วันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ศาลฎีกานัดฟังคำพิพากษาคดี 112 “บัณฑิต อานียา” 21 ส.ค.นี้

ศาลฎีกานัดฟังคำพิพากษาคดี 112 “บัณฑิต อานียา” 21 ส.ค.นี้

 
          19 ก.ค.56 จือเซ็ง แซ่โค้ว  นักเขียน นักแปลเจ้าของนามปากกา สมอลล์ บัณฑิต อานียา อายุ 73 ปี กล่าวว่า ทนายความได้แจ้งวานนี้ว่าศาลฎีกานัดฟังพิพากษาคดีของเขาในวันที่   21 ส.ค.นี้ ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ เวลา 9.00 น.
         ทั้งนี้ บัณฑิตถูกแจ้งข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ตาม มาตรา 112 เมื่อปี 2546 จากกรณีที่ พล.อ.วาสนา เพิ่มลาภ อดีต กกต. แจ้งความกล่าวหานายบัณฑิตว่าพูดแลกเปลี่ยนในงานเสวนาและขายเอกสารที่จัดทำขึ้นเองเข้าข่ายหมิ่นฯ โดยเอกสารดังกล่าวมี 2 เรื่อง ได้แก่ 
  • 1. "สรรนิพนธ์เพื่อชาติ (ฉบับตัวอย่าง)" 
  • 2. "วรสุนทรพจน์ (ฉบับร่าง) เนื่องในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร"

         บัณฑิตถูกคุมขังรวม 98 วันในระหว่างพิจารณาคดีก่อนจะได้รับการประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 2 แสนบาท ต่อมาวันที่ 23 มีนาคม 2549 ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 4 ปีจากความผิด 2 กระทง แต่เห็นว่าจำเลยอายุมากและป่วยด้วยโรคจิตเภทจึงให้โอกาสบำบัดแล้วรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ ต่อมาวันที่ 17 ธันวาคม 2550 ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก 2 ปี 8 เดือนไม่รอลงอาญา เนื่องจากเห็นว่าจำเลยรู้ผิดชอบและสามารถบังคับตนเองได้ทั้งหมด ในชั้นนี้จำเลยได้รับการประกันตัวโดยใช้หลักทรัพย์เงินสด 300,000 บาท
อ่านรายละเอียดคดีที่ http://freedom.ilaw.or.th/th/case/69#detail
       นายบัณฑิตเขียนและแปลหนังสือหลายเล่มด้วยหลากหลายนามปากกา อาทิ 
  • 1.ภาพนี้มีความหมาย 
  • 2.ชายแก่คนหนึ่งเป็นบ้าแก้ผ้าวิ่งรอบสนามหลวง 
  • 3.ผู้มาเยือนยามวิกาล (เรื่องแปล) 
  • 4.จิตวิทยาศาสนา 
  • 5.หล่อนถูกโกงล็อตเตอรี่รางวัลที่หนึ่ง 
  • 6.แม้แต่หนอนยังพลิกตัว 
  • 7. ของจริงและของปลอม 
  • 8.คนหลายเลขศูนย์ (เรื่องแปล) 
  • 9.The Dream under the Sun 
  • 10.พวงมาลัยดอกมะลิสด 
  • 11.สันติภาพกลางอากาศ 
  • 12.เบอร์ลินรันทด (เรื่องแปลและเรื่องเขียน) 
  • 13. จานบินจากนอกโลก 
  • 14. นายพลนักล้วง (เรื่องแปล) 
  • 15.ทหารนิราม (เรื่องแปล) 
  • 16.มาคาริโอ (เรื่องแปล) 
  • 17.ท่านบีกคึกฯ สารพัดฯ 
  • 18.อาคันตุกะยามรัตติกาล (เรื่องแปล) 
  • 19. อยู่อย่างมีสุข 
  • 20. รวมเรื่องสั้นเล่มแรก 
  • 21.โบสถ์สกปรก 
  • 22.สี่สิบห้าวันในควันที่คุมขังสัตว์มนุษย์ 
  • 23.นิทานพื้นบ้านญี่ปุ่น (เรื่องแปล) 
  • 24.ทักษิณ ชินวัตร 
  • 25.ขจัดความเจ็บปวดเมื่อตกงาน (เรื่องแปล) 
  • 26. จดหมายถึงทักษิณ 
  • 27.บิดาของท่าน บิดาของข้าพเจ้า 
  • 28.เด็กหญิงมยุรากับหมาไม่มีปลอกคอตัวหนึ่ง 
  • 29.เด็กหญิงนภาไปซื้อความยุติธรรมที่ตลาดมืด 
  • 30.I marry with a lady dog

"อย่าลืมความอัปยศของชาติ": ประโยคที่สังคมไทยลืมเลือน

"อย่าลืมความอัปยศของชาติ": ประโยคที่สังคมไทยลืมเลือน


ปฏิมากรรมรูปปฏิทินกำลังเปิดอยู่ตรงหน้าที่เป็นวันที่ 18 กันยายน ค.ศ. 1931

         ณ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ "18 กันยายน" ที่ตั้งอยู่ในเมืองเซิ่นหยาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจีน มีปฏิมากรรมขนาดใหญ่ลักษณะเป็นปฏิทินกำลังเปิดหน้าที่มีอักษรสลักว่า "ปี 1931,  เดือนกันยายน, วันที่ 18" และที่ไม่ห่างจากกันนักก็มีระฆังขนาดใหญ่สลักอักษรว่า "勿忘国耻" (อย่าลืมความอัปยศของชาติ) อนุสรณ์สถานแห่งนี้ สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์วันที่ 18 กันยายน(九一八) ค.ศ. 1931 หรือ "กรณีแมนจูเรีย" ที่กองทัพญี่ปุ่น(ซึ่งยึดครองดินแดนบางส่วนของแมนจูเรียมาตั้งแต่สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 1) อาศัยการก่อวินาศกรรมรางรถไฟที่พวกตนสร้างขึ้นเป็นข้ออ้างในการโจมตีเซิ่นหยางและรุกรานจีนอย่างเต็มรูปแบบ เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นผลให้ดินแดนแมนจูเรียทั้งหมดตกเป็นของญี่ปุ่น และจะนำไปสู่การตั้ง "แมนจูรัฐ" (满洲国)ในเวลาต่อมา
        ชาวจีนถือว่าเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์สำคัญของ "ศตวรรษแห่งความอัปยศของชาติ"(百年国耻) ช่วงเวลาแห่งการยึดครองของญี่ปุ่นตั้งแต่ ค.ศ. 1931 ถึง 1945 ถือเป็นช่วงเวลาที่ดำมืดที่สุดในประวัติศาสตร์จีน เจียงไคเช็ค หรือเจียงเจี้ยสือ(蔣介石) ผู้นำจีนในขณะนั้นถึงกับเขียนในบันทึกส่วนตัวว่า "นับตั้งแต่นี้ไป ข้าพเจ้าจะตื่นในเวลาหกโมงเช้าและเตือนตัวเองถึงความอัปยศ ข้าพเจ้าจะย้ำเตือนตนเองเช่นนี้ต่อไปจนกว่าความอัปยศของชาติจะถูกขจัดสิ้นโดยสมบูรณ์" นอกจากข้อยกเว้นเป็นบางครั้งแล้ว เขาบันทึกหัวข้อ "ขจัดความอัปยศของชาติ" ต่อเนื่องกันไปทุกวันจนสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2(1)



ระฆัง "อย่าลืมความอัปยศของชาติ" 
         แม้ว่าการรุกรานของญี่ปุ่นจะเป็นแผลฝังลึกในจิตใจคนจีนเพียงใด แต่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวจีนของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นกลับคล้ายเป็น "ประวัติศาสตร์ที่ถูกลืม" หากลองนึกถึง "สงครามโลกครั้งที่ 2" ภาพวาบแรกที่จะมองเห็นกันก็คือการสัประยุทธ์ระหว่างชาติมหาอำนาจตะวันตก, การเถลิงอำนาจของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในฝ่ายอักษะและเป็นมิตรประเทศกับจักรวรรดิญี่ปุ่นในขณะนั้น ความรู้ของคนไทยเกี่ยวกับสงครามโลกในฟากตะวันออกกลับด้อยกว่าในฟากตะวันตกอย่างไม่ต้องสงสัย ระบบการศึกษาที่มีอยู่คล้ายกำหนดให้ชาติตะวันตกเป็นศูนย์กลางของประวัติศาสตร์ผสานกับการกร่อนทำลายความผิดพลาดของตนเองในอดีต ถ้าแนวทางของเยอรมันหลังสงครามคือการจดจำและญี่ปุ่นเลือกที่จะเมินเฉยแล้ว ของไทยคงจะเป็นการลืม เพราะนั่นดูเหมือนจะเป็นวิธีการที่สังคมไทยถนัดที่สุด
           ถ้าหากว่า "ความอัปยศของชาติ" ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ตามความหมายของคนจีน คือการถูกญี่ปุ่นรุกรานและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ - "ความอัปยศของชาติ" สำหรับคนไทย ควรจะหมายถึงการเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นและลืมเลือนอดีตของตนเอง
        ในความเป็นจริง จะโทษคนไทยและสังคมไทยแต่เพียงฝ่ายเดียวก็คงจะไม่ยุติธรรมนัก เพราะประวัติศาสตร์ที่ถูกลืมนี้ ก็เป็นสิ่งที่ชาติตะวันตกก็มีส่วนสร้างขึ้น แม้ว่าความโหดเหี้ยมของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นไม่ได้ด้อยไปกว่ากองทัพนาซีเยอรมันในด้านใดเลย นาซีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว กองทัพญี่ปุ่นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวจีน นาซีทำการทดลองกับมนุษย์ กองทัพญี่ปุ่นมีหน่วยทดลอง Unit 731 - แต่มีสิ่งหนึ่งที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ก็คือการเอาอาชญากรสงครามมาลงโทษ แม้ว่าศาลอาชญากรสงครามนั้น จะไม่มีความยุติธรรมตามนิยามปกติในด้านใดเลย แต่ชาติตะวันตกก็ยังคงเลือกปฏิบัติ การไม่นำจักรพรรดิฮิโรฮิโตะผู้มีสถานะเช่นเดียวกับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์มาลงโทษ การเลือกละเว้นอาชญากรผู้มีส่วนร่วมในการสังหารหมู่นานกิงเพียงเพราะเป็นเชื้อพระวงศ์หรือการไม่ดำเนินคดีกับนักวิทยาศาสตร์ในหน่วยทดลอง 731 เพียงเพื่อให้ได้เงื่อนไขการเข้าถึงความลับด้านอาวุธชีวภาพและการทดลองในมนุษย์ก่อนสหภาพโซเวียต สิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนได้ดีว่าชาติตะวันตกเองก็ไม่ได้ใส่ใจคุณค่าชีวิตของชาวจีนสักเท่าใด
          กระแสตอบรับกรณีภาพวาดอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ในงานรับปริญญาของนิสิตจุฬาฯ(2) ยิ่งช่วยย้ำเติมประเด็นที่ว่าคนไทย "อิน" กับประวัติศาสตร์ตะวันตกมากกว่าเรื่องใกล้ตัว คนจำนวนมากก่นด่าถึงความ "ไม่รู้" ของนิสิตจุฬาฯ เหล่านั้น แต่พวกเขากลับลืมก้มลงมองดูตนเอง ว่าตนก็เต็มไปด้วยความ "ไม่รู้" อยู่มากมายไม่น้อยกว่ากัน ถ้าเราคาดหวังว่าความตื่นตระหนกต่อสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงความชั่วร้ายอย่างฮิตเลอร์ และสัญลักษณ์นาซีเป็นเรื่อง "โดยสามัญ" แล้ว เราควรเห็นปฏิกิริยาเช่นนี้ในกรณีการแสดงสัญลักษณ์ธงอาทิตย์อุทัยหรือไม่?
ธงกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น


1.) ธงกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น


ธงกองกำลังนาวีป้องกันตนเอง
2.) ธงกองกำลังนาวีป้องกันตนเอง
          ไม่ขอนับการที่ผู้เขียนพบเห็นได้ตามป้ายโฆษณาหรือโลโก้ของบริษัทแล้ว การแสดงสัญลักษณ์ธงอาทิตย์อุทัยก็เคยเกิดปัญหามาแล้ว เมื่อนิชคุน นักร้องชาวไทยที่มีผลงานในประเทศเกาหลีมาถ่ายโฆษณาเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มยี่ห้อหนึ่ง และในตอนหนึ่งของสื่อโฆษณาก็มีฉากหลังเป็นธงอาทิตย์อุทัย เมื่อแฟนเพลงชาวเกาหลีได้เห็นโฆษณาชิ้นนี้ จึงเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมามากมาย(3) ไม่เพียงเท่านี้ ผู้เขียนยังพบอีกว่า ระหว่างการรับน้องของสถาบันการศึกษาชั้นแนวหน้าอย่างโรงเรียนเตรียมอุดมฯ ก็มีการแสดงธงอาทิตย์อุทัย ทั้งแบบที่เป็นธงกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น และธงกองกำลังนาวีป้องกันตนเอง(ที่มีการดัดแปลงให้ดวงตะวันเคลื่อนไปทางด้านซ้ายเล็กน้อย)(4) จากกรณีตัวอย่างข้างต้นจะพบว่าไม่มีกระแสตอบรับจากสังคมไทยเลย สิ่งนี้แตกต่างจากกรณีของสัญลักษณ์นาซีเป็นอย่างยิ่ง



ภาพฉากหลังเป็นธงอาทิตย์อุทัยของโฆษณาเครื่องดื่มบำรงกำลังยี่ห้อหนึ่ง


งานรับน้องที่มีการแสดงธงอาทิตย์อุทัยของกลุ่มวิชาศิลป์ญี่ปุ่น
           บางคนอาจกล่าวว่าอดอล์ฟ ฮิตเลอร์คืออาชญากรสงครามที่เลวทรามที่สุด รู้จักฮิตเลอร์อย่างเดียวในเบื้องต้นก็ดีแล้ว คำถามก็คือว่า เราจะเอาอะไรมาเป็นมาตรวัดระดับความเลวทรามหรือ? ถ้าหากเป็นจำนวนคนที่ตายด้วยฝีมือของอาชญากรเหล่านี้ แล้วเราควรจะนับทางตรง หรือทางอ้อมดี? บางทีความเลวทรามมันก็ขึ้นกับความใกล้ชิด เหยื่อการสังหารหมู่นานกิงอาจจะคิดว่าทหารญี่ปุ่นเลวทรามที่สุดแล้วก็ได้ ในเมื่อความใกล้ชิดมีส่วนสำคัญ แล้วระหว่างญี่ปุ่นกับนาซี คนไทยควรจะใกล้ชิดและรับรู้ความเลวทรามของใครได้มากกว่ากัน?
          คำตอบคงจะเป็นนาซี เพราะในประเทศที่ครั้งหนึ่งเคยอนุญาตให้ญี่ปุ่นตั้งค่ายกักกัน และสถานีบำเรอกาม แต่กลับสามารถชื่นชมและเชิดชูวรรณกรรมที่มีพระเอกเป็นทหารญี่ปุ่นได้อย่างหน้าตาเฉย - "คู่กรรม" ถูกผลิตใหม่ในรูปแบบละคร หรือภาพยนต์ครั้งแล้วครั้งเล่า ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของเรากำลังก่นด่าการเยือนศาลเจ้ายาสิกุนิของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น
          ผู้เขียนได้ข้อสรุปที่ต่างจากคนอื่น คือสังคมไทยไม่ได้ย่ำแย่ที่ขาดความตระหนักรู้ในเรื่องความเลวทรามของนาซี เพราะเราจะเห็นคนจำนวนมากลุกขึ้นมาวิจารณ์การกระทำเหล่านั้นว่าโง่เขลาทันที แต่สังคมไทยขาดการเรียนรู้เรื่องของตนเองมากกว่า มีใครรู้บ้างว่ากองทัพญี่ปุ่นทำกิจกรรมประเภทใดในประเทศไทย? มีใครรู้บ้างว่าแถวบางกอกน้อยในอดีตมีสถานีบำเรอกามของกองทัพญี่ปุ่นที่นำเอาชาวจีนโพ้นทะเลจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเป็นทาสกาม?
         ท้ายนี้ผู้เขียนจึงได้แต่ย้ำคำจารึกบนระฆังที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ 18 กันยายนว่า "อย่าลืมความอัปยศของชาติ" การไม่ลืมนี่ไม่ใช่เพื่อจงเกลียดจงชังญี่ปุ่น แบบที่คนไทยถูกสอนให้เกลียดพม่า แต่เพื่อให้ได้บทเรียนว่า เราควรจะทำอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีก
- See more at: http://blogazine.in.th/blogs/chaiyasitdhi/post/4256#sthash.RFuhtzJO.dpuf

ข้อจำกัดของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชน

พวงทอง ภวัครพันธุ์: ข้อจำกัดของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชน

       ในขณะนี้ ฝ่ายประชาชนที่พยายามผลักดันให้มีการนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองกำลังเจอปัญหาว่าจะสนับสนุนร่างกฏหมายฉบับไหนดี ระหว่างร่างฯ ของ สส.วรชัย เหมะ และร่างฯ ฉบับประชาชน ที่เสนอโดยญาติผู้เสียชีวิตเมษา-พฤษภา 2553 ดิฉันเชื่อว่าจุดมุ่งหมายหลักของทั้งสองฉบับนี้ คือช่วยเหลือนักโทษเสื้อแดงที่ยังติดคุกมานานกว่า 3 ปี ให้ได้อิสรภาพโดยเร็ว โดยฉบับประชาชนระมัดระวังไม่ต้องการให้นายทหารระดับบังคับบัญชาและระดับล่างที่ใช้กำลังตามอำเภอใจลอยนวลไปง่าย ๆ 
        อย่างไรก็ดี บทความนี้จะจำกัดการพิจารณาว่าร่างนิรโทษกรรมฉบับประชาชนนี้ จะสามารถบรรลุเป้าหมายในการช่วยเหลือนักโทษการเมืองได้มากน้อยแค่ไหน   
ใครจะได้รับนิรโทษกรรมบ้าง
         ประเด็นสำคัญของร่างฯฉบับประชาชนมี 2 ประเด็น คือ
  • หนึ่ง ตัวหลักการของร่างที่ระบุว่า “ให้มีกฎหมายว่าด้วยนิรโทษกรรมแก่ประชาชนซึ่งได้กระทำความผิดต่อความสงบเรียบร้อยหรือต่อความมั่นคงของราชอาณาจักร อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง” นับแต่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
  • สอง มาตรา 3 (4) ระบุว่า “การกระทำใด ๆ หรือการตระเตรียมการของผู้ใด ทั้งผู้ชุมนุมและผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุม โดยมุ่งต่อการประทุษร้ายผู้อื่นโดยใช้อาวุธ ให้บุคคลนั้นยังคงมีความผิดตามกฎหมาย” และ “การกระทำใด ๆ หรือการตระเตรียมการของผู้ใด ทั้งผู้ชุมนุมและผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุม อันมุ่งต่อการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน หรือกระทำผิดต่อทรัพย์ เช่น การวางเพลิงเผาทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ลักทรัพย์ อันเป็นของเอกชน ให้บุคคลนั้นยังคงมีความผิดตามกฎหมาย” (ส่วนที่เน้นเป็นของผู้เขียน)

        คำถามคือ ข้อหาบุกรุกและเผาสถานที่ราชการ ฯลฯ เข้าข่ายความผิดต่อความมั่นคงของราชอาณาจักรหรือไม่ หรือจะถูกศาลตีความว่าเป็นคดีอาญาเท่านั้น หากในขั้นแปรญัตติสามารถโต้แย้งและระบุให้ชัดเจนว่าเข้าข่าย ก็จะเป็นการดี แต่หากปล่อยให้ศาลเป็นผู้ตีความว่าข้อหาใดบ้างที่เข้าข่าย ก็เชื่อว่าผลร้ายจะเกิดแก่นักโทษการเมืองเสื้อแดงอย่างแน่นอน
         นักโทษการเมืองมาตรา 112 เป็นกลุ่มที่เข้าข่ายความผิดต่อความมั่นคงแน่นอน แต่ก็เป็นที่ชัดเจนว่าพวกเขาจะถูกกีดกันจากพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลก็จะพากันหัวหดต่อกรณีนี้อย่างไม่ต้องสงสัย
        ปัญหาไม่ได้มีเพียงแค่นี้  คนจำนวนไม่น้อยเข้าใจผิดว่าผู้ต้องขังเสื้อแดงที่อุบลฯ และอุดรฯ มีความผิดข้อหาเผาสถานที่ราชการเท่านั้น ผู้ที่มีส่วนร่าง พรบ.ฉบับประชาชนก็ดูจะเข้าใจเช่นเดียวกัน จึงระบุให้เอาผิดเฉพาะกับผู้ที่เผาทำลายทรัพย์สินของเอกชนเท่านั้น ซึ่งเท่ากับยกเว้นการเผาทำลายสถานที่ราชการ (กระนั้นก็ตาม เรื่องการเผาสถานที่เอกชน ก็เป็นปัญหาเช่นกัน จะกล่าวถึงในภายหลัง) แต่จริงๆ แล้วพวกเขาถูกพิพากษาให้มีความผิดหลายข้อหามาก ดังข้อมูลต่อไปนี้
  • 1.     กรณีอุดรธานี – นายอาทิตย์ ทองสาย จำคุก 20 ปี, นายกิตติพงษ์ ชัยกัง จำคุก 10 ปี 3 เดือน, นายเดชา คมขำ จำคุก 20 ปี 6 เดือน, นายบัวเรียน แพงสา จำคุก 20 ปี 6 เดือน และแต่ละคนต้องชดใช้ค่าเสียหายอีกคนละตั้งแต่ 31-47.3 ล้านบาท  นอกจากข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินและวางเพลิงที่ว่าการอำเภอแล้ว ทั้ง 4 คนนี้ ยังมีความผิดฐานก่อความวุ่นวาย + บุกรุกโดยมีอาวุธ + และทำให้เสียทรัพย์ (รถดับเพลิง)

  • 2.     กรณีอุบลราชธานี - น.ส.ปัทมา มูลมิล,นายธีรวัฒน์ สัจสุวรรณ, นายสนอง เกตุสุวรรณ์, นายสมศักดิ์ ประสานทรัพย์ ทั้ง 4 คนนี้ศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิต แต่ลดให้คนละ 1 ใน 3 เหลือ 34 ปี นอกจากความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และวางเพลิงเผาศาลากลางอุบลราชธานี ศาลตัดสินให้พวกเขามีความผิดฐานก่อความวุ่นวาย + กีดขวางทางจราจร + และทำให้เสียทรัพย์ของเอกชน (ร้านค้าเอกชนในพื้นที่ศาลากลางถูกเพลิงไหม้ไปด้วย)  ต่อให้ตัดข้อหาเผาศาลากลางและ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไป นักโทษจากอุดรฯและอุบลฯ ก็อาจต้องโทษจำคุกอีกคนละหลายปี
  • 3.    กรณีนายประสงค์ มณีอินทร์ และนายโกวิทย์ แย้มประเสริฐ จำคุกคนละ 11 ปี 8 เดือน ปรับ 6,100 บาท ในฐานความผิดฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน + มีวัตถุระเบิดและเครื่องวิทยุชนิดมือถือโดยไม่ได้รับอนุญาต + พกพาวัตถุระเบิดและอาวุธต่าง ๆ + ปล้นทรัพย์
  • 4.    นายคำหล้า ชมชื่น จำคุก 10 ปี มีความผิดฐานปล้นปืน (เอ็ม 16) จากเจ้าหน้าที่ทหาร 2 กระบอก บริเวณซอยหมอเหล็ง (แท้จริงคือการรุมล้อมรถทหารที่เข้ามาบริเวณสี่แยกดินแดง มีการแย่งปืนและดึงทหารลงจากรถ)
  • 5.    นายบัณฑิต สิทธิทุม จำคุก 38 ปี มีความผิดฐานก่อการร้าย + พกพาอาวุธปืนกล + มีวัตถุระเบิด + ใช้และครอบครองเครื่องยิงจรวดจำคุก (ใช้อาร์พีจียิ่งใส่ ก.กลาโหม) + ใช้เอกสารราชการปลอม (แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ปลอม) + พกพาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้านโดยไม่มีเหตุอันควร
  • 6.    คดีผู้หญิงยิง ฮ. – คดีนี้มีจำเลย 3 คน คือ 1.นางนฤมล หรือจ๋า วรุณรุ่งโรจน์ 2. นายสุรชัย นิลโสภา 3. นายชาตรี ศรีจินดา ถูกฟ้องข้อหาร่วมกันมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด สิ่งเทียมอาวุธ และปลอมแปลงเอกสารราชการ  ศาลชั้นต้นยกฟ้องทั้งสามคน แต่อัยการอุทธรณ์จำเลยที่ 1 (นางนฤมล) ส่วนจำเลยที่ 2 เสียชีวิต และไม่อุทธรณ์จำเลยที่ 3 หากร่าง พ.ร.บ.ฯฉบับประชาชนผ่านสภา นางนฤมลก็ยังต้องถูกดำเนินคดีต่อไป
  • 7.    คดีเผาเซ็นทรัลเวิร์ล – แม้ว่าศาลชั้นต้นจะยกฟ้องนายสายชล แพบัว และนายพินิจ จันทร์ณรงค์ ไปแล้วก็ตาม แต่อัยการตัดสินใจอุทธรณ์คดีนี้ต่อไป

       จากข้อมูลบางส่วนข้างต้นนี้ ชี้ให้เห็นว่านักโทษการเมืองเสื้อแดงจำนวนมากอาจไม่ได้ประโยชน์จากร่างนิรโทษกรรมฉบับประชาชน  ต่อให้ร่างฯ นี้ผ่านสภา ก็ต้องมาไล่ดูทีละคดีว่าใครบ้างที่จะเข้าข่ายได้รับนิรโทษกรรม ซึ่งแน่นอนว่าภาระหน้าที่นี้จะตกอยู่ที่ศาล 
       อันที่จริง เจตนารมณ์ที่ต้องการแยกผู้ที่กระทำผิดจริงออกจากการนิรโทษกรรมนั้น เป็นหลักการที่ดี เราอาจไม่ต้องมีการนิรโทษกรรมใครๆ เลย หากระบบตุลาการในประเทศนี้ทำให้เราเชื่อมั่นในความยุติธรรมได้จริง แต่ที่ผ่านมาเราล้วนประจักษ์กับความพิกลพิการของกลไกความยุติธรรมกันเป็นอย่างดี จนไม่สามารถรับเอาคำตัดสินข้างต้นมาเป็นเกณฑ์ว่าใครบ้างจะได้รับนิรโทษกรรม
หมายเหตุผู้เขียน: ดูบทความที่ชี้ให้เห็นปัญหาของระบบตุลาการที่เกี่ยวข้องกับคดีคนเสื้อแดงได้ใน

        หมายเหตุประชาไท: พวงทอง ภวัครพันธุ์ได้เขียนบันทึกเพิ่มเติมลงใน เฟซบุ๊ก "ประชาไท"เห็นว่ามีเนื้อหาประเด็นที่ต่อเนื่องและชวนให้เกิดการถกเถียงต่อเนื่องกับบทความชิ้นนี้จึงได้ขออนุญาตผู้เขียนเพื่อนำมาเพิ่มเติมดังต่อไปนี้ (12.40 น. 20 กรกฎาคม 2556)
*****************************************************************


พวงทอง ภวัครพันธุ์: เรื่องการเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐ 

           ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งของร่างนิรโทษฉบับประชาชนคือ ไม่ต้องการนิรโทษกรรมให้เจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งในระดับสั่งการหรือผู้ปฏิบัติการ ที่กระทำการเกินกว่าเหตุ และ/หรือผิดกฎหมาย 
         ดิฉันมีความเห็นมาตลอดว่าผู้นำทหารที่ร่วมวางแผนและสั่งการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงจะต้องได้รับโทษทัณฑ์ด้วยเช่นกัน เพราะเห็นได้ชัดว่าเป็นปฏิบัติการทางทหารที่ผู้ร่วมวางแผนสามารถเล็งผลว่าจะเกิดความสูญเสียชีวิตแก่ผู้ชุมนุมอย่างไรบ้าง อย่างไรก็ตาม การที่ร่างฉบับนี้ใส่ข้อความว่า “หากการกระทำนั้นไม่สมควรแก่เหตุ และ/หรือเป็นความผิดตามกฎหมาย ให้บุคคลนั้นยังคงมีความผิดตามกฎหมาย” เป็นการเปิดช่องให้ตีความว่าการกระทำของผู้นำทหาร ภายใต้คำสั่งของนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ และผู้อำนวยการ ศอฉ.นายสุเทพ ถือเป็นการกระทำที่ไม่สมควรแก่เหตุ หรือเป็นความผิดตามกฎหมายอย่างไร

         ในทางกลับกัน ในขณะที่ญาติผู้เสียชีวิตมีความกริ่งเกรงว่า ร่างนิรโทษกรรมฉบับวรชัย อาจเปิดทางให้ผู้นำกองทัพได้รับประโยชน์ไปด้วย เพราะระบุไว้แต่เพียงกว้าง ๆ ว่า การนิรโทษกรรมจะ “ไม่รวมถึงการกระทำใดๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าว” ซึ่งอาจหมายถึงอภิสิทธิ์และสุเทพเท่านั้น

         ในทางกลับกัน ดิฉันกลับเห็นว่าข้อความกว้าง ๆ นี้เปิดโอกาสให้ตีความว่า “บรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ” สามารถหมายถึง ผู้นำกองทัพที่มีอำนาจในการวางแผนและตัดสินใจสั่งเคลื่อนกำลังพลได้ด้วย

         แน่นอนว่า ณ ปัจจุบัน พรรคเพื่อไทยไม่กล้าที่จะขัดแย้งกับกองทัพ จึงกันผู้นำกองทัพออกจากการดำเนินคดี แต่ในอนาคต อาจจะเป็น 10 ปีหรือ 20 ปีข้างหน้า เมื่อดุลอำนาจทางการเมืองเปลี่ยน ฝ่ายประชาธิปไตยสามารถรุกคืบทางการเมืองได้มากขึ้น กฎหมายที่ผ่านสภาแล้วนี้ จะเปิดโอกาสให้เราสามารถนำผู้นำกองทัพมารับโทษก็ได้

         แต่จะให้ดีที่สุด ในช่วงแปรญัตติวาระ 2 พรรคเพื่อไทยต้องกล้าเพิ่มข้อความว่าการนิรโทษ "ไม่รวมถึงการกระทำใด ๆ ของข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ หรือผู้นำการเมืองที่สั่งการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าว"

         การต่อสู้เพื่อคืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อของความรุนแรงโดยรัฐในหลายประเทศมักใช้เวลานาน 2-3 ทศวรรษ ในกรณีของไทย เราอาจต้องสู้กันยาวนานด้วยเช่นกัน ขอเพียงอย่าเพิ่งหมดแรงกันเสียก่อน

         สุดท้าย แม้ว่าจะเห็นได้ชัดว่าปฏิบัติการกระชับวงล้อม และขอคืนพื้นที่ เป็นการกระทำที่เกินขอบเขต และไม่เป็นไปตามขั้นตอนสลายการชุมนุมตามหลักสากล ดิฉันมีความเห็นว่าการเอาผิดกับทหารระดับปฏิบัติการที่กระทำเกินขอบเขตและนอกคำสั่งนั้น ยากมาก ดิฉันคิดว่าเราไม่มีข้อมูลที่จะเอาผิดพวกเขาได้ บวกกับทัศนะของคนในวงการยุติธรรมก็เป็นปัญหาด้วย กล่าวคือ เพียงแค่มีคำสั่งให้พวกเขาเคลื่อนกำลังพล ข้าราชการก็ถือว่าเขาได้ปฏิบัติการตามคำสั่งแล้ว แถมยังแจกกระสุนจริงให้อีก กองทัพไม่เคยอบรมหรือสั่งเขาว่า ห้ามยิงหัว ให้ยิงแต่ขาเท่านั้น กระสุนที่กราดยิงใส่ผู้ชุมนุม ก็ไม่รู้ว่ายิงออกมาจากปืนกระบอกไหนบ้าง ทหารแต่ละคนยิงไปกี่นัด จะให้ลงโทษทหารทั้งกอง แบบเหมารวม ก็เชื่อว่าจะไม่มีใครทำ

         ที่จริงหลักฐานที่ชี้ว่าทหารระดับล่างกระทำเกินกว่าเหตุก็ไม่ถึงกับไม่มีเลย เช่น ภาพถ่ายการซ้อมทรมานผู้ชุมนุมในระหว่างจับกุม ศปช.ก็มีบันทึกของพยานที่ถูกซ้อม แต่เรื่องการซ้อมทรมานผู้ต้องหานี้ ระบบตุลาการของไทย ไม่เคยให้ความสำคัญเลย ตำรวจและทหารน้อยรายมาก ๆ ที่จะถูกลงโทษเรื่องนี้ แม้แต่ในกรณีสามจังหวัดภาคใต้ ที่การซ้อมทรมานเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง จนเกิดการเสียชีวิตหลายราย แต่ก็ไม่มีการเอาผิด จนท.รัฐ อย่างมากก็จ่ายค่าชดเชยชีวิตกันไป
 เรื่องที่เกี่ยวข้อง: 

การคุ้มครองลิขสิทธิ์ในงานดัดแปลง และปัญหาเรื่องการใช้โดยชอบธรรมในสื่อออนไลน์

การคุ้มครองลิขสิทธิ์ในงานดัดแปลง และปัญหาเรื่องการใช้โดยชอบธรรมในสื่อออนไลน์



มานี มีแชร์ บทที่ ๓๗ - 
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=272782389528758


        ประเด็นแรก เราต้องมาวิเคราะห์ความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ของเพจ “มานี มีแชร์” เสียก่อน ความจริงงานสร้างสรรค์อย่างเพจ "มานีมีแชร์" ถือว่าเป็นงานลิขสิทธิ์แยกต่างหากจากแบบเรียนมานีต้นฉบับ มีการดัดแปลงคาร์แรกเตอร์ ให้เจ้าโตสวมหน้ากากขาว มีความคิดอ่านล้อเลียนฝ่ายอนุรักษ์นิยมในประเทศไทย ส่วนมานีก็เปลี่ยนนามสกุลจากเดิมที่แฝงพร๊อบพากานด้า "รักเผ่าไทย" มาเป็น "มีแชร์" รับบทสาวน้อยมือหนัก ที่อาศัยสามัญสำนึก กับเก้าอี้เป็นอาวุธ ...ฯลฯ งานประเภทนี้ในทางลิขสิทธิ์เรียกว่า "งานดัดแปลง" หรือ derivative work ซึ่งมีการใช้ความวิริยะอุตสาหะ และความคิดสร้างสรรค์ของทางฝ่ายผู้ดัดแปลงเอง จนถือสืบเนื่องมานับจากคำพิพากษาศาลคอมม่อนลอว์อังกฤษ (Court of King's Bench) คดี Millar v. Taylor (1769) ว่าถือเป็น “งานใหม่” ที่สามารถรับความคุ้มครองทางลิขสิทธิ์ได้ แต่เนื่องจากในปัจจุบันสิทธิในการให้อนุญาตดัดแปลงงานถือเป็นสิทธิทางเศรษฐกิจประการหนึ่งของเจ้าของงานต้นฉบับ ดังนั้นจึงมีข้อแม้ว่างาน derivative ที่จะมีลิขสิทธิ์เป็นของตนเองได้ จะต้องได้รับอนุญาตทำการดัดแปลงจากเจ้าของลิขสิทธิ์ต้นฉบับก่อน มิฉะนั้นจะถือว่าตกเป็นสมบัติของสาธารณะ (public domain) ยกตัวอย่างเช่น เคยมีผู้สร้างสารานุกรมออนไลน์เกี่ยวกับ Harry Potter อย่างละเอียดแต่ไม่ได้รับอนุญาตจากผู้แต่งต้นฉบับคือ J.K. Rowling เป็นผลให้ศาลอังกฤษพิพากษาว่าสารนุกรมนั้นไม่มีความคุ้มครองทางลิขสิทธิ์

       ดังนั้นเพจ "มานี มีแชร์" หรือพวกเพจ fan fiction ทั้งหลายที่เอาเรื่องจากหนังบ้าง การ์ตูนบ้าง มาแต่งดัดแปลงเพิ่มเติม แม้จะถือเป็นงานสร้างสรรค์ต่างหาก แต่ก็ไม่ได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย และไม่สามารถห้ามผู้อื่นนำไปลอกเลียนหรือใช้ประโยชน์ต่อไปได้

       ในประเด็นต่อมา หากถามต่อมาอีกว่าถ้าอย่างนั้น เพจ "มานี มีแชร์" เป็นการดัดแปลงโดยละเมิดสิทธิ์ของแบบเรียนต้นฉบับ หรือไม่ ก็ต้องบอกว่าไม่แน่ เพราะยังต้องเข้าไปพิจารณาว่าเป็นการใช้โดยชอบธรรม (fair use) หรือไม่

         หลักการ fair use โดยพื้นฐานตามกฎหมายไทยจะต้องเป็นการใช้ที่ไม่ขัดต่อประโยชน์ของเจ้าของสิทธิ์เกินสมควร ซึ่งเพจมานี มีแชร์ ก็ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ทางการค้า และไม่ได้เอาเนื้อหาหลักจากแบบเรียนต้นฉบับมาใช้ ในประเทศไทยหลักกฎหมาย fair use ไม่ถูกขยายความชัดเจนนักเพราะคดีแบบนี้มีน้อย แต่กฎหมายลิขสิทธิ์ไทยเรารับมาจากอังกฤษ ซึ่งหลักในทางคอมม่อนลอว์ ศาลจะพิจารณาการใช้โดยชอบธรรมเป็นกรณีพิเศษหากว่า การใช้นั้นเป็นการส่งเสริมการแสดงออกทางความคิด (free speech) เช่น มีเนื้อหาเกี่ยวกับการวิพากษ์ทางการเมือง (political message) หรือ มีการดัดแปลงในระดับสูง (transformative) คือไม่ได้ลอกมาตรงๆ แต่ขัดเกลาจนมีความแตกต่างที่ชัดเจนมีความคิดสร้างสรรค์เป็นของตนเอง ตัวอย่างในกรณีนี้เคยมีอยู่ ในกรณีที่นักเขียนผิวดำท่านหนึ่งเอานวนิยายอมตะ "Gone with the Wind" ของมาร์กาเรท มิชเชล มาดัดแปลงเล่าเรื่องใหม่จากมุมมองของทาสผิวดำ ว่าความเป็นอยู่อย่างชนชั้นสูงของตัวละครหลัก ล้วนเป็นเรื่องของการกดขี่เอาเปรียบทาสผิวดำ โดยในกรณีนี้ศาลอเมริกันตัดสินว่าเป็นการใช้แบบ fair use ในคดี Suntrust v. Houghton Mifflin (2001) เนื่องจากศาลถือว่า งานประพันธ์ล้อเลียนของจำเลย เป็นการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ เพราะเป็นมุมมองทางประวัติศาสตร์ผ่านสายตาของทาสผิวดำซึ่งเป็นคนส่วนน้อยและไม่มีอำนาจในสมัยนั้น

        สำหรับประเทศไทยในปัจจุบันผมมองว่าเป็นการยากที่ศาลจะถือว่า "มานี มีแชร์" เป็นการใช้ในลักษณะ fair use เพราะเหตุผลสองประการ
       ประการแรก ระบบกฎหมายลิขสิทธิของไทยถึงแม้ในเบื้องต้นจะรับมาจากอังกฤษ แต่การพัฒนาในภายหลังล้วนแต่อิงหลักเกณฑ์ของข้อตกลงการคุ้มครองลิขสิทธิ์ต่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี ได้แก่ อนุสัญญากรุงเบิร์น (ซึ่งไทยเข้าร่วมในปี พ.ศ. ๒๔๗๔ อันเป็นปีที่ประเทศไทยมีกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับแรก คือ พรบ.คุ้มครองวรรณกรรม พ.ศ. ๒๔๗๔) และข้อตกลงทริปส์ ดังนั้นหลักการ “การใช้โดยชอบธรรม” ของไทยจึงมีลักษณะผสม โดยในรูปแบบเอาหลัก “Three-Step Test” ของ อนุสัญญาเบิร์นมาบัญญัติ ซึ่งเน้นการพิจารณาความชอบธรรมโดยขึ้นอยู่กับ ปริมาณการนำเนื้องานของผู้อื่นมาใช้ โดยไม่พิจารณาถึงประเด็นประโยชน์สาธารณะ แต่ในทางปฏิบัติกลับมีการนำปรัชญา fair use ของทางคอมม่อนลอว์มาใช้อย่างเปิดเผยด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น คำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญากลาง (ศาลชั้นต้น) ซึ่งศาลได้พิพากษาว่าการร้องเพลงของผู้อื่นในร้านอาหารไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะเป็น “fair use”:
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 หมวดที่1 ส่วนที่6 ได้บัญญัติข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ ที่เรียกว่าการใช้อย่างเป็นธรรม (Fair Use) ไว้ในมาตรา32 ถึงมาตรา43 เพื่อให้ใช้ในการคานหรือดุลระหว่างสิทธิผูกขาดของเจ้าของสิทธิกับสิทธิสาธารณะข้างต้น การบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญารวมทั้งกฎหมายลิขสิทธิ์ให้มีความสมดุล และให้  สอดคล้องกับมาตรฐานสากลนั้น ต้องมีการชั่งระหว่างประโยชน์ของเจ้าของสิทธิและประโยชน์ของสาธารณะเสมอ และไม่สามารถปรับใช้กฎหมายโดยคำนึงแต่เพียงด้านของประโยชน์เจ้าของสิทธิฝ่ายเดียว (คดีหมายเลขแดงที่ อ 5210/2547)
         ความไม่ชัดเจนดังกล่าวในกฎหมายลิขสิทธิ์ไทย ทำให้คาดเดาได้ยากว่าศาลจะใช้ทฤษฎีไหนมาปรับใช้กับเรื่องข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ บางทีอาจเป็นเพราะผู้พิพากษาหลายท่าน แม้จะมีความรู้ทางกฎหมายลิขสิทธิ์ แต่ไม่มีความลึกซึ้งทางวิชาการพอที่จะแยกความแตกต่างของหลักการใช้โดยชอบธรรมทั้งสองระบบ
         เหตุผลอีกประการหนึ่ง คือ ถึงแม้ศาลไทยจะยอมรับหลักการ fair use ของคอมม่อนลอว์ แต่ฝ่ายตุลาการไทยในปัจจุบัน ถึงจะใช้ปรัชญากฎหมายคอมม่อนลอว์ กลับมีแนวโน้มที่จะมองเรื่องการวิพากษ์ทางการเมือง (ตามมุมมองอนุรักษ์นิยม) ว่าเป็นเรื่องต้องห้าม แทนที่จะมองว่าเป็นการส่งเสริมเสรีภาพทางความคิด เช่น อาจอ้างว่าการวิพากษ์ทางการเมืองในลักษณะล้อเลียนหน้ากากขาว เป็นเรื่องที่อาจนำความขัดแย้งมาสู่สังคม ฯลฯ การตีความเช่นนี้ ทำให้กฎหมายลิขสิทธิ์ต้องสูญเสียบทบาทที่จะนำไปสู่การคิดดัดแปลงและ สร้างสรรค์งานใหม่ๆ ในฐานะที่เป็น "Engine of free expression" ในสังคมสมัยใหม่

โดยสรุป ตามมุมมองวิชาการ "มานี มีแชร์" ถือเป็นการใช้ในลักษณะ fair use ตามกฎหมายลิขสิทธิ์ แต่ถ้ามีคดีขึ้นศาลไทยตอนนี้ ฟันธงว่าศาลจะปฏิเสธข้อต่อสู้ในเรื่อง fair use
 หมายเหตุ: เมธยา ศิริจิตร ผู้เขียนบทความ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิยาลัยนเรศวร

V for Thailand ลงบทความ "ประเทศไทย 2570" ถามจะเอาแบบนี้ไหม ?

V for Thailand ลงบทความ "ประเทศไทย 2570" ถามจะเอาแบบนี้ไหม?

       เพจ V for Thailand จำลองภาพสังคมไทยปี 2570 อยู่ในภาวะวิกฤตข้าวยากหมากแพง คนไทยหนีภัยสงครามกลางเมืองและหนี้สินที่รัฐบาลก่อไปอยู่ต่างประเทศกันหมด คนที่เหลือต้องทำงานรับจ้างเจ้านายชาวพม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม ฯลฯ และถามด้วยว่า "จะเอาแบบนี้ไหม?" พร้อมนัดหมาย 21 ก.ค. นี้ที่ บ่ายโมง ที่เซ็นทรัลเวิลด์
 
        เมื่อวานนี้ (19 ก.ค.) เพจ V for Thailand ซึ่งเป็นศูนย์รวมของผู้ชุมนุมหน้ากากกายฟอว์กส์ ได้โพสต์บทความและขึ้นต้นว่า "ประเทศไทย 2570 กรุณาอ่านให้จบ แล้วตอบด้วยว่าจะเอาแบบนี้ไหม" จำลองภาพสังคมไทยปี 2570 ในสภาพวิกฤต โดยมีรายละเอียดดังนี้
"ประเทศไทย 2570 กรุณาอ่านให้จบ แล้วตอบด้วยว่าจะเอาแบบนี้ใหม
03.00 เสียงนาฬิกาปลุกดังขึ้น สมศรี ตื่นขึ้นมาอย่างงัวเงียหลังจากที่เธอเพิ่งได้หลับตามาเพียง 3 ชั่วโมงกว่าๆ เธอปลุก ลูกๆและสามีให้รีบตื่นขึ้นมา และเตรียมตัวออกจากบ้าน
03.20 สมศรี สาละวนกับอาหารของทุกๆ คน ที่ต้องทานเช้า และมื้อเที่ยง เพราะว่าอาหารข้างนอกราคาแพงมาก ก๋วยเตี๋ยวจานหนึ่ง ราคา 200 บาท เกินความสามารถที่พนักงานเงินเดือน 50,000 บาทอย่างเธอจะสามารถซื้อทานได้
03.50 ทุกคนพร้อมที่จะออกเดินทาง ลูกๆ เดินทางโดยรถโรงเรียน ส่วนสมศรีกับสามีนั้นเดินทางโดยรถประจำทาง ทุกๆวันเธอจะต้องรอส่งลูกๆ ให้ขึ้นรถโรงเรียนให้เรียบร้อยเพราะว่า โจรโขมยเด็กนั้นเยอะมากในภาวะเศรษฐกิจที่เลวร้ายเช่นนี้
04.00 สมศรีและสามีขึ้นรถประจำทางจากแฟลตเล็กๆ ชานเมือง ถึงแม้ว่าระยะทางจะไม่ใกลเพียง 10 กม. จากบ้าน แต่เนื่องด้วยนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาลเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วทำให้รถติดมหาศาลใช้เวลากว่า 3 ชม. ในการเดินทาง และที่สำคัญ เงินเดือนเช่นเธอ ไม่สามารถขึ้นรถไฟฟ้าได้เพราะว่า แพงเกินไป
07.00 สมศรีถึงที่ทำงาน เธอเตรียมทำความสะอาดที่ทำงาน เตรียมห้องประชุมให้กับนายชาวต่างประเทศ
08.00 สมศรีถูกเจ้านายชาวเขมร ใช้ไปซื้อกาแฟยี่ห้อดัง ตัวเธอก็หวังว่าวันหนึ่งเธอจะต้องเก็บตังซื้อกาแฟยี่ห้อนี้ทานให้ได้
10.00 เธอพักเบรกประจำชั่วโมงแต่ไม่วาย เจอผู้จักการฝ่ายบัญชี ชาวเวียดนาม ใช้ให้ไปถ่ายเอกสาร
12.00 เป็นเวลาที่เธอมีความสุขมากๆ เพราะเธอจะได้พบปะกับบรรดา เพื่อนๆ ชาวไทยด้วยกัน ซึ่งในออฟฟิศเธอก็มีหลายคน ที่ยังก้มหน้าก้มตาทำงานอยู่ (ส่วนใหญ่ในกรุงเทพจะเป็นชาวต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ลาว เขมร เวียดนาม พม่า เป็นต้น ส่วนชาวไทยแท้ๆ นั้นหนีภัยสงครามกลางเมือง ไปเป็นผู้ลี้ภัยต่างประเทศ แทบหมดประเทศเพราะรับไม่ได้กับนโยบาย จ่ายภาษี 70% เพื่อเอาไปชำระหนี้ก้อนมหาศาลที่รัฐบาลในอดีตก่อไว้)
18.00 สมศรีเลิกงาน แต่เธอก็ยังต้องรับจ้าง ทำความสะอากบ้านให้กับชาวพม่าที่อยู่ในย่านคนรวย ซึ่งสมศรีเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่เป็นคนไทยและได้รับสิทธิ์เข้าไปในเขตนี้ เพื่อหารายได้เสริมให้กับครอบครัว
20.00 สมศรีต้องฝ่าการจราจรแสนสาหัส เพื่อที่จะกลับบ้านให้ทันก่อน 23.00 เพราะเธอต้องรับลูกทั้งสองคนจากรถโรงเรียน
23.30 ทุกคนพร้อมหน้ากันอีกครั้งพร้อมรับประทานอาหารเย็น
24.00 ถึงเวลานอน ราตรีสวัสดิ์ ประเทศไทย"
นอกจากนี้ เพจ V for Thailand ได้นัดหมายผู้สนับสนุนให้มารวมกันที่เซ็นทรัลเวิลด์ ในวันอาทิตย์ที่ 21 ก.ค. นี้ เวลา 13.00 น. ด้วย

ปชป.ยันไม่ได้สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชน

ปชป.ยันไม่ได้สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชน

         พรรคประชาธิปัตย์ยืนยันพรรคไม่ได้สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับประชาชน เชื่อไม่ได้รับการพิจารณาในสมัยประชุมนี้ พร้อมเรียกร้องรัฐบาลแถลงผลงานรัฐบาล 1 ปีแรกและแถลงผลงานรัฐบาลปีที่ 2 ทันทีที่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 57 ผ่านสภาฯ

 
        20 ก.ค. 56 - สำนักข่าวไทยรายงานว่านายชวนนท์ อินทรโกมาลสุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่าขณะนี้มีความพยายามบิดเบือนว่าพรรคประชาธิปัตย์ผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับประชาชน ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด เพราะจุดยืนของพรรคตั้งแต่แรก คือ นิรโทษกรรมตามฐานความผิด นอกจากนี้ บุคคลใดที่มีพฤติกรรมมุ่งร้ายทรัพย์สิน คุกคามประชาชน เผาสถานที่ราชการและเอกชน รวมถึงผู้กระทำความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จะต้องไม่ได้รับการนิรโทษกรรม

 
         “การเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ สุดท้ายร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะไม่ได้รับการพิจารณา เพราะเชื่อว่าผู้มีอำนาจตัวจริงของพรรคเพื่อไทย ต้องผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศวงเงิน 2 ล้านล้านบาทให้ได้รับการพิจารณาก่อน” นายชวนนนท์ กล่าว

 
          ด้าน นายณัฏฐ์ บรรทัดฐาน รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์  เรียกร้องรัฐบาลให้มีความชัดเจนว่า การเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยนี้ จะมีวาระพิจารณาเรื่องใดบ้าง หากยังไม่พิจารณาขอแนะนำว่าให้รัฐบาลแถลงผลงานรัฐบาลในรอบ 1 ปีแรกก่อน เพราะจนถึงขณะนี้จะครบ 2 ปี ของการทำงานรัฐบาลแล้ว ทั้งนี้ หลังสภาฯ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ  พ.ศ.2557 รัฐบาลควรแถลงผลงานรัฐบาลปีที่ 2 ทันที จากนั้น จึงค่อยพิจารณากฎหมายอื่นๆ ต่อไป โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ควรพิจารณาทีหลัง เพราะถือเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน


เปิดตัว! ‘กองทัพ ปชช.โค่นระบอบทักษิณ’

เปิดตัวอีก! ‘กองทัพ ปชช.โค่นระบอบทักษิณ’ ร้อง 6 ข้อ เตรียมชุมนุม 4 ส.ค.นี้

        ‘กองทัพ ปชช.โค่นระบอบทักษิณ’ ร้อง 6 ข้อ รบ. แสดงจุดยืนจงรักภัคดีต่อสถาบันฯ ยิ่งลักษณ์-ยุทธศักดิ์ ออกจาก รมว.กลาโหม แก้ปัญหาข้าวยากหมากแพง ยุติโคงการเงินกู้ ถอน ร่าง พรบ.ปรองดอง เอาผิดกับผู้ทุจริตนำข้าว เตรียมชุมนุม 4 ส.ค.นี้
เสนาธิการร่วมของกองทัพประชาชน โค่นระบอบทักษิณ ภาพจากเฟซบุ๊ก กองทัพประชาชน โค่นระบอบทักษิณ
        20 ก.ค.56 ที่ สนามม้านางเลิ้ง กองทัพประชาชน โค่นระบอบทักษิณ ได้เปิดตัวคณะเสนาธิการร่วม ประกอบด้วย พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ อดีตแกนนำกลุ่มเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ รักษาแผ่นดิน พล.ร.อ.ชัย สุวรรณภาพ อดีตประธานองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) พล.อ.ชูเกียรติ ตันสุวัจน์ อดีตนายทหารคนสนิทพล.ต.มนูญกฤต รูปขจร พล.อ.ท.วัชระ ฤทธาคนี อดีตโฆษกอพส. และนายพิเชฐ พัฒนโชติ อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รุ่นที่ 2 โดยมีนายไทกร พลสุวรรณ อดีตแกนนำขบวนการอีสานกู้ชาติ ทำหน้าประสานงานองค์กรกลุ่มเครือข่าย และพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อกำหนดแนวทางการเคลื่อนไหวมวลชน
พ.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ บนเวทีพันธมิตรยึดทำเนียบ
         โดยได้ออก แถลงการณ์ ฉบับที่ 1 กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ ระบุว่า สถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบันอยู่ในภาวะวิกฤติ อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ถูกครอบงำด้วยอำนาจชั่วช้าสามานย์ ของระบอบทักษิณที่มีพฤติกรรมไม่จงรักภักดี เหิมเกริม กระทำการอันไม่เหมาะสม จาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยนักโทษหนีคุกทักษิณ ชินวัตร อีกทั้งบงการให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ทำการแทรกแซง บ่อนทำลายผู้นำเหล่าทัพให้แตกความสามัคคี ย่ำยีกองทัพ ย่ำยีหัวใจของคนไทยทั้งชาติอย่างรุนแรงที่สุด รัฐบาลนี้ปล่อยให้มีการทุจริตคอร์รัปชั่นโกงกินบ้านเมือง ทำให้ประเทศสูญเงินไปกับนโยบายประชานิยมในโครงการจำนำข้าวหลายแสนล้านบาท เมื่อข้าราชการผู้ทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของชาติได้ตรวจพบการทุจริต รัฐบาลกลับใช้อำนาจกลั่นแกล้ง ด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน กระทำการข่มเหงอย่างไม่เป็นธรรม
         รัฐบาลหุ่นเชิดระบอบทักษิณ บริหารประเทศผิดพลาด ล้มเหลว จนเกิดภาวะข้าวยากหมากแพง สินค้าและบริการสูงขึ้นเท่าตัว โดยเฉพาะราคาน้ำมันและแก๊สหุงต้ม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของระบบเศรษฐกิจ สร้างความเดือดร้อนแก่พี่น้องประชาชนอย่างแสนสาหัส รัฐบาลไม่สนใจที่จะแก้ปัญหาปากท้อง กลับมุ่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ ออกกฎหมายที่จะทำให้นักโทษชายทักษิณ ชินวัตร ฟอกโทษพ้นผิด รัฐบาลนี้ กู้เงินอย่างมหาศาล ก่อหนี้ผูกพันชั่วลูกชั่วหลาน ในโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท โดยไม่มีรายละเอียดที่โปร่งใส ไม่ดำเนินการประชาพิจารณ์ และศึกษาผลกระทบตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งศาลปกครองได้วินิจฉัยให้ชะลอโครงการไปแล้ว แต่รัฐบาลยังเดินหน้าก่อหนี้อย่างไม่เกรงกลัว นอกจากนั้นแล้วยังออก พรบ. กู้เงินเพื่อพัฒนาระบบขนส่งทั่วประเทศ 2.2 ล้านล้านบาท ที่ทำการยักย้ายถ่ายเท ไม่เข้าสู่ระบบงบประมาณรายจ่ายประจำปี อันส่อว่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2550 และยังมีอีกสารพัดปัญหาทำให้แผ่นดินร้อนเป็นไฟ ผู้คนในชาติแตกความสามัคคี อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติ
แถลงการระบุด้วยว่า “กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ” มีภาระกิจ
  • 1. เป็นศูนย์กลางการประสานงาน องค์กร กลุ่ม เครือข่าย พรรคการเมืองต่างๆ ที่มีเป้าหมายร่วมกันในการโค่นระบอบทักษิณให้สิ้นซากไปจากแผ่นดินไทย
  • 2. จัดตั้งและขยายมวลชนผู้รักชาติ รักสถาบันพระมหากษัตริย์ รักประชาธิปไตย หวงแหนแผ่นดิน ให้สามัคคีรวมตัวกันมากขึ้น เป็นมวลมหาประชาชนในทุกจังหวัด
  • 3. จัดตั้งกองกำลังปกป้องประชาชนในทุกจังหวัด

พร้อมด้วยข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล 6 ข้อ ประกอบด้วย
  • 1. ให้รัฐบาลแสดงจุดยืนในความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยการหยุดการกระทำอันไม่ควร การจาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ของนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร
  • 2. ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ลาออกจากรัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม โดยทันที
  • 3. ให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาข้าวยากหมากแพง ด้วยการยุติการขึ้นราคาแก๊สหุงต้ม และลดราคาน้ำมันทุกประเภท ด้วยการดำเนินการให้ ปตท.หยุดค้ากำไรเกินควรเอาเปรียบประชาชน และปฏิรูป ปตท. ให้กลับมาเป็นของประชาชน โดยทันที
  • 4. ให้รัฐบาลยุติโครงการกู้เงินบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และ พรบ.กู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งเห็นชัดแล้วว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2550
  • 5. ให้รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎร ถอนร่าง พรบ.ปรองดอง และ พรบ.นิรโทษกรรม ทุกฉบับที่เสนอเพื่อล้างผิด ฟอกโทษต่อนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร
  • 6. ให้รัฐบาลดำเนินการเอาผิดกับผู้ทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวในทุกขั้นตอน ยกเลิกการตั้งกรรมการสอบสวน น.ส.สุภา ปิยะจิต รองปลัดกระทรวงการคลัง รวมทั้งคืนตำแหน่งให้นายถวิล เปลี่ยนศรี ตามคำสั่งศาล โดยทันที

           พร้อมทั้งกำชับด้วยว่าให้รัฐบาลดำเนินการตามข้อเรียกร้องภายใน 7 วัน หากไม่ดำเนินการใดๆ หรือบ่ายเบี่ยง ซื้อเวลา กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ จะดำเนินการนัดชุมนุมโดยสันติแสดงสิทธิตามรัฐธรรมนูญและแสดงพลังในวันที่ 4 ส.ค.นี้ เพื่อให้รัฐบาลดำเนินการตามข้อเรียกร้องทั้ง 6 ข้อ ต่อไป

สะดุด พ.ร.บ. ปรองดอง + นิรโทษกรรม

สะดุด พ.ร.บ. ปรองดอง + นิรโทษกรรม

         สำรวจนโยบายอ่อนไหวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่เจอทั้งแรงต้านต่อตัวนโยบายเอง และแรงตรวจสอบที่เข้มข้นทั้งเรื่องงบประมาณ ผลประโยชน์ทับซ้อน และกระบวนการบริหารเริ่มด้วยนโยบายนิรโทษกรรม ที่ถึงวันนี้เจอแรงเสียดทานในฝั่งเดียวกันเข้าเต็มๆ

          การเมืองเป็นเรื่องกระแส แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ทานกระแสต้านและการจุดประด็นสารพัดมาโจมตีตั้งแต่วันแรกที่เธอเป็นแคนดิเดตนายกจนถึงวันนี้สองปีกว่า ก็นับว่าน่าทึ่งไม่น้อย

         อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบันขณะ จะบอกว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์กำลังเจอหมัดหนักรัวๆ จนอาจจะเมาหมัดเข้าแล้วเบาๆ ก็อาจจะไม่ผิดความจริงนัก และในบรรดาหมัดที่รัวอยู่นี้ หมัดไหนจะเด็ดเป็นหมัดน็อก หมัดไหนปล่อยออกมาชกลมจนคนชกล้มคว่ำลงไปบ้าง ก็น่ามาพิจารณากัน

        ประชาไทรวบรวมประเด็นที่สำคัญในระดับนโยบายของรัฐบาลซึ่งถูกจับตาขยับไปทางไหนก็ติดขัด ทั้งแรงต้านต่อตัวนโยบายเอง และแรงตรวจสอบที่เข้มข้นทั้งเรื่องงบประมาณ ผลประโยชน์ทับซ้อน และกระบวนการบริหาร

        ประเดิมเรื่องแรกที่กำลังเป็นประเด็นของทางฝั่งรัฐบาลเองและมวลชนที่หนุนรัฐบาล ก็เห็นจะได้แก่เรื่อง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมและพ.ร.บ. ปรองดองแห่งชาติ โดยในขณะนี้ มีร่างพ.ร.บ. ปรองดองรอการพิจารณาอยู่ในรัฐสภาแล้ว 5 ฉบับ ได้แก่


  • 1. ร่างพ.ร.บ. ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ฉบับสนธิ บุญยรัตกลิน ที่เป็นเหตุให้การประชุมสภาเมื่อปลายเดือนพ.ค. เกิดความชุลมุนวุ่นวายทั้งในสภาและนอกสภา ร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้นิรโทษแก่กรรมผู้ชุมนุม ผู้สั่งการ เจ้าหน้าที่รัฐระดับปฏิบัติการ ตั้งแต่เหตุการณ์ทางการเมืองปี 2548 ถึงปี 2554 นอกจากนี้ยังเลิกความผิดแก่ผู้ถูกดำเนินทางการเมืองตามประกาศของคปค. และคืนสิทธิทางการเมืองแก่ส.ส. ที่ถูกตัดสิทธิจากการยุบพรรค 
  • 2. ร่างพ.ร.บ. ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ฉบับณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นิรโทษกรรมผู้ที่ชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2548 ถึง 2554 รวมถึงผู้ออกคำสั่ง เจ้าหน้าที่รัฐระดับปฏิบัติการ แต่ไม่นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานการก่อการร้ายและความผิดต่อชีวิต ไม่ว่าจะแกนนำหรือผู้ชุมนุม นอกจากนี้ยังเลิกความผิดแก่ผู้ถูกดำเนินทางการเมืองตามประกาศของคปค. และคืนสิทธิทางการเมืองแก่ส.ส. ที่ถูกตัดสิทธิจากการยุบพรรค  
  • 3. ร่างพ.ร.บ. ปรองดอง ฉบับที่เสนอโดยสามารถ แก้วมีชัย ให้นิรโทษกรรมผู้ที่ได้รับความผิดจากการชุมนุมทางการเมือง ระหว่างปี 2548 ถึง 2554 รวมถึงผู้ออกคำสั่ง เจ้าหน้าที่รัฐระดับปฏิบัติการ และยกเลิกความผิดแก่ผู้ถูกดำเนินทางการเมืองตามประกาศของคปค. และคืนสิทธิทางการเมืองแก่ส.ส. ที่ถูกตัดสิทธิจากการยุบพรรค  
  • 4. ร่างพ.ร.บ. ปรองดอง ฉบับที่เสนอโดยนิยม วรปัญญา นิรโทษกรรมผู้ได้รับความผิดจากการชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2549 จนถึงวันที่ร่างพ.ร.บ. ประกาศใช้ รวมถึงผู้ออกคำสั่ง เจ้าหน้าที่รัฐระดับปฏิบัติการ และยกเลิกความผิดแก่ผู้ถูกดำเนินทางการเมืองตามประกาศของคปค. และคืนสิทธิทางการเมืองแก่ส.ส. ที่ถูกตัดสิทธิจากการยุบพรรค สิ่งที่ระบุเพิ่มมาจากร่างอื่นๆ คือนิรโทษกรรมการรัฐประหารโดยคปค. เมื่อปี 2549 ด้วย  
  • 5. ร่างพ.ร.บ. ปรองดอง ฉบับร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง นิรโทษกรรมผู้ได้รับความผิดจากการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2549 จนถึงวันที่ร่างพ.ร.บ.ประกาศใช้ รวมถึงผู้ออกคำสั่ง เจ้าหน้าที่รัฐระดับปฏิบัติการ และยกเลิกความผิดแก่ผู้ถูกดำเนินทางการเมืองตามประกาศของคปค. และคืนสิทธิทางการเมืองแก่ส.ส. ที่ถูกตัดสิทธิจากการยุบพรรค  
  • ส่วนร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรมอีก 2 ฉบับที่รอการพิจารณาของสภา ได้แก่ ร่างพ.ร.บ. ปรองดองที่เสนอโดยวรชัย เหมะ และอีก 42 ส.ส. เพื่อไทย ซึ่งนิรโทษกรรมผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่รัฐ ยกเว้นแกนนำหรือผู้ที่ออกคำสั่งในการสลายการชุมนุม และร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรมที่เสนอโดยนิยม วรปัญญา ส.ส. พรรคเพื่อไทย มีเนื้อหาคล้ายกับร่างของวรชัย เหมะ
         ความพยายามผลักดันร่างของสนธิ บุญยรัตกลิน และเฉลิม อยู่บำรุง เป็นชนวนให้กลุ่มต่อต้านรัฐบาลหลายกลุ่มออกมาชุมนุม ตั้งแต่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ออกมาชุมนุมในช่วงเดือนพ.ค. ไปจนถึงกลุ่มเสื้อหลากสี นำโดยนพ. ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ และล่าสุดการชุมนุมของกลุ่มหน้ากากขาวที่เริ่มชุมนุมจากในกรุงเทพฯ ที่ประมาณการณ์ว่ามีผู้เข้าร่วมมากที่สุด 3,000 คน และพยายามขยายการชุมนุมออกไปยังต่างจังหวัด

        ถึงแม้ว่าร่างพ.ร.บ. ปรองดอง ฉบับของ ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง ที่นิรโทษกรรมเหมาเข่ง จะก่อให้เกิดแรงต้านอย่างสูง ไม่ว่าจะจากฝั่งคนเสื้อแดงเองหรือฝ่ายพันธมิตรฯ และพรรคประชาธิปัตย์ แต่พรรคเพื่อไทยก็ยังยืนยันว่ามีมติสนับสนุนเพียงร่างของส.ส. วรชัย เหมะ ซึ่งนิรโทษกรรมให้กับประชาชนทุกสีทุกฝ่าย ยกเว้นแกนนำและผู้สั่งการ ซึ่งวรชัยระบุว่าน่าจะสามารถลดแรงต้านได้มากที่สุดแล้ว อย่างไรก็ตาม ก็ยังหนีไม่พ้นข้อกังวลของหลายฝ่ายว่า ร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรมฉบับวรชัย จะถูกเอาไปหมดเม็ดรวมกับร่างพ.ร.บ. ปรองดอง ถูกแก้ไขร่างในขั้นตอนแปรบัญญัติเพื่อเปลี่ยนจุดประสงค์ไปจากเดิม  

ผลักร่างฉบับญาติผู้สูญเสีย ไม่นิรโทษให้การกระทำเกินกว่าเหตุ


          นอกจากร่างนิรโทษกรรมและปรองดองที่กล่าวมาข้างต้น ยังมีอีกร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรมอีกฉบับที่ร่างขึ้นโดยญาติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเมื่อ เม.ย.-พ.ค. 53 นำโดยแม่น้องเกด พะเยาว์ อัคฮาด และพ่อน้องเฌอ สมาพันธ์ ศรีเทพ โดยมีลักษณะคล้ายกับร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยนิรโทษกรรมและการขจัดความขัดแย้งของคณะนิติราษฎร์ ตรงกับมาตรา 291/1, 291/2, 291/3 ที่ระบุให้นิรโทษกรรมการกระทำผิดจากการฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน, พ.ร.บ. ความมั่นคง และการกระทำที่ไม่ได้ร่วมชุมนุมแต่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองหลังการรัฐประหาร 2549

           สาเหตุที่กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมอีกฉบับขึ้นมา เนื่องจากระบุว่า ร่างของวรชัยยังมีความคลุมเครือเรื่องการปฎิบัติการทางทหาร ว่าจะได้การนิรโทษกรรมด้วยหรือไม่ ประกอบกับคำให้สัมภาษณ์ของวรชัย ยิ่งยืนยันว่าร่างดังกล่าวตั้งใจจะนิรโทษเจ้าหน้าที่ทหารทั้งหมด ทำให้กลุ่มญาติไม่เห็นด้วยและผลักดันร่างฉบับของตนเองออกมา

          ร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรมของกลุ่มญาติฯ มีใจความหลักๆ คือนิรโทษกรรมผู้มีความผิดจากการชุมนุมหลังการรัฐประหารปี 2549 เป็นต้นมา โดยเป็นความผิดที่เกิดจากการฝ่าฝืนพ.ร.บ. ความมั่นคงและพ.ร.ก.ฉุกเฉิน  และการกระทำที่อาจไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม แต่เป็นความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร อันผู้กระทำได้กระทำไปโดยมีความเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์การทางการเมือง  และนิรโทษกรรมให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการที่ไม่ได้กระทำเกินกว่าเหตุ

        ร่างพ.ร.บ. ของญาตินี้ ระบุไม่นิรโทษกรรมให้แก่ผู้สั่งการ หรือทหารที่ทำเกินกว่าเหตุ ไม่นิรโทษกรรมให้กับประชาชนที่วางเพลิงเผาทำลาย หรือปล้นทรัพย์ทรัพย์สินเอกชน และการกระทำที่ก่อให้เกิดภยันตรายต่อชีวิตประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ

         ประเด็นที่สำคัญของร่างนี้ที่กำลังเป็นถกเถียงกันมาก คือสองประเด็นหลักสำคัญ เรื่องแรก คือการระบุว่าจะไม่นิรโทษกรรมผู้สั่งการ และเจ้าหน้าที่รัฐระดับปฏิบัติการที่ทำเกินกว่าเหตุ (มาตรา 4 วรรค 2) ว่าหากระบุไว้เช่นนี้ การอ้างเรื่องการออกคำสั่งของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่อ้างว่าเป็นไปตามหลักสากล จะสามารถพิสูจน์ได้มากน้อยเพียงใดว่าเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ และทหารระดับปฏิบัติการ ที่มีพ.ร.ก. ฉุกเฉิน และพ.ร.บ. ความมั่นคงมีความคุ้มครองเรื่องการเอาผิด จะสามารถถูกพิสูจน์ได้ตามกระบวนการยุติธรรมได้มากแค่ไหนว่าเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ

        ประเด็นที่สอง คือ มาตรา 3 (4) ที่ไม่นิรโทษกรรมการกระทำหรือการตระเตรียม ทั้งผู้ชุมนุมและผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุม ที่มุ่งต่อการประทุษร้ายผู้อื่นโดยใช้อาวุธ และการกระทำที่มุ่งก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน และการกระทำผิดต่อทรัพย์ เช่น การวางเพลิง ปล้นทรัพย์ ลักทรัพย์อันเป็นของเอกชน
หากพิจารณาตามเงื่อนไขดังกล่าว ผู้ต้องขังที่ถูกตัดสินจำคุกจากเหตุการณ์ปี 53 และเหตุการณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองหลังรัฐประหาร 25 คน (ข้อมูลเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. จากศปช. และไม่รวมผู้ต้องขังคดีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112) อาจมีผู้เข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรมเพียง 3 คนเท่านั้น ได้แก่คดีมั่วสุมก่อให้เกิดความวุ่นวาย, ขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และกรรโชกทรัพย์ เพราะนักโทษนอกเหนือจากนั้น จะมีคดีจากพ.ร.บ. อาวุธปืนฯ, ปล้นทรัพย์, มีอาวุธและเครื่องกระสุน, มีวัตถุระเบิด (ระเบิดปิงปอง) ไว้ครอบครอง ซึ่งอาจเข้าข่ายมาตรา 3 (4) ซึ่งยกเว้นการนิรโทษกรรม
หากพิจารณาจากความผิดต่อทรัพย์สินเอกชน ในขณะนี้มีผู้ถูกตัดสินจำคุกจากการวางเพลิงเผาทรัพย์ธนาคารกรุงเทพ สาขาพระโขนง 1 ราย ก็จะไม่ได้รับการนิรโทษกรรม และจากคดีวางเพลิงเผาทรัพย์ศาลากลางที่จ.อุดรธานีและอุบลราชธานีอีก 4 ราย แม้ควรจะได้นิรโทษกรรมเนื่องจากเป็นการวางเพลิงเผาทรัพย์สินราชการ แต่สำหรับผู้ต้องขังในจ.อุบลธานี 2 ราย อาจได้รับนิรโทษกรรมในข้อหาทำลายทรัพย์สินราชการ แต่ยังคงได้รับโทษจากข้อหาวางเพลิงทรัพย์สินเอกชน เนื่องจากมีการเผาทรัพย์สินเอกชนรวมอยู่ด้วย (ร้านกาแฟและรถตู้บริเวณใกล้เคียงกับศาลากลางจังหวัด 1 คัน)

         จากกรณีที่กล่าวมาข้างต้น หากพิจารณาตามร่างของญาติฯ นักโทษที่ติดคุกจากเหตุการณ์การชุมนุมและที่เกี่ยวข้อง จะมีโอกาสได้รับนิรโทษกรรม ก็ต่อเมื่อมีการพิจารณาเป็นรายๆ ไปว่า การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดต่อความมั่นคง ที่ทำไปโดยมีความเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์การทางการเมือง ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดกับพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ

ผู้ต้องขัง ม.112 ยังไม่ชัดได้รับนิรโทษหรือไม่

        อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ. นิรโทษกรรมและปรองดองที่กล่าวมาข้างต้น ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการนิรโทษกรรมผู้ที่ถูกตัดสินว่าผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เนื่องจากต้องขึ้นอยู่กับการตีความของศาลว่านับว่าเป็นการแสดงออกหรือการกระทำที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองหรือไม่ และรัฐบาลเองก็อาจจะเลี่ยงนิรโทษกรรมผู้ต้องขังในคดี ม.112 เนื่องจากอาจเป็นเหตุให้เกิดกระแสต่อต้านสูง จนอาจไม่สามารถออกกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับใดได้เลย

         ล่าสุดนายวรชัย เหมะ ก็ย้ำว่า จะพยายามผลักดันให้พรรคเพื่อไทยบรรจุร่างนิรโทษกรรมให้พิจารณาในที่ประชุมรัฐสภาสมัยสามัญเป็นวาระแรก ก่อนการพิจารณางบประมาณรายจ่ายปี 2557 หรือพ.ร.บ. กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อเอาใจมวลชนคนเสื้อแดง ในขณะที่ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมของญาติ ไม่ได้รับการตอบรับที่ดีนักจากส.ส. เพื่อไทย (อ่านข่าว 'จตุพร' เล็งกล่อม 'แม่น้องเกด' ยุติเสนอร่างก.ม.นิรโทษฯ) แต่พรรคประชาธิปัตย์ กลับออกมาสนับสนุนร่างของญาติ โดยระบุว่ามีแนวคิดสอดคล้องกับแนวคิดพรรคประชาธิปัตย์ และเชื่อว่าจะนำไปสู่การปรองดองได้

           แม้เนื้อหาร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรมของญาติฯ จะยังมิได้เป็นร่างสุดท้าย เนื่องจากยังอยู่ในขั้นตอนรับฟังความคิดเห็น ก่อนที่จะยื่นให้กับรัฐสภา แต่การพยายามผลักดันร่างนี้ออกมา อาจเป็นการสะท้อนความไม่พอใจและไม่ไว้วางใจของคนเสื้อแดงที่มีต่อรัฐบาลและนปช. ว่ามีความจริงใจเพียงใดในการเอาผิดทั้งผู้สั่งการ เจ้าหน้าที่ทหาร รวมถึงการค้นหาความจริงในเหตุการณ์ 2553 และปล่อยตัวนักโทษในคดีการเมืองออกจากคุก

          นอกจากแรงเสียดทานที่เกิดจากมวลชนคนเสื้อแดงต่อรัฐบาล-นปช.แล้ว ประเด็นเรื่องการนิรโทษกรรม ยังถูกหยิบยกเป็นประเด็นหลักของการขับไล่รัฐบาลของกลุ่ม "กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ" ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อเร็วๆ นี้ พร้อมๆ กับประเด็นร้อนอย่าง ให้ยุติความไม่จงรักภักดีของทักษิณ ชินวัตร ให้นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ไปจนถึงโครงการการจัดการน้ำ และโครงการจำนำข้าว โดยทางกลุ่มประกาศว่าให้ทำตามข้อเรียกร้องภายใน 7 วัน มิเช่นนั้นจะปักหลักชุมนุมยาว

          คำตอบต่อสถานการณ์ดังกล่าว อาจตอบได้เมื่อรัฐสภาเปิดสมัยการประชุมในต้นเดือนสิงหาคมนี้ ว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญต่อการพิจารณาต่อร่างใด และการแปรญัตติต่อร่างนิรโทษกรรมต่างๆ จะออกมาเป็นอย่างไร น่าจะช่วยให้เห็นแรงเสียดทานที่จะเกิดขึ้นจากหลายฝ่าย และอนาคตของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ต่อไปในอนาคต

หมายเหตุ: สามารถดาวน์โหลดร่างพ.ร.บ. ปรองดองและนิรโทษกรรมทั้ง 9 ฉบับได้ที่ท้ายข่าวนี้
Attachment Size
บ.นิรโทษกรรม โดยญาติวีรชน.pdf69.12 KB
ฉบับนิติราษฎร์.pdf61.48 KB
บ.นิรโทษกรรม โดยนิยม วรปัญญา.pdf224.88 KB
บ.นิรโทษกรรม โดยวรชัย เหมะ.pdf234.23 KB
บ.ปรองดองแห่งชาติ โดยเฉลิม อยู่บำรุง.pdf70.79 KB
บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ โดยสามารถ แก้วมีชัย.pdf398.44 KB
บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ โดยนิยม วรปัญญา.pdf192.81 KB
บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ โดยณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ.pdf489.21 KB
บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ โดย สนธิ บุญรัตนกลิน.pdf253.12 KB