วันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2554

“ลิงถักแห” และทางออก


รัฐประหาร2549กับปัญหา“ลิงถักแห”และทางออก
ข้อเสนอประเด็นความคิดที่ให้ถือเสมือนหนึ่งว่า บรรดากระบวนการทางกฎหมาย คำสั่ง หรือคำพิพากษาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องกับการใช้อำนาจจากการรัฐประหารดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่มีผลหรือไม่เคยเกิดขึ้น เป็นข้อเสนอความคิดที่อาจมีผู้ใช้ประโยชน์ในทางบิดเบือนไปสู่การวางเฉยไม่ดำเนินกระบวนการยุติธรรมต่อผู้กระทำความผิดจากการรัฐประหาร และการกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการรัฐประหาร

โดย รองศาสตราจารย์ ดร. วรพล พรหมิกบุตร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
22 กันยายน 2554

นักวิชาการกลุ่ม “นิติราษฎร์” มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เผยแพร่เอกสารคำแถลงเมื่อช่วงกลางเดือนกันยายน 2554 เกี่ยวกับปัญหาการเมืองไทยจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ว่า การรัฐประหารดังกล่าวเป็นความผิดทางกฎหมาย ทำให้คำสั่งทางกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องตามมา หลังจากนั้นมีปัญหาทางนิติธรรมที่อาจถือเสมือนว่าไม่เคยมีคำสั่งเหล่านั้น

นักการเมืองแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนตอบโต้ว่า กระบวนการทางกฎหมายและบรรดาคำสั่งต่าง ๆ หลังการรัฐประหาร 2549 ดำเนินไปตามหลักนิติรัฐและนิติธรรม ทั้งยังกล่าววิจารณ์กลุ่มนิติราษฎร์ว่า ลำเอียงมุ่งไปสู่การออกกฎหมายนิรโทษกรรมช่วย “คน ๆ เดียว”1 ให้พ้นผิด

ประเด็นคำแถลงของกลุ่มนิติราษฎร์เกี่ยวข้องกับ “ความผิด” ทางกฎหมาย และ “ความพลาด” ทางการเมืองของคณะรัฐประหาร 2549 ไม่ใช่ประเด็นความคิดใหม่ที่เพิ่งมีการริเริ่มนำเสนอต่อสาธารณชนไทย

แต่เป็นประเด็นความคิดที่กลุ่มพลังชนชั้นกลางในเมือง และคนรากหญ้าชนบทจำนวนมากได้นำเสนอสู่การพิจารณาถกเถียง และวิพากษ์วิจารณ์ตอบโต้กันในหลายวาระโอกาสก่อนหน้าแล้วตั้งแต่หลังเกิดการรัฐประหาร 2549(2)

ตัวอย่างสำคัญรายหนึ่ง เช่น การนำเสนอประเด็นการปราศรัยและการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนหลายครั้งจากนายมานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ (อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา อดีตสมาชิกพรรคไทยรักไทย, พลังประชาชน, เพื่อไทย)

รวมทั้งเอกสารเผยแพร่ที่ระบุว่าการรัฐประหาร 2549 เป็นการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113

ดังนั้นผลพวงของการรัฐประหาร เช่น “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550” จึงไม่มีสถานะเป็นกฎหมายตามระบอบประชาธิปไตยแต่เป็น “กฎโจร” ที่เกิดจากระบอบเผด็จการ

ผู้เขียนมีความเห็นเช่นเดียวกันกับนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์และอาจารย์มานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ ว่าการรัฐประหาร 2549 เป็นการกระทำผิดทางกฎหมายที่มีโทษทางอาญาขั้นร้ายแรง และจะเริ่มต้นบทอภิปรายในข้อเขียนชิ้นนี้จากประเด็นความคิดร่วมดังกล่าว

แม้จะเห็นด้วยกับประเด็นความคิดเดียวกันว่าการรัฐประหาร 2549 เป็นการกระทำผิดกฎหมาย (หรือเป็นการกระทำทางการเมืองที่ขัดหลักนิติธรรม) แต่ผู้เขียนมีความเห็นต่อเนื่องแตกต่างจากกลุ่มนิติราษฎร์ที่นำเสนอประเด็นความคิดให้ถือว่าบรรดาคำสั่งต่าง ๆ (รวมทั้งคำพิพากษาของศาล) ที่เป็นผลพวงจากการรัฐประหารนั้นเป็นสิ่งที่เสมือนหนึ่งไม่เคยเกิดขึ้นจริงหรือไม่มีผล

ผู้เขียนมีความเห็นตามพื้นฐานข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่าการรัฐประหาร 2549 เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง และมีผลทางกฎหมายเป็นการกระทำความผิดที่ควรต้องนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม บรรดากระบวนการทางกฎหมายและคำสั่งหรือคำพิพากษาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องจากอำนาจรัฐประหารครั้งนั้นก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงและก่อผลกระทบต่าง ๆ อย่างสำคัญลึกซึ้ง ทั้งต่อบุคคล องค์กร และต่อระบบความยุติธรรมของสังคมไทย

ผู้เขียนเห็นว่าเราไม่สามารถฝืนความจริง (และไม่ควรฝืนความจริง) โดยพยายามทำให้สังคมเชื่อว่าหรือให้ถือเสมือนหนึ่งว่าสิ่งเหล่านั้นไม่เคยเกิดขึ้นจริง

ความเห็นข้างต้นตั้งอยู่บนหลักนิติธรรมว่า ผู้กระทำผิดไม่ควรพ้นผิด ผู้ไม่กระทำผิดไม่ควรรับโทษ

ผู้เขียนเห็นว่า ข้อเสนอประเด็นความคิดที่ให้ถือเสมือนหนึ่งว่าบรรดากระบวนการทางกฎหมาย คำสั่ง หรือคำพิพากษาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องกับการใช้อำนาจจากการรัฐประหารดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่มีผลหรือไม่เคยเกิดขึ้น เป็นข้อเสนอความคิดที่อาจมีผู้ใช้ประโยชน์ในทางบิดเบือนไปสู่การวางเฉยไม่ดำเนินกระบวนการยุติธรรมต่อผู้กระทำความผิดจากการรัฐประหาร และการกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการรัฐประหารดังกล่าว (แม้จะเป็นข้อเสนอที่เริ่มต้นจากเจตนาดีในการแก้ไขความขัดแย้ง)

ผู้เขียนเห็นว่า สังคมไทยยังมีช่วงเวลาตามอายุความทางกฎหมายในการดำเนินการคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งที่เป็นผลเกี่ยวพันกับการกระทำผิดดังกล่าวด้วยหลักนิติธรรมได้ แต่หากสังคมไทยปล่อยปละละเลยหรือวางเฉยไม่ดำเนินกระบวนการยุติธรรมต่อผู้กระทำผิดเหล่านั้น กลับจะกลายเป็นการแก้ไขปัญหาแบบ “ซุกไว้ใต้พรม” และกลายเป็นแนวทางปฏิบัติที่เอื้อต่อการเกิดรัฐประหารครั้งใหม่ได้อีกในอนาคต

เราอาจจัดระเบียบข้อเท็จจริงที่เป็นรายละเอียดการกระทำต่าง ๆ ตามประเด็นที่เกี่ยวข้องตามลำดับโดยสังเขปเพื่อนำไปสู่การพิจารณาแสวงหาทางออกที่เหมาะสมต่อไปได้ ดังนี้

(1)การใช้อำนาจบริหารโดยรัฐบาลพรรคไทยรักไทยและนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ก่อนการรัฐประหาร 2549

(2)การก่อการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

(3)การใช้อำนาจเกี่ยวเนื่องกับการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ทั้งโดยคณะรัฐประหารโดยตรงและโดยบุคคลหรือองค์กรต่าง ๆ ที่เป็นผลสืบเนื่องจากการรัฐประหารดังกล่าว


ภายในช่วงเวลา 1 และ 2 และ 3 ข้างต้นมีการกระทำของบุคคลและองค์กรที่หลากหลายเกิดขึ้นในทางความเป็นจริง ประเด็นและรายละเอียดการกระทำเหล่านั้นอาจถูกแจกแจงนำเสนอเพื่อริเริ่มดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมว่า การกระทำใดเป็นความผิด การกระทำใดไม่เป็นความผิด ; สังคมไทยสามารถจะใช้และควรใช้หลักนิติธรรมข้อเดียวกัน (ผู้กระทำผิดไม่ควรพ้นผิด ผู้ไม่กระทำผิดไม่ควรรับโทษ) เพื่อดำเนินการกับบุคคลหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการกระทำต่าง ๆ อย่างไม่เลือกปฏิบัติ

ทั้งนี้โดยใช้หลักนิติธรรมดังกล่าวประกอบกับหลักเมตตาธรรม หลักโมฆียกรรม และหลักโมฆะกรรมตามกรณีที่เป็นจริงต่อไป 
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น