วันศุกร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2558

คปก.เสนอแยกศาลแรงงานออกจากศาลยุติธรรม แนะต้องปฏิรูปทั้งระบบ

30 มกราคม 2558  คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) นำโดย ศ.ดร.คณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะเรื่อง “กระบวนการยุติธรรมด้านแรงงานในระบบศาลคู่” โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายแรงงานเข้าร่วมอภิปรายอาทิ ตุลากาศาลปกครองสูงสุด ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เป็นต้น ทั้งนี้ คปก.ได้ยื่นข้อเสนอกรอบการยกร่างรัฐธรรมนูญต่อนายกรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติและสภาปฏิรูปแห่งชาติไปเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา โดยในส่วนของกระบวนการยุติธรรมด้านแรงงานนั้นคปก.เสนอให้มีการแยกศาลแรงงานออกจากศาลยุติธรรม เช่นเดียวกับที่มีการแยกศาลปกครองออกจากศาลยุติธรรมตามระบบศาลคู่ของประเทศไทย 
 
ศ.ดร.คณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เปิดเผยว่า การแยกศาลแรงงานออกจากศาลยุติธรรมนั้นเพื่อให้ผู้พิพากษาศาลแรงงานมีความเชี่ยวชาญในการพิจารณาคดีแรงงานที่มีลักษณะคดีแตกต่างจากคดีในศาลยุติธรรมทั่วไป อีกทั้งจะต้องปรับเปลี่ยนกระบวนวิธีพิจารณาคดีแรงงานให้ผู้พิพากษาศาลแรงงานลงมาตรวจสอบค้นหาความจริงให้ได้มากที่สุด เนื่องจากคำพิพากษาคดีแรงงานมีความสำคัญและมีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง และจะต้องเน้นระบบการพิจารณาคดีแบบไต่สวน โดยจะต้องวางแนวทางให้ศาลชั้นต้นมีลักษณะเป็นศาลพิจารณา (Trial Court) ที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้ข้อเท็จจริงยุติที่ศาลชั้นต้น 
 
ด้าน นางสาวฉันทนา เจริญศักดิ์ ผู้แทนสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการร่างพรบ.เกี่ยวกับระบบการอุทธรณ์และฎีการวม 9 ฉบับ โดยมี ร่างพรบ.จัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ พ.ศ....และร่างพรบ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน (ฉบับที่..) พ.ศ....(แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การอุทธรณ์และฎีกา) โดยมีสาระสำคัญเป็นการจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีแรงงานขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาปริมาณคดีแรงงานที่ค้างอยู่เป็นจำนวนมากในศาลฎีกาแผนกคดีแรงงาน อีกทั้งยังกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาคดีไว้เพื่อลดปัญหาความล่าช้าในการพิจารณาคดี อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายดังกล่าวยังเปิดช่องให้มีการฎีกาคดีแรงงานได้โดยการ “ขออนุญาต” ในกรณีเป็นคดีที่อาจกระทบต่อการพัฒนากฎหมายที่เป็นปัญหาสำคัญ 
 
การประชุมในครั้งนี้ ดร.ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ ได้นำเสนอผลการศึกษา เรื่อง “การพัฒนากระบวนวิธีพิจารณาคดีแรงงานในระบบไต่สวน” โดยมีข้อเสนอว่าหากจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในศาลแรงงานปัจจุบันจะต้องมุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงกระบวนวิธีพิจารณาคดีแรงงานที่จะต้องแตกต่างจากศาลยุติธรรม ซึ่งรวมถึงคุณสมบัติของผู้พิพากษาศาลแรงงานที่จะต้องสร้างให้มีความรู้ความเข้าใจและมีความเชี่ยวชาญในคดีแรงงานอย่างแท้จริง  
 
นายสมชัย วัฒนการุณ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด กล่าวแสดงความเห็นว่า ประเด็นสำคัญที่จะต้องพิจารณาในการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคดีแรงงานนั้นจะต้องพิจารณาว่าเมื่อแก้ไขแล้วจะอำนวยให้เกิดความยุติธรรมในสังคมได้หรือไม่ และสิ่งที่ศาลยุติธรรมแก้ไขในแนวทางดังกล่าวนั้นตอบโจทย์กระบวนยุติธรรมทั้งระบบหรือไม่ ทั้งนี้มองว่าโครงสร้างของศาลยุติธรรมในเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายผู้พิพากษานั้นไม่อำนวยต่อการสร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านให้กับผู้พิพากษาศาลแรงงาน และการจะนำกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้กับคดีแรงงานควรมีขอบเขตและคำนึงถึงความสอดคล้องกับลักษณะของคดีแรงงานด้วย อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องการพิจารณาคดีของศาลแรงงานเป็นเรื่องสำคัญหากจะแก้ไขต้องคำนึงถึงปัญหาทั้งโครงสร้างรวมถึงสภาพที่เกิดขึ้นจริงของศาลแรงงานในทางปฏิบัติด้วย 
 
ด้านศ.เกษมสันต์ วิลาวรรณ กรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 9 และอดีตผู้พิพากษาอาวุโส ศาลแรงงานกลาง เปิดเผยว่า ความพยายามแรกเริ่มในการจัดตั้งศาลแรงงานคือต้องการให้เป็นศาลที่มีความแตกต่างจากศาลยุติธรรม โดยวางระบบให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านทั้งวิธีพิจารณาคดีและระบบของผู้พิพากษา ศ.เกษมสันต์กล่าวแสดงความเห็นด้วยต่อข้อเสนอในการแยกศาลแรงงานออกจากศาลยุติธรรมเช่นที่ศาลปกครองแยกออกมาเป็นอึกศาลหนึ่งตามระบบศาลคู่ อย่างไรก็ตาม หากจะทำให้เกิดผลจริงในทางปฏิบัตินั้นอาจเป็นไปได้ยาก สิ่งสำคัญคือต้องเข้าไปดูในเนื้อหาสาระการปฏิบัติของศาลแรงงานให้ยึดในระบบไต่สวน เนื่องจากเป็นระบบที่เหมาะสมกับวิธีพิจารณาคดีแรงงานในการทำให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงที่มากกว่าและเป็นประโยชน์กว่าระบบกล่าวหา โดยจะต้องมีความยึดโยงความจริงของข้อเท็จจริงให้มากเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาคดี ซึ่งศาลแรงงานเองก็ได้มีความพยายามที่จะให้ผู้พิพากษาเป็นผู้ดำเนินการตรวจพยานหลักฐานต่างๆ ซึ่งก็เป็นไปตามแนวทางของคปก.ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ อยากให้ทุกฝ่ายทำความเข้าใจต่อกระบวนการไกล่เกลี่ยว่าโดยหลักการเป็นเรื่องที่ต่างฝ่ายต่างต้องมีเจตนาที่จะร่วมกันให้เกิดความตกลงกันได้ด้วยความสมัครใจ อย่างไรก็ตาม การวางแนวทางของศาลแรงงานนั้นเห็นว่าหากบัญญัติได้ในระดับรัฐธรรมนูญจะเป็นการดี
 
ทางภาคเอกชนนั้นนายชัยปิติ ม่วงกูล กรรมการกฎหมายสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากจะมีการปฏิรูปกระบวนการแรงงานนั้นควรมองเชื่อมโยงในเรื่องเศรษฐกิจและการเปิดเสรีประชาคมอาเซียน (AEC) ด้วย เนื่องจากในทางการค้าระหว่างประเทศนั้นหากมีคดีแรงงานเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจทั้งระดับภายในประเทศและระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ในอนาคตคาดว่าปัญหาคดีแรงงานจะมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นด้วย
 
นอกจากนี้ นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้กล่าวว่า ปัญหาที่ผู้ใช้แรงงานประสบนั้นมีทั้งปัญหาความล่าช้าในการพิจารณาคดี และในช่วงหลังจากผู้ใช้แรงงานถูกนายจ้างเลิกจ้าง อย่างไรก็ตาม มีความเห็นว่าการไกล่เกลี่ยในศาลแรงงานควรเป็นไปเพื่อให้เกิดการยอมความกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้างอย่างแท้จริงบนหลักการที่ไม่ทำให้ลูกจ้างได้รับสิทธิที่น้อยลง และเห็นว่าการจัดตั้งศาลแรงงานโดยเฉพาะนั้นยังคงมีความสำคัญ
 
ทั้งนี้ ทางคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายจะรวบรวมความเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้จากการประชุมรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้นำไปประมวลผลและจัดทำเป็นข้อเสนอในระดับรัฐธรรมนูญต่อไป เพื่อให้เกิดการพัฒนาทั้งระดับองค์กรและตัวบุคคลในกระบวนการยุติธรรมด้านแรงงาน

AHRC ออกแถลงการณ์ครบ 2 ปี ‘สมยศ’ถูกตัดสินจำคุกคดี 112 จี้ปล่อยนักโทษทางความคิด

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเซีย หรือ AHRC ได้ออกแถลงการณ์สู่สาธารณะในวันครบรอบ 2 ปีที่สมยศ พฤกษาเกษมสุข ถูกพิพากษาให้จำคุกจากการเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin เป็นเวลา 10 ปีและคดีก่อนหน้าอีก 1 ปี โดยแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนายสมยศและนักโทษทางความคิดทั้งหมดโดยทันที ในระหว่างนี้ AHRC จะติดตามคดีที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างใกล้ชิด รวมทั้งจะสนับสนุนเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมในประเทศไทยต่อไป
แถลงการณ์ระบุว่าสมยศ ถูกจองจำมาเป็นเวลา 1370 วันนับตั้งแต่วันที่ถูกจับกุม 30 เมษายน 2554 เขาถูกขังก่อนที่จะมีการพิจารณาคดีถึง 6 เดือน จากนั้นวันที่ 12 พ.ย.2554 จึงเริ่มมีการพิจารณาคดีจนถึง 3 พ.ค.2555 คำตัดสินของศาลชั้นต้นอ่านเมื่อ 23 ม.ค.2556 และศาลอุทธรณ์อ่านคำพิพากษาเมื่อ 19 ก.ย.2557
ขณะนี้สมยศอยู่ในระหว่างการต่อสู้คดีและได้ฎีกาคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ เขาไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวโดยศาลปฎิเสธคำขอประกันทั้งสิ้น 16 ครั้ง
แถลงการณ์ระบุว่า สมยศเป็นนักกิจกรรมด้านแรงงานมานาน และเริ่มมาจับประเด็นเสรีภาพในการแสดงออก คดีของสมยศมาจากการถูกกล่าวหาว่าปล่อยให้มีบทความ 2   ชิ้นตีพิมพ์ในนิตยสารที่เขาเป็น บก. โดยอัยการชี้ว่างานที่ตีพิมพ์นั้นมีเนื้อหาน่าจะเข้าข่าย 112 และศาลตีความบทความทั้งสองว่าแม้บทความไม่ได้ระบุชื่อบุคคลในเนื้อหาแต่ถูกเขียนโดยตั้งใจให้เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ในอดีต เมื่อเชื่อมโยงเหตุการณ์แล้วเป็นไปได้ว่าจะหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื้อหาเป็นการดูถูก ดูหมิ่นแ ละอาฆาตมาดร้าย การเผยแพร่ แจกจ่าย จำหน่ายบทความนี้จึงเป็นความตั้งใจละเมิดมาตรา 112 การตัดสินนี้แปลความได้ว่าใครก็ตามที่เกี่ยวข้องในกระบวนการบรรณาธิกรณ์ ตีพิมพ์และจำหน่าย ก็ถูกตัดสินว่ามีเจตนาที่จะดูหมิ่น ดูถูก อาฆาตมาดร้ายกษัตริย์ได้ กฎหมายมาตรานี้จะอยู่ในประมวลกฎหมายอาญาตั้งแต่ปี 2500 จำนวนคดีเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 19 ก.ย.2549 และทวีคูณขึ้นเมื่อเกิดการรัฐประหาร 22 พ.ค.2557
“สิ่งที่ทำให้คำตัดสินนี้สำคัญเพราะทำให้เห็นว่ามาตรา 112 ถูกบังคับใช้และตีความอย่างค่อนข้างเป็นการเมืองและไม่เป็นธรรม นักเขียนและผู้พิมพ์จะไม่รู้ว่า เขาได้ข้ามเส้นที่มองไม่เห็นแล้วหรือไม่จนกว่าตำรวจจะมาเคาะประตูบ้านและนำตัวไป คำตัดสินได้สร้างบรรยากาศแห่งความกลัว และสร้างข้อจำกัดต่อการแสดงออกอย่างเสรีและการไหลเวียนของความคิด อีกทั้งยังจำกัดการเผยแพร่ความคิดโดยเฉพาะของผู้ที่ต้องการวิพากษ์วิจารณ์หรือเห็นต่าง” แถลงการณ์ระบุ

กรมการปกครองมีหนังสือด่วนคุมข้าราชการโพสต์หมิ่นเบื้องสูง

Dopa logo.jpg

อธิบดีกรมการปกครองร่อนหนังสือถึงผู้ว่าราชการทั่วประเทศ ควบคุมข้าราชการใช้คอมพิวเตอร์ของราชการในการเล่นโซเชียล์มีเดีย ป้องกันโพสต์หมิ่นเบื้องสูง
 
30 ม.ค. 2558 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือด่วนที่สุดออกมาเมื่อวันที่ 28 ม.ค. ที่ผ่านมา เรื่อง "แนวทางการใช้คอมพิวเตอร์และเครื่องมือสื่อสารของทางราชการ" โดยระบุแนวทางของทางราชการกรมการปกครองว่า ให้บุคลากรใช้คอมพิเตอร์หรือเครื่องมือสื่อสารของทางราชการเพื่อประโยชน์ของทางราชการ ห้ามไม่ให้บุคลากรใช้คอมพิวเตอร์ ในทางส่วนตัวที่ใช้โปรแกรม โซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ หรือการส่งอีเมลล์ ที่เข้าข่ายความผิดอาญา และให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นควบคุมดูแลการใช้คอมพิวเตอร์ หากมีบุคลากรกระทำความผิด จะถือเป็นความบกพร่องของผู้บังคับบัญชาด้วย
 
ด้านนายกฤษฎา บุญราช อธิบดีกรมการปกครอง (ปค.) กล่าวว่า การออกหนังสือดังกล่าว เนื่องจากเมื่อช่วงต้นเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา มีข้าราชการฝ่ายปกครอง อ.เมือง จ.สระแก้ว ใช้ชื่อเฟซบุ๊ก “UnchaUnyo” เผยแพร่รูปภาพ และข้อความที่มีลักษณะหมิ่นสถาบันเบื้องสูง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินคดี ซึ่งต้องดูผลของรูปคดีว่าจะออกมาเป็นอย่างไร หากมีความผิดก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอนทางระเบียบราชการต่อไป อย่างไรก็ตามการออกหนังสือดังกล่าว ไม่ใช่เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพแต่เป็นการป้องกันไม่ให้ใช้คอมพิวเตอร์และเครื่องมือสื่อของทางราชการ ไปในทางที่ส่อให้เกิดความเสียหาย
 
นายกฎษฎา ได้กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีการสอบคัดเลือกข้าราชการเพื่อเข้ารับการศึกษาอบรบหลักสูตรนายอำเภอ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557ว่า ขณะนี้ มีผู้ขอยื่นคำร้อง 12 ราย อาทิ ข้อสอบไม่ชัดเจน ทั้งนี้ หลังวันที่ 3 ก.พ.จะมีการรวบรวมคำร้อง พร้อมทั้งจะมีการชี้แจง หากคำร้องเกี่ยวข้องกับข้อสอบ โดยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ส่วนคำร้องที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสอบ กรมการปกครองจะเป็นชี้แจง ขณะที่ คำร้องต่างๆ ที่เกี่ยวกับการทุจริตในการสอบ ม.ธรรมศาสตร์จะเป็นผู้รับผิดชอบ
 
"การสอบครั้งนี้ดูยุ่งยาก เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่เปิดให้ดูคะแนน ภายหลังการสอบ เพื่อให้ผู้สอบสามารถท้วงติงได้ ทั้งนี้เพื่อความโปร่งใส หากหลังการชี้แจงแล้ว ผู้สอบยังไม่พอใจก็สามารถไปฟ้องต่อศาลปกครองได้"นายกฤษฎา กล่าว

คนกรีดยางตรังหนุนร่าง พ.ร.บ.การยาง ค้านใส่ไม้ยางแนบท้าย พ.ร.บ.สวนป่า


เมื่อเวลา 14.20 น. วันที่ 30 มกราคม 2558 ที่ศาลาประชุมหมู่บ้านม.3 ต.นาข้าวเสียอ.นาโยง จ.ตรัง  เครือข่ายคนกรีดยางจ.ตรัง นำโดยนายสุวิทย์ ทองหอม นายสมคิด ทองหนัน นายสาโรช ขำณรงค์ นัดรวมตัวเกษตรกรที่กรีดยางพาราในจังหวัดตรัง ประมาณ 100 คนแถลงการณ์สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.... ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กำลังพิจารณาในวันเดียวกันและคัดค้านการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.สวนป่า พ.ศ. 2535 ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา
 
เครือข่ายคนกรีดยาง จ.ตรัง ระบุเหตุผลของการสนับสนุนว่า  เพราะในร่าง พ.ร.บ.การยางฯ มีการให้คำจำกัดความของคำว่าเกษตรกรสวนยาง รวมถึงผู้กรีดยางพารานอกจากนี้ในร่าง พ.ร.บ. การยางฯ ยังได้บัญญัติถึงการจัดสวัสดิการให้ชาวสวนยางพาราด้วย ซึ่งในร่างเดิมของ พ.ร.บ.นั้นไม่ได้ระบุไว้
 
ส่วนประเด็นคัดค้านการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.สวนป่า พ.ศ. 2535 นั้น เครือข่ายคนกรีดยาง จ.ตรัง ระบุว่า การมีไม้ยางพาราในบัญชีแนบท้าย อาจส่งผลให้มีการตรวจสอบเข้มงวดว่าไม้ยางพาราไหนถูกปลูกในแปลงที่จดทะเบียนตาม พ.ร.บ.สวนป่าฯ หรือปลูกโดยเกษตรกร อาจส่งผลให้เกิดความเดือดร้อนในตอนต้องตัดโค่น และขนย้ายไม้ยางพาราได้อย่างลำบากมากขึ้น
 
แถลงการณ์เครือข่ายคนกรีดยาง จ.ตรัง ฉบับที่ 1
 
ตามที่คนกรีดยางซึ่งได้รวมตัวกันเป็น “เครือข่ายคนกรีดยาง จ.ตรัง” และภาคใต้ ในนาม “แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง” ได้ยื่นข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหายางพารา และเรียกร้องให้มีการปรับปรุงแก้ไขร่าง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย โดยให้มี 
 
1.เกษตรกรชาวสวนยาง หมายความว่า ผู้ทำสวนยางและมีสิทธิ์ได้รับผลผลิตจากต้นยางในสวนยางที่ทำนั้น และรวมถึงคนกรีดยาง (ความตามร่างเดิมไม่มีคนกรีดยาง)
 
2.ให้มีบทบัญญัติว่าด้วย การจัดสวัสดิการชาวสวนยาง (ซึ่งในร่างเดิมไม่มี)
 
และในวันนี้ (30 มกราคม 2558) กรรมาธิการวิสามัญประจำสภาฯ จะทำการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว
 
พวกเราเครือข่ายคนกรีดยางฯ ต้องการจะสื่อสารไปยังคณะกรรมาธิการวิสามัญว่า พวกเราต้องการสนับสนุนให้มีการพิจารณาเพื่อเห็นชอบให้คนกรีดยาง ได้เป็นเกษตรกรชาวสวนยาง ตามนิยามแห่งพ.ร.บ.ฉบับนี้ และให้ชาวสวนยางได้มีสวัสดิการบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ด้วย
 
พวกเราเครือข่ายคนกรีดยาง จ.ตรัง ไม่เห็นด้วย และคัดค้าน พ.ร.บ.สวนป่า พ.ศ.2535 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งได้มีบัญชีแนบท้ายอยู่ด้วย อันอาจจะก่อให้เกิดความเดือดร้อนในการตัดโค่น ขนย้ายไม้ยางพาราไม่ได้อย่างมีอิสรเสรี ได้อีกต่อไป
 
ดังนั้น “เครือข่ายคนกรีดยาง จ.ตรัง” ในนาม “แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง” จึงได้นัดรวมตัวกัน เพื่อแสดงพลังให้เห็นว่า
 
1.พวกเราสนับสนุนร่างพ.ร.บ.การยางฯ ดังกล่าวข้างต้น
 
2.คัดค้านพ.ร.บ.สวนป่า ซึ่งมีม้ยางพาราแนบท้ายอยู่ด้วย
 
หากไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์อันบริสุทธิ์นี้ พวกเราจะรวมตัวกันต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเรียกร้องและเจตนารมณ์ของพวกเราข้างต้น อย่างถึงที่สุด
 
ด้วยความศรัทธาและเชื่อมั่นในพลังประชาชน
เครือข่ายคนกรีดยาง จ.ตรัง
30 มกราคม 2558
 

ฟลัดข้อความถล่มเพจ ‘โอบาม่า-สถานทูตเมกา’ ประกาศก้อง ‘เรามีความสุขกับกฎอัยการศึก’ เตือนอย่าเผือก



ผู้ใช้เฟซบุ๊กชาวไทยบางส่วนระดมโพสต์ข้อความซ้ำๆ เพจบารัค โอบามา และสถานเอกอัคราชทูตสหรัฐอเมริกา ยันคนไทยส่วนใหญ่ขอเตือนอเมริกาอย่าแทรกแซงกิจการภายใน ย้ำ ‘เรามีความสุขดีที่มีการใช้กฎอัยการศึก’
หลังจาก แดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ปาฐกถาที่สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา (อ่านรายละเอียด) สร้างปฏิกิริยากับฝ่ายต่างๆ จำนวนมากทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จนกระทั่ง ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต้องเชิญ อุปทูตสหรัฐอเมริกา มาคุยเพื่อพูดคุย(อ่านรายละเอียด) พร้อมแสดงความผิดหวังอย่างมาก ถือเป็นการแทรกเเซงการเมืองไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมาจนกระทั่งวันนี้(30 ม.ค.)ที่หน้าเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘U.S. Embassy Bangkok’ ของสถานเอกอัคราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย รวมทั้งเฟซบุ๊กเพจ ‘Barack Obama’ ของบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา มีผู้เข้าไปโพสต์ รวมทั้งแสดงความเห็นใต้โพสต์ของเพจดังกล่าว ด้วยข้อความซ้ำๆจำนวนมากว่า นี่คือราชอาณาจักรไทย เป็นประเทศอิสระ ที่สามารถจัดการเรื่องภายในได้ด้วยตัวเอง จึงไม่มีอะไรที่จะต้องเกี่ยวข้องกับคุณ มันไม่ใช่ธุระกงการอะไรของคุณ พวกเราซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ขอเตือนอเมริกา อย่าแทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทย ในเรื่องที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก เรามีความสุขดีที่มีการใช้กฎหมายนี้
"Here is the Kingdom of Thailand. We are independent country. We can handle all our internal matters by ourselves. We have nothing to do with you. It’s none of your business. We, the majority of Thai people are warning you, don’t interfere in Thailand’s internal affairs regarding Martial Law. We are very happy with this law as it stands."
ตัวอย่างข้อความทั้ง 2 แฟนเพจ
อย่างไรก็ตามในเพจนี้ก็มีผู้เข้าไปแสดงความเห็นแย้งกับการโพสต์ข้อความดังกล่าวซ้ำๆ ด้วย
นอกจากนี้กระปุกออนไลน์รายงานด้วยว่า เฟซบุ๊ก V For Thailand ได้โพสต์ข้อความเชิญชวนให้นักรบไซเบอร์ทั้งหลาย ทำกิจกรรมบทเรียนสั่งสอนสหรัฐอเมริกา ด้วยการขอให้ทุกคนเข้าไปที่เฟซบุ๊กทั้ง 2 เพจดังกล่าว โพสต์ข้อความภาษาอังกฤษข้างต้น ให้มากที่สุด อีกด้วย