วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2558

นักวิชาการสิทธิพลเมือง ล่าชื่อร่วมประกาศมหา’ลัยไม่ใช่ค่ายทหาร ปท.ไม่ใช่ค่ายกักกัน


‘เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง’ นำรณรงค์ล่ารายชื่อ ‘มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร ประเทศไม่ใช่ค่ายกักกัน’ ร้องรัฐบาลทหารหยุดดำเนินคดี-คุกคามการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของประชาชน และคืนอำนาจ
2 ธ.ค.2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่เว็บไซต์ change.org เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (Thai Academics for Civil Rights) ได้ตั้งการรณรงค์เพื่อล่ารายชื่อภายใต้หัวข้อ ‘มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร ประเทศไม่ใช่ค่ายกักกัน’ เพื่อเรียกร้องต่อรัฐบาลทหาร คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และอธิการบดีมหาวิทยาลัย เพื่อเรียร้องให้ยุติการกระทำอันละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนในทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข
โดยการรณรงค์ระบุว่า คำสั่ง คสช. ไม่ชอบด้วยกฎหมายนับตั้งแต่ต้น เพราะเป็นผลของการละเมิดรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ขาดความชอบธรรมด้วยไม่ได้รับการยินยอมจากประชาชนจำนวนมาก อีกทั้งยังขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศที่รับรองสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน
นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ รัฐบาลทหาร และ คสช. ต้องหยุดการดำเนินคดีและการข่มขู่คุกคามการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยสุจริตและอย่างสันติของประชาชน นักวิชาการนักศึกษา และสื่อมวลชน เครือข่ายประชาชนเห็นว่าการใช้วาทกรรม “ปรับทัศนคติ” นั้นส่อเจตนารมณ์ของการใช้อำนาจเผด็จการบังคับชี้นำรัฐบาลทหารและ คสช. ควรที่จะเรียนรู้วิถีทางประชาธิปไตยโดยใช้วิธีการ “แลกเปลี่ยนทัศนคติ” กับประชาชนที่มีความคิดเห็นแตกต่างอย่างเปิดเผย ทั่วหน้าและเสมอภาค อันจะนำมาซึ่งความสุขสงบและความมั่นคงของสังคมอย่างแท้จริง
“รัฐบาลทหารและ คสช. ต้องคืนอำนาจให้ประชาชน เลิกใช้วิธีการร่างรัฐธรรมนูญที่มีประเด็นแอบแฝงซ่อนเร้น สร้างเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมหรือใช้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนไม่อาจยอมรับได้ มาถ่วงเวลายื้อยืดอำนาจของตนเอง รัฐบาลทหารและ คสช. พึงยอมรับความจริงว่า ช่วงเวลาปีกว่าที่ผ่านมาได้แสดงให้พลเมืองเห็นแล้วว่า รัฐบาลทหารไม่มีความสามารถ ไม่มีความจริงใจและไม่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาของประเทศจริงๆ อีกทั้งกลับทำให้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเลวร้ายยิ่งขึ้นกว่าเดิม” เนื้อหาในการรณรงค์ระบุ
สำหรับกลุ่มที่ลงชื่อนอกจากเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง แล้วยังมี กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท กลุ่มประชาคมจุฬาฯเพื่อประชาชน Chulalongkorn Community for the People (CCP) กลุ่มประชาธิปไตยศึกษา กลุ่มเพื่อประชาธิปไตยและความหลากหลายทางเพศ กลุ่มแม่โจ้เสรีเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อชท์) กลุ่มเสรีนนทรี ม.เกษตรศาสตร์ กลุ่ม ANTI SOTUS ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ขบวนการอีสานใหม่ ชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ ปาตานีฟอรั่ม พลเมืองโต้กลับ พลเมืองเสมอกัน สมัชชาคนจน และ สมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย รวมทั้งยังเปิดรับลงรายชื่อในฐานะปัจเจคด้วย (ดู)
สำหรับรายละเอียดการรณรงค์หรือแถลงการณ์มีดังนี้
แถลงการณ์ของเครือข่ายประชาชนเพื่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
“มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร ประเทศไม่ใช่ค่ายกักกัน”
 
 
นับตั้งแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา รัฐบาลทหารมีพฤติการณ์ในการข่มขู่และปราบปรามการแสดงความคิดเห็นของพลเมืองอย่างรุนแรงชัดเจน มีทั้งการเรียกตัวประชาชน อาจารย์ นักศึกษาและสื่อมวลชน ไปเข้าค่ายทหารภายใต้วาทกรรม “ปรับทัศนคติ” การส่งเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าคุกคามบุคคลต่างๆ ตามสถานที่ทำงาน ที่พักอาศัยและสถานศึกษา การปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นในรูปแบบนานาประการ การนำตัวพลเรือนขึ้นศาลทหาร การตัดสินโทษหนักโดยไม่ได้สัดส่วนกับความผิดที่มีตามจริง การไม่ยินยอมให้สาธารณะตรวจสอบการดำเนินโครงการอันไม่ชอบธรรมของทหารหรือมีเงื่อนงำทุจริตของรัฐบาลทหาร ตลอดจนกระทั่งการปฏิบัติตนของผู้นำรัฐบาลทหาร ซึ่งแสดงออกต่อสาธารณชนด้วยท่าที วาจาและการกระทำอันหยาบคายไร้มารยาท
 
เครือข่ายประชาชน เครือข่ายคณาจารย์และเครือข่ายนักศึกษาดังรายนามข้างล่างนี้ จึงใคร่ขอเชิญชวนประชาชนทั่วไปร่วมกันลงชื่อเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทหารและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยุติการกระทำอันละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนในทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข ด้วยเหตุผลที่ชอบธรรมดังนี้
 
1. คำสั่ง คสช. ไม่ชอบด้วยกฎหมายนับตั้งแต่ต้น เพราะเป็นผลของการละเมิดรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ขาดความชอบธรรมด้วยไม่ได้รับการยินยอมจากประชาชนจำนวนมาก อีกทั้งยังขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศที่รับรองสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน รัฐบาลทหารจึงไม่สามารถอาศัยคำสั่ง คสช. ซึ่งผิดกฎหมายเป็นเกณฑ์ในการกล่าวหาว่าบุคคลกระทำผิดกฎหมายหรืออาศัยเป็นหลักหมายเพื่อให้บุคคลประพฤติปฏิบัติตามได้ การกล่าวหาว่าประชาชน นักวิชาการ นักศึกษา และสื่อมวลชน ไม่เคารพหรือทำผิดกฎหมายโดยอาศัยคำสั่ง คสช. จึงสะท้อนให้เห็นถึงการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ ที่ขัดต่อหลักกฎหมายของประเทศและระหว่างประเทศ
 
2. การเปิดโอกาสให้บุคคลได้แสดงความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายเป็นคุณลักษณะพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย หาได้เป็นความสับสนวุ่นวายอย่างที่รัฐบาลทหารกล่าวหา การแสดงความเห็นของประชาชน นักวิชาการ นักศึกษา และสื่อมวลชน ด้วยการเสนอข้อมูลอย่างสันติและไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่นนั้น เป็นไปเพื่อให้สังคมมีมุมมองรอบด้านและแสวงหาทางออกร่วมกัน ดังที่เคยเป็นมาในรัฐบาลประชาธิปไตย วิถีทางประชาธิปไตยไม่ได้เป็นเหตุแห่งความสับสนวุ่นวายแต่อย่างใด รัฐบาลที่ใช้อำนาจเผด็จการโดยไม่ยอมฟังเสียงพลเมืองของตนย่อมขัดต่อหลักการประชาธิปไตย
 
3. รัฐบาลทหาร และ คสช. ต้องหยุดการดำเนินคดีและการข่มขู่คุกคามการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยสุจริตและอย่างสันติของประชาชน นักวิชาการนักศึกษา และสื่อมวลชน เครือข่ายประชาชนเห็นว่าการใช้วาทกรรม “ปรับทัศนคติ” นั้นส่อเจตนารมณ์ของการใช้อำนาจเผด็จการบังคับชี้นำรัฐบาลทหารและ คสช. ควรที่จะเรียนรู้วิถีทางประชาธิปไตยโดยใช้วิธีการ “แลกเปลี่ยนทัศนคติ” กับประชาชนที่มีความคิดเห็นแตกต่างอย่างเปิดเผย ทั่วหน้าและเสมอภาค อันจะนำมาซึ่งความสุขสงบและความมั่นคงของสังคมอย่างแท้จริง
 
4. รัฐบาลทหารและ คสช. ต้องคืนอำนาจให้ประชาชน เลิกใช้วิธีการร่างรัฐธรรมนูญที่มีประเด็นแอบแฝงซ่อนเร้น สร้างเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมหรือใช้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนไม่อาจยอมรับได้ มาถ่วงเวลายื้อยืดอำนาจของตนเอง รัฐบาลทหารและ คสช. พึงยอมรับความจริงว่า ช่วงเวลาปีกว่าที่ผ่านมาได้แสดงให้พลเมืองเห็นแล้วว่า รัฐบาลทหารไม่มีความสามารถ ไม่มีความจริงใจและไม่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาของประเทศจริงๆ อีกทั้งกลับทำให้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเลวร้ายยิ่งขึ้นกว่าเดิม
 
ดังนั้น เราขอประกาศว่า “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” หากแต่เป็นสถานที่แสวงหาความรู้ แลกเปลี่ยนถกเถียงกันบนพื้นฐานของการใช้เหตุผลและข้อเท็จจริง นำมาซึ่งความรู้ใหม่ เพิ่มพูนสติปัญญาเพื่อรับรู้โลกที่เปลี่ยนแปลงไปและแก้ไขปัญหาของประเทศชาติ ในการแสวงหาความรู้และการแสดงความคิดเห็นจำเป็นจะต้องมีเสรีภาพเป็นปัจจัยพื้นฐาน การที่รัฐบาลทหาร และ คสช. พยายามยัดเยียดให้สถานศึกษาบรรจุวิชายกย่องเชิดชูทหารจึงเป็นแนวคิดที่ขัดแย้งกับหลักสิทธิเสรีภาพในการศึกษาอย่างแท้จริง การกระทำเช่นนี้นับได้ว่าเป็นการใช้อำนาจเผด็จการเพื่อสร้างการครอบงำความคิดเห็นของพลเมือง
 
เราขอประกาศอีกว่า “ประเทศไม่ใช่ค่ายกักกัน” ประชาชนมีความหลากหลายทางความเชื่อและความคิดทางการเมือง หนทางที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขคือ การมีเสรีภาพในความเชื่อและการแสดงความคิดเห็นด้วยหลักเหตุผลประกอบข้อเท็จจริง การปฏิบัติต่อประชาชนประดุจผู้ถูกกักกันด้วยการปลูกฝังอุดมการณ์หรือความเชื่อหนึ่งๆ เพื่อครอบงำสังคมทั้งหมดภายใต้โครงสร้างอำนาจของคนบางกลุ่ม ด้วยวิธีการปิดหูปิดตา บังคับข่มขู่ คุกคามด้วยอำนาจกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมให้ผู้เห็นต่างยุติการแสดงความคิดเห็นนั้น รังแต่จะนำมาซึ่งความขัดแย้งมากขึ้น และไม่สามารถนำพาสังคมไปสู่ความเสมอภาค เสรีภาพ ประชาธิปไตย ความเป็นธรรม และสันติสุขได้อย่างแน่นอน
 
 
ลงชื่อ
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (Thai Academics for Civil Rights)
กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท
กลุ่มประชาคมจุฬาฯเพื่อประชาชน Chulalongkorn Community for the People (CCP)
กลุ่มประชาธิปไตยศึกษา
กลุ่มเพื่อประชาธิปไตยและความหลากหลายทางเพศ
กลุ่มแม่โจ้เสรีเพื่อประชาธิปไตย
กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อชท์)
กลุ่มเสรีนนทรี ม.เกษตรศาสตร์
กลุ่ม ANTI SOTUS
ขบวนการประชาธิปไตยใหม่
ขบวนการอีสานใหม่
ชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ
ปาตานีฟอรั่ม
พลเมืองโต้กลับ
พลเมืองเสมอกัน
สมัชชาคนจน
สมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย

เรือนจำขอนแก่นเคลียร์ปมนักโทษคดีขอนแก่นโมเดลโทรจากคุก ป่วนงาน Bike for Dad

3 ธ.ค. 2558 จากกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แถลงดำเนินคดีกลุ่มบุคคลที่เตรียมก่อเหตุป่วนงานสำคัญๆ ในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะ Bike for Dad และมีความต้องการจะลอบประทุษร้ายบุคคลสำคัญในรัฐบาล ภายหลังปรากฎว่า 1 ใน 9 ของผู้ถูกกล่าวหา ยังเป็นนักโทษอยู่ในเรือนจำขอนแก่นในคดีขอนแก่นโมเดล (อ่านรายละเอียด) อย่างไรก็ตามมีการชี้แจงว่า แม้นักโทษจะอยู่ในเรือนจำก็ยังใช้โทรศัพท์จากภายในเรือนจำติดต่อกับบุคลภายนอกนั้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมา มติชนออนไลน์ รายงานว่า นายกฤษณ์ วงษ์เวช ผบ.เรือนจำกลางขอนแก่น ได้นำนายนรินทร์  พรหมสาขา ณ สกลนคร นักวิชาการยุติธรรมชำนาญการ รักษาการในตำแหน่งยุติธรรม จ.ขอนแก่น น.ส.ศกุลตรา นนตรี ผอ.สนง.คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ภาค 2 ขอนแก่น กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ นางปราณี (ภรรยาของธนกฤต) และนางจิบมา ชารีหนองหว้า พร้อมคณะกรรมการอีก 3 คน เดินทางเข้าพบตัว ธนกฤต ทองเงินเพิ่ม ซึ่งตกเป็นผู้ต้องขังในคดีขอนแก่นโมเดล เพื่อทำการสอบสวนเกี่ยวกับประเด็นกระแสข่าวว่ามีการใช้โทรศัพท์จากภายในเรือนจำติดติดต่อกับบุคคลภายนอก ซึ่งกรรมการได้มีการสอบถามต่อหน้าผู้เกี่ยวข้องที่เดินทางเข้าร่วมรับฟังการสอบถาม
ธนกฤต ได้กล่าวปฏิเสธว่า ตนไม่ได้มีการโทรศัพท์ออกจากภายในเรือนจำแต่อย่างใดและไม่สามารถที่จะกระทำอย่างนั้นได้ เนื่องจากเรือนจำกลางขอนแก่นแห่งนี้หรือที่เรือนจำอื่นๆ มีกฎระเบียบห้ามไม่ให้มีการใช้โทรศัพท์อยู่แล้ว หรือหากมีการแอบใช้ก็น่าจะทำได้ยาก เนื่องจากในเรือนจำขอนแก่นแห่งนี้  มีเครื่องตรวจจับและตัดสัญญาณโทรศัพท์ แต่กระแสข่าวการใช้โทรศัพท์ของตนเองนั้น ตนขอชี้แจงว่าได้ขอใช้โทรศัพท์จำนวน 2 ครั้ง แต่เป็นการขอใช้โทรศัพท์พูดคุย ขณะอยู่ที่ศาลทหารภายใน มทบ.23 อ.เมือง จ.ขอนแก่น ซึ่งการพูดคุยครั้งที่ 1 นั้น เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 58 ส่วนครั้งที่ 2 คือวันที่ 25 ก.ย.58 ซึ่งเป็นการคุยกับญาติและกับนางปราณี  ทูลธรรม ซึ่งเป็นภรรยา โดยขณะที่โทรศัพท์นั้นจะมีการพูดผ่านไมโครโฟนและมีเจ้าหน้าที่ทหารท่านได้ฟังทุกคำพูด ซึ่งตนก็บอกกับญาติและภรรยาว่า ขอให้มาเยี่ยมหน่อยนะ ซึ่งน่าจะเป็นความเข้าใจผิดว่าตนเองนั้นได้ใช้โทรศัพท์โทรออกมาจากภายในเรือนจำ
ด้านนางปราณี ภรรยาของธนกฤตกล่าวถึงเหตุการณ์ที่สามีได้มีการโทรศัพท์พูดคุยในวันที่ 25 ก.ย.58ว่า ขณะนั้นตนเองอยู่ที่บ้านพักใน ต.ท่ากระเสริม อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ได้พูดคุยกับนายกฤติเพียงแค่ว่า สามีคิดถึงและขอให้ตนไปเยี่ยม ซึ่งด้วยความไม่รู้จึงนึกว่านายกฤติโทรมาจากภายในเรือนจำ จึงให้ข่าวกับสื่อมวลชนไปอย่างนั้น
ขณะที่นายกฤษณ์ วงษ์เวช ผู้บัญชาการเรือนจำกลางขอนแก่น ได้กล่าวถึง ระบบการป้องกันการใช้หรือลักลอบใช้เครื่องมือสื่อสาร โดยทางเรือนจำจะไม่อนุญาตให้มีการนำอุปกรณ์สื่อสารประเภทโทรศัพท์มือถือเข้าไปภายในเรือนจำโดยเด็ดขาด นอกจากนั้น ยังได้มีการนำเอาเครื่องตรวจจับสัญญาณโทรศัพท์ มาสาธิตให้คณะกรรมการได้ชม โดยการนำเอาโทรศัพท์มาสาธิตร่วมด้วยเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่ได้ทดลองโทรศัพท์ออก ก็จะเกิดเสียงสัญญาณเตือนดังออกมาจากเครื่องตรวจจับพร้อมไฟกระพริบ โดยทางเจ้าหน้าที่จะมีการติดตั้งเครื่องตรวจจับสัญญาณโทรศัพท์รัศมีอย่างน้อย 40 เมตร ซึ่งมีอยู่จำนวน 5 เครื่อง ไว้ที่เรือนพักนักโทษทั้งชายและหญิง
"นอกจากนั้นยังมีเครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์ที่มีการติดตั้งไว้ภายในเรือนจำอีกด้วย จึงเป็นเรื่องยากที่นักโทษจำนวนประมาณ 4,000 คน ที่อยู่ภายในเรือนจำแห่งนี้จะกระทำความผิดด้วยการใช้เครื่องมือสื่อสารติดต่อกับบุคคลภายนอก" ผบ.เรือนจำกลางขอนแก่น กล่าวตอนท้าย
มติชนออนไลน์ ยังรายงานด้วยว่า วันเดียวกัน นายกฤษณ์ วงษ์เวช ผู้บัญชาการเรือนจำกลางขอนแก่น ได้ทำรายงานการสอบสวนถึงนายวิทยา สุริยะวงค์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ หลังจากได้ตรวจสอบเรื่องต่าง ๆ แล้ว  

เสธ.อ้าย เชื่ออุดมเดชไม่โกงปมราชภักดิ์ ชี้ถ้าคิดหาเศษหาเลยซื้ออาวุธยุทธภัณฑ์ไม่ดีกว่าหรือ

เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมายูทูบบัญชี ‘WBTVwatyannawa’ เผยแพร่วิดีโอคลิปรายการ ‘คนค้นธรรม ตอน ราชภักดี’ ซึ่งออกอากาศ 2 ธ.ค.58 เป็นการสัมภาษณ์ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ประธานเตรียมทหารรุ่น 1 เลขาธิการกิติมศักดิ์ ราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย ถึงกระแสการทุจริตการสร้างอุทยานราชภักดิ์ โดย พล.อ.บุญเลิศ กล่าวว่าตนเชื่อมั่นว่า พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร อดีตผู้บัญชาการทหารบกและเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) นั้นไม่ทุจริตกรณีนี้
“เนื่องจาก หนึ่ง คนที่ขึ้นมาเป็น ผบ.ทบ.นั้นยากแล้วการที่เป็น ผบ.ทบ. มีทรัพยากรเยอะแยะนะครับที่จะถ้าเป็นคนโลภหรือเป็นคนที่คิดไม่ดีก็จะหยิบฉวยเอาได้ ผลประโยชน์ พูดภาษาชาวบ้านก็คือเงินทองเยอะแยะ ทั้ง (“งบลับ” พิธีกรรายการกล่าวเสริม) งบอะไรเปิดเผยเยอะแยะไปหมด แล้วก็ยังอาจจะแสดงหาผลประโยชน์จากการที่มีหน้าที่สำคัญด้วย
อันที่สอง ท่านอุดมเดช อดีตเป็นเลขาธิการคณะปฏิวัติ ซึ่งใหญ่คับฟ้าเพราะฉะนั้นจะเรียกเอาเงินใครก็ได้ ข่มขู่เอาเงินใครก็ได้ถ้าเป็นคนชั่วร้าย แล้วเรื่องอะไรถึงจะมาหาเศษหาเลย จากแนวความคิดที่ตัวคิดว่าคิดดีนะครับ คือการสร้างอุทยานราชภักดิ์ ผมจึงไม่เชื่อ ไม่เชื่อ ผมยืนยันว่าท่านอุดมเดชบริสุทธิ์”
พล.อ.บุญเลิศ กล่าวต่อว่ากระบวนการสั่งการอาจจะมีผิดพลาด เพราะคนหลายระดับที่ช่วยกันทำงาน ซึ่งตนเองก็ไม่รู้ แต่อย่างไรทหารนั้นมีจิตสำนึก เนื่องจากพวกเราได้รับการอบรมสั่งสอนว่าต้องเห็นแก่ชาติบ้านเมือง ต้องเสียสละ แม้แต่ชีวิตก็สละได้ แล้วเรื่องอะไรที่จะเห็นแก่เล็กแก่น้อย
พร้อมชี้ให้เห็นด้วยว่าโครงการนี้อย่างมากก็ไม่เกิดพันล้าน ถ้าคิดคดโกงก็จะโกงได้สักเท่าไหร่ จึงขอเรียกร้องให้พวกคนดีทั้งหลายช่วยกันเอาความคิดเหล่านี้ไปเผยแพร่ชาวบ้านเข้าใจ
“จริงๆ ชาวบ้านทั่วไปเขาก็ไม่ได้เห็นว่าเป็นการคดโกงอะไรนะครับ มีแต่อย่างคนที่ผมว่าคือฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาลนี้เท่านั้น ก็คือรัฐบาลที่แล้ว คนในรัฐบาลที่แล้วที่เห็นว่าคณะทหารที่ที่ทำที่สร้างอนุสาวรีย์อุทยานราชภักดิ์นี่คดโกง”
พล.อ.บุญเลิศ ยังฝากถึงทหารในรัฐบาลนี้ด้วยว่าอย่าพยายามสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นอีก อย่าผิดอกผิดใจกันจนทำให้เกิดผลเสีย ต้องรักกันไว้เนื่องจากคนอื่นนั้นจ้องทำลายอยู่แล้ว
"ถ้าเผื่อท่านจะคิดคดโกงท่านไปคิดโครงการอื่นดีกว่า ท่านจะมาคิดในเรื่องที่ท่านบูชายกย่องสูงสุดอยู่แล้วคือสถาบันพระมหากษัตริย์ทำไม นะครับ ท่านก็ไปคิดซื้ออาวุธยุทธภัณฑ์ที่มันราคาแพงๆ แล้วก็หาเศษหาเลยไม่ดีกว่าหรือนะครับ ดีความจะมาสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ของอดีตพระมหากษัตริย์ แล้วก็จะมาคดโกง ผมไม่เชื่อ ผมไม่เชื่อโดยสิ้นเชิง ผมว่าแม้แต่คิดก็ผิดแล้ว อย่าว่าแต่ทำเลย ผมว่าท่านอุดมเดชไม่คิดแล้วก็ไม่ทำด้วย" พล.อ.บุญเลิศ กล่าว

เตรียมส่งสำนวน ม.112 ให้ศาลทหารพรุ่งนี้ รับมี 'นายพล' เอี่ยว เผยเครือข่ายที่ยังไม่ถูกจับหนีไปต่างปท.แล้ว

ผยเตรียมส่งสำนวน ม.112 ให้ศาลทหารพรุ่งนี้ รับมี 'นายพล' เอี่ยว โฆษกตร.แจงหมายจับ ‘พ.ต.ท.ธนบัตร’ รับทหารคนสนิทอุดมเดช - 2 นายตำรวจเผ่นนอกแล้ว
3 ธ.ค. 2558  ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. เปิดเผยถึงความคืบหน้าการทำสำนวนคดีหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยระบุว่า ขณะนี้เหลือเพียงพยานวัตถุ และผลตรวจทางนิติวิทยาศาสตร์จากผู้ต้องหา และภายในวันพรุ่งนี้ (4 ธ.ค.) จะสามารถนำสำนวนอีก 4 สำนวนส่งให้กับอัยการศาลทหารได้เพิ่มเติม และภายในสิ้นปีนี้จะสามารถส่งสำนวนที่เหลือให้กับอัยการได้ทั้งหมด
รอง ผบ.ตร.กล่าวว่า ผู้ต้องหาในคดีนี้ ยอมรับว่ามีตำรวจยศชั้นนายพล และชั้นนายพัน เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรณีที่ร่วมกับ พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา ตั้งสถานีวิทยุโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งมีพยานหลักฐานยืนยันชัดเจน สำหรับกรณีที่มีคลิปเสียงบันทึกการสนทนาระหว่าง พ.ต.ต.ปรากรม กับพล.ต.ต.อัคราเดช พิมลศรี ผบก.ป. ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบของคณะพนักงานสืบสวน ของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
อย่างไรก็ตาม คดีนี้มีข้าราชการเข้ามาเกี่ยวข้องหลายนาย ตามขั้นตอนนอกจากจะต้องส่งสำนวนให้กับอัยการแล้ว คณะพนักงานสอบสวนจะต้องส่งสำนวนให้กับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ให้ร่วมตรวจสอบการกระทำความผิดด้วย
โฆษกตร.แจงหมายจับ ‘พ.ต.ท.ธนบัตร’ รับทหารคนสนิทอุดมเดช - 2 นายตำรวจเผ่นนอกแล้ว
ขณะที่วานนี้(2 ธ.ค.58) จส.100 และผู้จัการออนไลน์ รายงานตรงกันว่า หลังจากศาลทหาร กรุงเทพ อนุมัติหมายจับ พ.ต.ท.ธนบัตร ประเสริฐวิทย์ รองผู้กำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์  (รองผกก.1 บก.ปคม.) ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พล.ต.อ. เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า พ.ต.ท. ธนบัตร มีความเกี่ยวการกระทำความผิดของพ.ต.ต. ปรากรม วารุณประภา หรือสารวัตรเอี๊ยด อดีตรองสารวัตรกองบังคับการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในกรณีแอบอ้างสถาบันไปเรียกรับผลประโยชน์ จ้างทำของที่ระลึก เรียกเก็บเงินต่างๆ ซึ่งขณะนี้พ.ต.ท. ธนบัตร ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาแล้ว ส่วนจะให้พักราชการหรือย้ายไปช่วยราชการที่อื่นหรือไม่นั้น กำลังพิจารณาอยู่ ส่วนขณะนี้พ.ต.ท. ธนบัตรจะยังอยู่ในประเทศไทยหรือไม่นั้น ยังไม่ทราบ ต้องตรวจสอบอีกครั้ง
ด้านการติดตามตัวผู้ต้องหารายอื่นๆ ในคดีนี้ มีรายงานข่าวมาว่าหลายคนเดินทางออกนอกประเทศโดยใช้ช่องทางธรรมชาติไปแล้ว ซึ่งยังไม่มีเอกสารในการยืนยันว่าอยู่ที่ใด เนื่องจากไม่ใช่การเดินทางแบบปกติ เช่นเดียวกับ พล.ต.สุชาติ พรมใหม่ อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก (ซึ่งผู้จัดการรายงานว่าเป็นนายทหารคนสนิทของ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม), พ.ต.อ. ไพโรจน์ โรจน์ขจร อดีตผู้กำกับการ 2 กองบังคับการปราบปราม และพ.ต.ท.ธรรมวัฒน์ หิรัณยเลขา อดีตรองผู้กำกับการ 2 กองบังคับการปราบปราม ก็มีข่าวว่าเดินทางออกนอกประเทศไปแล้วเช่นกัน และยังไม่ทราบว่าผู้ต้องหาที่หลบหนีออกนอกประเทศนั้น ไปพักอาศัยอยู่ด้วยกันหรือไม่ โดยเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะสามารถติดตามตัวมาดำเนินคดีได้อย่างแน่นอน ขณะที่ตอนนี้เจ้าหน้าที่กำลังรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อออกหมายจับผู้ต้องหารายอื่นๆ เพิ่มเติม
ส่วนการย้ายพล.ต.ท.รอย อิงคไพโรจน์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล ไปช่วยราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรจแห่งชาติ (ศปก.ตร.)  ยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เนื่องจาก ยังไม่พบการกระทำความผิด
ส่วนกรณีของพล.ต.ต.อัคราเดช พิมลศรี อดีตผู้บังคับการกองปราบปราม มีสาเหตุมาจากการปล่อยปละละเลยให้ลูกน้องกระทำความผิด ซึ่งโอกาสที่พล.ต.ท. รอย และพล.ต.ต. อัคราเดช จะกลับมาดำรงตำแหน่งเดิมนั้น ต้องขึ้นอยู่กับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ   ส่วนกรณีที่มีข่าวว่า นายตำรวจยศพล.ต.ต. กำลังจะถูกออกหมายจับ พล.ต.อ. เดชณรงค์ ระบุว่า ต้องรอความชัดเจนในเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง

ประยุทธ์ไม่คิดราชภักดิ์จะเกิดทุจริต แต่เกิดแล้วก็ว่าตามกม. เผยห่วงอุดมเดชเพราะโตด้วยกันมา

3 ธ.ค. 2558  ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบแห่งชาติ(คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนเพื่อเป็นข้าราชการที่ดีและพลังของแผ่นดิน ถึงการสอบการทุจริตในโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ว่า วันนี้พวกเราทุกคนมาร่วมกันถวายสัตย์ฯว่าจะเป็นข้าราชการที่ดีที่ดูแลทุกข์สุขของประชาชนทุกหมู่เหล่าอย่างเท่าเทียมที่ผ่านมาแม้จะมีปัญหาอยู่บ้างวันนี้รัฐบาลจึงใช้เวลาที่มีอยู่ทำให้ประชาชนมีความรักความสามัคคีส่วนเรื่องของความขัดแย้งต้องปล่อยให้กฎหมายดำเนินการโดยต้องให้ความเป็นธรรมและทุกคนให้การยอมรับหลายเรื่องที่ทุกคนเป็นห่วงขอยืนยันว่ารัฐบาลทำทุกอย่างโดยใช้ข้อกฎหมาย สิ่งที่เรายึดมั่นมาโดยตลอดคือความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ ตรวจสอบได้ ซึ่งหลายเรื่องอยู่ในขั้นของการตรวจสอบ เพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสแก้ไข และทุกคดีนั้นก็ให้โอกาสในการแก้ไขทั้งหมด รัฐบาลพยายามทำทุกอย่างให้สังคมเข้าใจและอยากขอให้โอกาสผู้ที่อยู่ในกระบวนการด้วยจะผิดจะถูกอย่างไรก็ให้มีการสอบสวนกันมา
สำหรับคำถามที่ว่าในความคิดนั้นมองว่าโครงการจัดสร้างอุทยานฯ นี้จะมีการทุจริตหรือไม่นั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “ก็แน่นอน ใครจะคิดล่ะมันตั้งแล้วจะทุจริตล่ะ มันก็ไปดูสิมันทุจริตทั้งโครงการหรือเปล่า มันทุจริตตรงบุคคลหรือตรงเงินส่วนไหน รายรับว่าไง รายจ่ายยังไง รายรับมาจากของกลางไปส่วนหนึ่ง ไอ้ตรงนี้ไปตรวจสอบว่าไอ้งบกลางเอาลงไปมันชัดเจนไหม ไปทำจริงหรือเปล่า ถูกต้องไหม จบอันหนึ่ง อันที่สองงบบริจาคเข้ามาอย่างไร มาทางไหนถูกต้องหรือเปล่า จบอันหนึ่ง ใช่ไหมเล่า มันก็ต้องไปดูตรงนั้น แล้วผลผลิตออกมาเป็นไง เสร็จไหม เสร็จ”
“มันมีส่วนหนึ่งที่มันผิด ผิดโดยคนไม่กี่คน แล้วส่วนนี้คิดว่ามันจะอยู่ในนี้หรอ ตรวจยังไงมันก็ไม่เจอ เพราะคนมันขี้โกงไง มันก็ต้อง 2 คน ก็ต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว ถ้าไม่ผิดก็ไม่หนีหรอกมั้ง ก็ดูตรงนี้สิ นะ ดูเจตนาทุกคนเจตนาดีหมด ผมคิดว่าไม่มีใครหวังว่าเออทำนี่เพื่อจะโกงนี่โกงโน้น เขามีเป็นพันโครงการ ไอ้นี่โครงการหนึ่งในโครงการนั้น เผอิญไอ้คนเริ่มต้นครั้งแรกมันเริ่มมาจากคนที่ใกล้ชิดสถาบัน นั่นล่ะมันคือปัญหา ดูให้แยกออกจากกันสิ นะ ไปใช้ประโยชน์จากตรงนั้นมา ซึ่งยอมรับได้ไหมเล่า ก็ไม่ได้ไง ใครเกี่ยวข้องก็ว่ามา” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงความห่วงใยขงตนที่มีต่อ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานมูลนิธิราชภักดิ์ ที่ได้รับแรงกดดันในเรื่องนี้ ว่า “ส่วนตัวผมก็ต้องห่วง น้องผมนะ แต่ในความรับผิดชอบ ผมก็ต้องทำอย่างที่ผมบอกไง เอาระเบียบ เอากติกา ทุกคนรู้อยู่แล้ว รู้อยู่แล้ว ผมโตด้วยกันมา จะผิดจะถูก ถ้าผิดก็ต้องยอมรับ ถ้าไม่ผิดก็โอเค ก็ทำงานไป ก็ไปหาคนผิดมาลงโทษ ก็เป็นอย่างนั้นเองก็เท่านั้นล่ะ มันอะไรกันนักหนา รับผิดชอบทางการเมืองมันต้องรับผิดชอบตั้งแต่วันนี้หรอ มันชัดเจนหรือยังว่ามันผิดตรงไหน ที่ผมบอกไง รายรับรายจ่าย งบต่างๆ การก่อสร้าง”

ราชทัณฑ์เสียงแข็งไม่ให้เข้าดูคุก มทบ.11 – เอ็นจีโอเผย 3 จังหวัดใต้ยังเข้าได้


2 ธ.ค.2558  พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้ มูลนิธิได้รับจดหมายตอบกลับจากกรมราชทัณฑ์ กรณีที่ทางมูลนิธิทำหนังสือแจ้งความประสงค์ขอเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังในเรือนจำชั่วคราว มณฑลทหารบกที่ 11 (เรือนจำชั่วคราว แขวงถนนนครไชยศรี) หนังสือดังกล่าวลงนามโดยนายวิทยา สุริยะวงศ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ลงวันที่ 30 พ.ย.2558 ระบุว่าไม่อนุญาตตามที่มูลนิธิฯ ร้องขอเนื่องจากผู้ต้องขังที่อยู่ที่นั่นเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงของประเทศและอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาล ประกอบกับทางมูลนิธิไม่มีกิจเกี่ยวข้องหรือรู้จักเป็นญาติมิตรกับผู้ต้องขัง
พรเพ็ญกล่าวว่า วัตถุประสงค์ที่ทำเรื่องขอเข้าเยี่ยมเพราะที่ผ่านมามีผู้ถูกควบคุมตัวที่เสียชีวิตที่นั่นสองราย คิดว่าการตรวจเยี่ยมสถานที่คุมขังและขอพบคนที่ถูกควบคุมตัวจะทำให้ได้รับทราบว่าพวกเขาได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานหรือไม่ ซึ่งเป็นหลักทั่วไปของคนที่ถูกจับ แม้แต่ในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ซึ่งผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวไว้ในความดูแลของทหาร ทางมูลนิธิฯ ก็ยังสามารถเข้าเยี่ยมได้
“ในสามจังหวัดภาคใต้ก็ยังสามารถไปเยี่ยมคนที่ถูกทหารควบคุมตัวได้ แม้กระทั่งประกาศกฎอัยการศึกก็ยังไปได้ ระยะแรกๆ ของการเกิดเหตุความรุนแรงหรือประกาศกฎอัยการศึกใหม่ๆ หน่วยงานจะจำกัดสิทธิแบบนี้ แล้วก็เกิดข้อกล่าวหาการซ้อมทรมาน การละเมิดสิทธิผู้ต้องหา เราจึงเสนอให้มีการตรวจเยี่ยม ญาติต้องเยี่ยมได้อย่างเปิดเผยตั้งแต่วันแรก กี่โมงถึงกี่โมงก็ว่าไป ทางราชการก็ปรับตัวและมีระเบียบออกมารองรับ เราคิดว่าถ้าเราไปเยี่ยมพูดคุย เราจะสามารถเสนอแนะป้องกันเหตุละเมิดที่อาจเกิดขึ้น ที่ผ่านมาไม่เคยมีหน่วยงานไหนปฏิเสธ ถ้าจะมีบ้างก็เพียงการผัดผ่อน อีกสามชั่วโมง อีกชั่วโมง หรือวันนี้ไม่ได้ พรุ่งนี้ค่อยมาใหม่ แต่ไม่เคยได้รับจดหมายปฏิเสธแบบนี้” พรเพ็ญกล่าว
พรเพ็ญกล่าวถึงการให้เหตุผลของกรมราชทัณฑ์ด้วยว่า ในภาคใต้หลายครั้งทางมูลนิธิขอเข้าเยี่ยมก็ได้เข้า โดยเข้าไปกับญาติด้วย แต่บังเอิญว่ากรณีเรือนจำใน มทบ.11 นั้น ทางมูลนิธิไม่ได้รู้จักญาติผู้ต้องขังจึงไม่สามารถติดต่อได้
“จริงๆ น่าจะให้โอกาสพิสูจน์เรื่องความโปร่งใส ควรมีระเบียบในเรื่องนี้ ตอนนี้เราเองก็รอบทบาทของกรรมการสิทธิฯ อยู่ เมื่อไหร่จะมาดู เราทำงานใกล้ชิดกับกรรมการสิทธิและคิดว่าควรเข้ามาดูได้แล้ว” พรเพ็ญกล่าวและว่าขณะนี้กำลังปรึกษากันภายในองค์กรว่าจะทำอย่างไรต่อไป อาจเป็นการขอเข้าพบอธิบดีกรมราชทัณฑ์เพื่อหารือในการทำงานร่วมกัน
“ในเมื่อราชทัณฑ์มารับหน้าเสื่อ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบทางกฎหมาย ถึงแม้จะเป็นสถานที่ทหาร แต่เขารับรองว่าเป็นเรือนจำของราชทัณฑ์ ดังนั้นก็ควรเปิดเผย โปร่งใส หรือราชทัณฑ์อาจจะไม่ได้ควบคุมดูแลเองหรือเปล่า ทำให้ไม่สามารถเปิดโอกาสเข้าไปดูได้ หรือกำลังพัฒนาปรับปรุงอยู่หรือเปล่า ยิ่งตอนนี้มีผู้ต้องหาเข้าไปเพิ่มเติมด้วย ยิ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งต้องโปร่งใส” พรเพ็ญกล่าว  
เธอกล่าวอีกว่า ในเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว หลังการรัฐประหาร สหประชาชาติได้เคยให้ข้อเสนอแนะให้ไทยปรับใช้เรื่องการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัว ไทยเองก็รับปากแล้วด้วยว่าจะลงนามในพิธีสารว่าด้วยการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัว ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับย่อยของอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน
“ไม่อยากให้ราชทัณฑ์ถอยหลังเข้าคลอง เพราะส่วนหนึ่งพัฒนาจนได้มาตรฐานสิทธิมนุษยชนแล้ว แต่พอเจอเรื่องเรือนจำพิเศษ มทบ.11 มาตรฐานราชทัณฑ์ก็ตกต่ำลง แทนที่เราจะมีหน้ามีตาในการทำ Bangkok Rules ซึ่งเป็นเรื่องพัฒนาการควบคุมผู้ต้องขังที่เป็นสตรีที่ได้รับการยอมรับในเวทีสากล เป็นบวกกับการพัฒนากระบวนการยุติธรรมไทย" พรเพ็ญกล่าว

รายงาน: การคุกคามทนาย-ผู้ต้องขังคดีเตรียมป่วนBike for Dad กดดันถอนแจ้งความ

ภาพวันตำรวจแถลงข่าวการจับกุม 2 รายแรกคือ ประธินและณัฐพล

พูดคุยกับทนาย 2 คนของผู้ต้องหาหลายรายที่อยู่ในคุกพิเศษ มทบ.11 ซึ่งระบุว่าถูกกักตัว ติดตาม กีดกันการพบผู้ต้องหา และถูกกดดันให้ถอนการแจ้งความกล่าวโทษทหาร-ตำรวจที่ออกหมายจับคดี112 “ธนกฤต” 1 ใน 9 ผู้ต้องหาคดี 112 เตรียมป่วนกรุง ทนายเตรียมแถลงการคุกคามต่อศาลทหารพรุ่งนี้
เบญจรัตน์ มีเทียน หนึ่งในทนายความของผู้ต้องหาคดีเตรียมป่วนกิจกรรม Bike for Dad  ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์ “คุกคามทนายความ” ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 พ.ย.ภายในเรือนจำ มทบ.11 ซึ่งนำไปสู่การตัดสินใจแจ้งความของเธอในวันพรุ่งนี้ (4 ธ.ค.)
เรื่องราวเกิดขึ้นหลังจากวันที่ 29 พ.ย.เธอได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับ พล.ต.วิจารณ์ จดแตง ในฐานะหัวหน้าส่วนปฏิบัติการ คณะทำงานกฎหมายของ คสช. และ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผบ.ตร. ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานคดีหมิ่นเบื้องสูง พร้อมคณะ ในข้อหาละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ แจ้งความเท็จ และข้อหาหมิ่นประมาท จากกรณีการออกหมายจับนายธนกฤต โดยระบุว่านายธนกฤตเป็น 1 ในผู้เตรียมก่อเหตุความไม่สงบในกรุงเทพฯ ลอบทำร้ายบุคคลสำคัญในรัฐบาล และมีการแจ้งข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 
ผู้ต้องหาที่ตำรวจออกหมายจับในกรณีเตรียมการป่วนครั้งนี้มี 9 ราย ทนายความระบุว่าถูกจับกุมและควบคุมตัวใน มทบ.11 แล้วถึง 7 ราย โดยทยอยโดนจับมาอย่างเงียบๆ และเพียงประธินกับณัฐพลที่มีการแถลงข่าว นอกจากนี้หมายจับดังกล่าวยังครอบคลุมไปถึงธนกฤตซึ่งเคยถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำขอนแก่นในความผิดเกี่ยวข้องกับคดี “ขอนแก่นโมเดล” เมื่อปี 2557 ต่อมาได้ประกันตัวและขณะนี้กำลังรับโทษจำคุกในความผิดฐานปลอมแปลงเอกสาร ซึ่งจะครบกำหนดพ้นโทษในอีก 6 เดือนข้างหน้า เบญรัตน์ซึ่งเป็นทนายความของธนกฤตระบุว่าเป็นไปไม่ได้ที่นายธนกฤตจะกระทำผิดตามที่ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหา ลูกความจึงได้มอบให้เธอดำเนินการแจ้งความกลับกับพล.ต.วิจารณ์ พล.ต.อ.ศรีวราห์ และคณะดังกล่าว

เบญจรัตน์ มีเทียน (แฟ้มภาพ)
เบญจรัตน์กล่าวว่า หลังจากที่ได้เข้าแจ้งความแล้ว (วันที่ 29 พ.ย.) ในช่วงกลางคืนของวันนั้นเองตำรวจกองปราบฯ ที่รับแจ้งความได้โทรศัพท์เรียกให้เธอเข้าไปแก้ไขเอกสารและให้การเพิ่มเติมที่กองปราบฯ ในคืนนั้น แต่เธอปฏิเสธพร้อมแจ้งว่าจะเข้าไปดำเนินการเมื่อมีเวลาว่าง หลังจากนั้นตำรวจยังคงโทรมาหาเธออีกเกือบ 10 ครั้ง และแจ้งว่าจะมาพบที่บ้านเพื่อดำเนินการในเรื่องดังกล่าว แต่เบญจรัตน์ยืนกรานปฏิเสธ สุดท้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจได้กำหนดเวลาให้เข้าไปที่กองปราบในช่วงเช้าของวันรุ่งขึ้น (30 พ.ย.)  แม้ว่าเบญจรัตน์จะแจ้งว่าต้องเข้าไปสอบข้อเท็จจริงผู้ต้องหาที่เรือนจำชั่วคราว มทบ.11

เธอเล่าอีกว่า เวลา 10.30 น. ของวันที่ 30 พ.ย.2558 เบญจรัตน์เดินทางไปเรือนจำ มทบ.11 ขอเข้าพบเพื่อสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นผู้ต้องขังทั้ง 4 คน ได้แก่ นายประธิน, นายพาหิรัณ, นายวัลลภ และนายฉัตรชัย ที่เรือนจำชั่วคราว มทบ.11 เจ้าหน้าที่อนุญาตให้เข้าเยี่ยม แต่ไม่อนุญาตให้เอาโทรศัพท์เข้าไป เธอจึงนำโทรศัพท์มาเก็บที่รถก่อนเข้าพบผู้ต้องหา แต่ปรากฎว่ามีผู้ต้องหาเพียง 3 คนที่ออกมาที่ออกมาพบ ยกเว้นประธิน เธอสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นผู้ต้องหาทั้งสามโดยมีเจ้าหน้าที่ทหารนั่งฟังอยู่ด้วยตลอดเวลา หลังจากผู้ต้องหาทั้งสามกลับเข้าที่คุมขัง ทหารที่เฝ้าอยู่ซึ่งมียศร้อยเอกและทหารยศต่ำกว่าอีก 2 คน ได้แจ้งให้เธอรอประธินออกมา 
เบญจรัตน์นั่งรออยู่จนถึงเวลาเที่ยง จึงได้แจ้งต่อทหารว่าเธอมีนัดที่ศาลอาญาในเวลา 13.30 น.มีความจำเป็นต้องเดินทางออกจากเรือนจำ แต่นายทหารยศร้อยเอกได้ล็อคประตูห้องและสั่งให้เธออยู่พบ "นาย" ก่อน เบญจรัตน์นั่งรออยู่อีกประมาณครึ่งชั่วโมงจึงเปิดสมุดนัดหมายศาลให้ทหารดู และเจรจาว่าจำเป็นต้องขอไปทำหน้าที่ แล้วจะมาคุยกับ "นาย" ในภายหลัง แต่ทหารคนดังกล่าวก็ยืนกรานว่าให้ไปไม่ได้ นายสั่งไม่ให้ไปไหน เบญจรัตน์ถามกลับว่าศาลสั่งกับนายสั่งอย่างไหนสำคัญกว่า ทหารก็ยืนยันไม่ให้ออกไป และยังบอกด้วยว่าจะโทรศัพท์ไปคุยกับผู้พิพากษาให้

วิญญัติ ชาติมนตรี (กลาง) (แฟ้มภาพ)
ในขณะเดียวกัน วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความของผู้ต้องหาในคดีนี้อีกคนหนึ่งก็เดินทางมาเยี่ยมและสอบข้อเท็จจริงจากลูกความที่เรือนจำ มทบ.11 เช่นกัน วิญญัติกล่าวว่า เขาได้ทำเรื่องขอเยี่ยมและได้พบกับประธินเพียงคนเดียวเท่านั้น ประธิน ถูกตีตรวน ใส่กุญแจมือ และใช้ผ้าปิดตาระหว่างเดินมาพบทนาย ก่อนจะได้รับการแก้ผ้าปิดตาออกระหว่างพูดคุย อย่างไรก็ตาม วิญญัติระบุว่าเขาได้มีเวลาคุยกับประธินเพียงแค่ 5 นาทีเท่านั้น โดยระหว่างการคุยสอบข้อเท็จจริงก็มีนายทหารนั่งฟังอยู่ด้วย 
"จากนั้นเจ้าหน้าที่เรือนจำก็บอกว่าฝ่ายความมั่นคงไม่ต้องการให้คุย แล้วผมก็โดนกักบริเวณไว้ ไม่มีคำอธิบาย แค่บอกให้รอ แล้วไม่ให้ผมกับทนายเบญจรัตน์เจอกัน ทั้งๆ ที่ไปอยู่ในที่เดียวกัน แต่ให้แยกห้อง และต่อมาก็คุมตัวตัวทนายเบญไปโดยผมไม่ทราบ  มาทราบตอนหลัง" วิญญัติกล่าว
"ผมก็บอกว่าผมเป็นห่วงทนายเบญ แต่ทหารก็ไม่ยอมให้พบ" วิญญัติกล่าว
วิญญัติกล่าวด้วยว่า ทหารไม่ได้แสดงอาการก้าวร้าวแต่อย่างใด เพียงแค่บอกให้เขารอพบผู้ต้องขังเท่านั้น ขณะเดียวกันก็ถูกจำกัดไม่ให้ออกนอกห้อง ไม่ให้ใช้มือถือ และไม่ยอมบอกว่าจะได้เจอหรือไม่ โดยมีทหารใส่ชุดฝึกลายพราง 2 นายมานั่งประกบอยู่ตลอดเวลา
วิญญัตินั่งรอต่อไปจนถึงช่วงบ่ายแก่ จึงมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เข้ามาขอให้วิญญัติกลับไปเสียก่อน โดยระบุว่า "กลัวว่าจะมีปัญหากับทนายเพราะทหารไม่อยากให้อยู่"
โดยสรุปแล้ว วิญญัติขอเข้าพบผู้ต้องขังในเวลา 10.30 น. ถูกกักตัวให้รอ และได้ออกจากเรือนจำในเวลา 14.45 น. โดยได้มีโอกาสได้พบประธินลูกความของเขาเพียง 5 นาที
สำหรับเบญจรัตน์ เธอเล่าว่า หลังจากรออยู่พักใหญ่ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นสัญญาบัตรจากกองปราบ 2 คน เปน ชาย 1 หญิง 1  มารับตัวเธอเพื่อจะนำตัวไปที่กองปราบฯ ทหารจึงยอมนำตัวเธอออกมา เธอได้แจ้งกับตำรวจว่ามีนัดที่ศาลในคดีที่รับผิดชอบอยู่ ต้องการขอไปเลื่อนนัดศาล ตำรวจหญิงจึงนั่งรถมากับเบญจรัตน์เพื่อเดินทางไปที่ศาลด้วย โดยนายตำรวจอีกคนขับรถตามหลังมา เมื่อถึงศาลนายตำรวจหญิงได้ติดตามเข้าไปนั่งเฝ้าอยู่หน้าห้องพิจารณาคดี  เบญจรัตน์จึงได้แจ้งปัญหาที่เกิดขึ้นต่อผู้พิพากษา ผู้พิพากษาให้เจ้าหน้าที่ศาลออกมาตำหนิเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าให้กระบวนการพิจารณาคดีดำเนินให้เสร็จสิ้นไปก่อนจึงค่อยคุมตัวไป  
เบญจรัตน์เล่าต่อว่า เธอออกจากศาลในเวลาประมาณ 16.00 น. ตำรวจที่รออยู่มารับตัวพร้อมกับนำบันทึกที่มีเนื้อความว่า เบญจรัตน์ได้เดินทางไปกองปราบฯ ด้วยความสมัครใจมาให้เซ็นด้วยก่อนจะเดินทางไปกองปราบฯ  เจ้าหน้าที่แจ้งเธอว่า ถ้าไม่ได้ตัวทนายไปในวันนี้จะถูกย้ายภายใน 7 วัน 
เธอให้ปากคำอยู่ที่กองปราบฯ จนถึงประมาณ 21.00 น. โดยการให้ปากคำและแก้ไขเอกสารเป็นเรื่องปลีกย่อย ไม่ได้มีสาระสำคัญอะไรมากนัก สุดท้ายเบญจรัตน์จึงถามพนักงานสอบสวนยศพันตำรวจโทเจ้าของสำนวนว่า ต้องการอะไรกันแน่ พนักงานสอบสวนจึงได้แจ้งว่า “นาย” ต้องการให้ถอนการแจ้งความกล่าวโทษ แต่เบญจรัตน์ได้ยืนยันว่าไม่สามารถทำได้
"เรายืนยันไปว่าเป็นทนายความไม่สามารถถอนฟ้องได้ แต่เจ้าหน้าที่ก็บอกว่ามีใบมอบอำนาจจากผู้ต้องหาแล้วก็ถอนได้สิ" เบญจรัตน์กล่าวและอธิบายว่าเหตุที่ไม่สามารถอนการกล่าวโทษได้ เพราะตามหลักกฎหมายความผิดดังกล่าวเป็นอาญาแผ่นดิน เมื่อความผิดได้เกิดขึ้นแล้วไม่สามารถถอนการดำเนินคดีได้
เธอกล่าวต่อว่า นอกจากการถูกจับตา ติดตาม  กดดันแล้ว เธอยังกังวลว่าอาจจะถูกคุกคามอีกเมื่อจะต้องเข้าไปสอบข้อเท็จจริงผู้ต้องขังทั้งสี่คนใน เรือนจำพิเศษ มทบ.11 ในครั้งถัดๆ ไป
เบญจรัตน์กล่าวด้วยว่า ในวันพรุ่งนี้ (4 ธ.ค.) เธอจะเดินทางไปยังศาลทหาร เพื่อแถลงต่อศาลถึงเรื่องการกักขังหน่วงเหนี่ยวทนาย เป็นคุกคามและขัดขวางไม่ให้ปฏิบัติหน้าที่ตามวิชาชีพทนายความ และขอให้ศาลมีคำสั่งให้เรือนจำ มทบ.11 อำนวยความสะดวกในการเข้าพบผู้ต้องขัง เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินไปอย่างโปร่งใส

ธนกฤต 
สำหรับบทสรุปเรื่องจะมีการถอนแจ้งความหรือไม่นั้น แรงกดดันดูเหมือนไม่ได้มาทางทนายความอย่างเดียว  เช้าวันนี้ (3 ธ.ค.) เบญจรัตน์ได้เข้าเยี่ยมธนกฤตในเรือนจำขอนแก่น ลูกความของเธอได้แจ้งว่า หลังมอบอำนาจให้เธอไปแจ้งความกลับกับเจ้าหน้าที่นั้น ได้มีชุดตำรวจทหารจากกรุงเทพฯ เดินทางมาที่เรือนจำขอนแก่นเพื่อสอบสวนเขาถึง 4 รอบ โดยคณะผู้สอบสวนได้ขอให้เขาถอนแจ้งความเพื่อแลกกับการที่เจ้าหน้าที่จะไม่แจ้งข้อหามาตรา 112 กับเขาโดยเจ้าหน้าที่กล่าวหาว่าเขามีการพูดคุยเรื่องสถาบันกษัตริย์ในเรือนจำ สุดท้ายเขาจึงจำเป็นต้องยินยอมเซ็นชื่อถอนแจ้งความ แต่อย่างไรก็ดี วานนี้ (2 ธ.ค.) มีการแถลงข่าวจากทางเจ้าหน้าที่ว่าจะเอาผิดธนกฤตในคดีเตรียมป่วนกรุงเช่นเดิม ดังนั้นธนกฤตจึงเปลี่ยนการตัดสินใจและได้มอบหมายให้ทนายดำเนินคดีฟ้องเอาผิดต่อเจ้าพนักงานผู้กล่าวโทษในความผิดที่เขาไม่ได้ก่ออีกครั้งหนึ่ง