วันอังคารที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ชาวเยอรมัน-ไทยชุมนุมหน้าสถานทูตไทยในกรุงเบอร์ลินค้านรัฐประหาร



เมื่อวันอาทิตย์ 1 มิ.ย. 2557 ที่ผ่านมา กลุ่มประชาชนชาวเยอรมันและชาวไทยจำนวนหนึ่งได้รวมตัวกันหน้าสถานทูตไทยในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เพื่อชุมนุมคัดค้านการรัฐประหารในประเทศไทย โดยได้ชูป้ายมีข้อความต่อต้านการรัฐประหารและสนับสนุนการเลือกตั้งเพื่อเป็นทางออกจากปัญหาความขัดแย้ง
 
มีรายงานว่าในระหว่างการชุมนุม ได้มีเจ้าหน้าที่ในสถานทูตไทยได้คอยถ่ายรูปเก็บเป็นระยะๆ และคาดว่าน่าจะรายงานข้อมูลดังกล่าวกลับไปที่กรุงเทพฯ 
 
ทางกลุ่มดังกล่าวยังระบุว่า หลังจากนี้จะมีกิจกรรมชุมนุมการต้านรัฐประหารทุกๆ เดือน 
 
 
 
 



ทหารบุกถึงบ้าน-จับหนุ่มเรียงกระดาษ A4 - อ่านกวีให้ คสช.



จับหนุ่มเรียงกระดาษ A4 พ่วงอ่านบทกวีมอบคณะรัฐประหารแล้ว โดยเป็นการจับกุมถึงบ้านพัก ล่าสุดถูกควบคุมตัวไว้ที่กองปราบ
4 มิ.ย. 2557 - กรณีที่เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. มีประชาชนราว 5 คน ยืนเรียงแถวบริเวณลานน้ำพุ ห้างพารากอน ชูป้ายกระดาษ ที่ใช้กระดาษขนาด A4 เรียงติดกัน เขียนข้อความว่า "รัฐประหารกลัวกระดาษ A4 ตอนนี้ กระดาษ A4 หน้ากระดานเรียงหนึ่ง มาหาแล้วจ้า" นอกจากนี้มีการอ่านบทกวีแสดงความไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารนั้น
ล่าสุดเมื่อวานนี้ (3 มิ.ย.) นายชัยนรินทร์ กุหลาบอ่ำ ผู้เรียงกระดาษ A4 และอ่านบทกวีในกิจกรรมดังกล่าว ถูกเจ้าหน้าที่ทหารนับสิบนายบุกจับถึงบ้านพัก เบื้องต้นถูกนำตัวไปควบคุมที่กองปราบปราม ขณะนี้ยังไม่ทราบรายละเอียดว่าถูกตั้งข้อหาใดบ้าง



จับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง-อดีตผู้สมัครผู้ว่า กทม. แจกใบปลิวต้าน คสช.



สน.ทุ่งมหาเมฆจับ "ดำริห์ รินวงษ์" มอเตอร์ไซค์รับจ้างอดีตผู้สมัครผู้ว่า กทม. หลายสมัยเนื่องจากแจกใบปลิวต้านรัฐประหาร เจ้าตัวบอกแจกใบปลิวจริงเพราะไม่เห็นด้วยรัฐประหาร ตำรวจจึงลงบันทึกประจำและปล่อยตัว ฝ่าฝืนอีกจะส่งควบคุมตัว 7 วัน
ดำริห์ รินวงษ์ (แฟ้มภาพ/เพจดำริห์ รินวงษ์)
4 มิ.ย. 2557 - มติชนออนไลน์ รายงานเมื่อวานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ทุ่งมหาเมฆ และเจ้าหน้าที่ทหารเชิญตัวนายดำริห์ รินวงษ์ อายุ 50 ปี ภูมิลำเนาอยู่แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กทม. อาชีพผู้ขับขี่มอเตอ์ไซต์รับจ้าง หลังมีประชาชนร้องเรียนว่านายดำริห์ แจกใบปลิว ที่มีข้อความปลุกระดมต่อต้านรัฐประหาร โดยจับนายดำริห์ที่ซอยสวนพลู 8 และยึดใบปลิวข้อความต้านรัฐปะหารจำนวน 10 ใบ
พ.ต.ท.ศยาม อินทร์สุวรรณโณ รอง ผกก.สส.สน.ทุ่งมหาเมฆ กล่าวว่า เปิดเผยว่าได้รับแจ้งจากประชาชนว่า นายดำริห์ ขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างได้นำใบปลิวซึ่งมีข้อความปลุกระดมต้านรัฐประหาร แจกให้กับผู้โดยสารและประชาชนตามแยกไฟแดง จึงนำเจ้าหน้าที่ไปเชิญตัวมาสอบปากคำ
เบื้องต้นให้การยอมรับว่าแจกใบปลิวจริง เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร เจ้าหน้าที่จึงได้ตักเตือนและลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน ก่อนปล่อยตัวกลับไป โดยหากพบว่ายังฝ่าฝืนกระทำอีก จะนำตัว ส่งไปให้ คสช. ควบคุมตัว 7 วัน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับนายดำริห์ เคยลงสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเมื่อปี 2539 โดยได้ 581 คะแนน และครั้งหลังสุดสมัครในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครปี 2543 ได้ 1,174 คะแนน ส่วนการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเมื่อปี 2556 เขาได้ช่วยผู้สมัครอิสระรายอื่นหาเสียง



ศาลทหารให้ประกันตัวผู้ต้องหาปล่อยลมยางรถฮัมวี่



ผู้ต้องหาปล่อยลมยางรถฮัมวี่ของทหารในการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเมื่อ 28 พ.ค. - ล่าสุดศาลทหารให้ประกันตัวแล้ว หลังถูกควบคุมตัวเมื่อ 2 มิ.ย.
3 มิ.ย. 2557 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมบัติ โกมัยพันธุ์ ชาว กทม. ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลทหาร โดยถูกกล่าวหาว่าปล่อยลมยางรถฮัมวี่ของทหาร ที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ขณะมีการชุมนุมต้านรัฐประหาร เมื่อวันที่ 28 พ.ค. และถูกจับกุมและควบคุมตัวตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ที่ สน.พญาไท นั้น
ล่าสุดนายสมบัติถูกส่งตัวฟ้องที่ศาลทหารบ่ายวันนี้ (3 มิ.ย.) โดยทนายความจากกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน (กนส.) เป็นผู้ช่วยดำเนินการขอปล่อยตัวชั่วคราว และศาลทหารอนุญาต ตีหลักประกัน 40,000 บาท



อัพเดทผู้ถูกคุมขัง: ปล่อยหญิง 5 ราย ชาย 1 ราย - เหลือผู้ถูกคุมขัง 3 ราย



ผู้ประท้วงซึ่งถูกคุมขังที่กองปราบมี 9 ราย วันนี้ได้รับการปล่อยตัว 6 ราย รวมทั้งป้าสวมหน้ากากประท้วงเดี่ยวราชประสงค์ และสตรีที่ถูกตำรวจนอกเครื่องแบบจับขุึ้นรถแท็กซี่ที่แยกอโศก ขณะที่ยังเหลือผู้ถูกคุมขัง 3 ราย
ป้าสวมหน้ากากประท้วงที่แยกราชประสงค์และถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ล่าสุดวันที่ 3 มิ.ย. ได้รับการปล่อยตัวจากกองปราบแล้ว
3 มิ.ย. 2557 - ผู้ประท้วงและถูกคุมขังที่กองปราบจากเดิมมี 9 ราย เป็นหญิง 5 ราย ชาย 4 ราย วันนี้ได้รับการปล่อยตัว 6 ราย เป็นหญิง 5 ราย ชาย 1 ราย เหลือผู้ถูกคุมขังที่กองปราบ เป็น ชาย 3 ราย
โดยหญิง 5 รายได้รับการปล่อยตัวเมื่อช่วงเย็น ประกอบด้วย
- หญิงวัย 49 ปี อาชีพแม่บ้าน ชูป้ายที่อนุสาวรีย์ชัยฯ เมื่อ 29 พ.ค.
- หญิง 4 คน ที่ถูกจับวันที่ 1 มิ.ย. ได้แก่ รายแรกคือคุณป้าวัย 70 ปีที่ใส่หน้ากาก people ย่านราชประสงค์ รายที่สองคือหญิงวัยราว 40 ปีที่ถูกตำรวจนอกเครื่องแบบบังคับให้ขึ้นรถแท็กซี่สีชมพูบริเวณเทอร์มินอล 21 รายที่สาม หญิงวัยราว 50 ปีใส่เสื้อสีฟ้า ทำกิจกรรมปิดตาและชู 3 นิ้วที่เทอร์มินัล 21 อีกรายเป็นหญิงวัย 30 กว่าปี ไม่ทราบรายละเอียด
ชาย 4 คน ได้รับการปล่อยตัว 1 คน คือ ชายที่ถูกจับเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. บริเวณแยกอโศก



กกต.ให้พรรคการเมืองคืนเงินสนับสนุน-เนื่องจากไม่มี พ.ร.บ.พรรคการเมืองแล้ว


กกต.ทำหนังสือแจ้งพรรคการเมืองให้คืนเงินจากกองทุนเพื่อพัฒนาพรรคการเมือง เนื่องจากไม่มี พ.ร.บ.พรรคการเมือง รธน.สิ้นสุด พรรคการเมืองสิ้นสภาพแล้ว ถ้าพรรคใดใช้เงินไปแล้วให้แจ้งบัญชีค่าใช้จ่าย และเตือนว่าการประชุมพรรคการเมืองเป็นสิ่งไม่ควรกระทำ-ขัดกฎอัยการศึก-ประกาศ คสช.
3 มิ.ย. 2557 - หนังสือพิมพ์ข่าวสด รายงานข่าวจาก กกต. ซึ่งแจ้งว่า ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีประกาศฉบับที่ 11 ที่ระบุให้รัฐธรรมนูญ 2550 สิ้นสุดลงยกเว้นหมวด 2 และประกาศฉบับ 24 ที่ให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับเพียง 5 ฉบับคือ พ.ร.บ.ตรวจเงินแผ่นดิน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ร.บ.คณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ร.บ.ผู้ตรวจการแผ่นดิน และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้น จึงทำให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ต้องสิ้นสุดลง  
ดังนั้นสถานะของพรรคการเมืองต่างๆ ต้องสิ้นสภาพไปด้วย กกต.จึงได้ทำหนังสือแจ้งไปยังพรรคการเมืองเพื่อให้คืนเงินจากองทุนเพื่อพัฒนาพรรคการเมืองที่ใช้ในการรณรงค์ด้านประชาธิปไตยเพราะเห็นว่าพรรคการเมืองไม่มีสภาพเป็นพรรคการเมืองอีกต่อไปแล้ว ส่วนถ้าพรรคการเมืองใดใช้เงินกองทุนไปบางส่วนแล้วก็ให้แจ้งบัญชีค่าใช้จ่ายมายัง กกต. ในข่าวระบุด้วยว่า เมื่อพรรคการเมืองไม่มีสภาพตามรัฐธรรมนูญ การประชุมสมาชิกพรรค หรือกรรมการบริหารพรรคจึงเป็นสิ่งไม่ควรกระทำในช่วงนี้ เนื่องจากการกระทำดังกล่าวอาจเป็นการขัดต่อกฎอัยการศึกและประกาศของคสช.ที่ห้ามมิให้ชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมืองเกิน 5 คน  หากฝ่าฝืนต้องระวังโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

วิทยุธุรกิจขนาดเล็ก ร้อง กสทช. ขอความเห็นใจหลังโดนปิดสถานี เตรียมยื่นหนังสือต่อ คสช.พรุ่งนี้



3 มิ.ย. 2557 ตัวแทนสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย เข้ายื่นหนังสือต่อ สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. ถึงกรณีได้รับผลกระทบจากประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เกี่ยวข้องกับการระงับการออกอากาศของสถานีวิทยุชุมชนที่ไม่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย และสถานีวิทยุกระจายเสียงที่ได้รับอนุญาตทดลองประกอบกิจการ พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขในระยะสั้น และระยะยาว
โดยระยะสั้น เสนอให้คัดกรองสถานีที่มีการขออนุญาตถูกต้อง และไม่ถูกต้องก่อน แยกแยะสถานีที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองในห้วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งทหารคงจะมีข้อมูลอยู่แล้ว ปิดสถานีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและสถานีที่ไม่ขออนุญาตจากทาง กสทช. โดยกำกับดูแลอย่างเป็นธรรม ไม่เหมารวมเข่ง และให้สถานีที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. และไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เปิดดำเนินการได้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน โดยอาจพิจารณาการออกอากาศในแต่ละวันตามห้วงเวลาที่กำหนด เช่น เปิดเวลา 06.00 -18.00 น หรือตามที่ คสช. เห็นสมควร เพื่อให้มีการตรวจสอบ ดูแล และควบคุมได้ รวมทั้งสถานีที่ได้รับการพิจารณาให้ออกอากาศ ต้องให้ความร่วมมือกับทาง คสช. โดยทำข้อตกลงเดียวกันในแต่ละพื้นที่ และให้ถือปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หากสถานีใดฝ่าฝืน ต้องถูกระงับการออกอากาศขั้นเด็ดขาด
ในระยะยาว กสทช.ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อมิให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบของผู้ปฎิบัติถูกต้องและพวกแอบแฝง พร้อมเร่งดำเนินการพัฒนาองค์ความรู้ ให้แก่ผู้ประกอบการ และบุคลากรในด้านต่างๆ เช่น ด้านหลักวิชาชีพ  ด้านกฎหมาย ด้านจริยธรรม ด้านจรรยาบรรณ ด้านเทคนิค เป็นต้น รวมทั้งการจัดสรรคลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงให้แล้วเสร็จโดยเร็วและเป็นธรรม ในขณะที่ผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับอย่างเคร่งครัด ไม่ตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง ของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด จนนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคม และประเทศชาติ
เจริญ ถิ่นเกาะแก้ว  นายกสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย กล่าวว่า สมาคมฯได้เริ่มก่อตั้งจากการเป็นเครือข่ายวิทยุท้องถิ่นไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ในฐานะผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงทางธุรกิจระดับท้องถิ่นทั่วประเทศ โดยใช้ชื่อย่อว่า “วทท.” มีสมาชิกทั้งหมดจำนวน 315 สถานี ซึ่งเป็นสถานีที่ได้รับใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการทางธุรกิจจาก กสทช. เป็นกลุ่มกิจการสื่อสารวิทยุธุรกิจขนาดเล็ก เน้นประชาสัมพันธ์ธุรกิจในท้องถิ่น บริการประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในท้องถิ่นให้มีความรู้ ความเข้าใจ ในบทบาทหน้าที่ของสื่อสารมวลชนด้านวิทยุกระจายเสียงอย่างถูกต้อง โดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และเป็นการส่งเสริมวิชาชีพสื่อสารมวลชนด้านวิทยุกระจายเสียงในท้องถิ่นให้มีงานทำ
เจริญ กล่าวว่า ที่ผ่านมา สมาคมฯได้มีบทบาทและสนับสนุนในการขับเคลื่อนการออกพระราชบัญญัติประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 มาโดยตลอด ดังจะเห็นได้ว่าสถานีวิทยุกระจายเสียงได้ถูกแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ วิทยุชุมชน สาธารณะ และธุรกิจ  พร้อมทั้งมีการกำกับดูแลสมาชิกในเรื่องจรรยาบรรณวิชาชีพ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรสื่อ มาโดยตลอดเช่นกัน จากคำสั่ง คสช.ดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบกิจการวิทยุธุรกิจขนาดเล็ก ได้รับผลกระทบซึ่งอาจต้องเลิกจ้างพนักงาน จนเกิดปัญหาสังคม และครอบครัวต่อไป ท่ามกลางความไม่มั่นใจ และมั่นคงในการประกอบกิจการ เพราะไม่มีกรอบเวลาที่ชัดเจนตามประกาศ คสช. และเพื่อเป็นการผ่อนคลายตามคำสั่งดังกล่าว ทางสมาคมฯ พร้อมและยินดีที่จะกำกับดูแลกันเอง ให้สมาชิกปฏิบัติตามข้อตกลงกับทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนที่เกิดขึ้นกับภาคธุรกิจที่อยู่ในท้องถิ่น และในวันพรุ่งนี้ ตนเองและสมาคมฯจะเดินทางไปยื่นหนังสือเนื้อหาฉบับเดียวกันต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติด้วย
ด้าน สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. กล่าวว่า จะนำข้อเสนอจากสมาคมฯ เข้าบอร์ดคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ (กสท.) เพื่อให้พิจารณา เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีสัญญาณที่ชัดเจนว่ากลุ่มวิทยุจะได้กลับมาออกอากาศเมื่อใด ขณะที่ทางกลุ่มทีวีดาวเทียมเริ่มเห็นแนวทางที่ชัดเจนแล้ว

ปล่อยแล้ว "สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ" - คนอื่นๆ ยังถูกควบคุมตัว



กรณี คสช. เรียกชาวบ้าน-นักกิจกรรมรายงานตัวชุดใหญ่ตามคำสั่ง 44/2557 ล่าสุดช่วงเย็นนี้ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ได้รับการปล่อยตัวแล้ว ขณะที่รายอื่นๆ ยังคงมีการควบคุมตัว
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ (แฟ้มภาพ)
3 มิ.ย. 2557 - สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งถูก คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 44/2557 เรียกให้ไปรายงานตัวในวันที่ 3 มิ.ย. ได้รับการปล่อยตัวออกมาแล้ว โดยสุธาชัยระบุว่า คณะผู้สอบสวนได้ขอความร่วมมือใน 2 ประเด็น คือ ขออย่าให้เคลื่อนไหวคัดค้านรัฐประหาร และให้หยุดเขียนเรื่องการคัดค้านมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาไว้ก่อน
อนึ่งหลังการสลายการชุมนุมปี 2553 สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ถูกควบคุม ศอฉ. ตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไปไว้ที่ค่ายอดิศรใน จ.สระบุรี โดยถูกควบคุมตัวไปไว้ในสถานที่เดียวกับสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมด้านแรงงาน และบรรณาธิการวอยซ์ออฟทักษิณ
ทั้งนี้ เมื่อช่วงสายวันนี้ มีผู้ถูกเรียกตามคำสั่งฉบับเดียวกัน เข้ารายงานตัวกว่าสิบราย อาทิ นายเก่งกิจ กิติเรียงลาภ อาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, นายพฤกษ์ พฤกษ์สุนันท์ หรือลุงยิ้ม ตาสว่าง, นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย ผู้สื่อข่าวเว็บไซต์ประชาไท, นายปัญญา สุรกำจรโรจน์ สื่ออิสระ, นายรัชพงศ์ โอชาพงศ์ ศิลปิน, น.ส.สลิลทิพย์ ณ พัทลุง อดีตนักศึกษา, นายกิตติศักดิ์ สุจิตตารมย์ นักศึกษาปริญญาโท อดีตกรรมการ สนนท., น.ส.อุทัยรัตน์ มณีด้วง นักดนตรี, นายอัมรินทร์ ใสรัมย์, นายธนัท ศรีนิธิโฆษิต, นายนิพนธ์ ผดุงศิลป์ไพโรจน์ ซึ่งเป็นพ่อครัวทำกับข้าวในที่ชุมนุมคนเสื้อแดงตั้งแต่ปี 2553 และอดีตผู้สมัคร ส.ว. จ.สมุทรปราการ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความคืบหน้าเกี่ยวกับการปล่อยตัวบุคคลเหล่านี้
สำหรับโพสต์ของสุธาชัย มีเนื้อหาดังนี้
000
"ถึงเพื่อน ทุกคนครับ
จะรายงานผลให้ทราบว่า ผมได้ไปรายงานตัวกับทางเจ้าหน้าที่ทหารแล้ว หลังจากที่ถูกสอบสวนทั้งจากฝ่ายทหารและตำรวจ 3 ชั่วโมง ก็ได้รับการปล่อยตัว โดยทางฝ่ายทหารอธิบายว่า การที่ผมมารายงานตัวถือว่าเป็นการให้ความร่วมมืออย่างดี การเรียกตัวมาก็เป็นการเรียกมาคุย ไม่ได้เป็นการคุกคาม เขาอธิบายว่ารัฐประหารครั้งนี้เป็นรัฐประหารที่สุภาพ ไม่ได้ตั้งใจจะเล่นงานใคร นอกจากต้องการจะให้เกิดความปรองดองสมานฉันท์ในบ้านเมือง เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นมันแก้ไม่ได้ นอกจากจำเป็นจะต้องรัฐประหาร และจะใช้อำนาจเป็นการชั่วคราว
ผมจะไม่เล่าถึงการโต้เถียงประเด็น เพราะเป็นเรื่องยาว แต่จะเล่าให้ฟังว่า บรรยากาศการพูดคุย ผู้ซักถามมีราว 7-9 คน มาจากหน่วยงานราชการหลายหน่วยงาน ฝ่ายเจ้าหน้าที่มีการเตรียมตัวด้านข้อมูลเป็นอย่างดี เช่น ทราบถึงประวัติความเป็นมาของผม ได้อ่านบทความที่ผมเขียนลงโลกวันนี้มาแล้ว ประเด็นสำคัญในการซักถามเป็นเรื่องว่าด้วยมาตรา 112 แต่การซักถามสำหรับผมเป็นไปด้วยมิตรภาพ ท่าทีการพูดคุยของเจ้าหน้าที่ค่อนข้างดี แม้ว่าความเห็นจะไม่ตรงกันเลยก็ตาม
ท้ายที่สุด คณะผู้สอบสวนได้ขอให้ผมร่วมมือใน 2 ประเด็น คือ ขออย่าให้เคลื่อนไหวคัดค้านรัฐประหาร และให้หยุดเขียนเรื่องการคัดค้านมาตรา 112 ไว้ก่อน
แหม แต่ผมถือว่าเป็นเกียรติมากที่ถูกเชิญตัวในครั้งนี้ เรื่องขอความร่วมมือ ผมจะเอาอำนาจอะไรไปสู้กับคณะรัฐประหารได้ แต่ในเรื่องความคิดและจิตใจ คงบังคับกันไม่ได้ เพราะผมก็ยืนยันว่า ผมไม่ได้ต้านรัฐประหารเฉพาะครั้งนี้ การรัฐประหารตั้งแต่ 6 ตุลา 2519 เป็นต้นมา ผมไม่เคยเห็นเลยว่าจะแก้อะไรได้ มีแต่จะยิ่งขยายปัญหามากขึ้นทุกครั้ง ปัญหาบ้านเมืองคลี่คลายด้วยประชาธิปไตยทั้งนั้น
เรื่องมาตรา 112 สังคมไทยเป็นสังคมที่เป็นใบ้กับเรื่องนี้อยู่แล้ว ผมคนเดียวก็คงทำอะไรไม่ได้อยู่แล้ว เสี่ยงต่อการถูกล่าแม่มด เก็บขยะแผ่นดิน
เล่าให้ฟังแค่นี้ก่อน ผมคงจะเขียนบทความลงโลกวันนี้และประชาไทต่อไป ส่วนเรื่องอะไรคงว่ากันภายหลัง"

สหภาพอุดมศึกษาฯ ออสเตรเลียเรียกร้อง คสช.ปล่อยนักวิชาการ เร่งคืนประชาธิปไตย


3 มิ.ย.2557 สหภาพแรงงานอุดมศึกษาแห่งชาติออสเตรเลีย (The National Tertiary Education Union- NTEU) ออกแถลงการณ์ประณามการทำรัฐประหารในประเทศไทย
เว็บไซต์นิวแมนดาลา รายงานเมื่อวานนี้ถึงแถลงการณ์ของสหภาพแรงงานอุดมศึกษาแห่งชาติออสเตรเลีย (NTEU) เรียกร้องให้ คสช.ปล่อยตัวนักวิชาการและนักศึกษาที่ถูกคุมตัว รวมถึงเรียกร้องให้กลับคืนสู่การปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญโดยทันที โดนแถลงการณ์มีรายละเอียดดังนี้
............................
ขอประณามรัฐประหารในประเทศไทย
แถลงการณ์โดยสหภาพแรงงานอุดมศึกษาแห่งชาติออสเตรเลีย (NTEU) เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักวิชาการและนักศึกษาที่ถูกคุมตัวและข่มขู่โดยคณะทหารเผด็จการ
สหภาพแรงงานอุดมศึกษาแห่งชาติออสเตรเลีย (NTEU) ขอประณามรัฐประหารในประเทศไทยครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม และเรียกร้องให้กลับคืนสู่การปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญโดยทันที
NTEU ร่วมกับสหภาพแรงงานอื่นๆ องค์กรพัฒนาเอกชน และรัฐบาลต่างๆ ในการเรียกร้องต่อผู้บัญชาการทหารให้ปล่อยตัวนักการเมือง นักเคลื่อนไหว สื่อมวลชนและนักวิชาการที่ถูกจับกุมและควบคุมตัวหลังจากที่ถูกหมายเรียกจากทหารให้หยุดการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง และถูกดำเนินคดีโดยทันที
NTEU ตระหนักว่ารัฐบาลออสเตรเลียได้แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อการกระทำของกองทัพไทย และสนับสนุนการ “เรียกร้องให้ทหารจัดการคืนสู่ประชาธิปไตยและการปกครองด้วยกฎหมายอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ละเว้นจากการกักบริเวณโดยพลการ ปล่อยผู้ที่ถูกคุมขังด้วยเหตุผลทางการเมือง และเคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน”
NTEU ชื่นชมจดหมายเปิดผนึกจากกลุ่ม 26 นักวิชาการนานาชาติด้านไทยศึกษาลงวันที่ 23 พฤษภาคมถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งตั้งข้อเกตไว้ว่าการทำรัฐประหารก่อนหน้านี้ทั้ง 11 ครั้งตั้งแต่ปี 1932 ไม่มีสักครั้งเดียวที่ได้บรรลุเป้าหมาย แต่ทุกครั้งได้ทำลายการพัฒนากฎหมาย ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน นักวิชาการไทยศึกษายังตั้งข้อสังเกตไว้ว่า การจับกุมผู้นำทางการเมืองและนักเคลื่อนไหวโดยกะทันหันและอย่างเด็ดขาด ได้ทำให้ประเทศไทย “เสียชื่อเสียงเป็นอย่างมากในสายตาโลก” และ “ประชาคมโลกไม่สามารถที่จะทนต่อการกระทำดังกล่าวนี้ได้”
ในฐานะที่สหภาพแรงงานเป็นตัวแทนของอาจารย์มหาวิทยาลัยในออสเตรเลีย NTEU เป็นห่วงโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการควบคุมตัวนักวิชาการและนักศึกษาที่เรียกร้องประชาธิปไตยและการปกครองโดยพลเรือน
พวกเราตกใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้ทราบว่ามหาวิทยาลัยได้รับคำสั่งให้ตรวจสอบกิจกรรมทางการเมืองในมหาวิทยาลัย และยิ่งไปกว่านั้นในมหาวิทยาลัยบางแห่งได้มีการสั่งห้ามไม่ให้อาจารย์และนักศึกษาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในสื่อต่างๆ
อนึ่ง ทาง NTEU ได้ทราบว่านักวิชาการและนักศึกษาที่ได้วิพากษ์วิจารณ์กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ได้ถูกหมายเรียกให้ไปรายงานตัวกับทหาร และเราเข้าใจว่านักวิชาการและนักศึกษาจำนวนหนึ่งได้เก็บตัว และมีรายงานว่าทหารได้เข้าตรวจค้นบ้านบางคน กฎหมายหมิ่นฯ ยังถูกใช้เพื่อตั้งข้อหากับนักเคลื่อนไหวตั้งแต่การประกาศกฎอัยการศึก
NTEU จึงเรียกร้องให้มีการยกเลิกกฎหมายหมิ่นฯ ซึ่งถูกตีความอย่างกว้างขวางไม่เพียงแต่การวิจารณ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้น แต่ต่อรัฐด้วย
NTEU สนับสนุนและชื่นชมความกล้าหาญของอาจารย์และนักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่ยังคงรวมตัวกันที่มหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และตามสถานที่ต่างๆ เสรีภาพทางวิชาการและเสรีภาพในการพูดเป็นหลักการพื้นฐานของสังคมที่เป็นอารยะและเป็นประชาธิปไตย

จีนนี่ เร
ประธานสหภาพแรงงานอุดมศึกษาแห่งชาติออสเตรเลีย (NTEU)

ชาวบ้าน-นักกิจกรรมมารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. 44/2557



ผู้มีรายชื่อตามคำสั่ง คสช. 44/2557 เข้ารายงานตัวที่สโมสรกองทัพบก เทเวศร์ - เลขานุการอนุกรรมการ กสม. มาสังเกตการณ์ ขอให้ปฏิบัติอย่างเสมอภาคโดยยกกรณี "โคทม อารียา" เช้าไปเย็นกลับไม่ถูกควบคุมตัว

3 มิ.ย. 2557 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเวลา 11.00 น. ที่สโมสรกองทัพบก เทเวศร์ ถ.ศรีอยุธยา ประชาชนและนักกิจกรรมเดินทางมารายงานตัวกับคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ตามคำสั่ง 44/2557 พร้อมผู้มาให้กำลังใจกว่า 10 คน

โดยผู้ที่เดินทางมาในวันนี้แล้ว เช่น นายเก่งกิจ กิติเรียงลาภ อาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, นายพฤกษ์ พฤกษ์สุนันท์ หรือลุงยิ้ม ตาสว่าง, นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย ผู้สื่อข่าวเว็บไซต์ประชาไท, นายปัญญา สุรกำจรโรจน์ สื่ออิสระ, นายรัชพงศ์ โอชาพงศ์ ศิลปิน, น.ส.สลิลทิพย์ ณ พัทลุง อดีตนักศึกษา, นายกิตติศักดิ์ สุจิตตารมย์ นักศึกษาปริญญาโท อดีตกรรมการ สนนท., น.ส.อุทัยรัตน์ มณีด้วง นักดนตรี, นายอัมรินทร์ ใสรัมย์, นายธนัท ศรีนิธิโฆษิต
นอกจากนี้ยังมี นายนิพนธ์ ผดุงศิลป์ไพโรจน์ ซึ่งเป็นพ่อครัวทำกับข้าวในที่ชุมนุมคนเสื้อแดงตั้งแต่ปี 2553 และอดีตผู้สมัคร ส.ว. จ.สมุทรปราการ มารายงานตัวด้วย
ทั้งนี้ น.ส.เกศรินทร์ เตียวสกุล เลขานุการคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่มี นพ.นิรันทร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนเป็นประธานคณะอนุกรรมการ ได้เดินทางมาสังเกตการณ์การรายงานตัวและการสอบปากคำตามคำสั่ง คสช. ด้วย เนื่องจากมีผู้ถูกเรียกรายงานตัวรายหนึ่งทำจดหมายไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขอให้มาสังเกตการณ์
โดยเลขานุการคณะอนุกรรมการ กสม. เรียกร้องให้ปฏิบัติต่อผู้ถูกเรียกตัวด้วยมาตรฐานเดียวกัน โดยยกกรณีของนายโคทม อารียา นักวิชาการที่ถูกเรียกตัวก็ใช้เวลาเพียงวันเดียวก็ได้กลับบ้าน นอกจากนี้ยังขอให้มีการเปิดเผยสถานที่ควบคุมตัว เพื่อให้ญาติของผู้ถูกควบคุมตัวทราบด้วย
"ถ้าทำให้มันเทาๆ คนจะยิ่งผวาและต่อต้าน จะปรองดองจริงควรคุยแล้วจบไป" เกศรินทร์ กล่าว
สำหรับคำสั่ง 44/2557 ของ คสช. ให้บุคคลมารายงานตัวเพิ่ม 28 คน ส่วนใหญ่ในรายชื่อเป็นนักกิจกรรม นักวิชาการ สื่อมวลชน ศิลปิน หัวหน้าพรรคการเมืองขนาดเล็ก แกนนำ นปช.กลุ่มย่อย รวมทั้งชาวบ้านที่เคยเข้าร่วมการชุมนุม เป็นต้น

กษัตริย์สเปนแถลงแผนการสละราชสมบัติ หลังครองราชย์ 39 ปี


สมเด็จพระราชาธิบดี ฮวน คาร์ลอส ที่หนึ่งแห่งประเทศสเปน ทรงประกาศวางแผนสละราชสมบัติให้แก่เจ้าฟ้าชายเฟลิเป โดยกล่าวชื่นชมพสกนิกรที่ช่วยกันทำให้ประเทศสเปนกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยหลังผ่านยุคการยึดอำนาจอันยาวนานของจอมพลฟรังโกผู้เป็นเผด็จการทหาร
3 มิ.ย.2557 สมเด็จพระราชาธิบดี ฮวน คาร์ลอส ที่หนึ่งแห่งประเทศสเปนทรงประกาศผ่านทางโทรทัศน์เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่าพระองค์มีแผนการสละราชสมบัติให้กับเจ้าฟ้าชายเฟลีเป มงกุฎราชกุมาร หลังจากครองราชย์มาได้แล้ว 39 ปี
หลายชั่วโมงหลังจากที่นายกรัฐมนตรี มาริอาโน ราฮอย เปิดเผยข่าวในเรื่องนี้ สมเด็จพระราชาธิบดี ฮวน คาร์ลอส ก็ได้ทรงอธิบายถึงการตัดสินใจของพระองค์ว่า พระองค์รู้สึกภาคภูมิใจที่ประเทศสเปนมีการเปลี่ยนผ่านเป็นระบอบประชาธิปไตย ซึ่งพสกนิกรทุกคนมีส่วนช่วยให้ประสบความสำเร็จลุล่วงไปได้
"ในวันนี้ เมื่อข้าพเจ้าได้มองย้อนกลับไป ข้าพเจ้ารู้สึกถึงความภาคภูมิใจและรู้สึกขอบคุณพวกท่านทุกคน" สมเด็จพระราชาธิบดี ฮวน คาร์ลอส ทรงตรัส
โดยสมเด็จพระราชาธิบดี ฮวน คาร์ลอส ได้ทรงระบุตามแผนการว่าจะสละราชสมบัติหลังจากเลยวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ 76 พรรษา ในเดือน ม.ค. ปีหน้า และทรงเชื่อมั่นว่าเจ้าฟ้าชายเฟลีเปจะมีวุฒิภาวะและความรับผิดชอบมากพอที่จะดำรงตำแหน่งประมุขของสเปน
เดอะ การ์เดียนรายงานว่า สมเด็จพระราชาธิบดี ฮวน คาร์ลอส เป็นกษัตริย์ที่ได้รับความนิยมมาก แต่ในช่วงที่ผ่านมามีเรื่องที่ทำให้ความนิยมของพระองค์ลดลงโดยจากการสำรวจของเอลมุนโดโพลล์ระบุว่าชาวสเปน 2 ใน 3 ต้องการให้พระองค์สละราชสมบัติ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ในปี 2555 พระองค์ได้คะแนนนิยมจากชาวสเปนเกือบร้อยละ 80 ขณะที่เจ้าฟ้าชายเฟลีเปยังไม่มีเรื่องด่างพร้อยและมีภาพลักษณ์ด้านวิถีชีวิตสมถะ
เดอะ การ์เดียนระบุว่าความนิยมของสมเด็จพระราชาธิบดี ฮวน คาร์ลอส ลดลงหลังจากที่สเปนประสบภาวะวิกฤติทางการเงิน โดยเฉพาะหลังจากที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินท่องเที่ยวอย่างหรูหราด้วยการไปล่าช้างในบอตซวานา ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่นานได้ทรงตรัสว่ามีความรู้สึกไม่สบายพระทัยเมื่อทราบข่าวคนตกงานจำนวนมาก นอกจากนี้ยังถูกตรวจสอบเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นของเจ้าฟ้าหญิงคริสตินา พระราชธิดา กับพระสวามี อินนากิ เออดันการิน
นายกรัฐมนตรีราฮอยกล่าวชื่นชมสมเด็จพระราชาธิบดีว่าพระองค์ทรงเป็นผู้ปกป้องผลประโยชน์ของปวงชน และคิดว่าเป้นเวลาที่ดีที่สุดในการเปลี่ยนแปลง
นักวิเคราะห์มองว่าเรื่องนี้อาจจะเปิดโอกาสให้เกิดการเจรจาเพื่อเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและอาจมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสเปน รวมถึงกรณีการพยายามแยกตัวของแคว้นปกครองตนเองคาเทโลเนีย ซึ่งพรรคสังคมนิยมสเปนเรียกร้องให้เพิ่มอำนาจการปกครองตนเองให้กับคาเทโลเนียหรือให้สิทธิพิเศษด้านการเงินเพื่อทำให้ความรู้สึกของผู้อยากแบ่งแยกดินแดนจากสเปนสงบลง แต่อาร์ตูร์ มาส ประธานแคว้นคาเทโลเนียก็บอกว่าการประกาศสละราชสมบัติไม่ทำให้กำหนดการลงประชามติเรื่องการแยกตัวจากสเปนโดยชาวคาเทโลเนียเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมคือ 9 พ.ย. นี้
ในประวัติศาสตร์สเปน ก่อนหน้าการขึ้นครองราชสมบัติโดยสมเด็จพระราชาธิบดี ฮวน คาร์ลอส สเปนอยู่ภายใต้การปกครองของผู้นำเผด็จการทหารจอมพล ฟรานซิสโก ฟรังโก ผู้ซึ่งก่อการรัฐประหาร นำมาซึ่งสงครามกลางเมืองสเปนในช่วงปี 2479 - 2482 โดยได้รับการสนับสนุนของผู้นำเผด็จการคนอื่นๆ ในภูมิภาคอย่างพรรคนาซีของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และพรรคฟาสซิสต์อิตาลีของ เบนีโต มุสโสลินี มีการจับกุมผู้คนเข้าค่ายกักกันและสังหารผู้เป้นศัตรูทางแนวคิดการเมือง จนมีผู้เสียชีวิตราว 200,000 ถึง 400,000 คน หลังจากฟรังโกเสียชีวิตในปี 2518 สมเด็จพระราชาธิบดี ฮวน คาร์ลอส ก็ขึ้นครองราชย์ และเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตย

เรียบเรียงจาก
ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

แอมเนสตี้ฯ ลอนดอนชวนสมาชิกส่ง จม.ถึง คสช.เรียกร้องหยุดจับผู้ชุมนุม


3 มิ.ย.2557 สำนักงานเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ออกปฏิบัติการด่วนอีกครั้ง เรียกร้องสมาชิกทั่วโลกส่งจดหมายถึงหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อแสดงความห่วงใยในประเด็นการควบคุมตัวโดยพลการและการจำกัดสิทธิเสรีภาพที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในประเทศไทย โดยการรณรงค์ดังกล่าวจะมีไปถึงวันที่ 14 กรกฎาคม 2557
แอมเนสตี้ฯ ระบุว่า การควบคุมตัวโดยพลการและจำกัดสิทธิยังคงเกิดขึ้นกว้างขวางทั่วประเทศไทย หลังการประกาศใช้กฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา ผู้ถูกควบคุมตัวส่วนใหญ่ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ส่วนผู้ได้รับการปล่อยตัวต้องปฏิบัติตามข้อจำกัดต่อสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุมโดยสงบและการเดินทาง นอกจากนั้นยังเริ่มกระบวนการสั่งฟ้องคดีพลเรือนต่อศาลทหารอีกด้วย
แอสเนสตี้ฯ ระบุด้วยว่า ประกาศล่าสุดที่สั่งให้บุคคล 38 คนต้องรายงานตัวในวันที่ 2 และ 3 มิถุนายน ผู้ที่ต้องมารายงานตัวจะถูกควบคุมตัว และกระจายไปอยู่ตามค่ายทหาร ในบางกรณีถูกควบคุมตัวโดยตัดขาดจากโลกภายนอก ไม่สามารถเข้าถึงทนายความ ศาล ญาติ หรือแพทย์ รวมถึงการควบคุมตัวผู้ประท้วงอย่างสงบ ส่วนผู้ที่ถูกปล่อยตัวจะถูกจำกัดสิทธิ โดยต้องลงนามในสัญญาว่าจะไม่เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง หรือไม่เดินทางโดยไม่ได้รับอนุญาต หากฝ่าฝืนอาจมีโทษจำคุกไม่เกินสองปีและ/หรือโทษปรับ
นอกจากนี้แอสเนสตี้ฯ ยังคัดค้านการที่ คสช.ประกาศให้นำตัวพลเรือนเข้ารับการไต่สวนในศาลทหาร ซึ่งรวมถึงผู้ที่ถูกดำเนินคดีข้อหาความมั่นคงแห่งชาติและความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ และการฝ่าฝืนคำสั่งห้ามการชุมนุมหรือการไม่มารายงานตัว เนื่องจากเป็นการจำกัดสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม รวมทั้งสิทธิในการอุทธรณ์คดี โดยยกตัวอย่างกรณีของนายประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ดอีต สส.พรรคเพื่อไทย ซึ่งถูกแจ้งข้อหาความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 ก่อนการประกาศยึดอำนาจ และกรณีของนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่จะถูกดำเนินคดีโดยศาลทหาร ถูกข้อหาละเมิดกฎหมายความมั่นคงมาตรา 116 (2) ของประมวลกฎหมายอาญา จากการประกาศต่อต้านการรัฐประหารอย่างสงบซึ่งไม่ได้รับการประกันตัว
ในจดหมายที่แอมเนสตี้ฯ รณรงค์ให้สมาชิกทั่วโลกที่ส่งถึงหัวหน้า คสช. มีข้อเรียกร้องดังนี้
- เรียกร้องทางการไม่ให้จับกุม หรือควบคุมตัวบุคคลเพียงเพราะการใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุมหรือการสมาคมอย่างสงบ รวมทั้งการเป็นสมาชิกของกลุ่มการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ส่วนผู้ที่ถูกควบคุมตัวตามสาเหตุเหล่านั้น ต้องได้รับการปล่อยตัวโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข 
- เรียกร้องให้กองทัพตั้งข้อหาอาญาตามกฎหมายต่อบุคคลที่ถูกควบคุมตัวทุกคน และให้ถูกควบคุมตัวระหว่างรอการไต่สวนโดยศาลพลเรือนที่เป็นอิสระ หรือไม่เช่นนั้นต้องปล่อยตัว
- เรียกร้องให้ทางการอนุญาตให้บุคคลที่ถูกควบคุมตัวสามารถเข้าถึงทนายความ ขึ้นศาลพลเรือนที่เป็นอิสระโดยทันที เพื่อให้ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการจับกุม และเพื่อแจ้งให้ครอบครัวทราบ และให้สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่จำเป็น
- เรียกร้องทางการให้ประกาศรายชื่อบุคคลที่ถูกควบคุมตัวและรายชื่อสถานที่ควบคุมตัวอย่างเป็นทางการ
- เรียกร้องไม่ให้กำหนดเงื่อนไขในลักษณะที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนสำหรับผู้ได้รับการปล่อยตัวทุกคน