วันศุกร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ฮิวแมนไรท์วอทช์ร้องสอบเหตุทรมานผู้ต้องหาคดีลอบสังหารประยุทธ์-ป่วนปั่นเพื่อพ่อ


ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์ 'แบรด อดัมส์' เรียกร้องให้รัฐบาลไทยสอบสวนข้อร้องเรียนที่ว่าทหารซ้อมทรมานผู้ต้องหาคดีลอบสังหาร พล.อ.ประยุทธ์ - ป่วน "ปั่นเพื่อพ่อ" และเรียกร้องให้ยุติการใช้ค่ายทหารทุกแห่งเป็นที่ควบคุมตัวพลเรือน ชี้การเมินข้อกังวลของสหประชาชาติ-กลุ่มสิทธิมนุษยชน จะทำให้รัฐบาลไทยเข้าใกล้สภาพของรัฐที่นานาชาติไม่ยอมรับ
เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. ฮิวแมนไรท์วอทช์ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นิวยอร์ก ได้เผยแพร่ใบแถลงข่าวเรียกร้องให้มีการสอบสวนข้อกล่าวหาที่ว่ามีการทรมานโดยกองทัพ และยุติการควบคุมตัวพลเรือนในค่ายทหาร โดยเรียกร้องให้ทางการไทยดำเนินการสอบสวน "โดยทันทีและเป็นไปอย่างยุติธรรม" ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุเช่นนี้อีกในอนาคต นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยย้ายพลเรือนที่ถูกควบคุมตัวในพื้นที่ของกองทัพไปยังสถานซึ่งได้รับการรับรองให้ใช้ควบคุมตัวพลเรือนแทน
"การปฏิบัติอย่างทารุณของรัฐบาลไทยต่อพลเรือนที่ถูกควบคุมตัวในค่ายทหารจะต้องถูกยกเลิกทันที" แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว "รัฐบาลจำเป็นต้องตอบสนองต่อข้อกล่าวหาเรื่องมีการทรมานเหล่านี้ ด้วยการสอบสวนอย่างจริงจัง แทนที่จะทำเป็นบอกปัดอย่างไม่สนใจ"
กรณีที่เกิดขึ้นนายประธิน (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 60 ปี อดีตตำรวจตระเวนชายแดน คือกรณีล่าสุดที่ถูกปฏิบัติอย่างทารุณในค่ายทหาร ประธินบอกกับทนายของเขาว่า หลังจากที่ถูกทหารจับกุมเขาที่ จ.ขอนแก่น เมื่อ 21 พ.ย. ที่ผ่านมา เขาถูกนำตัวไปขังที่ค่ายทหารในพื้นที่เป็นเวลา 2 วัน ก่อนที่จะถูกส่งไปยังค่ายทหารอีกแห่งที่ไม่ระบุสถานที่ เขากล่าวว่า เจ้าหน้าที่ในกองทัพซึ่งทำหน้าที่สบสวน ได้ตบหน้าและเตะที่ขาของเขา เพื่อเอาข้อมูล และบังคับให้สารภาพว่า ทำผิด ม.112 ประมวลกฎหมายอาญา หรือ ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นอกจากนี้ยังให้รับสารภาพว่าร่วมวางแผนต่อต้าน คสช. โดยกองทัพกล่าวหาว่าประธินต้องการลอบสังหาร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และก่อวินาศกรรมงาน "ปั่นเพื่อพ่อ" ที่จะจัดในวันที่ 11 ธ.ค. นี้เพื่อเฉลิมพระเกียรติวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ประธินระบุว่า ในระหว่างที่อยู่ในค่ายทหาร เจ้าหน้าที่ปิดตาเขา และไม่อนุญาตให้ติดต่อกับโลกภายนอก เขาทราบว่าตัวเขาเองอยู่ที่ไหนเมื่อกองทัพส่งตัวเขาให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจในวันที่ 26 พ.ย. ทั้งนี้เจ้าหน้าที่นำตัวประทินไปรวมกับผู้ต้องหาคนอื่นที่ถูกกล่าวหาในคดีเดียวกัน คือณัฐพล ณวรรณ์แล อายุ 26 ปี เพื่อนำมาแถลงข่าวต่อหน้ากล้องของสื่อมวลชน
โดยศาลทหารกรุงเทพฯ ได้สั่งให้นำตัวบุคคลทั้ง 2 ไปควบคุมตัวที่เรือนจำชั่วคราวภายในมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) ในกรุงเทพฯ ที่ซึ่งประธินได้รับอนุญาตให้พบกับทนายความเป็นระยะเวลาสั้นๆ เพียงครั้งเดียว ทั้งนี้เขาถูกนำไปยังห้องประชุมทั้งที่เขาถูกคลุมหัว มือและเท้าถูกมัด และมีเจ้าหน้าที่ทหารคอยเฝ้าอยู่
ทั้งนี้ฮิวแมนไรท์วอทช์ และคณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (ICJ) ได้ยื่นจดหมายถึงรัฐบาลไทยไปแล้วเมื่อวันที่ 24 พ.ย. โดยแสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อสภาพภายใน มทบ.11 ภายหลังจากการเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวของ สุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือ "หมอหยอง" และ พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา ซึ่งทั้งสองคนถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในวันเดียวกัน สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (OHCHR) ก็เรียกร้องให้ปิดเรือนจำชั่วคราวภายใน มทบ.11 และเรียกร้องให้มีการสอบสวนที่เป็นอิสระต่อกรณีความตายดังกล่าว
ในใบแถลงข่าวของฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุด้วยว่า รัฐบาลเองก็ปฏิเสธข้อเสนอของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งเป็นกลุ่มสิทธิมนุษยชนที่ต้องการเข้าไปเยี่ยมผู้ถูกควบคุมตัวและตรวจสอบสภาพภายใน มทบ.11 และพื้นที่ควบคุมตัวของกองทัพแห่งอื่นๆ นอกจากนี้รัฐบาลเองก็ไม่สามารถให้ข้อมูลที่หนักแน่นและน่าเชื่อถือต่อข้อกล่าวหาว่ามีการทรมานและการละเมิดอื่นๆ ภายในสถานที่ควบคุมตัวของกองทัพ
ความเสี่ยงของการถูกทรมานและกรณีละเมิดอื่นๆ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญเมื่อผู้ถูกควบคุมตัวอยู่ในสถานที่ควบคุมตัวของกองทัพในสภาพที่ไม่สามารถติดต่อได้ ทั้งนี้นับตั้งแต่รัฐประหารในเดือนพฤษภาคมปี 2557 คสช. ได้ควบคุมตัวบุคคลนับร้อย ทั้งนักการเมือง นักกิจกรรม สื่อมวลชน ผู้ถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนรัฐบาลชุดที่ถูกโค่นล้มลง ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าไม่เคารพสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือร่วมในกิจกรรมต่อต้าน คสช. โดยผู้คนเหล่านี้จำนวนมากถูกควบคุมตัวอยู่ในค่ายทหาร ในสภาพที่ไม่สามารถติดต่อบุคคลภายนอกได้ โดยพวกเขาถูกสอบสวนในสภาพที่ไม่มีมาตรการปกป้องว่าพวกเขาจะไม่ถูกทรมานและมาตรการปฏิบัติที่เลวร้ายอื่นๆ
อดัมส์กล่าวด้วยว่า "การใช้สถานที่ควบคุมตัวในค่ายทหารของรัฐบาลไทยเป็นปัญหาเลวร้ายที่ควรยุติลงทันที" เขากล่าวต่อไปว่า "ความล้มเลวของรัฐบาลไทย ที่จะเอาใจใส่ต่อ สหประชาชาติและกลุ่มสิทธิมนุษยชนที่กังวลว่า 'พลเมืองอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกละเมิดอย่างร้ายแรงเมื่อถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร' แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลทหารกำลังพาประเทศไทยไปสู่สภาพของรัฐบาลที่จะถูกนานาชาติคว่ำบาตร"

ร้องกองปราบดำเนินคดีทูตสหรัฐฯ หลังวิจารณ์โทษที่หนักของ ม.112


จากกรณีเมื่อวันที่ 26 พ.ย. ที่ผ่านมา นายกลิน ที. เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ได้แสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์ที่การดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพุ่งสูงขึ้น ภายใต้ปกครองของคณะรัฐประหาร ณ เวทีเสวนาที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศในกรุงเทพฯ โดยนายกลิน ที. เดวีส์ ย้ำว่ารัฐบาลสหรัฐฯ มีความเคารพอย่างยิ่งและรู้สึกชื่นชมพระมหากษัตริย์ไทย แต่ก็กล่าวถึงสิทธิการแสดงความคิดเห็นว่า “เราเชื่อว่าไม่ควรมีใครควรถูกจำคุกต่อการแสดงมุมมองอย่างสันติ และเราสนับสนุนอย่างหนักแน่นต่อความสามารถของบุคคลหรือองค์กรอิสระใดๆ ในการค้นคว้าวิจัยและรายงานประเด็นสำคัญๆ โดยปราศจากความกลัวว่าจะถูกแก้แค้น” (อ่านรายละเอียด)
ล่าสุด (3 ธ.ค.58) ASTV ผู้จัดการออนไลน์สยามรัฐ และกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานตรงกันว่า  ที่กองปราบปราม เมื่อเวลา 15.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสนธิยา สวัสดี ตัวแทนสมาพันธ์ตรวจสอบรัฐไทย (สปท.) เดินทางเข้าพบ พ.ต.อ.ณษ เศวตเลข รอง ผบก.ป. เพื่อยื่นหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษต่อนายกลิน ทาวน์เซนด์ เดวีส์ เอกอัคราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กรณีออกมาแสดงความคิดเห็นในเชิงวิจารณ์ถึงบทลงโทษจำคุกแก่ผู้หมิ่นประมาทสถาบันฯ ตามมาตรา 112 ในงานเสวนาสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยนายสนธิยานำเอาบทความที่นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง โพสต์ลงเฟซบุ๊กส่วนตัววิพากษ์วิจารณ์การกระทำของเอกอัคราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยมาให้พนักงานสอบสวนไว้ใช้เป็นหลักฐานประกอบคำพิจารณา
ทั้งนี้ หนังสือดังกล่าวที่นายสนธิยานำมามอบให้ระบุว่า ต้องการให้พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามถอดเทปถ้อยคำที่นายกลินได้ปราศรัยภายในงานเสวนาดังกล่าว และตรวจสอบพฤติการณ์ของผู้จัดงานดังกล่าวว่ามีจุดประสงค์แอบแฝงหรือไม่ หากพบว่าเข้าข่ายหมิ่นประมาทมาตรา 112 ก็ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีต่อไป
เบื้องต้น พ.ต.อ.ณษได้รับเรื่องดังกล่าวไว้ก่อนสั่งการให้พนักงานสอบสวน กก.1บก.ป.เร่งดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมกับนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อผู้บังคับบัญชาพิจารณาสั่งการต่อไป
อภิสิทธิ์ เสียดายทูตสหรัฐฯยังติดกรอบความคิดตะวันตก หวังกลับไปทบทวนเข้าใจความละเอียดอ่อน
มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า วันเดียวกัน (3 ธ.ค.58) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายกลิน ที. เดวีส์ ที่แสดงความกังวลเกี่ยวกับมาตรา 112 ว่า  ตนเสียดาย เพราะตอนที่นายกลิน เดวีส์ มารับตำแหน่งใหม่ๆ ดูเหมือนทุกอย่างจะราบรื่น ดีขึ้นจากสภาพความรู้สึกที่เคยมีปัญหาในบางส่วนกันมาก่อน ซึ่งคำตอบหรือการนำเสนอของเอกอัครราชทูตตนมองว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะในกรอบความคิดของตะวันตกยังมีการพูดแบบนี้อยู่มาก เพียงแต่เสียดาย เพราะบุคคลที่มาดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูต น่าจะต้องทราบดีอยู่แล้วว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน  โดยเฉพาะพูดในเชิงนามธรรม หรือการนำข้อเท็จจริงบางจุดยกขึ้นมาพูด จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะเอกอัครราชทูตมีสถานะการทำงานในการกระชับหรือเชื่อมความสัมพันธ์ให้ดี ไม่ใช่ไปหยิบเอาประเด็นที่เป็นข้อขัดแย้งขึ้นมา
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ตนหวังว่านายกลิน เดวีส์ จะไปทบทวนและไปศึกษาดูให้ดีว่าเรื่องนี้มีปัญหาอย่างไร อย่าสรุปแบบที่ออกมาพูด เพราะอาจจะสุ่มเสี่ยงต่อการที่จะตกเป็นเหยื่อในประเด็นทางการเมือง  อย่างไรก็ตาม มุมมองเรื่องกระบวนการยุติธรรมหรือกฎหมายนั้น ก็ต้องระมัดระวัง ต้องศึกษากันให้ดี แต่ถ้าหากเป็นห่วงเป็นใยกันจริงๆ ก็มาปรึกษาหารือกันภายในในฐานะทูตฯได้ ซึ่งในวันที่ 9 ธันวาคม นายกลิน เดวีส์ ก็จะเดินทางมาพบตนโดยจะมีการพูดคุยกันในเรื่องนี้ด้วย เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันให้ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศเป็นไปด้วยดีอะไรที่เป็นประโยชน์ต้องร่วมกันผลักดัน ส่วนอะไรที่อาจเข้าใจไม่ตรงกันก็ต้องพยายามทำความเข้าใจโดยอยู่พื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน
พิภพ ชี้ รธน.ชั่วคราว คสช. เองก็รับรองสิทธิตามพันธกรณีระหว่างประเทศ สอดคล้องกับทูตสหรัฐฯพูด
พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ นักแปล โพสต่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Pipob Udomittipong’ ในลักษณะสาธารณะ ว่า กรณีที่ เดวีส์พูดว่าไม่ควรมีใครติดคุกเนื่องจากการแสดงความเห็นอย่างสงบ นั้นสอดคล้องกับปฏิญญาสากล กติกาสากลระหว่างประเทศ UDHR, ICCPR ซึ่งเรียกว่า “right to freedom of expression” การใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็น มีที่ไหนบอกให้ติดคุก ไปอ่านรัฐธรรมนูญอเมริกาเลย มันเป็นสิทธิใน First Amendment เลย เขาด่าประธานาธิบดีเขาทุกวัน มีใครติดคุก พร้อมอธิบายว่ากรณีนาย Johnny Logan Spencer ที่มีการเผยแพร่อยู่ในโซเชียลเน็ตเวิร์กนั้นที่ติดคุกเพราะขู่ฆ่าโอบามา
พิภพ ยังกล่าวด้วยว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ คสช. ร่างขึ้นมาใช้ตอนนี้ ก็รับรอง “สิทธิ เสรีภาพ...ตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว” ส่วนที่เขาวิจารณ์ว่าโทษจำคุกของกฎหมายหมิ่นเบื้องสูงของเรา “มันยาวและรุนแรงแบบไม่เคยเป็นมาก่อน” “lengthy and unprecedented”
พิภพ กล่าวว่า สรุปแล้วที่ทูตสหรัฐฯ เขาพูด ถูกต้องตามหลักกติกาสากลและกฎหมายในประเทศตัวเอง แถมยังถูกต้องตามข้อเท็จจริงอีก
พัฒนาการการเพิ่มโทษของ ม.112
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การเพิ่มโทษในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นี้ ถูกแก้ไขหลังเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ต.ค. 2519 จากนั้นมีการรัฐประหารและต่อมาได้ออกคำสั่งให้แก้ไขประมวลกฎหมายดังกล่าวเป็นเพื่อเพิ่มโทษและมีการกำหนดโทษขั้นต่ำดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ว่า “มาตรา 112 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”
โดยที่ก่อนหน้านั้นมีโทษที่ต่ำกว่าที่เป็นอยู่ ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีพระราชกำหนดลักษณะหมิ่นประมาทด้วยการพูดหรือเขียนถ้อยคำเท็จออกโฆษณาการ รศ. 118 มาตรา 4 ซึ่งระบุโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับเป็นเงินไม่เกิน 1,500 บาท หรือทั้งจำและปรับ ต่อมาได้มีการจัดทำประมวลกฎหมายอาญาขึ้น ชื่อ "กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127" มาตรา 98 ระบุโทษไม่เกิน 7 ปี (ไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ) และปรับไม่เกิน 5,000 บาทด้วย หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี 2500 ได้จัดทำประมวลกฎหมายขึ้นใหม่ ชื่อ "ประมวลกฎหมายอาญา" ในมาตรา 112 กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี (ไม่มีโทษปรับ) และล่าสุดที่มีการแก้ภายหลังเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 จนกระทั่งมีการกำหนดโทษขั้นต่ำและเพิ่มโทษดังที่เป็นอยู่
ล่าสุดมีผู้ถูกดำเนินคดีจากการโพสต์ในเฟซบุ๊กและถูกตัดสินว่ามีเนื้อหาที่ผิดตามกฎหมายมาตรานี้ ถูกตัดสินจำคุก 60 ปี (6 กรรม, สารภาพลดโทษเหลือ 30 ปี อ่านรายละเอียด) และ คุก 56 ปี (7 กรรม, สารภาพลดโทษเหลือ 28 ปี อ่านรายละเอียด)

โรงพิมพ์ในไทยจะงดพิมพ์ นสพ.นิวยอร์กไทมส์ฉบับ 4 ธ.ค. อีกคำรบ


หนังสือพิมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล นิวยอร์กไทมส์ ฉบับวางจำหน่ายในไทยวันที่ 4 ธ.ค. ถูกโรงพิมพ์ในประเทศปฏิเสธพิมพ์ข่าวอีกเป็นครั้งที่ 2 ในรอบสัปดาห์ โดยเจ้าของโรงพิมพ์ระบุว่ามีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับสถาบันเบื้องสูง
3 ธ.ค. 2558 - หนังสือพิมพ์รายวัน อินเตอร์เนชั่นแนล นิวยอร์กไทมส์ ฉบับวันที่ 4 ธันวาคม เวอร์ชั่นที่พิมพ์จำหน่ายในไทย ถูกโรงพิมพ์ในประเทศปฏิเสธพิมพ์ข่าวอีกเป็นครั้งที่ 2 ในรอบสัปดาห์
ทั้งนี้ ตามรายงานของผู้จัดการออนไลน์ ได้สัมภาษณ์นายยุทธ ชินสุภัคกุล ประธานกรรมการ และประธานกรรมการบริหาร บริษัท โรงพิมพ์ตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ EPCO เปิดเผยว่า โรงพิมพ์ได้ตรวจสอบพบข่าวฉบับที่จะตีพิมพ์วางจำหน่ายในวัน 4 ธ.ค. มีพาดหัวข่าวและเนื้อหาข่าวที่เป็นประเด็นอ่อนไหวเกี่ยวข้องกับสถาบันเบื้องสูงจึงสั่งให้งดพิมพ์ข่าวดังกล่าว
โดยนับตั้งแต่เดือนกันยายนปีนี้ โรงพิมพ์ซึ่งเป็นคู่สัญญาของนิวยอร์กไทมส์ ตัดสินใจไม่พิมพ์หนังสือพิมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล นิวยอร์กไทมส์แล้ว 3 ฉบับ ได้แก่ ฉบับวันที่ 22 ก.ย. 2558, 1 ธ.ค. 2558 และ 4 ธ.ค. 2558ปล่อยพื้นที่ว่างในหน้า 1 และหน้า 6 ของหนังสือพิมพ์ พร้อมข้อความว่า "บทความซึ่งอยู่ในพื้นที่นี้ถูกนำออกไปโดยผู้พิมพ์ของเราในประเทศไทย  อินเตอร์เนชั่นแนล นิวยอร์กไทมส์ และกองบรรณาธิการไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำออกดังกล่าว" (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)
แฟ้มภาพหนังสือพิมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล นิวยอร์ก ไทมส์ ฉบับวันที่ 1 ธันวาคม ที่ปล่อยพื้นที่ว่างที่หน้า 1 บริเวณบทรายงานข่าวของโทมัส ฟุลเลอร์ และมีการลงข้อความว่า "บทความซึ่งอยู่ในพื้นที่นี้ถูกนำออกไปโดยผู้พิมพ์ของเราในประเทศไทย อินเตอร์เนชั่นแนล นิวยอร์กไทมส์ และกองบรรณาธิการไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำออกดังกล่าว"
ในหนังสือพิมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล นิวยอร์กไทมส์ ฉบับวันที่ 1 ธ.ค. มีบทความของ โทมัส ฟุลเลอร์ เรื่อง "Thai Economy and Spirits Are Sagging" ใจความหลักพูดถึงสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยที่กำลังย่ำแย่ นอกจากนั้นเป็นการให้ภาพรวมด้านสถานการณ์ทางการเมืองทั้งการ "ปรับทัศนคติ" และแนวคิดซิงเกิลเกตเวย์ รวมถึงกรณีการเสียชีวิตด้วยการ "ฆ่าตัวตาย" และ "ป่วย" ของผู้ต้องหาสามรายในคดี 112 รวมถึงมีการกล่าวถึงสมาชิกในราชวงศ์
โดยฉบับที่พิมพ์จำหน่ายในประเทศไทย มีการปล่อยพื้นที่ว่างในหน้า 1 และหน้า 6 ของหนังสือพิมพ์ พร้อมข้อความว่า "บทความซึ่งอยู่ในพื้นที่นี้ถูกนำออกไปโดยผู้พิมพ์ของเราในประเทศไทย อินเตอร์เนชั่นแนล นิวยอร์กไทมส์ และกองบรรณาธิการไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำออกดังกล่าว"

พุทธะอิสระโพสต์ภาพทูตสหรัฐกับแกนนำแดง พร้อมแซะมิน่าถึงได้ออกมาป้องพวกละเมิด 112

จากกรณีเมื่อวันที่ 26 พ.ย. ที่ผ่านมา นายกลิน ที. เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ได้แสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์ที่การดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพุ่งสูงขึ้น ภายใต้ปกครองของคณะรัฐประหาร ณ เวทีเสวนาที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศในกรุงเทพฯ โดยนายกลิน ที. เดวีส์ ย้ำว่ารัฐบาลสหรัฐฯ มีความเคารพอย่างยิ่งและรู้สึกชื่นชมพระมหากษัตริย์ไทย แต่ก็กล่าวถึงสิทธิการแสดงความคิดเห็นว่า “เราเชื่อว่าไม่ควรมีใครควรถูกจำคุกต่อการแสดงมุมมองอย่างสันติ และเราสนับสนุนอย่างหนักแน่นต่อความสามารถของบุคคลหรือองค์กรอิสระใดๆ ในการค้นคว้าวิจัยและรายงานประเด็นสำคัญๆ โดยปราศจากความกลัวว่าจะถูกแก้แค้น” (อ่านรายละเอียด)
หลังจากการแสดงความกังวลของเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ดังกล่าวสร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทั้งเชิงสนับสนุนและคัดค้าน โดยในส่วนของการคัดค้านนั้น มีการเคลื่อนไหว เช่น ชมรมคนรักในหลวงหลายจังหวัดได้มีการจัดกิจกรรมยื่นแถลงการณ์คัดค้านผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด (ดู) รวมทั้ง พระพุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม และพล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร นำประชาชน มาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่หน้า สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับท่าทีของเอกอัครราชทูตสหรัฐดังกล่าว เมื่อวันที่ 27 พ.ย. ที่ผ่านมา (ดู)
พุทธะอิสระ โพสต์ภาพทูตสหรัฐกับแกนนำแดง พร้อมแซะมิน่าถึงได้ออกมาป้องพวกละเมิด 112
อย่างไรก็ตาม พระพุทธะอิสระ ยังมีการแสดงออกอย่างต่อเนื่องผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘หลวงปู่พุทธะอิสระ (Buddha Isara)’ โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ที่ผ่านมา มีการโพสต์ภาพนายกลิน ที. เดวีส์ กับ นายเหวง โตจิราการ และนางธิดา ถาวรเศรษฐ แกนนำคนเสื้อแดง พร้อมวิพากษ์วิจารณ์ด้วยว่า
“มิน่าเล่าทูตสหรัฐถึงได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ปกป้องพวกละเมิดกฎหมายมาตรา 112
เพราะพวกเขาสนิทสนมกันแบบนี้นี่เอง
ทีพวกเราไปยื่นหนังสือเรียกร้องให้มารับฟังความคิดเห็นของกลุ่มพวกเราบ้าง อย่าเอาแต่ฟังความข้างเดียว เขากลับไม่มา
นี่คงเพราะทูตสหรัฐเขาเป็นพวกเดียวกับเสื้อแดงอย่างที่เห็น
ต่างชาติเข้ามาวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ยังพอเข้าใจได้ว่าเขาไม่เข้าใจและจุ้นจ้าน
แต่คนไทยที่มีโคตรเหง้าเป็นไทยนี่สิ กลับไปเออออห่อหมกกับฝรั่งตาน้ำข้าวกับเขาด้วย นี่มันคงเป็นความซวยของประเทศที่มีคนไทยหัวใจทาส ทำตัวเป็นหนอนบ่อนไส้ เห็นขี้ดีกว่าทอง แทนที่จะช่วยกันปกป้องต้นตระกูลไทย กลับพากันออกมาตำหนิติด่าคนไทยด้วยกันที่เขาทำหน้าที่
ไอ้คนพวกนี้ล่ะกระมังที่เขาเรียกว่า “พวกหนักแผ่นดิน”
ธิดาโพสต์ภาพถ่ายคู่กับเอกอัครราชทูตจีน
ขณะที่ ธิดา ได้โพสต์ภาพที่ตนกับเหวงถ่ายร่วมกับเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ที่โรงแรมแชงกรีล่า เมื่อวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา จากกรณีได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานครบรอบ 66 ปีการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนด้วย
พล.ต.สรรเสริญ  เผย ‘ประยุทธ์’ ห่วงทูตสหรัฐ หลังถ่ายภาพกับเหวง ชี้คนไทยไม่สบายใจ
เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. ที่ผ่านมา MGR Online รายงานด้วยว่า พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความห่วงใยต่อกระแสวิพากษ์วิจารณ์ของคนไทยที่มีต่อท่าทีการแสดงออกของ นายกลิน ที. เดวีส์ หลังจากมีการเผยแพร่ภาพถ่ายร่วมกันของเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ และแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โดยเฉพาะภาพร่วมกับ นพ.เหวง โตจิรากร หนึ่งในแกนนำ นปช. ที่ยังคงมีคดีก่อการร้ายติดตัว
“ที่ผ่านมา รัฐบาลโดยกระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงทำความเข้าใจสถานการณ์ภายในของไทย และแนวทางการบริหารประเทศให้แก่มิตรประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นย้ำเสมอว่ารัฐบาลทำทุกอย่างเพื่อความสุขสงบของสังคมไทย โดยใช้อำนาจอย่างสุขุมรัดกุมที่สุด ใช้อำนาจเพียงเพื่อรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน ไม่เคยใช้เพื่อทำร้ายหรือรังแกใคร ซึ่งที่ผ่านมาเกือบทุกประเทศเข้าใจ และให้การสนับสนุนแนวทางของรัฐบาลไทยมาโดยตลอด และในทุกครั้งที่องค์กรระหว่างประเทศ หรือมิตรประเทศแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ในประเทศไทย หากเป็นการแสดงความเป็นห่วงบนหลักการสากลโดยสุจริตเที่ยงธรรม รัฐบาลไทยก็จะน้อมรับความเห็นเหล่านั้นทุกครั้ง แต่หากเป็นการแสดงความเห็น หรือท่าทีที่มิได้วางอยู่บนหลักการที่เป็นกลางอย่างแท้จริง หรือโน้มเอียงไปยังฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งด้วยอคติส่วนตัว หรือจากความไม่รู้ ย่อมนำความไม่สบายใจมาสู่คนไทย และอาจสั่นคลอนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีมาอย่างยาวนาน ซึ่งท่านนายกฯ ไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้นไม่ว่ากับประเทศใด” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า ประชาชนคนไทยทราบดีว่า ที่ผ่านมา ความวุ่นวายในประเทศมีต้นตอมาจากคนกลุ่มใด แต่อาจเป็นเรื่องใหม่ ความรู้ใหม่ของท่านทูต ดังนั้น หากมีความประสงค์จะรับทราบเรื่องราวใด ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย รัฐบาลพร้อมที่จะให้เจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้อธิบายชี้แจงจนครบถ้วนในทุกมิติ โดยไม่ควรที่จะใช้วิธีเสาะแสวงหาข้อมูลเองโดยปราศจากความเข้าใจเรื่องราวของประเทศไทยที่ถูกต้อง เพราะอาจถูกชี้นำโดยกลุ่มคนที่มีจุดประสงค์เคลือบแฝงได้

2 ทนายแถลงศาล ถูกคุกคาม-กีดกันพบผู้ต้องหาคดีป่วนกรุง ศาลให้ไปแจ้งพนักงานสอบสวน



ภาพจากเพจบีบีซีไทย
4 ธ.ค.2558 ที่ศาลทหาร เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ทหาร และตำรวจนำผู้ต้องหาคดีเตรียมป่วนงาน Bike for Dad 2 รายคือ ประธิน และณัฐพล จากเรือนจำชั่วคราว มทบ.11 มาฝากขังผัดที่ 2 ที่ศาลทหาร โดยมีวิญญัติ ชาติมนตรี และเบญจรัตน์ มีเทียน ทนายความของผู้ต้องหาทั้งสองคนมาศาลด้วย
วิญญัติ ให้สัมภาษณ์ภายหลังเสร็จสิ้นกระบวนการว่า เขาและเบญจรัตน์ได้แถลงต่อศาลเรื่องที่ถูกคุกคามและกีดกันการเข้าถึงผู้ต้องหาในคดีนี้ (อ่านย้อนหลังที่นี่) ผู้พิพากษาได้แจ้งว่า เรื่องนี้เป็นคนละขั้นตอน ควรดำเนินการต่างหาก ต้องไปร้องหรือทำหนังสือถึงพนักงานสอบสวนแทนที่จะมาแจ้งศาล อย่างไรก็ตาม วิญญัติได้ยืนยันจะแถลงให้ศาลรับทราบและร้องขอให้ศาลจดคำแถลงของทนายในรายงานกระบวนพิจารณาแต่ไม่เป็นผล
“พอทนายเบญจรัตน์แถลงเสร็จ ผมก็ยืนขึ้นแถลงด้วยและขอให้จดรายงานการพิจารณาไว้ และแย้งว่าแม้จะเป็นขั้นตอนของพนักงานสอบสวนก็จริง แต่ศาลเป็นองค์กรอำนวยความยุติธรรม และท่านเป็นคนรับฝากขังจึงอยู่ในอำนาจที่ท่านต้องสั่งการ ท่านจึงต้องรู้เหตุผลและข้อขัดข้องของทนายความและสิทธิของผู้ต้องหาในการเข้าถึงทนายความว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมและไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างถูกต้อง หากไม่แจ้งท่านก็ไม่รู้จะไปแจ้งใครแล้ว แต่ท่านก็ไม่จด ซึ่งก็เป็นดุลยพินิจของท่าน เราก็เพียงแถลงให้ท่านรับรู้ไว้และแถลงต่อหน้าพนักงานสอบสวน” วิญญัติกล่าวและว่าท้ายที่สุดผู้พิพากษาได้แจ้งให้พนักงานสอบสวนไปแจ้งแก่ผู้บังคับบัญชาในเรื่องนี้
“เรื่องการคุกคามมันไม่ควรจะเกิดขึ้นกับทนายความ แล้วประชาชนล่ะจะขนาดไหน” วิญญัติกล่าว
ทนายความกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ทนายยังแถลงอีกประเด็นหนึ่งคือ จะยื่นขอให้ศาลส่งตัวนายประธินไปตรวจสุขภาพจิตตาม มาตรา 14 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งศาลก็แจ้งให้ทำคำร้องมาอย่างเป็นทางการ เหตุที่ต้องยื่นขอให้ตรวจสุขภาพจิตเนื่องจากเขามีประวัติเกี่ยวกับอาการที่อาจเข้าข่าย ทั้งครอบครัวและเพื่อนผู้ต้องขังต่างให้ข้อมูลในเรื่องนี้ แต่ที่ผ่านมาประธินไม่เคยไปตรวจเป็นเรื่องเป็นราว
ส่วนการพูดคุยกับลูกความนั้น วิญญัติกล่าวว่า ได้พูดคุยกันไม่มากนักเนื่องจากมีเจ้าหน้าที่อยู่ด้วยจำนวนมาก จากการสอบถามเบื้องต้นผู้ต้องหาแจ้งว่าไม่มีการทำร้ายร่างกายแล้ว
วิญญัติให้ข้อมูลด้วยว่า ขณะนี้คนที่ถูกควบคุมตัวใน มทบ.11 ในคดีเตรียมป่วนงาน Bike for Dad นั้นมี 4 คน คือ ประธิน ณัฐพล พาหิรัญ วัลลภ และฉัตรชัย ซึ่งรายหลังได้รับการปล่อยตัวไปแล้ว นอกจากนี้ยังมีรายงานข่าวการจับกุมตัวเพิ่มอีก 2 คนโดยยังไม่รู้ว่าเจ้าหน้าที่นำตัวไปไว้ที่ไหน คือ ฉัตรชนก และ วีรชัย สำหรับฉัตรชนกนั้นไม่ได้มีรายชื่ออยู่ใน 9 ผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับในตอนแรก
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นอกจาก ประธินและณัฐพลแล้ว เจ้าหน้าที่ยังควบคุมตัว นายจิรวงศ์ หรือ อาร์ท ชัตเตอร์มหาเทพ เลขานุการของนายสุริยัน หรือหมอหยองมาฝากขังที่ศาลทหารเป็นผัดที่ 5 ด้วย