ เพราะมีตุลาการโดดออกมาร่วม คตส. มีตุลาการได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐประหารให้เป็นรัฐมนตรี เป็นปลัดกระทรวง เป็น สนช.เป็น สสร.อย่างที่ไม่เคยมีในประวัติศาสตร์การรัฐประหารทุกครั้ง (แล้วท่านก็กลับไปขึ้นนั่งบัลลังก์ตัดสินคดีที่ส่งผลทางการเมือง)

          การลบล้างประกาศรัฐประหาร ตลอดจนคำวินิจฉัยของศาลต่างๆ ที่อาศัยอำนาจจากประกาศรัฐประหารโดยเฉพาะกระบวนการสอบสวนที่เริ่มต้นจาก คตส.นอกจากเป็นการกลับไปยึดหลัก “นิติรัฐ” ยังเป็นการยุติความแตกแยกในสังคมด้วย เพราะนี่ไม่ใช่ “เรื่องของคนคนเดียว” อย่างที่อ้าง แต่เป็นเรื่อง “สังคมแตกแยกกันเพราะการจัดการกับคนคนเดียว” ด้วยกระบวนการที่ไม่ชอบธรรม

          และการลบล้างก็ไม่ได้หมายถึงพ้นผิด ล้างผิด แต่หมายถึงคดีความต่างๆ “เสียเปล่า” กลับไปนับหนึ่งใหม่ ซึ่งใครที่ต้องการเอาผิดทักษิณ ก็สามารถไปแจ้งความกล่าวโทษ ยื่นเรื่องต่ออัยการหรือ ปปช.ให้ดำเนินกระบวนการเอาผิดใหม่ได้ทันที

         มีคนถามว่าถ้าลบล้างคำพิพากษายึดทรัพย์ ต้องคืนเงิน 4.6 หมื่นล้านให้ทักษิณไหม คืนสิครับ แต่วันรุ่งขึ้นคุณก็สามารถไปแจ้งอัยการหรือแจ้ง ปปช.ขอคำสั่งศาลอายัดไว้ก่อนได้ เพื่อดำเนินคดีกันใหม่ ซึ่งไม่ใช่แค่คดีที่ดินรัชดา คดียึดทรัพย์ แต่คดี CTX ที่หญิงเป็ดเงียบหายไปเฉยๆ คดีกล้ายาง คดีอื่นใดก็แล้วแต่ “นับหนึ่งใหม่”ได้หมด

          การดำเนินคดีใหม่ ต้องไม่ใช้สำนวนการสอบสวนของ คตส. แต่ถ้าสอบสวนออกมาแล้ว อัยการ ปปช.ได้หลักฐานเหมือน คตส.เห็นด้วยกับ คตส.ก็เป็นสิทธิอิสระในการวินิจฉัยของท่าน ศาลจะมีคำพิพากษาออกมาเหมือนเดิม หรือยึดวัวทั้งตัว ก็เป็นสิทธิอิสระในการวินิจฉัยของท่าน ใครจะเห็นด้วยไม่เห็นด้วย แม้อาจยังวิพากษ์วิจารณ์ แต่ก็ไม่สามารถกล่าวว่าเป็นผลพวง “รัฐประหารตุลาการภิวัตน์”


          คำถามสำคัญคือ รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะเห็นด้วยและทำตามข้อเสนอของนิติราษฎร์ไหม ออเหลิมทำท่าเห็นด้วย แต่ก็บอกว่าทำยาก คนในรัฐบาลหลายคน “เห็นด้วยในหลักการ” แต่เอาเข้าจริงผมไม่เชื่อว่ารัฐบาลจะรับไปทำหรอก เพราะอะไร เพราะรัฐบาลหวังใช้วิธีการนิรโทษกรรม หรือถวายฎีกา ซึ่งง่ายกว่า มีการเคลื่อนไหวกันมาเป็นขั้นเป็นตอนอย่างน่าสังเกต
          ขณะเดียวกัน รัฐบาลที่ได้อำนาจแล้ว ก็ไม่อยากฟื้นฝอยหาตะเข็บไปลบล้างนิรโทษกรรม คปค. เอาบิ๊กบัง บิ๊กชลิต อนุพงษ์ ประยุทธ์ ดาวพงษ์ ฯลฯ มาขึ้นศาลหรอก รัฐบาลอยากใช้วิธีการทางการเมืองเข้าไปแต่งตั้งโยกย้ายแย่งยื้อซื้อตัวซื้อใจซื้ออำนาจมากกว่า

           ส่วนคดียุบพรรคไทยรักไทย 111 กรรมการบริหารพรรคที่ถูกตัดสิทธิ ก็จะครบกำหนดเดือน พ.ค.ปีหน้า ไม่มีใครเดือดร้อนต้องการลบล้างคำพิพากษาหรอก

          ฉะนั้นผมจึงไม่เชื่อว่าข้อเสนอของนิติราษฎร์จะมีผลในทางปฏิบัติ เว้นเสียแต่จะมีมวลชนเสื้อแดงเข้าชื่อกันเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แล้วเคลื่อนไหวให้ลงประชามติ (เพราะรัฐสภาคงไม่รับร่างอยู่ดี)

          ข้อกล่าวหาสกปรกที่ว่านิติราษฏร์ “รับงาน” “รับจ๊อบ” จึงไม่จริง เพราะถ้าทักษิณ “สั่งงาน” ได้ทักษิณคงอยากให้นิติราษฎร์แถลงสนับสนุนนิรโทษกรรมหรือสนับสนุนการถวายฎีกามากกว่า เพราะการ “นับหนึ่งใหม่” ไม่ได้หมายความว่าทักษิณจะอยู่สุขสบายดี แต่ต้องมีชนักปักหลังไปตลอดชีวิต นิสัยทักษิณไม่ชอบนับหนึ่งใหม่ แต่ทักษิณชอบเรียนลัดกระโดดข้ามไปเลข 10 มากกว่า

          ข้อเสนอของนิติราษฎร์จึงเป็นข้อเสนอทางทฤษฎี ซึ่งไม่มีทางเป็นจริงทางปฏิบัติ แต่เป็นการประกาศแนวคิดที่ถูกต้อง ถูกหลักการ ซึ่งจะพิสูจน์กันต่อไปในภายหน้า เป็นการเปิดประตูปัญญา คิดนอกกรอบ จากกรอบจารีตที่ยอมรับอำนาจรัฐประหาร มาสู่แนวคิดใหม่ว่า อำนาจประชาชนสามารถลบล้างอำนาจรัฐประหาร และสามารถเอาผิดรัฐประหารได้ในภายหลัง (ไม่ใช่เอาผิดย้อนหลัง เพราะรัฐประหารเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ที่บังคับใช้อยู่ขณะนั้น)

          อย่างน้อย ทหารที่จะทำรัฐประหารครั้งหน้า ก็จะได้รู้ตัวว่า ครั้งนี้พวกเมริงอาจจะไม่ลอยนวลอีกแล้วนะ

          อย่างที่บอกว่าวันที่นิติราษฎร์แถลง ผมไปนั่งฟังอยู่ด้วย ท่ามกลางคนเสื้อแดงเกือบทั้งหมด ขอบอกว่าคนเสื้อแดงไม่ได้มีปฏิกิริยายินดียินร้ายอะไรนัก กับข้อเสนอให้ “นับหนึ่งใหม่” ในคดีทักษิณ แต่ที่พวกเขาปรบมือไชโยโห่ร้องด้วยความดีใจคือ การได้รับรู้ว่า อำนาจรัฏาธิปัตย์ของประชาชนสามารถลบล้างนิรโทษกรรมรัฐประหารได้ คำถามที่พวกเขาถาม ความเห็นที่พวกเขาแสดง ล้วนแล้วแต่อยู่ในประเด็นนี้ ไม่ได้มีใครซักถามเรื่องทักษิณ

           ขอบอกว่าผมทึ่งด้วยครับ มวลชนที่มาหลากหลาย มีจำนวนมากไม่ใช่ “คนกรุงคนชั้นกลางผู้มีการศึกษา” แต่พวกเขาสามารถทำความเข้าใจประเด็นกฎหมาย ซึ่งต่อให้ “คนกรุงคนชั้นกลางผู้มีการศึกษา” ก็เข้าใจได้ไม่หมด แน่นอน ผมคิดว่ามวลชนเสื้อแดงไม่เข้าใจทั้งหมดหรอก แต่ที่เขาเข้าใจเนื้อหา เข้าใจหลักการและเหตุผลได้มากกว่า 70% ก็ถือว่าพวกเขามาไกลมากแล้ว

หลักการทำให้เสียเปล่า


แก้วสรร อติโพธิ เขียนถาม-ตอบลงในสยามรัฐ บอกว่ากฎหมายเป็นโมฆะไม่ได้

          “ในระบบกฎหมายมหาชนไม่มีข้อความคิดนี้ เพราะถ้ายอมให้กฎหมายฉบับหนึ่งถูกชี้ในวันนี้ว่าเป็น”กฎหมาย” แล้ววันหน้ากลับมีแมวโดราเอมอนขี่ยานข้ามกาลเวลาย้อนหลังมาชี้ว่าไม่เคยมีกฎหมายนั้นอยู่เลยได้อย่างนี้แล้วล่ะก็ สังคมก็อยู่กันไม่ได้เพราะระบบการบังคับใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม หาความแน่นอนไม่ได้เลย”

          ความจริงมีนะครับ อ.แก้วสรรอาจจะลืมไป รัฐธรรมนูญก็กำหนดไว้ในเรื่องการออกพระราชกำหนดของรัฐบาล

          รัฐธรรมนูญมาตรา 184 วรรคสาม กำหนดว่าถ้ารัฐสภาไม่อนุมัติ ก็ให้พระราชกำหนดนั้นตกไป “ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น”

          ขณะที่มาตรา 185 วรรคสามกำหนดว่า ในกรณีที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาเข้าชื่อกันให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ว่าการออกพระราชกำหนดขัดต่อรัฐธรรมนูญ “ให้พระราชกำหนดนั้นไม่มีผลบังคับมาตั้งแต่ต้น”


          สองมาตรานี้แตกต่างกัน กรณีแรก สมมติ พ.ร.ก.แปรสัญญาสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต ถ้าไม่ผ่านสภา ไอ้ที่เปลี่ยนมาเก็บค่าสัมปทานเป็นภาษี ระหว่าง 2-3 เดือนที่ใช้ พ.ร.ก.ไม่ต้องส่งคืนไม่ต้องยกเลิก เพียงแต่เมื่อ พ.ร.ก.ตกก็กลับไปใช้แบบเดิม ส่วนกรณีที่สอง ไม่มีผลบังคับมาตั้งแต่ต้น แปลว่าต้องล้างบัญชีส่งคืนให้หมด

          สาเหตุที่แตกต่างกันเพราะกรณีที่สองขัดรัฐธรรมนูญ จึงเสียเปล่าทั้งหมด กรณีแรก ตกไปเพราะรัฐบาลมีความเห็นอย่างนี้แต่สภาไม่เห็นด้วย เป็นแค่เรื่องความเห็นไม่ใช่ขัดหลักกฎหมาย

          กฎหมายจึงทำให้เสียเปล่าได้ กรณีตามมาตรา 185 พระราชกำหนดที่ออกโดยรัฐบาลจากการเลือกตั้ง เมื่อขัดรัฐธรรมนูญก็ต้องเสียเปล่า แล้วกฎหมายที่ออกโดยคณะรัฐประหารถือปืนขี่รถถังประกาศปากเปล่า (ไม่มีพระปรมาภิไธยเสียด้วยซ้ำ) ไม่ร้ายแรงยิ่งกว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือ (อ้อ เขาฉีกรัฐธรรมนูญไปแล้ว จึงไม่ขัด)

          เพียงแต่การทำให้เสียเปล่าต้องคำนึงถึงความเป็นจริง คำนึงถึงผลกระทบ ที่มีต่อสังคม ต่อประชาชน ต่อผู้มีส่วนได้เสียโดยสุจริต ฉะนั้นการทำให้เสียเปล่าจึงต้องขีดวงให้จำกัดเท่าที่จำเป็น เท่าที่เป็นไปได้ และให้มีผลกระทบน้อยที่สุด แต่ตรงเป้า และเข้าจุดประสงค์มากที่สุด

          นิติราษฎร์จึงเสนอให้การทำรัฐประหารเสียเปล่า โดยขีดวงจำกัดเฉพาะวันที่ 19 กันยายน ถึง 30 กันยายน 2549 ก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญเฉพาะกาล 2549 โดยถือว่าอะไรก็ตามที่คณะรัฐประหารทำในระหว่างนั้นไม่มีผล ถือเสียว่าระหว่างนั้นรัฐธรรมนูญ 2540 ยังใช้บังคับอยู่ ถือเสียว่าประเทศถูกยึดครองโดยอำนาจเถื่อน และไม่ยอมรับอำนาจเถื่อนนั้น

          ส่วนตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2549 ถึงแม้เราจะไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 และรัฐบาลที่ตั้งโดย คปค.ว่ามีความชอบธรรม แต่เราก็ต้องยอมรับว่า รัฐธรรมนูญ 2540 ถูกโจรฆ่าตายไปแล้ว รัฐบาลทักษิณถูกยึดอำนาจไปแล้ว จะบอกว่าลบล้างทั้งหมดโดยถือว่ารัฐธรรมนูญ 2540 ยังอยู่ รัฐบาลทักษิณยังอยู่ มันก็ขัดความเป็นจริงและจะมีปัญหายุ่งยากซับซ้อนตามมามากมาย อาทิเช่น มติคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลสุรยุทธ์ กฎหมายที่ออกโดย สนช.ถ้ายกเลิกเสียทั้งหมดก็จะส่งผลกระทบวงกว้างต่อประชาชนผู้สุจริต ต่อการทำสัญญาผูกพันกับต่างประเทศ ต่อการบริหารราชการ การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ การจัดการงบประมาณ ฯลฯ ซึ่งเราไม่ใช่โดราเอมอนที่จะย้อนไปแก้ไขทุกสิ่งอย่างได้


          ประเด็นคือเรามีเป้าประสงค์อะไร เป้าประสงค์คือการสร้างมิติใหม่ของระบอบประชาธิปไตยที่ปฏิเสธอำนาจรัฐประหาร ฉะนั้นการจำกัดวงไปทำให้รัฐประหารเสียเปล่า ให้ประกาศคณะรัฐประหารเสียเปล่า ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน ถึง 30 กันยายน จึงเพียงพอแล้ว เพราะครอบคลุมประเด็นสำคัญที่สุดนั่นคือ ไม่ยอมรับการนิรโทษกรรมตนเองของคณะรัฐประหาร

          ส่วนประกาศ คปค.ทั้ง 30 ฉบับ การทำให้เสียเปล่า ในบางฉบับ ก็ไม่ได้มีความหมายความสำคัญอยู่แล้ว เช่นประกาศห้ามกักตุนสินค้า (ตามฟอร์มรัฐประหารทุกยุคทุกสมัย) ประกาศห้ามพรรคการเมืองเคลื่อนไหว

          ประกาศบางฉบับมีผลสืบเนื่อง เช่น ประกาศ คปค.ฉบับที่ 27 และคำวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักไทยของตุลาการรัฐธรรมนูญ เมื่อทำให้เสียเปล่าก็ต้องแยกแยะตามความเป็นจริง เช่น ไม่ใช่ว่าเสียเปล่าแล้วพรรคไทยรักไทยก็ยังอยู่ เพราะพรรคไทยรักไทยตายไปแล้ว เพียงแต่ต่อไป ใครจะกลับมาจดทะเบียนใช้ชื่อพรรคไทยรักไทยก็ย่อมได้ 111 กรรมการบริหารพรรคก็ไม่ใช่ว่าจะกลับมาทวงตำแหน่ง ส.ส.รัฐมนตรี ที่แล้วก็ต้องแล้วไป เพียงแต่กฎหมายถือว่าคุณเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่เคยถูกตัดสิทธิ

         ประกาศ คปค.ยังรวมถึงการตั้ง กกต.และ ปปช.ถามว่าถ้าทำให้เสียเปล่าจะมีผลอย่างไร ที่แน่ๆ กกต.และ ปปช.ต้องพ้นจากตำแหน่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าการกระทำของ กกต.และ ปปช.เสียเปล่าทั้งหมด เพราะเราไม่สามารถย้อนเวลาไปแก้ไขให้เลือกตั้ง 2550,2554 กันใหม่ การใดที่ทำไปโดยสุจริตหรือแก้ไขไม่ได้แล้ว ก็ต้องรับรองว่าไม่กระทบกระเทือน (เหมือนพระราชกำหนดตามมาตรา 184)

         การทำให้เสียเปล่าต้องคำนึงถึงความเป็นจริง จึงไม่ใช่ว่าจะต้องย้อนไปล้างประกาศคณะปฏิวัติตั้งแต่ปี 2475 อย่างที่พวกฝ่ายแค้นประชด(ทั้งที่รู้เจตนาแต่พยายามพูดให้เลอะ) การคำนึงถึงความเป็นจริงที่ดีที่สุดคือขีดเส้นเวลา ณ วันที่ 30 ก.ย.อะไรที่คณะรัฐประหารทำก่อนหน้านั้น ทำให้เสียเปล่าหมด มีข้อยกเว้นเฉพาะเรื่องที่แก้ไขไม่ได้แล้วตามความเป็นจริง ส่วนอะไรที่คณะรัฐประหารทำหลังจากนั้น ต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่แก้ไขไม่ได้แล้ว มีข้อยกเว้นบางเรื่องที่ต้องตามไปแก้ไข ด้วยการออกพระราชบัญญัติ หรือด้วยการเพิกถอนเป็นเรื่องๆ อย่างที่ อ.แก้วสรรเขียน

          “ถาม แล้วที่ผ่านมา เมื่อเปลี่ยนเข้าสู่ระบอบรัฐธรรมนูญแล้ว เราจะจัดการกับผลพวงทางกฎหมายในช่วงรัฐประหารได้หรือไม่อย่างไร ?

ตอบ ได้เสมอครับ แต่ต้องอยู่ในกรอบต่อไปนี้


           1. ถ้าเป็นกฎหมายที่ไม่ถูกต้องไม่เหมาะสม สภาผู้แทนก็ตราพระราชบัญญัติยกเลิกแก้ไขเป็นฉบับๆไป โดยชี้บ่งได้ว่าไม่ดีไม่เหมาะอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่มีหรอกครับที่จะบอกว่าโมฆะมาแต่แรกทั้งหมด

          2. ถ้าเป็นคำสั่งที่มีผลบังคับเฉพาะ และมีเหตุไม่ยุติธรรมละเมิดสิทธิพื้นฐานในรัฐธรรมนูญ ก็เพิกถอนหรือไม่รับบังคับใช้อีกต่อไป อาจทำได้โดยสภาเช่นการที่ตรากฎหมายปล่อยคุณอุทัย พิมพ์ใจชน ออกจากคุก เพราะถูกอำนาจเผด็จการสั่งขังโดยอำเภอใจ หรือกรณีที่ศาลปฏิเสธไม่รับบังคับให้มีการยึดทรัพย์ อดีตนายกฯชาติชายและคณะ ที่ถูก รสช.สั่งยึดทรัพย์โดยพลการ สองคดีนี้มันไม่ใช่การทำงานของกระบวนการยุติธรรมปกติ จึงถูกปฏิเสธโดยองค์กรตามรัฐธรรมนูญได้ทั้งสิ้น”

          ที่จริงผมชอบที่ อ.แก้วสรรเขียนตรงนี้มากเลย เพราะ อ.แก้วสรรก็ยอมรับว่าคำสั่งรัฐประหารที่ไม่ยุติธรรม ละเมิดสิทธิพื้นฐาน สามารถยกเลิกได้โดยองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เพียงแต่ อ.แก้วสรรเห็นว่าต้องยกเลิกเป็นฉบับๆ ขณะที่ อ.วรเจตน์เห็นว่าต้องยกเลิกทั้งพวง เพื่อแสดงเจตจำนงลบล้างรัฐประหารโดยสิ้นเชิง

          ใจผมนะครับ ใครไม่ยอมรับการลบล้างผลรัฐประหารทั้งพวง ก็ไม่เป็นไร ผมอยากเอาตาม อ.แก้วสรร ลบล้างเรื่องเดียวพอ คือเข้าชื่อกันลงประชามติ ให้รัฐธรรมนูญ 2549 มาตรา 27 เสียเปล่า คปค.นิรโทษกรรมตัวเองไม่ได้ ต้องขึ้นศาลสถานเดียว (แต่อาจจะกันบิ๊กบังไว้เป็นพยาน ลดโทษเหลือ 1 ใน 3 ถ้ายอมซัดทอดผู้บงการ-ฮิฮิ)

          คราวนี้จี้ถามใหม่เรียงตัว ใครจะตอบว่ารัฐประหารทำเพื่อชาติราชบัลลังก์ ทำเพื่อกวาดล้างคนโกง ไม่ควรเอาโทษ หรือเอาโทษแล้วกลัวคุณพ่อทหารจะยึดอำนาจอีก ฯลฯ ก็เชิญตามสบาย

ใบตองแห้ง
21 ก.ย.2554

http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น