วันพุธที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2558

ประวิทย์–สุภิญญา เสนอบรรจุวาระ พ.ร.บ.ดิจิทัลเข้าที่ประชุม กสทช.

วาระ กสทช.นัดแรกของปี ประวิทย์-สุภิญญา สอง กสทช.เสียงข้างน้อย เสนอบรรจุวาระซีรีส์กฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลเข้าที่ประชุมพรุ่งนี้ เพื่อรวบรวมความเห็นส่งกฤษฎีกา-หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ลุ้นการคิดค่าบริการเป็นวินาทีนำกลับมาบรรจุในร่างประกาศฯ
20 ม.ค. 2558 สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (พุธที่ 21 ม.ค. 58) ที่ประชุมบอร์ด กสทช. ครั้งแรก ประจำปี 2558 มีวาระการประชุมน่าจับตา ได้แก่ ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง การกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม โดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควร หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ พ.ศ. ... ซึ่งร่างประกาศฉบับนี้เป็นร่างที่คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านโทรคมนาคม เสนอให้มีการนำเรื่องการคิดค่าบริการเป็นวินาทีใส่เข้ามาด้วย ในการยกร่างต่อๆ มาจนถึงฉบับล่าสุด ซึ่ง กสทช. สามารถนำเรื่องการคิดค่าบริการเป็นวินาทีมาบรรจุในร่างประกาศฉบับนี้ได้ ก่อนนำไปเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ และถือเป็นการปกป้องผลประโยชน์ผู้บริโภคด้วย
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 15 ม.ค. ที่ผ่านมา ตนเอง และนายประวิทย์  ลี่สถาพรวงศา ได้ทำหนังสือเรียนถึง ประธาน กสทช. เรื่อง ขอให้บรรจุเรื่องการแก้ไข พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง วิทยุ โทรทัศน์ และโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และร่างกฎหมายดิจิทัลที่เกี่ยวข้องรวมทั้งหมด 10 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. … ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ... ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล พ.ศ. . ร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. . ร่าง พ.ร.ฎ.จัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. . ร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (กำหนดให้มีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) รวมทั้งร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจาย เสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เป็นวาระการประชุม กสทช.ด้วย เพื่อให้กรรมการได้ร่วมกันพิจารณาเกี่ยวกับร่างกฎหมายเหล่านี้ อย่างน้อยเพื่อทราบและเตรียมรับสถานการณ์ ตลอดจนเพื่อรวบรวมความคิดเห็น กสทช. สำหรับนำส่งอย่างเป็นทางการต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาในการปรับปรุงแก้ไขร่าง พ.ร.บ.เหล่านี้ต่อไป

ประยุทธ์ตอบเรื่อง พ.ร.บ.มั่นคงไซเบอร์ "จะผ่านแล้วจะทำไม"

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงข่าวหลังประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 58 (ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย)

หลังมติ ครม. 6 ม.ค. อนุมัติหลักการกฎหมาย 8 ฉบับ รองรับเศรษฐกิจดิจิทัล พ่วงแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และออก พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ฯลฯ ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตอบคำถามผู้สื่อข่าวหลังประชุม ครม. ว่า "จะผ่านแล้วจะทำไม ไม่งั้นจะเป็นนายกไปทำไม"
20 ม.ค. 2558 - ตามที่เมื่อวันที่ 6 ม.ค. ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติ และร่างพระราชกฤษฎีการวม 8 ฉบับเพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมีการอนุมัติหลักการแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ รวมทั้งอนุมัติหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ด้วยนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) โดยถูกวิจารณ์ว่าร่างกฎหมายฉบับใหม่จะละเมิดสิทธิ เพราะมีการรับรองการดักฟังข้อมูลนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
ล่าสุดวันนี้ (20 ม.ค.) เว็บไซต์บล็อกนัน ซึ่งอ้างรายงานทวิตเตอร์ของวาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวบางกอกโพสต์ ระบุว่าหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี มีผู้สื่อข่าวถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงเหตุผลที่ต้องออกกฎหมายนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ตอบว่า "จะผ่านแล้วจะทำไม ไม่งั้นจะเป็นนายกไปทำไม"
matichon tv เผยแพร่วิดีโอคลิปที่ พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงเหตุผลในการผ่านกฎหมายดังกล่าวว่า "ทุกคนต้องรู้จักกติกาบ้าง รู้ว่าเขาทำงานกันอย่างไร สิ่งที่ผมกลัวเป็นห่วงที่สุดก็คือทุกคนมัวแต่มองอย่างเดียวว่าจะถูกจำกัดสิทธิ์ วันนี้จำกัดสิทธิ์อะไรบ้างหรือยัง จำกัดอะไรบ้างหรือยัง" โดยมีผู้สื่อข่าวถามย้ำถึงเหตุผลต่อจน พล.อ.ประยุทธ์ ตอบกลับไปว่า "ไม่ต้องทำไมอะ ก็ทำไม  จะผ่านอะทำไม แล้วจะเป็นทำไมวะ นายกจะเป็นทำไม" 
สำหรับรายละเอียดของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์นั้น นิยาม "ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์" ว่าหมายถึง "มาตรการและการดำเนินการที่กำหนดขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศให้สามารถปกป้อง ป้องกัน หรือรับมือกับสถานการณ์ด้านภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ส่งผลกระทบหรืออาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการให้บริการหรือการประยุกต์ใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต โครงข่ายโทรคมนาคม หรือการให้บริการโดยปกติของดาวเทียม อันกระทบต่อความมั่นคงของชาติซึ่งรวมถึงความมั่นคงทางการทหาร ความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ"
นอกจากนี้ในร่างกฎหมาย ยังกำหนดให้ตั้งคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กปช.) โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นประธาน
กรณีมีเหตุฉุกเฉินหรือภยันตรายจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่อาจกระทบความมั่นคงของประเทศ ให้ กปช. สั่งหน่วยงานรัฐทุกแห่งดำเนินการเพื่อป้องกัน แก้ไข บรรเทาความเสียหายที่เกิดหรืออาจจะเกิดได้ กรณีมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ที่อาจกระทบต่อความมั่นคงทางการเงิน การพาณิชย์หรือความมั่นคงของประเทศ กปช. สั่งหน่วยงานเอกชนได้
และตามร่างกฎหมายดังกล่าว พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเป็นหนังสือจากเลขาธิการ มีอำนาจดังต่อไปนี้ เช่น 1. มีหนังสือสอบถามหรือเรียกให้หน่วยงานรัฐ บุคคลใดๆ มาให้ถ้อยคำ ส่งคำชี้แจงเป็นหนังสือ หรือส่งบัญชี เอกสาร หลักฐานเพื่อตรวจสอบหรือให้ข้อมูล 2. มีหนังสือให้หน่วยงานราชการหรือเอกชนดำเนินการเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงานของ กปช. 3. เข้าถึงข้อมูลการติดต่อสื่อสารทั้งทางไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องมือหรืออุปกรณ์การสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

คณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าวเรียกร้อง สนช.ถอนร่าง พ.ร.บ.มั่นคงไซเบอร์

คณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าวเรียกร้องให้ สนช.ถอนร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ หวั่นเกิดการตรวจตราสอดส่องนักกิจกรรมและแพลตฟอร์มออนไลน์
21 ม.ค. 2558 วานนี้ คณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าว (Committee to Protect Journalists: CPJ) เรียกร้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ถอนร่างกฎหมายซึ่งจะอนุญาตให้มีการตรวจตราสอดส่องนักกิจกรรมและแพลตฟอร์มออนไลน์ หลังคณะรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ และอยู่ระหว่างนำเสนอต่อ สนช.
ทั้งนี้ ตามมาตรา 35 ของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว คณะกรรมการตาม พ.ร.บ.นี้จะมีอำนาจในการเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล โทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ โดยไม่ต้องขอคำสั่งศาล
ชอน คริสปิน ตัวแทน CPJ ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า การออกกฎหมายความมั่นคงไซเบอร์แสดงให้เห็นถึงอันตรายต่อเสรีภาพสื่อในปัจจุบันอย่างชัดเจน
"หาก พล.อ.ประยุทธ์มีความจริงใจในการคืนประชาธิปไตยสู่ประเทศ เขาควรจะให้สภานิติบัญญัติถอนร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งเตือนให้นึกถึงรัฐตำรวจ แล้วออกกฎหมายที่ส่งเสริมเสรีภาพออนไลน์แทน" คริสปินกล่าว
ทั้งนี้ จากการรวบรวมข้อมูลโดย CPJ พบว่า ตั้งแต่รัฐประหารยึดอำนาจเมื่อ 22 พ.ค. 2557 เป็นต้นมา รัฐบาลทหารของ พล.อ.ประยุทธ์ออกมาตรการหลายข้อต่อสื่อ อินเทอร์เน็ต และโซเชียมีเดีย เช่น ประกาศ คสช.ฉบับที่ 26 ซึ่งให้อำนาจกระทรวงไอซีทีในการมอนิเตอร์และเข้าถีงข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์และโซเชียลมีเดียซึ่งเป็นภัยต่อความมั่นคง

2 สมาคมแท็กซี่ปฏิเสธไม่เกี่ยวข้องป้ายงดรับผู้โดยสารญี่ปุ่น-พร้อมตำหนิคนติดป้าย

กรณีแชร์ภาพออนไลน์อ้างว่าเป็นป้าย "งดรับผู้โดยสารชาวญี่ปุ่น" ล่าสุดทั้งนายกสมาคมวิชาชีพผู้ขับขี่แท็กซี่ และสมาคมผู้ขับรถแท็กซี่เพื่อไทยสุวรรณภูมิซึ่งถูกอ้างชื่อ ปฏิเสธไม่เกี่ยวกับป้ายดังกล่าว ชี้ทำแบบนี้รายได้หายหมด-ทุกคนต้องเลี้ยงครอบครัว ถ้าแท็กซี่รายไหนทำจริง สมาคมจะไม่ออกหน้ารับผิดให้ ขณะที่การท่าฯ สุวรรณภูมิ สั่งลงโทษแท็กซี่ขอเหมา-ไม่เปิดมิเตอร์แล้ว โดยถูกห้ามขับแท็กซี่เข้าสนามบินตลอดไป
21 ม.ค. 2558 - กรณีที่มีผู้แชร์ภาพโดยไม่ระบุที่มา อ้างว่าเป็นป้าย "งดรับผู้โดยสารชาวญี่ปุ่น" อ้างว่าประกาศโดยสมาคมผู้ขับรถแท็กซี่เพื่อไทยสุวรรณภูมินั้น ล่าสุด ไทยรัฐออนไลน์ สัมภาษณ์ นายธารินทร์ แกมขุนทด นายกสมาคมวิชาชีพผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะแท็กซี่ ยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับคนในสมาคม หากมีแท็กซี่คนใดมีพฤติกรรมดังกล่าวจริง ก็พร้อมคัดค้าน การกระทำแบบนี้ หากมีจริงก็ถือได้ว่าเป็นการสร้างภาพลบต่อการท่องเที่ยวไทย และทำให้ประเทศชาติเสื่อมเสีย และจะใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ดำเนินการทางกฎหมายต่อผู้โพสต์ภาพดังกล่าว
ด้านนายศดิศ ใจเที่ยง นายกสมาคมผู้ขับรถแท็กซี่เพื่อไทยสุวรรณภูมิ ซึ่งถูกอ้างถึงในป้ายประกาศนั้น ข่าวสดออนไลน์ ได้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยนายศดิศ ระบุว่า เรื่องนี้ยังไม่ได้เห็นกับตาตัวเอง แต่เห็นภาพจากในสื่อแล้ว ยืนยันว่าทางสมาคมไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการติดป้ายงดรับผู้โดยสาร เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้วเราไม่สามารถเกี่ยงได้ว่า จะรับหรือไม่รับผู้โดยสารชาติใด ถ้าทำอย่างนั้นรายได้จะหายหมด เราทุกคนยังต้องหาเลี้ยงครอบครัวอยู่
ส่วนสาเหตุที่มีภาพแท็กซี่ติดป้ายดังกล่าว นายกสมาคมฯ กล่าวว่า อาจมาจากกรณีที่ชาวญี่ปุ่นให้ข่าวทำนองว่า แท็กซี่ไทยเรียกเก็บเงินมหาโหด ทำให้ผู้ขับแท็กซี่เสียหาย และอาจมีบางรายไม่พอใจ จึงติดป้ายดังกล่าว ในฐานะของนายกสมาคมฯ ขอตำหนิการกระทำเช่นนี้ ยืนยันว่าทางสมาคมฯไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบหาที่มาของภาพดังกล่าว ถ้าพบว่าสมาชิกของสมาคมติดป้ายจริง ผู้นั้นจะต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยตนเอง สมาคมจะไม่ออกตัวรับผิดชอบให้ เพราะถือว่าทำให้สมาคมเสียหาย
กรณีแท็กซี่สุวรรณภูมิไม่เปิดมิเตอร์ ผอ.การท่าสุวรรณภูมิ สั่งลงโทษห้ามเข้ามารับผู้โดยสารตลอดไป
สำหรับกรณีภาพที่เผยแพร่ในโลกออนไลน์ดังกล่าว จุดเริ่มต้นเกิดตั้งแต่ กรณีที่มีชาวญี่ปุ่นชื่อ "โคกิ อากิ" ซึ่งมีชื่อเสียงจากกิจกรรมช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสในกรุงเทพมหานคร ได้ร้องเรียนในเฟซบุ๊คของเขาเมื่อวันที่ 18 ม.ค. ว่า มีแท็กซี่ที่ให้บริการในสนามบินสุวรรณภูมิ ไม่ยอมเปิดมิเตอร์ และเรียกอัตราเหมาจากสนามบินสุวรรณภูมิไปสะพานควายเป็นเงิน 700 บาท อ้างว่าเป็นรถแท็กซี่ขนาดใหญ่ ตอนหนึ่งเขาเขียนร้องเรียนว่า " ที่นี่คือสนามบินแห่งชาติของประเทศไทยนะครับและที่นี่คือสถานที่รอรถแท็กซี่ของสนามบินนานาชาติ แม้กระทั่งมีการโกง และไม่สนใจผู้โดยสาร เราคนต่างชาติจะทำยังไงได้ครับ เจ้าหน้าที่สนามบินไม่มีหน้าที่ดูแลคนขับแท็กซี่เหรอครับ แม้กระทั่งพยายามจะไม่สนใจผู้โดยสาร ทำเหมือนกับปล่อยไปเถอะ" (อ่านในข่าวสด, 19 ม.ค. 2558)
และในวันนี้ (21 ม.ค.) ในโลกออนไลน์มีการแชร์รูปที่ไม่สามารถระบุที่มาได้ อ้างชื่อสมาคมผู้ขับรถแท็กซี่เพื่อไทยสุวรรณภูมิ ระบุว่า "งดรับผู้โดยสารชาวญี่ปุ่น" จนในช่วงสายวันนี้สมาคมที่ถูกอ้างถึง และสมาคมวิชาชีพของผู้ขับรถแท็กซี่ได้ปฏิเสธข่าวดังกล่าว
ต่อมาในวันที่ 19 ม.ค.   นายประพนธ์  ปัทมกิจสกุล ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.)ได้แถลงเผยแพร่ในเว็บไซต์ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระบุว่า ได้สั่งลงโทษรถแท็กซี่ที่เรียกเหมาราคาค่าโดยสารจากผู้โดยสารชาวญี่ปุ่นไม่ให้เข้ามาให้บริการที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ  โดยชี้แจงว่า กรณีดังกล่าว หลังทราบเรื่องเจ้าหน้าที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ได้แนะนำให้ชาวญี่ปุ่นคนดังกล่าวเขียนใบร้องเรียน เพื่อที่ ทสภ. จะได้มีหลักฐานในการดำเนินการลงโทษ แต่ชาวญี่ปุ่นไม่ได้เขียนใบร้องเรียน เจ้าหน้าที่จึงขอให้ชาวญี่ปุ่นทำการกดบัตรคิวเพื่อใช้บริการรถแท็กซี่คันใหม่
"จากกรณีดังกล่าว ทสภ. ได้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่าผู้ขับขี่รถแท็กซี่ที่มีการเรียกราคาเหมากับนายโคกิ อากิ นั้น ชื่อนายไชยยันต์  เจริญโสภา เป็นผู้ขับขี่รถแท็กซี่ Van ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นอินโนว่า หมายเลขทะเบียนรถ มฎ-5178 กทม. หมายเลขประจำตัวผู้ขับขี่ 570297 และได้ยอมรับว่ามีการเรียกเหมาราคาจาก นายโคกิ อากิจริง ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือเป็นการปฏิบัติที่ผิดระเบียบของผู้ขับขี่รถยนต์รับจ้างสาธารณะ ที่ ทสภ. กำหนดไว้เกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าโดยสารเกินอัตราที่ปรากฏตามมาตรมิเตอร์ค่าโดยสาร และความผิดดังกล่าว ทสภ. ได้กำหนดบทลงโทษให้พักการให้บริการในเขต ทสภ. ตลอดไป ซึ่งในกรณีนี้ ทสภ. ได้มีการยกเลิกรหัสของนายไชยยันต์ เจริญโสภา และสั่งห้ามไม่ให้เข้ามาให้บริการรับผู้โดยสารที่ ทสภ. ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2558 เป็นต้นไป"
นายประพนธ์ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบัน ทสภ. มีรถแท็กซี่ที่ลงทะเบียนเพื่อให้บริการจำนวนทั้งสิ้น 5,014 คัน โดยมีเที่ยววิ่งเฉลี่ย 8,500 เที่ยวต่อวัน หรือเฉลี่ยประมาณ 255,000 เที่ยวต่อเดือน ซึ่งในแต่ละเดือน มีการร้องเรียนการใช้บริการรถแท็กซี่ในเรื่องต่าง ๆ ประมาณ 35 รายต่อเดือน ซึ่งหาก ทสภ. มีการตรวจสอบข้อร้องเรียนและพบว่าผู้ขับขี่รถแท็กซี่มีการกระทำความผิดจริง ทสภ. ได้มีการสั่งลงโทษทุกรายอย่างเด็ดขาดโดยไม่มีข้อยกเว้น ดังนั้น ทสภ. จึงใคร่ขอความร่วมมือหากพบเห็นผู้ขับขี่รถแท็กซี่รายใดมีการกระทำที่ไม่เหมาะสม อาทิ ไม่เปิดมิเตอร์ การพูดจาแสดงอาการไม่สุภาพต่อผู้ใช้บริการ การปฏิเสธผู้โดยสาร หรือกรณีหลงลืมทรัพย์สินไว้บนรถแท็กซี่ สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่ ฝ่ายบริหารการขนส่ง ทสภ. โทร 0 2132 9199 ตลอด 24 ชั่วโมง และเก็บสลิปการจัดคิวไว้ เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการติดตามและตรวจสอบ
ทสภ. ระบุด้วยว่า ในช่วงระหว่างเดือนตุลาคม 2557 – 18 มกราคม 2558 ทสภ. ได้มีการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (ระบบ KIOSK) เพื่อการบริหารจัดการรถรับจ้างสาธารณะ มาใช้งานแล้วนั้น ทสภ. สามารถติดตามสิ่งของที่ผู้โดยสารหลงลืมส่งคืนให้เจ้าของได้อย่างรวดเร็ว จำนวน 128 ราย

ครม.เห็นชอบงบฯปี 59 วงเงิน 2.72 ล้านล้าน ‘ประยุทธ์’ กำชับส่วนราชการเร่งรัดรัดเบิกจ่าย

พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมสัมมนา และมอบนโยบายการจัดทำงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ณ ห้องคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ชั้น 22 โรงแรมเซนทารา แกรนด์ (ภาพจากศูนย์สื่อทำเนียบ)
21 ม.ค.2558 ร.อ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบกรอบการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 มีกรอบวงเงินรายจ่าย 2,720,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 จำนวน 145,000 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 5.6% เป็นรายจ่ายประจำ 2,100,363 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.6% รายจ่ายเพื่อการลงทุน 544,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 13,536 ล้านบาท ลดลง 67.7% และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 62,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.5% ขณะที่รายได้รวมสุทธิของรัฐบาลอยู่ที่ 2,330,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 คิดเป็น 0.2% วงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 390,000 ล้านบาท
สำหรับการจัดทำกรอบวงเงินงบประมาณดังกล่าวคิดจากสมมติฐานทางเศรษฐกิจที่อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) อยู่ที่ 3.7-4.7% อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 1.1-2.1% โดยการจัดสรรงบประมาณปี 2559 แบ่งเป็น 8 ยุทธศาสตร์ 1 รายการ คือการเร่งรัดการจัดทำรากฐานการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ ความมั่นคงแห่งรัฐ การสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ เติบโตอย่างเป็นธรรม การศึกษา สาธารณสุข คุณธรรม จริยธรรม คุณภาพชีวิต ยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรม การต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ส่วน 1 รายการ คือค่าดำเนินการภาครัฐ
จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบนโยบายให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2559 ดังกล่าว
สำหรับแนวทางการใช้จ่ายงบประมาณให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 การบูรณาการระดับกระทรวง หน่วยงานและระดับพื้นที่ การจัดลำดับความสำคัญของภารกิจ โดยให้ความสำคัญตามแผนบูรณาการ 19 งานที่กำหนดไว้ การชะลอ ปรับลด หรือยกเลิกการดำเนินภารกิจที่มีความสำคัญระดับต่ำหรือหมดความจำเป็น การพิจารณาการใช้จ่ายให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน และจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณที่ชัดเจน
ทั้งนี้ ต้องการให้ส่วนราชการเตรียมการเบิกจ่ายงบประมาณงบฯ ปี 2559 ให้มีประสิทธิภาพ หลังจากงบฯ ปี 2558 มีปัญหาการเบิกจ่ายได้น้อยมาก โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลให้ความสำคัญความโปร่งใสต่อการจัดซื้อจัดจ้าง การลงทุนของหน่วยงานภาครัฐ ต้องคำนวณราคากลางให้เหมาะสม ยอมรับว่าจากการเข้มงวดป้องกันการทุจริตทำให้ประหยัดงบประมาณได้สูงมาก แม้งบประมาณรายจ่ายเพิ่มขึ้นจาก 2.525 ล้านล้านบาทในปี 2558 เป็น 2.72 ล้านล้านบาทในปี 2559 แต่รัฐบาลยังต้องระวังการใช้จ่ายงบประจำให้คงที่ และการยังใช้งบประมาณแบบขาดดุล เพราะยังต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รายได้ของรัฐยังไม่พอกับรายจ่าย ขอให้ทุกส่วนเน้นการดูแลราคาสินค้าเกษตรผลักดันให้ราคาสูงขึ้น อย่าปล่อยให้สินค้าเกษตรกลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยขอเน้นย้ำเรื่องความโปร่งใสการใช้งบประมาณ
ด้านสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการ สำนักงบประมาณ กล่าวว่า หลังจากนี้เตรียมจัดนำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาวาระแรกวันที่ 21 พฤษภาคม และวาระที่ 2 ในช่วงเดือนสิงหาคม 2558 งบลงทุนที่เพิ่มขึ้น จากเดิมร้อยละ 17.8 ของงบประมาณทั้งหมด เป็นร้อยละ 20 เนื่องจากรัฐบาลต้องการเดินหน้าโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่หลายโครงการ เช่น รถไฟฟ้า การบริหารจัดการน้ำ การปรับโครงสร้างด้านการศึกษา สาธารณสุข
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกำชับให้ส่วนราชการจัดอันดับความสำคัญการใช้เงินลงทุน การใช้งบประมาณให้สอดคล้องกับรายได้ที่มีอยู่จำกัด และให้ปรับลด ชะลอ หรือยกเลิกการใช้งบประมาณสำหรับกองทุนหมุนเวียนที่ไม่มีความจำเป็น เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้เงินงบประมาณในปัจจุบัน เมื่อปี 2558 ได้เน้นสร้างความเชื่อมั่นแล้ว ดังนั้น ปี 2559 จะเน้นการเร่งสร้างและวางรากฐานโครงการต่าง ๆ เพื่อให้เติบโตอย่างยั่งยืน
สำหรับหน่วยงานเจ้าของโครงการยังไม่ได้สำรวจ ออกแบบ ต้องมาตกลงกับสำนักงบประมาณ เพื่อขอใช้งบปี 2558 ดำเนินการ หากยังออกแบบไม่ทันภายในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558 จะไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2559 ส่วนการกำหนดราคากลางปรับราคาให้สอดคล้องกับราคาน้ำมันดีเซลที่ลดลงต่อเนื่อง โดยกำหนดราคากลางขึ้นใหม่ เพื่อนำราคากลางประกาศใหม่ตามระเบียบพัสดุ สำนักนายกรัฐมนตรี

น้ำมันปาล์มล็อตแรกถึงก่อนปลาย ม.ค. ชาวสวนปาล์มใต้ลั่นเลิกอัยการศึกจะเดินประท้วงถึงทำเนียบ

ทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่ายชาวสวนยางพาราและสวนปาล์ม 16 จังหวัดภาคใต้

21 ม.ค.2558 พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การนำเข้าน้ำมันปาล์ม 50,000 ตัน ช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้จะช่วยให้มีปริมาณเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศที่ 150,000 ตันต่อเดือน และมั่นใจว่าจะไม่กระทบราคาผลปาล์มสดในประเทศที่กำลังจะออกในช่วงเดือนมีนาคม เพราะเป็นการนำเข้าระยะสั้นและจะดูแลราคาผลปาล์มในประเทศ ไม่ให้ต่ำกว่า 5 บาทต่อกิโลกรัม ดังนั้น จึงมีปริมาณน้ำมันปาล์มเพียงพอจำหน่ายต่อการบริโภคแน่นอน ส่วนที่บางตลาดขาดแคลนนั้น เป็นการฉวยโอกาสของผู้ค้าบางกลุ่มในช่วงปริมาณน้ำมันตึงตัว เพื่อประโยชน์การค้ากำไรเกินควร จึงได้สั่งการให้กรมการค้าภายในดูแลอย่างใกล้ชิด หากพบเห็นกระทำผิดค้ากำไรเกินควรให้ดำเนินการทางกฎหมายได้ทันที
ทั้งนี้ จากการติดตามปริมาณสำรองน้ำมันปาล์มในประเทศตั้งแต่เดือนตุลาคมปริมาณลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากที่ต้องมีสตอกไม่ต่ำกว่า 200,000 ตัน แต่กลับลดลงไม่ถึงปริมาณดังกล่าว กระทรวงพาณิชย์จึงมีความจำเป็นต้องนำเข้าน้ำมันปาล์มเพื่อสำรองสตอกไว้ป้องกันการขาดแคลน และเมื่อนำเข้าน้ำมันปาล์มมาแล้ว ก็จะบริหารจัดการป้อนโรงงานเพื่อผลิตน้ำมันปาล์มบรรจุขวดจำหน่ายตามราคาควบคุมของกระทรวงพาณิชย์ที่กำหนดไว้ไม่ให้เกินขวดลิตรละ 42 บาท
คาดน้ำมันปาล์มล็อตแรกถึงไทยก่อนปลายเดือน ม.ค. นี้
จินตนา ชัยยวรรณาการ ประธานกรรมการ องค์การคลังสินค้า (อคส.) กล่าวว่า หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้นำเข้าน้ำมันปาล์มดิบ 50,000 ตัน จะใช้งบประมาณ 1,500 ล้านบาท และใช้เวลาดำเนินการให้เสร็จภายในไม่เกินกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2558 เพื่อให้ผลิตบรรจุขวดต่อการบริโภคเพียงพอ 1-2 เดือน และลดปัญหาการตึงตัวของน้ำมันปาล์มในขณะนี้ และ อคส.ได้เจรจาต่อรองผู้ค้าน้ำมันปาล์มในประเทศมาเลเซียเสร็จแล้ว ซึ่งได้ราคาดีที่ อคส.สามารถขายน้ำมันปาล์มส่วนนี้ให้กับผู้ประกอบที่เป็นสมาชิกสมาคมปาล์มน้ำมันราคาลิตรละ 27.50 -28 บาท ซึ่งเอกชนรับราคานี้ได้ และเพื่อนำไปผลิตเป็นน้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภคขนาดถุงและขวด 1 ลิตร และเพื่อให้ขายปลีกไม่เกินราคาควบคุมของกรมการค้าภายในกำหนดไว้ขวด (ลิตร) ละ 42 บาท
ทั้งนี้ คาดว่าน่าจะนำเข้างวดแรกต้นสัปดาห์หน้า ซึ่งตามกรอบนำเข้าน้ำมันปาล์ม 50,000 ตันครั้งนี้ต้องทำให้เสร็จภายในกลางเดือนกุมภาพันธ์ ดังนั้น จำนวน 50,000 ตันจะมีขั้นตอนขนถ่ายจากประเทศต้นทางและมาถึงประเทศไทยจะใช้เวลา 7 วัน แต่ละลำเรือที่ขนน้ำมันปาล์มเข้ามาไม่ต่ำกว่า 12,000 ตัน หรือ 4-5 เที่ยวในการขนส่งปริมาณน้ำมันปาล์มครั้งนี้
ส่วนเรื่องราคาและจัดทำเงื่อนไขการนำเข้าและมาตรการดูแลเกษตรกรไม่ให้ได้รับผลกระทบ โดยเงื่อนไขโรงกลั่นน้ำมันที่ซื้อน้ำมันปาล์มจาก อคส. เพื่อใช้ผลิตในการบริโภคต้องรับซื้อผลปาล์มดิบจากเกษตรกรสัดส่วนเดียวกัน ราคารับซื้อไม่ต่ำกว่า 5 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ไม่กระทบต่อภาคเกษตรแน่นอน เพราะราคาตอนนี้เกิน 5 บาทต่อกิโลกรัม หากพิจารณาต้นทุนเกษตรกรอยู่ที่ 3.50 บาทต่อกิโลกรัม ถือว่าราคารับซื้อ 5 บาทต่อกิโลกรัมเกษตรกรอยู่ได้ และขณะนี้มีเอกชน 10 รายสนใจแล้ว
ชาวสวนปาล์ม16 จังหวัดใต้ ลั่นเลิกกฎอัยการศึกจะเดินประท้วงถึงทำเนียบ
ด้าน ทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่ายชาวสวนยางพาราและสวนปาล์ม 16 จังหวัดภาคใต้ กล่าวว่า ปาล์มที่จะทำให้ชาวสวนปาล์มลืมต้าอ้าปากได้  เพราะราคาปาล์มทะลายอยู่ที่ 5.50 บาทต่อ กก. มีกำไร 1 บาทต่อ กก. และปาล์มร่วงราคา 7.20 บาท ต่อ กก. ชาวสวนปาล์มมีกำไร 3 บาท ต่อ กก. แต่เมื่อรัฐบาลมีนโยบายนำปาล์มเข้ามา 50,000 ตัน  ราคาก็จะตกลงทันที
“เหตุผลที่รัฐบาลอ้างนำเข้าปาล์มน้ำมัน โดยมีข้อมูลว่าเหลือในสต๊อกกว่า 110,000 ตัน  หากให้พอดีกับสต๊อกต้องอยู่ที่ 135,000 ตัน  ขาดเหลือประมาณ 20,000 ตันเท่านั้น  รัฐบาลไปลดน้ำมันไบโอดีเซลบี 7 มาเหลือเป็นบี 3 น้ำมันปาล์มก็จะสมดุลกัน  วิธีแก้ไขเช่นนี้จะไม่กระทบต่อชาวสวนปาล์มและผู้บริโภคแต่อย่างใด”
นายทศพลกล่าวว่าตนขอยืนยันว่าจากการลงสำรวจพื้นที่ปลูกปาล์ม ขณะนี้สวนปาล์มมีผลปาล์มอยู่เต็มคอ และพร้อมออกเต็มที่ประมาณกลางเดือน ก.พ. และผลปาล์มรุ่นใหม่ก็จะตัดได้ภายใน 15 วัน  ก็สามารถผลิตน้ำมันปาล์มได้แล้ว  จะไม่ขาดตลาดตามที่รัฐบาลกล่าวอ้างแต่อย่างใด  หากมีการนำเข้าน้ำมันปาล์ม ก็จะส่งผลให้ปาล์มล้นตลาดทันที
ทศพล กล่าวว่าที่แท้จริงแล้วรัฐบาลเป็นผู้กดขี่เกษตรกรทั้งยางพาราและปาล์มน้ำมันเมื่อรัฐบาลทำนโยบายเป็นผู้ชี้นำเช่นนี้ กลุ่มทุนก็ตามมากดราคาอีกต่อหนึ่ง รัฐบาลกรุณายกเลิกกฎอัยการศึก  เกษตรกรชาวสวนยางและสวนปาล์มที่เดือดร้อนจะเดินประท้วงถึงทำเนียบ