วันพฤหัสบดีที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ออกหมายเรียก 2 น.ศ.ทำกิจกรรมหน้าหอศิลป์ฯ ตั้งข้อหาชุมนุมเกินห้าคน



Wed, 2015-06-03 21:12

         สน.ปทุมวันออกหมายเรียก 2 นักศึกษาเข้าพบ 8 มิ.ย.นี้ หลังทำกิจกรรมรำลึก 1 ปีรัฐประหารหน้าหอศิลป์ฯ ตั้งข้อหาชุมนุมเกินห้าคน รังสิมันต์เผย ทราบมาว่าหมายเรียกถูกส่งไปให้กับนักศึกษาและนักกิจกรรม 9 คน ตอนนี้ยืนยันแล้ว 2 คน รอปรึกษาทนายว่าจะเดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือไม่

          3 มิ.ย. 2558 จากเหตุการณ์การรวมตัวทำกิจกรรมของนักศึกษาและประชาชนจำนวนหนึ่งหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในวาระครบรอบหนึ่งปีรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ชื่อกิจกรรมว่า “ศุกร์ 22 มาฉลองกันมะ?” โดยได้รวมตัวกันใส่เสื้อขาวและออกมาแสดงพลังเงียบ หลังเริ่มกิจกรรม ตำรวจได้ตรึงกำลังล้อมเอาไว้จนเกิดการปะทะ จากนั้นได้จับนักศึกษาและประชาชนจำนวนหนึ่งนำตัวไปยังห้องสอบสวนของ สน.ปทุมวัน ก่อนจะปล่อยตัวทั้งหมดในเช้าวันต่อมา โดยไม่มีการตั้งข้อหา แต่ทำสำเนาบัตรประชาชน พร้อมให้เซ็นว่าจะไม่เคลื่อนไหว

         ล่าสุด วันนี้ ได้มีจดหมายเรียกตัวจาก สน.ปทุมวัน ส่งไปยังนักศึกษา เพื่อตั้งข้อหาการชุมนุมเกิน 5 คนในพื้นที่สาธารณะซึ่งขัดคำสั่ง คสช. โดยนักศึกษาต้องเข้าพบเจ้าหน้าที่ในวันที่ 8 มิถุนายน

        นายรังสิมันต์ โรม นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้ถูกควบคุมตัวจากเหตุการณ์หน้าหอศิลป์ฯในวันที่ 22 มี.ค. เผยว่า ได้รับหมายเรียกจาก สน.ปทุมวันเมื่อเช้านี้ โดยจดหมายถูกส่งไปที่บ้านป้า ตั้งข้อหาชุมนุมเกินห้าคนซึ่งผิดคำสั่ง คสช. ตนทราบมาว่าหมายเรียกถูกส่งไปให้กับนักศึกษาและนักกิจกรรม 9 คน แต่ตอนนี้มีคนยืนยันแล้ว 2 คนว่าได้รับหมายเรียก คือตนและ น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว หรือ ลูกเกด นักศึกษาคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

        นายรังสิมันต์ โรม กล่าวเพิ่มเติมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตนหลังจากเหตุการณ์การปะทะ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นทางร่างกายที่ได้รับบาดเจ็บในบริเวณ ท้อง หู คอ ศีรษะ และคาง รวมถึงถูกประจานบนโลกออนไลน์ ทั้งมีคนนำเบอร์ของตนโพสต์ลงในอินเทอร์เน็ตและตัดต่อภาพบิดเบือนความจริงทำให้ตนได้รับความเสียหาย

        ด้านนางสาวชลธิชา ซึ่งได้รับจดหมายเรียกตัวเช่นกัน กล่าวว่าจดหมายถูกส่งไปที่บ้านในช่วงเช้า แต่ตนออกมาทำงานจึงไม่ได้รับด้วยตนเอง โดยถูกข้อหาเดียวกันกับนายรังสิมันต์และถูกเรียกพบในวันที่ 8 มิ.ย.เช่นกัน

       ส่วนการเดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่นั้น ทั้งนายรังสิมันต์และนางสาวชลธิชากล่าวว่า ต้องรอให้คนที่เหลือยืนยันว่าได้รับหมายเรียกก่อน ดูว่ามีใครบ้าง จากนั้นต้องปรึกษาและพูดคุยกับทางทนายว่าจะเดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือไม่ในวันที่ 8 มิ.ย. นี้

อ้างคำสั่ง คสช.สั่งยกเลิกงานแถลงข่าวศูนย์ทนายฯสิทธิ FCCT ยันขอคำสั่งเป็นทางการ




Thu, 2015-06-04 13:28

        4 มิ.ย.2558 กรณีศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเตรียมจัดแถลงข่าวเผยแพร่รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน 1 ปีหลังรัฐประหาร เย็นวันนี้ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT)

       ล่าสุด พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อเวลาประมาณ 12.30 น. ได้รับโทรศัพท์แจ้งจากเจ้าหน้าที่ FCCT ว่า เมื่อช่วงสายที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบ 2 นายและนอกเครื่องแบบ 3 นาย เดินทางมาที่ FCCT มีคำสั่งตรงจาก คสช.ไม่ให้จัดงานวันนี้ หากยืนยันจัดงาน จะปิดไม่ให้ขึ้นตึก ขณะที่ FCCT ยืนยันว่า หากจะให้ยกเลิก ต้องมีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งนี้ ศูนย์ทนายฯ กำลังคุยกันว่าจะเผยแพร่รายงานหรือแถลงข่าวที่ใด แต่ยืนยันว่าจะมีการจัดงานวันนี้

        ด้านโจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวบีบีซี และประธานสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) ให้สัมภาษณ์ว่า เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจมาที่ FCCT และสั่งให้ยกเลิกจัดงาน ไม่เช่นนั้นจะปิดทางขึ้นตึก อย่างไรก็ตาม ตนเองได้ยืนยันว่าหากจะให้ยกเลิกต้องมีหนังสือคำสั่ง

        เฮด กล่าวว่า หากสั่งให้ยกเลิกงานแบบลับๆ แล้วเขาจะชี้แจงกับสมาชิกอย่างไร ถ้ามีหนังสือจาก คสช. อย่างเป็นทางการออกมา เขาก็ต้องทำตามนั้น อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าแม้จะยกเลิกงาน แต่สมาคมฯ ก็จะเปิดทำการตามปกติ และคาดว่าวันนี้คงมีคนมาจำนวนมาก

        ก่อนหน้านี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มีกำหนดจัดเวทีรายงานสิทธิมนุษยชนและเวทีเสวนาความยุติธรรมที่ปิดปรับปรุง เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2557 แต่มีคำสั่ง ลงชื่อ พ.ท.ภาสกร กุลรวิวรรณ ผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ ขอให้ยกเลิกจัดงานดังกล่าว จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทางศูนย์ทนายฯ ได้ออกแถลงการณ์ประณามการกระทำของเจ้าหน้าที่โดยระบุว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ครั้งนี้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

ประยุทธ์ แจงผลงานรอบ 1 ปี ย้ำปฏิรูปต้องเดินหน้าต่อ ชี้เมื่อหมดอำนาจจะกลับบ้านไปนอน




Thu, 2015-06-04 17:24

     นายกฯ แจงผลงานรอบ 1 ปี ต่อ สปช.-สนช. ย้ำอยู่ในโรดแมปขั้นที่2 พร้อมชี้ มาตรา 44 ไม่ได้ใช้แก้ปัญหาทุกเรื่อง แต่ช่วยแก้ปัญหาได้เร็วขึ้น เผยการปฏิรูป และการปรองดอง ต้องเดินหน้าต่อ เมื่อตนหมดอำนาจจะได้กลับบ้านไปนอน

     4 มิ.ย. 2558 ที่รัฐสภา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงผลงานรัฐบาลในรอบ 1 ปี ในการสัมนาระหว่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และสภาปฎิรูปแห่งชาติ(สปช.) เพื่อรับฟังการดำเนินงานที่ผ่านมาของรัฐบาล

      ทั้งนี้ก่อนที่จะมีการประชุม 1 วัน สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 กล่าวถึงการสัมมนาร่วมกันระหว่าง สนช. สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อรับฟังผลการดำเนินงานในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาล หรือสัมมนาแม่น้ำ 3 สาย ในวันที่ 4 มิ.ย.ว่า นายกรัฐมนตรีพร้อมกับรองนายกรัฐมนตรีจะเข้ามาแถลงถึงผลงานที่ทำครบรอบ 1 ปี โดยมีเวลาคนละ 30 นาที เพื่อให้สมาชิกทั้งสองสภาเข้าใจว่ารัฐบาลจะทำอะไรต่อไปบ้าง และทำความเข้าใจโรดแมปของประเทศใน 2 เรื่องสำคัญ คือ การจัดทำรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จและการปฏิรูปประเทศ จากนั้นจะให้สมาชิกทั้งสองสภาอภิปรายซักถาม-รัฐบาลตอบ จะเสร็จสิ้นในเวลา 18.30 น. แล้วเชิญรัฐบาลรับประทานข้าวมื้อเย็นร่วมกัน

        สำหรับการสัมนาเพื่อแจงผลงานครั้งนี้ มีพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.ทำหน้าที่ประธานการสัมมนา โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำทีมรองนายกรัฐมนตรี 4 คน ประกอบด้วยพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล วิษณุ เครืองาม ยงยุทธ ยุทธวงศ์ และครม.มาชี้แจงผลงานต่อสนช.และสปช. โดยให้เวลาชี้แจงคนละ 30 นาที ซึ่งพรเพชรชี้แจงถึงกรอบการแถลงผลงานรัฐบาลว่า รัฐบาลจะชี้แจงตามกรอบใน 5 เรื่องคือ 1.ภารกิจตามโรดแม็ปของรัฐบาล 2.นโยบายเร่งด่วน 3.การบูรณาการแต่ละกลุ่มงาน 4.งานที่เป็นวาระแห่งชาติ 5.งานโครงสร้างพื้นฐาน จากนั้นจะเปิดโอกาสให้สมาชิกสนช.และสปช.ซักถามการดำเนินงานของรัฐบาลตาม 5 กรอบดังกล่าว แต่จะไม่มีการซักถามเรื่องการยกร่างรัฐธรรมนูญ

       จากนั้นเวลา 13.25 น. พล.อ.ประยุทธ์แถลงชี้แจงผลงานรัฐบาลเป็นคนแรกว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังทำตามโรดแม็ปที่วางไว้ ตอนนี้อยู่ในโรดแม็ปช่วงที่ 2 ในช่วงการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยกล่าวยืนยันว่า ที่ผ่านมารัฐบาลดำเนินนโยบายเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดมาก่อนที่ตนจะเข้าบริหารประเทศ โดยใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเป็นเครื่องมือในการบริหารราชการ พร้อมระบุว่า มาตรา 44 ไม่ได้มีไว้เพื่อแก้ปัญหาทุกเรื่อง แต่มีไว้เพื่อแก้ปัญหาให้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเน้นการสร้างเป็นยุติธรรม สร้างความเท่าเทียม บางก็จำเป็นเรื่องก็ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งดำเนินการระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมาย คำสั่งดังกล่าวจะลักษณะคล้ายคลึงกับกฎหมายที่กำลังพิจารณาอยู่ ขอให้สปช.นำแนวทางปฏิรูปที่รัฐบาลวางไว้ไปทำ ไม่ต้องไปเริ่มต้นใหม่ ขอให้ฟังว่า ตนทำไปถึงไหนแล้ว บางเรื่องต้องทำทันที ไม่ต้องรอการประชุม ถ้าจำเป็นต้องใช้มาตรา 44 ก็ต้องใช้ ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาความสงบเรียบร้อย และนำไปสู่ความยุติธรรม แต่ละกระทรวงต้องไปจัดลำดับความเร่งด่วนในงานที่ทำ

         พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ส่วนเรื่องการรักษาความสงบนั้น ให้ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.)เชิญฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยเพื่อความปรองดอง ไม่ได้ไปกดหัวใคร แต่ไปสร้างความเข้าใจกับทุกฝ่าย ทุกเรื่องให้มารายงานให้ตนทราบ เพื่อเข้าสู่ครม. และมอบหมายให้ฝ่ายเกี่ยวข้องไปแก้ไข ตนฟังสนช. สปช. ฟังวิทยุ อ่านหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ จะได้ทราบว่า ประชาชนต้องการอะไร จะได้ไม่หลงทาง วันนี้ไม่ต้องการคะแนนเสียง ไม่ต้องการให้ใครนิยมชมชอบ ใครจะเกลียดไม่เป็นไร วันหน้าอาจจะรักก็ได้ แค่ไม่เกลียดก็พอ ส่วนเรื่องการปฏิรูป ถ้าไม่ทำก็จะกลับไปสู่วังวนเดิม แต่ถ้ามีการปฏิรูปทุกคนต้องร่วมมือกัน จะให้ตนทำคนเดียวไม่ได้ ทำวันนี้ก็ปวดหัวแล้ว สิ่งที่จะทำ ทุกคนต้องมีความพึงพอใจและให้ความเห็นชอบ ถ้ายังขัดแย้งกันอยู่ก็ไปไม่ได้ เมื่อหมดอำนาจแล้ว ตนไม่ได้จะไปเป็นอะไร จะกลับบ้านไปนอน

        "การปฏิรูปคือหัวใจ ผมเริ่มต้นหยุดเลือดแล้ว วันนี้ต้องให้น้ำเกลือ ในอนาคตต้องใส่วิตามินทำให้เข้มแข็ง เพื่อไปต่อสู้ข้างนอก เดินหน้าไปสู่เออีซี และประชาคมโลก” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

        พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันนี้ตนติดตามข่าวสารทุกอย่าง และที่ต่างประเทศมาพูดเรื่องรัฐธรรมนูญ ก็เห็นว่า เราเริ่มเดินหน้าแล้ว วันนี้ใครผิดหรือถูกก็อยู่ในกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้เกิดความปรองดอง แต่การปรองดองจะให้ยกโทษทั้งหมด มันใช่หรือไม่ ถ้าใช่ก็ไม่ใช่การปรองดอง เพราะการปรองดองคือ การเจอหน้ากัน ทักทายกัน ครอบครัวคุยกันได้ ไม่มีระเบิด ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้ง จะให้มีการปรองดองโดยการนิรโทษกรรมมันคนละเรื่อง ทุกเรื่องต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทำให้ทุกอย่างเดินหน้า อย่างไรก็ตามโลกทั้งโลกไม่มีอะไรเท่าเทียมกัน แต่กฎหมายจะทำให้คนเท่าเทียมกันได้ ตนจำคำพูดนี้มาจากหนังเรื่องประธานาธิบดีลินคอร์นที่บอกว่า แม้จะทำให้ทุกคนเท่าเทียมกันไม่ได้ แต่จะให้ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกันและเคารพกติกา เพื่อให้ประเทศเดินหน้า

        ขณะที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง แถลงผลงานด้านความมั่นคงว่า เหตุผลสำคัญที่รัฐบาลชุดนี้เข้าบริหารประเทศคือ การยุติปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นประเทศ พร้อมระบุรัฐบาลได้พยายามแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้ดีที่สุด ย้ำประเทศไทยไม่มีนักโทษการเมืองมีแต่นักโทษอาญา อย่าถามว่าจะปล่อยตัวนักโทษการเมืองเมื่อใด

        นอกจากนี้รองนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวอีกว่า งานความมั่นคงนั้นจะทำงานทั้งด้านความมั่นคงภายในและภายนอกประเทศ โดยขณะนี้ไทยให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน คือ ลาว พม่า กัมพูชา และมาเลเซีย เพราะ 4 ประเทศนี้มีอาณาเขตติดกับไทย และประชาชนเดินทางไปมาหาสู่กันตลอดจึงจำเป็นต้องเข้าไปดูแลความมั่นคงด้วย ยืนยันงานความมั่นคงทำด้วยความจริงใจ และจริงจังในทุกเรื่อง

         ด้าน มรว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ขณะนี้รัฐบาลได้เร่งให้มีการปรับฐานอุตสาหกรรมใหม่เพื่อเสริมการส่งออก ขณะที่ในส่วนของกลุ่มส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ รัฐบาลได้อนุมัติฐานการค้าข้ามชาติเพิ่มขึ้น เพื่อดึงต่างชาติเข้ามาลงทุน โดยมีโครงการที่ได้รับอนุมัติแล้ว 31 โครงการ ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นตัวที่ดึงจีดีพีได้สูงสุด ขณะเดียวกันในส่วนของโครงการส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เชื่อมต่อกับ ประเทศเพื่อนบ้าน ขณะนี้รัฐบาลได้เตรียมการถึงขั้นกำหนดที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม และที่ตั้งโกดังเก็บสินค้าไว้เรียบร้อยแล้ว ส่วนโครงการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อีกหนึ่งโครงการสำคัญ เพราะเกี่ยวข้องกับทั้ง โครงข่ายบอดแบรนด์แห่งชาติ ศูนย์คลังข้อมูล การอำนายความสะดวกในการติดต่อราชการ รวมถึงการศึกษาทางไกลผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ DLIT ด้วย

ศาลทหารให้ประกัน 4 พลเมืองโต้กลับแล้ว ตั้งเงื่อนไขห้ามชุมนุม

       ส่งฟ้อง 4 คนกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ทำกิจกรรมเลือกตั้งที่รัก ทนายวางเงินประกันคนละ 20,000 ศาลให้ประกันตัว มีเงื่อนไขห้ามชุมนุม


       4 มิ.ย. 2558  เวลา 10.00 น. กลุ่มพลเมืองโต้กลับ ประกอบด้วย นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ พ่อของสมาพันธ์ ศรีเทพ ผู้เสียชีวิตจากเหตุสลายการชุมนุมทางการเมือง เมื่อปี 2553, นายอานนท์ นำภา ทนายความ, นายวรรณเกียรติ ชูสุวรรณ คนขับแท็กซี่ และนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ เดินทางมายังศาลทหาร เพื่อฟังคำสั่งอัยการทหารว่าจะฟ้องคดีหรือไม่ ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งประกาศ คสช. จากกรณีจัดกิจกรรม "เลือกตั้งที่(รัก)ลัก" หน้าหอศิลป์ฯ เมื่อ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา
        เบื้องต้นทั้ง 4 คนถูกแจ้งข้อหานี้ ขณะที่นายอานนท์ถูกแจ้งข้อหาความผิดเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์  และนายพันธ์ศักดิ์ถูกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มอีก 3 ข้อหาจากกิจกรรมพลเมืองรุกเดินเมื่อ 17 มี.ค.2558 คือ ขัดประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2558, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 หรือความผิดฐานกระทำให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ซึ่งวันนี้ยังมีนัดฟังคำสั่งอัยการในคดีของนายพันธ์ศักดิ์ด้วย  
เวลา 11.30 น. เจ้าหน้าที่ศาลทหารแจ้งว่าคำสั่งฟ้องยังไม่เสร็จ
เวลา 14.00 น. อัยการทหารฟ้องกลุ่มพลเมืองโต้กลับทั้ง 4 คนเป็นคดีดำที่ 164ก./2557
        ในคำฟ้องระบุว่า "จำเลยทั้งสี่ กับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาบังอาจชุมนุมที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพ ซึ่งขัดประกาศห้ามชุมนุม ฉบับที่ 7/2557 โดยจำเลยทั้งสี่ทราบประกาศดังกล่าวแล้ว"
        หลังจากนั้น จำเลยทั้งสี่ถูกใส่กุญแจมือและนำตัวไปยังเรือนจำ ขณะที่ทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสดคนละ 20,000 บาท
       ในช่วงเย็นศาลทหารอนุญาตให้ทั้งสี่คนประกันตัวแล้ว โดยตั้งเงื่อนไขห้ามชุมนุมทางการเมือง และล่าสุดเมื่อเวลาประมาณ 18.45 น.ทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวแล้วจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ  

ที่มา: เพจศูนย์ทนายความเพื่อสิทธฺิมนุษยชน

ศูนย์ทนายฯ เปิดรายงาน 1 ปีหลังรัฐประหาร พบประชาชนถูกละเมิดทุกประเด็น



Thu, 2015-06-04 17:44


         ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนถูกเจ้าหน้าที่สั่งห้ามจัดแถลงข่าว สุดท้ายเหลือเพียงการชี้แจงทูตและตอบข้อซักถามนักข่าว พร้อมแจกรายงานฉบับเต็ม ระบุ 1 ปีประชาชนถูกละเมิดตั้งแต่สิทธิการแสดงออกยันปัญหาปากท้อง เวทีเสวนาถูกปิดอย่างน้อย 71 เวที


       4 มิ.ย. 2558 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ส่งอีเมลถึงสื่อมวลชน เผยแพร่รายงาน “รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน หนึ่งปีหลังการรัฐประหาร 2557” ชี้ทหารไม่ใช่คนกลาง 1 ปีที่ผ่านมา ทำประชาชนถูกละเมิดสิทธิตั้งแต่การแสดงออกขั้นพื้นฐาน จนไปถึงห้ามเรียกร้องปัญหาปากท้อง ชาวบ้านถูกปิดกั้นการมีส่วนร่วมในประเด็นที่ตนได้รับผลกระทบ ทั้งแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบตั้งแต่การควบคุมตัวจนไปถึงการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร เน้นแก้ปัญหาโดยปรับทัศนคติประชาชนให้ตรงกันทหาร สร้างกระบวนการยุติธรรมลายพราง (อ่านรายละเอียดด้านล่าง)

คนทยอยเข้าฟังรายงานสถานการณ์สิทธิ ทนายใช้วิธี 'เดินพูดตามโต๊ะ'
       ทั้งนี้ ตามกำหนดการเดิมศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเตรียมจัดแถลงข่าวเผยแพร่รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน 1 ปีหลังรัฐประหารในเย็นวันนี้ (4 มิ.ย.) ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) แต่ในช่วงเที่ยงมีหนังสือจากพันตำรวจเอก พรชัย ชลอเดช ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี ขอความร่วมมือให้พิจารณางดการจัดเวทีสาธารณะ ทำให้ทาง FCCT เจ้าของสถานที่ต้องขอให้ยกเลิกงานดังกล่าว

        เวลาประมาณ 17.45 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้งานแถลงข่าวจะถูกประกาศยกเลิก แต่ยังคงมีเจ้าหน้าที่จากสถานทูตต่างๆ รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศทยอยเดินทางเข้ามารอรับฟังรายงาน

        รายงานจากพื้นที่แจ้งว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบราว 10 นายเฝ้าดูสถานการณ์ที่ชั้นล่างของอาคาร ขณะที่เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบราว 10 นายอยู่ในห้องแถลงข่าว ส่วนผู้เข้าร่วมงานรวมแล้วกว่า 20 คน เวลา 18.00 น. โจนาธาน เฮด ประธาน FCCT ได้แจ้งว่า การแถลงข่าวและเสวนาถูกยกเลิกแล้ว แต่สามารถใช้วิธีสื่อสารแบบไม่เป็นทางการโดยคนจากศูนย์ทนายฯ จะเดินแจกรายงานพร้อมทั้งพูดคุยกับผู้ที่มารับฟังได้ตามโต๊ะต่างๆ (ในห้องแถลงข่าวแบ่งเป็นโต๊ะกลมหลายโต๊ะ) แต่ขอความร่วมมือห้ามถ่ายภาพ หากต้องการถ่ายภาพต้องเดินออกไปถ่ายภาพภายนอกห้องแถลงข่าว

        จากนั้นไม่นานตัวแทนทนายความได้ออกมานอกห้องแถลงข่าวเพื่อตอบคำถามผู้สื่อข่าวทั้งไทยและต่างประเทศที่รอเฝ้าอยู่ด้านหน้า มีการสอบถามทั้งประเด็นเนื้อหารายงานและความรู้สึกต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น


      ผู้สื่อข่าวถามว่า รู้สึกอย่างไรที่การรายงานสถานการณ์สิทธิจัดไม่ได้หลังรัฐประหารมาแล้ว 1 ปี เยาวลักษณ์ อนุพันธ์ หัวหน้าศูนย์ทนายความกล่าวว่า รู้สึกเป็นเรื่องตลกร้าย เพราะ 1 ปีแล้วสถานการณ์ควรจะดีขึ้น แต่มันกลับไม่เป็นเช่นนั้น เหมือนเป็นทางตัน

        นักข่าวต่างชาติถามว่า รู้สึกกังวลแค่ไหนกับการมาแถลงวันนี้ เยาวลักษณ์กล่าวว่าที่เราพูดทั้งหมดเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ไทยรับรองไว้ในกติการระหว่างประเทศหลายฉบับ สิ่งที่ศูนทนายมาพูดวันนี้เป็นประเด็นหลักการสากล แต่หากจะผิดกฏหมายก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร

      ทั้งนี้ ปลายปี 2557 การแถลงข่าวรายงานสถานการณ์สิทธิของศูนย์ทนายฯ ก็ถูกเจ้าหน้าที่สั่งห้ามจัดเช่นกัน

       นอกจากนี้ศูนย์ทนายยังได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงสถานการณ์ที่ถูกปิดกั้นเวทีแถลงข่าว (อ่านรายละเอียดในล้อมกรอบ) โดยระบุว่า การกระทำดังกล่าวยิ่งเป็นการตอกย้ำสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยภายใต้การปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ได้กระทำการในลักษณะนี้มาตลอดระยะเวลา 1 ปี จากการวบรวมข้อมูลพบว่ามีเวทีเสวนาที่ถูกปิดหรือมีการแทรกแซงการจัดการแล้วอย่างน้อย 71 เวที เป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและวางรากฐานประชาธิปไตยในระยะยาว




ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน หนึ่งปีหลังการรัฐประหาร 2557 โดยนำเสนอใน 5 ประเด็น ได้แก่

  • 1. การแสดงออกภายใต้สถานการณ์ความไม่มั่นคงของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ – พบว่าประชาชนอย่างน้อย 751 ถูกเรียกรายงานตัว ซึ่งอย่างน้อย 5 รายถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ต่อ ด้านเสรีภาพการชุมนุมพบว่ากิจกรรมและเวทีเสวนาที่ถูกปิดหรือแทรกแซงอย่างน้อย 71 งาน มีข้อกังวลเรื่องการควบคุมประชาชนโดยปราศจากอำนาจ โดยนำมาลงบันทึกประจำวัน ซึ่งเป็นการคุกคามและสร้างความหวาดกลัว ด้านการใช้มาตรา 112 ประชาชนถูกดำเนินคดีไปแล้ว 67 ราย โทษจำคุกมาตรฐานศาลทหารอยู่ที่กรรมละ 10 ปี สูงกว่าศาลพลเรือน โดยส่วนใหญ่แล้วถูกดำเนินคดีจากการโพสเฟซบุ๊ค แชร์คลิป

  • 2. ยุติธรรมลายพราง กฎอัยการศึกและการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร – พบประชาชน 18 รายร้องเรียนต่อศูนย์ทนายฯ ถึงการซ้อมทรมานระหว่างถูกควบคุมตัว ด้านการใช้ศาลทหารกับพลเรือน ประชาชน 700 รายถูกพิจารณาโดยศาลทหาร ซึ่งศูนย์ทนายฯกังวลถึงความเป็นกลางของตุลาการ การไม่สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้ และกระบวนพิจารณาคดีที่ต่างไปจากปกติ แม้จะมีการยกเลิกกฎอัยการศึก แต่คำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 ยังให้ทหารเป็นพนักงานสอบสวนซึ่งขัดกับหลักนิติรัฐ

  • 3. การใช้อำนาจโดยปราศจากความรับผิดตามมาตรา 44 – ภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งแล้ว 18 ฉบับ ทั้งการแก้ไขกฎหมาย บริหารบุคคลและรักษาความสงบ โดยให้ทหารมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ในการป้องกัน ปราบปราม จับกุมและสอบสวนในคดีต่างๆ ซึ่งมาตราดังกล่าวให้อำนาจหัวหน้า คสช. อย่างกว้างขวางโดยปราศจากความรับผิดทั้งทางนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ไม่มีผู้ใดฟ้องร้องได้ อันก่อให้เกิดการผลิตซ้ำวัฒนธรรมการลอยนวลของผู้กระทำความผิด อีกทั้งยังมีการนิรโทษกรรมตนเอง อันเป็นการธำรงวัฒนธรรมการลอยนวลของผู้กระทำความผิดให้หยั่งลึกลงอีกในสังคมไทย

  • 4. ทรัพยากรที่ถูก “บุกรุก” – พบว่าคำสั่ง คสช. 64/2557 และแผนแม่บทป่าไม้ มุ่งใช้กับการจับกุมประชาชน ไล่รื้อที่ดิน สร้างผลกระทบต่อผู้ยากจนและผู้ไร้ที่ดินทำกิน เอื้อประโยชน์นายทุน มาตรการต่างๆละเลยการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ เน้นใช้ปราบปรามและใช้อำนาจอย่างเด็ดขาด โดยในสนใจบริบททางประวัติศาสตร์ ประเพณี วัฒนธรรมของชุมชน โดย สตช. แถลงจับกุมผู้ต้องหา 1,622 คน ซึ่งขั้นตอนการจับกุมและดำเนินคดีล่วนสร้างความหวาดกลัวกับชาวบ้าน เช่น การเข้าตัดฟันทำลายพืชผลทางการเกษตร รวมทั้งรื้อถอนบ้านเรือนของประชาชน การรัฐประหารจึงเป็นการฉวยใช้อำนาจและโอกาสในการทำลายอำนาจต่อรองของประชาชนและให้เอื้อประโยชน์กลุ่มทุน

  • 5. ความยุติธรรมที่ยังมาไม่ถึง: การแทรกแซงกระบวนการสืบหาข้อเท็จจริงและการดำเนินคดีต่อเหตุการณ์สลายการชุมนุม เดือนเมษา-พฤษภา 2553 – ภายหลังการรัฐประหาร ศูนย์ทนายฯ ได้รับแจ้งจากกลุ่มผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ปี 2553 ว่ามีจดหมายจากกรมสอบสวนคดีพิเศษส่งถึงที่บ้านเพื่อเรียกเข้าให้ปากคำในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและผู้คุมกำลังในเหตุการณ์ปี 2553 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงใหม่ กรณีที่เกิดขึ้นจึงมีข้อกังวลว่าจะสามารถสอบสวนได้อย่างเป็นธรรม ในฐานะคนกลางหรือไม่

         โดยสรุป ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า แม้ คสช. จะพยายามเข้ามาเป็นตัวกลางในการแก้ปัญหาต่างๆ แต่นับแต่ปี 53 เป็นต้นมา กองทัพกลับเป็นคู่ขัดแย้งของประชาชน ทั้งการสลายการชุมนุม การจับกุม ไล่รื้อที่ การปรับทัศนคติ โดยเน้นให้ตรงกับ คสช. และการใช้เครื่องมือคือศาลทหารในการตัดสินประชาชน อันถือเป็นกระบวนการยุติธรรมลายพราง ซึ่งไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่แท้จริง

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงยืนยันให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ

  • 1. ยกเลิกและยุติการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร
  • 2. ยกเลิกและยุติการใช้อำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557
  • 3. ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีที่มาจากประชาชน และจัดให้มีการเลือกตั้ง คืนอำนาจสู่ประชาชนโดยเร็ว

ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ศูนย์ทนายความเพื่อสทธิมนุษยชน

แถลงการณ์ชี้แจง
การคุกคามการจัดเวทีสาธารณะเผยแพร่รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนหนึ่งปีหลังรัฐประหาร

ตามที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้วางแผนจัดเวทีสาธารณะเพื่อเผยแพร่รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนหนึ่งปีหลังรัฐประหารในวันที่ 4 มิถุนายน 2558 เวลา 18.00 น. ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) แต่วันนี้ (4 มิ.ย.58) เวลาประมาณ 12.00 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งจากทาง FCCT ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประสานงานขอความร่วมมือไม่ให้ใช้สถานที่จัดกิจกรรมดังกล่าว
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นคุกคามการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามข้อ 19 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งบุคคลมีสิทธิในการแสดงความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง และบุคคลมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก รวมถึงสิทธิที่จะแสวงหารับและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิดทุกประเภท
ทั้งนี้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการปกครองระบอบประชาธิปไตย นอกจากการกระทำดังกล่าวยิ่งเป็นการตอกย้ำสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยภายใต้การปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐยังคงจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนโดยข่มขู่ว่าจะดำเนินคดีทางกฎหมาย โดยที่หากมีการละเมิดกฎหมายดังกล่าวพลเรือนจะต้องถูกดำเนินคดียังศาลทหาร อันเป็นกระบวนการยุติธรรมที่ไม่มีความเป็นอิสระและเป็นกลาง
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนขอยืนยันว่าว่าพฤติการณ์ดังกล่าวซึ่งเจ้าหน้าที่ได้กระทำมาตลอดระยะเวลาหนึ่งปีมีเวทีเสวนาที่ถูกปิดหรือมีการแทรกแซงการจัดการแล้วอย่างน้อย 71 เวที เป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและวางรากฐานประชาธิปไตยในระยะยาว

ด้วยความเคารพในสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน