วันอังคารที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ศาลทหารไม่ให้ประกันลุงวัย 67 คดี 112 เขียนฝาผนังห้องน้ำห้างดัง

            20 ต.ค.2557 ที่กองบังคับการปราบปราม ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนแจ้งว่า พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามได้ทำการสอบสวนนายโอภาส (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาคดี 112  ที่ถูกทหารจับกุมตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค.และนำตัวมาแถลงข่าวในวันที่ 17 ต.ค. กรณีที่เขาได้เขียนฝาผนังห้องน้ำในห้างซีคอนสแควร์ โดยพนักงานแจ้งข้อกล่าวหาโอภาสจากการเขียนข้อความ 1 ข้อความ เขารับว่าได้เขียนข้อความดังกล่าวจริง แต่ไม่ได้มีเจตนาหมิ่นเบื้องสูง เพียงแต่ต้องการวิจารณ์คณะรัฐประหาร ทั้งนี้ระหว่างให้ปากคำผู้ต้องหามีทนายความอยู่ในกระบวนการด้วย
           จากนั้นเวลาประมาณ 13.00 น. พ.ท.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ พล.ม.2 รอ. พร้อมด้วย ร.ต.ท.จักรี กุลแก้ว พนักงานสอบสวน กก.1 บก.ป.คุมตัว นายโอภาสไปขอฝากขังยังศาลทหารในผลัดแรก 12 วัน ศาลอนุญาตให้ฝากขัง ครอบครัวจำเลยยื่นหลักทรัพย์เป็นโฉนดบ้านมูลค่า 2.5  ล้านเพื่อขอประกันตัว แต่ศาลปฏิเสธ โดยระบุเหตุผลว่า หากปล่อยผู้ต้องหาอาจไปกระทำการใดๆ หรือก่อเหตุประการอื่น หรือผู้ต้องหาอาจหลบหนีได้ จึงไม่อนุญาตให้ประกันตัว จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้นำส่งตัวนายโอภาสไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
          ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ข้อมูลว่า ในปัจจุบันคดี 112 มีอยู่เกือบ 20 คดี ผู้ต้องหาเกือบทั้งหมดไม่ได้รับการประกันตัว ในจำนวนนี้มีอยู่ 6 คดีที่ถูกส่งไปดำเนินคดียังศาลทหาร คดีล่าสุดคือคดีของโอภาสนับเป็นคดีที่ 2 ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นการกระทำความผิดหลังรัฐประหาร (คดีทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ที่จังหวัดเชียงรายนับเป็นกรณีแรก) นอกเหนือจากนั้นเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นก่อนการรัฐประหาร
         โอภาส เป็นชายวัย 67  ปีชาวกรุงเทพฯ มีอาชีพขายของเบ็ดเตล็ด เขากล่าวว่า ไม่เคยร่วมชุมนุมแต่อย่างใด และเป็นผู้ติดตามการเมืองเพียงห่างๆ จนกระทั่งในราวปี 2552 ได้เจอคลื่นวิทยุชุมชนทั้งฝ่ายเหลืองและฝ่ายแดงโดยบังเอิญจึงรับฟังมานับแต่นั้นมา และพบว่าชอบฟังสถานีของฝ่ายเสื้อแดงมากกว่า แต่ก็จะเลือกฟังเฉพาะดีเจบางคน เขายืนยันว่าไม่ได้ถูกล้างสมองจากวิทยุชุมชนตามที่เจ้าหน้าที่ทหารพยายามแถลงข่าวไปในแนวทางดังกล่าว  (อ่านข่าวเก่าได้ที่นี่)

ทหารขอผู้จัดงานหนังสือแจ้ง 'ฟ้าเดียวกัน' เลิกขายเสื้อยืด รอตีความ 112

            ทั้งนี้ เสื้อตัวหนึ่งเป็นรูปไดโนเสาร์ ปรากฏข้อความ THE LOST WORLD โลกหลงสำรวจ ประชาธิปไตยในโลกสมัยใหม่ เสื้ออีกตัวหนึ่งเป็นรูปต้นไม้บนโลกซึ่งเป็นลวดลายข้อความว่า ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เสื้อยืดทั้งสองตัวนี้คล้ายกับหน้าปกวารสารฟ้าเดียวกันเล่มเก่าที่เคยวางตลาดแล้ว ได้แก่

http://www.sameskybooks.net/journal-store/10-1/
http://www.sameskybooks.net/journal-store/09-1/

          ส่วนอีกตัวหนึ่ง เป็นภาพอีโมติคอนชื่อดัง "คุณซาบซึ้ง" ที่ปากเป็นซิปถูกรูดปิดอยู่ ด้านหลังเสื้อมีข้อความว่า Be grateful and shut up!

         บีบีซีรายงานถึงคำให้สัมภาษณ์ของผู้จัดงานหนังสือฯ นายจรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ว่า เมื่อวันที่ 19 ต.ค.ได้มีเจ้าหน้าที่ทหาร 3 นายพร้อมนายตำรวจจาก สน.ลุมพินี มาพบ เพื่อขอความร่วมมือให้ประสานงานสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันให้ยุติการขายเสื้อยืด สกรีน 3 แบบชั่วคราว เพื่อนำไปพิจารณาก่อนว่ากระทบกับ ม.112 หรือไม่

          นายจรัญได้ชี้แจงกับนายทหารและนายตำรวจทั้งสี่ว่า ในฐานะผู้จัดงาน ตนไม่มีสิทธิไปพิพากษาใคร และเห็นว่าคนทำหนังสือเขาก็มีเสรีภาพ มีวิจารณญานในการตัดสินว่าเขาจะออกบูธอะไร ผู้จัดจะไม่ยุ่งกับเนื้อหา

         "ทางคุณธนาพล บก.ฟ้าเดียวกัน เคยถูกจับไปแล้ว 2 ครั้งแล้วก็ปล่อยออกมา เขาไม่เคยถูกพิพากษา เขามีสิทธิจัดบูธ ถ้าผมไปรอนสิทธิเขา ผมก็งานเข้าเหมือนกัน เขาไม่ได้ทำอะไรผิด"

         อย่างไรก็ตาม นายจรัญกล่าวว่า ทาง สนพ.ฟ้าเดียวกัน ได้ให้ความร่วมมือในการปลดเสื้อที่มีข้อความดังกล่าวลงจากแผง และมอบให้เจ้าหน้าที่นำไปพิจารณาตรวจสอบ

          นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นสิ่งที่ตนคาดไว้อยู่แล้ว เพราะเป็นการจัดงานภายใต้กฎอัยการศึก ซึ่งทหารจะทำหน้าที่แทนตำรวจ แต่พวกเขาก็มาอย่างสุภาพ ปฏิบัติงานตามขั้นตอน ไม่จู่โจมจนผู้คนแตกตื่น

         ก่อนหน้านี้ นายธนาพล อิ๋วสกุล บก.สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ได้โพสต์ข้อความบนเฟสบุ้คในทำนองว่างานสัปดาห์หนังสือครั้งนี้เป็นครั้งแรก หลังรัฐประหาร สำนักพิมพ์ถูกตรวจค้นบูทตั้งแต่ก่อนเปิดงาน แต่สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ยืนยันสิทธิในการจำหน่าย

อุทธรณ์ยืนคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา 'สมชาย ไพบูลย์' ปราศรัยปลุกระดมนปช.ปี53

             ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา 'สมชาย ไพบูลย์' แกนนำ นปช. ปราศรัยปลุกระดมให้เกิดความฮึกเหิมใช้กำลังต่อสู้กับเจ้าหน้าที่จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ระบุเป็นโทษสถานเบาและเหมาะสมกับพฤติการณ์แล้ว
             21 ต.ค.2557 เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ห้องพิจารณา 910 ศาลอาญา รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ คดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสมชาย ไพบูลย์ อายุ 45 ปี อดีต ส.ข.เขตบางบอน พรรคไทยรักไทย และแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองโดยมีอาวุธ ซึ่งเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, 215, 216 และร่วมกันชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
             โจทก์ฟ้อง เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2553 สรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 8-10 เม.ย. 2553 ภายหลังที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง จำเลยกับพวกซึ่งมีจำนวนตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ร่วมกันชุมนุมและมั่วสุม ที่เวทีผ่านฟ้าลีลาศ และเวทีราชประสงค์ โดยจำเลยกับพวกทราบคำสั่งเจ้าพนักงานแล้วยังขัดขืนคำสั่งของเจ้าหน้าที่ไม่เลิกการชุมนุม และยังใช้กำลังทำร้ายเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ โดยมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดไม่ทราบชนิด ขนาด มีด ดาบ ท่อนไม้ ท่อนเหล็ก หนังสติ๊กหลายชิ้น ไม่ทราบจำนวนแน่ชัด เป็นอาวุธ เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ทหาร ประชาชนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก รวมทั้งทรัพย์สินของทางราชการและประชาชนเสียหาย เหตุเกิดที่แขวงตลาดยอด, แขวงวัดโสมนัส, แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร, แขวงและเขตดุสิต, แขวงลุมพินี แขวงและเขตปทุมวัน กทม. จำเลยให้การปฏิเสธ
          คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2555 ว่า จำเลยกระทำการโดยเจตนาขัดคำสั่งและขัดขวางเจ้าหน้าที่ที่สั่งให้เลิกชุมนุม เพื่อปลุกระดมสนับสนุนกลุ่มผู้ชุมนุมให้เกิดความฮึกเหิมใช้กำลังต่อสู้กับเจ้าหน้าที่จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต เพื่อให้การชุมนุมยังคงอยู่ ไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต จึงให้จำคุกจำเลยเป็นเวลา 1 ปีโดยไม่รอลงอาญา
          ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนกันแล้วเห็นว่า โจทก์มีเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำกองบัญชาการนครบาล 6 สน.นางเลิ้ง สน.บุคคโล สน.สมเด็จเจ้าพระยา สน.ลุมพินี และพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กว่า 10 ปาก ซึ่งเป็นผู้รวบรวมพยานหลักฐาน ผู้บันทึกการปราศรัยลงแผ่นวีซีดี และผู้ถอดเทปการปราศรัย เบิกความยืนยันข้อเท็จจริงสอดคล้องต่อเนื่องกันว่า จำเลยซึ่งร่วมชุมนุมกับกลุ่ม นปช.บริเวณเวทีผ่านฟ้าลีลาศ ขณะที่รัฐบาลได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล จำเลยได้ขึ้นปราศรัยเวทีดังกล่าวหลายครั้งตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค. - 13 เม.ย. 2553 ซึ่งมีเนื้อหาต่อต้านรัฐบาลและระหว่างที่รัฐบาลใช้กำลัง เจ้าหน้าที่ขอคืนพื้นที่ชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 ก็ได้มีการปราศรัยให้ผู้ชุมนุมบางส่วนที่อยู่แยกสะพานมัฆวานรังสรรค์ และแยก จปร.ให้มาร่วมชุมนุมกับผู้ชุมนุมอีกส่วนหนึ่งที่บริเวณแยกคอกวัวเพื่อตรึงกำลังรักษาพื้นที่การชุมนุมหากเจ้าหน้าที่จะเข้ามาขอคืนพื้นที่ และหากมีการนำรถถังเข้ามาก็ให้ยึดรถถังไว้ และต่อมาเมื่อคณะกรรมการคดีพิเศษ ดีเอสไอ ได้รับคดีเกี่ยวกับการกระทำผิดอาญาและอาวุธยุทธภัณฑ์ และความผิดที่เกี่ยวกับความรุนแรงในการชุมนุมไว้ และได้มีการแจ้งข้อกล่าวหากับจำเลย นอกจากนี้ยังปรากฏภาพและข่าวทางหนังสือพิมพ์จากเหตุการณ์ปะทะระหว่างการชุมนุม ซึ่งทางนำสืบไม่ปรากฏว่าพยานโจทก์ดังกล่าวเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย จึงเชื่อว่าพยานโจทก์ได้เบิกความตามที่รู้เห็นจากการปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา ไม่ได้ปั้นแต่งพยานหลักฐานเพื่อกลั่นแกล้งให้จำเลยได้รับโทษทางอาญา
         ขณะที่จำเลยได้นำสืบเพียงว่าการปราศรัยเป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัว และความเห็นทางวิชาการ ไม่ใช่การยั่วยุ แต่ไม่ได้ปฏิเสธว่าข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบเป็นเรื่องไม่ถูกต้องหรือห่างไกลจากความจริง และที่แกนนำ นปช.บางคนมาเป็นพยานจำเลยเบิกความก็ปรากฏว่าบางคนไม่ได้อยู่ในช่วงที่เกิดเหตุ แต่รับรู้เหตุการณ์จากการเผยแพร่ข่าวสาร พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงรับฟังได้ว่า จำเลยได้กระทำผิดตามมาตรา 116 (2) (3), 215 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม, 216 และ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรื่องห้ามไม่ให้ชุมนุมหรือมั่วสุม ลงวันที่ 8 เม.ย. 2553 ซึ่งการกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียว ผิดกฎหมายหลายบท อุทธรณ์ของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ให้ลงโทษสถานเบานั้นเห็นว่า การกระทำของจำเลยนั้นบทลงโทษหนักสุด คือ มาตรา 116 ฐานกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ซึ่งกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 1 ปีนั้นถือว่าเป็นโทษสถานเบาและเหมาะสมกับพฤติการณ์แล้ว จึงพิพากษายืนโทษตามที่ศาลชั้นต้นให้จำคุก 1 ปี โดยไม่รอการลงโทษจำเลย
        ก่อนถูกควบคุมตัวนายสมชายกล่าวว่า หากจะต้องรับโทษจำคุก 1 ปี ก่อนหน้านี้ตนเคยถูกคุมขังในเรือนจำระหว่างการถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับการชุมนุมมาแล้ว 8 เดือน 14 วัน ดังนั้น หากสุดท้ายจะต้องรับโทษคงมีการนัดเวลาคุมขังต่อจากช่วงเวลาดังกล่าวอีก 3 เดือนเศษจึงจะครบ 1 ปี
ด้านทนายความเตรียมเงินสด 1 แสนบาท เพื่อยื่นประกันตัวและฎีกาสู้คดีต่อไป

ป.ป.ช.มีมติเอกฉันท์ สปช.ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน

         21 ต.ค.2557 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเอกฉันท์ให้สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช.ไม่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน
        นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กล่าวในวันนี้ว่า  ป.ป.ช. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ สปช. ไม่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน เนื่องจากเป็นการทำหน้าที่ทางวิชาการ ไม่มีผลประโยชน์ได้เสีย และเป็นการทำหน้าที่ที่ต้องใช้ความสามารถและความรู้ในการเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง
          ส่วนกรณีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งถูกร้องเรียนเรื่องเงินช่วยเหลือชาวสวนยางพาราไม่ชอบนั้น ก็ตกไปด้วย เพราะไม่เข้าเหตุแห่งการกระทำผิดตามกฎหมาย ป.ป.ช. เช่นเดียวกับกรณีโครงการจำนำข้าวของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตกไปด้วยเช่นกัน
         ด้านนางสุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะผู้ดูแลการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ กล่าวว่า การตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน ควรตรวจเข้มตั้งแต่แรกเข้ามา และตรวจให้ลึกในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ถ้าไม่สามารถชี้แจงที่มาที่ไปของทรัพย์สินได้ ควรยึดคืนทั้งหมด และโดยส่วนใหญ่มักเป็นการทุจริตจากโครงการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งจะมีการดึงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน

26 ผู้ต้องขังสู้คดี ‘ขอนแก่นโมเดล’ ทนายยื่นตีความเขตอำนาจศาลทหาร


           21 ต.ค.2557 ที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 จังหวัดขอนแก่น ศาลนัดสอบคำให้การจำเลยทั้ง 26 คนในคดี ‘ขอนแก่นโมเดล’ โดยในวันนี้มีการนำจำเลยทั้ง 26 คนจากเรือนจำเดินทางมายังศาล ท่ามกลางการรอต้อนรับจากญาติผู้ต้องขังเกือบร้อยคนที่เดินทางมาจากจังหวัดต่างๆ เนื่องจากผู้ต้องขังมีภูมิลำเนาอยู่ในหลายจังหวัด อย่างไรก็ตาม ศาลไม่อนุญาตให้ญาติและบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องในคดีเข้าไปในห้องพิจารณาโดยอ้างว่าห้องคับแคบ มีเพียงตัวแทนจากองค์กรระหว่างประเทศ 1 คนที่ได้รับอนุญาตให้เข้าสังเกตการณ์ในห้องพิจารณา นั่นคือ นายคิงสลีย์ แอ๊บบอต ที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศของคณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (International commission of Jurist - ICJ) องค์กรสิทธิมนุษยชนที่มีที่ตั้้งอยู่ที่กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์  เจ้าหน้าที่จาก ICJ ระบุว่าให้ความสนใจในคดีนี้เนื่องจากโดยหลักการแล้วพลเรือนไม่ควรขึ้นศาลทหาร ประกอบกับ ICJ ติดตามเรื่องสิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (fair trial)
         ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การสอบคำให้การให้ห้องพิจารณาคดีศาลทหารเริ่มต้นในช่วงสายและเสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 13.30 น. โดยผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธและขอต่อสู้คดี
          วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความจากกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน (กนส.) ชี้แจงกับญาติผู้ต้องขังส่วนหนึ่งว่า วันนี้จะยื่นประกันผู้ต้องขังคดีขอนแก่นโมเดลที่อยู่ในความดูแลของ กนส.ทั้ง 11 ราย โดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสดรายละ 4 แสนบาท คาดว่าจะทราบผลประกันตัวภายในเย็นวันนี้ โดยการยื่นประกันครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สอง หลังจากในครั้งแรกยื่นประกันตัวเมื่อครั้งอัยการยื่นฟ้องและศาลไม่ให้ประกันโดยระบุเหตุผลว่า “จำเลยยังไม่มาให้การต่อศาล คดีมีโทษสูง เกรงว่าจะหลบหนี”
         เขากล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมคดีผู้ต้องขังทั้ง 26 คนให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดเพื่อให้ต่อสู้คดีไปทิศทางเดียว และจะมีการนัดตรวจพยานหลักฐานอีกครั้งเพราะจำเลยยังไม่เห็นว่าพยานหลักฐานที่ใช้ในการกล่าวหามีอะไรบ้าง แต่โดยความเห็นของทนายแล้วเห็นว่าข้อกล่าวหาร้ายแรงเกินไปสำหรับรรยายหลักฐานที่มีอยู่
        วิญญัติยืนยันว่าด้วยว่าทาง กนส.จะทำให้คดีนี้กลับไปสู่ศาลปกติให้ได้ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด เพราะไม่มั่นใจว่าการพิจารณาโดยศาลเดียวจะทำให้จำเลยได้รับความเป็นธรรม (ศาลทหารไม่มีการอุทธรณ์ ฎีกา) และสถานการณ์ปัจจุบันยืนยันว่าเป็นสถานการณ์ปกติ ไม่ใช่ภาวะสงครามหรือจราจลจึงไม่จำเป็นต้องให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร
         ด้านเบญจรัตน์ มีเทียน ทนายความของผู้ต้องขังที่เหลืออีก 15 คน ได้ยื่นขอให้ศาลวินิจฉัยเขตอำนาจศาลว่าศาลทหารมีอำนาจในการพิจารณาคดีขอนแก่นโมเดลหรือไม่ ศาลนัดอ่านคำวินิจฉัยในวันที่ 24 ธ.ค.57 สำหรับการนัดตรวจพยานศาลยังไม่มีคำสั่งนัด เนื่องจากต้องรออ่านคำวินิจฉัยเขตอำนาจศาลก่อน นอกจากนี้ในวันพรุ่งนี้จะยื่นประกันตัวจำเลย 2 รายซึ่งป่วยเป็นโรคเก๊าต์และโรคหัวใจ
        ทั้งนี้ผู้ต้องหาคดีขอนแก่นโมเดล 22 คนถูกจับกุมเมื่อวันที่ 23 พ.ค.หรือหลังรัฐประหาร 1 วัน ที่อพาร์ทเมนต์แห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น ทั้งหมดถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร 7 วัน จากนั้นมีการทยอยจับกุมเพิ่มเติมอีก 4 รายรวมเป็น 26 ราย ในจำนวนนี้เป็นหญิง 2 ราย ทั้งหมดถูกคุมขังตัั้งแต่วันจับกุมจนปัจจุบัน เมื่อฝากขังจนครบ 7 ผลัดที่เรือนจำขอนแก่น อัยการทหารจึงยื่นฟ้องในวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมาโดยไม่มีการนำตัวจำเลยมาศาลหรือเทเลคอนเฟอเรนซ์แต่อย่างใด  ผู้ต้องหาส่วนใหญ่อายุ 40-60 ปี และอายุสูงสุดคือ 72 ปี หลายรายมีโรคประจำตัวเช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ภูมิแพ้ เก๊าต์ ผู้ต้องหามีหลากหลายอาชีพตั้งแต่ผู้อำนวยการโรงเรียน เกษตรกร คนทำเครื่องจักรสาน คนขายไม้กวาด คนขายอาหารอีสาน ช่างเคาะพ่นสีรถยนต์ นักการเมืองท้องถิ่น พ่อค้าขายปลาสด ทำธุรกิจให้เช่าเครื่องเสียง เป็นต้น โดย จ.ส.ต.ประทิน จันทร์เกศ พนักงานรักษาความปลอดภัยของธนาคารแห่งประเทศไทย สาขาขอนแก่น  ถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 1
สำหรับข้อหาที่จำเลยทั้ง 26 คนถูกกล่าวหา ได้แก่
  • (1) ร่วมกันฝ่าฝืนประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง
  • (2) ร่วมกันสะสมกำลังพลหรืออาวุธ จัดหาหรือรวบรวมทรัพย์สินให้หรือรับการฝึกการก่อการร้าย ตระเตรียมการอื่นใด หรือสมคบกันเพื่อก่อการร้ายหรือกระทำความผิดใดๆ อันเป็นส่วนของแผนการเพื่อก่อการร้าย หรือรู้ว่าจะมีผู้ก่อการร้ายแล้วกระทำการใดอันเป็นการช่วยปกปิดไว้
  • (3) เป็นซ่องโจร
  • (4) มีและร่วมกันมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดที่ใช้เฉพาะแต่การสงครามที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ ไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนกฎหมาย
  • (5) มีอาวุธ เครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต
  • (6) พาอาวุธปืนติตัวไปในเมืองและทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุอันควร
  •  (7) มีเครื่องกระสุนปืนซึ่งมิใช่สำหรับใช้กับอาวุธปืนที่ได้รับใบอนุญาต
  • (8) มีเครื่องยุทธภัณฑ์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต
  • (9) มีเครื่องวิทยุคมนาคมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต

           "แผนการลงมือขอนแก่นโมเดลนั้น แบ่งเป็น 4 ขั้นตอน คือ 
  • 1. ระดมมวลชนให้มากที่สุด 
  • 2. เจรจาปลดอาวุธเจ้าหน้าที่ 
  • 3. เจรจาเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร 
  • 4. ทำลายสถาบันการเงินและนำเงินมาแจกจ่ายให้ประชาชน (ปฏิบัติการโรบินฮูด) “ทั่วปฐพีหนี้เป็นศูนย์” ซึ่งหากกลุ่มผู้ไม่หวังดีก่อเหตุที่ จ.ขอนแก่น สำเร็จ อาจมีการก่อเหตุที่ภาคเหนือ การที่ทหารจับกุมกลุ่มผู้ต้องหาได้ ทำให้แผนการก่อเหตุต่างๆ หยุดชะงัก" พล.ต.ธวัช สุกปลั่ง รองแม่ทัพภาคที่ 2 กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 29 พ.ค.2557