วันศุกร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2557

‘พล.อ.ประวิตร’ สั่งประสานขอตัว ‘สมศักดิ์ เจียมฯ’ ชี้ต่างประเทศไม่มี ม.112 อุปสรรคตามตัว



‘พล.อ.ประวิตร’ สั่งประสานขอตัว ‘สมศักดิ์ เจียมฯ’ ชี้ต่างประเทศไม่มี กม. 112 เป็นอุปสรรคในการตามตัว โฆษกสตช. ยันดำเนินการกับผู้กระทำผิดฐานหมิ่นเบื้องสูงเด็ดขาด-ต่อเนื่อง พบบางส่วน เกี่ยวข้องกับการปล่อยข่าวลือในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นเหตุให้หุ้นตก
17 ธ.ค.2557 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกะทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล  อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 ที่หลบหนีและโพสข้อความทางเฟซบุ๊คไปในทางเสียหายต่อประเทศไทย ว่า กำลังสั่งการแจ้งไปยังประเทศเหล่านั้นให้ช่วยติดตามแล้ว และดูว่ากฎหมายแต่ละประเทศเป็นอย่างไร โดยจะติดตามและดำเนินการตามกฎหมาย และดำเนินการกับทุกคนที่กระทำผิดมาตราดังกล่าว แม้ว่าจะอยู่ต่างประเทศ โดยการทำหนังสือประสานและขอตัว
“เราต้องชี้แจงไปให้ประเทศนั้น ได้เข้าใจว่าเขาเหล่านั้นผิดกฎหมายอย่างไรตามกฎหมายของไทย” พล.อ.ประวิตร กล่าว
ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ปฏิเสธที่จะระบุถึงจำนวนผู้ที่ต้องติดตามและประเทศที่มีการประสานงานไป แต่ยืนยันว่าจะเน้นติดตามบุคคลที่กระทำผิดมาตรา 112 แต่ก็ยอมรับว่า ในบางประเทศที่ไม่มีกฎหมายครอบคลุมการกระทำผิดมาตรา 112 ก็อาจเป็นอุปสรรคในการดำเนินการติดตามตัว
ส่วนการตรวจสอบบุคคลที่ปล่อยข่าวลือที่ทำให้ตลาดหุ้นตก พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ขอร้องทุกฝ่ายว่าอย่าได้กระทำการเช่นนี้ และไม่ควรเชื่อข่าวลือเหล่านั้น ทั้งนี้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่ากลุ่มที่ปล่อยข่าวมุ่งหวังต้องการให้รัฐบาลเกิดความเสียหาย โดยเฉพาะการปล่อยข่าวลือในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งที่ผ่านมาสร้างความเสียหายให้ประเทศ และสร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชน
โฆษกสตช. ยันดำเนินการกับผู้กระทำผิดฐานหมิ่นเบื้องสูงเด็ดขาด-ต่อเนื่อง
พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวกรณี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำชับให้ดำเนินคดีผู้กระทำความผิด ตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 112 อย่างเด็ดขาด ว่า ที่ผ่านมา ตำรวจได้มีการดำเนินการคดีลักษณะนี้มาโดยตลอด และมีการประสานให้ปิดเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมไปจำนวนหนึ่ง แต่ยอมรับว่า ในบางเว็บไซต์ มีการจดทะเบียนในต่างประเทศ จึงทำให้การดำเนินการทำได้ยาก
สำหรับการติดตามตัวผู้ถูกออกหมายจับในคดีนี้ และหลบหนีอยู่ภายนอกประเทศ ยอมรับว่า มีปัญหาในเรื่องของข้อกฎหมาย ที่ในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน จึงทำให้การประสานนำตัวกลับมาดำเนินคดีทำได้ยาก และต้องอาศัยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้นๆ
ส่วนกรณีที่มีการปล่อยข่าวลือในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จนทำให้หุ้นตก นั้น หากพบว่า มีการกระทำผิดปล่อยข่าวลือจริง ตำรวจสามารถดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ได้ จากการตรวจสอบ เบื้องต้น พบการปล่อยข่าวไม่ได้ทำเป็นขบวนการ แต่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้ที่กระทำผิดตาม มาตรา 112 ส่วนจะเป็นกลุ่มเดียวกับที่เคยปล่อยข่าวลือในลักษณะนี้ เมื่อปี 2552 หรือไม่ ยังไม่สามารถยืนยันได้

โฆษกบัวแก้วเผย ‘กัมพูชา-ลาว’ ยันไม่ให้ใครใช้เป็นฐานเคลื่อนการเมืองละเมิดสถาบัน

โฆษกกระทรวงต่างประเทศ ชี้ประเทศตะวันตกแม้ยึดมั่นค่านิยมประชาธิปไตย-สิทธิมนุษยชน แต่ต้องมองความสัมพันธ์ระหว่างกันระยะยาว คาดไม่ให้ใครใช้ประเทศเป็นฐานในการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ส่งผลกับมิตรประเทศ
17 ธ.ค. 2557 นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์กรณีนายกรัฐมนตรีสั่งให้เร่งทำความเข้าใจกับต่างชาติกรณีผู้ละเมิดกฎหมาย มาตรา 112 หรือหมิ่นประมาทกษัตริย์ ที่เคลื่อนไหวอยู่ในต่างประเทศว่า กระทรวงการต่างประเทศได้ประสานกับสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศต่างๆ รวมถึงสถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศในไทยเป็นระยะ กรณีที่มีข่าวว่ามีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเข้าไปเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือดำเนินการที่เป็นการล่วงละเมิดต่อสถาบัน ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่ากัมพูชาและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวยืนยันว่าจะไม่ให้ใครใช้ประเทศของเขาเป็นฐาน เพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างแน่นอน
“ส่วนประเทศที่มีข่าวหรือการให้สัมภาษณ์ของบุคคลที่เคลื่อนไหวทางการเมือง กระทรวงการต่างประเทศตรวจสอบแล้วไม่พบว่าบุคคลดังกล่าวอยู่ในประเทศนั้น แต่อาศัยช่องทางการสื่อสารหรือโซเชียลมีเดียในการให้สัมภาษณ์ ทั้งนี้ หลายประเทศโดยเฉพาะชาติตะวันตกมองว่าไทยเป็นพันธมิตรที่เก่าแก่ และมีผลประโยชน์ร่วมกัน เราเข้าใจดีว่าประเทศเหล่านี้ยึดมั่นในค่านิยมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน แต่เขาต้องมองถึงความสัมพันธ์ระหว่างกันระยะยาว และไม่ให้ใครใช้ประเทศเป็นฐานในการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ส่งผลกับมิตรประเทศ” นายเสข กล่าว
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ปัจจุบันไทยกำลังปฏิรูปประเทศในทุกภาคส่วน ผู้ที่อยู่ในต่างประเทศหรือมีความเห็นใดๆ สามารถส่งผ่านช่องทางของสถานเอกอัครราชทูตไทยในต่างประเทศได้ กระทรวงการต่างประเทศพร้อมจะส่งผ่านความเห็นเหล่านี้ไปยังสภาปฏิรูปแห่งชาติต่อไป

คกก.สื่อมาเลเซีย ฟ้องสถานีวิทยุหลังนักวิชาการวิจารณ์กรณีคำว่า 'อัลเลาะห์'

         คณะกรรมการด้านการสื่อสารและสื่อผสมของมาเลเซีย ฟ้องเรียกค่าปรับสถานีวิทยุบีเอ็มเอฟ 10,000 ริงกิต หลังจากที่นักวิชาการชาวมุสลิมวิจารณ์กรณีศาลอุทธรณ์มาเลเซียสั่ง ห้ามไม่ให้คนที่ไม่ใช่ชาวมุสลิมใช้คำว่า "อัลเลาะห์" บอกเผยแพร่เนื้อหาโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้มีอำนาจพิจารณา
          17 ธ.ค. 2557 สำนักข่าวมาเลเซียอินไซเดอร์รายงานว่า คณะกรรมการด้านการสื่อสารและสื่อผสมของมาเลเซีย (MCMC) ฟ้องร้องสถานีวิทยุบีเอ็มเอฟ เรียกค่าปรับเป็นเงิน 10,000 ริงกิต (ราว 330,000 บาท) จากกรณีที่เรซา อัสลาน นักวิชาการด้านศาสนาชาวมุสลิมให้สัมภาษณ์วิพากษ์วิจารณ์ที่ ศาลมาเลเซียสั่งห้ามไม่ให้คนที่ไม่ใช่ชาวมุสลิมใช้คำว่า "อัลเลาะห์" และเรียกร้องให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาการตัดสินใจเมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2556
          คณะกรรมการด้านการสื่อสารและสื่อผสมของมาเลเซียอ้างว่าสถานีวิทยุบีเอ็มเอฟละเมิดเงื่อนไขการออกใบอนุญาตพิเศษของผู้ให้บริการข้อมูลคอมพิวเตอร์ผ่านแอปพลิเคชัน (CASP-1) ตามกฎหมายการสื่อสารและสื่อผสมปี 2541 ซึ่งระบุเงื่อนไขให้การออกอากาศเนื้อหาทั้งรายการสดและรายการที่เก็บไว้เผยแพร่ทีหลังต้องได้รับอนุญาตจากผู้ตรวจสอบเนื้อหาก่อน
            นอกจากนี้ สถานีบีเอ็มเอฟยังถูกกล่าวหาว่าละเมิดกฎหมายการสื่อสารและสื่อผสมปี 2541 หมวด 206(3) ซึ่งระบุถึงการห้ามนำเสนอเนื้อหาที่ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขของใบอนุญาต เว็บไซต์มาเลเซียอินไซเดอร์ระบุว่าพวกเขาไม่สามารถทราบได้แน่ชัดว่าทางสถานีละเมิดใบอนุญาต CASP-1 ในแง่ใด
          แต่เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. ที่ผ่านมาคณะกรรมการ MCMC ของมาเลเซียได้โพสต์เฟซบุ๊กชี้แจงกรณีสถานีวิทยุบีเอ็มเอฟว่า มีการฟ้องร้องเนื่องจากสถานีบีเอ็มเอฟ 89.9 นำเสนอเนื้อหาที่อยู่นอกขอบเขตความเป็นสื่อธุรกิจ และการบันทึกเทปรายการไม่ได้รับการอนุมัติจากกระทรวงการพัฒนาศาสนาอิสลามของมาเลเซีย (JAKIM) โดยอ้าง "ประมวลกฎหมายด้านเนื้อหา" ของสภาเนื้อหาของสื่อและสื่อผสม (CMCF) ที่บีเอฟเอ็ม 89.9 เป็นสมาชิก ซึ่งระบุให้ผู้เผยแพร่เนื้อหาเกี่ยวกับศาสนาอิสลามทั้งหมดต้องได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานศาสนาของทางการก่อนการเผยแพร่
          อย่างไรก็ตาม การเรียกร้องให้ปรับเงินสถานีวิทยุสร้างความไม่พอใจในหมู่ชาวมาเลเซียซึ่งมองว่าเป็นการลิดรอนเสรีภาพสื่อ มีชาวมาเลเซียจำนวนหนึ่งเดินขบวนรอบสถานีวิทยุและบอกว่าจะร่วมกันช่วยเหลือค่าปรับให้แก่สถานีเป็นเงินคนละ 10 ริงกิต (ราว 330 บาท)
         สิ่งที่เรซา อัสลาน กล่าววิพากษ์วิจารณ์คือกรณีที่ศาลอุทธรณ์สั่งห้ามไม่ให้โบสถ์ศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกใช้คำว่า "อัลเลาะห์" ซึ่งเป็นคำเรียกพระเจ้าในภาษาอาหรับ อัสลานกล่าวอีกว่าชาวคริสต์ในตะวันออกกลางก็ใช้คำว่า "อัลเลาะห์" เวลาเอ่ยถึงพระเจ้าเช่นเดียวกัน ซึ่งไม่ถือเป็นการคุกคามศาสนาอิสลาม อัสลานยังเคยระบุในหนังสือที่เขาเขียนว่าตามประวัติศาสตร์แล้วคำว่า "อัลเลาะห์" เป็นคำที่มีที่มาดั้งเดิมหมายถึงพระเจ้า การบอกว่าอัลเลาะห์เป็นพระนามของพระเจ้าเป็นความคิดที่ขัดกับหลักคัมภีร์อัลกุรอาน
เรียบเรียงจาก
BFM Radio fined RM10,000 over Reza Aslan ‘Allah’ interview, The Malaysian Insider, 16-12-2014
http://www.themalaysianinsider.com/malaysia/article/bfm-radio-fined-rm10000-over-reza-aslan-allah-interview
Authorities deny religious issues as reason for its action against BFM, The Malaysian Insider, 17-12-2014
http://www.themalaysianinsider.com/malaysia/article/authorities-deny-religious-issues-as-reason-for-its-action-against-bfm#sthash.arokZ7ea.dpuf

ศาลปกครองสูงสุดกำหนดนั่งพิจารณาคดี น.ศ.ยะลาฟ้องทัพบก เหตุถูกซ้อมทรมาน ม.ค.58

             กรณีสองนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาฟ้องกองทัพบกและกระทรวงกลาโหม โดยระบุถูกควบคุมตัวตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีการทำร้ายร่างกายและซ้อมทรมาน และมีการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2554
             ล่าสุด (18 ธ.ค. 2557) สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ส่งใบแจ้งข่าวระบุว่า ได้รับหมายแจ้งจากศาลปกครองสูงสุดกำหนดวันนั่งพิจารณาคดีเป็นครั้งแรกในวันที่ 13 มกราคม 2558 เวลา 09.30 น. ที่ศาลปกครองสูงสุด ชั้น 3 ห้องพิจารณาคดีที่ 12 ซึ่งคู่กรณีทั้งสองฝ่ายมีสิทธิยื่นคำแถลงการณ์เป็นลายลักษณ์อักษรต่อศาล ก่อนหรือในวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก และในวันนั่งพิจารณาครั้งแรกคู่กรณีก็สามารถขออนุญาตศาลเพื่อแถลงด้วยวาจาได้อีกด้วย 
             คดีนี้เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 ศาลปกครองสงขลาได้อ่านคำพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายระหว่างนายอิสมาแอ เตะ ผู้ฟ้องคดี ที่ 1 และนายอามีซี มานาก ผู้ฟ้องคดีที่ 2 กับกองทัพบก ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และกระทรวงกลาโหม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กองทัพบก) ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง โดยชำระเงินแก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 จำนวน 255,000 บาท และผู้ฟ้องคดีที่ 2 จำนวน 250,000 บาท เนื่องจากควบคุมตัวไว้เกินกำหนด 7 วันตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457  อีกทั้งเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษอันเป็นกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิของบุคคลอื่น จึงควรต้องใช้ด้วยความระมัดระวังและต้องแก้ไขเยียวยาความเสียหายให้แก่บุคคลซึ่งรับผลดังกล่าว กรณีเจ้าหน้าที่ใช้กำลังทำร้ายผู้ฟ้องคดีทั้งสองในระหว่างการจับกุมและควบคุมตัว ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ได้ยื่นพยานหลักฐาน จึงน่าเชื่อว่าบาดแผลตามที่แพทย์วินิจฉัยไว้เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ ดังนั้นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงต้องรับผิดชอบชดใช้ค่ารักษาพยาบาลให้แก่ผู้ฟ้องที่ 1 จำนวน 5,000 บาท ส่วนผู้ฟ้องคดีที่ 2 ไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดๆ ว่าถูกการกระทำร้ายร่างกาย ศาลจึงไม่อาจกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ได้ ส่วนคำขออื่นให้ยก และให้ยกฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กระทรวงกลาโหม)
            ผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้ยื่นฟ้องกระทรวงกลาโหมและกองทัพบก ให้รับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในจังหวัดภาคใต้ซึ่งอยู่ในสังกัดของตนที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน ตามพระราชบัญญัติความรับผิดในทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 รวมถึงเรียกค่าเสียหายในส่วนของการทำร้ายร่างกายและการซ้อมทรมาน และผู้ฟ้องคดีไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาดังกล่าวบางส่วน จึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2554 โดยมีประเด็นการอุทธรณ์ดังต่อไปนี้
  • 1. การรับฟังข้อเท็จจริงของศาลปกครองสงขลาปราศจากพยานหลักฐานและคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนคดี เนื่องจากไม่ปรากฏว่าพบเอกสารหรือไฟล์ข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามที่ศาลมีคำพิพากษาแต่อย่างใด
  • 2. การควบคุมตัวผู้ฟ้องคดีทั้งสองไม่ชอบด้วยกฎหมายมาตั้งแต่ต้น เนื่องจากมีการทำร้ายร่างกายและซ้อมทรมาน
  • 3. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากการซ้อมทรมานและการเสียศักดิ์ศรีถูกดูหมิ่นและค่าเสียหายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 32
  • 4. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จัดการให้ชื่อเสียงของผู้ฟ้องคดีทั้งสองกลับคืนดีโดยจัดให้มีประกาศหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอย่างน้อยสองฉบับ ฉบับละสามวันติดต่อกัน หรือหนังสือชี้แจง หรือหนังสือเวียนถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับผู้ถูกฟ้องคดี

        สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ระบุว่า คดีนี้นับว่าเป็นคดีแรกที่เหยื่อผู้ถูกควบคุมตัวและซ้อมทรมานตามอำนาจของกฎอัยการศึกในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ใช้สิทธิทางศาลในการฟ้องคดีเพื่อให้หน่วยงานรัฐ (กองทัพบกและกระทรวงกลาโหม) ผู้ฟ้องคดีทั้งสองต้องอาศัยความกล้าหาญและเข้มแข็งอย่างมากในการตัดสินใจฟ้องและดำเนินคดีถามหาความเป็นธรรมและการเยียวยาจากหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ทหารผู้ทำละเมิด  โดยหวังว่าการใช้สิทธิตามระบบกระบวนการยุติธรรมนี้จะส่งผลให้หน่วยงานแก้ไขปรับปรุงบรรทัดฐานการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายพิเศษที่ เพื่อดำรงหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้คงอยู่

ป.ป.ช.แจง ไม่ถอดถอน '310 ส.ส.หนุนนิรโทษ'-กิตติรัตน์

18 ธ.ค. 2557 ที่รัฐสภา ก่อนการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มี พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม พรเพชรแจ้งให้ที่ประชุมรับทราบว่า ประธาน ป.ป.ช.ได้ทำหนังสือถึง สนช.2 ฉบับคือ
  • 1. รายงานการไต่สวนกรณีการถอดถอนนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกจากตำแหน่ง กรณีมีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญปี 2550 จากกรณีใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อ พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 ซึ่งพบว่า การกระทำของนายกิตติรัตน์ฟังไม่ได้ว่า ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จึงให้ข้อกล่าวหาตกไป
  • 2. กรณีขอให้ถอดถอนอดีต ส.ส.จำนวน 310 คน ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากมีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญปี 2550 กรณีร่วมลงคะแนนเห็นชอบร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ผู้กระทำผิดในการชุมนุมทางการเมือง ในวาระ 3 ซึ่ง ป.ป.ช.เห็นว่า เมื่อรัฐธรรมนูญปี 2550 สิ้นสุดลงแล้ว จึงไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเป็นมูลฐานการพิจารณานำไปสู่การถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ จึงไม่มีเหตุที่จะดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงอีกต่อไป มีมติให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบ

‘ดาวดิน’ ออก จม.ระบุ ‘กอ.รมน.’ บุกบ้าน ชวนร่วมเวทีปีหน้า สร้างความรู้สึกไม่ปลอดภัย


‘ดาวดิน’ ออก จม.จากบ้านดาวดิน ฉบับที่ 6 ถึงสามัญชน ระบุ กอ.รมน. บุกมาที่บ้านอีก ชวนไปกินข้าวพูดคุย ขอเบอร์โทรศัพท์และไลน์ รวมทั้งชวนร่วมเวทีแสดงความเห็นปีหน้า แต่สร้างความรู้สึกกังวลในความปลอดภัย
18 ธ.ค. 2557 หลังจากนักศึกษากลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน)  จ.ขอนแก่น จำนวน 5 คน ชู 3 นิ้ว พร้อมเสื้อที่มีข้อความ ‘ไม่ เอา รัฐ ประ หาร’ ต่อหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ขณะมอบนโยบายให้กับเจ้าหน้าที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในกลุ่มจังหวัดภาคอีสาน บริเวณศาลากลาง จ.ขอนแก่น เมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา นอกจากนักศึกษากลุ่มดังกล่าวจะถูกควบคุมตัวในทันทีและปล่อยในเวลาต่อมาแล้ว กลุ่มที่แสดงออกสนับสนุนนักศึกษากลุ่มดังกล่าว เช่น ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย ที่ชู 3 นิ้วสนับสนุน ก็ถูกเจ้าหน้าที่ทหารเข้าพบเพื่อสอบถามถึงความสัมพันธ์กับกลุ่มดาวดิน
รวมทั้งที่บ้านดาวดิน ซึ่งเป็นที่พักของนักศึกษากลุ่มนี้ ก็มีเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบมาตรวจตราตลอด ล่าสุดวันนี้(18 ธ.ค.57) เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘ดาวดิน สังกัดพรรคสามัญชน’ ได้เผยแพร่จดหมายจากบ้านดาวดิน ฉบับที่ 6 ถึง พี่น้องสามัญชนทุกท่าน เล่าถึงเหตการณ์ที่เจ้าหน้าที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. มาที่บ้านดาวดิน เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. เข้ามากำชับถึงเวทีรับฟังความเห็นแบบสามัญชน ที่ทางกลุ่มมีการเสนอว่าจะจัดนั้น ให้อยู่ในกรอบ อย่าไปทำอะไรที่มันสุ่มเสี่ยง ขัดกับกฎระเบียบ พร้อมทั้งชวนไปกินข้าวพูดคุยด้วย
และวันนี้ เจ้าหน้าที่จาก กอ.รมน. มาที่บ้านดาวดินอีกครั้งเพื่อเชิญนักศึกษากลุ่มนี้เข้าร่วมเวที ของ กอ.รมน. ที่จะจัดขึ้นในปีหน้า เพื่อแสดงความคิด พร้อมกำชับว่าหากมีอะไรก็ให้แสดงความเห็นในเวทีดังกล่าว และได้ขอเบอร์โทรศัพท์และไลน์ของนักศึกษาเหล่านั้นไปด้วย
จากเหตุการดังกล่าว นักศึกษากลุ่มดาวดินมองว่า เจ้าหน้าที่ไม่ควรบุกเข้ามาที่บ้านดาวดินโดยพลการ ส่งผลเกิดความกังวลถึงปลอดภัย
โดยจดหมายดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้
จดหมายจากบ้านดาวดิน ฉบับที่ 6
(ถึง พี่น้องสามัญชนทุกท่าน)
-------------------------------------
เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 57ที่ผ่านมาขณะที่พวกเรากำลังนั่งอ่านหนังสือเพื่อเตรียมตัวสอบปลายภาคที่บ้านดาวดินนั้นเมื่อเวลาประมาณ 14:40 น. ได้มีเจ้าหน้าที่จาก กอรมน.(กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร)(เขาบอกพวกเราว่าแบบนั้น) 2คน เข้ามาที่บ้านดาวดินในตอนแรกเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวยื่นอยู่ที่หน้ารั้วบ้านและมองเข้ามาเมื่อเห็นว่ามีคนอยู่ในบ้านก็เปิดประตูรั้วและเดินเข้ามาหาพวกเราที่กำลังนั่งอ่านหนังสือและบอกว่าที่เข้ามาในวันนี้ไม่ได้มาทำอะไร เข้ามาเพื่อพูดคุย เข้ามาแบบพี่แบบน้อง และได้มีการพูดถึง “เวทีรับฟังความเห็นแบบสามัญชน(ยังไม่มีชื่อ)” (ที่กำลังรอให้พี่น้องสามัญชนทุกคนร่วมกันเสนอ วัน เวลา สถานที่ รวมถึงรูปแบบการจัดด้วย) โดยกล่าวว่า ถ้าจะทำเวทีรับฟังความคิดเห็นหรืออะไรก็อยากให้อยู่ในกรอบ อย่าไปทำอะไรที่มันสุ่มเสี่ยง ขัดกับกฎระเบียบที่มี จากนั้นก็ขอเบอร์โทรศัพท์ของเพื่อนเราไปคนหนึ่งบอกว่าเพื่อติดต่อ และก็ชวนพวกเราไปกินข้าวและ พูดคุยกัน
ต่อมาวันนี้(18 พฤศจิกายน 57)เวลาประมาณ 11:00 น. ก็ได้มีเจ้าหน้าที่จาก กอรมน. จำนวน3คน เข้ามาที่บ้านดาวดิน (อีกแล้ว)การเข้ามาในครั้งนี้ เขาได้เข้ามาและสอบถามถึงข้อมูลต่างๆของพวกเราและได้เชิญให้พวกเราเข้าร่วมเวทีของ กอรมน. ที่จะจัดขึ้นในปีหน้ามีอะไรให้แสดงความคิดเห็นในเวที และได้ขอเบอร์โทรศัพท์และไลน์ไปด้วยในรอบนี้
บ้านดาวดินเป็นบ้านของพวกเราที่ใช้อยู่ด้วยกัน ทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยกัน ไม่ใช่ที่ที่จะเข้ามาโดยพลการก็ได้ เข้ามาบุกรุกทำอะไรก็ได้ หรือมาทำอะไรกับพวกก็ได้ บ้านดาวดินซึ่งพวกเราเคยรู้สึกสุขใจ และ ปลอดภัยเมื่ออยู่ที่นี่ ไม่รู้ว่าตอนนี้เรายังรู้สึกแบบนั้นได้อยู่อีกไหม...

18 ธันวาคม 57
เขียนที่ #บ้านดาวดิน

สำนักข่าวต่างประเทศเผยสหรัฐฯ หนุนสร้างกองทัพนิกายซุนนีสู้ 'ไอซิส' ในอิรัก

สำนักข่าวโกลบอลโพสต์รายงานว่าทางการสหรัฐฯ พยายามผลักดันให้มีการจัดตั้งกองกำลังป้องกันชาติของอิรัก และพยายามติดอาวุธชนเผ่านิกายซุนนีรวมถึงช่วยประสานงานกับรัฐบาลกลางซึ่งดูไม่ค่อยไว้ใจกองกำลังในพื้นที่ห่างไกล แม้ว่าพวกเขาจะมีเป้าหมายต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้าย 'ไอซิส' หรือ 'ไอเอส' ก็ตาม

19 ธ.ค. 2557 สำนักข่าวโกลบอลโพสต์เปิดเผยในรายงานว่าทางการสหรัฐฯ มีแผนการเสริมกำลังอาวุธให้กับกลุ่มชนเผ่านิกายซุนนีเพื่อเสริมกำลังให้กับ 'กองกำลังป้องกันชาติ' ของอิรัก (national guard) จากที่ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ เคยสนับสนุนกฎหมายให้มีการจัดตั้งกองกำลังป้องกันชาติอิรักเมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา
รายงานของโกลบอลโพสต์ระบุว่าการกระทำดังกล่าวของสหรัฐฯ เป็นไปเพื่อทำให้ชาวนิกายซุนนีเลิกหันไปสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย 'ไอซิส' หรือ 'ไอเอส' ด้วยการส่งอาวุธและเสบียงช่วยเหลือกลุ่มนักรบนิกายซุนนีรวมถึงกลุ่มนักรบชนเผ่าผ่านทางรัฐบาลอิรัก โดยหวังว่ากลุ่มกองกำลังป้องกันชาติของอิรักและกลุ่มกองกำลังชนเผ่าจะสามารถยึดครองพื้นที่ของชนเผ่านิกายซุนนีที่ถูกกลุ่มไอซิสยึดไปกลับคืนมาได้
โกลบอลโพสต์รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวเป็นเจ้าหน้าที่ทหารอิรักในฐานทัพใกล้กับเมืองโมซูลที่ถูกยึกครองโดยกลุ่มไอซิสอยู่ตอนนี้ เจ้าหน้าที่ทหารอิรักได้หารือกับเจ้าหน้าที่ทางการสหรัฐฯ ที่อ้างตัวเองว่าเป็นหน่วยข่าวกรองกลางหรือซีไอเอซึ่งพยายามแสดงตัวในเชิงให้ความช่วยเหลือและถามไถ่ถึงสิ่งที่พวกเขาต้องการ
นอกจากนี้ยังมีแหล่งข่าวจากกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่ระบุว่าทางการสหรัฐฯ ติดต่อกับกองกำลังในอิรักเพื่อส่งเสริมและช่วยเหลือจัดการให้กับกลุ่มชุมชนนิกายซุนนีที่อยู่ห่างไกลและกำลังรอความช่วยเหลือจากรัฐบาลอิรัก เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุอีกว่ากฎหมายกองกำลังป้องกันชาติอิรักเป็นเป้าหมายระยะยาว โดยพวกเขาต้องการทำให้กลุ่มนักรบชนเผ่าหลอมรวมเป็นกองกำลังป้องกันชาติหลังจากที่มีการจัดตั้งแล้ว
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าการบุกยึดเมืองโมซูลคืนจะยังไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้ โกลบอลโพสต์ระบุว่าชาวอิรักยังคงมีความไม่เชื่อใจกันระหว่างนิกายซึ่งปัญหานี้ฝังรากลึกมากขึ้นหลังจากการเติบโตของกลุ่มไอซิส ชาวนิกายชีอะฮ์ส่วนมากซึ่งเป็นนิกายที่มีอำนาจในรัฐบาลกลางอิรักกล่าวหาว่าชาวนิกายซุนนีมีส่วนในการทำให้กลุ่มไอซิสแผ่ขยายอำนาจไปทั่วภาคเหนือของอิรักและในจังหวัดอันบาร์ทางภาคตะวันตก
แต่ชาวนิกายซุนนีเองโดยเฉพาะในโมซูลก็รู้สึกว่าพวกตนอยู่ในภาวะยากลำบากภายใต้การปกครองที่โหดร้ายของกองกำลังนิกายชีอะฮ์จากรัฐบาลอัลมาลิกิ ทำให้พวกเขายอมรับการรุกรานของกลุ่มไอซิสในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา มีทหารอิรักที่ประจำอยู่ในเมืองโมซูลส่วนหนึ่งยอมรับว่าพวกเขาหนีออกจากฐานที่มั่นในเมืองโมซูลโดยทิ้งอาวุธเอาไว้ในช่วงที่ไอซิสบุกโจมตี
รายงานพิเศษของสำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่าช่วงที่เมืองโมซูลถูกรุกรานผู้นำทัพในเมืองนั้นก็มีกำลังคนอยู่น้อยและมีทรัพยากรน้อยอยู่แล้ว และเมื่อพวกเขาขอให้มีการเสริมกำลังจากรัฐบาลกลาง รัฐบาลกลางอิรักก็ปฏิเสธ และแม้ว่ากองกำลังส่วนหนึ่งต้องการจะยึดเมืองคืนก็ทำไม่ได้เพราะพวกเขาต้องการอาวุธและการฝึกฝนแต่ก็ถูกมองอย่างไม่เชื่อใจทั้งจากรัฐบาลกลางและผู้มีอำนาจในเขตปกครองตนเองในพื้นที่ชาวเคิร์ด
ไม่ไกลจากฐานทัพโดบาร์ดาน นอกเมืองโมซูล มีด่านตรวจของกลุ่มนักรบติดอาวุธชาวเคิร์ดชื่อกลุ่มเพชเมอร์กา ซึ่งแม้ว่าพวกเขาจะมีศัตรูเดียวกันคือกลุ่มไอซิส แต่ก็ยังคงไม่ไว้ใจกองทัพของอิรักในพื้นที่ชาวนิกายซุนนีจึงไม่มีการช่วยเหลือใดๆ อีกทั้งยังคิดว่าครึ่งหนึ่งของกองกำลังนอกเมืองโมซูลเป็นพวกเดียวกับกลุ่มไอซิส
แต่หลังจากที่สหรัฐฯ กดดันรัฐบาลอิรัก พวกเขาก็ยอมส่งอาวุธส่วนหนึ่งไปช่วยเหลือเมื่อช่วงต้นเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยฐานทัพนอกเมืองโมซูลได้รับปืนกลหนัก 30 ชุด และปืนอาก้า 2,000 กระบอก ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ทางการกลางอิรักสัญญาว่าจะส่งให้ นายพลคาเล็ด อัลฮัมดานี ผู้บัญชาการฐานทัพโดบาร์ดานกล่าวว่าพวกเขาคิดมาตลอดว่าคงได้รับการสนับสนุนอาวุธจากทางการสหรัฐฯ ก่อน เพราะสหรัฐฯ ดูจริงจังกว่า ขณะที่คิดว่ารัฐบาลของพวกเขาไม่จริงจัง
ถึงกระนั้นก็มีผู้นำทหารบางคนที่รู้สึกว่าการพยายามช่วยเหลือของสหรัฐฯ ยังไม่มากพอและยังช้าเกินไป พันเอกอิบราฮิม อัลฮัมดานี กล่าวว่าพวกเขายังต้องการการฝึกซ้อมอาวุธมากกว่านี้
อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ก็มองว่าแผนการของสหรัฐฯ ในการติดอาวุธให้กลุ่มชนเผ่านิกายซุนนีเป็นแผนอันตรายที่อาจจะยิ่งทำให้เกิดความแตกแยกมากขึ้นระหว่างนิกายเนื่องจากการติดอาวุธ
เคน พอลแล็ก นักวิเคราะห์อิรักจากสถาบันบรูกกิงส์กล่าวว่ากองกำลังป้องกันชาติของอิรักมีบทบาทสำคัญมากในการต่อสู้กับกลุ่มไอซิสและการรวมประเทศอิรักให้เป็นหนึ่งเดียว โดยจะต้องมีระบบการรวมศูนย์ซึ่งให้ชาวนิกายซุนนีมีกองทัพของตนเอง พอลแล็กยังมองว่าการส่งอาวุธให้จำนวนไม่มากแก่ฐานทัพโดบาร์ดานเป็นแค่การสร้างภาพว่าได้ให้การช่วยเหลือตามคำขอของทางการสหรัฐฯ แล้วเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วควรจะมีการร่วมเจรจาตกลงอย่างเป็นทางการผ่านร่างกฎหมายในเรื่องการดำรงอำนาจร่วมกันของทั้งสองนิกายถึงจะเป็นการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

'หมอยุทธ' ลาออก ปธ.แก้ปัญหา รพ.สธ.ขาดทุน หลังประชุมนัดแรกล่ม ไร้เงา กก.สธ.


เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2557 ได้มีการประชุมคณะกรรมการอำนวยการตรวจสอบและปรับปรุงสถานะทางการเงินของหน่วยบริการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขนัดแรก ภายหลังจากที่ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข ได้มีคำสั่งแต่งตั้งเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ที่ผ่านมา เพื่อแก้ไขปัญหา รพ.ขาดทุน
 
ทั้งนี้การประชุมได้เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 09:00 น. โดยมี นพ.ยุทธ โพธารามิก อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการตรวจสอบและปรับปรุงสถานะทางการเงินของหน่วยบริการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งปรากฎว่ามีกรรมการเข้าร่วมประชุมเพียง 9 คน จาก 16 คน โดยกรรมการในส่วนกระทรวงสาธารณสุข ทั้ง นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ. นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองปลัด สธ. นพ.สมยศ ศรีจารนัย ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการสาธารณสุข และ นพ.บัญชา ค้าของ ผู้อำนวยการกลุ่มงานประกันสุขภาพ ไม่เข้าร่วมประชุม โดยได้มีหนังสือแจ้งมายังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยลงลายมือชื่อทั้ง 5 คนไว้เป็นหลักฐาน เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ที่ผ่านมา
 
นพ.ยุทธ กล่าวว่า ได้รับเชิญจาก นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. ให้เป็นประธานคณะกรรมการชุดนี้ ซึ่งคิดว่าคงต้องอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งของ 2 ฝ่าย ดังนั้นจึงได้กำหนดเงื่อนไขว่า กรรมการแต่ละฝ่ายต้องมีสัดส่วนที่เท่ากัน แต่จากที่ สธ.ได้ทำหนังสือขอไม่เข้าร่วมประชุม และให้เหตุผลว่าการเข้าร่วมเป็นกรรมการชุดนี้ไม่เหมาะสม และยังจะเป็นการซ้ำเติมหน่วยบริการที่ประสบวิกฤตการเงิน นั่นหมายความว่ากรรมการส่วน สธ.คงไม่เข้าร่วมแน่ และคงไม่เข้าร่วมตลอดไป แม้ว่าคณะกรรมการฯ จะประชุมในนัดถัดไปคงไม่มีประโยชน์ เพราะทาง สธ.คงไม่มา ดังนั้นจึงขอลาออกจากการเป็นประธานคณะกรรมการฯ   
  
“ผมรับเป็นประธานเพราะอยากให้วินวินทั้งคู่ ทั้งสองฝ่ายต้องลดลาวาศอกกันบ้างเพื่อคุยกัน แต่วันนี้คงไม่มีทางคุยกันได้ เพราะอีกฝ่ายไม่ลดลาวาศอก จึงมองว่าไม่มีประโยชน์ที่จะประชุม และโดยมารยาทจึงขอลาออกจากการเป็นประธานคณะกรรมการฯ และขอคืนสิ่งเหล่านี้ให้ รมว.สาธารณสุข เป็นผู้ติดสินใจ เพราะท่านเป็นผู้บังคับบัญชาของทั้ง 2 หน่วยงาน” นพ.ยุทธ กล่าว
ด้าน นพ.วินัย กล่าวว่า จากการประชุมในวันนี้ คงนำเรื่องเสนอต่อ รมว.สธ. เพื่อให้พิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป