วันจันทร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2558

'อภิสิทธิ์' ไม่เห็นด้วยนายกไม่ต้องมาจากเลือกตั้ง ชี้หากข้อมูลพอไม่ต้องให้ 'ประยุทธ' เป็นพยานสลายชุมนุม 53

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุกรณี กมธ.ยกร่างฯ กำหนดให้ร่าง รธน.ฉบับใหม่ นายกฯ ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งในช่วงที่มีวิกฤต เป็นการถอยหลังเข้าคลองและจะยิ่งเป็นการสร้างวิกฤตให้ประเทศ ขอข้อมูล พล.อ.อนุพงษ์ คดีสลายชุมนุม นปช.ปี 53 หากครบถ้วน ไม่จำเป็นต้องให้นายกรัฐมนตรีเป็นพยาน ยันไม่มีเจตนากดดันการทำงานเจ้าหน้าที่

28 ก.พ. 2558 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งในช่วงที่มีวิกฤต ว่า ถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง และไม่อยากให้เป็นการร่างรัฐธรรมนูญที่ถอยหลังเข้าคลอง เพราะขณะนี้ระบอบการปกครองประเทศเดินมาไกลมากแล้ว  อีกทั้งจะทำให้การร่างรัฐธรรมนูญได้รับแรงกดดันทั้งจากคนในประเทศและนานาประเทศที่จับตามองการสร้างประชาธิปไตยของประเทศไทยอยู่ และอาจจะยิ่งเป็นการสร้างวิกฤติให้กับประเทศได้

“หากจะเปิดช่องไว้ ก็ควรจะบัญญัติให้ชัดเจนเกี่ยวกับรายละเอียดเงื่อนไขของเหตุการณ์พิเศษที่จะทำให้เกิดการตั้งนายกรัฐมนตรีที่ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งได้ ขณะเดียวกันไม่เห็นด้วยที่รัฐธรรมนูญที่จะกำหนดให้รัฐมนตรีจะต้องไม่เป็น ส.ส. เนื่องจากจะเป็นการทำลายระบบการเมืองในระบอบรัฐสภาที่ต้องการให้เกิดการติดโยงระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งในหลายประเทศก็กำหนดให้ผู้จะได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีจะต้องเป็น ส.ส.เท่านั้น เพราะจะทำให้ใส่ใจกับงานของสภา เพิ่มการมีส่วนร่วม โดยเฉพาะหากรัฐมนตรีเป็น ส.ส.เขต จะยิ่งเพิ่มกระบวนการตรวจสอบที่ว่าหากทำงานไม่ดีแล้วจะทำให้ประชาชนในพื้นที่เลือกตั้งไม่ยอมรับ ส่งผลต่อการเลือกตั้งครั้งต่อไปด้วย” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้อยากให้กรรมธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกลับไปทบทวนรายละเอียดของการร่างรัฐธรรมนูญด้วย นอกจากนี้ยังเห็นว่าเมื่อร่างรัฐธรรมนูญแล้วเกิดข้อโต้แย้งในรายละเอียดเนื้อหา ทางที่ดีที่สุดคือควรมีการทำประชามติในชั้นตอนสุดท้าย จะเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุด

เผยประสานขอข้อมล อนุพงษ์ คดีสลายการชุมนุมปี 53

นอกจากนี้นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงความคืบหน้าในการในการชี้แจงข้อกล่าวหากรณีเหตุสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช.ในปี 2553 ว่า ขณะนี้ยังไมได้หนังสือแจ้งข้อกล่าวหาจากคณะกรรมการป้องกันและปรายบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่ระหว่างนี้ได้เตรียมข้อมูลไว้บ้างแล้ว โดยได้ประสานขอข้อมูลไปยัง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งในขณะนั้นทำหน้าที่ผู้บัญชาการทหารบกในฐานะของผู้ที่ดูแลคุมกำลังการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เพราะตนเป็นเพียงผู้ดูแลเชิงนโยบายที่ลงนามในคำสั่งตั้งศูนย์อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เท่านั้น และได้มอบหมายให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการ ศอฉ. และเมื่อมีการปฎิบัติงานก็มีการปรับแผนการทำงานมาหลายครั้ง คาดว่า พล.อ.อนุพงษ์ จะเข้าใจและทราบแนวทางการทำงานดีที่สุด

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะอดีตรองผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.อนุพงษ์ เป็นผู้ที่ทราบข้อมูลดี เพราะเคยทำงานร่วมกันมาก่อน อย่างไรก็ตาม หากได้ข้อมูลจาก พล.อ.อนุพงษ์ครบถ้วน ก็ไม่จำเป็นต้องให้บุคคลทั้ง 3 ไปเป็นพยานให้ ส่วนที่มีการโจมตีว่าการอ้างถึงพยานที่เป็นถึงนายกรัฐมนตรีเป็นการข่มขู่การทำงานของเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.นั้น ยืนยันว่าไม่มีเจตนาที่จะไปข่มขู่การทำงานของใคร เพียงแต่บุคคลที่ 3 ทราบเรื่องและเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง และอยากให้ย้อนไปในอดีตสมัยที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ใครที่ไปกดดันไม่ให้บุคคลทั้ง 3 พูดความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

อภิสิทธิ์ ชี้สลายแดง53 "บิ๊กป้อม-ป๊อก-ตู่" รู้ดี ‘สุเทพ’ ยัน ‘สั่งการคนเดียว’ ย้อนเวลาได้ก็จะทำแบบเดิม

หลังจากเมื่อวันที่ 24 ก.พ. ที่ผ่านมา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  มีมติแจ้งข้อกล่าวหา อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  นายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) และสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น)  มีพฤติการณ์ส่อกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ กรณีสั่งใช้กำลังทหารขอคืนพื้นที่จากกลุ่มผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)  ระหว่างวันที่ 10 เม.ย. ถึง 19  พ.ค.53 (อ่านรายละเอียด)
โดยที่ อภิสิทธิ์ ออกมาตั้งคำถามว่า ถ้าในขณะนั้น ไม่ดำเนินการใด ๆ เลย ก็จะเกิดคำถามว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ (อ่านรายละเอียด) และ มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า อภิสิทธิ์ ยืนยันว่ามีการปรับหลักการทำงาน เพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสีย แต่กรณีมีผู้ใช้อาวุธไม่ใช่เรื่องง่าย รัฐบาลมีหน้าที่คืนความสงบให้กับสังคม คนที่ทำงานร่วมกันรู้ดี เช่น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ในขณะนั้น รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นรอง ผบ.ทบ.ในขณะนั้นด้วย เพราะเข้าร่วมประชุมอยู่ จึงรู้ดีถึงการทำงานในขณะนั้น หาก ป.ป.ช.ได้ข้อมูลจากบุคคลเหล่านี้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา
ขณะที่วานนี้(28 ก.พ.58) ไทยรัฐออนไลน์ ได้รายงานถึงกฏิกิริยาของ สุเทพ หรือ พระสุเทพ ปภากโร ต่อกรณีนี้ โดย พระสุเทพกล่าวว่า มีคนมาบอกแล้วว่า ป.ป.ช. กำลังเล่นงาน แต่ไม่รู้สึกหวั่นไหว ตั้งใจและรอว่า ป.ป.ช.จะมีหนังสือมาเมื่อไร เพราะหลังรับหนังสือ อาตมาจะมีเวลา 15 วัน เพื่อที่จะมีคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรไป ยังป.ป.ช. ซึ่งก็พร้อม แต่ตอนนี้ทำคำชี้แจงยังไม่ได้ เพราะยังไม่เห็นข้อกล่าวหาและรายละเอียดใดๆ
"อาตมาไม่ต้องอ้างเป็นพยาน เพราะจำได้หมดทุกเรื่องที่ทำมา ทั้งหมดตอบได้เลยว่า อาตมาสั่งการคนเดียว นายอภิสิทธิ์ ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย ผู้เข้าร่วมประชุมในช่วงนั้น ทุกคนมีมติกัน ได้อภิปรายร่วมกันแล้ว อาตมาเป็นสั่งการ ขอรับผิดชอบในการสั่งการ ถ้าจะผิดหรือถูก อาตมารับผิดชอบ แล้วขอร้องว่า อย่าได้ไปเกี่ยวโยงกับเจ้าหน้าที่ทั้งหลาย ที่เขาทำ เพราะเขาทำตามคำสั่งอาตมา ตรงนี้ต้องให้ชัดเจน การชี้แจงเบื้องต้นจะทำเป็นหนังสือ แต่หาก ป.ป.ช.ต้องการให้ไปชี้แจงด้วยตัวเอง ก็พร้อมที่จะไป เวลานี้ก็รออยู่ และหาก ป.ป.ช. จะทำเรื่องถอดถอนในสภาฯ ก็พร้อมไปชี้แจงในสภาฯ ทั้งผ้าเหลืองเลย ที่ผ่านมาเคยใส่สูทเข้าสภามา 36 ปี เที่ยวนี้ จะห่มผ้าเหลืองเข้าสภาอยู่ และบางทีอาจจะถือโอกาสเทศน์ใหญ่กลางสภาเลย พูดจริงๆ ตอนนี้เตรียมร่างคำเทศน์ไว้แล้ว พร้อมที่จะไปตอบทุกคำถามในสภา ถ้า ป.ป.ช.เสนอให้ถอดถอน ไม่หนีไปด้วยตัวเองไม่ส่งทนายไปชี้แจงแทน" พระสุเทพ กล่าว
ต่อกรณีที่ อภิสิทธิ์ ระบุว่าจะขอให้ ผบ.ทบ. รอง ผบ.ทบ. หรือ อดีต รมว.กลาโหม ขณะนั้นเป็นพยานด้วยนั้น พระสุเทพ กล่าวว่า เป็นเรื่องของคุณอภิสิทธิ์ ที่เป็นผู้ถูกกล่าวหา ย่อมมีสิทธิที่จะสู้คดีชี้แจง อย่างไรก็ได้ สำหรับอาตมา จะไม่อ้างทั้ง พล.อ.ประวิตร, พล.อ.อนุพงษ์, พล.อ.ประยุทธ์ สำหรับอาตมา ไม่จำเป็นต้องเอาใครมาเป็นพยาน เพราะจะชี้แจงด้วยตัวเอง อาตมาทำเอง เพราะทุกอย่างรู้หมด เข้าใจหมด มีหลักฐาน มีพยาน มีเอกสารเป็นตัวหนังสือ เป็นรูปถ่ายหมด ขอให้ ป.ป.ช.สบายใจ ทำงานอย่างตรงไปตรงมา
เมื่อถามย้ำว่า หากชี้แจงแล้ว อาจเป็นเหตุต้องโดนคดีอาญา พระสุเทพ กล่าวว่า ไม่เป็นไร ยินดีที่จะไปขึ้นศาล และถ้าถามว่าหากย้อนไปได้จะทำอย่างไร บอกได้เลยก็ต้องทำแบบที่ผ่านมา เพราะเป็นการทำหน้าที่ ยังยืนยันว่าจะทำแบบนั้น บอกได้เลยว่า ตัดสินใจถูกต้องดีแล้ว เป็นการทำหน้าที่ และพร้อมรับผิดชอบคนเดียว ไม่มีปัญหา เพราะการรับผิดชอบคนเดียว เนื่องจากนายกรัฐมนตรีในเวลานั้น ตั้งให้เราเป็นรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ เราก็ต้องดูแลความมั่นคงของประเทศตามหน้าที่

น.ศ.ขอนแก่น ชูป้าย'คิดถึงแบงค์' ผู้ต้องขังคดีเจ้าสาวหมาป่า


ห้านักศึกษา ม.ขอนแก่น ชูป้าย  "Art is not a Crime" และ"คิดถึงแบงค์" ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม นักศึกษาในคณะ ผู้ต้องขังจาก ม.112 จากการแสดงละครเจ้าสาวหมาป่า ในงานเทศกาลถนนศิลปะ (Art Lane) ที่ได้จัดขึ้นโดยคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  
เวลาประมาณ19.00 น.ของวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2558  บริเวณสะพานขาว ในระหว่างการแสดงศิลปะพื้นบ้านของนักศึกษาในคณะศิลปกรรม  ได้มีนักศึกษากลุ่มซุ้มเกี่ยวดาว จำนวน 5คน ได้มาชูป้ายข้อความ "คิดถึงแบงค์" และ "Art is not a Crime" (ศิลปะไม่ใช่อาชญากรรม)  บริเวณหน้าเวทีการแสดง โดยที่หนึ่งในนักศึกษาที่มาชูป้ายได้แจ้งวัตถุประสงค์ว่าเป็นการแสดงความระลึกถึง ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือแบงค์ นักแสดงละครเจ้าสาวหมาป่า ที่ได้ถูกตัดสินว่ามีความผิดตาม กม.อาญา มาตรา 112 จำคุกเป็นเวลา 2ปี 6เดือน ทำให้ปติวัฒน์ ไม่สามารถได้เรียนจนสำเร็จการศึกษาและไม่สามารถมาแสดงผลงานศิลปะดนตรีพื้นบ้านในวันนี้ได้ 
หลังการแสดงดนตรีพื้นเมืองจบ นศ.ซุ้มเกี่ยวดาว ได้พากันไปชูป้ายบริเวณป้ายจัดงาน แต่ได้โดนเจ้าหน้าที่จากกองอำนวยการจัดงานขับไล่ออกไปจากบริเวณงาน

อนึ่ง งานเทศกาลถนนศิลปะ (Art Lane) ครั้งที่12 ได้จัดขึ้นโดยคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น   โดยในงานจะมีการแสดงศิลปะหลายแขนงและส่วนหนึ่งจะเป็นการแสดงผลงานปริญญานิพนธ์ของนักศึกษาปีสุดท้ายในคณะ ในกิจกรรมดังกล่าวจะมีบุคคลทั้งภายในและนอกมหาวิทยาลัยเข้าร่วมชมการแสดงศิลปกรรมของคณะเป็นจำนวนมาก

ภาพของปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม (แบงค์) ขณะทำกิจกรรมต้านการรัฐประหาร
ก่อนที่เขาจะถูกจับกุมดำเนินคดีในฐานะนักแสดงละคร"เจ้าสาวหมาป่า"
ที่มาภาพ: 
http://isaanrecord.com/2015/02/27/profile/

ทหารบุกสหกรณ์ สกต. อ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่งให้ออกจากพื้นที่ ชุมชนเพิ่มทรัพย์ จ.สุราษฎร์ฯ

ทหารบุกที่ประชุมสหกรณ์ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ชี้ถ้ายังไม่ออกจากชุมชนเพิ่มทรัพย์ จะเชิญเรียกไปปรับทัศนคติ และดำเนินคดีทุกคน
1 มี.ค. 2558 เมื่อวานนี้ ทหารจำนวน 5 นาย นำโดย  ร้อยตรีธิติกานต์ เวชสิทธิ์ พร้อมทหารอีก 4 นาย ได้เข้าไปที่สำนักงานสหกรณ์การเกษตรสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้(สกต.) หมู่ที่ 2 ตำบลไทรทอง อำเภอชัยบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อขอจดรายชื่อสมาชิกชุมชนทุกคน โดยอ้างว่าไม่ปฏิบัติต่อการตักเตือนตามที่ได้แจ้งและสั่งห้ามมิให้สมาชิกของชุมชนเข้าไปทำการใดๆในบริเวรชุมชนแล้ว แต่สมาชิกของชุมชนเพิ่มทรัพย์ไม่ปฏิบัติตาม หลังจากที่ได้เชิญตัว เพียรรัตน์ บุญฤทธิ์ ซึ่งเป็นประธานสหกรณ์ฯ  ไปปรับทัศนคติที่ค่ายวิภาวดีมาแล้ว 3 วัน  
เจ้าหน้าที่ทหารได้จดชื่อสมาชิกชุมชนไปทั้งหมด 28 คน ด้านตัวแทนชุมชนเพิ่มทรัพย์ได้เจรจาขอเข้าไปในพื้นที่เพื่อดูแลขนำต้นไม้และพืชผักที่ปลูกไว้ไม่ให้เกิดความเสียหายหรือโดนขโมย และได้แจ้งกับทหารทราบว่า ตัวแทน สกต. ได้ไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล ในนามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(ขปส.) เพื่อขอเข้าทำประโยชน์และดูแลทรัพย์สินในชุมชน ในวันที่ 17 ก.พ. 2558 กรณีชุมชนเพิ่มทรัพย์ ซึ่งที่ประชุมมีมติให้เข้าไปดูแลสิ่งปลูกสร้างและรถน้ำต้นไม้ได้ในช่วงเวลากลางวัน แต่การเจรจากับเจ้าที่ทหารไม่เป็นผล และทหารได้ขอเบอร์โทร เพื่อประสานงานกับสำนักนายกเอง ตัวแทนชุมชนจึงจำเป็นต้องหาเบอร์โทรให้ ร้อยตรีธิติกานต์ เวชสิทธิ์ จากนั้นทางเจ้าที่ทหารได้อ้างว่า ได้โทรคุยกับทางสำนักนายกฯ แล้ว แต่ไม่แจ้งให้ทางตัวแทนชุมชนเพิ่มทรัพย์รู้ผลการพูดคุยแตอย่างใด 
หลังจากที่เจรจาทหารยังคงยืนยัน ห้ามมิให้สมาชิกของชุมชนเพิ่มทรัพย์เข้าไปทำประโยชน์ในพื้นที่ชุมชนอย่างเด็ดขาด   หากไม่ทำตามจะถูกนำตัวไปปรับทัศนคติเป็นรายคน และจะดำเนินคดีกับสมาชิกทุกคน และอ้างหากมีใบคำสั่งจากสำนักนายกมาถึงก็อาจจะอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ได้

เลขาธิการ กป.อพช.อีสาน โต้ร่างพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ละเมิดสิทธิประชาชน


ระบุหากบังคับใช้ไม่ได้แก้ปัญหาแต่จะทำให้การเมืองภาคประชาชนอ่อนแอลง ศูนย์ดำรงธธรรมไม่ได้แก้ปัญหาให้ผู้เดือดร้อน ถาม สนช.ว่าจะทำให้พลเมืองเติบโตได้อย่างไรในเมื่อยังจำกัดเสรีภาพ ชี้ควรพูดคุยระดมความคิดจากคนในสังคม แต่ยังไม่ควรออกตอนนี้
หลังจากเมื่อวันที่ 26 ก.พ.58 ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รัฐสภา ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ในวาระแรก โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้ชี้แจงหลักการและเหตุผลของร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะว่า เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์การใช้สิทธิชุมนุมสาธารณะให้ชัดเจน สอดคล้องกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ ประเทศไทยเป็นภาคี ทั้งนี้ เพื่อให้การชุมนุมสาธารณะเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของชาติ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี ตลอดจนสุขอนามัยของประชาชน หรือความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ และไม่กระทบกระเทือนสิทธิและเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น  ซึ่งสมาชิก สนช. ส่วนใหญ่ได้อภิปรายสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ก่อนลงมติรับหลักการในวาระแรก ด้วยคะแนน 182 งดออกเสียง 4 โดย ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาจำนวน  22 คน ดำเนินการให้เสร็จภายใน 30 วัน

สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มีทั้งสิ้น 35 มาตรา อาทิ ห้ามชุมนุมในรัศมี 150 เมตร เขตพระบรมมหาราชวัง, ห้ามชุมนุมที่รัฐสภา ทำเนียบ และศาล ในระยะห่าง 50 เมตร ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้ได้รับมอบหมายมีอำนาจประกาศห้ามชุมนุม, ห้ามขวางทางเข้า-ออก รบกวนการทำงานการใช้บริการหน่วยงานรัฐ ทั้งท่าอากาศยาน, ท่าเรือ, สถานนีรถไฟ, ขนส่งสาธารณะ, โรงพยาบาล, สถานศึกษา, ศาสนสถาน, สถานทูต, สถานกงสุล และสถานที่ทำการองค์การระหว่างประเทศ, ต้องแจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ห้ามปราศรัยในเวลาเที่ยงคืนถึง 06.00 น. ต้องไม่เคลื่อนการชุมนุมในเวลา 18.00 - 06.00 น. การสลายการชุมนุมต้องขออนุมัติจากศาล
วันนี้ 1 มี.ค.58 เวลาประมาณ 16.00 น. นายสุวิทย์  กุหลาบวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนพัฒนาชนบท (กป.อพช.อีสาน) ซึ่งเป็นเอ็นจีโอ นักเคลื่อนไหวเรียกร้องด้านสิทธิมนุษยชน และทำงานเกาะติดประเด็นปัญหาด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และผลกระทบจากโครงการพัฒนาในพื้นที่ภาคอีสาน ได้มีความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ โดยเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า พ.ร.บ.นี้เป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนในการใช้สิทธิเรียกร้อง และในอนาคตการเรียกร้องของชุมชนที่เดือดร้อนเรื่องปากท้อง ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรในพื้นที่ จะไม่ได้รับการแก้ไข
"ถ้ากฎหมายนี้บังคับใช้จะส่งผลให้การเมืองภาคประชาชนอ่อนแอลง ซึ่งต้องเข้าใจว่าประชาชนเดือดร้อนจากโครงสร้างที่เหลื่อมล้ำ ขณะที่รัฐจะบีบบังคับให้ประชาชนไปร้องเรียนผ่านช่องทางศูนย์ดำรงธรรมที่ไม่มีประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหา"
เลขาธิการ กป.อพช.อีสาน ยังกล่าวต่อว่า ร่างดังกล่าวที่ สนช.รับหลักการไปแล้วด้วยจำนวนเสียงมากมายนั้น ตนมองว่าสนช.ที่สนับสนุนแยกไม่ออกระหว่างม็อบมีเส้นกับม็อบชาวบ้านที่ไม่มีเส้น เราทราบกันว่าการชุมนุมที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่รัฐพยายามที่จะห้ามไม่ให้ชุมนุมโดยมักจะอ้างความวุ่นวาย ความสงบบ้าง โดยมีการสกัดไม่ให้ชาวบ้านที่เดือดร้อนชุมนุม ไม่ยอมพบพูดคุยและถ้า พ.ร.บ.นี้ออกมาแล้ว เช่นต้องมีการแจ้งก่อนล่วงหน้า หรือขออนุญาตเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถามว่าหน่วยงานที่ชาวบ้านจะต้องไปเจรจา ยื่นข้อเสนอปัญหาจะต้องหลบหนีแน่นอนไม่ยอมพบชาวบ้าน
"อยากถามต่อไปยัง สปช.ที่กำลังร่างรัฐธรรมนูญว่าถ้า พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ออกมาแล้ว จะทำให้ความเป็นพลเมืองเติบโตได้อย่างไร ถ้าสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานถูกจำกัด และผมมองว่า พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ยังไม่ควรออกตอนนี้ ควรให้มีการถกเถียงจากคนในสังคมมากกว่านี้ไม่ใช้เอาอารมณ์ของคนในสังคมที่เบื่อการชุมนุมฉวยโอกาสออกกฎหมายละเมิดสิทธิประชาชน และโดยเฉพาะตำรวจเป็นผู้ถือกฎหมายเราจะไว้ใจได้อย่างไร" นายสุวิทย์กล่าวทิ้งท้าย

ศาลเลื่อนนัดตรวจพยานคดีชายชุดดำ 53 ลุ้นไม่ฟ้องคดีก่อการร้าย


ศาลเลื่อนนัดตรวจพยานคดีชายชุดดำ มีลุ้นไม่ฟ้องคดีก่อการร้าย ถูกขังเฉียด 6 เดือน ยังไม่ได้ประกัน
2 มีนาคม 2558 เวลา 09.30น. ศาลอาญา รัชดา ห้อง 906 ศาลมีคำสั่งเลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานคดีชายชุดดำ ในเหตุการณ์ 10 เมษายน 2553 แต่เนื่องจากอัยการมีความเห็นแย้งกับ DSI โดยมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องจำเลยทั้งห้าคนในคดีก่อการร้าย คงยังฟ้องแต่เพียงคดีอาวุธสงครามเท่านั้น ซึ่งกระบวนการตัดสินชี้ขาดว่าจะฟ้องจำเลยทั้งห้าหรือไม่อยู่กับการพิจารณาของอธิบดี DSI แต่เนื่องจากในวันนัดยังไม่มีความเห็นชี้ขาดจากทาง DSI ส่งมาจึงให้เลื่อนฟังคำสั่งชี้ขาดและเลื่อนการตรวจพยานไปเป็นวันที่ 23 มีนาคม 2557 เวลา 13.30 น.
วิญญัติ ชาติมนตรี ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า จะยังไม่มีการยื่นประกันตัวผู้ต้องขังทั้งห้าคนในวันนี้ เนื่องจากทางครอบครัวผู้ต้องขังยังขาดหลักทรัพย์ในการใช้ประกันตัว
ผู้ต้องหาทั้งห้าคนแยกเป็นชายสี่คน หญิงหนึ่งคน ถูกจับระหว่างวันที่ 10-11 กันยายน 2557 รวมถูกคุมขังเป็นเวลา 5 เดือน 21 วัน โดยไม่ได้รับการประกันตัว