วันพุธที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ยกฟ้อง ‘สุเทพและพวก’ คดีแจกผ้าขนหนูงานสงกรานต์ หนุนผู้สมัคร อบจ.สุราษฎร์ฯ

ศาลยกฟ้อง ‘สุเทพและพวก’ คดีฝ่าฝืนพ.ร.บ.เลือกตั้ง แจกผ้าขนหนูงานสงกรานต์ ระบุผู้สมัคร อบจ.สุราษฎร์ฯ ไม่ได้อยู่ในงาน จำเลยจึงไม่ได้เกี่ยวข้องที่จะจูงใจให้เลือก และประชาชนส่วนใหญ่เลือกพรรคประชาธิปัตย์อยู่แล้ว แม้จำเลยไม่ได้ลงพื้นที่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย
30 ธ.ค.2557 พระสุเทพ ปะภากโร หรือสุเทพ เทือกสุบรรณ และประพนธ์ นิลวัชรมณี อดีต ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยพระสงฆ์จากสวนโมกข์ จำนวน 2 รูป และผู้ติดตาม ได้เข้าห้องพิจารณาคดีที่ 1 ศาลจังหวัดเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อมาฟังคำพิพากษาตัดสินที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้ง 3 ประกอบด้วย สุเทพ เทือกสุบรรณ จำเลยที่ 1 ชุมพล กาญจนะ จำเลยที่ 2 และประพนธ์ นิลวัชรมณี จำเลยที่ 3 ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา4, 5, 57, 118 ริบผ้าขนหนูของกลาง และสั่งเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งจำเลยทั้ง 3 เป็นระยะเวลา 10 ปี
สำหรับคดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2551 ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำองค์การบริหารจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประกาศให้มีการเลือกตั้งนายก.อบจ.สุราษฎร์ธานีและสมาชิก อบจ.สุราษฎร์ธานี รวม 30 เขตเลือกตั้ง ซึ่งอำเภอเกาะสมุยเป็นเขตเลือกตั้ง 1ใน 30 เขตเลือกตั้ง โดยกำหนดเลือกตั้งในวันที่ 20 เมษายน 2551 มี มนตรี เพชรขุ้ม  ลงสมัครนายก.อบจ. หมายเลข 1 ธานี เทือกสุบรรณ ลงสมัครนายก.อบจ.หมายเลข 2 และ สุวพัฒน์ สมหวัง ลงสมัครสมาชิกอบจ.หมายเลข 1 สุริญญา ยืนนาน ลงสมัครสมาชิกอบจ.หมายเลข 2 ในเขตอำเภอเกาะสมุย
ต่อมาเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2551 ทางเทศบาลตำบลเกาะสมุยจัดงานประเพณีสงกรานต์ขึ้น ในงานดังกล่าวทางจำเลยทั้ง 3 ที่ในขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุราษฎร์ธานี เขตเลือกตั้งที่ 1 พรรคประชาธิปัตย์ ได้มาร่วมงาน และเฉพาะจำเลยที่ 1 ยังดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรประชาธิปัตย์และพี่ชายของธานี โดยมีสุริญญา ยืนนาน มาร่วมงาน โดยจำเลยทั้ง 3 นำผ้าขนหนูที่ปักอักษรว่า พรรคประชาธิปัตย์ ส.ส.ชุมพล กาญจนะ ส.ส.ประพนธ์ นิลวัชรมณี ส.ส.สุเทพ เทือกสุบรรณ มามอบให้แก่ผู้สูงอายุที่มาร่วมงานประเพณีรดนำดำหัว
เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2551 มนตรี เพชรขุ้ม ผู้สมัครนายก.อบจ. และสุวพัฒน์ สมหวัง ผู้สมัครสมาชิกอบจ.เขตเกาะสมุย ยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งในวันที่ 20 เมษายน 2551 ว่าการที่จำเลยทั้ง 3 และสุริญญา ยืนนาน มาร่วมงานประเพณีสงกรานต์และมอบผ้าขนหนูให้แก่ผู้สูงอายุนั้น ถือว่าเป็นการให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สิน อันอาจคำนวนเป็นเงินให้กับผู้สูงอายุ เพื่อจูงใจให้ผู้สูงอายุที่มีสิทธิ์เลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้กับนายธานี และสุริญญา ผู้สมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ อีกทั้งจำเลยที่ 1 ยังเป็นพี่ชายของธานีอีกด้วย
ต่อมาทางกกต.จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีความเห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้ง 3 เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนตามพรบ.เลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น พ.ศ.2545 ต่อมาศาลอุทรณ์ภาค 8 มีคำสั่งให้เพิ่งถอนสิทธิ์การเลือกตั้งสุริญญา ยืนนาน เป็นเวลา 5 ปี และให้มีการเลือกตั้งนายก.อบจ.และสมาชิกอบจ.เขตเกาะสมุยใหม่ ซึ่งคดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยประการเดียวว่า การกระทำของจำเลยทั้ง 3 มีความผิดตามฟ้องหรือไม่เฉพาะส่วนที่จำเลยทั้ง3 มาร่วมงานประเพณีสงกรานต์ซึ่งอยู่ในช่วงที่มีการเลือกตั้งนั้น
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงน่าเชื่อว่าการที่จำเลยทั้ง 3 มอบของที่ระลึกให้แก่ผู้สูงอายุนั้นน่าจะไม่มีความเกี่ยวข้องกับสุริญญา ส่วนการที่จำเลยทั้ง3มอบผ้าขนหนูให้แก่ผู้สูงอายุที่มีการปักข้อความว่าพรรคประชาธิปัตย์และจำเลยที่ 1 สวมเสื้อที่มีตราสัญลักษณ์พรรคประชาธิปัตน์ที่อาจจะสื่อความหมายในทำนองว่าให้สนับสนุนสุริญญาผู้สมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์นั้นทางอนุกรรมการสืบสวนสอบสวน กกต.สุราษฎร์ธานี เบิกความตอบโจทก์ว่าการที่สุริญญา ยืนนาน ลงสมัครสมาชิกอบจ.สุราษฎร์ธานี เขตอำเภอเกาะสมุยนั้น นายสุริญญา ไม่มีหนังสือรับรองจากพรรคประชาธิปัตย์ และทางปลัดอบจ.สุราษฎร์ธานี ก็ได้รับแจ้งว่านายสุริญญา ก็ไม่ได้ลงสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ ประกอบกับจำเลยที่ 1 ลงสมัครรับเลือกตั้งทางการเมืองเป็นเวลา 30 ปี จำเลยที่ 1 ก็สวมเสื้อที่มีข้อความ หรือสัญลักษณ์ของพรรคประชาธิปัตย์อยู่แล้ว
และตามที่บุคคลทั้งสามได้มาร่วมงานประเพณีวันสงกรานต์ที่จัดขึ้นโดยเทศบาลตำบลเกาะสมุยในขณะนั้น ศาลจังหวัดเกาะสมุย เห็นควรให้ยกฟ้อง เนื่องจาก สุเทพ เทือกสุบรรณ ประพนธ์ นิลวัชรมณี และชุมพล กาญจนะ ได้เข้าร่วมงานประเพณีสงกรานต์ที่จัดขึ้นโดยเทศบาลตำบลเกาะสมุย จากการเชิญเข้าร่วมงานรดน้ำ และได้มอบผ้าขนหนูให้แก่ผู้สูงอายุนั้นพบว่า ธานี เทือกสุบรรณ ที่ลงสมัครในตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี และสุริญญา ยืนนาน ผู้ลงสมัครสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี เขตอำเภอเกาะสมุย ไม่ได้อยู่ในพิธีในขณะนั้น เนื่องจากได้เดินทางไปร่วมงานประเพณีสงกรานต์ที่บ้านใต้ ตำบลแม่น้ำ อำเภอเกาะสมุย ทำให้การเข้าร่วมงานประเพณีสงกรานต์ของทั้ง 3 คน ไม่ได้เกี่ยวข้องที่จะเป็นการจูงใจให้ผู้สูงอายุเลือก สุริญญา ยืนนาน และธานี เทือกสุบรรณ บุคคลทั้งสองแต่อย่างใด เพราะประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ได้จัดให้มีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี และสมาชิกองค์บริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งผลการเลือกตั้งประชาชนส่วนใหญ่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ ถึงแม้สุเทพ เทือกสุบรรณ ประพนธ์ นิลวัชรมณี และชุมพล กาญจนะ ถึงแม้บุคคลทั้ง 3 ไม่ได้ลงพื้นที่ก็ตาม คะแนนการเลือกพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังนำคู่แข่งในทุกเขตเลือกตั้ง จึงเห็นควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลยทั้ง 3 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227/2 ส่วนผ้าขนหนูของกลางไม่ใช่ทรัพย์สินของกลางที่จำเลยได้ใช้กระทำความผิด จึงมีคำสั่งให้คืนของกลางแก่เจ้าของ ศาลจังหวัดเกาะสมุย จึงมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 3 คน

นับถอยหลังแบบใหม่ ‘เคาท์ดาวน์ เรารุ่ง 2558’ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย


            วันที่ 31 ธ.ค.นี้ ตั้งแต่เวลา 18.00 น.เป็นต้นไป ที่ “ร้านลาภ”  บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลุ่มนักกิจกรรมจัดงาน 'เคาท์ดาวน์ เรารุ่ง 2558'  (Coup Down People Rise 2015โดยการร่วมรับประทานอาหารนานาชาติที่รายล้อมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ระหว่างจะมีกิจกรรม “สอยดาวน์”  เพื่อให้เข้ากับชื่อกิจกรรม  “เค้าดาวน์”  โดยมีของที่ระลึกต่าง ๆ ที่มีผู้ร่วมบริจาคมาสมทบทุนการจัดงาน

            เวลา 20.00 น. มีกิจกรรม “สัมโมทนียกถา” โดยสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ นักประวัติศาสตร์จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ว่าด้วยบทเรียนและอนาคตของการเมืองเมืองไทยเมื่อขึ้นปี 2558

           หลังจากนั้นจะมีกิจกรรม  ดนตรี กวี ศิลปะ   มาสลับรายการ  และการ  “ส้องเสพเสวนา”  โดยตัวแทนจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน  ที่ทำงานช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนภายใต้การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557,   

            ตัวแทนนักศึกษา ที่ร่วมเคลื่อนไหวมาอย่างโดดเด่น   รวมทั้งแขกรับเชิญด้านต่างๆ
ก่อนจะมีการแสดง ศิลปะ Street Performance   ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของ ธีระวัฒน์ มุลวิไล นักแสดงและ ฮาเมอร์ ซาลวาลา นักดนตรี

ตบท้ายด้วย “เคาท์ดาวน์ จุดเทียนให้เรารุ่ง”  พร้อมอ่านบทกวีร่วมกัน

เค้า ลางปรากฏชัด                     ถนัดตา
ดาวน์   หล่นจากเวหา           เคลื่อนแล้ว
เรา   พี่น้องผองประชา              ร้องเล่น
รุ่ง   อรุณปีใหม่แพร้ว     เพริดพริ้งอิสรา

       ทั้งนี้ งานดังกล่าวจัดโดย นักศึกษา อาจารย์ นักกิจกรรมทางสังคม  ทนายความ  นักธุรกิจ  ญาติผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามทางการเมือง ตลอดจนผู้ที่รักในเสรีภาพ  โดยผู้จัดงานระบุว่า ถือโอกาส “ส่งท้ายปีเก่า (2557) ต้อนรับปีใหม่ (2558)”  ตามที่หน่วยงานต่างๆ จัดงานด้วยแนวคิดที่หลากหลายเป็นจุดเริ่มต้น

ปลัดไอซีทีเผย ครึ่งวัน คนโหลดสติกเกอร์ไลน์ ค่านิยม 12 ประการ กว่าล้านบัญชี


30 ธ.ค. 2557 สติกเกอร์ Line ค่านิยมหลัก 12 ประการ เปิดให้ดาวน์โหลดแล้ว โดยสามารถดาวน์โหลดได้ฟรีหลังจากกดเป็นเพื่อนกับบัญชี Digital Society ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) 
สติกเกอร์มีทั้งหมด 16 ลาย เป็นแบบเคลื่อนไหวได้ และเป็นค่านิยมหลักและสัญลักษณ์ของประเทศไทยโดย 12 ลายเป็นค่านิยมหลัก 12 ประการ และอีก 4 ลาย จะเป็นสติกเกอร์โอกาสพิเศษ ทั้งนี้ สามารถโหลดได้ตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค.57- 28 ม.ค.58 และมีอายุการใช้งานหลังการโหลด 90 วัน
สำหรับสติกเกอร์ไลน์ค่านิยมหลัก 12 ประการ เป็นความร่วมมือ 3 กระทรวง คือ กระทรวงไอซีที กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อเป็นของขวัญให้กับประชาชนที่นิยมส่งสติกเกอร์ไลน์ได้แสดงความรู้สึกในโอกาสต่างๆ
ราคารวมของการจัดทำสติกเกอร์ค่านิยมหลัก 12 ประการอยู่ที่ 7.1 ล้านบาท ลดลงจากราคาเดิมที่ 7.8 ล้านบาท โดยนายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที ยืนยันว่า เป็นราคาที่ไม่แพง ถือเป็นการใช้ช่องทางไลน์เพื่อเข้าถึงประชาชนได้อย่างกว้างขวางเพราะจากสถิติการใช้ไลน์ในประเทศไทยอยู่ที่ 33 ล้านบัญชี มีการส่งข้อความวันละประมาณ 40 ล้านข้อความ โดยไลน์ถือเป็นแอปพลิเคชันที่ได้รับความนิยม จึงต้องการให้ประชาชนมีการปลูกฝังลงไปในจิตใจแล้วนำไปปฏิบัติตามหลักของค่านิยมที่ได้กำหนดไว้ 12 ประการ ทั้งนี้ ตั้งเป้าจะมียอดดาวน์โหลด 3.5 ล้านบัญชีและหวังว่าจะทำให้ประชาชนเกิดค่านิยมรักความเป็นไทยมากขึ้น
นางเมธินี เทพมณี ปลัดกระทรวงไอซีที กล่าวว่า เบื้องต้น ณ เวลา 13.00 น.ของวันที่ 30 ธ.ค. มียอดการดาวน์โหลดแล้วกว่า 1 ล้านบัญชี ทั้งนี้ หวังว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชนผู้นิยมแอปพลิเคชันไลน์ร่วมดาวน์โหลดและส่งต่อความรู้สึกถึงกันตามเป้าหมายที่รัฐบาลอยากจะคืนความสุขให้ประชาชน

กมธ.กฎหมายตั้ง 'พะจุณณ์' ปฏิรูปโครงสร้าง ตร.


กมธ.กฎหมาย สปช. ตั้ง 'พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป' เป็นประธานปฏิรูปโครงสร้างตำรวจ ชี้จะมีการหาข้อสรุปอีกครั้ง 6 ม.ค. 58
30 ธ.ค. 2557 ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงการปฏิรูปตำรวจ ว่า คณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สปช. ตั้งคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจหน้าที่ และกระบวนการทำงานของตำรวจ เพื่อประโยชน์ประชาชน มี พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป สมาชิก สปช. เป็นประธานฯ ซึ่งการปฏิรูปต้องเป็นไปตามแนวทาง กมธ.ชุดใหญ่ คือ
  • 1.ปฏิรูปรูปแบบการบริหาร เช่น เปลี่ยนเป็นตำรวจส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ต้องมีสภากิจการตำรวจแห่งชาติ และคณะกรรมการกิจการตำรวจส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค กำกับดูแลเรื่องแต่งตั้งโยกย้าย รวมถึงปฏิรูปรูปแบบการจัดการ เช่น กองบัญชาการ กองบังคับการ
  • 2.อำนาจหน้าที่ตำรวจที่ไปเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน เช่น สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ต้องดูว่าควรอยู่ภายใต้การกำกับดูแลตำรวจหรือไม่
  • 3.ปฏิรูปกระบวนการการทำงานเรื่องสอบสวน จับกุม ต้องแบ่งส่วนให้ชัดเจนว่าจะมีองค์กรใดถ่วงดุลหรือไม่

นอกจากนี้ นายวันชัย ระบุด้วยว่า ผู้ที่จะเป็นตำรวจควรจะปฏิรูปด้านคุณวุฒิและวัยวุฒิด้วย ซึ่ง กมธ.ปฏิรูปกฎหมายฯ จะประชุมหาข้อสรุปอีกครั้ง วันที่ 6 ม.ค. 58 อย่างไรก็ตาม องค์กรตำรวจมีปัญหา ถ้าไม่ปฏิรูปประชาชนจะผิดหวัง

ICC เสนอลดระดับ 'กรรมการสิทธิไทย' จาก A เป็น B

คณะอนุกรรมการในการประเมินสถานะของ ICC ซึ่งเป็นหน่วยงานตรวจสอบ-ประเมินการทำงานของคณะกรรมการสิทธิทั่วโลก เสนอลดระดับกรรมการสิทธิของไทย จาก A เหลือ B หลังพบปัญหา อาทิ กสม.ไม่สนองต่อปัญหาละเมิดสิทธิในประเทศทันท่วงที กระบวนการสรรหาไม่มีความหลากหลาย ทั้งนี้ มีเวลา 1 ปีในการแก้ไขตามความเห็นที่ ICC เสนอให้ มิเช่นนั้นจะถูกลดสถานะเป็น B
31 ธ.ค.2557 วานนี้มีการเผยแพร่รายงานการประชุมเมื่อเดือนตุลาคมของคณะอนุกรรมการในการประเมินสถานะฯ ของคณะกรรมการประสานงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (International Coordinating Committee on National Human Rights Institutions: ICC) โดยมีมติเสนอให้ลดระดับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ของไทย จากสถานะ A เป็น B
สำหรับ ICC ตั้งอยู่ที่กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ เป็นหน่วยงานระหว่างประเทศที่มีบทบาทในการตรวจสอบและประเมินการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนทั่วโลกว่าได้ดำเนินการตามหลักการปารีส (Paris Principles) ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนหรือไม่
ทั้งนี้ ในการประชุมเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา มีการประเมินคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนทั่วโลกจาก 16 ประเทศ โดยมีเพียงไทยเท่านั้นที่ถูกลดระดับ ที่เหลือเป็นการเลื่อนขั้น คงระดับและบางส่วนถูกเลื่อนการประเมินไปครั้งหน้า โดยครั้งนี้ มีการเสนอให้รับรองสถานะของประเทศลิเบียเป็น B
สำหรับประเด็นที่คณะอนุกรรมการฯ ของ ICC ให้ความเห็นต่อ กสม. มีอาทิ
กระบวนการคัดเลือกและแต่งตั้ง กสม. พบว่า ไม่มีการกำหนดให้ต้องประชาสัมพันธ์การรับสมัคร กสม. คณะกรรมการสรรหา กสม. มาจากองค์กรสาธารณะไม่กี่แห่ง ไม่มีความเป็นตัวแทนที่ชัดเจน ไม่มีการกำหนดให้ปรึกษา หารือกับกลุ่มที่มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือภาคประชาสังคม ไม่มีข้อกำหนดเรื่องการปรึกษาหารือหรือการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการรับสมัคร การคัดเลือกและกระบวนการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และไม่มีเกณฑ์ที่ละเอียดและชัดเจนที่จะใช้ประเมินคุณสมบัติของผู้สมัครเป็น กสม.
ด้านการตอบรับปัญหาด้านสิทธิมนุษย์อย่างทันสถานการณ์ กสม.ไม่สามารถตอบรับกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงได้ทันสถานการณ์ โดยอ้างถึงเหตุการณ์ความรุนแรงในปี 2553 ซึ่งมีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก แต่ กสม.ใช้เวลาถึงสามปีในการทำรายงานเรื่องดังกล่าว นอกจากนี้ ยังมีกรณีการชุมนุมในปลายปี 2556 ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเช่นกัน ทั้งนี้ แม้ว่า กสม.ได้ระบุว่ากำลังพยายามติดตามสถานการณ์สิทธิ แต่จะเห็นว่า ขณะนี้ กสม.ยังไม่มีรายงานการละเมิดสิทธิกรณีนี้ออกมา
นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตถึงบทบาทของ กสม. ในสถานการณ์รัฐประหารหรือสถานการณ์ฉุกเฉินว่า องค์กรสิทธิควรมีหน้าที่เฝ้าระวังและธำรงความเป็นอิสระ รวมถึงส่งเสริมและยืนยันการเคารพสิทธิมนุษยชน หลักประชาธิปไตย และส่งเสริมความแข็งแกร่งของหลักนิติรัฐในทุกสถานการณ์โดยไม่มีข้อยกเว้น นอกจากนี้ ควรมีการเฝ้าระวัง การบันทึก ออกแถลงการณ์ และรายงานการละเมิดสิทธิผ่านสื่ออย่างทันท่วงที
ด้านความเป็นอิสระของ กสม. พบว่า มีเจ้าหน้าที่ของ กสม. แสดงความเห็นทางการเมืองขณะปฏิบัติหน้าที่ 
ทั้งนี้ กสม. มีเวลา 1 ปีในการแก้ไขตามความเห็นที่ ICC เสนอให้ หากไม่ได้ดำเนินการตามนั้นจะถูกลดสถานะเป็น B
โดยผลกระทบจากการเป็น B status คือ
1) จะไม่สามารถแสดงความคิดเห็นหรือส่งเอกสารในการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้ รวมถึงการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย (Universal Periodic Review) ในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่เกิดขึ้นในต้นปี 2559

2) สถานะของ กสม. คือ จะเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ในการประชุมในระดับภูมิภาคและนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (เช่น การประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก - Asia Pacific Forum on National Human Rights Institutions)

3) จะไม่สามารถลงคะแนนเสียงในการประชุมของ ICC หรือสมัครเป็นคณะกรรมการ/อนุกรรมการของ ICC ได้

วันอังคารที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2557

พระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรร้านโกลเด้นเพลสซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการส่วนพระองค์


ที่มาของภาพ: เพจกองข่าว สำนักราชเลขาธิการ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จทอดพระเนตรการดำเนินงานร้านโกลเด้นเพลส สาขา 10 ซึ่งตั้งอยู่ชั้นล่างของ รพ.ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ และเสด็จพระราชดำเนินไปยังสถาบันแพทย์แผนไทย เพื่อทอดพระเนตรทัศนียภาพ 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนเสด็จฯ กลับ
สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานว่า เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. เวลา 16.19 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินจากอาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช ไปยังโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ เป็นการส่วนพระองค์ เพื่อทอดพระเนตรการดำเนินงานร้านโกลเด้นเพลส สาขา 10 ซึ่งตั้งอยู่ชั้นล่างของโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
ในการนี้ ทรงเลือกซื้อสินค้าจากโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา เช่น นมเปรี้ยวจิตรลดา นมจืดจิตรลดา ไอศกรีม และผลไม้ต่าง ๆ ทั้งนี้ ร้านโกลเด้นเพลส ภายใต้บริษัท สุวรรณชาด จำกัด ในพระบรมราชูปถัมภ์ นับเป็นหนึ่งในโครงการส่วนพระองค์ที่ทรงจัดตั้งขึ้น เพื่อเป็นร้านค้าปลีกต้นแบบของคนไทย จำหน่ายสินค้าที่ปลอดภัยจากสารพิษและเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายกระจายสินค้าให้เกิดประโยชน์ทั้งในด้านการส่งเสริมผู้ผลิตให้สามารถจำหน่ายสินค้าในราคาที่ไม่ขาดทุนและผู้บริโภคได้ซื้อสินค้าดีมีคุณภาพมาตรฐาน และราคายุติธรรม
จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปยังชั้น 7 โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถาบันแพทย์แผนไทย เพื่อประทับเปลี่ยนพระราชอิริยาบถ พร้อมเสวยพระสุธารส และทอดพระเนตรทัศนียภาพ 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา สมควรแก่เวลา จึงเสด็จพระราชดำเนินกลับอาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช เมื่อเวลา 17.00 น.ซึ่งตลอดเส้นทางเสด็จ ฯ มีประชาชนรอเฝ้า ฯ รับเสด็จและเปล่งเสียงถวายพระพรทรงพระเจริญอย่างกึกก้อง

เครือข่ายผู้ป่วยขอ ‘ประยุทธ์’ ปลดปลัด สธ.คืนความสุข ปชช. ชี้ 2 ปีมีแต่ความวุ่นวาย


เครือข่ายผู้ป่วยยื่น จ.ม.เปิดผนึกถึงนายกฯ ขอให้ปลด นพ.ณรงค์ จากปลัด สธ. ระบุเหตุผล 4 ข้อ ชี้ 2 ปีสร้างแต่ความวุ่นวาย ขอ ‘ตู่’ ปลดปลัด สธ.คืนความสุขให้ประชาชนโดยเร็ว
เมื่อวันที่ 29 ธ.ค.2557 ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล เครือข่ายผู้ป่วยมะเร็ง หัวใจ ไตวายเรื้อรัง โรคเลือดฮีโมฟีเลีย ผู้ติดเชื้อเอชไอวี คนพิการ และกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติประมาณ 100 คน ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ขอให้สั่งย้าย นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ พ้นจากปลัดกระทรวงสาธารณสุข
ธนพล ดอกแก้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไต เปิดเผยว่า หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ได้จัดตั้งรัฐบาลเพื่อคืนความสุขให้ประชาชน และตั้ง นพ.รัชตะ ซึ่งเป็นนักบริหารที่ประชาชนยอมรับเป็น รมว.สธ. และประกาศนโยบายปฏิรูประบบสุขภาพ แต่ 3 เดือนที่ผ่านมากลับต้องเจอกับการท้าทาย ขัดขวางปลุกระดมข้าราชการไม่ให้ความร่วมมือจาก นพ.ณรงค์ ปลัด สธ. ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากพรรคเพื่อไทย ทำให้สังคมมองว่ากระทรวง สธ. ไม่มีผลงาน ทำลายความชอบธรรมของรัฐบาล ทำให้ระบบสุขภาพแตกร้าว บุคลากรมีความขัดแย้งกันในทุกระดับ เอาความเจ็บป่วยของประชาชนเป็นตัวประกันเพื่อต่อรองอำนาจกับรัฐมนตรี
ธนพลกล่าวว่า เพื่อระงับความเสียหายและคืนความสุขให้คนไทย เครือข่ายผู้ป่วยฯ จึงขอให้นายกรัฐมนตรี สั่งย้าย นพ.ณรงค์ พ้นจากตำแหน่งปลัด สธ. เพื่อไม่ให้ใช้อำนาจหน้าที่ปลุกปั่นข้าราชการสร้างความแตกแยก ด้วย 4 เหตุผล
1. นพ.ณรงค์ ใช้อำนาจปลัดเรียกประชุม สั่งการข้าราชการและคนใกล้ชิดสร้างความแตกแยกระหว่าง รพ.ใหญ่ในเมืองกับรพ.ขนาดเล็กในชนบท ทำให้รพ.ชุมชนอ่อนแอลง โดยไม่ใส่ใจกับปัญหาสาธารณสุขและความเจ็บป่วยของประชาชน
2. เอาความเจ็บป่วยของผู้ป่วยเป็นตัวประกันเพื่อต่อรองดึงเอาอำนาจการจัดสรรงบประมาณที่อยู่ในบอร์ด สปสช.ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนกลับไปอยู่ที่ สธ. ล่าสุด รพ.ขนาดใหญ่ถึงขั้นขู่ รมว.สธ. ว่าจะไม่ส่งข้อมูลการเบิกเงินให้ สปสช. จนกว่าบอร์ด สปสช.จะทำตามข้อเสนอการจัดสรรงบของปลัด สธ. ถือว่าไร้มนุษยธรรม และทำผิดกฎหมายชัดเจน
3.ใช้อำนาจปลัดท้าทายและไม่สนองตอบนโยบายผู้บังคับบัญชา นพ.ณรงค์ ไม่เคยลงพื้นที่และเข้าร่วมประชุมนโยบายสำคัญ ทั้งนโยบายของขวัญปีใหม่ ที่มีนายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และการประชุมนโยบายหมอครอบครัว ที่ รมว.สธ.เชิญให้นพ.ณรงค์มาร่วมประชุม เมื่อถึงเวลาก็ไม่มา สร้างความเสียหาย และเป็นการปฏิบัติตัวไม่เหมาะสมในฐานะปลัด
4.ไม่ปฏิบัติตามนโยบายเขตสุขภาพประชาชนของ คสช.และรัฐบาล ยังคงเดินหน้าเขตบริการสุขภาพของตนเพื่อดึงดันจะดึงงบประมาณมาจัดสรรเองให้ได้ โดยไม่สนใจร่มใหญ่คือ เขตสุขภาพประชาชน
“ด้วยความจำเป็นจากเหตุผล 4 ข้อ และยุติความขัดแย้งภายในกระทรวงสาธารณสุข และระบบบริการสาธารณสุข ที่แตกแยก บอบช้ำมาเป็นเวลามากกว่า 2 ปี จากแนวคิดที่ผิดพลาด ถอยหลังเข้าคลอง และจากการบริหารจัดการที่ขาดภาวะผู้นำ ขาดวุฒิภาวะ ของ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ และเพื่อให้นโยบายปฏิรูประบบสาธารณสุขของรัฐบาล สามารถเดินหน้าได้ เกิดประโยชน์กับประชาชนตามความตั้งใจของ คสช. เครือข่ายผู้ป่วยมะเร็ง หัวใจ ไตวายเรื้อรัง โรคเลือดฮีโมฟีเลย ผู้ติดเชื้อเอชไอวี คนพิการ และกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ จึงขอให้ท่านนายกรัฐมนตรี และท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตัดสินใจสั่งย้าย นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ พ้นจากตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยเร็ว เพื่อคืนความสุขเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับผู้ป่วยและประชาชนโดยทั่วไป” นายธนพล กล่าว
ทั้งนี้ มีรายงานข่าวว่า นพ.รัชตะ รมว.สธ. ได้เชิญ นพ.ณรงค์ ปลัด สธ., นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังในระบบหลักประกันสุขภาพ  หารือเพื่อแก้ปัญหาร่วมกันในวันที่ 5 ม.ค.58 นี้ เพื่อหาทางยุติข้อขัดแย้งภายในกระทรวง สธ. และหวังเดินหน้านโยบายของรัฐบาลด้านสาธารณสุขหลังมีข่าวเรื่องไม่มีผลงาน และก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.ที่ผ่านมา ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้มีความพยายามประสานรอยร้าวดังกล่าว ด้วยการเรียกตัว นพ.ณรงค์ เข้าพบที่ทำเนียบจนมีข่าวลือเรื่องการให้โอกาสอีกครั้ง
...................................
จดหมายเปิดผนึก
ของเครือข่ายผู้ป่วยมะเร็ง หัวใจ ไตวายเรื้อรัง โรคเลือดฮีโมฟีเลีย ผู้ติดเชื้อเอชไอวี คนพิการ
และกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ
เรื่อง  ขอให้คืนความสุขให้กับระบบบริการสาธารณสุขของประชาชน
         ด้วยการสั่งย้าย นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ พ้นจากปลัดกระทรวงสาธารณสุข
เรียน ท่านนายกรัฐมนตรี และท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
                     
ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้จัดตั้งรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาที่สะสม สร้างความปรองดองสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในสังคม คืนความสุขให้ประชาชน และเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย  โดยมอบหมายให้ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน นักวิชาการ และนักบริหารที่ประชาชน และชาวสาธารณสุขยอมรับอย่ากว้างขวาง ให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมกับประกาศนโยบายเดินหน้าปฏิรูประบบสาธารณสุข สร้างทีมหมอครอบครัวทำงานเชิงรุก ดูแลสุขภาพคนไทยทุกครัวเรือน แต่ตลอดเวลาสามเดือนต้องมาเจอกับการท้าทาย ขัดขวาง ปลุกระดมข้าราชการไม่ให้ความร่วมมือ ไม่รับคำสั่ง ไม่สนองนโยบาย ทำตัวเป็นปฏิปักษ์อย่างชัดเจน จากข้าราชการภายใต้บังคับบัญชาของ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้รับการแต่งตั้งจากอดีตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทยที่ผ่านมา ทำให้สังคมมองว่ากระทรวงสาธารณสุขภายใต้รัฐบาลของท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มี ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไม่มีผลงานประกฎ  ทำลายความชอบธรรมของรัฐบาล และทำให้ระบบบริการสาธารณสุขเกิดความแตกร้าว บุคลากรวิชาชีพต่างๆ ขัดแย้งในทุกระดับ ทุกวิชาชีพ มีการสั่งการให้เอาการเจ็บป่วยและชีวิตของผู้ป่วยเป็นตัวประกัน เพื่อการต่อรองอำนาจกับรัฐมนตรี  โดยใช้ภาพความขัดแย้งกับ สปสช. เป็นตัวแทน สร้างความเสียหายให้กระทรวงสาธารณสุขอย่างรุนแรงเป็นประวัติการณ์
              
เพื่อระงับความเสียหายของระบบสาธารณสุข คืนความสุขให้กับคนไทย  และเดินหน้านโยบายของรัฐบาลได้อย่างเต็มที่  เครือข่ายผู้ป่วยมะเร็ง หัวใจ ไตวายเรื้อรัง โรคเลือดฮีโมฟีเลย ผู้ติดเชื้อเอชไอวี คนพิการ และกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ จึงมีความจำเป็นต้องขอให้ท่านนายกรัฐมนตรี และท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งย้าย นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ออกจากกระทรวงสาธารณสุข เพื่อไม่ให้มีโอกาสใช้อำนาจหน้าที่สั่งการและปลุกปั่นข้าราชการสร้างความขัดแย้ง เพิ่มความเสียหายให้กับระบบบริการสาธารณสุข และชีวิตของผู้ป่วย ด้วยเหตุผล 4 ประกาศดังนี้
1. ตลอดเวลากว่าสองปีของการเป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโดยเฉพาะช่วงสามเดือนของรัฐบาลปัจจุบัน นพ.ณรงค์ ได้ใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปลุกระดมและสั่งการข้าราชการ และคนใกล้ชิด เป็นผลให้เกิดความแตกแยก ขัดแย้งกับหน่วยงานต่างในระบบสาธารณสุข ปล่อยให้เกิดการปลุกปั่นทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างโรงพยาบาลใหญ่ในเมืองกับโรงพยาบาลขนาดเล็กในชนบท และทำให้โรงพยาบาลชุมชน อ่อนแอลง  โดยไม่ใส่ใจกับปัญหาสาธารณสุข และการเจ็บป่วยของประชาชน
2. เอาความเจ็บป่วยและชีวิตของผู้ป่วยเป็นตัวประกันเพื่อต่อรองอำนาจการบริหารงบประมาณกับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ สปสช. เพื่อสนองต่อความต้องการของตนในการรวมศูนย์อำนาจการออกหลักเกณฑ์การบริหารงบประมาณของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเมื่อไม่ได้ตามที่ต้องการ ได้เรียกประชุมผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ให้ร้ายคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้ร้ายรัฐมนตรี และให้ร้าย สปสช. เป็นผลให้ นพ.สุทัศน์ ศรีวิไล ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และ นพ.สุรพร ลอยหา ประธานชมรม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด  แถลงข่าวสั่งให้โรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง ไม่ร่วมมือ ไม่ส่งข้อมูลการเบิกเงิน และไม่รับเงินค่าบริการจาก สปสช. ตลอดปีงบประมาณ 2558 หรือจนกว่าคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน จะมีมติยอมตามที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเสนอ เป็นการเอาความเจ็บป่วยและชีวิตของผู้ป่วยเป็นตัวประกันเพื่อต่อรองให้ได้อำนาจการบริหารงบประมาณตามที่ตนต้องการ โดยไร้มนุษยธรรม และผิดกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
3. ใช้อำนาจหน้าที่ปลุกปั่นข้าราชการ ท้าทายไม่สนองตอบนโยบายมอบของขวัญปีใหม่คืนความสุขให้ประชาชน ของรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา ตลอดเวลาสามเดือนของรัฐมนตรีปัจจุบัน นพ.ณรงค์ ได้แสดงให้สังคมทั้งภายในและภายนอกกระทรวงสาธารณสุขเห็นถึงความขัดแย้ง ไม่ยอมรับ ไม่เคยพูดถึงให้ความสำคัญกับนโยบายและไม่ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐมนตรี ไม่ออกพื้นที่ ไม่ร่วมประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มีรัฐมนตรีเป็นประธานประชุม และครั้งเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. ที่ผ่านมา ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรีได้มาประชุมที่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อตามความก้าวหน้าของนโยบายมอบของขวัญปีใหม่ของรัฐบาล แต่ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ขอลากิจอย่างกระทันหัน ไม่เข้าร่วมการประชุม รวมทั้งเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม มีการประชุมผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานของกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ 1,500 คน เพื่อรับฟังการชี้แจงนโยบายเน้นหนัก “ทีมหมอครอบครัว” เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ชิ้นสำคัญแก่ประชาชน โดยมีรัฐมนตรี เป็นประธานให้นโยบาย และได้เชิญ นพ.ณรงค์ มาร่วมชี้แจงแนวทางดำเนินการด้วย แต่เมื่อถึงเวลาปรากฏว่าไม่มา สร้างความเสียหายให้กับการดำเนินงานตามนโยบาย และเป็นการปฏิบัติตัวไม่เหมาะสมในฐานะปลัดกระทรวง
4. ไม่ปฏิบัติตามนโยบายเรื่องเขตสุขภาพประชาชน ของ คสช.และรัฐบาล นพ.ณรงค์ พยายามผลักดันเรื่อง “เขตบริการสุขภาพ” เพื่อเป็นข้ออ้างการดึงอำนาจการบริหารงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้ถอยหลังกลับไปเป็นของเขตตรวจราชการของตน สร้างความขัดแย้ง เกิดเสียงคัดค้านจากโรงพยาบาลระดับต่างๆ จากกลุ่มผู้ป่วย และจากนักวิชาการภายนอก เป็นการสวนกระแสนโยบายสร้างความปรองดองของ คสช. และเมื่อความขัดแย้งมีแนวโน้มขยายกว้างออกไป จนในที่สุด พล.ร.อ. ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการกองทัพเรือ รองหัวหน้า คสช. ได้เป็นประธานประชุมหัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปลดชนวนความขัดแย้ง แก้ไขปัญหา และหาทางด้วยการให้ตั้งเป็น “เขตสุขภาพประชาชน” ที่เป็นการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนในพื้นที่ ไม่เกี่ยวข้องกับการบริหารงบประมาณ ขึ้นมาแทน และประกาศเป็นนโยบายของรัฐบาลในเวลาต่อมา แต่หลังจากนั้น นพ.ณรงค์ ก็ยังไม่ยอมหยุดเดินหน้าเขตบริการสุขภาพของตน ไม่ยอมหยุดสร้างความขัดแย้งกับ สปสช.และเครือข่ายผู้ป่วย ที่เป็นผู้รับผลกระทบโดยตรง
ด้วยความจำเป็นจากเหตุผลทั้ง 4 ข้อใหญ่ และเพื่อยุติความขัดแย้งภายในกระทรวงสาธารณสุข และระบบบริการสาธารณสุข ที่แตกแยก บอบช้ำมาเป็นเวลามากกว่าสองปี จากแนวคิดที่ผิดพลาด ถอยหลังเข้าคลอง และจากการบริหารจัดการที่ขาดภาวะผู้นำ ขาดวุฒิภาวะ ของ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ และเพื่อให้นโยบายปฏิรูประบบสาธารณสุขของรัฐบาล สามารถเดินหน้าได้ เกิดประโยชน์กับประชาชนตามความตั้งใจของ คสช. เครือข่ายผู้ป่วยมะเร็ง หัวใจ ไตวายเรื้อรัง โรคเลือดฮีโมฟีเลย ผู้ติดเชื้อเอชไอวี คนพิการ และกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ จึงขอให้ท่านนายกรัฐมนตรี และท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตัดสินใจสั่งย้าย นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ พ้นจากตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยเร็ว เพื่อคืนความสุขเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับผู้ป่วยและประชาชนโดยทั่วไป
เครือข่ายผู้ป่วยมะเร็ง หัวใจ ไตวายเรื้อรัง  โรคเลือดฮีโมฟีเลย ผู้ติดเชื้อเอชไอวี คนพิการ และกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ
29  ธันวาคม  2557

ทีมงานกระทรวงวัฒนธรรมพบ พล.อ.ประยุทธ์ มอบสื่อรณรงค์ "ส่งความสุข" รับปีใหม่


ประชุม ครม. ส่งท้ายปี 2557 กระทรวงเกษตรขอตั้งงบกลางช่วยผู้ประสบภัยยพิบัติการเกษตร และขอเบิกงบรักษาเสถียรภาพราคายาง ด้านสภาพัฒน์เตรียมงานรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจท้ายปี 2557 ขณะที่คณะทำงานของกระทรวงวัฒนธรรมเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ ก่อนประชุม ครม. เพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรม "ส่งความสุข มอบของขวัญปีใหม่"
30 ธ.ค. 2557 - คณะรณรงค์กิจกรรม "กระทรวงวัฒนธรรม ส่งความสุข มอบของขวัญปีใหม่ 2558 แก่ประชาชน" เข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อประชาสัมพันธ์และมอบสื่อรณรงค์ ณ บริเวณด้านหน้าตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ ร่วมถ่ายรูปเป็นที่ระลึกก่อนเข้าประชุม ครม. นัดสุดท้ายของปี 2557
ที่มาของภาพ: เว็บไซต์รัฐบาลไทย
ทั้งนี้ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานว่า ในการประชุม ครม. นัดสุดท้ายวันนี้ มีวาระที่สนใจหลายด้าน อาทิ ด้านเศรษฐกิจ กระทรวงการคลัง เสนอแนวทางการดำเนินการรวมตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตรกรรม ร่างพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ฉบับที่...) พ.ศ.... รวมถึงการขอเปลี่ยนแปลงวงเงินการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ รายการการจ้างบำรุงรักษาระบบตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์สินค้าด้วยเครื่องเอ็กซเรย์ของกรมศุลกากร
ด้านกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอขอเงินงบกลางช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตร ปี 2557 และขออนุมัติเบิกจ่ายงบประมาณเพิ่มเติมโครงการศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง
ขณะที่ กระทรวงพาณิชย์ ขอยุติการเสนอร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจค้าปลีก หรือ ค้าส่ง พ.ศ.. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอถอนร่างพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติบำรุงพันธุ์สัตว์ พ.ศ.2509 (พ.ศ....) ส่วนสำนักคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เตรียมรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจประจำเดือน ตุลาคม 2557 และแนวโน้มปี 2558
ทั้งนี้ ก่อนการประชุม พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นตัวแทน คณะรัฐมนตรี อวยพรปีใหม่แด่นายกรัฐมนตรี

สิทธิมนุษยชนในภาวะสถานการณ์ฉุกเฉิน


          ชมวิดีโอการบรรยายหัวข้อ 'สิทธิมนุษยชนในภาวะสถานการณ์ฉุกเฉิน' โดย ภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน การบรรยายนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานเสวนาวิชาการห้องเรียนสิทธิมนุษยชน “สิทธิมนุษยชนในภาวะสถานการณ์ฉุกเฉิน” ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา

           งานดังกล่าว จัดโดยสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล มีผู้ร่วมอภิปรายอื่นๆ ทั้งจากองค์กรสิทธิมนุษยชนในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ ไมเคิล เฮย์ส จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหิดล, ยู คาโนะซูเอะ ผู้แทนจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ และแซม ซาริฟี ผู้อำนวยการคณะกรรมการนิติศาสตร์สากล



ศาลพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต-ชดใช้ทรัพย์ 1.94 ล้านบาท คดีอุ้มฆ่าเอกยุทธ อัญชันบุตร

ศาลอาญาอ่านคำพิพากษา คดีอุ้มฆ่าเอกยุทธ อัญชันบุตร โดยให้จำคุกตลอดชีวิตจำเลยที่ 1-2 และร่วมกันชดใช้ทรัพย์แก่ทายาทผู้เสียชีวิตเป็นเงิน 1.94 ล้านบาท จำเลยที่ 3 จำคุก 19 เดือน จำเลยที่ 4 จำคุก 8 เดือน จำเลยที่ 5-6 จำคุก 1 ปี 4 เดือน
กรณีที่ นายเอกยุทธ อัญชันบุตร หรือ "จอร์จ ตัน" เจ้าของเว็บไซต์ไทยอินไซเดอร์ อดีตเจ้ามือแชร์ชาร์เตอร์ และนักธุรกิจชื่อดัง ถูกแจ้งความว่าหายตัวไปตั้งแต่วันที่ 6 มิ.ย. 2556 และต่อมานายสันติภาพ เพ็งด้วง อายุ 25 ปี คนขับรถส่วนตัว สารภาพว่าได้สังหารเพื่อชิงทรัพย์ โดยมีเพื่อน 2 คน ชื่อนายเปี๊ยก และนายชวลิตช่วยเหลือนำศพไปทิ้งก่อนฝังไว้ในพื้นที่ จ.พัทลุง นั้น ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจจับผู้ต้องหารวม 6 คนนั้น
ล่าสุด วอยซ์ทีวี รายงานวันนี้ (30 ธ.ค.) ว่า ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก อ่านคำพิพากษาคดีดังกล่าว มีนายสันติภาพ เพ็งด้วง คนขับรถส่วนตัว เป็นจำเลยที่ 1 นายสุทธิพงษ์ พิมพิสาร เพื่อนของจำเลยที่ 1 นายชวลิต วุ่นชุม เพื่อนของจำเลยที่ 1 นายทิวากร เกื้อทอง เพื่อนของจำเลยที่ 1 จ.ส.อ.อิทธิพล เพ็งด้วง บิดาของจำเลยที่ 1 และนางจิตอำไพ เพ็งด้วง มารดาของจำเลยที่ 1 เป็นจำเลยที่ 1-6 ร่วมกัน
โดยศาลพิพากษาประหารชีวิตนายสันติภาพ และนายสุทธิพงษ์ จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 แต่เนื่องจากคำให้การมีประโยชน์ต่อรูปคดี จึงพิจารณาลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต และให้ร่วมกันชดใช้ทรัพย์สินแก่ทายาทผู้เสียชีวิต เป็นเงินจำนวน 1.94 ล้านบาท ส่วนจำเลยที่ 3 นายชวลิต ศาลพิพากษาจำคุก 13 เดือน รวมกับโทษรอลงอาญาจากคดีเก่าที่ศาลจังหวัดพัทลุงอีก 6 เดือน รวมเป็น 19 เดือน
ส่วนจำเลยที่ 4 นายทิวากร จำคุก 8 เดือน ฐานปิดบังซ่อนเร้นอำพรางศพ ส่วน จ.ส.อ.อิทธิพล และนางจิตอำไพ บิดามารดาของนายสันติภาพ ศาลตัดสินจำคุก 1 ปี 4 เดือน ฐานรับของโจร

เครือข่ายพลเมืองเน็ตวิจารณ์ กสทช.กรณีให้อำนาจ ISP ปิดเว็บ


เครือข่ายพลเมืองเน็ตวิจารณ์ กสทช.กรณีให้อำนาจ ISP ปิดเว็บ ถาม กสทช.ใช้อำนาจตามกฎหมายอะไรในการปิดกั้นเนื้อหา ย้ำบทบาท กสทช.ควรกำกับดูแลการให้บริการอินเทอร์เน็ต เน้นเสรีภาพในการสื่อสารทางโทรคมนาคม
30 ธ.ค. 2557 เครือข่ายพลเมืองเน็ตออกแถลงการณ์ กรณี กสทช.ให้อำนาจผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบล็อคเว็บได้ทันทีโดยไม่ต้องขอคำสั่งหรือความเห็นชอบ โดยตั้งคำถามว่า อำนาจที่ไม่มีการตรวจสอบ จะทำให้เกิดข้อผิดพลาดหรือการละเมิดสิทธิที่ไม่ถูกบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรอีกจำนวนเท่าใด
นอกจากนี้ เครือข่ายพลเมืองเน็ตระบุด้วยว่า ในภาวะที่สถานะของ กสทช. มีความไม่แน่นอน อาจถูกยุบเลิกหรือปรับโครงสร้างลดอำนาจ กสทช.กลับให้มีการปิดเว็บโดยไม่มีกฎหมายรองรับ เพื่อแสดงออกถึงความสำคัญและจำเป็นในการมีอยู่ขององค์กร ทั้งที่ที่่ผ่านมา แม้แต่การปิดเว็บภายใต้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ยังปรากฏการปิดผิดเว็บไซต์ให้เป็นที่เดือดร้อนประชาชนอยู่เสมอ
เครือข่ายพลเมืองเน็ตย้ำบทบาท กสทช. ด้วยว่า ต้องปกป้องประโยชน์สาธารณะ มีความเป็นอิสระในการทำงาน ไม่อยู่ใต้อำนาจของรัฐบาล เอกชน หรือหน่วยงานอื่นใด ชี้ประชาชนยังคาดหวังให้ กสทช.ทำหน้าที่กำกับดูแลการให้บริการอินเทอร์เน็ต ตามเงื่อนไขการออกใบอนุญาตข้อ 13 ที่ว่าด้วย “สิทธิในความเป็นส่วนตัว ข้อมูลส่วนบุคคล และเสรีภาพในการสื่อสารทางโทรคมนาคม” อยู่
รายละเอียด มีดังนี้
7 ปีที่ผ่านมา มีงานศึกษาพบชัดเจนแล้วว่า กระทั่งการสั่งปิดเว็บไซต์ด้วยวิธีให้เจ้าหน้าที่ยื่นให้ศาลพิจารณาเพื่อมีคำสั่งศาล ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ก็ยังมีข้อผิดพลาด ปรากฏการปิดผิดเว็บไซต์ให้เป็นที่เดือดร้อนประชาชนอยู่เสมอ
เมื่อ กสทช.สั่งให้ผู้ประกอบการอินเทอร์เน็ต ระงับการเข้าถึงเว็บไซต์ได้ทันทีโดยไม่ต้องมีคำสั่งศาล โดยไม่ต้องแม้แต่ทำหนังสือขอความเห็นชอบจากสำนักงาน กสทช. และทำได้ “ภายใน 30 วินาที” คำถามคือ อำนาจที่ไม่มีการตรวจสอบนี้ จะทำให้เกิดข้อผิดพลาดหรือการละเมิดสิทธิที่ไม่ถูกบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรอีกจำนวนเท่าใด
คำถามสำคัญกว่านั้นคือ กสทช.ใช้อำนาจตามกฎหมายอะไรในการปิดกั้นเนื้อหา เนื่องจากเงื่อนไขในการประกอบกิจการอินเทอร์เน็ตทุกประเภทนั้นเจาะจงเฉพาะเรื่องทรัพยากรโทรคมนาคม มาตรฐานโครงข่าย และการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้เท่านั้น ไม่มีเรื่องที่ว่าด้วยการคัดกรองเนื้อหา
ในภาวะที่สถานะองค์กรมีความไม่แน่นอน อาจถูกยุบเลิกหรือปรับโครงสร้างลดอำนาจ ดูเหมือนว่า กสทช.กำลังพยายามแสดงออกให้สังคมเห็นว่าตัวเองยังสำคัญและจำเป็น ด้วยการเสนอสิ่งที่สังคมไทยส่วนหนึ่งเรียกร้องต้องการ นั่นคือการอ้างว่าตนเองสามารถสั่งปิด “เว็บหมิ่น” ได้ และปิดได้เร็วกว่ากระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสียอีกด้วย เนื่องจากไม่ต้องผ่านกระบวนการทางศาล (และก็เป็นเรื่องย้อนแย้งไปอีก ถ้า กสทช.จะยืนยันว่าสิ่งเหล่านี้สามารถทำได้ ด้วยอำนาจตามกฎอัยการศึก ไม่ใช่ด้วยกฎหมายที่รับรองสถานะและความจำเป็นของการมีอยู่ของ กสทช.เอง)
ดังที่เราได้เห็นมาโดยตลอด พฤติกรรมฉวยโอกาสอ้าง “ความมั่นคงของชาติ” เช่นนี้ปรากฏในหลายหน่วยงาน ซึ่งสุดท้ายสังคมคงจะตอบได้เอง ว่าหน่วยงานเหล่านี้ทำเพื่อ “ความมั่นคง” ของชาติหรือของหน่วยงานหรือของใคร
เครือข่ายพลเมืองเน็ตยืนยันความสำคัญของ กสทช. และยืนยันว่า กสทช.จะต้องมีความเป็นอิสระในการทำงาน ไม่อยู่ใต้อำนาจของรัฐบาล เอกชน หรือหน่วยงานอื่นใด เนื่องจากหน้าที่สำคัญของ กสทช.คือการปกป้อง “ประโยชน์สาธารณะ” ที่หมายถึงประโยชน์ของประชาชนในท้ายที่สุด โดยความอิสระดังกล่าวต้องอยู่ในกรอบพันธกิจของ กสทช. ไม่น้อยหรือมากไปกว่านั้น
ท้ายที่สุดนี้ ท่ามกลางข่าวเรื่องการดักรับและขอข้อมูลการสื่อสารโดยภาครัฐ ประชาชนยังคาดหวังให้ กสทช.ทำหน้าที่กำกับดูแลการให้บริการอินเทอร์เน็ต ตามเงื่อนไขการออกใบอนุญาตข้อ 13 ที่ว่าด้วย “สิทธิในความเป็นส่วนตัว ข้อมูลส่วนบุคคล และเสรีภาพในการสื่อสารทางโทรคมนาคม” อยู่
30 ธ.ค. 2557
เครือข่ายพลเมืองเน็ต

วันจันทร์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2557

'เลวร้ายยิ่งกว่าเผด็จการ' มองรัฐบาลทหารอียิปต์ล้มเสรีภาพใต้ท็อปบู๊ต

หลังการรัฐประหารเมื่อปีที่แล้ว อียิปต์ก็ตกอยู่ภายใต้ความพยายามทำให้ประเทศเป็นเผด็จการอำนาจนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการผ่านร่างกฎหมายลิดรอนสิทธิเสรีภาพด้านต่างๆ ในขณะที่เพิ่มอำนาจและลดการตรวจสอบตนเอง เปิดทางให้มีการทุจริตมากขึ้น

29 ธ.ค. 2557 สำนักข่าวเดอะการ์เดียนรายงานว่า รัฐบาลอียิปต์ที่นำโดยอัลเดล ฟัตตาร์ อัลซีซี ผู้ก่อรัฐประหารโค่นล้มผู้นำโมฮัมเหม็ด มอร์ซี ในปี 2556 เป็นรัฐบาลที่ออกกฎหมายในเชิงอำนาจนิยมมากที่สุดในรอบ 60 ปีเทียบกับรัฐบาลอื่นๆ
เดอะการ์เดียนรายงานโดยอ้างอิงจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย 4 สถาบัน ระบุว่าอาดลี มานซูร์ รักษาการประธานาธิบดีช่วงหลังการรัฐประหารและอัลซีซีฉวยโอกาสช่วงที่ประเทศปราศจากรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งออกกฎหมายข้อกำหนดต่างๆ ที่มีลักษณะเผด็จการ ลดทอนเสรีภาพในการแสดงออก การรวมกลุ่มและการชุมนุมอย่างมาก
นอกจากนี้ ความรวดเร็วในการออกกฎหมายของรัฐบาลชุดหลังรัฐประหาร 2556 ของอียิปต์ก็ดำเนินไปอย่างรวดเร็วมากเมื่อเทียบกับผู้นำเผด็จการในประเทศก่อนหน้านี้ ที่พอเทียบเคียงได้คือช่วงที่อียิปต์อยู่ใต้การปกครองของ 'คณะมนตรีปฏิวัติ' (Revolutionary Command Council) หลังจากมีการโค่นล้มระบอบกษัตริย์อียิปต์ในปี 2495
อัมร์ ชาลากานี รองศาตราจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยอเมริกันในกรุงไคโรกล่าวว่า ลักษณะการออกกฎหมายเช่นนี้ถือเป็นเรื่องผิดปกติ จำนวน ความเร็ว และการออกกฎหมายควบคุมที่กินวงกว้าง โดยในยุคหลังอัลซีซี มีการออกกฎหมายห้ามการชุมนุมประท้วง ขยายอำนาจพิจารณาคดี นอกจากนี้การออกกฎหมายเหล่านี้ยังไม่ได้ผ่านการพิจารณาจากสภา มีแค่การตรวจสอบแต่ในนามจากคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการที่อัลซีซีมีอิทธิพลอยู่เท่านั้น
เดิมทีมีการวางโร้ดแมปว่าจะให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ภายในช่วงปลายปี 2556 แต่ก็ถูกเลื่อนมาเป็นช่วงเดือนหลังจาก ก.ค. 2557 อย่างไรก็ตาม อียิปต์ยังจะไม่มีการจัดตั้งรัฐสภาจนกว่าจะมีกฎหมายฉบับหนึ่งถูกบังคับใช้ แต่แม้ว่ากฎหมายอื่นๆ จะถูกผ่านร่างบังคับใช้เร็วมาก กฎหมายเกี่ยวกับการจัดตั้งสภาฉบับดังกล่าวยังคงไม่ออกมาง่ายๆ ทำให้อียิปต์จะไม่มีสภาที่มาจากการเลือกตั้งไปจนถึงช่วงฤดูร้อนปี 2558
ทางด้านอัมร์ อับดุลราห์มัน ผู้อำนวยการฝ่ายเสรีภาพพลเมืองขององค์กรริเริ่มเพื่อเสรีภาพส่วนบุคคลของชาวอียิปต์ กล่าวว่า ผู้นำเผด็จการก่อนหน้านี้อย่างอันวาร์ ซาดัต และฮอสนี มูบารัค ยังไม่ได้อาศัยโอกาสจากช่วงไม่มีสภาเพื่อผ่านร่างกฎหมายมากขนาดนี้ นอกจากเรื่องการเมืองแล้วอัลซีซียังผ่านร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตและด้านเศรษฐกิจโดยไม่มีการหารือแลกเปลี่ยนกันในระดับชาติด้วย
เดอะการ์เดียนยังได้เรียบเรียงตารางเวลาการออกกฎหมายสนับสนุนเผด็จการหรือมีลักษณะฉ้อฉลของทางการอียิปต์ โดยระบุไว้ดังนี้
ในเดือน ก.ย. 2556 มีกฎหมายลดขั้นตอนการประกวดราคาโดยอนุญาตให้รัฐบาลอียิปต์หลังการรัฐประหารในตอนนั้นติดต่อจัดซื้อจัดจ้างได้โดยไม่ผ่านการประกวดราคา อีกหลายเดือนถัดมากองทัพอียิปต์ก็ได้รับงบประมาณรับเหมาก่อสร้างมูลค่าราว 1 ล้านดอลลาร์ ในเดือนเดียวกันยังมีการออกกฎหมายอนุญาตขยายเวลาการกักขังผู้ต้องหาก่อนการไต่สวนสำหรับคดีที่มีโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต ซึ่งมีการนำมาใช้กับผู้ต่อต้านทางการเมือง
ในเดือน พ.ย. 2556 มีกฎหมายสั่งห้ามการชุมนุมซึ่งมีการใช้จับกุมประชาชนหลายพันคน ต่อมาในเดือน เม.ย. 2557 ก็มีกฎหมายการลงทุนโดยสั่งห้ามไม่ให้บุคคลที่สามอุทธรณ์เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาล ซึ่งถือเป็นการปิดขั้นตอนการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชัน
ต่อมาในเดือน มิ.ย. 2557 อียิปต์ก็ออกกฎหมายการเลือกตั้งระบบใหม่ที่ให้สิทธิพิเศษแก่ชนชั้นอำนาจเก่า ป้องกันไม่ให้มีพรรคการเมืองเสรีนิยม และดูเหมือนจะออกแบบมาเพื่อคนร่ำรวยที่เป็นชาวมุสลิมเท่านั้น ในเดือนเดียวกันยังมีกฎหมายที่เกื้อหนุนให้อัลซีซีสามารถแทรกแซงมหาวิทยาลัยได้แบบเดียวกับยุคสมัยมูบารัค
นอกจากนี้ยังมีกฎหมายในเชิงบังคับและกดดันกับกลุ่มด้านสิทธิมนุษยชน มีการขยายอำนาจตุลาการของกองทัพออกไปในหลายภาคส่วน ซึ่งในกฎหมายหลายตัวก็มีการกล่าวอ้างว่าเพื่อใช้ปราบปราม 'ผู้ก่อการร้าย' จนกระทั่งในเดือน ธ.ค. 2557 ก็มีกฎหมายขยายความหมายของคำว่า 'ผู้ก่อการร้าย' มารองรับคำกล่าวอ้างก่อนหน้านี้ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมองว่ากฎหมายเกี่ยวกับผู้ก่อการร้ายตัวล่าสุดนี้เป็นกฎหมายที่เลวร้ายที่สุด

อันวาร์และภรรยาเขียนจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ เสนอแนวทางแก้ปัญหาชายแดนใต้

รอมือละห์ แซเยะ และมูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ เขียนจดหมายเปิดผนึกเสนอแนวทางแก้ไขความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ โดยชี้ว่ารัฐต้องเร่งสร้างความเป็นธรรมทั้งภายในและภายนอกกระบวนการยุติธรรม รับฟังผู้เห็นต่าง ต้องไม่มองเป็นศัตรู และเร่งคืนอำนาจให้ประชาชนเพื่อใช้แนวทางการเมืองนำการทหารแก้ปัญหา
หมายหตุ: เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. รอมือละห์ แซเยะ ภรรยาของมูาฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ หรือ อันวาร์ อดีตบรรณาธิการสำนักสื่อบุหงารายา ผู้ต้องขังคดีความมั่นคงในภาคใต้ ได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกที่ทั้งสองเขียนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอแนะต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานีโดยสันติวิธี มีรายละเอียดดังนี้
000
จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
เรื่อง ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานีโดยสันติวิธี
เรียน นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านแม่ทัพภาคที่ 4
ดิฉัน นางสาวรอมือละห์ แซเยะ และนายมูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของคนทำงานภาคประชาสังคมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความขัดแย้งและจากระบบกระบวนการยุติธรรม ขอมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ด้วยการนำเสนอความคิดเห็นบางประการเพื่อมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของชาติบ้านเมือง แม้ว่าเราจะเป็นเพียงส่วนเล็กๆในสังคมแต่ก็เชื่อว่า เสียงของคนตัวเล็กๆเพียงสองคนนี้จะไม่ใช่คนที่โดดเดี่ยวจากสังคมรอบตัว และเป็นเสียงที่สะท้อนความเห็นของคนไม่น้อยในพื้นที่ที่ยังไม่กล้าแสดงออก
มูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ มีสถานะเป็นนักโทษเด็ดขาดชาย คดีกระทำการอั้งยี่ซ่องโจร ถูกศาลฎีกาตัดสินเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2556 ให้ต้องโทษจำคุก 12 ปีด้วยหลักฐานที่มาจากการซัดทอดและจากฐานความผิดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการลงมือก่อเหตุใดๆ ซึ่งสำหรับคนจำนวนไม่น้อยอาจถือได้ว่ามูฮัมหมัดอัณวัรเป็นนักโทษเพราะความคิดทางการเมือง รอมือละห์ แซเยะ ภรรยาของมูฮาหมัดอัณวัร ทำงานภาคประชาสังคมด้วยการช่วยเหลือเยาวชนและครอบครัวนักโทษคดีความมั่นคงจำนวนหนึ่งรวมทั้งขับเคลื่อนเรื่องกระบวนการสันติภาพ มูฮาหมัดอัณวัรเอง เมื่อยังไม่ได้เข้าสู่เรือนจำก็ไม่เคยหลบหนีการดำเนินคดี ทั้งในเวลาก่อนและหลังถูกจับกุมตลอดจนถึงช่วงเวลาที่มีการดำเนินคดี มูฮาหมัดอัณวัรทำงานเป็นสื่อสารมวลชนในพื้นที่ เราทั้งสองคนแม้จะมีความเห็นบางเรื่องแตกต่างจากรัฐแต่เป็นผู้ที่ยึดมั่นในวิถีทางสันติมาโดยตลอด และเรายังเชื่อมั่นว่ามูฮาหมัดอัณวัรเป็นเหยื่อของกระบวนการยุติธรรมที่ตัดสินเอาผิดคนในสิ่งที่ไม่สมควรต้องเอาผิดและถือว่าคดีนี้เป็นตัวอย่างอันหนึ่งของการที่ผู้ที่ยึดมั่นในแนวทางสันติตกเป็นเหยื่อของความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งความเป็นเหยื่อกล่าวได้ว่ามีทั้งในทางตรงและในทางทัศนคติ อย่างไรก็ตาม การถูกจำขังไม่ได้ทำให้เกิดความย่อท้อในการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาของสังคม จดหมายเปิดผนึกถึงท่านนายกรัฐมนตรีฉบับนี้เป็นการนำเสนอความเห็นเพื่อขอให้มีการปรับปรุงการบริหารประเทศด้วยความบริสุทธิ์ใจไม่มีเจตนาอื่นใดแอบแฝง เป็นเสียงเรียกร้องจากคนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์รุนแรงและอยากเห็นการคลี่คลายความขัดแย้งอย่างยั่งยืน
การเข้ามาบริหารประเทศของ คสช. และท่านนายกรัฐมนตรีด้วยเหตุผลความจำเป็นหลายประการดังที่ท่านได้อธิบายต่อประชาชนนั้น บัดนี้ได้ผ่านพ้นมาจนใกล้จะครบแปดเดือน แต่ประชาชนในพื้นที่ก็ยังมองไม่เห็นชัดเจนถึงแนวทางในการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ถึงแม้ว่าจะมีข่าวการยืนยันว่าได้มีการดำเนินการพูดคุยกับผู้เห็นต่างรอบใหม่ต่อจากที่เคยเริ่มไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2556 ก็ตาม ความไม่เชื่อมั่นและความเปลี่ยนแปลงในทางรูปธรรมที่เกิดขึ้นได้ส่งผลให้เกิดความท้อแท้และเบื่อหน่ายให้กับคนในพื้นที่ ส่วนของภาคประชาชนที่เคยคึกคักและมีการพูดคุยเพื่อสร้างฉันทามติสำหรับการหาหนทางออกจากความขัดแย้ง อันเป็นการขานรับกับการขับเคลื่อนของรัฐบาลที่พูดคุยในระดับบนได้เกิดอาการชะงักงันไม่กล้าแสดงออกอีกต่อไป ขณะที่นโยบายในการพูดคุยยังไม่ปรากฏว่ามีความคืบหน้า สิ่งที่ปรากฏเป็นข่าวอย่างสม่ำเสมอและเป็นสิ่งที่จับต้องได้ ก็คือปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นที่รุนแรง การทำงานที่ผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ที่ทำให้ผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต และการแก้แค้นกันไปมาซึ่งแม้จะไม่ใช่การกระทำของเจ้าหน้าที่ทั้งหมด แต่ก็ถือว่าเจ้าหน้าที่มีส่วนในหลายกรณี ในขณะที่คดีอันสืบเนื่องมาจากการกระทำของเจ้าหน้าที่หลายคดีกลับคืบหน้าน้อยมาก ทำให้เกิดภาพว่ามีบางส่วนของกลไกรัฐที่อยู่เหนือกฎหมาย บรรยากาศการถกเถียงแลกเปลี่ยนอย่างตรงไปตรงมาได้รับผลกระทบจากความหวาดกลัวอำนาจของรัฐบาลและทหารและการติดตามเอาผิดตลอดจนการใส่ร้ายในโซเชียลมีเดียที่เห็นได้ชัดว่ามาจากคนที่มีส่วนเกี่ยวพันกับเจ้าหน้าที่ความมั่นคง เหล่านี้ล้วนกลายเป็นความเคลื่อนไหวหลักที่มีอิทธิพลต่อความคิดของคนในพื้นที่และไม่ช่วยทำให้เกิดความหวังต่อการสร้างสันติภาพดังที่รัฐบาลของท่านประกาศกับประชาชนว่าพยายามจะให้เกิด

ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
การที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งที่รุนแรงและยืดเยื้อในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ควรจะยึดแนวทางสันติวิธี มาตรการทางการทหารควรเป็นเพียงส่วนสนับสนุนงานด้านการเมืองและควรจะต้องใช้อย่างจำกัดและเพื่อความสงบ การจะสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนควรจะต้องรับฟังเสียงของประชาชนในพื้นที่ และด้วยการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ไม่ว่าจะเป็นคนที่เห็นพ้องหรือเห็นต่างจากรัฐบาล ขอเรียกร้องให้รัฐบาลหาทางออกในการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธีและอย่างจริงจัง จริงใจ และต่อเนื่องตลอดจนขอให้กลับไปดำเนินนโยบายในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยการใช้หลักการการเมืองนำการทหารเช่นที่ผ่านมา
1. รัฐบาลควรเร่งสร้างความเป็นธรรมในสังคมทั้งภายในและนอกกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจะทำให้ได้รับการยอมรับและเชื่อมั่นจากประชาชนไม่ว่ากลุ่มใด ทั้งจะเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นในการสร้างสันติภาพโดยสนับสนุนให้มีเงื่อนไขและบรรยากาศที่สามารถที่จะตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมายพิเศษภายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งกฎอัยการศึก พ.ร.ก.บริหารราชการแผ่นดินภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายทั่วไปเช่นกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อให้การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ภายใต้กฎหมายเป็นไปตามหลักนิติธรรมสากล ควรส่งเสริมให้การบังคับใช้กฎหมายกระทำโดยไม่เลือกปฏิบัติไร้ซึ่งอคติและทัศนคติเชิงลบต่อประชาชนที่มีความแตกต่างทางด้านชาติพันธุ์ อัตลักษณ์ และศาสนา เพราะการกระทำที่เลือกปฏิบัติจะส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังที่มีรายงานข่าวเรื่องของการทำร้ายและซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยหลังจากการจับกุมในพื้นที่เนืองๆ สิ่งเหล่านี้บั่นทอนความเชื่อมั่นในกลไกของรัฐ ส่งผลกระทบทำให้ความพยายามที่จะคลี่คลายความขัดแย้งพบอุปสรรค นอกจากนี้รัฐบาลควรยึดหลักสิทธิมนุษยชนภายใต้สนธิสัญญาระหว่างประเทศฉบับต่างๆที่เกี่ยวข้องกับหลักสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเข้าไปเป็นภาคีร่วม เจ้าหน้าที่ระดับนโยบายและระดับปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ ควรศึกษารายละเอียดของสนธิสัญญาฉบับต่างๆเหล่านี้ก่อนที่จะกำหนดนโยบายหรือส่งกองกำลังเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นการจับกุมควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยโดยพลการอย่างเช่นปัจจุบัน ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ความขัดแย้งรุนแรงมากยิ่งขึ้นและหาทางคลี่คลายได้ยากยิ่งขึ้น
2. ขอเสนอให้เปิดพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นแก่ผู้ที่เห็นต่างอย่างจริงจัง รัฐต้องไม่มองผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐทางการเมืองในพื้นที่ปาตานีด้วยสายตาที่หวาดระแวงเสมือนเป็นศัตรูกับรัฐ หรือว่ากำลังท้าทายอำนาจรัฐ ไม่ควรตั้งแง่หรือจับตาเฝ้าดูพฤติกรรมของกลุ่มบุคคลที่แสดงความเห็นแตกต่างจากรัฐว่าเป็นผู้ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ เพราะการแสดงออกด้วยวิธีดังกล่าวถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการมีส่วนร่วมทางการเมืองตามระบบประชาธิปไตยที่ทั่วโลกยอมรับ และการแสดงออกทางการเมืองเช่นนี้เป็นการแสดงออกอย่างสันติวิธีที่เท่ากับเป็นการปฏิเสธการใช้ความรุนแรงไปในตัว จึงควรจะได้รับการสนับสนุน ทั้งนี้เพื่อเปิดหนทางให้ประชาชนทุกกลุ่มได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาอย่างสันติอย่างแท้จริง
3. ความไม่ต่อเนื่องของคณะรัฐบาลที่บริหารประเทศส่งผลให้มีการกำหนดนโยบายที่แตกต่าง การบริหารงานในเรื่องสำคัญเช่นการแก้ไขปัญหาภาคใต้ขาดช่วงและขาดความเชื่อมโยงกับความต้องการของประชาชนเนื่องจากทหารเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ทำหน้าที่รักษาอธิปไตยของประเทศและไม่ใช่ผู้ที่ได้สะสมประสบการณ์และองค์ความรู้เพื่อจะทำหน้าที่บริหารประเทศแต่อย่างใด ดังนั้นการคืนอำนาจให้กับประชาชนเพื่อให้มีการใช้หนทางการเมืองนำการทหารอย่างแท้จริงจะเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเช่นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ดียิ่งขึ้น
การตอบสนองข้อเสนอเหล่านี้จะสร้างกำลังใจ ความเชื่อมั่นให้กับคนในพื้นที่ สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐบาลและประชาชน เป็นของขวัญสำหรับปีใหม่ที่กำลังจะเวียนมาถึง เปิดหนทางสู่การสร้างสันติภาพภายใต้การนำของรัฐบาลในปี 2558 ให้เป็นจริงมากยิ่งขึ้น
โปรดรับไว้พิจารณา
ด้วยความเคารพและใฝ่หาสันติภาพ
รอมือละห์ แซเยะ
มูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ
29 ธันวาคม 2557