วันอังคารที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ธาริตรอด อุทธรณ์ยืนยกฟ้อง คดีสุเทพฟ้องหมิ่นฯ ปมแถลงข่าวปัญหาสร้างโรงพัก


3 พ.ค. 2559 ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 09.30 น. วันนี้ ที่ห้องพิจารณา 902 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำ อ.495/2556 ที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตเลขาธิการ กปปส. เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง ธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328
โดย สุเทพ ยื่นฟ้องคดีเมื่อ วันที่ 7ก.พ.56 ระบุพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 21 ม.ค.-4 ก.พ. 56 ธาริต ขณะนั้นอธิบดีดีเอสไอ ได้แถลงข่าวผ่านสื่อมวลชน กล่าวหาว่า สุเทพ โจทก์ ขณะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้สั่งการไม่ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ทำสัญญาก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ 396 แห่งเป็นรายภาค ตามที่ สตช.เสนอ แต่กลับให้รวมสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างเพียงรายเดียว ทำให้บริษัท พีซีซี ดิเวลล็อปเม้นท์ แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูล จนเกิดปัญหาที่ไม่สามารถก่อสร้างได้เสร็จทันตามกำหนด ซึ่งล้วนเป็นเท็จ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง
คดีนี้ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาวันที่ 26 มี.ค.58 ให้ยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่า การแถลงข่าวของจำเลย เป็นการตรวจสอบโครงการก่อสร้างโรงพัก และให้ความเห็นในทางกฎหมายในฐานะอธิบดีดีเอสไอ ไม่ได้มีการยืนยันข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้กระทำการทุจริต การแถลงข่าวและให้สัมภาษณ์ของจำเลย เป็นการสรุปความคืบหน้าของคดีตามพยานหลักฐาน ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานที่ได้ปฎิบัติตามอำนาจหน้าที่ และเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (2) จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท สุเทพยื่นอุทธรณ์ ขอให้ศาลลงโทษจำเลยด้วย
อย่างไรก็ตาม ศาลอุทธรณ์ ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ ยังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังเพียงพอได้ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามที่โจทก์ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์ เห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ โจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้น ธาริต ซึ่งปัจจุบันปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีเดินทางมาในชุดสีเข้ม มีสีหน้าเรียบเฉย และเดินทางกลับทันทีที่รับทราบคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ขณะที่ไทยรัฐออนไลน์ รายงานด้วยว่า ธาริต กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า ตนเองถูกฟ้องจากการปฏิบัติหน้าที่รวม 31 คดีและยกฟ้องไปแล้ว 25 คดี

นักกิจกรรมเชียงใหม่ออกจากค่ายกาวิละแล้ว ผบ.มทบ.33 ขออย่าบังคับให้ใช้ความแข็งกร้าวเลย

 รจเรข วัฒนพาณิชย์ และปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี (ภาพโดย Pipob Udomittipong )

หลังมทบ. 33 เรียกผู้จัดกิจกรรมค้านการคุมตัวผู้ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ข่วงท่าแพเข้าค่ายคุยปรับทัศนคติ ล่าสุดออกมาแล้วโดยไม่เซ็นเอ็มโอยู ด้านผบ.มทบ. 33 ขอ "อย่าบังคับให้ผมต้องใช้ความแข็งกร้าวเลย มันลำบากใจ อะไรที่ผมขออะไรที่เราคุยกันได้ขอให้คุย" 
3 เม.ย. 2559 สำนักข่าวประชาธรรม รายงานว่า วันนี้  ที่มณฑลทหารบก33 ค่ายกาวิละ จ.เชียงใหม่ รจเรข วัฒนพาณิชย์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งร้านหนังสือบุ๊ครีพับลิก และเจ้าของรางวัลผู้หญิงกล้าหาญจากรัฐบาลสหรัฐ พร้อม รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนักกิจกรรมอีกหนึ่งคน รวม 3 คน ถูกเรียกให้เข้าพบเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย โดยคาดว่าถูกเชื่อมโยงจากกิจกรรมสวมเสื้อขาว ยืนและถ่ายรูปบนข่วงท่าแพเมื่อวันพุธที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการจับกุมผู้ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
สำหรับการเข้าพบในวันนี้เริ่มตั้งแต่เวลา 9:00 น. โดยมีนักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักสิทธิมนุษยชน ทนายความสิทธิมนุษยชน ประชาชน และสื่อมวลชนร่วมสังเกตการณ์อย่างคับคั่ง
ต่อมาในเวลา 10:20 น. พล.ต.โกศล ประทุมชาติ ผบ.มทบ. 33 มาทักทายผู้ร่วมสังเกตการณ์ โดยระบุว่า เรียกมาพูดคุยทำความเข้าใจเพราะเกรงว่าจะมีกลุ่มอื่น ๆ ลุกขึ้นมาแสดงออกจนทำให้ไม่สงบเรียบร้อย ส่วนการจัดเวทีวิชาการเรื่องประชามติรัฐธรรมนูญนั้นสามารถทำได้ตามกรอบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดไว้

"อย่าบังคับให้ผมต้องใช้ความแข็งกร้าวเลย มันลำบากใจ อะไรที่ผมขออะไรที่เราคุยกันได้ขอให้คุย" ผบ.มทบ. 33 กล่าว
ต่อมาเมื่อเวลา 11.28 น. Pipob Udomittipong รายงานด้วยว่า  ทั้งหมดออกมาแล้ว โดยไม่ลงชื่อในข้อตกลงหรือเอ็มโอยู

สื่อเรียกร้องยกเลิกคำสั่ง คสช.จำกัดสิทธิ-ประยุทธ์ถาม เสรีภาพที่มียังไม่พออีกหรือ

ภาพจากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

เนื่องในวันเสรีภาพสื่อโลก สองสมาคมสื่อเรียกร้องยกเลิกคำสั่ง คสช.จำกัดเสรีภาพ ด้านประยุทธ์ถาม เสรีภาพที่มีอยู่ยังไม่พออีกหรือ ชี้ยกเลิกบางข้อก็ต้องเพิ่มบางข้อ เตือนนักข่าวอาวุโสระวังตัว หลังตะโกน "เสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชน" 

3 พ.ค. 2559 มติชนออนไลน์รายงานว่า วันชัย วงศ์มีชัย นายกสมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อมอบเสื้อที่ระลึกและข้อเรียกร้อง โดยนายวันชัยระบุว่า วันที่ 3 พ.ค. เป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญ จึงอยากให้ยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่ยังเป็นข้อจำกัดของสื่อโดยเฉพาะ คำสั่ง คสช. ที่ 97/2558 และ 103/2558
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เสรีภาพเท่าที่มีอยู่ยังไม่พออีกหรือ ทำให้นายวันชัย กล่าวว่า ไม่ใช่ว่าไม่พอ แต่เป็นการรณรงค์ในวันเสรีภาพสื่อมวลชน ไม่ได้หมายถึงจะขอนายกฯ มอบเสรีภาพให้มากขึ้น แต่มีกฎหมายบางข้อที่อยากขอร้องให้นายกฯ ยกเลิก
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่าเราไปยุ่งอะไรกับพวกท่าน วันที่ระลึก ก็เข้าใจ และจะดูให้ แต่ถ้ายกเลิกบางข้อก็ต้องเพิ่มในบางข้อ ถึงอย่างไรขอให้ทุกคนมีความสุข ขอให้ทำเพื่อบ้านเมือง
จากนั้น ยุวดี ธัญญศิริ ผู้สื่อข่าวอาวุโสได้กล่าวว่า เสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชน ทำให้นายกรัฐมนตรีกลับมาและถามว่า ใครพูด จากนั้นผู้สื่อข่าวอาวุโส กล่าวว่า “ยุวดีค่ะ” นายกรัฐมนตรี จึงกล่าวว่า ระวังตัวด้วย ซึ่งยุวดี กล่าวว่า ไม่เป็นไรค่ะ ระวังอยู่แล้ว
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางนายกสมาคมฯ และคณะได้เตรียมเอกสารแถลงการณ์วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก 3 พฤษภาคม 2559 “ถูกต้อง รอบด้าน หลักประกันเสรีภาพ” แต่ทีมงานนายกรัฐมนตรีขอไม่ให้ยื่นเอกสารแถลงการณ์ดังกล่าว เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นตัวอย่างในการยื่นเอกสารถึงนายกรัฐมนตรี ขณะที่สีหน้าของนายกรัฐมนตรีเรียบเฉย ไม่ยิ้มแย้มแจ่มใสอย่างเช่นปกติ โดยใช้เวลาไม่ถึง 5 นาทีในการพูดคุยกับคณะสื่อมวลชน

2 องค์กรวิชาชีพสื่อไทยเรียกร้อง คสช.ยกเลิก กม.จำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อฯ 

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ร่วมออกแถลงการณ์วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 3 พ.ค. ของทุกปี โดยปีนี้มีคำขวัญว่า “ถูกต้อง รอบด้าน หลักประกันเสรีภาพ” แถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาล คสช.เร่งยกเลิกกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อฯ ทั้งคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 97/2557 ฉบับที่ 103/2557 และฉบับที่ 3/2558 ข้อ 5 โดยเร็ว กลับไปใช้กฎหมายปกติกรณีที่พบสื่อละเมิดกฎหมาย พร้อมขอให้สร้างหลักประกันเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารได้อย่างถูกต้อง รอบด้าน ให้สื่อมวลชนได้เปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยรัฐไม่ควรผูกขาดการนำเสนอข่าวด้านเดียว หรือควบคุม แทรกแซงให้สื่อฯ เกิดความหวาดกลัวต่อการนำเสนอข่าวสาร
 
นอกจากนี้ แถลงการณ์ระบุด้วยว่า ขอให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศที่จะพิจารณาเรื่องการปฏิรูปสื่อ ได้คำนึงถึงกรอบที่ สปช.ได้ทำไว้ โดยสมควรมีแนวทางสนับสนุนให้เกิดนโยบายและกฎหมายที่ส่งเสริมให้เกิดระบบกลไกในการกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชนที่ดีและมีประสิทธิภาพ
 
สองสมาคมสื่อระบุถึงการแก้ไขกฎหมายซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจให้เจ้าหน้าที่จับกุมผู้กระทำความผิดบนโลกออนไลน์ด้วยว่า ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา กฎหมายฉบับนี้ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์อย่างมาก สนช.จึงควรพิจารณาด้วยความรอบคอบ เพื่อไม่ให้กฎหมายดังกล่าวยิ่งส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากจนเกินสมควร ส่วนร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.)  ก็ขอให้คำนึงถึงหลักการที่ให้ประชาชนมีหลักประกันว่าการจัดสรรคลื่นความถี่จะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ กสทช. จะต้องเป็นองค์กรอิสระทางปกครอง มิใช่เป็นอิสระเฉพาะในการปฏิบัติหน้าที่


 
แถลงการณ์วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก 3 พฤษภาคม 2559
“ถูกต้อง รอบด้าน หลักประกันเสรีภาพ”
สถานการณ์สื่อมวลชนไทยนับตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 แม้รัฐบาลภายใต้การนำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กำหนดในมาตรา 4 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ให้ความคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพประชาชนตามประเพณีการปกครองประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยฯ และตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่มีอยู่ แต่ในทางปฏิบัติกลับมีการออกคำสั่งคสช.หลายฉบับ ที่มีเนื้อหาจำกัดสิทธิเสรีภาพ ควบคุมสื่อมวลชนในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร อาทิ คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 97/2557 คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 103/2557 และฉบับคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 5 รวมถึงล่าสุดคำสั่ง คสช. ที่ 13/2559 ที่ขยายอำนาจให้ทหารเป็นพนักงานสอบสวน รวมทั้งความพยายามออกชุดกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลโดยเฉพาะ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่ ซึ่งล้วนสุ่มเสี่ยงต่อการลิดรอนเสรีภาพประชาชนมากยิ่งขึ้น
 
นอกจากนั้น รัฐบาล คสช.ยังใช้อำนาจที่กระทบต่อสิทธิของประชาชน เข้าควบคุมการทำหน้าที่สื่อมวลชนในหลายรูปแบบ อาทิ การเรียกสื่อมวลชนไปปรับทัศนคติเรียกประชุมตัวแทนสื่อมวลชนแขนงต่างๆ หลายครั้ง เพื่อให้ปฏิบัติตามคำสั่ง คสช.อย่างเคร่งครัด หากฝ่าฝืนจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย เป็นต้น ส่งผลให้สถานการณ์เสรีภาพสื่อฯ ในปี 2558 ที่ผ่านมาถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนได้จากการที่องค์กรนักข่าวไร้พรมแดนลดอันดับเสรีภาพสื่อมวลชนไทยจากอันดับ 130 ในปี 2557 ไปสู่อันดับที่ 134 ในปี 2558
 
ขณะที่การปฏิรูปสื่อมวลชนที่เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามปฏิรูปประเทศในทุกด้าน ในเบื้องต้นสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้จัดทำแผนปฏิรูปสื่อมวลชน 3 ด้าน ได้แก่ “เสรีภาพสื่อมวลชนบนความรับผิดชอบ การกำกับดูแลสื่อมวลชนที่มีประสิทธิภาพและการป้องกันการแทรกแซงสื่อ” แต่เมื่อส่งมอบให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ดำเนินการต่อ กลับไร้การสานต่อ ไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรม
 
ท่ามกลางบรรยากาศการปฏิรูปประเทศด้วยความคาดหวังให้เปลี่ยนผ่านการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยดีขึ้น แต่เสรีภาพของสื่อมวลชนไทยกลับถูกลดทอนลงอย่างมีนัยสำคัญ จนตกอยู่ในภาวะที่เรียกได้ว่า “มืดมน”
 
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ดังกล่าวอย่างมาก
 
ในโอกาสวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก จึงขอเสนอข้อเรียกร้องต่อผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนดังต่อไปนี้
 
1. ขอให้รัฐบาล คสช.เร่งยกเลิกกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อฯ ทั้งคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 97/2557 ฉบับที่ 103/2557 และฉบับที่ 3/2558 ข้อ 5 โดยเร็ว กลับไปใช้กฎหมายปกติกรณีที่พบสื่อละเมิดกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยจากคำสั่งทางความมั่นคง เปิดให้ประชาชนกลุ่มต่างๆ ได้แสดงความคิดเห็นซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ด้านสิทธิเสรีภาพของประเทศ
 
พร้อมกันนี้ขอให้สร้างหลักประกันเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารได้อย่างถูกต้อง รอบด้าน ให้สื่อมวลชนได้เปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อแสวงหาทางออกร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ ด้วยเชื่อว่าข่าวสารที่มีข้อมูลถูกต้อง รอบด้านจะเป็นทางออกของประเทศให้ก้าวข้ามพ้นวิกฤติความขัดแย้งไปได้ รัฐจึงไม่ควรผูกขาดการนำเสนอข่าวด้านเดียว หรือควบคุม แทรกแซงให้สื่อฯ เกิดความหวาดกลัวต่อการนำเสนอข่าวสาร
 
2. ขอให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศที่จะพิจารณาเรื่องการปฏิรูปสื่อ ได้คำนึงถึงกรอบที่ สปช.ได้ทำไว้ โดยสมควรมีแนวทางสนับสนุนให้เกิดนโยบายและกฎหมายที่ส่งเสริมให้เกิดระบบกลไกในการกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชนที่ดีและมีประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุนให้สื่อมวลชนสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีเสรีภาพบนความรับผิดชอบ และต้องสนับสนุนนโยบายให้เกิดการจัดทำกฎหมายเพื่อป้องกันการแทรกแซงสื่อไม่ว่าจะโดยอำนาจรัฐหรืออำนาจทุน ไปพร้อมกับการให้ความสำคัญและสนับสนุนให้ประชาชนรู้เท่าทันสื่อมวลชนอย่างทั่วถึงด้วย
 
ส่วนการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชน ซึ่งอยู่ในชั้นการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อันอาจส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หนึ่งในชุดกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล ที่กำลังแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจให้เจ้าหน้าที่จับกุมผู้กระทำความผิดบนโลกออนไลน์นั้น พบว่า ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา กฎหมายฉบับนี้ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์อย่างมาก สนช.จึงควรพิจารณาด้วยความรอบคอบ เพื่อไม่ให้กฎหมายดังกล่าวยิ่งส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากจนเกินสมควร
 
นอกจากนั้น ในส่วนของร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ที่กำลังมีการเสนอแก้ไขกฎหมายอยู่ใน สนช.ก็ขอให้คำนึงถึงหลักการที่ให้ประชาชนมีหลักประกันว่าการจัดสรรคลื่นความถี่จะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ กสทช. จะต้องเป็นองค์กรอิสระทางปกครอง มิใช่เป็นอิสระเฉพาะในการปฏิบัติหน้าที่
 
ส่วนกระบวนการสรรหาคณะกรรมการ กสทช. ต้องมาจากผู้มีความรู้ความเข้าใจในการประกอบกิจการและเกิดจากการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างโปร่งใส เป็นธรรม คุณสมบัติของกรรมการ กสทช.จะต้องมีตัวแทนกลุ่มผู้เกี่ยวข้องต่างๆ ที่หลากหลาย รวมถึงองค์กรคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค องค์กรผู้ประกอบวิชาชีพสื่อฯ และนักวิชาการ มิใช่มีเพียงตัวแทนหน่วยงานรัฐเท่านั้น
 
3. ขอให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนและผู้ประกอบธุรกิจสื่อมวลชนทุกแขนงตระหนักถึงการให้ความสำคัญในการทำหน้าที่เสนอข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้อง ครบถ้วน รอบด้าน ซึ่งจะเป็นหลักประกันต่อเสรีภาพ ทั้งขอให้เพิ่มพูนความรู้บุคลากรสื่อเพื่อสนับสนุนความสามารถในการทำหน้าที่อย่างมืออาชีพ เคารพต่อหลักจริยธรรม ไม่นำเสนอข่าวหรือภาพข่าวที่เป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งควรสนับสนุนให้เกิดระบบและกลไกกำกับดูแลกันเองที่มีประสิทธิภาพ ด้วยการให้ความร่วมมือและยอมรับคำวินิจฉัยขององค์กรวิชาชีพสื่อ ทั้งหมดนี้เพื่อสร้างให้สังคมเชื่อมั่นและเชื่อถือตัวสื่อเอง
 
4. ขอให้ประชาชนคิดก่อนแชร์ ก่อนโพสต์ภาพข่าวหรือข่าวสารใดๆ โดยยึดหลักความจริง ถูกต้อง หากไม่ตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้องก่อนแชร์ ก่อนโพสต์ อาจเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายมีโทษรุนแรงและสร้างความเสียหายต่อผู้ตกเป็นข่าว ทั้งขอให้ติดตามข่าวสารและช่วยกันเฝ้าระวังตรวจสอบสื่อมวลชน ไม่ละเลยเพิกเฉยและยินยอมตกเป็นผู้รับสารเพียงฝ่ายเดียว ควรร่วมปฏิสัมพันธ์และแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางเมื่อพบสื่อมวลชนที่ไม่ทำตามหลักจริยธรรม เพื่อเป็นกระจกสะท้อนให้สื่อฯ ต้องทบทวนบทบาทหน้าที่และทำในสิ่งที่ถูกต้อง คือการยึดมั่นอยู่ในอุดมการณ์และจริยธรรมให้ได้ในที่สุด
 
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในวาระวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกปีนี้ จะเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่สื่อมวลชนไทยจะได้รับการสนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ด้วยความ “ถูกต้อง รอบด้าน และได้รับหลักประกันเสรีภาพ” เพื่อร่วมกันผลักดันการปฏิรูปประเทศไทยไปในทิศทางที่ถูกต้อง

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
3 พฤษภาคม 2559
www.tja.or.th

3 สาวผู้ต้องหาคดีการเมือง เปิด 3 เรื่องเล่าละเมิดสิทธิฯ ระหว่างรอประกันในเรือนจำ

'นศ.สาวธรรมศาสตร์-ผู้ต้องหามีขันแดง-จิตรา' เล่าประสบการณ์ถูกละเมิดระหว่างรอประกันตัวในเรือนจำ ศูนย์ทนายสิทธิฯ ชี้ศาลพลเรือนไม่ต้องนำตัวไปปล่อยที่เรือนจำ กระบวนการศาลทหารละเมิดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และข้อกำหนดแมนเดลา อดีต รมช.แรงงาน จี้ประยุทธ์สั่งเลิกตรวจภายในผู้ต้องโทษหญิง
3 พ.ค.2559 มติชนออนไลน์และเดลินิวส์ รายงานว่า ลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขอเรียกร้องไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ให้สั่งยกเลิกการตรวจภายในผู้ต้องโทษหญิงที่ไม่ใช่คดียาเสพติดทันที แม้ว่าคดีจะสิ้นสุดแล้วหรือเป็นการฝากขังชั่วคราวก็ตาม เนื่องจากการกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งเลวร้ายมากต่อผู้หญิงทุกคน และทราบมาอีกว่าเคยมีผู้นำแรงงานหญิงคนหนึ่งเคยถูกสั่งให้ถอดเสื้อผ้าแล้วให้คลานไปเข้าห้องน้ำ เป็นการกระทำที่ไร้ซึ่งมนุษยธรรม ทั้งนี้การตรวจภายในคนที่ต้องคดียาเสพติดก็ควรจะเป็นสถานที่มิดชิด ไม่ให้อับอายและคนตรวจต้องเป็นพยาบาลหรือผู้ช่วยพยาบาลของเรือนจำเท่านั้น และควรทำตามอนุสัญญาระหว่างประเทศด้วย
“รู้สึกเป็นห่วง 8 ผู้ถูกจับกุม และมีผู้หญิง 1 ใน 8 ที่ถูกจับและถูกกล่าวหาเรื่องการเมืองล่าสุดที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวจะถูกล่วงละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ พล.อ.ประยุทธ์ควรสั่งการให้กรมราชทัณฑ์ระงับการกระทำใดๆ และแก้ไขระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 4 ที่บัญญัติว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต้องได้รับการคุ้มครอง เพื่อไม่ให้สังคมโลกตราหน้าว่าประเทศไทยเหยียบย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ละเมิดสิทธิมนุษยชน” ลดาวัลลิ์ กล่าว

นศ.ธรรมศาสตร์เล่าการตรวจช่องคลอดในเรือนจำ

กรกนก คำตา หรือ ปั๊ป 
กรณีดังกล่าวถึงพูดถึงในสังคมเนื่องจาก กรกนก คำตา หรือ ปั๊ป นักศึกษารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำเลยคดีนั่งรถไฟจะไปตรวจสอบอุทยานราชภักดิ์ 7 ธ.ค.58 ซึ่งเมื่อวันที่ 25 เม.ย.59 กรกนกขึ้นศาลทหารและถูกนำตัวไปเรือนจำก่อนได้รับการประกันตัวพร้อมผู้ต้องหาชายอีก 5 คน เวลา 20.20 น. วันเดียวกัน โพสต์เล่าการปฏิบัติของเรือนจำในระหว่างที่เธอรอประกันตัวผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว และต่อมาเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Fahroong Srikhao ฟ้ารุ่ง ศรีขาว' ได้สัมภาษณ์ พร้อมรายงานว่า ในระหว่างอยู่ในเรือนจำ 14.00 น. – 20.00 น. เธอได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับนักโทษหญิงในเรือนจำ ถูกบอกให้ถอดเสื้อผ้าและใส่ผ้าถุงผืนเดียวเพื่อเปลี่ยนเป็นชุดนักโทษ แต่ทุกครั้งที่ต้องรายงานตัวต่อหน้าผู้คุมแต่ละแดน เธอจะถูกสั่งให้ลุกนั่งเพื่อตรวจสอบว่าซ่อนยาเสพติดหรือไม่ โดยมีผู้คุมยืนจับผืนผ้าถุงที่เธอสวมใส่ ขณะที่ผ้าถุงซึ่งล้อมตัวเธออย่างหลวมๆ นี้ ก็ไม่ได้มิดชิดพอจะบังสายตาคนนับร้อยในเรือนจำ
นอกจากนั้นยัง ถูกตรวจช่องคลอดเพื่อดูว่ามีการซุกซ่อนยาเสพติดหรือสิ่งใดหรือไม่ ทั้งที่เป็นผู้ต้องหาคดีการเมือง แต่เธอมองว่ามันไม่ควรเกิดขึ้นกับใครไม่ว่าถูกดำเนินคดีอะไร เธอเตรียมร้องเรียนต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้น

ผู้ต้องหามีขันแดงก็โดนด้วย

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานด้วยว่า ธีรวรรณ เจริญสุข ผู้ต้องหาในคดีขันแดง ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ได้เปิดเผยกับศูนย์ทนายฯ ว่าเธอก็ได้รับการปฏิบัติในลักษณะเดียวกันกับกรณีของนักศึกษารายดังกล่าวเช่นกัน โดยเธอระบุว่าเมื่อวันที่ 29 มี.ค.59 ซึ่งพนักงานสอบสวนได้นัดหมายเธอมาที่ศาลทหาร เพื่อมาขออำนาจศาลฝากขัง และศาลทหารได้อนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาได้ จากนั้นเพื่อนของ ธีรวรรณจึงได้ยื่นหลักทรัพย์ขอปล่อยตัวชั่วคราว และศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวแล้ว แต่ขณะกำลังรอเจ้าหน้าที่ศาลทำหมายปล่อยตัวอยู่นั้น ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจกลับจะพาตัวเธอไปยังเรือนจำ โดยระบุว่าต้องไปปล่อยตัวจากเรือนจำ แล้วเจ้าหน้าที่ศาลจะนำหมายปล่อยไปที่เรือนจำอีกที แม้เธอจะพยายามคัดค้าน แต่ก็ไม่เป็นผล
ธีรวรรณระบุว่าเธอถูกพาตัวไปยังทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ แม้จะพยายามแจ้งเจ้าหน้าที่เรือนจำแล้วว่าศาลมีคำสั่งให้ประกันตัวแล้ว และกำลังรอหมายปล่อยตัวจากศาล แต่เธอกลับยังถูกนำตัวไปตรวจร่างกายเพื่อเข้าเรือนจำ โดยมีการใช้ห้องเล็กๆ ห้องหนึ่ง ที่มีผู้คุมอยู่ด้วยสองคน ให้เธอถอดเสื้อผ้าทุกชิ้นออกทั้งหมด และยังให้ทำกิริยานั่งแล้วลุก-นั่งแล้วลุกหลายต่อหลายครั้ง เพื่อตรวจดูว่ามีการซุกซ่อนสิ่งใดไว้ในช่องคลอดหรือไม่ แต่กรณีของเธอ เจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการล้วงเข้าไปในช่องคลอด เนื่องจากเห็นว่ามีอายุมากแล้ว
เมื่อตรวจร่างกายเสร็จ ก็มีการให้เธอใส่ชุดผู้ต้องขัง และนำตัวเข้าไปส่วนทะเบียน เพื่อจัดทำประวัติ ปั๊มลายมือ ถ่ายรูป และแจกอุปกรณ์พื้นฐานที่จำเป็นบางส่วนสำหรับนักโทษ พร้อมกับให้แขวนป้ายสีเหลืองที่แสดงถึงความเป็นนักโทษใหม่ ก่อนจะนำตัวเข้าไปภายในแดน 1 ซึ่งเป็น “แดนแรกรับ” อันเป็นแดนที่ผู้ต้องขังใหม่จะเข้ามาก่อนเป็นแห่งแรก ธีรวรรณระบุว่าเธอถูกนำตัวเข้าไปในเรือนจำราวชั่วโมงเศษ ทางเรือนจำก็มีการประกาศชื่อเธอว่ามีหมายปล่อยตัวมาแล้ว จึงได้มีการคืนเสื้อผ้าชุดเดิม และให้เปลี่ยนจากชุดนักโทษได้
ธีรวรรณยังระบุว่าสภาพในเรือนจำมีการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในลักษณะเหมือนนายกับบ่าว โดยนักโทษจะต้องคลานเข่าเข้าไปหาผู้คุมในเรือนจำ และต้องยกมือไหว้ขณะพูดคุยด้วย
เธอระบุความรู้สึกหลังจากถูกปฏิบัติในลักษณะดังกล่าวว่า “ทำให้เราสติแตก รู้สึกเหมือนกับเข้าไปในนรก เหมือนกับเป็นนักโทษไปแล้ว ไม่เคยคิดเลยว่าจะโดนแบบนี้ ทั้งที่เราก็ได้ประกันตัวอยู่แล้ว” โดยขณะปล่อยตัวออกมาจากเรือนจำ เธอมีอาการร้องไห้เสียใจ และเพื่อนๆ ต้องพากันไปทำบุญรดน้ำมนต์และสะเดาะเคราะห์ที่วัดในตัวเมืองเชียงใหม่อีกด้วย
สำหรับ ธีรวรรณ อายุ 54 ปี ก่อนหน้านี้เคยเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับคนเสื้อแดงในเชียงใหม่ เธอถูกทหารกล่าวหาตามมาตรา 116 จากกรณีการถ่ายภาพคู่กับขันน้ำสีแดง และภาพโปสเตอร์ซึ่งมีรูปภาพของ ทักษิณ และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (ดูรายละเอียดเพิ่มเติม) คดีนี้ยังอยู่ในชั้นสอบสวน โดยพนักงานสอบสวนเพิ่งขออำนาจศาลทหารฝากขังเป็นผัดที่ 4

จิตรา เล่าประสบการณ์ในทัณฑสถานหญิงฯ ระหว่างรอประกัน

การปฏิบัติของเรือนจำในลักษณะดักล่าวนอกจาก 2 รายข้างต้นยังมี กรณี จิตรา คชเดช นักกิจกรรมทางการเมืองและสังคม เจ้าหน้าที่และที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพฯ และผู้ประสานงานกลุ่มสหกรณ์คนงาน TRY ARM ที่ถึงดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. หลังจากเธอไม่สามารถกลับมารายงานตัวตามคำสั่งได้ทัน เนื่องจากติดภาระกิจอยู่ที่ประเทศสวีเดน แม้จะรายงานตัวกับสถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงสต๊อคโฮล์มแล้ว ก็ไม่เป็นผล โดยเมื่อเธอเดินทางกลับมาจึงถูกดำเนินคดี กักตัวที่ห้องขังกองปราบ 1 วัน แลัถูกส่งตัวไปที่ทัณฑสถานหญิงฯ เพื่อรอการประกันตัว ซึ่งเธอเคยเปิดเผยประสบการณ์ดังกล่าวกับประชาไทด้วย ว่า วันที่ส่งศาลทหาร หลังจากนั้นเวลา 16.00 น. เจ้าหน้าที่นำตัวตนไปที่ทัณฑสถานหญิงกลาง คลองเปรม เพื่อฝากขัง และรอคำสั่งศาลทหารว่าจะให้ประกันตัวหรือไม่ ก่อนหน้านี้เคยถูกฝากขังในศาลปกติของพลเรือนที่จะนำตัวไปไว้ห้องขังใต้ถุนศาลเพื่อรอคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราว รวมทั้งในกระบวนการปกติหากเป็นชั้นตำรวจหรือพนักงานสอบสวนนั้นหากให้ประกันตัวก็ปล่อยตัวได้ โดยไม่ต้องขังก่อน ซึ่งต่างจากกรณีนี้ที่นำตัวเข้าทัณฑสถานหญิงฯ ก่อน
ภาพจิตรา หลังถูกปล่อยตัวจากเรือนจำ
“กลไกที่เข้าเรือนจำหรือทัณฑสถานหญิงฯ นั้น กระทำกับเราเหมือนนักโทษ เรียกได้ว่ามีกระบวนการทำให้กลายเป็นนักโทษ โดยปฏิบัติกับเราเท่ากับนักโทษที่ถูกศาลสั่งจำคุกในคดีอาญาทั่วไปแล้ว” จิตรา กล่าว
พร้อมเล่าต่อว่า กระบวนการเหล่านั้นเริ่มจากการตรวจร่างกาย ให้ถอดเสื้อผ้าหมดรวมทั้งชุดชั้นในกลางวงผู้คุม เมื่ออยู่ในสภาพเปลือยก็ต้องหมุนตัวให้ผู้คุมดู ตรวจนิ้วมือนิ้วเท้า ตรวจผม โดยผู้คุมจะยืนดูและมีนักโทษในเรือนจำที่เป็นผู้ช่วยผู้คุมคอยจัดการให้
หลังจากนั้นก็นุ่งผ้าถุง 1 ตัวที่เขาจัดให้ไปตรวจภายใน ตรวจช่องคลอด และต่อด้วยการทำประวัติสุขภาพ โดยจะเขียนน้ำหนักส่วนสูงที่ฝ่ามือ หลังจากนั้นผู้คุมได้ให้คนนำเสื้อมาให้ 1 ตัว และต่อด้วยการทำประวัตินักโทษ ในระหว่างนี้ตนได้ขอผู้คุมสวมเสื้อชั้นในและกางเกงใน แต่กลับถูกปฏิเสธ โดยผู้คุมชี้แจงว่าเสื้อผ้าและสิ่งของที่เอาเข้าไปนั้นไม่สามารถใช้ได้เลย ต้องให้ญาติซื้อมาให้ภายหลัง ของที่ติดตัวมาทุกอยู่จะถูกเก็บและทำบัญชีไว้ตั้งแต่แรก โดยมีเพียงใบรายการของติดตัวมาเท่านั้น
หลังจากทำประวัตินักโทษเสร็จ มีคนรับตัวให้ไปที่แดนแรกรับ เมื่อถึงแดนแรกรับก็ต้องถอดเสื้อผ้าทั้งหมดเพื่อให้ผู้คุมที่นั่นดู หลังจากนั้นเขาให้ผ้าถุงเรา 1 ผืน เพื่อไปอาบน้ำโดยมีนักโทษคนหนึ่งเฝ้า หลังจากอาบน้ำเสร็จให้เสื้อผ้า 1 ชุด โดยเขียนว่าแดนแรกรับ จากนั้นก็ทำประวัติที่แดนแรกรับอีกครั้ง
ระหว่างการทำประวัติที่แดนแรกรับนั้น เวลาเดินทำประวัติถูกห้ามไม่ให้ยืน จึงต้องนั่งยองหรือถัดก้นไปตามกระบวนการและต่อแถวนักโทษคนอื่นๆประมาณ 10 กว่าคนที่ต้องทำประวัติขณะนั้น สิ่งที่ซักถาม เช่น มาจากศาลไหน คดีอะไร เพราะต้องแยกคดีของนักโทษ โดยตนอยู่ในกลุ่มนักโทษทั่วไป จากนั้นเขียนเลขที่หลังมือซึ่งเป็นเบอร์ล็อคเกอร์ของตนด้วย
จากนั้นผู้ช่วยผู้คุมจึงพาเข้าเรือนนอนในห้องคดีทั่วไป ซึ่งมีคนอยู่ 69 คน มีหัวหน้าห้องที่เป็นนักโทษ เรียกตนไปสอบประวัติอีกครั้งในห้อง คดีในนั้นส่วนมากเป็นคดีต่างด้าว แรงงานข้ามชาติ คดีฉ่อโกง โดยเฉพาะคดีต่างด้าวที่พูดไทยไม่ได้ก็มักถูกหัวหน้าห้องหงุดหงิดใส่และถูกด่าทอ
มีกิจกรรมให้ผู้ที่อยู่ในห้องทั้งหมดสวดมนต์ประมาณ 2 ชั่วโมง และเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีเสร็จให้ทุกคนผ่อนคลาย มีการเปิดทีวีละครและมิวสิควีดีโอเก่าๆให้ดู เริ่มแจกที่นอนซึ่งมีเพียงผ้าห่มคนละ 1 ผืน โดยจะนำมาห่มหรือปูนอนหรือพับเป็นหมอนก็ได้  ซึ่งคนที่อยู่มาก่อนหน้าแนะนำให้พับหนุนหัวเพราะกลางคืนอากาศจะร้อน นอนกับพื้นที่ปูกระเบื้องธรรมดา และจัดระเบียบการนอนโดยแบ่งเป็น 3 แถว โดยด้านหนึ่งให้เอาหัวชนกัน อีกด้านเอาเท้าชนกัน ตอนนั้นเวลาประมาณ 21.00 น. และสักพักผู้คุมก็มาเรียกชื่อตนเพื่อปล่อยตัว
หลังจากถูกเรียกปล่อยตัว ก็ต้องถอดเสื้อผ้าให้ผู้คุมดูอีก 1 รอบ แล้วหลังจากนั้นได้รับผ้าถุง 1 ผืน เพื่อใส่และเดินถือใบเอกสารออกไปที่ห้องปล่อยตัว โดยนั่งที่ห้องนั้นนานมาก จนกระทั่งมีคนเอาเสื้อผ้าและของต่างๆที่ติดตัวมาแต่ต้นมาให้ จึงได้ใส่เสื้อผ้าตรงนั้นท่ามกลางผู้คุม ทรัพย์สินที่ถูกคืนมานั้นมาตรวจภายหลัพบว่าจี้ของตนนั้นหายไป
ขั้นตอนการผ่านด่านแต่ละครั้งในการปล่อยตัวจะต้องมีรหัสปลดล็อค เช่น การถามชื่อ-นามสกุล ชื้อเพื่อนสนิท หมายเลขโทรศัพท์เพื่อสนิท ชื่อพ่อแม่ เป็นต้น ตามประวัติที่กรอกในรอบแรก เท่ากับว่าหากตอบผิดก็อาจจะไม่ได้ออก เพราะเขาต้องการเช็คว่าเป็นตัวจริงหรือไม่
ก่อนปล่อยตัวผู้คุมมาขอถ่ายเอกสารและบอกด้วยว่าพึ่งเป็นกรณีแรกที่มาจากศาลทหาร จึงเก็บข้อมูลไว้เป็นกรณีศึกษา

ศูนย์ทนายสิทธิฯ ชี้ขอประกันศาลพลเรือนไม่ต้องนำตัวไปปล่อยที่เรือนจำ

ทั้งนี้ ศูนย์ทนายสิทธิฯ พบว่าแม้ระเบียบปฏิบัติของเรือนจำหญิงทั่วประเทศ จะให้มีการตรวจค้นร่างกายของผู้ต้องขังที่ถูกนำตัวมาจากศาลทุกคน แต่โดยปกติในศาลพลเรือน กรณีผู้ต้องหาถูกฝากขังหรือถูกสั่งฟ้องคดีต่อศาล และอยู่ในระหว่างการทำเรื่องขอประกันตัว จะมีการควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ที่ห้องขังใต้ถุนศาล โดยไม่ได้มีกระบวนการตรวจร่างกาย และหากได้รับการประกันตัว ก็จะมีการปล่อยตัวจากที่ศาล ไม่จำเป็นต้องนำตัวไปปล่อยที่เรือนจำแต่อย่างใด
แต่ในกรณีของการพิจารณาในศาลทหาร กลับมีการอ้างระเบียบว่าจำเป็นต้องนำตัวผู้ต้องหาไปปล่อยตัวที่เรือนจำ แม้ผู้ต้องหารายนั้น ศาลจะอนุญาตให้ประกันตัวแล้วก็ตาม ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากกระบวนการตรวจค้นร่างกายก่อนเข้าเรือนจำในกรณีของผู้ต้องหาหญิงหลายราย

ละเมิดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ข้อกำหนดแมนเดลา

นอกจากนี้ ศูนย์ทนายสิทธิฯ เห็นว่าการค้นตัวผู้ต้องขังในลักษณะดังกล่าวนั้น ละเมิดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และขัดต่อข้อกำหนดขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ถูกคุมขัง [United Nations Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoners (the Mandela Rules)] หรือ ‘ข้อกำหนดแมนเดลา’ ซึ่งได้รับการรับรองเป็นมาตรฐานสากลใหม่ในการคุ้มครองสิทธิผู้ถูกคุมขังทั่วโลกเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่สนับสนุนข้อกำหนดดังกล่าว ข้อกำหนดดังกล่าวได้กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการค้นตัวผู้ต้องขังว่า “จะต้องไม่ใช้การค้นเพื่อการคุกคาม ข่มขู่ หรือเป็นการล่วงล้ำโดยไม่จำเป็นต่อความเป็นส่วนตัวของผู้ต้องขัง” และ “การค้นตัวที่ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัว รวมทั้งการค้นแบบถอดเสื้อผ้าและการค้นตามซอกหลืบต่างๆ ของร่างกาย ให้กระทำได้เฉพาะกรณีที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดเท่านั้น…ซึ่งหากจำเป็นก็ต้องกระทำในที่ลับ” ซึ่งศูนย์ทนายสิทธิฯ เห็นว่าเราสามารถใช้วิธีการอื่นในการตรวจสอบผู้ต้องขังโดยไม่ละเมิดต่อความเป็นส่วนตัวของผู้ต้องขังได้
ข้อกำหนดขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ถูกคุมขัง ระบุว่า
“ข้อกำหนด 51  จะต้องไม่ใช้การค้นเพื่อการคุกคาม ข่มขู่ หรือเป็นการล่วงล้ำโดยไม่จำเป็นต่อความเป็นส่วนตัวของผู้ต้องขัง เพื่อให้สอดคล้องกับหลักความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้ผู้บริหารเรือนจำจะต้องเก็บรักษาบันทึกการค้นตัวอย่างถูกต้องเหมาะสม โดยเฉพาะกรณีที่เป็นการค้นแบบถอดเสื้อผ้าและการค้นตามซอกหลืบต่าง ๆ ของร่างกาย และการค้นในห้องขัง รวมทั้งเหตุผลของการค้น ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ทำการค้นและผลของการค้นตัว”
“ข้อกำหนด 52
  1. การค้นตัวที่ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัว รวมทั้งการค้นแบบถอดเสื้อผ้าและการค้นตามซอกหลืบต่าง ๆ ของร่างกาย ให้กระทำได้เฉพาะกรณีที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดเท่านั้น ผู้บริหารเรือนจำควรได้รับการสนับสนุนให้มีการคิดค้นและการใช้วิธีการที่เป็นทางเลือกอื่นอันเหมาะสมกว่าแทนที่จะใช้การค้นตัวที่ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวของผู้ต้องขัง ซึ่งหากจำเป็นก็ต้องกระทำในที่ลับ และให้ผู้ค้นเป็นเจ้าหน้าที่ ซึ่งผ่านการอบรมและมีเพศเดียวกับผู้ต้องขังนั้น
  2. การค้นตามซอกหลืบต่างๆ ของร่างกายให้กระทำได้เฉพาะโดยบุคคลากรทางการแพทย์มีคุณสมบัติเหมาะสมเท่านั้น ไม่ใช่ผู้ที่รับผิดชอบการพยาบาลเบื้องต้น หรือโดยอย่างน้อยต้องเป็นเจ้าหน้าที่ซึ่งผ่านการอบรมอย่างเหมาะสมจากเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ให้เข้าใจถึงมาตรฐานด้านอนามัย สุขภาพ และความปลอดภัย”

ศาลทหารไม่ให้ประกัน 8 ผู้ต้องหาแอดมินเพจล้อประยุทธ์ ทนายจ่อยื่นอีก 10 พ.ค.นี้

ภาพ ตำรวจนำผู้ต้องหาทั้ง 8 รายแถลงข่าวเมื่อวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา

3 พ.ค. 2559 ความคืบหน้าคดีแอดมินเฟซบุ๊กแฟนเพจล้อเลียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมีผู้ต้องหา 8 รายซึ่งถูกออกหมายจับข้อหากระทำความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และกฎหมายอาญา มาตรา 116 และถูกคุมขังที่เรือนจำและทัณฑสถานนั้น
วันนี้ บีบีซีไทย รายงานว่าหลัง อานนท์ นำภา ทนายความของผู้ต้องหา ยื่นประกันตัวผู้ต้องหาทั้งหมด แล้วนั้น ล่าสุด อานนท์ เปิดเผยว่า ศาลทหารไม่อนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่าในข้อเท็จจริงพฤติการณ์ยังไม่เปลี่ยน แต่ อานนท์ ระบุว่า จะยื่นขอประกันตัวใหม่อีกครั้งในวันที่ 10 พ.ค. ที่จะถึงนี้
 
ทั้งนี้ โดยผู้ต้องหาใช้หลักทรัพย์รายละ 150,000 บาท ในการยื่นประกันตัว พร้อมทั้งชี้แจงว่าผู้ต้องหาไม่ได้มีพฤติการณ์จะหลบหนี รวมถึงไม่มีพฤติการณ์ที่จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานเพราะหลักฐานทั้งหมดอยู่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว
 
สำหรับผู้ต้องหาทั้ง 8 ถูกกล่าวหาว่าร่วมกันเป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊ก "เรารัก พล.อ.ประยุทธ์” ประกอบด้วย หฤษฏ์ มหาทน ณัฎฐิกา วรธันยวิชญ์ นพเก้า คงสุวรรณ วรวิทย์ ศักดิ์สมุทรนันท์ โยธิน มั่งคั่งสง่า ธนวรรธน์ บูรณศิริ ศุภชัย สายบุตร และกัณสิทธิ์ ตั้งบุญธินา ซึ่งศาลทหารไม่พิจารณาให้ประกันตัวในการยื่นขอครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยศาลพิเคราะห์ว่า พฤติการณ์ของจำเลยเป็นเรื่องร้ายแรง ประกอบกับ พนักงานสอบสวนได้ยื่นคัดค้านการประกันตัว จึงยังไม่มีเหตุผลสมควรให้ปล่อยชั่วคราว