ยิ่งนานวันที่พรรคประชาธิปัตย์นั่งเป็นรัฐบาลอยู่ประเทศชาติยิ่งเสียหายจากปรากฏการณ์ที่บุคลากรในพรรค รวมถึงตัวหัวหน้าพรรคไร้ขีดความสามารถในการบริหารจัดการ โดยเฉพาะประเด็นความมั่นคง ปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคใต้ และการแสดงออกของฝ่ายบริหารคือพรรคประชาธิปัตย์
เป็นการตอกย้ำความล้มเหลวของพรรคนี้ ซึ่งจะลามไปถามกลุ่มคนที่สนับสนุนให้เลือกพรรคนี้เป็นรัฐบาล โดยเฉพาะที่เลือกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องตอบสังคมให้ดีว่าควรหรือยังที่จะหยุดการแทรกแซงทางการเมืองเสียที เพราะมีแต่ความเสียหาย
ผู้เขียนเห็นว่าความรุนแรงที่เกิดในภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนายกรัฐมนตรีของไทยเดินทางเข้าพื้นที่ และจุดเกิดเหตุก็ห่างจากพิธีที่กำลังดำเนินการอยู่นั้นไม่ใช่เรื่องปรกติ ถือเป็นการแสดงออกที่ต้องยอมรับ และเป็นการดิสเครดิตรัฐไทยทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายปฏิบัติการว่าไม่มีขีดความสามารถในการวิเคราะห์ วางนโยบาย และดำเนินการแก้ไขปัญหา
คำตอบที่เรามักจะชินชาจนน่ารำคาญเมื่อเวลาเกิดเหตุในยามปรกติแทบจะรายวันนั้น รัฐมักจะบอกว่า “เรามาถูกทางแล้ว” หรือ “ฝ่ายโจรกำลังเพลี่ยงพล้ำจึงต้องออกมาตอบโต้” และล่าสุดเมื่อจนปัญญาเข้าจริงๆก็มักจะอ้างว่า “เราไปเหยียบตาปลาของโจรเข้า” หรือปัญหาของเถื่อนและผลประโยชน์ในพื้นที่ทำให้เกิดผลกระทบวงกว้างกับผู้ร่วมขบวนการที่รับผลประโยชน์ ซึ่งเป็นไปได้ว่าเมื่อปราบของเถื่อนรุนแรงกลุ่มเหล่านี้จึงพากันหาทางออกหรือจ้างวานกลุ่มโจรก่อการร้ายให้เพิ่มความรุนแรงในการปฏิบัติการ
เหตุผลอันหลังสุดนี่แหละเป็นเหตุผลที่ไม่ควรหลุดมาจากปากของมนุษย์ที่ใช้สมองพูด เผอิญขบวนการของรัฐไทยมีพวกที่พูดโดยไม่ผ่านสมองเยอะไปหน่อย เราจึงได้ยินคำพูดเช่นนี้ในปัจจุบัน
อันที่จริงแล้วขบวนการค้าของเถื่อน ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันเถื่อน บุหรี่ และอื่นๆ มีกระจายอยู่หลากหลายทั่วพื้นที่ในประเทศ จะต่างกันก็ตรงประเภทของสินค้า แหล่งที่มา หรือความถี่เท่านั้นเอง ซึ่งเรื่องจริงๆของวงการค้าของเถื่อนเป็นลักษณะปัญหาอาชญากรรมที่มีการสมยอมกันระหว่างนายทุนและเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้นเอง ไม่ได้เป็นปัญหาของสงครามเชิงอุดมการณ์เช่นที่เกิดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
การกล่าวหาว่าปัญหาผลประโยชน์ในพื้นที่คือแหล่งเงินทุนสำคัญของการก่อการร้าย ที่จริงแล้วถือว่าเป็นการดูถูกขบวนการที่เคลื่อนไหวใน 3 จังหวัด ซึ่งมีอุดมการณ์มากกว่าจะเป็นอาชญากร หรือแก๊งผลประโยชน์เหมือนพื้นที่อื่นๆ ความสัมพันธ์ของเงินก่อการร้ายกับของเถื่อนยังห่างไกลกัน ถ้าจะบอกว่าเป็นส่วนของยาเสพติดอาจจะมีความใกล้เคียงกับความเป็นจริง เพราะจริงๆแล้วขบวนการต้องการใช้ยาเสพติดเป็นเครื่องมือในการขยายแนวร่วมให้ง่ายขึ้นและช่วยในการปฏิบัติการ เป้าหมายของกลุ่มก่อการร้ายนั้นไม่ใช่ต้องการขายยาเพื่อเอาเงินมาปฏิบัติการอย่างตรงไปตรงมาแค่ชั้นเดียว
พวกที่ไปโทษว่าการไปจัดการกับของเถื่อน ทำให้กลุ่มก่อการร้ายเคลื่อนไหวนั้น คงมีฐานความคิดจากยุคปลายสงครามเย็น ซึ่งตรงกันข้ามกับปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะถ้าไม่อย่างนั้นความรุนแรงในพื้นที่ที่อยู่ติดกับชายแดนและมีของเถื่อนทะลักเข้ามาจะต้องมีทิศทางและปริมาณในระนาบเดียวกัน
แต่ผู้เขียนเห็นว่าการก่อการร้ายในภาคใต้ กลุ่มนำหรือผู้ที่ดำเนินการเบื้องหลังที่วางนโยบายและยุทธศาสตร์นั้นต้องการที่จะแสวงประโยชน์จากเงื่อนไขต่างๆที่เกิดขึ้นในพื้นที่ให้เป็นประโยชน์กับการปฏิบัติการ ซึ่งในที่นี้ผู้เขียนพุ่งเป้าไปยังเงื่อนไขประวัติศาสตร์เรื่องการปลุกระดมให้คนรู้สึกว่าไม่ใช่คนไทย โดยปลุกความเป็นชาตินิยมว่าคนในพื้นที่เป็นคนมลายูปัตตานี ซึ่งถูกรัฐไทยทำลายลงหรือยึดกุมพื้นที่ จึงต้องไปเรียกร้องเอาเอกราชคืนมา แล้วใช้เครื่องมือที่เรียกว่าศาสนาแนวตีความเข้มข้น (ญีฮัด)
ดังนั้น เจ้าหน้าที่รัฐจะแก้ปัญหาจึงต้องไปหาว่าเงื่อนไขในพื้นที่คืออะไร และทำอย่างไรจึงจะทำลายความชอบธรรมในข้อกล่าวหาเหล่านั้นได้อย่างเป็นระบบ ถ้าแนวคิดของผู้เขียนเป็นจริง แปลว่าศูนย์ดุลของความรุนแรงครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องการยึดพื้นที่ทางกายภาพ หรือการส่งกำลังลงไปเดินเพื่อควบคุมกายภาพของเมือง หากแต่เป็นการต่อสู้เรื่องความชอบธรรม ซึ่งเบื้องลึกสุดเป็นความชอบธรรมของสิทธิชนกลุ่มน้อยที่รัฐมีหน้าที่จะต้องสร้างความชอบธรรมว่าจะทำอย่างไรให้ชนกลุ่มน้อยชาวมลายูเหล่านี้รู้สึกว่ารัฐไทยให้เสรีภาพ ความเท่าเทียม ความเสมอภาคแก่คนเหล่านี้อย่างเท่าเทียมกัน หรือเท่ากับคนไทยพุทธ
แต่รัฐภายใต้พรรคประชาธิปัตย์ไม่ทำอะไรเลย เช่น กรณีรูปธรรมเรื่องที่คนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องการคำตอบว่าพวกเขายืนชุมนุมประท้วงหน้าศูนย์ราชการที่ตากใบยังไม่ถึง 24 ชั่วโมงก็ถูกสลาย แล้วมีคนเสียชีวิตเป็นผลพวงตามมาอีกร่วม 90 ศพ จนถึงวันนี้พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นคนใต้ที่เขาหวังเอาไว้ว่าจะเข้าใจก็ไม่ตอบอะไร
นี่คือรูปธรรมง่ายๆที่ฝ่ายตรงข้ามใช้แสวงประโยชน์จากเงื่อนไขนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับพวกเขาได้โดยไม่ต้องทำอะไร
ความโลภและสิ้นปัญญาของพรรคประชาธิปัตย์คือยัดเยียดแนวคิดที่ว่าพื้นที่ดังกล่าวยากจน ซึ่งยิ่งจะเกิดปัญหาความรุนแรงหรือก่อการร้าย เป็นคำอธิบายของนักทฤษฎีแนวอาชญากรรมว่าคนจนจึงต้องปล้นเขากิน แต่ความจริงในพื้นที่ลักษณะความรุนแรงไม่ใช่เกิดจากโจร แต่มีฐานในอุดมการณ์ การก่อการร้ายทั่วโลกก็พิสูจน์แล้วว่าหัวหน้าขบวนการมักจะเป็นคนที่ร่ำรวย เนื่องจากมีปัจจัยสี่ครบ จึงขยับไปเรียกร้องเรื่องนามธรรม เช่น เอกราชและอัตลักษณ์ เป็นต้น
การที่พรรคประชาธิปัตย์ขะมักเขม้นแยกงานพัฒนาออกไปได้สำเร็จ ลงทุนตั้งองค์กรและเลือกพวกของตนมาบริหาร แล้วนึกว่าจะได้ความชอบธรรม ปรากฏการณ์กลับส่อให้เห็นว่าความรุนแรงไม่ลด เพราะพรรคประชาธิปัตย์นอกจากจะตีโจทย์ไม่แตกแล้ว ยังละโมบเหมือนโจรปากห้อยทั่วไป
ดังนั้น ยิ่งพรรคนี้อยู่เป็นรัฐบาลนานเท่าไรประเทศชาติอาจจะเสียเอกราช เพราะแก้ปัญหาความรุนแรงทางใต้ไม่ได้ แถมยัง “ติดกับ” ปัญหากัมพูชาที่ยังรุนแรงอีก อย่างนี้ต้องถามไปถึงมนุษย์ที่อุ้มสมพวกนี้ขึ้นมาว่ายังสติดีอยู่หรือเปล่า?
ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 309
วันที่ 7 - 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 หน้า 10
คอลัมน์ ทหารใหม่วันนี้ โดย ชายชาติ ชื่นประชา |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น