วันอังคารที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2557

คนไทยในอเมริกากับ “American ugly”


เมื่อก่อนพอได้ยินประโยคว่า “ถ้าคิดว่าไม่ชอบอเมริกาก็ควรกลับประเทศของตัวเองไป(ซะ) อย่าอยู่ที่นี่เลย” ผมรู้สึกเฉยๆ  แต่มาวันนี้ผมกลับคิดว่าคำพูดประโยคนี้ไม่ธรรมดา แถมมีแง่มุมให้คิดอยู่ไม่น้อย
ที่ว่า “ไม่น้อย” เพราะสถานการณ์อะไรๆ ต่างๆ ได้เปลี่ยนไปมาก โดยเฉพาะสถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ แต่มีผู้คนเชื้อสายต่างด้าวที่แสดงออกว่า พวกเขาไม่พอใจ “ระบบอเมริกัน” ขณะที่พวกเขากำลังอยู่ท่ามกลางระบบอเมริกัน
เพราะแท้ที่จริงแล้ว สถานการณ์ที่แสดงว่าโลกมีความเป็นหนึ่งเดียว และยุคข้อมูลข่าวสาร น่าจะทำให้เชื้อสายต่างด้าวผู้อาศัยอยู่ในอเมริกาสมควรมีทางเลือกเป็นของตนเองโดยอิสระ ตามที่ตนเองชอบมากขึ้นเสียด้วยซ้ำ
หากไม่พอใจระบบอเมริกันก็แพ็คกระเป๋ากลับประเทศของตนไปเสีย (สิ)
หรือแม้แต่การแบน (ban) สถานที่และสินค้าอเมริกันก็ยังได้   
เช่น หากเป็นผู้ที่อยู่แถบนิวยอร์ค และชอบช้อปแถวไทม์สแควร์ ก็ควรหันหลังให้ย่านการค้าดังกล่าวเสีย หรือหากเป็นผู้คนที่อยู่แถว แอล.เอ. ก็ไม่ควรใส่ใจต่อย่าน Beverly hill อะไรมากนัก อย่างน้อยคนเหล่านี้ก็ควรหันไปซื้อสินค้าจากญี่ปุ่น หรือสินค้าจากจีน หรือจากเอเชีย แทนสินค้าอเมริกัน เพราะทุกวันนี้มีสินค้าเหล่านี้มาวางขายในอเมริกาจำนวนมาก
การมองอเมริกันแบบ “อเมริกันอักลี่” (American ugly) เป็นความไม่พอใจ คับข้องใจ หรืออึดอัดใจของคนเชื้อสายต่างด้าวกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ในอเมริกา เชื้อชาติอื่นผมไม่ทราบ แต่ผมคิดว่าเชื้อชาติไทยน่าจะมีจำนวนคนที่มองอเมริกันแบบ “อักลี่” เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองในเมืองไทยช่วงที่ผ่านมา และแม้แต่ที่กำลังเป็นอยู่ในเวลานี้ ซึ่งหลักฐานที่พบส่วนหนึ่งก็คือ โซเชียลมีเดียประเภทต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ เป็นต้น
ในความเห็นของผม กลุ่มคนไทยเหล่านี้ยังเอาแน่เอานอนในเรื่องความเป็นอเมริกันในประเทศอเมริกาไม่ได้ คือ พวกเขาไม่ทราบว่า รัฐอเมริกาและความหมายของอเมริกันคืออะไร โดยเฉพาะความหมายเชิงอุดมการณ์การเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ทุนนิยมเสรี พวกเขาจำนวนไม่น้อยถึงกับเกลียด “ลักษณะความเป็นทุนนิยมอเมริกัน” อย่างเข้าไส้ แต่พวกเขาก็รับค่าตอบแทนเป็นเงินอเมริกันดอลลาร์ และมีลักษณะการทำงานเพื่อผลตอบแทนแบบอเมริกัน   
เป็นกลุ่มคนไทยกลุ่มเดียวกับกลุ่มคนไทยผู้อาศัยอยู่ในอเมริกาที่สร้างโรงประกวด (show) วัฒนธรรมไทยขึ้นในอเมริกา ที่นี่พวกเขาถวิลหาความเป็นไทยกันขนานใหญ่  อีกทั้งเรียกร้องให้ผู้นำและนักการเมืองอเมริกัน จงอย่าได้ไปยุ่งกับการเมืองหรือด้านอื่นๆ ของประเทศไทย เพราะเมืองไทยไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งมาก่อน
หรือบางทีอาจเป็นสถานทูตไทยและสถานกงสุลไทยในอเมริกา ที่พวกเขาคิดว่าหน่วยงานเหล่านี้เป็นตัวแทนอำนาจรัฐไทย พวกเขาคิดว่าเป็นที่พึ่งหลัก ที่จะต้องใช้อ้างอิงไว้เผื่อฉุกเฉิน เมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นที่เมืองไทย รวมทั้งการพลอยร่วมยินดีและการพลอยติชม
พวกเขามองความเป็นส่วนตัวสูงของอเมริกันว่า คือ การเห็นแก่ตัวอย่างหนึ่ง มองเสรีภาพในแบบอเมริกันว่า เป็นเสรีภาพจอมปลอม เพราะระบบอเมริกันเข้มงวดเรื่องการปฏิบัติตามกฎหมาย ชนิดที่เรียกได้ว่า เข้มงวดอย่างถึงที่สุด มองเศรษฐีอเมริกันว่า นี่คือช่องโหว่ช่องเบ้อเริ่มระหว่างคนรวยกับคนจน มองวัฒนธรรมอเมริกันว่า เป็นวัฒนธรรมบริโภคนิยม มองนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลอเมริกันว่า มุ่งประโยชน์ต่อบริษัทและคนอเมริกันเป็นที่ตั้ง มองการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลและเอกชนอเมริกันว่า เป็นการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น และเป็นการทำลายอัตลักษณ์ของประเทศนั้นๆ มองสื่ออเมริกันว่า เป็นสื่อที่ไม่มีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง เป็นแต่เพียงสื่อโฆษณาชวนเชื่อให้ประเทศและรัฐบาลของตัวเอง มองว่าอเมริกันส่วนใหญ่ไร้ศาสนา ไร้ศีลธรรม ฯลฯ
ก็คงเหมือนคนนานาชาติโดยทั่วไปที่อาศัยอยู่ในอเมริกาด้วยวัตถุประสงค์ต่างๆ ของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเพื่อการทำมาหากิน เพื่อการศึกษา หรือแม้กระทั่งเพื่อการเป็นตัวแทนของประเทศในฐานะเจ้าหน้าที่หรือพนักงานของรัฐ ซึ่งกลุ่มคนพวกหลังผมหมายถึง ข้าราชการที่เป็นตัวแทนของประเทศไทยจากหน่วยงานต่างๆ เพราะทุกวันนี้เรามีข้าราชการจากกระทรวงและจากกรุงเทพฯ มาประจำอยู่ในอเมริกาจำนวนมาก โดยไม่จำกัดว่าเป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงการต่างประเทศหน่วยงานเดียว
ผมเข้าใจว่า “ปูมหลัง” ของแต่ละคน เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พวกเขามีความคิดเห็นต่อความเป็นอเมริกันต่างกันออกไป 
จากการพูดคุยกับคนไทยในอเมริกาหลายคน ความคิด “อเมริกันอักลี่” มีอยู่แทบทุกคน แต่ผมกลับแปลกใจที่พนักงานของรัฐหรือข้าราชการไทยที่นี่ มอง “อเมริกันอักลี่” (น่าจะ) มากที่สุด ทั้งๆ ที่พวกเขาเหล่านี้ต่างขวนขวายที่จะมาเป็นตัวแทนของรัฐไทยในอเมริกากันมาก่อนหน้านี้
มุมมองของข้าราชการไทยในอเมริกาบางคนไปไกลถึงขนาดมองว่า คนอเมริกันเป็นผู้ที่เห็นแก่ตัวกันมาก เพราะโดนความเป็นทุนนิยมบังคับให้ต้องเป็น และมองว่าสังคมอเมริกันเต็มไปด้วยความอึดอัด ประชาชนพูดไม่ออกและต้องทนยอมรับสภาพชีวิตไปวันๆ  ดูอย่างพวกนิวยอร์คสิ ต้องอยู่ท่ามกลางความเร่งรีบ เคร่งเครียด เพื่อความไม่มีอะไรในชีวิต
น่าเสียดายที่ข้าราชการเหล่านี้ กระทำในสิ่งย้อนแย้งกับความคิดของตนเอง คือ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยอยากย้ายจากอเมริกาไปที่อื่น หรือแม้กระทั่งย้ายกลับเมืองไทย การย้ายมาทำงานในอเมริกาถือว่าเป็นสิ่งดึงดูดมากกว่าที่อื่น ข้าราชการบางคนเตรียมปักหลักในอเมริกาหลังเกษียณอายุราชการแล้วก็มี แม้ปากจะพร่ำบ่นถึงความเลวร้ายของระบบอเมริกันก็ตาม
แต่แล้วดูเหมือนข้าราชการไทยเหล่านี้ไม่เคยพูดถึงระบบ “ช้างเหยียบนา พระยาเหยียบเมือง” ที่เป็นระบบอุปถัมภ์แบบไทยๆ ในอเมริกามากเท่าใดนัก โดยเฉพาะช่วงการเดินทางมาเยือนอเมริกาของข้าราชการชั้นสูงจากเมืองไทย ที่พวกเขาต้องให้การต้อนรับ และรับรองในการมาดูงานและการประชุมแต่ละครั้ง
ส่วนคนไทยในอเมริกาที่มองว่า ความเป็นอเมริกันนั้นน่าเกลียดน่าชัง  (โดยเฉพาะสาเหตุจากการที่อเมริกันไปยุ่งเรื่องเมืองไทยมากเกินไป) ส่วนใหญ่ก็ส่งลูกหลานเรียนในโรงเรียนของอเมริกัน ไม่เห็นมีใครส่งลูกหลานไปฝึกวัฒนธรรมไทย เรียนหนังสือที่เมืองไทยกันอย่างเอาจริงเอาจังแต่อย่างใด
พวกที่ทำงานในสมาคมไทยต่างๆ ที่ส่วนใหญ่มักจัดกิจกรรมระลึกถึงความหลังเชิงการถวิลหาเมืองไทย ล้วนแต่ต้องไปจดทะเบียนหรือทำธุรกรรมกับรัฐบาลท้องถิ่นของแต่ละรัฐทั้งสิ้น
ไม่เว้นแม้แต่คนไทยบางคนที่ทำธุรกิจค้าวัฒนธรรมไทย จัดทัวร์เยาวชนหรือทัวร์ผู้ใหญ่หารายได้ แต่แล้วรายได้ดังกล่าวก็เป็นสกุลเงิน ยู.เอส.ดอลลาร์อีกเช่นกัน
ที่จริงแล้วการมอง American ugly นั้นไม่ใช่เพียงแต่คนเชื้อสายต่างด้าวมองอเมริกัน หากคนอเมริกันเองก็มองว่าระบบอเมริกันมีอะไรๆ ที่ ugly อยู่มากเช่นกัน อย่างเช่น ในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจที่มีการถกกันมากเกี่ยวกับช่องว่างของรายได้ระหว่างคนรวยกับคนจน เพียงแต่การถกปัญหาดังกล่าวไม่ได้อยู่บนพื้นฐาน “ความไม่เป็นอเมริกัน” เหมือนบรรดาเชื้อสายต่างด้าว รวมถึงไม่มีลักษณะของการวิพากษ์แบบย้อนแย้ง “เกลียดตัวกินไข่” แต่อย่างใด หากเป็นการวิพากษ์เพื่อให้เห็นทางแก้ปัญหาโดยตัวคนอเมริกันที่ได้รับผลกระทบเอง เช่น การอาศัยกลไกการเมืองเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการแก้ไขปัญหา
ผมคิดว่าบางทีเชื้อสายไทยเราอาจสูงเกินความเป็นคนธรรมดาในแบบฉบับอเมริกัน ความเป็นคนธรรมดาจึงกลายเป็นเรื่องน่าเกลียดไปได้

ย้อนอ่านบทความธงชัย วินิจจะกูล: ประวัติศาสตร์ไทยแบบราชาชาตินิยม



หมายเหตุ: มาจากส่วนสุดท้ายของบทความ "ประวัติศาสตร์ไทยแบบราชาชาตินิยม: จากยุคอาณานิคมอำพราง สู่ราชาชาตินิยมใหม่หรือลัทธิเสด็จพ่อของกระฎุมพีไทยในปัจจุบัน" เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2544 (อ่านบทความฉบับเต็มที่พิมพ์ในศิลปวัฒนธรรม) โดยนำมาเผยแพร่อีกครั้งในช่วงที่ คสช. และกระทรวงศึกษาธิการ เสนอให้ปรับปรุงตำราประวัติศาสตร์

วัฒนธรรมประวัติศาสตร์ของไทย
เราได้ยินเสมอว่าคนไทยไม่สนใจประวัติศาสตร์
คนรุ่นหนึ่งห่วงใยว่าคนรุ่นหลังจะไม่ใส่ใจซาบซึ้งเพียงพอ พวกเขาต้องการให้มีการค้นคว้าถึงทุกเหลี่ยมทุกมุมของประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม
เป็นไปได้ไหมว่าความทรงจำแบบนี้ซึมอยู่ในทุกเซลล์สมองจนไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นให้ต้องคิดกันอีก
คนไทยรู้จักประวัติศาสตร์ชนิดนี้ดีโดยไม่จำเป็นต้องสนใจทุกเหลี่ยมมุม ถึงไม่รู้รายละเอียดคนไทยก็สามารถดื่มด่ำปลาบปลื้มกับประวัติศาสตร์ได้
ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม กล่อมประสาทเราสนิทจนไม่เหลืออะไรน่าตื่นเต้นสำหรับคนรุ่นหลัง
ในขณะที่เราเรียกร้องให้ระบบการศึกษาผลิตคนที่คิดเป็น เรากลับเรียกร้องให้เยาวชนเสพประวัติศาสตร์เป็นยากล่อมประสาทหนักเข้าไปอีก
ทางออกจึงไม่ใช่การโทษครู แล้วหวังว่าการฝึกฝนครูจะช่วยสอนให้เด็กรู้จักคิด นั่นเป็นการคิดแบบปลายเหตุ (พูดอย่างอาจารย์ประเวศก็ได้ว่าเป็นทางออกแบบแยกส่วน)
เพราะประวัติศาสตร์แบบยากล่อมประสาทเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นไทย เป็นส่วนหนึ่งของตัวตนความเป็นไทยสมัยใหม่ตลอด 100 ปีที่ผ่านมา จะคาดหวังให้ครูเติบโตมาเป็นแบบอื่นได้ยังไง
ทำไมวัฒนธรรมประวัติศาสตร์ (hisorical culture) แบบไทยต้องการความรู้ประวัติศาสตร์แบบยากล่อมประสาท?
คัมภีร์โบราณที่บันทึกเรื่องอดีตมีหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของการสถาปนาและรักษาระเบียบของโลก (สังคม) เชื่อกันว่าคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ที่บันทึกเรื่องราวได้ถูกต้องตามสัจจะ จะช่วยทำให้ระเบียบของโลก (สังคม)เข้ารูปเข้ารอยไปด้วย เพราะการสร้างคัมภีร์คือการถ่ายทอดจำลองโลกลงเป็น text และอักษรอันศักดิ์สิทธิ์ แต่สัจจะมีคุณค่าควรบันทึกในการสร้างคัมภีร์หมายถึงความรู้ที่ตอกย้ำสัจจะตามแบบฉบับที่เชื่อว่าเป็นความจริงอย่างอกาลิโก อาจบไม่ใช่ข้อมูลเรื่องราวที่ตรงตามความจริง (factuall correct) อย่างที่เราคาดหวังกับประวัติศาสตร์สมัยใหม่
ความรู้ประวัติศาสตร์แบบคัมภีร์ไม่ได้มีไว้ให้ถกเถียง แต่มีไว้ให้รู้ การชำระคัมภีร์ประวัติศาสตร์อย่างพระราชพงศาวดารเกิดขึ้นต่อเมื่อเชื่อว่าคัมภีร์นั้นวิปริตผิดเพี้ยน จึงต้องอาศัยปรมาจารย์ผู้รู้จัดการตรวจสอบเพื่อปรับให้เข้ารูปเข้ารอย นี่ไม่ใช่การถกเถียงตีความโดยคนรุ่งหลัง
วัฒนธรรมประวัติศาสตร์ (historical culture) แบบจารีต และมรดกของความรู้ประวัติศาสตร์แบบคัมภีร์ไม่เคยถูกปะทะแบบถึงรากถึงโคน ไม่เคยมีการปฎิวัติภูมิปัญญา ไม่มีการปฎิวัติศาสนา ไม่มีอิทธิพลของวัฒนธรรมประวัติศาสตร์แบบวิพากษ์วิจารณ์ ญหาของวัฒนธรรมประวัติศาสตร์แบบยากล่อมประสาท ไม่ใช่เพราะตามก้นฝรั่งมากเกินไปแต่ตรงข้าม (นี่อาจจะเป็นปัญหาของวัฒนธรรมการแสวงหาความรู้และการศึกษาของไทยโดยรวมเลยก็ได้)
ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมทั้งเก่า ใหม่จึงเป็นเรื่องเล่าด้วยภาษาสมัยใหม่ภายใต้มรดกทางวัฒนธรรมประวัติศาสตร์แบบเก่ากล่าวคือมีหน้าที่ตอกย้ำความรู้แบบฉบับ และสัจจะอันจริงแท้แน่นอน เพื่อค้ำจุนระเบียบสังคมแบบราชาชาตินิยม
การเรียนรู้ประวัติศาสตร์จึงมีหน้าที่ผลิตซ้ำตอกย้ำความรู้ตามแบบฉบับ ไม่ใช่เพื่อการสร้างปัจเจกบุคคลที่เป็นตัวของตัวเองสูง
ดังนั้นเมื่อคนไทยบอกว่าหาบทเรียนทางประวัติศาสตร์ จึงพบบทเรียนเดิมๆ ที่ท่องบ่นได้เป็นสูตรสำเร็จ ได้แก่ ความสามัคคี ความภาคภูใจในบรรพบุรุษ ความสำนึกในบุญคุณของพระมหากษัตริย์ เป็นต้น
คนเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องอ่านประวัติศาสตร์จริงๆ จังๆ ไม่จำเป็นต้องรู้รายละเอียด เพราะแบบแผนความทรงจำและบทเรียนสูตรสำเร็จซึมซาบในชีวิตของเราแล้ว
นี่คือความรู้ประวัติศาสตร์ที่สังคมไทยคาดหวัง
ประวัติศาสตร์แบบที่ "ไม่ต้องคิด" เป็นส่วนหนึ่งของจารีตประเพณีอันดีงามของไท
ประวัติศาสตร์ที่บอกว่ารัฐก่ออาชญากรรม ความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ทำให้คนบ้าคลั่งเสียสติเหมือนคนเสพยาบ้า แล้วฆ่าคนอื่นได้อย่างทารุณ ประวัติศาสตร์แบบนี้ผิดจารีต
การศึกษาประวัติศาสตร์ตามจารีตของไทยไม่ได้มีไว้เพื่อยกระดับการคิดการใช้สมองของประชากรไม่ได้มุ่งหมายผลิตปัจเจกชนที่อิสระ หัวแข็ง ไม่ยอมเชื่ออะไรง่ายๆ ความรู้อดีตตามจารีตเดิมมีไว้เพื่อสถาปนาระเบียบ ไม่ใช่เวทีของการโต้แย้ง
การสร้างปัจเจกชนที่คิดวิพากษ์ย่อมหมายถึงการก้าวข้ามพ้นวัฒนธรรมทางประวัติศาสตร์แบบไทยๆ ที่เป็นมาแต่เดิม และย่อมต้องท้าทายประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม
สังคมไทยต้องการอย่างนั้นจริงหรือ?

สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยมีมติไม่ส่งคนเข้า สปช.

มติสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ไม่ส่งบุคคลใดเข้ารับการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ
26 ส.ค. 2557 - ในเพจสำนักพิมพ์นาคร เผยแพร่แถลงการณ์ของนายเจน สงสมพันธุ์ หัวข้อ "จากนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย กับเรื่อง สปช." โดยระบุว่า
"ตามที่คณะ คสช. ได้มีนโยบายให้นิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไร ส่งรายชื่อเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. นั้น
สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยได้มีการอภิปรายถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง รอบด้าน ก่อนจะมีมติ "ไม่ส่งบุคคลใด เข้ารับการสรรหา" โดยเป็นมติเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2557 ในวาระการประชุมประจำเดือนครั้งที่ 7/2557
จึงเรียนมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
นายเจน สงสมพันธุ์
นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
25 สิงหาคม 2557

คืนความจริงกับปิยบุตร : เสรีภาพที่ถูกคุกคาม


26 ส.ค.2557 เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘คืนความจริง’ เผยแพร่บทสนทนากับ ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์ภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา วิเคราะห์การคุกคามเสรีภาพของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) โดยเฉพาะผลกระทบของเสรีภาพทางวิชาการ จากการณีที่ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. 
โดยก่อนหน้านี้มีการเผยแพร่บทสนทนากับปิยบุตร ตอนที่ 1 ว่าด้วย เนติบริกรในประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญร่วมสมัยของไทย  ตอนที่ 2 ว่าด้วย การเปลี่ยนผ่านรัฐธรรมนูญ บทเรียนจากต่างประเทศ และ ตอน 3 ปัจจุบันและอนาคตการเมืองไทย ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2557 (ชั่วคราว) (ชมตอนที่ 2 และ 3)

วันเกิด พล.อ.เปรม 94 ปี - งดตบเท้าอวยพรวันเกิด



พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ งดเปิดบ้านสี่เสาเทเวศร์ ให้ ผบ.เหล่าทัพ เข้าอวยพรวันเกิดปีที่ 94 เนื่องจากต้องการจัดงานภายในและขอความเป็นส่วนตัว
พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ (ที่มา: แฟ้มภาพ/วิกิพีเดีย)
26 ส.ค. 2557 - สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานว่า บรรยากาศที่บริเวณบ้านสี่เสาเทเวศร์ เนื่องในวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 94 ปีของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ค่อนข้างเงียบเหงา มีเพียงกลุ่มสื่อมวลชนจากสำนักต่างๆ เฝ้าติดตามสถานการณ์อยู่บริเวณด้านหน้า ซึ่งเมื่อวานนี้ (25 ส.ค.2557) พลโทพิศนุ พุทธวงศ์ หัวหน้าสำนักงานมูลนิธิรัฐบุรุษ ในฐานะทหารคนสนิทของพลเอกเปรม เปิดเผยว่า พลเอกเปรมจะงดเปิดบ้านสี่เสาเทเวศร์ เนื่องจากต้องการจัดงานเฉพาะภายใน และขอความเป็นส่วนตัว อีกทั้งไม่อยากรบกวนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมผู้บัญชาการเหล่าทัพ รวมถึงข้าราชการ องค์กรและหน่วยงานต่างๆ เนื่องจากเห็นว่าแต่ละฝ่ายต่างมีหน้าที่และภารกิจในการบริหารประเทศ จึงขอจัดแบบปกติ