วันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2559

ฎีกาพิพากษายืนจำคุก 'สนธิ' ผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์ 20 ปี พาตัวเข้าเรือนจำทันที


6 ก.ย. 2559 ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (6 ก.ย.59) ที่ห้องพิจารณา 912 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เวลา 09.30 น. ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำ อ.1036/2552 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง สนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ในเครือผู้จัดการ และอดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) , สุรเดช มุขยางกูร อดีตกรรมการบริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ,เสาวลักษณ์ ธีรานุจรรยงค์ อดีตผู้บริหารแผนฟื้นฟู บมจ. แมเนเจอร์ฯ และ ยุพิน จันทนา อดีตกรรมการ บมจ. แมเนเจอร์ฯ เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานกระทำผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 307, 311, 312 (1) (2) (3) , 313


ตามฟ้องโจทก์บรรยายความผิดสรุปว่า เมื่อวันที่ 29 เม.ย.2539 - 31 มี.ค.2540 จำเลยทั้งสี่ เป็นกรรมการ บมจ. แมเนเจอร์ ฯ ได้ร่วมทำสำเนา รายงานการประชุมของกรรมการบริษัท ที่เป็นเท็จว่ามีมติให้ บริษัทเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ให้กับบริษัท เดอะ เอ็ม กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่ง สนธิ จำเลยที่ 1 ถือหุ้นอยู่ รวม 6 ครั้ง จำนวน 1,078 ล้านบาท โดย สนธิ จำเลยที่ 1 และ เสาวลักษณ์ จำเลยที่ 3 ไม่ได้ขออนุมัติจากมติที่ประชุมกรรมการบริษัท
ต่อมาวันที่ 30 เม.ย.39 - 18 พ.ย .2541 จำเลยทั้งสี่ ยังร่วมกันยอมให้มีการเปลี่ยนแปลง ตัดทอนทำบัญชีไม่ตรงกับความเป็นจริง และจำเลยทั้งสี่ ไม่ได้นำภาระการค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าว ที่เป็นรายการที่ทำให้รายได้ของ บมจ.แมเนเจอร์ฯ เปลี่ยนแปลงผิดปกติ ซึ่งต้องแสดงรายการไว้ในงบการเงินประจำปี 2539-2541 และจะต้องนำส่งให้ตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อลวงให้ผู้ถือหุ้น บมจ.แมเนเจอร์ฯ ขาดประโยชน์ที่ควรจะได้รับ รวมทั้งเป็นการลวงให้นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ไม่ได้รับรู้ถึงการค้ำประกันหนี้ดังกล่าว เหตุเกิดที่แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา และแขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กทม. เกี่ยวพันกัน จำเลยทั้งสี่ ให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณา
ขณะที่ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 ก.พ.2555 ว่า สนธิ จำเลยที่ 1 และ เสาวลักษณ์ จำเลยที่ 3 มีความผิดฐานร่วมกันกระทำผิดต่อหน้าที่โดยทุจริตเป็นเหตุให้บริษัทเสียหาย โดยร่วมกันกระทำการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้ , ร่วมกันไม่ลงข้อความสำคัญในบัญชีหรือเอกสารของบริษัท และร่วมกันทำบัญชีไม่ครบถ้วนไม่เป็นปัจจุบัน ไม่ตรงต่อความเป็นจริงเพื่อลวงให้บริษัท และผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์ ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ ฯ มาตรา 307,311,312,313 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 และ 3 คนละ 17 กระทงๆ ละ 5 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 และ 3 ทั้งสิ้น 85 ปี
ขณะที่ สุรเดช จำเลยที่ 2 จำคุก 5 ปี ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ ฯ มาตรา 313 และจำคุก ยุพิน จำเลยที่ 4 รวม 13 กระทงๆ ละ 5 ปี ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ ฯ มาตรา 307,311,312,313 รวมจำคุกจำเลยที่ 4 ทั้งสิ้น 65 ปี จำเลยทั้งหมดให้การรับสารภาพ ศาลลดโทษให้กึ่งหนึ่ง จำคุกจำเลยที่ 1 และ 3 รวม 42 ปี 6 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 จำคุก 2 ปี 6 เดือน และจำเลยที่ 4 จำคุก 32 ปี 6 เดือน แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงผิดแล้ว ให้จำคุกจำเลยที่ 1,3,4 สูงสุดตามกฎหมายมาตรา 91(2) คนละ 20 ปี
ต่อมา สนธิ , เสาวลักษณ์ และ ยุพิน จำเลยที่ 1, 3 และ 4 ยื่นอุทธรณ์ว่าไม่มีเจตนากระทำผิด และไม่ได้รับผลประโยชน์ในทรัพย์สินแต่อย่างใด จึงขอให้ศาลลงโทษสถานเบา และรอการลงโทษ ส่วน สุรเดช จำเลยที่ 2 ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์คดีจึงถือที่สุดตามกฎหมายรับโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว เห็นว่า แม้ทางนำสืบโจทก์ ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1,3 และ 4 ได้รับผลประโยชน์ส่วนตัวในการค้ำประกันของบมจ. แมเนเจอร์ ฯ แต่การค้ำประกันเงินกู้ของ บมจ.แมเนอร์เจอร์ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ ธ.กรุงไทย อนุมัติเงินกู้ให้ การกระทำของจำเลยจึงถือว่าครบองค์ประกอบ ที่ทำให้ บมจ.เดอะ เอ็ม กรุ๊ป ได้รับผลประโยชน์ จึงเป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ ฯ ม. 307 และ 311
ส่วนที่จำเลย อ้างว่ามีเจตนาเดียว คือ การค้ำประกันเงินกู้ต่อเนื่องเพียงโครงการเดียว จึงเป็นความผิดเพียงกระทงเดียวนั้นศาลเห็นว่า จำเลยไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าได้มีการประกันเงินกู้ในโครงการเดียวอย่างไร ดังนั้นการที่จำเลยค้ำประกันเงินกู้แต่ละครั้ง ย่อมเป็นการกระทำผิดแยกกรรมต่างกัน และที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยไม่ได้นำภาระการค้ำประกันหนี้ ลงในรายการภาระหรือรายได้เพื่อจัดส่งให้ตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากภาระการค้ำประกันหนี้ ไม่ถือเป็นภาระผูกพันปัจจุบัน จึงไม่เป็นความผิดนั้น ศาลเห็นว่า บมจ.แมเนเจอร์ฯ เป็นบริษัท มหาชน จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และดำเนินงานอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ ฯ และข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์ เรื่องหลักเกณฑ์การจัดทำงบการเงิน โดยจะต้องรายงานผลการจดทะเบียนและจัดทำงบไตรมาส ทุก ๆ 6 เดือน หรือ 1 ปี โดยระบุในรายการหนี้สินหมุนเวียน ซึ่งโจทก์ มีเจ้าหน้าที่ผู้บริหารอาวุโสตลาดหลักทรัพย์ เบิกความยืนยันว่างบการเงินเป็นข้อมูลที่สำคัญ ทำให้ผู้ลงทุน สามารถตัดสินใจร่วมลงหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ และรู้ถึงสถานะทางการเงินของ บมจ.แมเนเจอร์ฯ ซึ่งบริษัท ต้องเปิดเผยฐานะทางการเงินที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน อุทธรณ์จำเลยจึงฟังไม่ขึ้น
เมื่อจำเลยที่ 1,3 และ 4 ไม่มีพยานหลักฐานหักล้างพยานโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยเป็นกรรมการ บมจ.แมเนเจอร์ฯ มีหน้าที่รับผิดชอบจัดทำงบไตรมาสและงบประมาณรายปี แต่จำเลยไม่ลงภาระการค้ำประกันหนี้จัดทำรายการงบไม่ถูกต้อง ไม่ตรงความจริง โดยไม่คำนึงว่าจะมีใครเสียหายหรือไม่
ส่วนที่จำเลยขอให้ศาลลงโทษสถานเบา และรอการลงโทษเนื่องจากจำเลยไม่ได้มีเจตนาแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตัวเอง และบมจ.แมเนเจอร์ ไม่ได้ทำให้ผู้ถือหุ้นได้รับความเสียหายร้ายแรง ศาลเห็นว่า พ.ร.บ.หลักทรัพย์ ฯ มีเจตนาคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้เป็นสากล เพื่อสร้างความเชื่อมั่ นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้เศรษฐกิจเกิดความเข้มแข็ง การฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมและเป็นพฤติการณ์ ร้ายแรง ที่ศาลชั้นต้นลงโทษมานั้นเป็นโทษสถานต่ำสุดแล้ว ไม่อาจลดโทษให้เบาลงได้อีก ขณะที่พฤติการณ์ของจำเลยถือว่าร้ายแรงจึงไม่อาจรอการลงโทษได้
ต่อมาจำเลยที่ 1, 3 และ 4 ยื่นฎีกา ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษากันแล้วเห็นว่า ที่จำเลยที่ 1,2,และ3 ฎีกาว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำกรรมเดียวนั้น เห็นว่าการทำรายงานการประชุมเพียงหนึ่งครั้งแต่นำไปค้ำประกันการกู้ยืมเงิน รวม 6 ครั้ง ในวันเวลาที่แตกต่างกัน เป็นเวลา 1 ปี และมีจำนวนเงินแต่ละครั้งไม่เท่ากัน โดยกระทำผิดรวม 6 ครั้ง ซึ่งเป็นความผิดตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์พ.ศ.2535 ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ ศาลเห็นว่า บริษัทแมเนเจอร์ฯของจำเลยเข้าตลาดหลักทรัพย์ต้องมีหลักธรรมมาภิบาล หากกรรมการบริษัทกระทำผิดเสียเอง ย่อมสร้างผลกระทบและความเสียหาย กระทำของจำเลยจึงถือว่ามีพฤติการณ์ร้ายแรง ที่จำเลยอ้างถึงคุณงามความดียังไม่เพียงพอที่จะให้รอการลงโทษได้ ฏีกาจำเลยฟังไม่ขึ้นที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทรณ์พิพากษาลงโทษมานั้นชอบแล้ว พิพากษายืน
      
ผู้จัดการออนไลน์ รายงานด้วยว่า ภายหลัง สนธิมีสีหน้าสงบนิ่ง และโทรศัพท์ไปพูดคุยกับญาติและคนสนิท ล่าสุดเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้พาตัวไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯทันที