24 มิถุนายน 2475 และคดียึดพระราชทรัพย์ ร.7 | |
"จำเลยได้โอนทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์เป็นทรัพย์สินส่วนตัวของจำเลยดั่งคำฟ้องของโจทก์" [ความตอนหนึ่งของข้อเท็จจริงในคำพิพากษา](ภาพหายาก:อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ รับเสด็จรัชกาลที่ 7 ที่เยอรมัน เมื่อ 6 กรกฎาคม 2477) ที่มา นิติราษฎร์ และศิลปวัฒนธรรม คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ กรณียึดทรัพย์ทั้งหมดของสมเด็จพระปกเกล้าฯ[ภาคแรก] ที่มา เวบไซต์นิติราษฎร์ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีดำที่ ๑๙๗/๒๔๘๒ คดีแดงที่ ๒๗๘/๒๔๘๒ ความแพ่งระหว่าง กระทรวงการคลัง โจทก์ สมเด็จพระปกเกล้าฯ ที่๑ และ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ที่๒ จำเลย ในคำพิพากษานี้ แยกเป็น ๓ ส่วน (โดยสังเขป) ข้อ๑.ศาลวินิจฉัยว่า ตามพฤติการณ์ที่จำเลยโอนเงินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ไปยังต่างประเทศ โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจาก จำเลยไม่มีสิทธิในทรัพย์สินส่วนนั้น ในกรณีดังกล่าวเป็นเหตุฉุกเฉินโจทก์ยื่นคำฟ้องโดยมีเหตุสมควร ศาลสามารถยึดหรืออายัดทรัพย์ของจำเลยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ข้อ๒.โจทก์นำ หลวงสารสินทะเบียนสิษฐ์ นายวานิต นาวิกบุตร์ และนายเฉลียว ปทุมรส เข้าเบิกความ ศาลพิเคราะห์ว่า จำเลย โอนขายอสังหาริมทรัพย์โดยสมรู้กับคู่สัญญา เพื่อจำหน่ายทรัพย์สินของจำเลยให้พ้นอำนาจศาล ซึ่งอาจบังคับเอาแก่จำเลยและเพื่อฉ้อโกงโจทก์ การกระทำของจำเลยไม่เป็นไปโดยสุจริตและเป็นเสียหายแก่โจทก์ ข้อ๓.ศาลอุทธรณ์ วินิจฉัยให้อายัดหรือยึดทรัพย์จำเลยทั้งหมดรวมทั้งทรัพย์สินของบุคคลภายนอกซึ่งถึงกำหนดชำระแก่จำเลยไปพลางก่อน และเงินวางศาลเพื่อประกันสำหรับค่าสินไหมทดแทน ให้จำเลยเป็นฝ่ายเสีย อย่างไรก็ดี คดียังไม่ยุติเพียงเท่านี้ โปรดติดตามคำพิพากษาในคดีนี้ที่เกี่ยวเนื่องต่อไป ใน ภาคปิดคดี. ดาวน์โหลดคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีแดงที่ ๒๗๘/๒๔๘๒ ที่มา : สำนักงานโฆษณาการ , "ข่าวโฆษณาการ" เรื่อง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เรื่องความแพ่งในระหว่างกระทรวงการคลัง โจทก์ สมเด็จพระปกเกล้าฯ ที่๑ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ที่๒ จำเลย . (ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๖ : ๒๙ สิงหาคม ๒๔๘๒), หน้า ๓ - ๗. ****** เรื่องเกี่ยวเนื่อง:คดียึดพระราชทรัพย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ โดย สุพจน์ แจ้งเร็ว ที่มา นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับที่ 272 วันที่ 1 มิถุนายน 2545 ตั้งแต่วันที่ ๒๕ ไปจนถึงวันที่ ๓๐ ของเดือนธันวาคม ปี ๒๔๘๔ หนังสือพิมพ์สองฉบับ คือ ข่าวภาพ และศรีกรุง ได้ลงประกาศขายทอดตลาดทรัพย์สินจำนวนหนึ่ง ตามที่กองบังคับคดีทางแพ่ง กระทรวงยุติธรรมแจ้งมา. คำประกาศขายทอดตลาดทรัพย์สินนั้น โดยทั่วไปก็มิได้ทำให้ผู้อ่านมีความรู้สึกอันใดนัก เว้นแต่ผู้ที่เคยเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้นมาก่อน, แต่การลงประกาศครั้งนี้เป็นเรื่องที่ต่างออกไป. ข้าวของจำนวนไม่น้อยที่จะได้เริ่มขายตั้งแต่วันที่ ๘ มกราคม ๒๔๘๕ เป็นต้นไปนั้น มิได้เป็นของราษฎรทั่วไปคนใดคนหนึ่งที่ล้นพ้นไปด้วยหนี้, หากเป็นพระราชทรัพย์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี อดีตพระมหากษัตริย์และพระราชินี ผู้ทรงตกเป็นจำเลยในคดีที่กระทรวงการคลังฟ้องร้องเมื่อสามปีก่อนและบัดนี้ทรงแพ้คดี. สำหรับประวัติการเมืองไทย, คดีนี้เป็นคดีประวัติศาสตร์. เป็นความจริงที่ว่าเหตุการณ์ภายหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ไม่ได้เป็นไปถึงขนาดที่พวกบอลเชวิคได้เคยกระทำแก่ราชวงศ์โรมานอฟ, แต่ในประเทศที่อำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้ดำรงมาช้านาน, ในประเทศที่ยังมีผู้เห็นว่าราษฎรโง่แม้จะเป็นคนชาติเดียวกัน, การณ์เช่นนี้ย่อมไม่เป็นเรื่องที่ผู้ใดจะอาจคิดได้ว่าวันหนึ่งจะเกิดขึ้น. อีกหลายสิบปีต่อมา, ในงานเขียนเรื่องชีวิตเหมือนฝัน, คุณหญิงมณี สิริวรสาร ซึ่งในระหว่างที่เกิดคดีดังกล่าวนั้นเป็นผู้หนึ่งที่อยู่ใกล้ชิดกับองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี, ได้ย้อนเล่าถึงเรื่องนี้ว่า : “การฟ้องร้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ นั้น ทุกคนทราบดีว่ามีการเมืองเป็นต้นเหตุ คือรัฐบาลต้องการกลั่นแกล้ง และให้ผู้ที่ไม่ทราบเรื่องราวเกลียดชังเจ้านายและระบอบกษัตริย์ เพราะทุกคนที่มีความเกี่ยวข้องกับศาลและกฎหมายย่อมทราบดีว่า พระมหากษัตริย์ย่อมจะทรงใช้เงินจากกรมพระคลังข้างที่ได้ เพราะทรงมีสิทธิและอำนาจที่จะใช้จ่ายในกรณีใดๆ ก็ได้ หรือจะพระราชทานเงินแก่ผู้ใดก็ได้” ข้อความย่อๆ ดังกล่าวนี้ย่อมเป็นการง่ายแก่ผู้อ่านที่จะเข้าใจและคิดเห็นไปตามนั้น. อย่างไรก็ตาม, ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมืองหรือไม่, ในความเป็นจริงนั้นคดีฟ้องร้องที่เกิดขึ้นนี้ก็หาได้เกิดขึ้นและเป็นไปอย่างรวบรัดดังกับที่ข้อความสั้นๆ เพียงเท่านี้จะชวนให้นึกเห็นไปไม่, หากมีที่มาก่อนหน้านั้นหลายปี. และการที่จะทราบเรื่องราวดังกล่าว เราจะต้องย้อนกลับไปดูที่มาของเรื่องและสภาพแวดล้อมของที่มานั้น, นั่นก็คือ, ตั้งแต่ในช่วงแรกๆ ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา. ๑.หลังจากที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีคนแรกต้องพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว, และโดยเฉพาะภายหลังกรณีกบฏบวรเดชในปี ๒๔๗๖, ความสัมพันธ์ระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานะพระมหากษัตริย์ กับ “คณะราษฎร” ในฐานะรัฐบาลของประเทศมิได้ราบรื่นนัก. แรกสุดทีเดียวคณะราษฎรเห็นว่า พระองค์ได้ทรงหนุนช่วยฝ่ายพระองค์เจ้าบวรเดชด้านการเงิน ดังปรากฏในหลักฐานการโอนเงินสองแสนบาท ที่ศาลพิเศษซึ่งตั้งขึ้นเมื่อหลังเหตุการณ์นั้นได้นำมาใช้ประกอบคำพิพากษา. จริงอยู่, ในเวลาต่อมา ม.จ.พูนพิศมัยทรงอ้างว่า ผู้ที่โอนเงินให้นั้นเป็นผู้อื่น หากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องทรง “รับบาป” แทน, แต่น่าเสียดายที่ต่อหน้าศาลในเวลานั้นข้ออ้างเช่นว่านี้ก็มิได้มีผู้ใดยกขึ้นมา. แต่ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร และไม่ว่าแต่ละฝ่ายจะรู้สึกอย่างไร, ข้อความจริงหนึ่งก็มีว่า แต่นั้นมาพระราชดำริของพระองค์ กับความคิดเห็นของฝ่ายรัฐบาล และรวมไปถึงมติของรัฐสภาดูเหมือนจะไม่เคยผสานกันได้ไม่ว่าจะในประเด็นใด. ลักษณาการเช่นนี้ได้ดำเนินและขยายตัวไป กระทั่งทรงตัดสินพระราชหฤทัยสละราชสมบัติในปลายปี ๒๔๗๗ เป็นที่สุด ขณะประทับอยู่ในประเทศอังกฤษ. ข้อที่ทรงคับข้องพระราชหฤทัยมีอยู่หลายประการ, ซึ่งทั้งหมดนั้นทำให้พระองค์ทรงรู้สึกเสมอว่า ทรงถูกจำกัดให้เพียงแค่ “ลงพระปรมาภิไธย” เท่านั้น, ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลเองก็รู้สึกว่าตนได้อนุโลมตามพระราชประสงค์เป็นส่วนมากแล้ว และสามารถตอบข้อที่ทรงข้องพระราชหฤทัยนั้นได้ทุกประการทั้งต่อพระองค์เองและต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร. ในการประชุมสภาสมัยที่ ๒ ในวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๔๗๗, กล่าวคือ ก่อนที่จะทรงสละราชสมบัติหนึ่งเดือน, พระยาพหลฯ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ในช่วงแห่งความขัดแย้งอย่างรุนแรงนั้นถึงกับกล่าวว่า “เราอยากจะให้ท่านแน่พระทัยว่า ‘กูอยากจะเอาอะไรที่มันไม่ขัดรัฐธรรมนูญแล้วมันก็ให้’ นี่เราแสดงใจนักเลงอย่างนี้แหละ.” ก่อนหน้าการประชุมสภาครั้งนี้, พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชโทรเลขลงวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๔๗๗ ถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ (พระยศในขณะนั้น) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์. ในพระราชโทรเลขนั้นทรงยกตัวอย่างถึงเรื่องที่ทำให้พระองค์จะทรงทนต่อไปมิได้, นั่นก็คือ, เรื่องพระราชบัญญัติอากรมรดก ซึ่งทรงเห็นว่ารัฐบาลทำให้พระองค์ “เซ็น” ด้วยวิธีหลอกลวง, กับเรื่องคดีพระพิบูลย์ไอศวรรย์ฟ้องร้องพระคลังข้างที่ ซึ่งทรงกล่าวว่า ถ้าพระคลังข้างที่แพ้พระองค์ก็จะทรงสละราชสมบัติ. เมื่อมองโดยรวมบางทีเราจะเห็นว่าตัวอย่างที่ทรงยกมานี้ (ในขณะที่ทรงกล่าวว่า “เรื่องอื่นก็ยังมีอีกมากมาย”) เป็นแต่เพียงฟางเส้นสุดท้าย และมิได้มีอะไรมากไปกว่านั้น. ในความเป็นจริง, ทั้งสองกรณีนี้โดยตัวของมันเองมิใช่เรื่องเล็กน้อย; ที่สำคัญก็คือมันจะเป็นเรื่องโยงใยไปถึงคดีฟ้องร้องอันเป็นประวัติการณ์ดังที่กล่าวมาข้างต้นนั้น. การที่จะเชื่อมโยงไปนั้นก็ด้วยสาเหตุสำคัญที่ว่า, กรณีทั้งสองนี้เกี่ยวพันกับเงินก้อนหนึ่งในพระคลังข้างที่อันเป็นที่มาของเรื่องทั้งหมด. คดีพระพิบูลย์ไอศวรรย์นั้นมีอยู่ว่า, เดิมพระพิบูลย์ไอศวรรย์เป็นคนหนึ่งที่ได้รับพระราชทานพินัยกรรมจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖, ตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นนักเรียนกฎหมายที่อังกฤษ. เมื่อกลับเข้ามารับราชการในกระทรวงยุติธรรม, ในรัชสมัยรัชกาลที่ ๗ กรมพระคลังข้างที่ก็ได้ตัดเงินปีตามพระราชพินัยกรรมนั้นเสีย. แต่พระพิบูลย์ฯ เห็นว่าพระราชพินัยกรรมมิได้ระบุเช่นนั้น, และเห็นเอาว่าเมื่อได้รับพระราชทานแล้วก็จะต้องได้รับพระราชทานตลอดไป แม้ตนจะได้รับราชการมีเงินเดือนแล้วก็ตาม. ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ระยะหนึ่ง พระพิบูลย์ฯ ก็ได้ยื่นฟ้องพระคลังข้างที่, เรียกร้องเงินเลี้ยงชีพที่ถูกยกเลิกไป. คดีพระพิบูลย์ฯ นี้แม้มิได้เป็นเรื่องที่ใครจะนำมากล่าวขวัญอย่างเอิกเกริกเลื่องลือต่อมาเช่นกรณีนายถวัติ ฤทธิเดช ฟ้องร้องว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงหมิ่นประมาทราษฎร, แต่ก็เป็นเรื่องกระทบกระเทือนพระองค์ไม่น้อย, หาไม่ก็คงไม่ทรงมีพระราชดำรัสถึงเช่นนั้น. อันที่จริงคดีเช่นนี้ก็มิได้มีเพียงคดีเดียว และบรรดาผู้ที่ฟ้องร้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ก็ล้วนแต่เป็นคนในราชสำนักทั้งสิ้น. ในเรื่องนี้ ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล ทรงเล่าว่า, เมื่อได้มีการตัดทอนเงินพระราชทานในสมัยรัชกาลที่ ๗ นั้น บรรดาพวกที่ถูกลดถอนก็พากันโกรธเคืองพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ว่า ทรงลบล้างพระราชพินัยกรรม. พอเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วพระสุจริตสุดา (เปรื่อง สุจริตกุล) พระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ก็เป็นผู้นำฟ้องต่อศาลก่อนเป็นรายแรก โดยมีเจ้าพระยารามราฆพเป็นรายถัดมา. ครั้นที่สุดเมื่อศาลตัดสินว่าที่ทรงชี้ขาดเช่นนั้นเป็นเรื่องในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์, เรื่องจึงได้สงบลงเท่านั้น. ส่วนในเรื่องพระพิบูลย์ฯ นี้ ขณะนั้นยังมิได้มีการตัดสิน. ในพระราชโทรเลขถึงสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยืนยันว่า : “หม่อมฉันได้ทูลมาแล้วว่า หม่อมฉันจะไม่กลับจนกว่าคดีนี้จะได้เสร็จไป เพราะหากคดีนี้พระคลังข้างที่แพ้หม่อมฉันก็จะสละราชสมบัติ หม่อมฉันสัญญาไม่ได้ว่าจะไม่สละราชสมบัติ และไม่มีประโยชน์อะไรเลยที่จะเจรจากันต่อไป จนกว่าคดีนี้จะเสร็จไป…” ทางฝ่ายรัฐบาลเองเมื่อได้ทราบความในพระราชโทรเลขเช่นนี้ก็ได้มีหนังสือถึงเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ หัวหน้าคณะตัวแทนที่รัฐบาลส่งไปเข้าเฝ้าที่อังกฤษ, ให้กราบบังคมทูลว่าคดีนี้เป็น “เรื่องเกี่ยวแก่อำนาจตุลาการ ซึ่งคณะรัฐมนตรีจะสั่งศาลมิได้ เพราะเป็นการผิดต่อรัฐธรรมนูญ แล้วจะทำให้ต่างประเทศขาดความไว้ใจในศาล ซึ่งกระทบถึงสัญญาทางพระราชไมตรีโดยทั่วๆ ไป.” ข้อที่ทรงตั้งเงื่อนไขถึงขนาดว่า หากคดีนี้กรมพระคลังข้างที่แพ้ พระองค์ก็จะทรงสละราชสมบัตินั้นเป็นที่กังขากันอยู่ เพราะไม่มีผู้ใดจะอาจทราบพระราชประสงค์ได้. โดยที่ในเวลาเดียวกันนั้นเองได้ทรงตั้งข้อคัดค้านรัฐบาลในเรื่องพระราชบัญญัติป้องกันรัฐธรรมนูญว่าไม่เป็นการยุติธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหา, ในที่ประชุมสภาฯ วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๔๗๗, พระพินิจธนากร ผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่จึงกล่าวอภิปรายว่า : “ในการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะขอให้ทรงเลิกพระราชบัญญัติป้องกันรัฐธรรมนูญนั้น ข้าพเจ้ายังไม่ทราบว่ามีพระราชประสงค์อันใดแน่นอน คือข้าพเจ้ามีความฉงนเป็นอันมากในคติตอนหนึ่งซึ่งเกี่ยวแก่ผลประโยชน์ของท่าน คือในเรื่องพระพิบูลย์ไอศวรรย์ในตอนหนึ่งท่านบอกว่า เพราะเหตุว่าเราใช้การพิจารณาโดยไม่มีศาลไม่มีอะไร ท่านไม่พอพระราชหฤทัย แต่ว่าในเรื่องพระพิบูลย์ไอศวรรย์ถ้าท่านแพ้ท่านก็จะลาออก เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าผู้มีสติปัญญาอันน้อยไม่ทราบพระราชประสงค์ของท่านอันใดเลย.” นั้นเป็นเรื่องหนึ่ง. เรื่องที่สำคัญกว่าเรื่องพระพิบูลย์ไอศวรรย์ คือเรื่องพระราชบัญญัติอากรมรดก. ตอนหนึ่งในพระราชโทรเลขที่ทรงมีถึงสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศฯ ที่ได้อ้างถึงมาข้างต้นนั้น, ทรงกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า : “เขา (คณะรัฐบาล) ได้ทำให้หม่อมฉันเซ็นพระราชบัญญัติอากรมฤดกโดยวิธีหลอกลวง เขาได้ทำให้หม่อมฉันเข้าใจว่าจะเสนอพระราชบัญญัติใหม่ แถลงความหมายแห่งพระราชสมบัติส่วนพระมหากษัตริย์ตามนัยที่หม่อมฉันได้วางไว้ให้ออกใช้เป็นกฎหมายโดยเร็วที่สุดที่จะเร็วได้ ดั่งที่นายกรัฐมนตรีได้แจ้งไปตามโทรเลขของท่านลงวันที่ ๒๓ สิงหาคม (๒๔๗๗) ร่างพระราชบัญญัตินี้ควรร่างขึ้นได้ภายในเวลาครึ่งชั่วโมง แทนที่จะได้ทำเช่นนั้นกลับตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อร่างพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งจะทำให้หม่อมฉันอยู่ในฐานะเช่นเดียวกับฐานะของพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ สภาพการณ์เช่นนี้หม่อมฉันจะยอมรับไม่ได้ สภาพการณ์ของทรัพย์สมบัติของกรมพระคลังข้างที่ในประเทศสยามไม่เหมือนกับพระราชทรัพย์ส่วนพระมหากษัตริย์อังกฤษ หม่อมฉันเห็นว่าเป็นการพยายามที่จะดึงเอาความครอบครองกรมพระคลังข้างที่ไปจากหม่อมฉัน วิธีการเช่นนี้อาจเป็นที่พึงพอใจสำหรับผู้อื่นได้แต่ไม่ใช่สำหรับหม่อมฉัน และหม่อมฉันก็คงจะต้องทักท้วงพระราชบัญญัตินี้อีก…” ที่มาของเรื่องนี้มีอยู่ว่า, ในวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๔๗๗ รัฐบาลได้เสนอร่างพระราชบัญญัติอากรมรดกและรับมรดก ซึ่งเมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาแล้วก็ได้ลงมติให้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย. อย่างไรก็ตาม, พระองค์ก็มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยโดยทันที, หากได้พระราชทานร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวนี้กลับคืนมาให้สภาฯ พิจารณาอีกครั้ง, โดยทรงขอให้เพิ่มบทบัญญัติยกเว้นการเก็บอากรมรดกจากทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ให้ชัดแจ้งว่าไม่ต้องเสียอากรมรดก. พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์จะให้เติมข้อความต่อไปนี้ลงในร่างพระราชบัญญัติ : “พระราชทรัพย์สินใดๆ ที่เป็นพระราชมฤดกไปยังผู้อื่นนอกจากผู้สืบราชสมบัติต้องเสียอากรมฤดก นอกจากนั้นเป็นพระราชทรัพย์ฝ่ายพระมหากษัตริย์ไม่ต้องเสียอากรมฤดก” คณะรัฐมนตรียืนยันว่า ตามร่างพระราชบัญญัตินี้ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไม่ต้องเสียอากรมรดกอยู่แล้ว. เมื่อที่ประชุมสภาฯ ได้พิจารณาและลงมติด้วยคะแนนลับ ยืนยันตามร่างเดิมด้วยคะแนนเสียง ๑๓๒ ต่อ ๘๙ นายกรัฐมนตรีจึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยอีกครั้งหนึ่ง. ในการนี้ทางรัฐบาลได้ให้หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ (พระยศในขณะนั้น) ไปอังกฤษเพื่อกราบบังคมทูลถวายรายงานด้วยว่า ร่างพระราชบัญญัตินั้นตรงกับพระราชประสงค์แล้ว คือจะไม่เรียกเก็บอากรจากทรัพย์สินพระมหากษัตริย์, และรัฐบาลจะร่างกฎหมายยกเว้นอากรดังกล่าวให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ในที่สุดได้ทรงยอมลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไปได้. หลังจากนั้นมารัฐบาลก็ได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อพิจารณายกร่างพระราชบัญญัติยกเว้นการเก็บอากรมรดกจากทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ให้เป็นที่ชัดเจนตามพระราชประสงค์, ดังสำเนาหนังสือที่รัฐบาลได้มีไปกราบบังคมทูลต่อไปนี้ : ที่ ก. ๔๕๐๘/๒๔๗๗ สำนักนายกรัฐมนตรี จากหนังสือนี้, ต่อมาในเดือนตุลาคมก็ได้ทรงมีพระราชโทรเลขกลับมามีความดังที่ยกมาข้างต้นนั้น. เพราะเหตุที่ทรงกล่าวว่าถูกหลอกลวงให้เซ็น, นายกรัฐมนตรีจึงขอให้ ม.จ.วรรณไวทยากร วรวรรณ ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาฯ. ในคำชี้แจงนั้น, ม.จ.วรรณไวทยากรก็ได้ทรงเล่าถึงการเข้าเฝ้า และย้ำในข้อที่ว่าพระมหากษัตริย์จะไม่ต้องเสียอากรมรดก, ซึ่งเป็นข้อที่มีพระราชประสงค์จะให้เป็นดังนั้น และรัฐบาลเองก็ต้องการให้เป็นดังนั้นอยู่แล้ว. ถ้าเช่นนั้นปัญหาที่ทำให้ถึงกับต้องทรงออกพระโอษฐ์ว่าทรงถูก “หลอกลวง” คืออะไร? อันที่จริงข้อความในพระราชโทรเลขนั้นเองก็ได้แสดงให้เห็นอยู่แล้วว่า หัวใจของปัญหาไม่ได้อยู่ที่พระราชบัญญัติอากรมรดกเลย, ไม่ได้อยู่ในข้อที่ว่าพระมหากษัตริย์จะต้องเสียอากรมรดกหรือไม่; นั่นไม่ใช่ปมขัดแย้งที่แท้ แม้ดูเสมือนว่าจะเป็น. แท้จริงหัวใจสำคัญของปัญหานั้นอยู่ที่สิ่งที่รัฐบาลกำลังจะทำ, นั่นก็คือ, “ดำริร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการยกเว้นภาษีอากรอันเกี่ยวแก่พระราชสมบัติฝ่ายพระมหากษัตริย์ (Crown Property) ขึ้นอีกฉบับหนึ่ง”; พระราชบัญญัติฉบับใหม่นี้, แทนที่จะร่างขึ้นง่ายๆ “ภายในเวลาครึ่งชั่วโมง” ตาม “นัย” ที่ทรงวางไว้, กล่าวคือ มีเนื้อเพียงว่าพระมหากษัตริย์ไม่ต้องเสียภาษี, รัฐบาลกลับตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างขึ้นมาใหม่ อันจะทรง “ยอมรับไม่ได้”. พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์เพียงข้อความประโยคเดียว, ไม่ใช่พระราชบัญญัติใหม่ทั้งฉบับที่จะเข้าไปยุ่มย่ามกับพระราชทรัพย์ในพระคลังข้างที่! พระราชบัญญัติฉบับใหม่ที่เกิดขึ้นมาโดยมิได้ทรงมีพระราชประสงค์, กับยังมีเนื้อหาที่ทรงเห็นว่าต่อไปอีกมิช้ามินานจะทำให้พระองค์ต้องทรง “อยู่ในฐานะเช่นเดียวกับฐานะของพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ” ฉบับนี้แหละ คือพระราชบัญญัติที่จะเรียกกันในเวลาต่อมาว่า “พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์”. และคดีฟ้องร้องยึดพระราชทรัพย์ที่จะเกิดขึ้นในอีก ๗ ปีข้างหน้าก็เริ่มขึ้นจากหวอดนี้เอง. คดียึดพระราชทรัพย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ” ก่อนที่จะได้กล่าวถึงเนื้อหาของพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวต่อไป ยังมีสิ่งที่ควรจะได้กล่าวถึงไว้ในที่นี้ด้วย. ในเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นกรณีขึ้นนี้, นอกจากพระราชโทรเลขที่อ้างถึงมาข้างต้นนั้นแล้ว ก็ยังมีเอกสารสำคัญอีก ๒ ฉบับที่ทรงกล่าวถึงเรื่องนี้โดยตรง. เอกสารทั้งสองฉบับนี้มิได้เป็นเอกสารทางราชการ, หากเป็นพระราชบันทึกที่ทรงทำขึ้นพระราชทานพระยาราชวังสันเป็นการส่วนพระองค์ ในช่วงเดือนกันยายนของปี ๒๔๗๗, กล่าวคือ ก่อนหน้าที่จะมีพระราชโทรเลขมาเล็กน้อย, เมื่อพระยาราชวังสันกราบบังคมทูลขอเป็นคนกลางระหว่างองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับคณะรัฐบาล. ความตอนหนึ่งในพระราชบันทึกฉบับที่ ๑ มีว่า : “มีข่าวว่าจะเปลี่ยนรูปโครงการณ์ของกระทรวงวังใหม่ให้เหมือนราชสำนักอังกฤษ เรื่องนี้ได้ยินว่ารัฐบาลจะเก็บเป็นความลับจนกว่าฉันจะกลับถึงกรุงเทพฯ แล้วจึงจะดำเนินการ ซึ่งเดาได้ว่าการเปลี่ยนเหล่านี้คงจะเป็นไปในทางที่ฉันจะไม่พอใจ จึงต้องรอให้ได้ตัวไปขังไว้ในเมืองไทยเสียก่อนจึงจะดำเนินการ ในเรื่องนี้ต้องขอให้รัฐบาลเลิกล้มความดำริ หรือมิฉะนั้นต้องส่งโครงการณ์ที่คิดจะเปลี่ยนแปลงนี้มาให้ทราบเสียก่อนฉันกลับ มิฉะนั้นจะไม่กลับ…” ส่วนพระราชบันทึกที่ ๒ ซึ่งตอนต้นเป็นเรื่องภาษีมรดก และตอนปลายเป็นเรื่องผู้ที่จะสืบราชสมบัติต่อไปหลังจากที่พระองค์ทรงสละราชสมบัติแล้ว, มีความตอนหนึ่งว่า : “พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ซึ่งอาจยินดียอมรับตำแหน่ง และฉันได้ทราบแน่นอนว่า มีความคิดความเห็นอยู่หลายอย่างในทางที่จะทำให้พระมหากษัตริย์กับคณะราษฎรหมดข้อบาดหมางกันได้ และดำเนิน Policy บางอย่างที่จะเป็นที่พอใจของคณะราษฎร เช่นจะยกสมบัติของพระคลังข้างที่ให้รัฐบาล และขอเงินก้อนประจำปีแทน จะเลิกทหารรักษาวังและยอมให้รัฐบาลตั้งข้าราชการในราชสำนักตามใจ วิธีการเหล่านี้ล้วนเป็นของที่ฉันเองยอมไม่ได้ และจะต้องวิวาทกับรัฐบาลอีกต่อไปอย่างแน่นอน เว้นแต่รัฐบาลจะผ่อนผันตาม” “ข่าว” ที่ทรงได้รับนั้นจะทรงได้โดยทางใดหรือจะมีรายละเอียดมากน้อยเพียงไรไม่ปรากฏ. อย่างไรก็ดี, ในเดือนธันวาคมปีเดียวกันนั้นเอง หลังจากได้ทราบความจากพระราชโทรเลขและพระราชบันทึกทั้งสองฉบับนี้แล้ว, รัฐบาลก็ได้ส่งคณะผู้แทนอันประกอบด้วยเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ, หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ และนายดิเรก ชัยนาม ไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ประเทศอังกฤษ. นายดิเรก ชัยนาม ได้ทำบันทึกการเข้าเฝ้าถึงรัฐบาลว่า : “ทรงรับสั่งว่าเรื่องหลักการ Crown Property เป็นอย่างไร คณะผู้แทนได้กราบบังคมทูลว่า ก่อนออกมาคราวนี้ได้มีการประชุมกรรมการครั้งที่ ๑ แล้ว ได้วางหลักการตามที่คณะรัฐมนตรีได้ถวายความเห็น ซึ่งได้ทรงเห็นชอบแล้ว คือ๑. พระราชทรัพย์ซึ่งจะตกทอดไปยังผู้สืบสันตติวงศ์นั้นไม่ต้องเสียภาษี๒. ที่ตกไปยังผู้อื่นซึ่งมิใช่ผู้สืบสันตติวงศ์นั้นต้องเสียเวลานี้คณะกรรมการได้ตกลงให้ Sir Robert Holland กับ M. L’evesque ไปจัดการร่างเบื้องต้นมา มิได้จัดการอย่างพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ การที่มิได้ร่างโดยเร็วก็เพราะเป็นพระราชบัญญัติที่ยากมาก และรัฐบาลหวังว่าถ้าเสด็จกลับไปร่วมมือในการร่างพระราชบัญญัตินี้ก็จะเป็นการเรียบร้อย แต่ในขั้นนี้อาจทำได้โดยวางหลักการไว้และทำ Inventory บัญชีสำรวจภายหลังก็ได้ ก็ทรงพอพระราชหฤทัยต่อจากนั้นได้ทรงรับสั่งว่า เหตุผลในการที่พระองค์ทรง Veto พระราชบัญญัตินั้นมีอยู่สองข้อ (๑) เป็นการทำลายฐานะของพระมหากษัตริย์ (๒) การใดที่ไม่ต้องด้วยความประสงค์ของราษฎรทั่วไปแล้ว ในสองข้อนี้จะต้อง Veto นอกจากนี้แล้วจะไม่ทรงใช้เลย” นั่นเป็นถ้อยคำที่ก้ำเกิน, แต่กระนั้นมันก็เป็นหลักฐานที่สะท้อนให้เราเห็นถึงบรรยากาศส่วนหนึ่งของเวลานั้น. ประการหนึ่งที่เราต้องเข้าใจก็คือว่า, การที่ทรงรู้สึกว่ารัฐบาลกำลังจะดึงเอาความครอบครองพระคลังข้างที่ไปจากพระองค์เช่นนี้มิได้เป็นข้อที่ทรงรู้สึกเพียงเมื่อเกิดเรื่องนี้ขึ้นเท่านั้น, หากทรงระแวงพระราชหฤทัยมาตั้งแต่วันแรกๆ ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินแล้ว, เพราะมีข่าวลือว่ารัฐบาลจะริบทรัพย์เจ้า. และไม่ใช่แต่ข่าวลือเท่านั้น, ตอนหนึ่งในคำประกาศของคณะราษฎรเองที่ว่า “เมื่อเราได้ยึดเงินที่พวกเจ้ารวบรวมไว้จากการทำนาบนหลังคนตั้งหลายร้อยล้านมาบำรุงประเทศขึ้นแล้ว ประเทศจะต้องเฟื่องฟูขึ้นเป็นแม่นมั่น” นั้นก็มีกังวานอันน่าพรั่นพรึงอยู่. ย้อนหลังไปสองปี, เมื่อตัวแทนของคณะราษฎรเข้าเฝ้าในวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๔๗๕ ได้ทรงมีพระราชปรารภในเรื่องนี้. ในเอกสารที่เจ้าพระยามหิธร ซึ่งทำหน้าที่ราชเลขาธิการได้บันทึกไว้ในวันนั้น มีความตอนหนึ่งว่า : “ได้ทรงทราบข่าวเรื่องจะยึดเงินไม่ทราบว่าจะทำจริงหรือไม่เพียงไร ถ้าจะริบทรงขอลาออกเสียก่อน เพราะจะยอมเป็นหัวหน้าบอลเชวิคร่วมมือริบทรัพย์ญาติด้วยไม่ได้ เป็นยอมตาย ที่คณะราษฎรจะคิดหาเงินจากคนมั่งมีด้วย Taxation นั้นทรงยอมได้ แต่ในประกาศของคณะราษฎรที่พูดออกมานั้นทำให้ต่างประเทศมีความสงสัย ทรงขอบอกว่าเมืองไทยจะทำอย่างเมืองจีนไม่ได้ และจะเปรียบกับอาฟกานิสตานก็ไม่ได้ เพราะภูมิประเทศผิดกัน เมืองไทยประเทศใกล้เคียงเอาเรือรบมาเมื่อไรก็ได้ จึงทรงขอทราบว่าคณะราษฎรได้คิดดังนั้นจริงหรือ จากวันที่ ๓๐ มิถุนายนมาจนถึงเดือนมีนาคมปลายปี ๒๔๗๕ ข่าวลือทำนองนี้ก็ยังไม่ได้จางไป. ในพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ ลงวันที่ ๑ มีนาคม ๒๔๗๕ ถึงพระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต พระราชโอรสบุญธรรม, พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ยังทรงเล่าถึงข่าวลือต่างๆ ที่กำลังแพร่สะพัด-อย่างน้อยก็ในหมู่เจ้านาย-ว่า : “ข่าวลือหลังนี้ที่น่าเชื่อก็มีมาก และที่เหลวก็มี เสียงลือที่มีมาก็ว่าจะจับฉันเซ็นอะไรต่างๆ ในงานฉัตรมงคล เช่น เซ็นให้คณะราษฎรเปน dictator ถึงกับเตรียม cabinet ไว้แล้วด้วยซ้ำ เสียงลืออันนี้จึงน่าเชื่อมาก และพวกคณะราษฎรก็กลัวพวกคณะชาติจะลุกขึ้นเล่นอะไรเต็มทีแล้ว นอกจากนี้ก็ว่าจะให้ฉันยกพระคลังข้างที่ให้แก่ชาติให้หมด แล้วให้ abdicate เขาจะประกาศเปน republic และจะจับพวกเจ้าและตัวฉันขังไว้เปนตัวประกัน บางเสียงก็ว่าจะจับพวกเจ้าฆ่าให้หมด ซึ่งเห็นจะพูดมากไป เพราะถ้าทำดังนั้นฝรั่งก็เข้ามาแน่ พวกเจ้ากลัวกันมาก เลยหนีจากกรุงเทพเปนจำนวนมาก ข้าราชการที่หนีไปก็มีบ้าง” และในพระราชหัตถเลขาฉบับเดียวกันนั้นเองก็ยังทรงกล่าวต่อไปอีกว่า, “ฉันฉุนเหลือเกิน อยากเล่นบ้าอะไรต่างๆ จัง แต่กลัวนิดหน่อยว่าพวกเจ้าจะถูกเชือดคอหมดเท่านั้นเอง”, และ, “เราอยู่ที่นี่ก็คิดแปลนอะไรกันต่างๆ จนหัวยุ่งเสมอ แต่เรื่องแปลนเหล่านี้จะไม่เล่าเพราะกลัวถูกเปิดหนังสือ…” ทั้งหมดนั้นมาจาก “ข่าว” ที่ทรงได้รับ, และทั้งหมดนั้นก็คือเรื่องที่ทรงกังวลพระราชหฤทัยมาจนตลอดรัชกาล. ข้อที่ว่าทรง “อยากเล่นบ้า” ไม่ใช่เรื่องสำคัญในที่นี้, และปัญหาที่ว่า “ข่าว” นั้นจะจริงหรือเท็จก็ไม่ใช่ประเด็นที่เราจะต้องอภิปราย, ประเด็นสำคัญในที่นี้ก็คือเรื่องเงินจำนวน ๖ ล้านบาทในพระคลังข้างที่ที่ทรงมีพระราชดำรัสกับพระยามโนปกรณ์นิติธาดาในวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ นั้น. ตรงนี้ต้องขยายความว่า, ที่มาของเงินจำนวนนี้คือ, เดิมในปลายรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ เงินก้อนนี้มีอยู่ ๑๐ ล้านบาท; ในเวลานั้นที่ปรึกษากระทรวงการคลังได้กราบบังคมทูลให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ทรงปฏิบัติ ๒ ประการ, คือ หนึ่ง ให้ซื้อที่ดินฝั่งธนบุรีตั้งแต่ปากคลองมอญลงไปเอาไว้เป็นของพระคลังข้างที่ โดยเก็บเอากำไรในภายหลัง, หรือสอง, ฝากในธนาคารต่างประเทศ. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือกประการหลัง. ครั้นล่วงมาถึงในรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงถอนมา ๔ ล้านบาท จึงเหลือเพียง ๖ ล้านบาทดังกล่าว. จากกองเงินจำนวน ๖ ล้านบาทนี้เอง ที่พระพิบูลย์ไอศวรรย์ฟ้องร้องเรียกค่าเลี้ยงชีพจากพระคลังข้างที่, และก็จากเงินกองเดียวกันนี้เองที่ทรงเห็นว่า หากพระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ก็จะยกให้กับรัฐบาลเสีย. แต่ข้อเท็จจริงข้อหนึ่งที่ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดในเวลานั้นทราบ-เว้นแต่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว-ก็คือ, ในช่วงเวลาที่ทรงมีปัญหาคับข้องพระราชหฤทัยในคณะราษฎรอย่างรุนแรงในปี ๒๔๗๗, ไม่ว่าจะในเรื่องพระพิบูลย์ไอศวรรย์ฟ้องร้องเรียกเงินเลี้ยงชีพจากพระคลังข้างที่ก็ดี, ในเรื่องรัฐบาลกำลังจะออกพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ก็ดี, รวมไปถึงเรื่อง “Policy” ของพระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ก็ดี, เงินจำนวนดังกล่าวเกือบจะไม่เหลืออยู่ในบัญชีกรมพระคลังข้างที่แล้ว! การร่อยหรอนั้นได้เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม ๒๔๗๕ เป็นต้นมา… จริงอยู่, ภายในสัปดาห์แรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองยังทรงมีพระราชดำรัสกับพระยามโนปกรณ์นิติธาดาว่า ทรงยินดีจะให้รัฐบาลกู้เงินก้อนนี้ไปใช้บำรุงประเทศ, ทว่าหลังจากนั้นมาอีก ๑๘ วัน, ก็ได้ทรงเริ่มโอนเงินที่ฝากไว้ในต่างประเทศในนามกรมพระคลังข้างที่นี้เข้าบัญชีส่วนพระองค์เป็นระยะๆ. ผู้ที่เอาใจใส่ประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ อาจสนใจที่จะเทียบวันเวลาว่า, ในวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๔๗๕, หรือก็คือก่อนหน้าวันที่จะทรงเริ่มโอนเงินที่ฝากไว้ในนามพระคลังข้างที่ ๒ สัปดาห์, สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ ต้องเสด็จออกนอกประเทศไปแล้ว. จำนวนเงินโดยละเอียดนั้นเราจะกล่าวถึงอีกครั้งในตอนข้างหน้า, ต่อไปนี้เป็นเพียงจำนวนโดยคร่าวๆ เท่านั้น, คือ : วันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๔๗๕ หนึ่งแสนสามหมื่นบาทเศษ,วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๔๗๕ สามแสนสองหมื่นบาทเศษ,วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๔๗๕ หนึ่งล้านหนึ่งแสนบาทเศษ,วันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๔๗๕ ห้าแสนสี่หมื่นบาทเศษ,วันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๔๗๕ เก้าหมื่นห้าพันบาทเศษ,วันที่ ๖ กันยายน ๒๔๗๕ สามแสนหนึ่งหมื่นบาทเศษ,วันที่ ๒๒ กันยายน ๒๔๗๕ ทรงโอนเงินที่จะต้องเสียภาษีให้กับรัฐบาลอังกฤษ เข้าบัญชีของพระองค์หนึ่งแสนหนึ่งหมื่นบาทเศษ,วันที่ ๘ ตุลาคม ๒๔๗๕ ทรงถอนเงินจากบัญชีพระคลังข้างที่ไปทำประกันสามแสนบาท,วันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๔๗๕ ทรงถอนเงินจากบัญชีพระคลังฯ ไปทำประกันอีกหนึ่งแสนห้าหมื่นบาทเศษ,รายการสุดท้ายคือ, ในวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๔๗๗ ทรงโอนเงินก้อนสุดท้ายจากพระคลังข้างที่เข้าบัญชีส่วนพระองค์เป็นจำนวนเงินหนึ่งล้านบาทเศษ. ที่พระพินิจธนากรอภิปรายในสภาฯ ว่า “ในเรื่องพระพิบูลย์ไอศวรรย์ถ้าท่านแพ้ท่านก็จะลาออก เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าผู้มีสติปัญญาอันน้อยไม่ทราบพระราชประสงค์ของท่านอันใดเลย” นั้น, “สติปัญญาอันน้อย” ของท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ผู้นี้บางทีจะอยู่ตรงที่ไม่ทราบข้อเท็จจริงข้อนี้นั่นเอง. แม้พระยาพหลฯ จะได้กราบบังคมทูลไว้ในเดือนสิงหาคม ๒๔๗๗ แล้วว่า “จะจัดการเสนอร่างพระราชบัญญัตินี้ต่อสภาผู้แทนราษฎรในสมัยประชุมสามัญปีนี้”, แต่ในทางเป็นจริงการณ์ก็มิได้เป็นไปโดยเร็วเช่นนั้น. การที่พระราชบัญญัติว่าด้วยทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ฉบับนี้ต้องล่าช้านั้น, หากกล่าวตามที่คณะผู้แทนรัฐบาลได้กราบบังคมทูลเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้า ณ ที่ประทับในอังกฤษในเดือนธันวาคม ก็คือ “การที่มิได้ร่างโดยเร็วก็เพราะเป็นพระราชบัญญัติที่ยากมาก.” นอกจากความที่ “ยากมาก” แล้ว, เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเนื่องกันมาก็ทำให้การร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ต้องยืดเยื้อออกไปอีก, โดยในเดือนมีนาคมของปีนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสละราชสมบัติ. ในที่สุดร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จึงได้ยื่นเข้าสู่สภาฯ เอาในเดือนสิงหาคม ๒๔๗๘ และได้ประกาศใช้ในปีถัดมา. พระราชบัญญัติฉบับนี้มีชื่อว่า “พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช ๒๔๗๙”, โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๙ เป็นต้นไป. ไม่มีใครทราบว่าพระราชบัญญัติที่จะโอนทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ให้ไปอยู่ในความดูแลของรัฐบาลฉบับนี้หรือไม่ ที่ทำให้กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต้องปลงพระชนมชีพพระองค์เองในอีกราวสองเดือนหลังนั้น, เพราะไม่อาจทรงทนต่อแรงกดดันจากรอบข้างต่อไปได้.ใจความสำคัญของพระราชบัญญัติฉบับนี้มีดังนี้ : “มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้ “ทรัพย์สินส่วนพระองค์” หมายความว่าทรัพย์สินหรือสิทธิอันติดอยู่กับทรัพย์สิน ซึ่งมีอยู่หรือเกิดขึ้นในส่วนใดๆ แห่งราชอาณาจักร ถ้าก. ทรัพย์สินหรือสิทธิเช่นว่านั้นเป็นของพระมหากษัตริย์อยู่แล้วในเมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ และพระองค์ทรงมีสิทธิที่จะจำหน่ายสิ่งนั้นได้ก่อนครองราชสมบัติข. ทรัพย์สินหรือสิทธิเช่นว่านั้นได้ตกมาเป็นของพระองค์ในเมื่อหรือภายหลังแต่เวลาที่ครองราชสมบัติโดยทางใดๆ จากบรรดาพระราชบุพการีใดๆ หรือกับบุคคลใดๆ ซึ่งไม่ได้เป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรนี้ค. ทรัพย์สินหรือสิทธิเช่นว่านั้นได้มาหรือซื้อมาจากเงินส่วนพระองค์“ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน” หมายความว่าทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ ซึ่งใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ เป็นต้นว่าพระราชวัง “ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” หมายความว่าทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ นอกจากทรัพย์สินส่วนพระองค์และทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดินดังกล่าวแล้ว มาตรา ๕ ทรัพย์สินส่วนพระองค์, ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ บรรดาที่เป็นเครื่องอุปโภคบริโภคนั้นให้อยู่ในความดูแลรักษาของสำนักพระราชวังทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นอกจากที่กล่าวไว้ในวรรคก่อน ให้อยู่ในความดูแลรักษาของกระทรวงการคลัง โดยปรึกษาคณะกรรมการคณะหนึ่งประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน และกรรมการอีก ๔ นายซึ่งจะได้ตั้งขึ้นโดยพระบรมราชานุมัติมาตรา ๖ รายได้จากทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในความดูแลรักษาของกระทรวงการคลังตามความในมาตรา ๕ วรรค ๒ นั้น เมื่อได้หักรายจ่ายที่จ่ายตามข้อผูกพันอันเกี่ยวแก่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ รายจ่ายที่จ่ายเป็นเงินเดือน (รวมทั้งบำเหน็จบำนาญถ้ามี) เงินค่าใช้สอย เงินการจร และเงินลงทุนอันเกี่ยวแก่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และรายจ่ายที่จ่ายเป็นเงินพระราชกุศลออกแล้ว ให้นำทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงใช้จ่ายในฐานที่ทรงเป็นประมุข มาตรา ๗ ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จะโอนหรือจำหน่ายได้ก็แต่โดยได้รับพระบรมราชานุมัติเพื่อสาธารณประโยชน์ หรือเพื่อประโยชน์แก่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มาตรา ๘ ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดินย่อมได้รับความยกเว้นจากการเก็บภาษีอากรทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ย่อมได้รับความยกเว้นจากการเก็บภาษีอากรเช่นเดียวกับทรัพย์สินของแผ่นดิน ทรัพย์สินส่วนพระองค์ย่อมไม่อยู่ในข่ายแห่งความยกเว้นดังกล่าว” เรื่องการเก็บภาษีในทรัพย์สินของพระเจ้าแผ่นดินนี้ ควรจะได้กล่าวลงไว้เสียด้วยว่ามิได้เป็นของใหม่แต่อย่างใด, หากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้ทรงมีพระราชดำริมาก่อนแล้วเป็นเวลานาน. ในคำบรรยายกฎหมายปกครองของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ในปี ๒๔๗๔ ก็ได้ยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นตัวอย่างถึงเรื่องการเสมอภาคในหน้าที่, โดยกล่าวอ้างอิงไว้ว่า : “ในเรื่องนี้ควรระลึกถึงพระมหากรุณาในพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๖ ซึ่งได้พระราชทานลายพระราชหัตถเลขามายังเสนาบดีกระทรวงนครบาลว่าดังนี้ (สำเนาลายพระราชหัตถเลขา) การที่รัฐบาลเข้าไปจัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และตั้งสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ขึ้นมานี้ มีเรื่องที่ควรจะได้กล่าวถึงอยู่สองเรื่อง ซึ่งแม้จะมิได้เกี่ยวข้องกับคดียึดพระราชทรัพย์ แต่ก็เกี่ยวกับการใช้ทรัพย์สินส่วนนี้เพื่อประโยชน์แห่งตนของคนกลุ่มหนึ่งที่มีส่วนถือครองอำนาจในเวลานั้น. เรื่องแรกเป็นเรื่องอื้อฉาวที่จะเรียกกันต่อมาว่า “กรณีที่ดินพระคลังข้างที่” ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้ได้ไม่นานนัก. เรื่องนี้เป็นเรื่องที่นายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี ได้ยื่นกระทู้ถามรัฐบาลเมื่อปรากฏว่าได้มีการขายที่ดินอันเป็นของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้กับผู้ก่อการบางคนกับพรรคพวก ด้วยราคาที่ถูกอย่างผิดปรกติ. บุคคลที่ซื้อที่ดินเหล่านี้มีหลวงพิบูลสงคราม, หลวงยุทธศาสตร์โกศล, นายวิลาศ โอสถานนท์, พระดุลยธารณ์ปรีชาไวท์ เป็นต้น. ถ้าจะกล่าวตามที่ ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน หรือ “ท่านชิ้น” ทรงชี้ให้เห็นไว้ในบทความเรื่อง “The Development of Siamese Politics” แล้ว, บรรดาพวกที่ซื้อที่ดินนั้นก็เป็นพวกที่สังกัดอยู่ในกลุ่มของหลวงพิบูลสงครามเสียเป็นส่วนมาก. ผลจากการตั้งกระทู้และการเปิดอภิปรายทั่วไปคราวนี้ก็คือ รัฐบาลพระยาพหลฯ ต้องลาออกในวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๔๘๐ และคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งรู้เห็นยินยอมในการซื้อขายที่ดินส่วนนี้ต้องถูกประณามอย่างหนักจนต้องลาออกในที่สุด. เรื่องต่อมาคือเรื่องการฉ้อราษฎร์บังหลวง. ในงานเขียนสำหรับเสนอต่อรัฐบาลอังกฤษเพื่อเตรียมการสร้างขบวนการเสรีไทยในต่างแดนเรื่องเดียวกับที่อ้างข้างต้นนั้น, ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ ได้ทรงกล่าวถึงการวางแผนเพื่อก้าวขึ้นมามีอำนาจของหลวงพิบูลสงครามในสมัยรัฐบาลพระยาพหลฯ ว่า, หลวงพิบูลฯ ได้จัดการส่งคนของตนเข้าควบคุมกรมกองต่างๆ ของรัฐบาล, ตลอดจนให้ทหารชั้นผู้น้อยเป็นข้าหลวงหรือตำแหน่งสูงอื่นๆ ที่ควบคุมการเงิน. และในส่วนของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่เพิ่งจัดระเบียบกันใหม่ๆ นั้น… “สำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของนายทหารชั้นผู้น้อยคนหนึ่ง, ซึ่งเขาผู้นั้นได้สั่งให้สร้างตึกใหม่ๆ ที่ใหญ่โตขึ้นมา โดยอ้างว่าเพื่อความงดงามของบ้านเมือง, และผลจากการฉ้อราษฎร์บังหลวงของเขาก็คือ บรรดาตึกเหล่านั้นอยู่ได้ไม่ถึงห้าปีก็ค่อยพังลงมาทีละตึกสองตึก. การสร้างถนนหนทางและสิ่งอื่นๆ ก็ทำกันขึ้นมาในแบบเดียวกัน. อย่างไรก็ดี, ในการนี้หลวงประดิษฐ์ [มนูธรรม] และพระยาทรง [สุรเดช] กับพวกสานุศิษย์หาได้มีส่วนรู้เห็นด้วยไม่.” ทั้งสองเรื่องนี้คือเรื่องที่พลอยตามมากับการจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ในช่วงแรก, และก็คือเรื่องที่เกิดขึ้นเสมอหลังการปฏิวัติ ไม่ว่าจะในที่ใดและสมัยใด. กลับมาที่เรื่องการจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์-เมื่อทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ต้องอยู่ในความดูแลของกระทรวงการคลังดังที่พระราชบัญญัติกำหนดไว้ดังกล่าว, กระบวนการปฏิบัติงานต่อมาของรัฐบาลก็คือ ตั้งกรรมการชุดหนึ่งขึ้นตรวจสอบบัญชี. ในการตรวจสอบนั้นเอง, คณะกรรมการชุดนี้ก็ได้พบว่าเงินหลายจำนวนถูกสั่งจ่ายไปโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตั้งแต่ครั้งยังมิได้สละราชสมบัติ. เมื่อการตรวจสอบจบสิ้นลง,ในปี ๒๔๘๒ กระทรวงการคลังก็ได้มอบเรื่องราวให้แก่อัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า ได้ทรงโอนทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ไปเป็นของส่วนพระองค์โดย “ไม่มีอำนาจที่จะทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย และโดยไม่มีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ.” อัยการยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งในวันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒, โดยในวันที่ ๑๓ กันยายนปีเดียวกันนั้นก็ได้ยื่นคำร้องขอแก้คำฟ้อง. การแก้นั้นเข้าใจว่าจะแก้ในส่วนรายละเอียดของวันที่และจำนวนเงิน, เพราะเมื่อเทียบกันระหว่างความที่ปรากฏในคำฟ้องลงวันที่ ๑๗ กรกฎาคม กับที่ปรากฏในตอนต้นของคำพิพากษาลงวันที่ ๓๐ เดือนกันยายน ปี ๒๔๘๔ มีส่วนที่แตกต่างกันอยู่บ้าง. เพื่อความสะดวกสำหรับในที่นี้จะขอคัดส่วนต้นของคำพิพากษาซึ่งเป็นการสรุปคำฟ้องมาลงไว้แทน, ดังนี้ : “โจทก์ยื่นคำฟ้องลงวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๔๘๒ แลยื่นคำร้องขอแก้คำฟ้องในวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๔๘๒ ประมวลเป็นใจความว่า ในระหว่างที่จำเลยที่ ๑ เสวยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ และจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นพระชายาทรงเป็นพระบรมราชินี จำเลยได้โอนทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ไปเป็นพระนามของจำเลยทั้งสองโดยจำเลยไม่มีอำนาจที่จะทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย และโดยไม่มีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการตามพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินไทยชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๔ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย คือ ก. คอนโซลส์อังกฤษราคา ๑๐๐,๐๐๐ ปอนด์ ซึ่งกรมพระคลังข้างที่ได้ซื้อไว้แต่ครั้งในรัชชกาลที่ ๕ และเป็นทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ตกทอดตลอดมา มีชื่อพนักงานฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงก์ กรุงลอนดอนเป็นผู้ถือไว้ในนามของกรมพระคลังข้างที่ จำเลยได้จัดการโอนให้พนักงานฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงก์ กรุงลอนดอนเป็นผู้ถือไว้ในพระนามของจำเลยเมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๗ คิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนในขณะโอน ๑,๐๘๙,๓๖๑ บาท ๗๐ สตางค์ ข. เงินทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ที่ได้ฝากไว้ณะฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงก์ กรุงลอนดอน ๕๐,๐๐๐ ปอนด์ในนามของกรมพระคลังข้างที่ จำเลยได้โอนไปฝากในพระนามของจำเลยเมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ คิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนในขณะโอน ๕๔๔,๖๘๐ บาท ๘๕ สตางค์ ค. เงินภาษีรายได้จากคอนโซลส์อังกฤษ ซึ่งกรมพระคลังข้างที่ได้เสียให้แก่เจ้าพนักงานประเมินภาษีของอังกฤษ แล้วภายหลังเรียกคืนมาเมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นจำนวนเงิน ๑,๐๔๕ ปอนด์ ๑๔ ชิลลิงส์ ๗ เพนส์ อันเป็นเงินทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ แต่หม่อมเจ้าดำรัสดำรง เทวกุล อัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอนในขณะนั้นได้นำฝากไว้ในพระนามของจำเลย ซึ่งจำเลยทรงเห็นชอบด้วย คิดเป็นเงินไทยตามอัตราในขณะฝาก ๑๑๓,๘๐๐ บาท ๗๑ สตางค์ ง. เงินทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ที่ได้ฝากไว้ณะแนชชั่นแนลซิตี้แบงก์ กรุงนิวยอร์ค จำนวน ๓๖๗,๖๕๓ เหรียญ ๘๔ เซ็นต์ ในนามกรมพระคลังข้างที่ จำเลยได้โอนไปฝากในพระนามของจำเลยเมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ คิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนเวลาโอน ๑,๑๓๑,๒๔๒ บาท ๕๘ สตางค์ จ. เงินทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ที่ได้ฝากไว้ณะฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงก์ กรุงลอนดอน จำนวน ๑๑,๙๕๑ ปอนด์ ๘ ชิลลิงส์ ๘ เพ็นส์ ในนามของกรมพระคลังข้างที่ จำเลยได้โอนไปฝากในพระนามของจำเลยเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ คิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนขณะโอน ๑๓๐,๑๙๔ บาท ๓๔ สตางค์ ฉ. เงินทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ที่ได้ฝากไว้ณะชาร์เตอร์แบงก์ กรุงลอนดอน จำนวน ๒๘,๕๕๔ ปอนด์ ๓ ชิลลิงส์ ๓ เพ็นส์ ในนามของกรมพระคลังข้างที่ จำเลยได้โอนไปฝากในพระนามของจำเลยเมื่อวันที่ ๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๕ คิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนขณะโอน ๓๑๑,๐๕๘ บาท ๑๑ สตางค์ ช. เงินทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ที่ได้ฝากไว้ณะแนชชั่นแนลแบงก์ กรุงลอนดอน จำนวน ๒๙,๔๓๐ ปอนด์ ๖ ชิลลิงส์ ในนามของกรมพระคลังข้างที่ จำเลยได้โอนไปฝากในพระนามของจำเลยเมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ คิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนขณะโอน ๓๒๐,๖๐๒ บาท ๔๒ สตางค์ ซ. เงินทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ที่ได้ฝากไว้ณะชาร์เตอร์แบงก์ สิงคโปร์ จำนวน ๗๕,๐๗๗ เหรียญ ๕๙ เซ็นต์ ในนามของกรมพระคลังข้างที่ จำเลยได้โอนไปฝากในพระนามของจำเลยเมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ คิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนขณะโอน ๙๕,๐๓๔ บาท ๙๒ สตางค์ครั้นเมื่อจำเลยที่ ๑ ได้สละราชสมบัติในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ แล้ว จำเลยถือเอาทรัพย์สินดังกล่าวข้างต้นทั้งหมดเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ของจำเลย ไม่คืนหรือใช้ให้แก่โจทก์ หรือทบวงการเมืองใดๆ ที่มีหน้าที่ดูแลทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ฌ. ในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ จำเลยได้ทำสัญญาประกันพระชนมชีพไว้กับบริษัทแมนูแฟกเจอเรอส์ไลฟ์อินชัวรันส์ โดยวิธีส่งเงินครั้งเดียวองค์ละแสนเหรียญอเมริกัน จำเลยได้เอาเงินอันเป็นทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์จ่ายไปเมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ จำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท ญ. และในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ นั้นเอง จำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญาประกันพระชนมชีพไว้กับบริษัทเดียวกันนั้นเป็นจำนวนเงิน ๑๗,๐๐๐ ปอนด์ โดยส่งเงินครั้งเดียวเป็นจำนวนเงิน ๑๔,๗๖๑ ปอนด์ โดยจำเลยที่ ๑ ได้เอาเงินอันเป็นทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์จ่ายไปเมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นจำนวน ๑๕๙,๘๒๐ บาท ๒๖ สตางค์จำเลยได้มีคำสั่งให้บริษัทจ่ายเงินที่จำเลยควรได้รับตามสัญญาเข้าในบัญชีเงินฝากของจำเลยณะธนาคารในกรุงลอนดอนและกรุงนิวยอร์ค เป็นการกระทำให้เกิดผลโอนทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์มาเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ของจำเลย โดยไม่มีอำนาจอันชอบด้วยกฎหมายทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ที่จำเลยโอนและจ่ายไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ของจำเลยดังกล่าวแล้วทั้งหมดรวมเป็นจำนวน ๔,๑๙๕,๘๙๕ บาท ๘๙ สตางค์ จำเลยมีหน้าที่ต้องคืนหรือใช้ให้แก่โจทก์ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช ๒๔๗๙ และจะต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์อีกร้อยละ ๗ ๑/๒ ต่อปี นับแต่วันที่โอนและจ่ายจนถึงวันฟ้อง เป็นจำนวนทั้งหมด ๒,๐๒๕,๓๕๑ บาท ๗๐ สตางค์ โจทก์ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวนนี้กับดอกเบี้ยดังกล่าวแล้วให้แก่โจทก์ และให้จำเลยเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗ ๑/๒ ต่อปี ในต้นเงินกับดอกเบี้ยที่ค้างถึงวันฟ้องตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ” ทั้งหมดนี้รวมเป็นเงิน ๖,๒๒๑,๒๔๗ บาท ๕๙ สตางค์.นอกจากฝ่ายโจทก์จะได้ฟ้องมีเนื้อหาดังที่คัดมานี้แล้ว, ในคำฟ้อง โจทก์ยังยื่นฟ้องอีกว่า : “๑. ปรากฏว่าเมื่อวันที่ ๑๑ เดือนนี้ จำเลยที่ ๑ ได้โอนขายที่ดินโฉนดที่ ๔๕๓๒๐ อำเภอดุสิต พระนคร ของจำเลยให้แก่ ม.จ.รัตยากร วิสุทธิ ไปเป็นเงิน ๔,๐๐๐ บาท ๒. และเมื่อวันที่ ๑๒ เดือนเดียวกัน จำเลยที่ ๑ ให้ผู้ไปขอกรมที่ดินและโลหกิจ พระนครและธนบุรี ทำนิติกรรมโอนขายที่ดินอีก ๘ แปลง ตามบัญชีที่ได้แนบมาข้างท้ายนี้ ให้แก่ ม.จ.อุปลีสาณ ชุมพล ราคา ๑๒๘,๓๒๐ บาท ๓. การกระทำของจำเลยดังกล่าวในฟ้อง เป็นการตั้งใจโอนของจำเลยไปให้พ้นอำนาจศาล ซึ่งจะออกบังคับเอากับจำเลย และเพื่อฉ้อโกงโจทก์ และนอกนั้นตัวจำเลยก็อยู่นอกจากอำนาจศาล ๔. เพราะฉะนั้นเป็นการจำเป็นที่โจทก์ต้องร้องขอต่อศาล เพื่อจัดการให้มีวิธีคุ้มครองตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๕๔ มิให้เกิดความเสียหายขึ้นแก่โจทก์ โดยสั่งให้ยึดทรัพย์หรือ อายัดทรัพย์สินของจำเลยไว้ทั้งหมด รวมทรัพย์ของบุคคลภายนอก ซึ่งครบกำหนดที่จะชำระแก่จำเลยด้วย ๕. และโดยที่มีกรณีฉุกเฉิน ถ้าศาลจะดำเนินการพิธีพิจารณาภาควิสามัญ จะเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายขึ้นแก่โจทก์มากมาย โดยจำเลยกำลังพยายามจะโอนทรัพย์ของจำเลยเอง และจำเลยอยู่นอกอำนาจศาล ฉะนั้นขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองตามคำขอของโจทก์ข้อ ๔ โดยมิชักช้า ตามประมวลกฎหมายแพ่งมาตรา ๒๖๖-๒๖๗ นั้น” คำร้องให้ยึดทรัพย์จำเลยโดยเกรงว่าจำเลยจะทำการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินนี้ ทางศาลแพ่งอันมีพระสุทธิอรรถนฤมนตร์ (สุข เลขยานนนท์) เป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งไม่เห็นด้วย จึงมีคำสั่งให้ยกฟ้องคำร้องเสีย. อีก ๓ วันต่อมาทางฝ่ายโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอยึดทรัพย์จำเลยอีกครั้งหนึ่ง โดยในคราวนี้ได้ยื่นเป็นคำร้องธรรมดา แต่ศาลแพ่งก็สั่งให้ยกคำร้องของโจทก์อีก. โจทก์จึงอุทธรณ์คำสั่งของศาลแพ่ง ซึ่งศาลอุทธรณ์ก็ได้พิพากษาให้กลับคำสั่งของศาลแพ่ง. เมื่อศาลสั่งอนุญาตตามคำร้องของโจทก์เช่นนั้น, นาวาอากาศเอกหลวงกาจสงคราม (เทียน เก่งระดมยิง) รัฐมนตรีผู้หนึ่งในคณะรัฐบาลเวลานั้น และมีตำแหน่งเป็นกรรมการตรวจรับงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ก็นำเจ้าหน้าที่กองหมายและเจ้าหน้าที่รัฐบาลเข้าวังศุโขทัย. และนับแต่วาระนั้นเป็นต้นมาสำนักงานผลประโยชน์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ก็ตกอยู่ในความควบคุมของกองหมายโดยคำสั่งศาลตลอดมาจนถึงวันพิพากษาคดี. คุณหญิงมณี สิริวรสาร กล่าวถึงเหตุการณ์ตอนนี้ว่า : “เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยึดทรัพย์ของจำเลยจนหมดสิ้นแล้ว ฝ่ายจำเลยก็หมดกำลังทรัพย์ทางกรุงเทพฯ ที่จะต่อสู้คดีอีกต่อไป และเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า พระสุทธิอรรถฯ ผู้พิจารณาคดีนี้ด้วยความบริสุทธิ์ใจและเป็นอิสระตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ หลังจากที่ได้มีคำสั่งให้ยกคำร้องของโจทก์เสียสองครั้งแล้วก็มีอันเป็นไป คือถูกย้ายไปเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกาชั่วระยะหนึ่ง แล้วก็ถูกคำสั่งให้ปลดออกจากราชการในเวลาต่อมาโดยปราศจากความผิดใดๆ…” ฝ่ายจำเลยจะหมดกำลังทรัพย์อย่างที่คุณหญิงมณีกล่าวหรือไม่ เราไม่ทราบ, แต่ความจริงมีอยู่ว่าฝ่ายจำเลยสู้คดี และสู้ตลอดมาจนศาลพิพากษา. ในการต่อสู้คดีนี้ฝ่ายจำเลยมีหม่อมเจ้าอุปลีสาณ ชุมพล เป็นตัวแทนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และมีมิสเตอร์ V.H. Jakes ชาวอังกฤษ ซึ่งเปิดสำนักงานทนายความอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นทนายความ. ส่วนทางอังกฤษพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงปรึกษาวิธีการต่อสู้คดีกับมิสเตอร์ R.D. Craig ที่ปรึกษากฎหมายของพระองค์ และร่วมบริษัทว่าความบริษัทเดียวกันกับมิสเตอร์เจกส์ ด้วย. ไม่ช้าไม่นานต่อมาที่ปรึกษากฎหมายของพระองค์ก็มายังกรุงเทพฯ เพื่อร่วมมือกับทนายที่นี่ในประเด็นสำคัญบางประเด็น แล้วนำไปกราบบังคมทูลรูปคดีแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่อังกฤษ. คำให้การต่อสู้ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ตามที่ปรากฏในคำพิพากษา มีดังนี้ : “จำเลยทั้งสองให้การต้องกันรับว่า โจทก์มีหน้าที่ดูแลรักษาทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตามความในมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. ๒๔๗๙ และจำเลยที่ ๑ ได้เคยเสวยราชสมบัติตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๘ และได้สละราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ จำเลยที่ ๒ เป็นพระราชชายาของจำเลยที่ ๑ และได้ทรงเป็นพระบรมราชินีในระหว่างที่จำเลยที่ ๑ เสวยราชสมบัติ ข้ออ้างของโจทก์นอกจากที่กล่าวแล้วจำเลยขอปฏิเสธนอกจากนี้จำเลยทั้ง ๒ ให้การต่อสู้ว่า ๑. การกระทำที่โจทก์ฟ้องได้กระทำในระหว่างที่จำเลยที่ ๑ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ ๑ ในขณะที่เป็นพระมหากษัตริย์ไม่ได้ ฉะนั้นโจทก์จะมาฟ้องคดีนี้ไม่ได้ ๒. หากได้มีการกระทำผิดดังโจทก์ฟ้องซึ่งจำเลยขอปฏิเสธ ก็เป็นความผิดในลักษณะลาภมิควรได้ หรือมิฉะนั้นต้องถือว่าเป็นความผิดในลักษณะละเมิด ฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความ ๓. โจทก์อ้างว่าผู้ครอบครองทรัพย์สินรายพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายได้ถูกจำเลยรบกวนและแย่งในการปกครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้ที่อ้างว่ามีสิทธิครอบครองทรัพย์สินที่ว่านี้มิได้นำความขึ้นฟ้องร้องยังโรงศาลภายใน ๑ ปี ฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความ ๔. บรรดาทรัพย์สินต่างๆ ที่โจทก์อ้างว่าได้โอนหรือฝากไว้ในพระนามของจำเลย ถ้ามีจริงจำเลยก็ได้ครอบครองโดยความสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเป็นเวลา ๕ ปีกว่า จำเลยจึงย่อมได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ว่านี้ตามกฎหมายแล้วก่อนโจทก์นำคดีขึ้นฟ้องร้อง ๕. หากจะถือว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยได้ และได้มีการโอนและใช้ทรัพย์สินตามที่กล่าวในฟ้อง การโอนและการใช้นี้เป็นไปตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าพนักงานรัฐบาล คำสั่งนี้ย่อมผูกมัดโจทก์ จำเลยไม่ต้องรับผิดชอบ ๖. แม้จะปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ ได้เป็นผู้จัดการโอนและใช้ทรัพย์สินดังโจทก์อ้าง จำเลยที่ ๑ ก็มีอำนาจเต็มบริบูรณ์ที่จะจำหน่ายทรัพย์สินนั้นโดยชอบด้วยกฎหมาย ๗. สำหรับเงินภาษีรายได้จากคอนโซลส์อังกฤษ ซึ่งเรียกคืนมาได้ตามกฎหมายอังกฤษ รัฐบาลอังกฤษยอมคืนเพียงแต่ให้จำเลยที่ ๑ เองเท่านั้น จะไม่ยอมคืนให้แก่รัฐบาลแห่งประเทศไทย หรือโจทก์ หรือบุคคลอื่นใดเลย โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหาย และหามีสิทธิที่จะฟ้องเรียกเงินนี้ไม่ ๘. หากจะถือว่าจำเลยได้จัดการโอน และเข้าครอบครองและรับทรัพย์ที่กล่าวในฟ้องโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ก็ดี (ซึ่งจำเลยขอปฏิเสธ) และฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ จำเลยก็ได้กระทำเช่นนั้นโดยสุจริต เชื่อว่ามีสิทธิตามกฎหมายที่จะทำได้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องเพียงแต่ส่วนแห่งทรัพย์สินที่ยังคงมีอยู่ในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้อง และจำเลยไม่ต้องรับผิดชอบเสียดอกเบี้ยเลย ๙. จำเลยที่ ๒ ต่อสู้อีกข้อหนึ่งว่า จำเลยที่ ๒ มิได้เกี่ยวข้องกับการจัดการโอนทรัพย์สินตามคำฟ้องของโจทก์แต่อย่างใดๆ เลย ทั้งมิได้รับทรัพย์สินใดๆ ซึ่งจำเลยไม่ชอบที่จะได้รับ” คดีนี้ใช้เวลาอยู่ ๒ ปีเศษ. ในวันที่ ๓๐ เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๘๔ ศาลก็ได้ตัดสินให้พระองค์ทรงแพ้คดี; พระองค์จะต้องคืนเงินจำนวน ๖,๒๒๑,๒๔๗.๕๙ บาทให้กับพระคลังข้างที่. แต่พระองค์ก็ไม่อาจทรงทราบได้ถึงผลการตัดสิน เพราะก่อนหน้านั้น ๔ เดือน, ในวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พระองค์ได้เสด็จสวรรคตไปแล้วในประเทศอังกฤษ, คงเหลือแต่เพียงสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี จำเลยที่ ๒ เพียงพระองค์เดียว… อีก ๓๒ ปีให้หลังนับแต่วันที่ศาลได้ตัดสินให้ทรงแพ้คดี, สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีได้พระราชทานสัมภาษณ์แก่นักข่าว, ดังปรากฏในหนังสือ เบื้องแรกประชาธิปตัย ว่า : “ก่อนที่จะเสด็จไปอังกฤษในหลวงจึงทำหนังสือมอบให้ว่า ให้เอาเงินที่สะสมไว้นั้นมาทดแทนที่จะทรงเบิกเงินแผ่นดินที่มีอยู่ในเมืองนอกเป็นการชดเชยกัน เงินที่อยู่ในเมืองนอกนั้นเป็นเงินกองกลางสำหรับพระเจ้าแผ่นดินทุกพระองค์จะเบิกมาใช้ได้ ที่ในหลวงต้องทรงทำเช่นนี้ก็เพราะไม่ทราบว่าจะต้องประทับอยู่นานเท่าใด เงินที่จะเอาติดตัวไปก็น้อย และเมื่อไปแล้วจะให้ส่งไปก็ส่งไม่ได้ เงินในเมืองนอกที่ว่านี้มีมาแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะฉะนั้นเงินส่วนของวังศุโขทัยที่ว่านี้ก็เป็นเงินที่ใช้ทดแทนกันนั่นเอง แต่แล้วก็กลายเป็นเรื่องถึงฟ้องร้องกันในเวลาต่อมา ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นแล้วเอกสารของในหลวงที่ทรงไว้เกี่ยวกับการทดแทนกันก็หากันไม่พบ ไม่มีใครรู้ว่ามันหายไปไหน” ด้วยเวลาที่ผ่านไปหลายสิบปีบางทีจะทำให้ทรงจำรายละเอียดคลาดเคลื่อนไปบ้าง, กล่าวคือ, เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปอังกฤษในช่วงปลายปี ๒๔๗๖ นั้น ได้ทรงทยอย “เบิกเงินแผ่นดินที่มีอยู่ในเมืองนอก” มาก่อนหน้านั้นแล้วถึง ๑๘ เดือน, หาใช่ “ที่จะทรงเบิก” ไม่. อย่างไรก็ตาม, เหตุผลข้อนี้ก็มิได้มีการแถลงในศาล-ไม่ว่าจะโดยพระองค์เองหรือโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. น่าเสียดายว่า, ไม่มีใครรู้ว่าเอกสารของในหลวงหายไปไหน, หาไม่การณ์ก็คงจะไม่เป็นไปถึงเช่นนี้. กระนั้นก็ดี, แม้ทางฝ่ายโจทก์จะมิได้เห็นและทางฝ่ายจำเลยเองก็มิได้อ้างถึงเอกสารนี้, หากการปฏิบัติตามวิธีกฎหมายก็มีผลเช่นกัน, นั่นก็คือ, รัฐบาลได้ยึดวังศุโขทัยและทรัพย์สินที่ประเมินราคารวมกันได้ราว ๖ ล้านไว้เป็นการทดแทนเงินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโอนจากบัญชีพระคลังข้างที่ไปไว้ในพระนามของพระองค์. ๕.เมื่อศาลได้ตัดสินให้ทรงแพ้คดีแล้ววังศุโขทัยซึ่งทางรัฐบาลตีราคาไว้ ๓ ล้านบาทก็ถูกยึด, และการ “ริบทรัพย์” อื่นๆ เพื่อนำไปขายทอดตลาดก็ตามมา, ดังประกาศต่อไปนี้ : (ครุฑ)ประกาศขายทอดตลาดกองบังคับคดีทางแพ่ง ประกาศขายทอดตลาดฉบับนี้ทางกองบังคับคดีทางแพ่งได้ส่งให้หนังสือพิมพ์ ๓ ฉบับ คือ ข่าวภาพ, ศรีกรุง และ ประชาชาติ, โดยกำหนดให้ ข่าวภาพ ลงโฆษณาในวันที่ ๒๕, ๒๖, ๒๗ ธันวาคม, ศรีกรุง ลงวันที่ ๒๙, ๓๐, ๓๑ ธันวาคม, ส่วน ประชาชาติ จะลงในฉบับหลังปีใหม่ไปแล้ว คือฉบับวันที่ ๑, ๒ และ ๓ มกราคม. นอกจากประกาศทางสาธารณะนี้แล้ว ทางกองบังคับคดีทางแพ่งยังได้จัดทำบัญชีรายการสิ่งของที่จะขายโดยละเอียดด้วย. บัญชีนี้ได้ส่งไปยังบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง คือทางฝ่ายตัวแทนโจทก์มีหลวงกาจสงคราม, นายแนบ พหลโยธิน, พระยาชาติเดชอุดม, และนายร้อยโทขุนนิรันดรชัย ผู้ดูแลสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์, เป็นต้น, ส่วนทางฝ่ายจำเลยมี ม.จ.อุปลีสาณ ชุมพล และพระยาศรีวิสารวาจา ผู้จัดการมรดกของจำเลย. ตามบัญชีนี้นอกจากหุ้นบริษัทจำนวน ๖ รายการแล้ว ก็มีทรัพย์สินต่างๆ อีก ๑๔ หีบ แบ่งเป็น ๒๘๘ รายการ. ทรัพย์สินทั้งหมดได้แบ่งขายตามบัญชี, ดังนี้ : ขายวันที่ ๘-๙-๑๐ มกราคม รวม ๙๕ รายการวันที่ ๑๑-๑๒-๑๓-๑๔ รวม ๑๐๙ รายการวันที่ ๑๕-๑๖-๑๗ รวม ๘๔ รายการวันที่ ๑๘ ขายหุ้นบริษัทจำนวน ๖ รายการ, รวม ๒,๕๐๗ หุ้น, คิดเป็นเงิน ๒๐๕,๕๖๐ บาท. ตรงนี้จะต้องชี้แจงว่า การแบ่งของออกเป็น ๒๘๘ รายการนั้น มิได้หมายความว่าจะมีวัตถุเป็นจำนวนเท่ากัน; บางรายการประกอบด้วยของมากกว่าหนึ่งชิ้น, เช่นเป็นสร้อยจำนวน ๑๓ สาย หรือแหวน ๑๔ วง, เป็นต้น. อนึ่ง, บรรดาของที่จะขายนี้ล้วนเป็นสังหาริมทรัพย์ทั้งสิ้น.การที่จะคัดรายการทรัพย์สินที่ถูกขายทอดตลาดทั้งหมดมาลงไว้ในที่นี้ เป็นเรื่องที่เกินวิสัย เพราะนอกจากจะมีจำนวนมากแล้ว, แต่ละรายการก็ยังมีคำบรรยายลักษณะไว้สั้นบ้างยาวบ้างอีกด้วย. อย่างไรก็ตาม, เพื่อให้เป็นตัวอย่าง, ในที่นี้จะขอคัดมาแต่ ๑๐ รายการแรกที่ประกาศขายในวันที่ ๘ มกราคม, ดังนี้ : “๑. ขันทองลายพระพุทธรูป หนักประมาณ ๖๕๕ กรัม ๑ ขัน, ๒. พานลาวทอง หนักประมาณ ๕๔๕ กรัม ๑ พาน, ๓. กะโถนทองคำลงยาปากกะจับ หนักประมาณ ๒๖๕ กรัม ๑ ใบ, ๔. ขันทองคำลงยามีพานทองคำลงยารอง หนักประมาณ ๔๘๕ กรัม ๑ ที่, ๕. กล่องหมากทองคำหลังมีตราจุลจอมเกล้า จ.ป.ร.ประดับเพ็ชร์ ๑ ดวง หนักประมาณ ๘๘ กรัม รวม ๒ สิ่ง, ๖. พานทองคำลงยามีโถปริก ๗, ปริกทองคำลงยา ๑ หนักประมาณ ๑,๑๗๕ กรัม ๑ ที่, ๗. พานทองคำลงยากลีบบัวลายเทพพนม หนักประมาณ ๑,๒๘๕ กรัม ๑ พาน, ๘. หีบบุหรี่ทองคำรูปสี่เหลี่ยมมีประดับพลอยสีต่างๆ ทั่วทั้งหีบ มีเท้าสี่เท้า หนักประมาณ ๑,๔๘๐ กรัม ๑ หีบ, ๙. ซองบุหรี่ทองคำฝาด้านหนึ่งฝังเพ็ชร์ทั้งลูก ๔ เม็ด กับทับทิมเป็นขอบรอบ จารึกว่า “สุขุมาลย์มารศรี” หนักประมาณ ๑๖๓ กรัม ๑ ซอง, ๑๐. กฤชด้ามและฝักทองคำด้ามเป็นหัวนกหนักประมาณ ๓๖๕ กรัม ๑ เล่ม ฯลฯ” อย่างไรก็ตาม, ในชั้นสุดท้ายการขายทอดตลาดก็มิได้เกิดขึ้น. หลังจากที่หนังสือพิมพ์ข่าวภาพ และศรีกรุง ได้ลงประกาศแจ้งความติดต่อกันมาหลายวันแล้วนั้นเอง ทางกองบังคับคดีฯ ก็มีหนังสือลงวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๔๘๔ ขอให้ศรีกรุงระงับการลงแจ้งความในวันที่ ๓๑ ธันวาคมเสีย และให้หนังสือพิมพ์ประชาชาติที่จะรับช่วงลงแจ้งความในวันที่ ๑, ๒, และ ๓ มกราคม ยกเลิกการลงแจ้งความนั้นเสียทั้ง ๓ วัน.ในวันที่ ๕ มกราคม ๒๔๘๕ ทางกองบังคับคดีทางแพ่งก็ออกประกาศตามมาอีกฉบับหนึ่ง, ดังนี้ : (ครุฑ)ประกาศกองบังคับคดีทางแพ่ง นับแต่วันที่มีประกาศงดการขายเป็นต้นมาก็มิได้มีประกาศใดตามหลังมาอีก. นอกจากจะสันนิษฐานเอาว่าประเทศกำลังอยู่ในภาวะสงครามแล้ว, เราก็ไม่ทราบเหตุผลอื่นใดอีกที่ทำให้รัฐบาลตัดสินใจไม่นำทรัพย์สินเหล่านั้นมาขายทอดตลาด. อย่างไรก็ตาม, ในเวลานั้นวังศุโขทัยก็ตกเป็นของรัฐแล้ว. ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๔๘๕ เป็นต้นไปกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเพิ่งตั้งขึ้นใหม่ก็ได้ขอเช่าวังแห่งนี้จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ในอัตราเดือนละ ๕,๐๐๐ บาท) เพื่อใช้เป็นที่ทำการ จนกระทั่งย้ายออกไปในอีกแปดปีต่อมา. ๖.จากวันที่ศาลได้พิพากษาให้ทรงแพ้คดีมาจนสิ้นสงคราม, เหตุการณ์ก็เปลี่ยนแปลงไป.ในหนังสือเจ้าฟ้าประชาธิปก ราชันผู้นิราศ ของเขา, “นายหนหวย” ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า : “วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๘๙ ขณะนั้นเป็นรัฐบาลของพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รัฐบุรุษอาวุโสได้บันดาลให้เกิดสัญญาประนีประนอมประวัติศาสตร์ขึ้นระหว่างรัฐบาลกับจำเลยที่ ๒ ในคดีที่รัฐบาลเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคือสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี และกองมรดกผลประโยชน์ทั้งหลายของเจ้าฟ้าประชาธิปก มีสาระสำคัญว่า บรรดาทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหลายที่ผูกพันกันอยู่นั้น เป็นอันให้เลิกแล้วต่อกัน รัฐบาลได้มาแล้วเท่าไรก็เอาเท่านั้น อันที่จริง, นอกจากเรื่องจะอัญเชิญพระบรมอัฐิกลับเมืองไทยแล้ว นายปรีดียังมีปรารถนาให้สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีทรงเข้ามาเป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คณะใหม่ด้วย. อย่างไรก็ตาม, ความพยายามของนายปรีดี พนมยงค์ ก็ไม่ประสบผล. การรัฐประหารในเดือนพฤศจิกายน ๒๔๙๐ โดยพลโทผิน ชุณหะวัน กับพรรคพวกทำให้นายปรีดีต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ และไม่มีโอกาสกลับมามีบทบาททางการเมืองอีก. สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีได้ทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับถึงประเทศไทยในวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม. และหลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขได้ย้ายออกไปในเดือนพฤศจิกายน ๒๔๙๓ แล้ว, ทางราชการก็ได้ถวายวังศุโขทัยคืนแด่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีเพื่อเป็นที่ประทับต่อไป. การที่รัฐบาลถวายวังศุโขทัยคืนนี้มิได้มีผู้ใดคัดค้าน. อย่างไรก็ตาม, อีกหลายสิบปีต่อมาคุณหญิงมณี สิริวรสาร ได้ “บันทึก” สถานะของวังนี้ไว้โดยตั้งใจจะให้ “เป็นประวัติศาสตร์” ที่คนทั่วไปพึงได้รับรู้, ว่า : “ดิฉันต้องขอบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ว่า ตามพระราชพินัยกรรมของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ซึ่งได้ทรงยกร่างไว้ก่อนเสด็จฯ ออกจากประเทศไทยนั้น พระองค์ท่านได้ทรงยกวังศุโขทัยซึ่งเป็นที่ประทับและพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ มอบให้พระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ องค์เดียวอย่างสิ้นเชิง โดยมีเงื่อนไขว่า ให้สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีทรงมีสิทธิประทับได้ตลอดพระชนมชีพ เมื่อสวรรคตแล้วให้วังศุโขทัยตกเป็นของพระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ หรือทายาทของพระองค์เจ้าจิรศักด์ฯ โดยสิทธิขาด” หากจะให้ “ประวัติศาสตร์” ชัดเจนยิ่งขึ้น เราก็ต้องขยายความว่า, “ทายาทของพระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ” ก็คือ “หม่อมมณี” หรือที่จะรู้จักกันในเวลาต่อมาในนามของคุณหญิงมณี สิริวรสาร นั่นเอง! ๗.หลังจากที่เสด็จกลับมาประทับ ณ วังศุโขทัยแล้ว สิ่งต่อมาที่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีต้องทรงกระทำก็คือ จัดการแบ่งพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์นั้นให้เป็นไปตามพระราชพินัยกรรมที่ทรงทำไว้แต่ก่อน. ผู้ที่อยู่ในฐานะทายาทมีส่วนแบ่งในพระราชทรัพย์นั้นคือสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี กับพระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต พระราชโอรสบุญธรรม. อย่างไรก็ตาม, ในเวลานั้นพระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ ได้สิ้นพระชนม์ไปแล้ว เพราะฉะนั้นผู้ที่จะมีส่วนแบ่งในพระราชทรัพย์นั้นคือ “หม่อมมณี”. เราไม่ทราบว่าในการทำพระราชพินัยกรรมนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะได้ทรงปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายท่านใด หรือว่าทรงกำหนดไปตามพระราชดำริของพระองค์เอง, แต่การณ์ก็เป็นไปอย่างที่หม่อมเจ้าอุปลีสาณ ชุมพล ผู้จัดการพระราชมรดกนั้นทรงกล่าว คือ พระราชพินัยกรรมส่วนมากเป็นโมฆะ เพราะขัดกับหลักกฎหมายไทย. ในชั้นสุดท้ายท่านผู้จัดการพระราชมรดกก็ต้องใช้วิธีแบ่งพระราชทรัพย์ทั้งหมด-เว้นแต่วังศุโขทัย-ออกเป็นสองส่วน และใช้วิธีการจับสลาก. วังศุโขทัย(ภาพและเรื่อง:วิกิพีเดีย) คุณหญิงมณีเล่าถึงการแบ่งพระราชทรัพย์ในคราวนั้นไว้ดังนี้ : “เมื่อไปถึงวังศุโขทัยและก่อนที่จะมีการจับสลากท่านอุปลีสาณได้พาดิฉันไปในห้องที่ท่านทรงทำงานอยู่ และยื่นเอกสารที่เป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างสมเด็จฯ และดิฉัน ให้ดิฉันลงนามในสัญญาซึ่งมีข้อความว่า ในการแบ่งพระราชมรดกของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ระหว่างสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีและดิฉัน ซึ่งเป็นผู้แทนของพระองค์จิรศักดิ์ฯ นั้น ดิฉันให้สัญญาว่าจะยอมทำตามเงื่อนไขของสัญญา…ที่ดินที่ต้องจับสลากมีอยู่ด้วยกัน ๒๒ แปลง แต่เหลือ ๒๐ แปลง เพราะเหตุว่ามี ๒ แปลงที่สมเด็จฯ ไม่มีพระราชประสงค์ให้จับสลาก คือแปลงที่เป็นที่ดินและสิ่งก่อสร้างอยู่หลังวังศุโขทัย ซึ่งมีโกดัง ๒ หลังสำหรับเก็บของ มีที่พักของพระญาติบางองค์และบริวารของสมเด็จฯ อาศัยอยู่ และเป็นที่ดินที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา และเนื่องด้วยดิฉันเองก็อยากได้ที่ดินเปล่าไว้ปลูกบ้าน สมเด็จฯ จึงทรงมีรับสั่งให้แลกเปลี่ยนกัน คือดิฉันได้รับที่ดินเปล่า ๑๐ ไร่ที่ถนนเพลินจิตแทนที่ดินแปลงนี้ ซึ่งสมเด็จฯ ก็ทรงพอพระทัยมากที่ที่ดินติดกับวังศุโขทัยได้มาเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์ นั่นคือสามวันสุดท้ายของเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชทรัพย์ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะจากนั้นมาก็มิได้มีพระราชทรัพย์ใดอยู่ในพระนามของพระองค์อีก. ****** เรื่องเกี่ยวเนื่อง:ซีรีส์ชุด 79 ปี 24 มิถุนายน 2475 วันชาติราษฎร เรื่องเกี่ยวเนื่อง: -งานเฉลิมฉลองวันชาติราษฎร79ปี24มิถุนาจงเจริญ -ค้นพบเอกสารเก่าต้นฉบับ "ประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1" 24 มิถุนายน 2475 และคดียึดพระราชทรัพย์ร.7 -ก่อนปฏิวัติ24มิถุนาจะสำเร็จมีบรรพชนล้มลงเบิกทาง:เพื่อนเอ๋ยขอฝากไชโยถ้าพวกเรายังมีชีวิตได้เห็น -บนถนน 2475 : ก่อนวันนั้นจะมาถึง -24 มิถุนาฯ เส้นทางวิบากของประวัติศาสตร์อาภัพ และ (ถูกทำให้) พร่าเลือน -เสวนา 79 ปี อภิวัฒน์ไทย "3 ก.ค. 54" วันที่การเมืองไทยไม่สิ้นหวัง เสียงข้างมากจะกลายเป็น"ความถูกต้อง" | |
http://redusala.blogspot.com |
ดาวน์โหลดคลิ๊ปคนเสื้อแดง
วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2554
ทบทวนประวัติศาสตร์: บนถนน 2475 : ก่อนวันนั้นจะมาถึง | |
วันที่ 24 มิถุนายน เมื่อ 79 ปีที่ผ่านมาในปี 2475 ถือเป็นวันสำคัญทางการเมืองไทย เป็นวันเริ่มต้นของระบอบการเมืองประชาธิปไตยของไทย บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อฉายภาพเส้นทางการเคลื่อนไหวทางการเมืองในสยามก่อนจะดำเนินมาถึงวันที่ คณะราษฎรได้ร่วมกันอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศ จึงขอร่วมรำลึกเหตุการณ์นี้ในวาระครบ 79 ปี การปฏิวัติ 2475 มา ณ โอกาสนี้ ***** ศตวรรษ ที่19 คลื่นจักรวรรดินิยมพร้อมทั้งกระแสทุนนิยมจากโลกตะวันตกเดินทางมาถึงโลกตะวัน ออก สยามในฐานะ“รัฐกษัตริย์”ซึ่งปกครองด้วยระบอบราชาธิปไตย เริ่มสั่นคลอนและจำต้องปรับตัวเพราะไม่สามารถทัดทานกระแสทุนนิยมอันเป็นวิวัฒนาการของสังคมตะวันตกได้ก้าวไปถึงแล้ว รัฐบาลสยามยอมเสียเปรียบลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษ ในปี2398 และได้กลายเป็นต้นแบบให้ชาติตะวันตกอีก 13 ประเทศ เข้ามาเจรจาทำสัญญาในแบบเดียวกัน นี่เป็นจุดเปลี่ยนที่สยามต้องรับมือกับคลื่นจักรวรรดินิยมและกระแสทุนนิยมที่ถาโถมเข้าใส่ ล่วงถึงสมัยรัชกาลที่5 อธิปไตยของสยามถูกท้าทายอย่างมากจนราชสำนักได้ตระหนักถึงความด้อยกว่าทั้ง ความรู้และความคิด จึงได้พยายามปรับตัวโดยจัดรูปแบบของรัฐใหม่ตามแบบแผนตะวันตกและไม่ลืมที่จะ ผสานจารีตการเมืองดั้งเดิมของชนชั้นนำเอาไว้บางอย่าง ในรัชสมัยนี้เองที่อุดมการณ์ประชาธิปไตยเริ่มเข้าสู่สังคมสยามอย่างค่อนข้าง ชัดเจน เริ่มจากชนชั้นสูงกลุ่มหนึ่งมีทั้งเจ้านายและขุนนางที่ไปศึกษาและปฏิบัติ ราชการในยุโรป ได้ออกมาเคลื่อนไหวครั้งแรกในร.ศ.103(พ.ศ.2427) คณะเจ้านายและขุนนางกลุ่มหนึ่ง อาทิ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ มีหนังสือกราบทูลรัชกาลที่5 มีสาระสำคัญเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบกษัตริย์ภายใต้ รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) โดยเห็นว่าเป็นทางออกเดียวที่จะทำให้สยามรอดพ้นภัยคุกคามจากตะวันตกได้ และเป็นครั้งแรกที่มีการกล่าวว่า “แผ่นดินสยามเป็นของชาวสยามทั้งหมด” รัชกาล ที่ 5 ทรงปฏิเสธและตอบกลับไปว่า พระองค์ไม่เคยคิดที่จะหวงแหนอำนาจไว้เลย แต่ติดขัดที่สถานการณ์ขณะนั้นยังไม่เหมาะสม เพราะขาดคนมีความรู้ความสามารถและความกล้าที่จะทำหน้าที่นิติบัญญัติเพื่อ ถ่วงดุลกับอำนาจบริหารที่ของกษัตริย์ ทว่าหลังจากนั้น ก็มีการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินตามแนวทางของพระองค์เอง กล่าวคือ การสถาปนาอำนาจส่วนกลางภายใต้รัฐบาลแบบสมัยใหม่ที่รวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วน กลางแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เป็นการก่อร่างสร้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (absolute monarchy) โดยมีกษัตริย์เป็นองค์อธิปัตย์สูงสุด มีอำนาจสมบูรณ์และแบ่งแยกไม่ได้ คงสถานะความศักดิ์สิทธิ์เหนือประชาชนเช่นเดียวกับยุคศักดินา และในสมัยนี้นอกจากกลุ่มชนชั้นสูงแล้ว ยังมีสามัญชนหัวก้าวหน้าอย่าง “เทียนวรรณ” และ ก.ศ.ร. กุหลาบ ที่ได้พยายามนำเสนอแนวคิดท้าทายและกล้าวิพากษ์วิจารณ์การปกครองระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ด้วยสำนึกถึงความเป็นมนุษย์ที่ต้องมีสิทธิ ความเสมอภาค คนทุกคนควรมีโอกาสเท่าเทียมกัน ดังที่เทียนวรรณ ได้แต่งบทประพันธ์ขึ้นตอนหนึ่งว่า “...ไพร่เป็นพื้นยืนร้องทำนองชอบ ตามระบอบปาลิเมนต์ประเด็นขำ แม้นนิ่งช้าล้าหลังยังมิทำ จะตกต่ำน้อยหน้าเวลาสาย...” แม้การเปลี่ยนแปลงยังมิได้เกิดขึ้นตามข้อเรียกร้อง แต่ก่อนที่รัชกาลที่5 เสด็จสวรรคต ทรงมีพระราชดำรัสอันเปรียบเหมือนคำมั่นสัญญาว่า "จะให้ลูกวชิราวุธมอบของขวัญให้แก่พลเมืองไทยทันทีที่ขึ้นสู่ราชบัลลังก์...จะให้เขามีปาลิเมนต์และคอนสติติวชั่น" ทรงมุ่งสร้างความมั่นคงให้กับรัฐตามแนวทาง ชาตินิยมและอนุรักษ์นิยม ทรงริเริ่มตั้งเมืองสมมุติ“ดุสิตธานี” จำลองรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตย และให้มีหนังสือพิมพ์วิพากษ์วิจารณ์และเสนอข่าวด้วย มีคนบางกลุ่มวิจารณ์ว่า ดุสิตธานีเป็นเพียงการละเล่นของกษัตริย์และไม่ได้ตั้งใจก่อตั้งรูปการปกครอง แบบประชาธิปไตยอย่างจริงจัง ก่อนหน้านั้นช่วงต้นรัชกาลมีเหตุปฏิวัติโค่นล้มระบอบกษัตริย์ขึ้นในจีน ตุรกีและโปรตุเกส เหตุการณ์เหล่านี้มีอิทธิพลมาถึงการเรียกร้องประชาธิปไตยในสยาม นั่นคือ เหตุการณ์ รศ.130 กลุ่มนายทหารและปัญญาชนวางแผนปฏิบัติการโดยหมายให้กษัตริย์พระราชทาน รัฐธรรมนูญและเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่แผนการรั่วไหลเสียก่อนจึงถูกจับกุมเสียก่อนหลังการก่อการครั้งนี้ รัชกาลที่6 ยังทรงยืนยันหนักแน่นว่า ราษฎรยังไม่พร้อมสำหรับประชาธิปไตย “ระบอบกษัตริย์ทรงอำนาจสูงสุดนั้นดีแล้ว ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมกับประเทศสยามเพราะราษฎรไม่มีความรู้” พร้อมกับทรงเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองดังที่เกิดในหลายประเทศ เช่น “การปฏิวัติทั้งในจีนและโปรตุเกส เป็นสิ่งไม่ถูกต้องเพราะนำมาซึ่งความวุ่นวาย” ปี2457 เกิดสงครามโลกครั้งที่1 และหลังจากนั้นก็มีเหตุปฏิวัติล้มล้างระบอบกษัตริย์เกิดขึ้นอีกหลายประเทศ ทั้งในรุสเซีย เยอรมนี และออสเตรีย-ฮังการี ขณะที่ภายในประเทศก็มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองเมื่อสามัญชนเริ่มตื่นตัว และแสดงออกทางการเมืองกว้างขวางขึ้น เช่น หนังสือพิมพ์ “จีนโนสยามวารศัพท์” ของนายเซียวฮุดเสง ที่เผยแพร่โฆษณาความคิดเชิงประชาธิปไตย จนกระทั่งรัฐบาลไม่พอใจถึงกับออกกฎหมายควบคุมและให้รัฐมีอำนาจสั่งปิดได้ นับเป็นกฎหมายเซ็นเซอร์สิ่งพิมพ์ฉบับแรกในประวัติศาสตร์ไทย ห้วงเวลาสู่วิกฤต และเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก รัฐบาลสยามแก้ปัญหาขาดดุลการคลังด้วยการปลดข้าราชการออกจำนวนมาก ปัญหาเศรษฐกิจได้ขยายวงสู่ความขัดแย้งในวงของผู้บริหารจนกระทั่งถึงขั้นมี การลาออกของเสนาบดี รัฐบาลดำเนินนโยบายการเงินการคลังที่อนุรักษ์นิยมเน้นการจัดงบประมาณให้เข้า ดุล จึงต้องตัดงบประมาณรายจ่าย ลดเงินเดือน ลดจำนวนข้าราชการพร้อมกับเก็บภาษีในรูปใหม่ซึ่งกระทบคนชั้นกลางมากที่สุด จนก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างมาก ขณะที่เกษตรกรชาวนาก็อยู่ในภาวะทุกข์ยาก ราคาข้าวและราคาที่ดินตกต่ำอย่างมาก ชาวนาขาดเงินสดที่จะซื้อเครื่องอุปโภคบริโภค ในขณะเดียวกันก็ขาดเงินสำหรับเสียภาษีอากร ทั้งยังไม่สามารถจะหาเงินกู้มาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ เกิดหนี้สินรุงรังและเกิดอัตราว่างงานสูง แม้ประเทศกำลังประสบภาวะเศรษฐกิจก็ตาม แต่ถึงกระนั้นเจ้านายและชนชั้นสูงยังคงดำรงสถานะที่สูงส่งเช่นเดิม ด้วยแนวคิดของระบบเจ้านายต้องผดุงไว้ซึ่งขัตติยะ เพราะหากมีเรื่องใดเสื่อมเสียมากระทบชนชั้นเจ้านาย ย่อมส่งผลต่อพระบรมเดชานุภาพของกษัตริย์ด้วย ดังนั้นพระมหากษัตริย์ต้องพระราชทานเงินให้แก่ชนชั้นเจ้าอย่างเพียงพอ สถานการณ์ดังกล่าวเชื่อมโยงมาถึงกระแสเรียกร้องประชาธิปไตยที่รุนแรงมากขึ้น “รัฐสภาและรัฐธรรมนูญ” เป็นคำที่คุ้นเคยกันทั่วไปอย่างน้อยก็ในหมู่ปัญญาชน เวลานั้นมีกระแสข่าวว่า รัชกาลที่7 จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ แต่ท้ายที่สุดก็มิได้เกิดขึ้น พระองค์ทรงแก้ปัญหาทางการเมืองด้วยวิธีเดิม คือ “การปรับปรุงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” เพราะทรงเห็นว่า “การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ตามแบบฉบับพระบิดานั้น เป็นวิธีที่ดีที่สุด” ถึงปี2474 รัชกาลที่7 ทรงมอบหมายให้กระทรวงต่างประเทศและที่ปรึกษาร่างเค้าโครงธรรมนูญเพื่อเตรียม ไว้ว่า อาจจะพระราชทานรัฐธรรมนูญในเดือนเมษายน ในโอกาสครบ 150 ปี ราชวงศ์จักรี หากแต่เค้าโครงธรรมนูญฉบับนี้ ยังเป็นธรรมนูญที่ให้อำนาจสูงสุดแก่กษัตริย์และขุนนางเสนาบดีเช่นเดิม เพราะไม่ได้แบ่งแยกอำนาจอธิปไตยออกไปจากสถาบันกษัตริย์ มิใช่ธรรมนูญที่อยู่บนพื้นฐานอำนาจของประชาชนตามหลักประชาธิปไตยทั่วไป หากเป็นธรรมนูญแบบกษัตริย์นิยม ดังเห็นได้จากที่ระบุไว้ในมาตรา 1 ของร่างฯฉบับนี้ว่า "อำนาจอธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์" แต่แล้วการพระราชทานรัฐธรรมนูญครั้งนั้นก็ล้มเหลวไปพร้อมๆกับโอกาสของสยามที่จะมีระบอบรัฐสภา ขบวนการคณะราษฎร ทหารและพลเรือนกลุ่มหนึ่งซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนและทหารที่ศึกษาและทำงานอยู่ ในยุโรป มีเจตนาตรงกันคือต้องการเห็นบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งได้เริ่มประชุมกันครั้งแรกตั้งแต่ราวเดือนกุมภาพันธ์ ปี2469 ณ กรุงปารีส และตกลงกันใช้วิธี "ยึดอำนาจโดยฉับพลัน" เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่กษัตริย์อยู่เหนือ กฎหมาย มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ โดยเน้นแผนการที่หลีกเลี่ยงการนองเลือดเพื่อป้องกันการถือโอกาสเข้ามา แทรกแซงจากมหาอำนาจที่มีอาณานิคมอยู่ล้อมรอบสยามในสมัยนั้น คืออังกฤษและฝรั่งเศส หลังการประชุมนั้น เมื่อคณะผู้ก่อการกลับมาประเทศสยาม ก็พยายามเสาะหาสมาชิกที่ต้องการเข้าร่วมการปฏิวัติ จนได้สมาชิกจากหลากหลายอาชีพ
เมื่อจัดตั้งขบวนการสำเร็จเป็นรูปร่าง คณะราษฎรได้ประชุมเตรียมการหลายครั้ง แต่ได้ล้มเลิกแผนการบางแผน เช่น การยึดอำนาจในวันพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาในวันที่ 16มิถุนายน เนื่องจากประเมินแล้วว่ามีความเสี่ยงสูง จนกระทั่งได้ข้อสรุปว่าจะปฏิบัติการในรุ่งเช้าวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งเป็นช่วงที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับที่วังไกล กังวล เหลือข้าราชการเพียงไม่กี่คนในกรุงเทพ ทำให้สามารถเข้ายึดอำนาจโดยหลีกเลี่ยงการปะทะที่เสียเลือดเนื้อได้ เป้าหมายสำคัญของปฏิบัติการนี้คือการเข้าควบคุมสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการรักษาพระนครในเวลานั้น ย่ำรุ่ง 24 มิถุนายน 2475 ย่ำรุ่งวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎร ได้นำทหารบกและทหารเรือประมาณ 2,000 ชีวิต มารวมตัวกันรอบพระที่นั่งอนันตสมาคม ตั้งแต่เวลาประมาณ 5 นาฬิกา จากนั้นนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะได้อ่านประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ ๑ ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เสมือนประกาศยึดอำนาจการปกครองก่อนจะนำกำลังแยกย้ายไปปฏิบัติการต่อไป ณ ตำแหน่งที่พระยาพหลพลพยุหเสนาอ่านประกาศคณะราษฎร ด้านสนามเสือป่า ดังปรากฎในทุกวันนี้มีหมุดทองเหลืองฝังอยู่บนพื้นถนน เป็นหลักฐานติดตรึงประวัติศาสตร์หน้าสำคัญ มีข้อความจารึกว่า "ณ ที่นี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ" คณะราษฎรได้ส่ง น.ต.หลวงศุภชลาศัยไปอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งอยู่ ระหว่างเสด็จแปรพระราชฐาน ณ วังไกลกังวล หัวหิน เพื่อให้เสด็จนิวัติพระนคร โดยเสนอให้ทรงเป็นกษัตริย์ต่อไปได้แต่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ หากทรงปฏิเสธจะเลือกเจ้านายพระองค์อื่นขึ้นเป็นกษัตริย์ต่อไป พระองค์ได้ทรงปรึกษากับพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ ที่ตามเสด็จและได้ตัดสินพระทัยตกลงตามเงื่อนไขของคณะราษฎร เมื่อเสด็จกลับถึงวังศุโขทัย เช้าวันรุ่งขึ้น ผู้แทนคณะราษฎร 7 คน ได้เดินทางนำเอกสารสำคัญไปกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ธรรมนูญ การปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช2475 ซึ่งร่างโดยนายปรีดี พนมยงค์ นับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศ ที่เป็นหลักประกันสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของราษฎร ดังที่ได้บัญญัติไว้ในมาตราแรกว่า "อำนาจสูงสุดของประเทศนั้น เป็นของราษฎรทั้งหลาย" -------------------------------- ราษฎรทั้งหลายเมื่อกษัตริย์องค์นี้ได้ครองราชย์สมบัติสืบต่อจากพระเชษฐานั้น ในชั้นต้นราษฎรบางคนได้หวังกันว่ากษัตริย์องค์ใหม่นี้จะปกครองราษฎรให้ ร่มเย็น แต่การณ์ก็หาได้เป็นไปตามที่คิดหวังกันไม่ กษัตริย์คงทรงอำนาจอยู่เหนือกฎหมายเดิม ทรงแต่งตั้งญาติวงศ์และคนสอพลอไร้คุณความรู้ให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญๆ ไม่ทรงฟังเสียงราษฎร ปล่อยให้ข้าราชการใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต มีการรับสินบนในการก่อสร้างและการซื้อของใช้ในราชการ หากำไรในการเปลี่ยนเงิน ผลาญเงินของประเทศ ยกพวกเจ้าขึ้นให้สิทธิพิเศษมากกว่าราษฎร กดขี่ข่มเหงราษฎร ปกครองโดยขาดหลักวิชา ปล่อยให้บ้านเมืองเป็นไปตามยถากรรม ดังที่จะเห็นได้จากความตกต่ำในทางเศรษฐกิจและความฝืดเคืองในการทำมาหากิน ซึ่งพวกราษฎรได้รู้กันอยู่โดยทั่วไปแล้ว รัฐบาลของกษัตริย์เหนือกฎหมายมิสามารถแก้ไขให้ฟื้นขึ้นได้ การที่แก้ไขไม่ได้ก็เพราะรัฐบาลของกษัตริย์มิได้ปกครองประเทศเพื่อราษฎรตามที่รัฐบาลอื่นๆ ได้กระทำกัน รัฐบาลของกษัตริย์ได้ถือเอาราษฎรเป็นทาส (ซึ่งเรียกว่าไพร่บ้าง ข้าบ้าง) เป็นสัตว์เดียรัจฉาน ไม่นึกว่าเป็นมนุษย์ เหตุฉะนั้น แทนที่จะช่วยราษฎร กลับพากันทำนาบนหลังราษฎร จะเห็นได้ว่า ภาษีอากรที่บีบคั้นเอาจากราษฎรนั้น กษัตริย์ได้หักเอาไว้ใช้ปีหนึ่งเป็นจำนวนหลายล้าน ส่วนราษฎรสิ กว่าจะหาได้แม้แต่เล็กน้อย เลือดตาแทบกระเด็น ถึงคราวเสียเงินราชการหรือภาษีใดๆ ถ้าไม่มีเงินรัฐบาลก็ยึดทรัพย์หรือใช้งานโยธา แต่พวกเจ้ากลับนอนกินกันเป็นสุข ไม่มีประเทศใดในโลกจะให้เงินเจ้ามากเช่นนี้ นอกจากพระเจ้าซาร์และพระเจ้าไกเซอร์เยอรมัน ซึ่งชนชาตินั้นก็ได้โค่นราชบัลลังก์ลงเสียแล้ว รัฐบาลของกษัตริย์ได้ปกครองอย่างหลอกลวงไม่ซื่อตรงต่อราษฎร มีเป็นต้นว่าหลอกว่าจะบำรุงการทำมาหากินอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ครั้นคอยๆ ก็เหลวไป หาได้ทำจริงจังไม่ มิหนำซ้ำกล่าวหมิ่นประมาทราษฎรผู้มีบุญคุณเสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้กิน ว่าราษฎรยังมีเสียงทางการเมืองไม่ได้ เพราะราษฎรโง่ คำพูดของรัฐบาลเช่นนี้ใช้ไม่ได้ ถ้าราษฎรโง่ เจ้าก็โง่เพราะเป็นคนชาติเดียวกัน ที่ราษฎรรู้ไม่ถึงเจ้านั้นเป็นเพราะขาดการศึกษาที่พวกเจ้าปกปิดไว้ไม่ให้ เรียนเต็มที่ เพราะเกรงว่าเมื่อราษฎรได้มีการศึกษา ก็จะรู้ความชั่วร้ายที่พวกเจ้าทำไว้ และคงจะไม่ยอมให้เจ้าทำนาบนหลังคนอีกต่อไป ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้ช่วยกันกู้ให้ประเทศเป็นอิสรภาพพ้นมือจากข้าศึก พวกเจ้ามีแต่ชุบมือเปิบและกวาดทรัพย์สมบัติเข้าไว้ตั้งหลายร้อยล้าน เงินเหล่านี้เอามาจากไหน? ก็เอามาจากราษฎรเพราะวิธีทำนาบนหลังคนนั้นเอง บ้านเมืองกำลังอัตคัดฝืดเคือง ชาวนาและพ่อแม่ทหารต้องทิ้งนา เพราะทำนาไม่ได้ผล รัฐบาลไม่บำรุง รัฐบาลไล่คนงานออกอย่างเกลื่อนกลาด นักเรียนที่เรียนสำเร็จแล้วและทหารที่ปลดกองหนุนแล้วก็ไม่มีงานทำ จะต้องอดอยากไปตามยถากรรม เหล่านี้เป็นผลของกษัตริย์เหนือกฎหมาย บีบคั้นข้าราชการชั้นผู้น้อย นายสิบ และเสมียน เมื่อให้ออกจากงานแล้วก็ไม่ให้เบี้ยบำนาญ ความจริงควรเอาเงินที่พวกเจ้ากวาดรวบรวมไว้มาจัดบำรุงบ้านเมืองให้คนมีงานทำ จึงจะสมควรที่สนองคุณราษฎรซึ่งได้เสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้ร่ำรวยมานาน แต่พวกเจ้าก็หาได้ทำอย่างใดไม่ คงสูบเลือดกันเรื่อยไป เงินเหลือเท่าไหร่ก็เอาไปฝากต่างประเทศ คอยเตรียมหนีเมื่อบ้านเมืองทรุดโทรม ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก การเหล่านี้ย่อมชั่วร้าย เหตุฉะนั้น ราษฎร ข้าราชการ ทหาร และพลเรือน ที่รู้เท่าถึงการกระทำอันชั่วร้ายของรัฐบาลดังกล่าวแล้ว จึงรวมกำลังตั้งเป็นคณะราษฎรขึ้น และได้ยึดอำนาจของกษัตริย์ไว้ได้แล้ว คณะราษฎรเห็นว่าการที่จะแก้ความชั่วร้ายนี้ได้ก็โดยที่จะต้องจัดการปกครอง โดยมีสภา จะได้ช่วยกันปรึกษาหารือหลายๆ ความคิดดีกว่าความคิดเดียว ส่วนผู้เป็นประมุขของประเทศนั้น คณะราษฎรไม่ประสงค์ทำการแย่งชิงราชสมบัติ ฉะนั้น จึงได้อัญเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร คณะราษฎรได้แจ้งความประสงค์นี้ให้กษัตริย์ทราบแล้ว เวลานี้ยังอยู่ในความรับตอบ ถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธหรือไม่ตอบภายในกำหนดโดยเห็นแก่ส่วนตนว่าจะถูกลดอำนาจ ลงมาก็จะชื่อว่าทรยศต่อชาติ และก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองแบบอย่างประชาธิปไตย กล่าวคือ ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกตั้งขึ้น อยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา ตามวิธีนี้ราษฎรพึงหวังเถิดว่าราษฎรจะได้รับความบำรุงอย่างดีที่สุด ทุกๆ คนจะมีงานทำ เพราะประเทศของเราเป็นประเทศที่อุดมอยู่แล้วตามสภาพ เมื่อเราได้ยึดเงินที่พวกเจ้ารวบรวมไว้จากการทำนาบนหลังคนตั้งหลายร้อยล้าน มาบำรุงประเทศขึ้นแล้ว ประเทศจะต้องเฟื่องฟูขึ้นเป็นแม่นมั่น การปกครองซึ่งคณะราษฎรจะพึงกระทำก็คือ จำต้องวางโครงการอาศัยหลักวิชา ไม่ทำไปเหมือนคนตาบอด เช่นรัฐบาลที่มีกษัตริย์เหนือกฎหมายทำมาแล้ว เป็นหลักใหญ่ๆ ที่คณะราษฎรวางไว้ มีอยู่ว่า ๑.จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่นเอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง ๒.จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก ๓.ต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก ๔.จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่ในเวลานี้) ๕.จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก ๔ ประการดังกล่าวข้างต้น ๖.จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร ราษฎรทั้งหลายจงพร้อมใจกันช่วยคณะราษฎรให้ทำกิจอันจะคงอยู่ชั่วดินฟ้านี้ ให้สำเร็จ คณะราษฎรขอให้ทุกคนที่มิได้ร่วมมือเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลกษัตริย์เหนือ กฎหมายพึงตั้งตนอยู่ในความสงบและตั้งหน้าทำมาหากิน อย่าทำการใดๆ อันเป็นการขัดขวางต่อคณะราษฎร การที่ราษฎรช่วยคณะราษฎรนี้ เท่ากับราษฎรช่วยประเทศและช่วยตัวราษฎร บุตร หลาน เหลน ของตนเอง ประเทศจะมีความเป็นเอกราชอย่างพร้อมบริบูรณ์ ราษฎรจะได้รับความปลอดภัย ทุกคนจะต้องมีงานทำไม่ต้องอดตาย ทุกคนจะมีสิทธิเสมอกัน และมีเสรีภาพพ้นจากการเป็นไพร่ เป็นข้า เป็นทาสพวกเจ้า หมดสมัยที่เจ้าจะทำนาบนหลังราษฎร สิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนาคือ ความสุขความเจริญอย่างประเสริฐซึ่งเรียกเป็นศัพท์ว่า “ศรีอาริยะ” นั้น ก็จะพึงบังเกิดขึ้นแก่ราษฎรถ้วนหน้า คณะราษฎร ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ****** เรื่องเกี่ยวเนื่อง:ซีรีส์ชุด 79 ปี 24 มิถุนายน 2475 วันชาติราษฎร เรื่องเกี่ยวเนื่อง: --ค้นพบเอกสารเก่าต้นฉบับ "ประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1" เพราะการเมืองไม่ได้มีแต่เรื่องการเลือกตั้ง 24มิถุนามหาศรีสวัสดิ์นี้ขอเชิญร่วมงานวันชาติราษฎร 24 มิถุนายน 2475 และคดียึดพระราชทรัพย์ร.7 -ก่อนปฏิวัติ24มิถุนาจะสำเร็จมีบรรพชนล้มลงเบิกทาง:เพื่อนเอ๋ยขอฝากไชโยถ้าพวกเรายังมีชีวิตได้เห็น -บนถนน 2475 : ก่อนวันนั้นจะมาถึง -24 มิถุนาฯ เส้นทางวิบากของประวัติศาสตร์อาภัพ และ (ถูกทำให้) พร่าเลือน | |
http://redusala.blogspot.com |
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)