วันจันทร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2558

พล.อ.ประยุทธ์เข้าใจที่ไม่ได้พบผู้แทนรัฐบาลสหรัฐ-เพราะรู้ตัวดีว่ามีที่มาอย่างไร

ผู้แทนรัฐบาลสหรัฐหารือยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 26 ม.ค. (ที่มา: เพจ U.S. Embassy Bangkok)

แดเนียล รัสเซล ผู้ช่วย รมว.ต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา และอุปทูตสหรัฐ เข้าพบยิ่งลักษณ์ ชินวัตร - อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขณะที่รัฐบาลไทยระบุผู้แทนรัฐบาลสหรัฐมีกำหนดหารือ พล.อ.ธนะศักดิ์ ฝ่ายไทยหวังชี้แจงเส้นทางสู่ประชาธิปไตย ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ เผยรู้ตัวดีว่ามีที่มาอย่างไร ประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับ คสช. ยังค้าขายกับไทยตามปกติ
ผู้แทนรัฐบาลสหรัฐหารืออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อวันที่ 26 ม.ค. (ที่มา: เพจ Abisit Vejjajiva)
26 ม.ค. 2558 - ตามที่ แดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ได้เดินทางมาเยือนไทยระหว่างวันที่ 25-26 มกราคม นั้น วันนี้ (26 ม.ค.) เฟซบุ๊คเพจของสถานทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย เผยแพร่ภาพ นายแดเนียล รัสเซล และอุปทูต ดับเบิลยู แพทริค เมอร์ฟี เชิญนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อรับฟังความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ของประเทศไทย
ต่อมา เฟซบุ๊คเพจของสถานทูตสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่ภาพ คณะของนายแดเนียล และอุปทูตเมอร์ฟี เดินทางไปที่พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อพบ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเพื่อรับฟังความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ของประเทศไทย
ทั้งนี้ คณะทูตสหรัฐอเมริกาไม่มีกำหนดการเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.
ในวันเดียวกันนี้ (26 ม.ค.) เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า คณะของนายแดเนียล รัสเซล มีกำหนดการพบกับ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยการเยือนไทยครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการเยือน 4 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และนับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ส่งผู้แทนระดับสูงมาเยือนประเทศไทยและถือเป็นบุคคลสำคัญเป็นแขกพิเศษของไทย
เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า รัฐบาลจะใช้โอกาสนี้ ย้ำถึงความจำเป็นที่รัฐบาลต้องเข้ามาบริหารประเทศเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย และชี้แจงถึงแนวทางการพัฒนาทางการเมืองที่สำคัญ ตลอดจน การดำเนินการของรัฐบาลเพื่อปูทางสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ในอนาคต ควบคู่กับการปฏิรูปประเทศ ทั้ง 11 ด้าน อาทิ การปฏิรูปทางการเมือง เศรษฐกิจ การบริหารราชการแผ่นดิน กระบวนการยุติธรรม การศึกษาและสังคม เป็นต้น นอกจากนี้ ไทยมีความจริงใจที่จะแก้ปัญหาที่อยู่ในความกังวลร่วมกันระหว่างไทยและสหรัฐฯ อาทิ การต่อต้านการค้ามนุษย์และประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ ได้มีการดำเนินการอย่างจริงจังตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศ ไม่ว่าจะเป็น การให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว เพื่อให้ ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเป็นธรรม ตลอดจน ได้รับสิทธิและสวัสดิการที่ดีเช่นเดียวกับแรงงานไทย นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินการเพื่อป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างครอบคลุมเป็นระบบ  ตลอดจน มีการเอาผิดต่อผู้ที่กระทำผิดตามกฎหมายอย่างจริงจัง
"ทั้งนี้ การที่รัฐบาลสหรัฐฯ ส่งผู้แทนระดับสูงเยือนประเทศไทยในครั้งนี้ เชื่อว่า เป็นการส่งสัญญานที่ดีต่อความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ที่จะพัฒนาให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นต่อไป" เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลระบุ
ส่วนความเห็นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. มติชนออนไลน์ รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์  กล่าวว่า เหตุผลที่คณะทูตไม่ได้มาพบตัวเขา เนื่องจากรู้ว่าเขามาอย่างไร ซึ่งจะต้องแยกระหว่างการค้ากับกฎอัยการศึก แยกการค้าเศรษฐกิจ ประเทศที่ต่อต้านไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลก็ยังมีการติดต่อค้าขายตามปกติ ส่วนการพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในวันนี้ ก็เป็นสิทธิส่วนบุคคล ไม่ได้ไปห้ามปราม

พล.อ.ประยุทธ์ ลงนามแสดงความเสียใจกษัตริย์ซาอุดิอาระเบียสวรรคต

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางไปที่สถานเอกอัครราชทูตซาอุดิอาระเบีย ประจำประเทศไทย ที่อาคารแสงทองธานี ถ.สาทรเหนือ เขตบางรัก เพื่อลงนามแสดงความเสียใจ การเสด็จสวรรคตของกษัตริย์ซาอุดีอาระเบีย
26 ม.ค. 2558 - เว็บไซต์รัฐบาลไทย รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางไปที่สถานเอกอัครราชทูตซาอุดิอาระเบีย ประจำประเทศไทย ที่อาคารแสงทองธานี ถ.สาทรเหนือ เขตบางรัก เพื่อลงนามแสดงความเสียใจ การเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลาห์ บิน อับดุลอาซิส อัล ซาอุด กษัตริย์แห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย

ศาลทหารไม่ส่งศาลรธน.ตีความ คดีไม่รายงานตัว คสช.‘วรเจตน์-สิรภพ-สมบัติ’

26 ม.ค. 2558 มีรายงานความคืบหน้าคดีฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัวของ คสช. 4 กรณี คือ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์นิติศาสตร์ มธ.และสมาชิกกลุ่มนิติราษฎร์, สมบัติ บุญงามอนงค์ นักกิจกรรม, สิรภพ หรือ รุ่งศิลา กวีและบล็อกเกอร์ รวมถึง ณัฐ สัตยาภรณ์พิสุทธิ์ อดีตผู้ต้องขังคดีการเมือง  โดย 3 รายแรก ศาลทหารทยอยมีคำสั่งไม่ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความแล้ว เหลืออีกกรณีเดียวคือคดีของจิตรา คชเดช ที่ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเช่นกัน และศาลทหารนัดฟังคำสั่งในวันเดียวกับวันสืบพยานคือ 6 มี.ค.นี้ ส่วนกรณีณัฐเพิ่งได้รับการประกันตัวออกจากเรือนจำหลังต้องอยู่ในเรือนจำนาน 3 วัน
กรณีของวรเจตน์ วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ ระบุถึงคดีที่วรเจตน์ถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัว คสช. ว่า ศาลทหารยกคำร้องที่วรเจตน์ขอให้ศาลทหารส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประกาศ คสช. ทั้งสองฉบับนั้น ขัดหรือแย้งต่อข้อความตามมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หรือไม่ ศาลทหารยกคำร้องโดยระบุว่าศาลทหารเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามประกาศของคสช.และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว)2557 ได้บัญญัติให้ความคุ้มครองสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองตามกติการะหว่างประเทศไว้แล้วจึงไม่ขัดต่อบทบัญญัติของพันธะสัญญาระหว่างประเทศตามที่จำเลยอ้างมา ประกอบกับตามรัฐธรรมนูญฯมีบทบัญญัติให้อำนาจเฉพาะศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่ หรือศาลปกครองสูงสุดเท่านั้น ที่จะส่งความเห็นหรือคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดว่าบทบัญญัติใดขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญหรือไม่ จึงไม่มีบทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลทหารมีอำนาจหน้าที่ต้องส่งความเห็นหรือคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ ดังนั้น คำร้องของจำเลยจึงตกไป
หลังจากนั้นศาลได้ตรวจพยานหลักฐาน และนัดสืบพยานในวันที่ 26 พ.ค. เวลา 8.30 น. โดยพยานโจทก์มี 7 ปาก พยานจำเลยมี 6 ปาก ทั้งนี้ในการพิจารณาคดีในวันนี้มีเจ้าหน้าที่จากสถานฑูตสหรัฐอเมริกามาเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีด้วย
วิญญัติ กล่าวว่า นี่เป็นคำสั่งแรกๆ ที่ไม่ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งอาจจะเป็นบรรทัดฐานให้กับคดีขัดคำสั่ง คสช.อื่นๆ เช่น คดีจาตุรนต์ ฉายแสง คดีขอนแก่นโมเดล ที่ต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในประเด็นเดียวกัน 
เมื่อถามว่าจะอุทธรณ์หรือไม่ วิญญัติ กล่าวว่า การยื่นอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาคดีนั้นจะต้องยื่นพร้อมคำพิพากษาเท่านั้น ซึ่งคดีนี้น่าจะกินเวลานานเป็นปี เพราะนัดสืบพยานนัดละ 1 ปากเท่านั้น ส่วนจะอุทธรณ์ได้หรือไม่ ต้องยื่นที่ศาลทหารสูงสุด โดยส่วนตัวกังวลว่าอาจจะติดข้อกฎหมาย เพราะในช่วงบ้านเมืองไม่ปกติจะมีเพียงศาลเดียว ไม่มีอุทธรณ์หรือฎีกา
สำหรับคดีของสมบัติ หรือ บก.ลายจุด ภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า คดีที่สมบัติถูกกล่าวหาว่ายุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 นั้น เมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา ศาลทหารยกคำร้องของนายสมบัติที่ขอให้ศาลทหารส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าการให้พลเรือนขึ้นศาลทหารขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยศาลทหารระบุว่า ศาลทหารไม่มีอำนาจส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และคำสั่ง คสช.นั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 48 แล้ว พร้อมนัดสืบพยานโจทก์ 10 มี.ค. นี้
ส่วนเช้าวันนี้ (26 ม.ค.) มีการสืบพยานที่ศาลแขวง จ.ชลบุรี ในคดีที่ สมบัติ ฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 ไม่มารายงานตัวตามกำหนด ตามคำสั่งฉบับที่ 3/2557 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 โดยพยานโจทก์ปากแรกเป็นนายทหารที่เข้าจับกุมนายสมบัติ ซึ่งสังกัดอยู่ที่จ.ชลุบรี จากนั้นจะมีการส่งประเด็นไปสืบพยานโจทก์ที่เหลืออีก 4 ปากที่ศาลแขวงดุสิต ในวันที่ 2 มี.ค. เวลา 9.00 น. 
สำหรับคดีนี้เป็นคดีในอำนาจของศาลแขวงดุสิต เนื่องจากเป็นการฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ที่เรียกรายงานตัวก่อนวันที่ 25 พ.ค. ซึ่ง คสช. ออกประกาศฯ ฉบับที่ 37/2557 ให้อำนาจพิจารณาคดีต่างๆ อยู่ในอำนาจศาลทหาร 
ส่วนอีกกรณีหนึ่งที่เกี่ยวข้องการคำสั่งเรียกรายงานตัว คือ กรณีที่ศาลแขวงดุสิตพิพากษาลงโทษจำคุกณัฐ อดีตผู้ต้องขังคดี 112 ที่พ้นโทษแล้ว ในข้อหาขัดคำสั่ง คสช.ไม่รายงานตัวให้จำคุก 2 เดือน และลงโทษเพิ่มให้จำคุกอีก 20 วันเนื่องจากพบว่าเคยต้องโทษในคดี 112 มาก่อน แต่เนื่องจากจำเลยรับสารภาพจึงลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือ 1 เดือน 10 วัน ล่าสุด วันนี้ศาลให้ประกันตัวแล้วด้วยหลักทรัพย์เงินสด 40,000 บาท (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
กรณีสุดท้ายคือ สิรภพ ผู้ใช้นามแฝง รุ่งศิลา กวีและบล็อกเกอร์ที่ถูกคุมขังมาตั้งแต่ 1 ก.ค.2557 จากคดีมาตรา 112 และถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งคสช. ไม่มารายงานตัว เมื่อวันที่ 22  ม.ค.ศาลทหารนัดสืบพยานปากแรก คดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ไม่มารายงานตัว โดยปากแรกคือทหารพระธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ก่อนการสืบพยาน ศาลทหารได้อ่านคำสั่งยกคำร้องกรณีที่จำเลยขอให้ศาลทหารส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า การนำพลเรือนขึ้นศาลทหารและการให้มีการพิจารณาโดยไม่อุทธรณ์ ฎีกาได้นั้นขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยศาลทหารระบุว่าศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดี และไม่มีอำนาจส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ

'เจษฎ์' เผย 'ยิ่งลักษณ์' อาจถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิต

"เจษฎ์ โทณะวณิก" กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เผย "ยิ่งลักษณ์" อาจถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิต เหตุเข้าข่ายเป็นบุคคลต้องห้ามลงเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550
 
25 ม.ค. 2558 สำนักข่าวไทยรายงานว่านายเจษฎ์ โทณะวณิก กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ ถึงกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติถอดถอน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ว่าอาจเข้าข่ายผู้ที่มีคุณสมบัติต้องห้ามลงสมัครรับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ ว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ เข้าข่ายบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง ตามที่รัฐธรรมนูญ 2550 ในมาตรา 102 บัญญัติไว้ เพราะเป็นบุคคลที่เคยถูกวุฒิสภา มีมติตามมาตรา 274 ให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง จึงเท่ากับว่าเป็นบุคคลที่ห้ามสมัคร ส.ส. ตลอดชีวิต อีกทั้งยังห้ามเป็นส.ว. รัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีอีกตลอดชีวิตด้วย  เพราะลักษณะต้องห้ามของการจะเป็น ส.ว. และรัฐมนตรี รวมถึงนายกรัฐมนตรี อิงตามกฎหมายรัฐญธรรมนูญ มาตรา 102 (14)  อย่างไรก็ตามกรรมาธิการยังไม่ได้มีการหารือในรายละเอียดของเรื่องนี้ แต่หลักการแล้วจะยึดตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 เป็นหลัก อะไรที่รัฐธรรมนูญฉบับ ปี 2550 วางหลักไว้อย่างดีแล้ว กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญก็ต้องรักษามาตรฐานไว้  อย่างไรก็ตามเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ร่างเสร็จแล้ว ในเรื่องของคุณสมบัติมีผลบังคับใช้ทันที

หมายเหตุประเพทไทย : เสรีภาพในศาสนาและศีลธรรมอันดีของประชาชน


รายการ ‘หมายเหตุประเพทไทย’ สัปดาห์นี้สนทนากันเรื่องเสรีภาพในการนับถือศาสนาและศีลธรรมอันดีของประชาชน พบกับ ‘อรรถ บุนนาค’ และพิธีกรรับเชิญ ‘จุลศักดิ์ แก้วกาญจน์’ ผู้สนใจศึกษาศาสนาฮินดู
คุยกันถึงศาสนาและลัทธิความเชื่อที่มีอยู่หลากหลายในประเทศไทย และการตีความ “Civil morality” หรือ “ศีลธรรมอันดีของประชาชน” รวมถึงการไม่นับถือศาสนาใดๆ หรือการเกิดลัทธิความเชื่อใหม่ๆ ในหลายประเทศ ถือเป็นเสรีภาพและเป็นสิ่งที่รัฐให้การคุ้มครอง เช่น ในประเทศสวีเดน ที่เชื่อว่าการแบ่งปันความรู้ทางอินเทอร์เน็ต หรือ ‘Kopimism’ โดยการกดแป้นพิมพ์ Ctrl+C และ Ctrl+V ถือเป็นลัทธิความเชื่อหนึ่งที่ได้รับการยอมรับจากรัฐ เป็นต้น
คลิกไลค์เพื่อติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของรายการได้ที่ facebook.com/maihetpraphettha

ผู้แทนระดับสูงสหรัฐเยือนไทยครั้งแรกหลังรัฐประหาร แต่ไม่พบ 'ประยุทธ์' เป็นการส่วนตัว

แดเนียล รัสเซล ผู้แทนรัฐบาลสหรัฐประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเตรียมเยือนไทยครั้งแรกหลังเกิดรัฐประหาร วันที่ 26 ม.ค. นี้ มีกำหนดการพบรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ ไม่พบ 'ประยุทธ์' เป็นการส่วนตัว แต่สั่งแจงสถานการณ์และรายงานโรดแมปให้ชัดเจน
 
25 ม.ค. 2558 สำนักข่าวไทยรายงานว่าพลตรีวีระชน สุคนธปฎิภาค ที่ปรึกษาทีมโฆษกรัฐบาล เปิดเผยถึงการเยือนของนายแดเนียล รัสเซล ผู้แทนรัฐบาลสหรัฐประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออก ซึ่งจะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (วันที่ 26 ม.ค.) ว่าถือเป็นครั้งแรก ที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ส่งตัวแทนมาเยือนไทย และถือเป็นบุคคลสำคัญ/เป็นแขกพิเศษของไทย หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาควบคุมอำนาจ ทั้งนี้นายแดเนียล ยังมีกำหนดการเยือนประเทศอื่นๆในภูมิภาคนี้  อีก 3 ประเทศ ไม่ใช่แค่ไทยเท่านั้น โดยการเยือนครั้งนี้ เป็นไปตามกำหนดการที่สหรัฐฯวางไว้ ไม่เกี่ยวกับการที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติถอนถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  อดีตนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง ให้เว้นวรรคทางการเมือง  5 ปี  แต่อย่างใด
 
พลตรีวีระชน ระบุว่า ผู้แทนรัฐบาลสหรัฐฯมีกำหนดการพบกับผู้นำทางการเมืองของไทย และจะเข้าพบพลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าต่างประเทศ ที่กระทรวงการต่างประเทศ ในวันพรุ่งนี้ (วันที่ 26 ม.ค.) โดยไม่มีกำหนดการเข้าพบนายกรัฐมนตรี เป็นการส่วนตัวแต่อย่างใด
 
พลตรีวีระชน กล่าวว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี และ หัวหน้า คสช. รับทราบกำหนดการเยือนของผู้แทนรัฐบาลสหรัฐฯ และมองว่า  เป็นโอกาสดีและสำคัญ ที่รัฐบาลจะชี้แจงแผนการดำเนินงาน และยืนยันถึงความบริสุทธ์  ในการเข้ามาแก้ปัญหาทางการเมือง ที่เกิดความขัดแย้งมานาน  พร้อมสั่งการให้พลเอกธนะศักดิ์ และกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงถึงการแก้ปัญหาสถานการณ์ในประเทศทุกด้านให้ชัดเจน โดยเฉพาะแผนโรดแมปของรัฐบาล ที่ยืนยันจะเข้ามาเพื่อแก้ปัญหา รวมถึงถือโอกาสชี้แจงรายงานผลการปราบปรามการค้ามนุษย์ด้วย
 
พลตรีวีระชน ระบุว่า รัฐบาลไทย พร้อมดูแลความปลอดภัย และอำนวยความสะดวก ให้กับแขกคนสำคัญนี้ ตามแผนรักษาความปลอดภัย บุคคลสำคัญ
 
ทั้งนี้สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตันประเทศสหรัฐ เมื่อวันที่ 24 ม.ค.ว่า รัฐบาลประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐ จะส่งนายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เดินทางเยือนไทย นับเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดของสหรัฐฯที่มากรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เกิดรัฐประหารในไทยเมื่อปีที่แล้ว โดยมีกำหนดการอยู่ในประเทศไทย 2 วัน