วันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ตุ๊ดเสรี เห่าเป็นคนไทยอย่าอายที่ต้องมี ม.112 ไม่ว่าฝรั่งตำหนิอย่างไรก็ตาม


เสรี วงษ์มณฑา โพสต์บอกเป็นคนไทยต้องไม่ยอมให้ฝรั่งมาครอบงำความคิดและทัศนคติ ต้องไม่ยอมรับพวกผิด ม.112 ที่มักจะอ้างเรื่องเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนอย่างไม่มีขอบเขตของนิติธรรมและความชอบธรรม
ที่มา เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'ดร.เสรี วงษ์มณฑา
12 พ.ค. 2559 ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและการตลาด และแกนนำ กปปส. โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'ดร.เสรี วงษ์มณฑา' ถึง กรณีนานาชาติวิพากษ์วิจารณ์ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่า เป็นคนไทยต้องซาบซึ้งความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์และการดำรงอยู่ของประเทศไทยตลอดประวัติศาสตร์กว่า 700 ปี
เสรี โพสต์ว่า เป็นคนไทยต้องจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ที่มีพระมหากรุณาธิคุณในการทรงพระราชกรณียกิจในการทำนุบำรุงประเทศไทยให้เจริญรุ่งเรืองและมั่นคง เป็นคนไทยต้องไม่ยอมให้ฝรั่งมาครอบงำความคิดและทัศนคติที่พวกเราจะมีต่อมาตรา 112 เพราะพวกเขาไม่เคยได้รับพระมหากรุณาธิคุณของกษัตริย์องค์ใดเพราะพวกเขาไม่เคยมีพระมหากษัตริย์ที่ทรงทศพิธราชธรรม เขาเคยเจอแต่นักการเมืองที่แวงห่อำนาจและผลประโยชน์ เป็นคนไทยต้องไม่ยอมรับพวกที่ทำผิดมาตรา 112 ที่ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ที่มักจะอ้างเรื่องเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนอย่างไม่มีขอบเขตของนิติธรรมและความชอบธรรม
 
"เป็นคนไทยต้องไม่อายที่ประเทศไทยเรามีมาตรา 112 เพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าฝรั่งจะแสดงทัศนะตำหนิเราอย่างไรก็ตาม เพราะการใช้กฎหมายจัดการกับพวกทำผิดมาตรา112 คือกาปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างมีความชอบธรรม ไม่ได้เป็นการกำจัดเสรีภาพหรือลิดรอนสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด" เสรี ระบุในโพสต์ดังกล่าว
 

ทูตสหรัฐยันจุดยืนกังวลการจับกุมนักเคลื่อนไหวไทย ชี้ขัดต่อพันธกรณีตามหลักสากล

ดอน และกลิน ทาวน์เซนด์ เดวีส์ ให้สัมภาษณ์สื่อ หลังการพูดคุยระหว่างกัน (ที่มาภาพ เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ) ดูวิดีโอคลิปที่ เรื่องเล่าเช้านี้ บีอีซี-เทโร

ทูตสหรัฐเข้าหารือ รมว.ต่างประเทศไทย สัมภาษณ์สื่อหลังคุยย้ำจุดยืนกังวลการจับกุมนักเคลื่อนไหวไทย ชี้ขัดต่อพันธกรณีของไทยตามหลักสากล ยันการแถลงกังวลก่อนหน้าทำโฆษกกต.สหรัฐจริง ซึ่งขัดกับการชี้แจงของกต.ไทยก่อนหน้านี้ ดอนเผยสหรัฐขอพบมานานแล้วแต่เพิ่งมีเวลาว่าง
12 พ.ค. 2559 จากกรณีสื่อรายงานข่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประณามประเทศไทย กรณีการจับกุมผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ นั้น ซึ่งต่อมาวานนี้ (11 พ.ค.59) กระทรวงการต่างประเทศ ได้ออกมาชี้แจงว่า 1. กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ มิได้ออกแถลงการณ์ใด ๆ ในประเด็นดังกล่าว 2. ข้อความที่สื่อบางสำนักรายงานเป็นเพียงการตอบคำถามโดยเจ้าหน้าที่เวรข่าวของกรมเอเชียตะวันออกของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ มิใช่การตอบคำถามโดยโฆษกระดับกรมอย่างที่มีการรายงาน อีกทั้ง มิได้ใช้ถ้อยคำว่า “ประณาม” (condemn) ตามที่สื่อบางสำนักรายงานแต่อย่างใด (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
ล่าสุดวันนี้ (12 พ.ค.59) เวลา 16.00 น. กลิน ทาวน์เซนด์ เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้เข้าเยี่ยมคารวะ ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
โดย มติชนออนไลน์ รายงานว่า ดอน ได้หารือกับ กลิน เดวีส์ โดยหลังการหารือราว 1.30 ชั่วโมง ทั้งคู่ได้แถลงข่าวร่วมกัน ซึ่ง ดอนได้เปิดโอกาสให้ เดวีส์ ให้สัมภาษณ์และตอบคำถามของสื่อมวลชนก่อน ในช่วงต้นเดวีส์ได้พูดถึงประเด็นที่มีการหารือกับดอนคือเรื่องทะเลจีนใต้และเรื่องสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทย พร้อมกับขอบคุณดอนที่ได้มีการพูดคุยหารือกันอย่างตรงไปตรงมา
ต่อกรณีที่ผู้สื่อข่าวถามถึงเรื่องที่เอเอฟพีได้เสนอข่าวว่าสหรัฐได้ประณามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในไทยดังกล่าวว่าเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ เดวีส์ กล่าวว่าสหรัฐห่วงกังวลอย่างยิ่งกับสิ่งที่เกิดขึ้น และย้ำจุดยืนที่ได้พูดไปโดยโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐแล้วว่าสหรัฐห่วงกังวลกับการจับกุมนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและเห็นว่าควรต้องมีการเปิดพื้นที่ทางการเมือง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นขัดต่อพันธกรณีของไทยตามหลักสากล
ผู้สื่อข่าวถามว่าความสัมพันธ์สหรัฐ-ไทยหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร เดวีส์กล่าวว่า ความสัมพันธ์สองประเทศยังแข็งแกร่ง เพราะไทยเป็นพันธมิตรที่เก่าแก่ของสหรัฐและยังมีความร่วมมือระหว่างกันในหลายมิติ

ทูตสหรัฐ ยันแถลงโดยโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ

มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า หลัง เดวีส์ ให้สัมภาษณ์เช่นนั้น ดอน ได้เรียกเอกสารจากเจ้าหน้าที่มาดูก่อนที่จะสอบถาม เดวีส์ อีกครั้ง ซึ่งเดวีส์ ยืนยันว่า แคทรีนา อดัมส์ คือโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ซึ่งขัดกับการชี้แจงของกระทรวงการต่างประเทศไทยก่อนหน้านี้ จากนั้น เดวีส์ ได้หยิบเอกสารขึ้นมาอ่านต่อหน้าสื่อมวลชนและให้เจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐแปลให้สื่อมวลชนฟังเป็นภาษาไทยว่า สหรัฐรู้สึกไม่สบายใจกับเหตุการณ์จับกุมเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการโพสต์ข้อความออนไลน์ รวมถึงการจับกุมมารดาของนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งขัดแย้งกับพันธกิจของไทยต่อนานาชาติ ซึ่งไม่เป็นการเคารพเสรีภาพในการแสดงออกและสร้างบรรยากาศของการข่มขู่ และทำให้เกิดการเซนเซอร์ตัวเอง
เดวีส์กล่าวต่อว่า การข่มขู่นักเคลื่อนไหวทางการเมืองและครอบครัว ทำให้เกิดความวิตกกังวลและห่วงใยอย่างยิ่งต่อพันธกรณีของไทยที่ต้องเคารพเสรีภาพในการแสดงความเห็น สหรัฐยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น การจำกัดเสรีภาพขั้นพื้นฐาน การจำกัดสิทธิในการแสดงความเห็น สิทธิในการชุมนุม รวมถึงการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร
“สหรัฐเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยินยอมให้มีพูดคุยกันอย่างเปิดเผย และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในอนาคตทางการเมืองของประเทศ ซึ่งรวมถึงการร่างรัฐธรรมนูญและการลงประชามติในเดือนสิงหาคม เราขอเรียกร้องและกระตุ้นให้ไทยยกเลิกข้อจำกัดต่างๆ เหล่านี้” เดวีส์กล่าว และว่า นี่คือจุดยืนและท่าทีของสหรัฐในขณะนี้ พร้อมกับขอบคุณรัฐบาลไทยอีกครั้งที่มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนควาเห็นในเรื่องต่างๆ ซึ่งรวมถึงสิทธิมนุษยชนในไทย ทั้งยังขอบคุณสื่อมวลชนที่ทำงานเพื่อประชาชนและย้ำว่าสื่อมวลชนมีหน้าที่ในการสื่อความจริงให้ประชาชนได้รับทราบ ซึ่งสหรัฐให้ความเคารพกับการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน

ไม่ได้หยิบเรื่องแถลงกังวลมาหารือ

หลัง เดวีส์ อ่านเอกสารที่เตรียมมาจบ ดอนได้ย้ำว่า เดวีส์ไม่ได้หยิบยกเรื่องดังกล่าวขึ้นมาพูดคุยกับตนระหว่างการหารือกันแต่อย่างใด เดวีส์จึงพูดอีกครั้งว่า ยืนยันว่าตนไม่ได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นพูดกับดอน แต่พูดกับสื่อเพื่อแสดงจุดยืนของรัฐบาลสหรัฐ ขณะที่ในการหารือกับดอนก็ได้พูดคุยกันในหลายเรื่องรวมถึงเรื่องสิทธิพลเมือง และรับว่าสหรัฐไม่ได้ใช้คำว่าประณามไทย

ดอนย้ำสหรัฐห่วงใยไม่ได้ประณาม

ดอนให้สัมภาษณ์อีกครั้งหลังส่งเดวีส์และคณะแล้วว่า สิ่งที่เดวีส์ย้ำเป็นการแสดงความห่วงใยแต่ไม่มีการประณามไทยตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด ระหว่างการหารือไม่มีการพูดถึงประเด็นเหล่านี้ ตรงกันข้ามสหรัฐเป็นฝ่ายรับฟังด้วยซ้ำว่าเรื่องที่เป็นประเด็นในขณะนี้คืออะไรบ้าง ซึ่งตนก็ได้พูดถึงเรื่องการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทยต่อคณะทำงานยูพีอาร์ที่เจนีวา ซึ่งก็มีเสียงชื่นชมไทยในหลายประเด็น
ดอนกล่าวต่อว่า ในเรื่องสิทธิพลเมืองก็พูดให้สหรัฐฟังว่าไทยก็เหมือนสหรัฐที่เมื่อมีเรื่องที่สร้างความวุ่นวายในสังคมก็ต้องหารทางไม่ให้เกิดความปั่นป่วน สังคมก็ต้องหาทางดูแลปัญหาเหล่านั้นเช่นกัน ที่ไม่ได้หยิบยกขึ้นมาพูดเพราะเป็นที่เข้าใจว่าทุกประเทศก็มีปัญหาเหล่านี้เช่นกัน ขณะที่ในรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั้งที่สหรัฐและอังกฤษเพิ่งเผยแพร่ออกมา ประเทศไทยก็ไม่ได้เป็นเป้า ซึ่งไม่ใช่ว่าเราไม่มีปัญหา ถ้าจะมีก็เหมือนประเทศอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นเป้าเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่าจำเป็นต้องมีการพูดคุยทำความเข้าใจกับสหรัฐอีกครั้งหรือไม่ เพราะดูเหมือนว่าไทยและสหรัฐจะเข้าใจเรื่องไม่ตรงกัน ดอนกล่าวว่า คงมีโอกาสพบกันอีกแต่จะพูดคุยเรื่องเดิมคงใช่ที่ แต่อย่าถือเป็นเรื่องใหญ่โต มันเป็นเรื่องการเลือกใช้คำของสื่อแล้วคนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์และไม่เข้าใจเจตนาก็เอาไปใช้ต่อ
เมื่อถามว่าแสดงว่าสหรัฐไม่เข้าใจกระบวนการจัดการภายในของไทยหรือ ดอนกล่าว่า เข้าใจไม่เข้าใจคงต้องเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง เพราะเราพูดกันมาพอควร และสหรัฐก็รู้ว่ามันเป็นปัญหาในหลักการอันหนึ่งเช่นเดียวกับบ้านเมืองเขา ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่าการเดินทางมาหารือกันครั้งนี้เป็นการเรียกทูตสหรัฐมาพบหรือสหรัฐขอพบ ดอนกล่าวว่า สหรัฐขอพบมานานแล้วแต่เพิ่งมีเวลาว่าง

ทูตสวีเดนย้ำต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าการรับฟังคำวิจารณ์สำคัญต่อการฟื้นคืนประชาธิปไตย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. และ สตัฟฟาน แฮร์สเติร์ม เอกอัครราชทูตสวีเดน ทีทำเนียบรัฐบาลเมื่อ 13 พ.ค. 2559 (ที่มาของภาพ: เว็บไซต์รัฐบาลไทย)

ทูตสวีเดนพบ พล.อ.ประยุทธ์ ย้ำความสำคัญของเสรีภาพการแสดงออก คำวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งสำคัญต่อทั้งการลงประชามติ-ฟื้นคืนประชาธิปไตย-การเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม พร้อมย้ำข้อแนะนำของสวีเดนที่เวทีทบทวนสิทธิมนุษยชน UPR ให้ไทยแก้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ ย้ำไทย-สวีเดนสัมพันธ์แน่นแฟ้นทุกระดับ แถมยังเคยจัดซื้อเครื่องบินกริพเพนด้วย รับปากจะดูแลความปลอดภัยของชาวสวีเดนในไทย
13 พ.ค. 2559 เมื่อวันที่ 13 พ.ค.  สตัฟฟาน แฮร์สเติร์ม (Staffan Herrström) เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยม พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยการพบกันนี้เป็นส่วนหนึ่งของการแนะนำตัวของทูต รวมไปถึงการหารือทางการเมืองกับบรรดาคณะรัฐมนตรี บุคคลและสถาบันที่มีความสำคัญ สื่อมวลชน ประชาสังคม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ ทั้งนี้ในการพบหารือที่ทำเนียบรัฐบาล มีคณะของสถานทูตสวีเดนร่วมเดินทางไปด้วย
ในเฟซบุ๊คของสถานเอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย ได้เผยแพร่ถ้อยแถลงระหว่างการพบหารือของทูตสวีเดน ซึ่งนย้ำถึงความสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างประเทศไทยและสวีเดน ซึ่งมีชาวสวีเดนเดินทางมาประเทศไทยเพื่อการท่องเที่ยว โดยทูตสวีเดนยังกล่าวถึงประสบการณ์ของชาวสวีเดนต่อประเทศไทยในประเด็นเรื่องความเสมอภาคเท่าเทียมทางเพศและความปลอดภัยบนท้องถนนอีกด้วย
โดย ทูตสวีเดนย้ำถึงความห่วงใยของ เอกอัครราชทูตและหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรปต่อสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทย และห่วงใยต่อรายงานทบทวนสิทธิมนุษยชนของประเทศตามกลไก Universal Periodic Review หรือ UPR โดยทูตสวีเดนได้เน้นย้ำเป็นพิเศษถึงความสำคัญของเสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการรวมตัวสมาคม ซึ่งจะทำให้เสียงของคำวิพากษ์วิจารณ์ถูกรับรู้ ซึ่งไม่เพียงสำคัญเฉพาะกับการลงประชามติที่กำลังจะเกิดขึ้น แต่เป็นไปเพื่อการฟื้นคืนกลับสู่ประชาธิปไตย ซึ่งรวมถึงการเลือกตั้งที่เสรีและมีความยุติธรรม ในโอกาสนี้ทูตสวีเดนยังย้ำถึงข้อแนะนำของสวีเดนต่อประเทศไทยในเวที UPR ที่ผ่านมา ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงข้อเสนอให้แก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ด้วย
อนึ่งในรายงานของเว็บไซต์รัฐบาลไทย พล.ต. วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวสรุปสาระสำคัญการหารือ โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต้อนรับและแสดงความยินดีที่ทูตสวีเดนได้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย รัฐบาลไทยยินดีที่จะร่วมมือในการสานต่อและสนับสนุนความร่วมมือกับสวีเดนต่อไป พร้อมเน้นย้ำความสัมพันธ์ไทยกับสวีเดนที่มีความแน่นแฟ้นและมีความร่วมมือใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับพระราชวงศ์ ความสัมพันธ์ระดับประชาชน และการทหารจากการจัดซื้อเครื่องบินรบรุ่นกริพเพน ทางด้านเอกอัครราชทูตได้กล่าวแสดงความรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้มาปฏิบัติหน้าที่ในไทย และกล่าวแสดงความประสงค์ที่จะให้ความร่วมมือระหว่างไทยและสวีเดนเพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการค้า และการลงทุน จึงขอให้ฝ่ายไทยช่วยอำนวยความสะดวกในเรื่องการค้าและการลงทุนของสวีเดน
ต่อเรื่องสถานการณ์ทางการเมืองไทย พล.อ.ประยุทธ์ ได้ชี้แจงว่า รัฐบาลได้เข้ามาบริหารประเทศไทยเพื่อให้เกิดความสงบสุขและเพื่อให้ความร่วมมือกับประเทศต่างๆดำเนินต่อไปได้โดยไม่ติดขัด รัฐบาลได้วางรากฐานประชาธิปไตยที่ยั่งยืนและบ้านเมืองที่มีเสถียรภาพโดยการดำเนินการตามโรดแมป มีการดำเนินคดีแก่ผู้ที่กระทำผิดโดยยึดหลักตามกฎหมายและปฏิบัติต่อทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน
นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้เข้ามาแก้ไขปัญหาในเรื่องที่คั่งค้างมาตั้งแต่รัฐบาลก่อน อาทิ การแก้ไขปัญหา IUU และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอุตสาหกรรมประมง การแก้ไขปัญหาการทุจริตและดำเนินคดีแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง การแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิเด็กและสตรีโดยการแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องตามหลักสากล เป็นต้น ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้สวีเดนมั่นใจได้ว่า รัฐบาลไม่ได้ประสงค์ให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนใด ๆ หากแต่มีความจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชนในสังคม ทางด้านเอกอัครราชทูตราชฯสวีเดนได้แสดงความยินดีที่ทราบว่า รัฐบาลไทยได้มีการแก้ไขปัญหา IUU และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอุตสาหกรรมประมง รวมถึงการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิเด็กและสตรี ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลสวีเดนให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน
พล.ต.วีรชน กล่าวว่า ในด้านการท่องเที่ยว นายกรัฐมนตรีและทูตสวีเดน ต่างยินดีที่นักท่องเที่ยวชาวสวีเดนเดินทางมาประเทศจำนวนมากทุกปี ทูตสวีเดนได้ขอให้รัฐบาลไทยช่วยดูแลความปลอดภัยของชาวสวีเดนที่เดินทางมาทำธุรกิจและท่องเที่ยวในไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกระดับมาตรการความปลอดภัยบนท้องถนน ซึ่งทางนายกรัฐมนตรียินดีรับไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา เพื่อให้ชาวสวีเดนมั่นใจในการเข้ามาท่องเที่ยวในไทย
ก่อนหน้านี้เคยมีกรณีที่รัฐบาลไทยแถลงข่าวโดยที่สาระสำคัญคาดเคลื่อนไปจากที่ทูตสวีเดนกล่าวย้ำ โดยเมื่อวันที่ 4 พ.ค. ในการพบกันของทูตสวีเดน กับ รมว.กลาโหม และรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในรายงานของไทยรัฐ ซึ่งอ้างจากการแถลงของโฆษกกระทรวงกลาโหม ได้อ้างว่าทูตสวีเดน กล่าวว่าในฐานะที่สวีเดนเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปและมิตรประเทศของไทย มีความเข้าใจดีต่อสถานการณ์ของประเทศไทยและเห็นถึงความตั้งใจของรัฐบาลต่อความพยายามแก้ปัญหาวางรากฐานของประเทศปัจจุบัน และยังกล่าวกับ พล.อ.ประวิตร ว่าสนับสนุนถึงการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด อันจะนำมาซึ่งสังคมที่ปรองดองและความมั่นคงของประเทศต่อไป
อย่างไรก็ตามในเฟซบุ๊คของสถานทูตสวีเดน ได้เผยแพร่คำแถลงของทูตสวีเดน ซึ่งได้ย้ำเตือนถึงข้อกังวลที่คณะทูตานุทูตของสหภาพยุโรปได้เคยกล่าวไว้เมื่อวันที่ 7 เมษายนเกี่ยวกับประเทศไทย โดยเฉพาะความสำคัญของเสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพในการแสดงออก ทั้งนี้เพื่อให้สังคมได้รับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งสำคัญไม่เฉพาะกับบริบทการลงประชามติที่กำลังจะมีขึ้น หากยังรวมถึงการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตย นอกจากนี้ทูตยังเน้นถึงความกังวลเกี่ยวกับบทบาทที่เพิ่มขึ้นของทหารในการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 13/2559 และยังเน้นถึงความสำคัญของหลักนิติธรรม