วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

กิตติรัตน์ จวก รมต.อุตฯ หลังโบ้ยโตโยต้าจ้างคนออก เพราะรถคันแรก



         กิตติรัตน์ ณ ระนอง จวก อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หลังโบ้ยเหตุผลที่โตโยต้าจ้างคนออก เพราะโครงการรถคันแรก ถามต้องพูดเท็จขนาดนี้เลยเหรอถึงได้เป็นรัฐมนตรี

        จากกรณีที่ นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงกรณีที่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เสนอให้พนักงานสมัครใจลาออก 1,000 คน เหตุเพราะ 1-2 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเริ่มชะลอตัว ยอดขายตกฮวบเหลือปีละ 7-8 แสนคัน โดยระบุว่าเป็นผลพวงจากมาตรการรถคันแรก ที่ทำให้ทางบริษัทต้องขยายและเพิ่มกำลังผลิตนั้น

        ล่าสุด วันที่ 8 กรกฎาคม 2559 ทางด้าน นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (สมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ได้ออกมากล่าวถึงกรณีนี้ว่า เรื่องนี้ไม่ใช่ความจริง พร้อมถามนางอรรชกา ว่า.. ต้องพูดเท็จขนาดนี้เลยถึงได้เป็นรัฐมนตรี



ภาพและข้อมูลจาก เพจ Kittiratt Na-Ranong (กิตติรัตน์ ณ ระนอง)

ศาลปกครองสูงสุดไม่รับฟ้อง เรืองไกร ฟ้อง กกต.-กรธ.


ศาลปกครองสูงสุดไม่รับคำฟ้องคดีที่ เรืองไกร ฟ้อง กกต. กรณีประกาศวันออกเสียงประชามติ ก่อนประกาศใช้ พ.ร.บ.ประชามติ และยืนตามศาลปกครองกลางไม่รับฟ้องคดีที่ฟ้องประธาน กรธ.
14 ก.ค. 2559 เว็บไซต์ศาลปกครอง เผยแพร่คำสั่งศาลปกครอง กรณีเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ฟ้องคดีต่อศาลปกครอง รวม 2 คดี ดังนี้

1. คดีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ฟ้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง ต่อศาลปกครองสูงสุด กรณีได้มีประกาศกำหนดวันออกเสียงประชามติในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2559 อันเป็นวันก่อนที่จะมีการประกาศใช้บังคับพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ซึ่งมีผลใช้บังคับในวันที่ 23 เมษายน 2559 ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีกำหนดวันออกเสียงประชามติให้ถูกต้อง หากไม่สามารถดำเนินการได้ขอให้ศาลมีคำพิพากษาว่าการกำหนดวันออกเสียงประชามติไม่ชอบด้วยกฎหมายและให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้เงินที่จ่ายไปเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งตามคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.15/2559 วินิจฉัยว่า คำขอของผู้ฟ้องคดีที่ขอให้ประกาศกำหนดวันออกเสียงประชามติในราชกิจจานุเบกษา เป็นการขอในเรื่องที่มีการดำเนินการไปแล้ว และการประกาศกำหนดวันออกเสียงประชามติในราชกิจจานุเบกษาก็โดยเจตนารมณ์เพื่อให้ประชาชนทั่วไปทราบกำหนดวันออกเสียงและไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติตามวันเวลาที่กำหนด แต่ไม่ปรากฏว่ากรณีดังกล่าวก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีอย่างไร เช่น ทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่ทราบวันออกเสียงประชามติ ไม่มีสิทธิออกเสียงหรือเสียหายต่อสิทธิอื่นใด อีกทั้งไม่ปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องคดีละเลยไม่ดำเนินการตามหน้าที่ที่ต่อเนื่องจากการกำหนดวันออกเสียงประชามติซึ่งอาจส่งผลต่อประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงรวมทั้งผู้ฟ้องคดี ส่วนคำขอให้ชดใช้เงินที่จ่ายไปเกี่ยวกับการออกเสียงประชามตินั้น ผู้ฟ้องคดีไม่ได้แสดงถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีและไม่ได้มีคำขอให้ชดใช้เงินแก่ผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีสิทธิฟ้องคดี ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา
2. คดีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ฟ้องประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ต่อศาลปกครองกลางกรณีผู้ถูกฟ้องคดีนำร่างรัฐธรรมนูญออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยที่ยังไม่ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และกำหนดเวลาในการรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีแจ้งให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญรายอื่น เพิกถอนร่างรัฐธรรมนูญ ให้ผู้ถูกฟ้องคดีจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่หลังจากมีการดำเนินการโดยถูกต้องแล้ว ให้ผู้ถูกฟ้องคดีกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการรับฟังความคิดเห็น และให้ผู้ถูกฟ้องคดีและผู้เกี่ยวข้องในการร่างรัฐธรรมนูญ คืนเงินหรือผลประโยชน์ที่ได้รับไปในระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญ
ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งที่ 454/2559 วินิจฉัยว่า คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเป็นคณะบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เพื่อทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญและหน้าที่อื่นตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญเท่านั้น มิใช่การปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ อีกทั้งการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และกำหนดเวลาการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเป็นกระบวนการขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญโดยไม่ได้บัญญัติไว้ในกฎหมายอื่นอีก จึงมิใช่การกระทำทางปกครองหรือการใช้อำนาจทางปกครอง คดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองกลางที่มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา

ผบ.ตร.สั่งไม่ฟ้องคดี 'แม่จ่านิว' ม.112 – รออัยการทหารพิจารณาทำความเห็น



14 ก.ค.2559 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วานนี้ (13 ก.ค.59) พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชร หนูทอง รองผู้กำกับการ (สอบสวน) กองบังคับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ได้ยื่นคำร้องขอยกเลิกฝากขังในคดีของ พัฒน์นรี ชาญกิจ มารดาของ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ ‘จ่านิว’ ในข้อหาความผิดตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เนื่องจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา โดยสำนวนจะถูกส่งให้อัยการทหารพิจารณาทำความเห็นต่อไป
ในหนังสือขอยกเลิกฝากขังดังกล่าวที่ยื่นต่อศาลทหารกรุงเทพ ระบุว่าตามที่พนักงานสอบสวนกองบังคับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้ยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหานี้ ไว้ระหว่างสอบสวน เป็นครั้งที่ 6 ตั้งแต่วันที่ 7 ก.ค.59 ถึงวันที่ 18 ก.ค.59 นั้น
ต่อมาเมื่อวันที่ 12 ก.ค.59 ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีนี้ ได้มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาในความผิดฐาน “ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทฯ และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (3) ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83  ด้วยเหตุดังกล่าว จึงขอยกเลิกฝากขังผู้ต้องหาแต่เวลานี้ โดยศาลทหารกรุงเทพได้มีคำสั่งอนุญาตให้ยกเลิกฝากขังดังกล่าวได้
 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ ระบุว่า ตามกระบวนการสั่งฟ้องคดี พนักงานสอบสวนจะต้องทำความเห็นและส่งสำนวนให้พนักงานอัยการตรวจสอบ และมีความเห็นว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง หากอัยการสั่งไม่ฟ้อง คดีจะถือเป็นอันสิ้นสุดลง โดยในคดี “แม่จ่านิว” นี้สำนวนจะถูกส่งให้อัยการทหารพิจารณาต่อไป
ในคดีนี้ เจ้าหน้าที่ทหาร ได้แก่ ร.ท.ชวิน ชยาวิวัฒนาวงศ์ ได้แจ้งความเอาผิด พัฒน์นรี ต่อพนักงานสอบสวน ปอท. เมื่อวันที่ 5 พ.ค.59 โดยกล่าวหาว่า พัฒน์นรี ไม่ได้ห้ามปราม ตำหนิ หรือต่อว่าให้ บุรินทร์ อินติน ซึ่งได้ส่งข้อความผ่านเฟซบุ๊กที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ให้หยุดการกระทำดังกล่าว จึงถือว่ามีส่วนร่วมกับนายบุรินทร์ในการโพสต์ข้อความ พนักงานสอบสวนจึงได้ออกหมายจับ และต่อมาศาลทหารกรุงเทพได้อนุญาตให้ประกันตัว พัฒน์นรี ด้วยหลักทรัพย์ 5 แสนบาท 
สำหรับน บุรินทร์ อินติน ได้ถูกจับกุมระหว่างทำกิจกรรม “ยืนเฉยๆ” ร่วมกับกลุ่มพลเมืองโต้กลับ เมื่อวันที่ 27 เม.ย.59 ที่อนุสาวรีย์ชัยฯ ก่อนถูกเจ้าหน้าที่ทหารบุกควบคุมไปจากสน.พญาไท และนำตัวไปควบคุมไว้ 1 คืน ก่อนนำตัวไปแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 โดยคดีอยู่ในช่วงระหว่างการฝากขัง และยังไม่ได้รับประกันตัว (ดูเรื่องราวของบุรินทร์)
ทั้งนี้ ภายหลังเกิดเหตุจับกุมและมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม พ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษม จากปอท. ได้เคยแถลงข่าวชี้แจง ยืนยันว่าผู้ต้องหาทั้งสองมีการกระทำที่เข้าข่ายกระทำผิด ไม่ได้แค่พิมพ์คำว่า “จ้า” ตอบรับบทสนทนาเท่านั้น แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่อาจให้รายละเอียดของคดีได้ ขณะเดียวกันพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ยืนยันว่าการจับกุมดังกล่าวเพราะกระทำความผิดจริง มีหลักฐานชัดเจน และไม่ได้จับกุมเพราะประเด็นการเมือง และประเด็นการทำประชามติ

คดี 112 ใหม่ กองปราบจับแอบอ้างเบื้องสูง 2 คดี อ้างเป็นนายพันตามขบวนเสด็จ ตีสนิทหญิงให้รัก


15 ก.ค.2559 สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผู้บัญชาการสอบสวนกลาง เปิดเผยว่า ตำรวจกองบังคับการปราบปราม จับกุม ภาคิน จักรกาบาตร์ ได้ที่คอนโดหรูย่านสนามบินน้ำ จ.นนทบุรี พร้อมกับยึดของกลางเครื่องแบบทหาร เข็มติดยศ เอกสารข้าราชการ หลังสืบทราบว่า ภาคิน มีพฤติการณ์แอบอ้างเป็นนายทหารยศนายพันติดตามขบวนเสด็จ ก่อนตีสนิทหญิงสาวให้หลงรัก มีผู้เสียหายหลงเชื่อ 4 คนถูกหลอกเอาเงินและลักเอาทรัพย์สิน สอบสวนพบว่า ผู้ต้องหาเปลี่ยนชื่อมากว่า 5 ครั้งจาก คล้ายพงศ์ น้ำเพชร เป็นฐิติพงษ์ น้ำเพชร, พัทธนันท์ น้ำเพชร, ขุนพล จักรกาบาตร์ และภาคิน จักรกาบาตร์ นอกจากนี้ยังแต่งงานมีภรรยามาแล้ว 4 คน ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน
ภาคิน อ้างว่า ทำธุรกิจซื้อขายรถมือสอง ใฝ่ฝันอยากเป็นนายทหาร จึงหาซื้อเครื่องแบบและยศมาสวมใส่ ตั้งแต่ยศร้อยตรีจนถึงยศพันตรี โดยไม่มีใครสงสัย เพราะทุกวันจะแต่งเครื่องแบบทหารออกจากบ้านเหมือนไปทำงานตามปกติ ส่วนรูปถ่ายที่พบประดับในห้องพักเป็นภาพตัดต่อที่ทำขึ้นเอง


ภาคิน ยอมรับด้วยว่า ภรรยาคนแรกหลอกลวงจริง แต่ไม่เคยใส่เครื่องแบบออกไปหลอกลวงผู้ใด นอกจากภรรยาทั้ง 4 คน และรู้สึกดีที่ถูกจับเพราะอยากเริ่มต้นชีวิตใหม่ ปัจจุบันยังไม่เลิกราภรรยาคนใด และเคยคิดจะสารภาพกับภรรยาว่าไม่ได้เป็นทหารก่อนถูกจับกุม
อย่างไรก็ตาม คดีนี้ มีผู้เสียหายซึ่งเป็นพ่อตาของภาคิน ได้เข้าแจ้งความกับตำรวจในข้อหาลักทรัพย์ด้วย โดยทราบข้อเท็จจริง เนื่องจากก่อนหน้านี้ ภาคิณ เคยหลอกเอาเงินครอบครัวไป 7,000,000 บาท อ้างนำไปทำธุรกิจ ตำรวจตั้งข้อหลักทรัพย์, แต่งกายเลียนแบบทหาร, ปลอมแปลงเอกสารทางราชการ และหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ตามประมวลกำหมายอาญา มาตรา 112
อีกคดีเป็นการจับกุม วรพล มาวิมล หรือ ชยพล พัสวีวรโชติ ผู้ต้องหาแอบอ้างเบื้องสูง มีพฤติการณ์แอบอ้างเป็นนายทหารระดับสูงโดยเรียกตัวเองว่า “เสธ.พล” อ้างสามารถวิ่งเต้นตำแหน่งทหารได้ นอกจากนี้ยังเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับอีกหลายคดี ทั้งลักทรัพย์ผู้อื่น, ร่วมกันฉ้อโกงและยักยอกทรัพย์ จากการสืบสวนพบว่า วรพล อ้างเป็นทหารเรียกรับเงินจากผู้เสียหายเพื่อแลกกับการวิ่งเต้นตำแหน่งให้ แต่ผู้เสียหายไม่กล้าแจ้งความเนื่องจากเกรงเสื่อมเสียชื่อเสียง ก่อคดีลักษณะนี้มาตั้งแต่ปี 2557 เจ้าตัว ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา อ้างว่า ไม่ได้ทำแต่โดนสามีภรรยาคู่หนึ่งกลั่นแกล้ง หลังซื้อบ้านที่หัวหิน 5,000,000 บาท และขัดแย้งเรื่องเงินค่านายหน้า แต่ตำรวจมีพยานหลักฐานที่จะเอาผิดกับผู้ต้องหา

ประชามติไม่แฟร์ไม่ฟรี ศูนย์ทนายสิทธิฯ เปิด 113 ผู้ถูกละเมิดสิทธิก่อนออกเสียง



หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดให้มีขึ้นในวันที่ 7 ส.ค.นี้ กลุ่มต่างๆ ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้และมีการรณรงค์ อย่างไรก็ตาม กลับปรากฏการควบคุมการแสดงออกต่อเรื่องประชามติ คสช. ทั้งใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 กรณีการชุมนุม เช่น การเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติของ นปช. การเคลื่อนไหวของกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ เพื่อหยุดยั้งการทำกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ ควบคู่ไปกับการดำเนินคดีด้วยข้อหาตามคำสั่งหัวหน้า คสช. และมาตรา 61 ในพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้สรุปการดำเนินคดีกับผู้ที่ใช้เสรีภาพการแสดงออกที่เกี่ยวกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดนี้ทั้งหมด 113 คน แบ่งเป็นข้อหาตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 ทั้งหมด 94 คน มาตรา 61 พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ 5 คน กรณีที่โดนทั้งข้อหาคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 พร้อมมาตรา 61 จำนวน 13 คน และมี 1 คนที่ถูกดำเนินคดีสองคดี คดีแรกข้อหาตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 คดีที่สองข้อหาตามมาตรา 61 นอกจากนั้นจากการเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติของ นปช. เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2559 ยังเกิดการคุกคามอย่างน้อย 43 จังหวัดในทุกภูมิภาค สถิติดังกล่าวนี้สิ้นสุด ณ วันที่ 12 ก.ค. 2559

รูปแบบการคุกคามกรณี เปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ รายจังหวัด

รายชื่อจังหวัดที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้าปิดกั้นและคุกคามการเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติของ นปช. อ้างอิงตามรายงานข่าวและการรายงานสถานการณ์ของเพจ “ศูนย์ปราบโกงประชามติ” มีจำนวนอย่างน้อย 43 จังหวัด ที่เกิดการคุกคามโดยเจ้าหน้าที่ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น เรียกรายงานตัว ควบคุมตัว ยึดป้าย ติดตามสังเกตการณ์ และบางกรณีจบด้วยการดำเนินคดีตามคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน