วันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2554

ถามหาความกล้าหาญ


ถามหาความกล้าหาญของนักนิติศาสตร์และนักรัฐศาสตร์ไทย อีกครั้งหนึ่ง

ต้องอาศัยความกล้าหาญของนักวิชาการทั้งทางด้านนิติศาสตร์และด้านรัฐศาสตร์ทั้งหลาย ที่จะเป็นผู้ให้ความเห็นหักล้างแนวบรรทัดฐานเดิมที่มีมาในอดีต แล้วสร้างบรรทัดฐานใหม่เสียให้ถูกต้อง ปลี่ยนแนวคิดเสียใหม่ว่า การทำรัฐประหารไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ก็ตามเป็นการกระทำผิดกฎหมายที่ต้องได้รับโทษเสมอ

โดย ชำนาญ จันทร์เรือง
22 กันยายน 2554

ในกระแสของการสนับสนุนและคัดค้านกันอย่างหนัก ต่อแถลงการณ์ของคณะอาจารย์นิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ใช้ชื่อว่า “นิติราษฎร์”ที่แถลงเนื่องในโอกาสครบรอบ ๕ ปี ของการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ว่าไม่ให้การรับรองการกระทำของคณะรัฐประหาร และผู้ที่ใช้กฎหมายของคณะรัฐประหารไม่ว่า จะเป็นศาลหรือองค์กรอื่นใดว่ามีผลตามกฎหมาย พูดง่ายๆก็คือมีค่าเหมือนไม่เคยเกิดขึ้นนั่นเอง

ผมในฐานะที่เคยเสนอแนวความคิดนี้มาตั้งแต่ภายหลังการรัฐประหารใหม่ๆ โดยได้เขียนบทความตีพิมพ์ในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๙ และมีการนำไปเผยแพร่กันอย่างกว้างขวางในหลายๆ สื่อ อาทิ ประชาไทย เว็บไซต์เครือข่ายกฎหมายมหาชนไทย(www.pub-law.net) ฯลฯ จึงอยากนำบทความดังกล่าวมาเสนอเพื่อถามหาความกล้าหาญของนักนิติศาสตร์และนักรัฐศาสตร์ไทยอีกครั้งหนึ่ง

เพื่อเป็นการสนับสนุนแถลงการณ์ของ “นิติราษฎร์”ครับ

----------

เมื่อช่วงระยะเวลาที่ผ่านพ้นการดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์กับการรัฐประหารที่มาพร้อมกับการประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรมาถึง หลาย ๆ คนเริ่มรู้สึกถึงความอึดอัดของการถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพที่พึงมี

ไม่ว่าจะเป็นสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารหรือสิทธิเสรีภาพ ในการชุมนุมทางการเมือง

หลายๆคนหงุดหงิดกับการที่ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นในรายการวิทยุ โทรทัศน์ หรือเว็บไซต์ที่ตนเองชื่นชอบเพราะต้องถูกปิดลงเพราะเหตุแห่งความ ”บ้าจี้”ของคนบางคน

หลาย ๆ คนถามหาความถูกต้องความชอบธรรมว่า การใช้กำลังเข้าล้มล้างรัฐบาลซึ่งเป็นวิธีการที่ผิดกฎหมายและฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง แล้วออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่ตนเองว่าถูกต้องด้วย หลักนิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์หรือไม่อย่างไร

นักวิชาการบางคนออกมาบอกว่า คณะรัฐประหารที่ใช้กำลังเข้าล้มล้างรัฐบาลได้สำเร็จย่อมเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งหมายถึงผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐหรือองค์อธิปัตย์(sovereign ) เพราะเป็นผู้ที่ใช้กำลังเข้ายึดครองอำนาจอธิปไตยได้สำเร็จ

ทั้งๆที่มุมมองทางด้านรัฐศาสตร์นั้น นักรัฐศาสตร์ทั้งหลายต่างก็ยอมรับในลัทธิประชาธิปไตย(popular sovereign) ที่ถือว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนหรือในอีกชื่อหนึ่งก็คือทฤษฎีสัญญาประชาคม(social contract theory)ที่มีรากฐานมาจากความคิดที่ว่ามนุษย์เป็นผู้สร้างรัฐ โดยที่ประชาชนตกลงยินยอมให้ผู้ปกครองใช้อำนาจอธิปไตยแทนตนตามเจตจำนงของประชาชน

หากผู้ปกครองละเมิดเจตจำนงของประชาชน ประชาชนมีสิทธิถอดผู้ปกครองได้ตามวิถีทางประชาธิปไตย มิใช่การแย่งชิงอำนาจอธิปไตยไปจากประชาชนโดยการใช้กำลังเข้ายึดอำนาจแล้วออกกฎหมายมาบังคับเอากับประชาชน

ในเรื่องของความชอบธรรมของคณะรัฐประหารนั้นแม้แต่องค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการเองก็ตาม ในอดีตเมื่อมีการนำคดีเข้าสู่ศาล ก็ได้มีแนวบรรทัดฐานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ว่า เมื่อคณะรัฐประหารยึดอำนาจได้สำเร็จ ย่อมเป็นผู้ปกครองบ้านเมืองหรือแม้กระทั่งองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติเองก็ตามก็ยอมรับว่าประกาศหรือคำสั่งของคณะรัฐประหารเป็นกฎหมาย

เมื่อจะยกเลิกก็ต้องออกกฎหมายใหม่มายกเลิก สุดแล้วแต่ว่าประกาศหรือคำสั่งที่ออกมานั้นเป็นกฎหมายอยู่ใน ลำดับศักดิ์ใดก็ออกกฎหมายในลำดับศักดิ์ที่เท่ากันหรือสูงกว่ามายกเลิกประกาศหรือคำสั่งนั้น

ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เป็นแนวคิดและความเชื่อของบรรดาเหล่านักนิติศาสตร์ และนักรัฐศาสตร์ไทยมาโดยตลอดว่าหากยึดอำนาจได้สำเร็จก็เป็นรัฏฐาธิปัตย์ไม่ต้องรับโทษทัณฑ์ใดใด จึงเป็นเหตุให้เรามีการก่อการรัฐประหารทั้งที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลวหลายสิบครั้ง ซึ่งมากที่สุดในโลกนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ เป็นต้นมา

ทั้ง ๆ ที่ชื่อของประเทศไทยแปลว่า ประเทศแห่งความเป็นอิสระและเสรี แม้แต่พม่า เขมร ลาว เวียดนาม อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ชิลี อาร์เจนตินา โคลัมเบีย ปารากวัย ซูดาน ซิมบับเว เซราลีโอนส์ ระวันดา คองโก ลิเบีย อิรัก อาฟกานิสถาน ปากีสถาน สุรินัม เนปาล ฯลฯ ที่ล้วนเคยแต่ตกเป็นเมืองขึ้นของนักล่าอาณานิคมทั้งหลาย แต่ประเทศเหล่านั้นก็ยังมีการรัฐประหารน้อยครั้งกว่าประเทศไทย

กลับมาทางมุมมองด้านนิติศาสตร์หรือกฎหมาย แน่นอนว่า การก่อการรัฐประหารนั้นเป็นการกระทำความผิดตามกฏหมาย โดยประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๓ ก็ระบุไว้ชัดว่าผู้ใดใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ (๑) ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ (๒) ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ

หรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ หรือ (๓) แบ่งแยกราชอาณาจักร หรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิตและมีอายุความที่จะนำเอาตัวผู้กระทำความผิดตามมาตรานี้มาฟ้องร้องดำเนินคดีถึงยี่สิบปี

แม้ว่าการก่อการรัฐประหารของไทยที่ผ่านมาทุกครั้งจะถือว่ารัฐธรรมนูญถูกยกเลิกตามความเห็นของนักวิชาการทั้งนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ก็ตาม แต่เราลืมไปว่าประมวลกฎหมายอาญามิได้ถูกยกเลิกไปแต่อย่างใด การกระทำดังกล่าวก็ย่อมถือว่ามีความผิดอยู่นั่นเอง

ถึงแม้ว่าจะมีการออกกฎหมายมา นิรโทษกรรมก็ตาม ซึ่งก็หมายความว่าเป็นความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษไม่ได้หมายความว่าการกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดแต่อย่างใด

ประเด็นสำคัญที่จะต้องพิจารณาก็คือว่าการออกกฎหมายมานิรโทษกรรมให้แก่ตนเอง ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง จะถูกต้องหรือไม่ ซึ่งก็ต้องอาศัยความกล้าหาญของนักวิชาการทั้งทางด้านนิติศาสตร์และด้านรัฐศาสตร์ทั้งหลายที่จะเป็นผู้ให้ความเห็นหักล้างแนวบรรทัดฐานเดิมที่มีมาในอดีต ซึ่งก็หมายความรวมไปถึงผู้ที่จะมีหน้าที่วินิจฉัยเมื่อมีการนำคดีขึ้นสู่ศาลไม่ว่าจะเป็นศาลยุติธรรมหรือศาลอื่นใดก็ตามหากจะมีผู้ฟ้องร้องเป็นคดีความขึ้นมา

จริงอยู่ความเชื่อที่ว่าคณะรัฐประหารคือรัฏฐาธิปัตย์ ประกาศหรือคำสั่งของคณะรัฐประหารคือกฎหมายต้องปฏิบัติตามนั้นมีมาช้านาน แต่ก็มิได้หมายความว่า เราจะเปลี่ยนแปลงความเชื่อหรือแนวคิดนี้ไม่ได้ แม้แต่ความเชื่อที่เป็นวิทยาศาสตร์แท้ ๆ ยังมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอด อาทิ การไม่จัดให้ดาวพลูโตเป็นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะจักรวาลอีกต่อไป โดยวิธีการเพียงเพราะการยกมือของนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ในที่ประชุม

แล้วนับประสาอะไรกับความเชื่อทางนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์ด้านสังคม(social science)ที่อ่อนไหวและยืดหยุ่นกว่าวิทยาศาสตร์แท้ ๆ ( pure science ) จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

หากเราเปลี่ยนแนวคิดเสียใหม่ว่าการทำรัฐประหารไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ก็ตามเป็นการกระทำผิดกฎหมายที่ต้องได้รับโทษเสมอ ประกาศหรือคำสั่งของคณะรัฐประหารไม่ถือว่าเป็นกฎหมาย และกฎหมายนิรโทษกรรมที่ออกให้เพื่อตนเองย่อมไม่มีผลบังคับใช้แล้วไซร้ ประเด็นของการถกเถียงว่ าเราจะทำอย่างไรที่จะป้องกันมิให้มีการรัฐประหารเกิดขึ้นอีกก็คงจะลดลงไป อย่างน้อยก็ประเด็นความชอบด้วยกฎหมายทางด้านนิติศาสต ร์และประเด็นความชอบธรรมของสัญญาประชาคมหรือลัทธิประชาธิปไตยทางด้านรัฐศาสตร์นั่นเอง

ถึงเวลาแล้วที่นักนิติศาสตร์และนักรัฐศาสตร์ทั้งหลายจะต้องมีความกล้าหาญที่จะเปลี่ยนแปลงแนวคิดหรือความเชื่อที่เคยมีมาในอดีตแล้วสร้างบรรทัดฐานใหม่เสียให้ถูกต้อง โดยการไม่ยอมรับการรัฐประหารว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยหลักนิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ ไม่ว่าจะด้วยการอ้างเหตุผลใดใดเพื่อการทำรัฐประหารก็ตาม

หากเราสามารถทำได้เช่นนี้แล้วผู้ที่จะคิดทำรัฐประหารในคราวต่อไปจะได้คิดหน้าคิดหลังให้รอบคอบ จะได้ไม่ทำให้พัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยไทยที่สั่งสมมาเกือบร้อยปีต้องพังทลายลงครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างไม่รู้จักจบจักสิ้นดังเช่นที่ผ่านๆมาเสียที 
http://redusala.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น