วันศุกร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2556

จำคุก 'เจ๋ง ดอกจิก' 3 ปี คดี 112 ลดโทษเหลือ 2 ปี ไม่รอลงอาญา แต่ได้ประกัน


จำคุก 'เจ๋ง ดอกจิก' 3 ปี คดี 112 ลดโทษเหลือ 2 ปี ไม่รอลงอาญา แต่ได้ประกัน

ศาลสั่งจำคุก 'เจ๋ง ดอกจิก' 3 ปี คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ศาลให้ประกันด้วยเงิน 5 แสนบาท 
วันนี้ (17 ม.ค. 56) เวลา 9.40 น. ห้อง 804 ศาลอาญา รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.2740/2553  ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ฟ้อง นายยศวริศ  ชูกล่อม หรือ เจ๋ง ดอกจิก  ที่ปรึกษา รมช.กระทรวงพาณิชย์ และแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการขึ้นเวทีปราศรัยบนเวที นปช. เชิงสะพานมัฆวาน เมื่อวันที่ 29 มี.ค.53 ต่อหน้าประชาชนที่เข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก และยังมีการถ่ายทอดสดผ่านทางสถานีโทรทัศน์
โดยจำเลยให้การในชั้นศาลว่า จำเลยเพียงต้องการปราศรัยเพื่อให้รัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภา และโจมตี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เพื่อให้ลาออกจากตำแหน่งองคมนตรีเท่านั้น เนื่องจากตนเองเชื่อว่า พล.อ.เปรม เป็นผู้ให้ความช่วยเหลืออภิสิทธิ์จัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร และการกล่าวถึง "อำมาตย์" มีเป้าหมายเพียงการล้อเลียน พล.อ.เปรม เท่านั้น และกล่าวต่อไปว่าตนเองเป็นผู้ที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ ไม่เคยคิดอาฆาตมาดร้ายแต่อย่างใด นอกจากนี้ตนเองยังเป็นกรรมการอยู่ในมูลนิธิ 5 ธันวา และยังทำงานการกุศลเพื่อเฉลิมพระเกียรติของพระเจ้าอยู่หัวมาอย่างยาวนาน
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่จะพิจารณาว่าคำพูดดังกล่าวหมายถึงใครนั้นจำเป็นต้องพิจารณาจากท่าทางประกอบด้วย แม้จำเลยจะบอกว่า ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นใคร แต่การที่จำเลยแสดงท่าทางด้วยการเอามือปิดปากตนเองนั้น เป็นการสื่อให้เห็นว่าเป็นบุคคลที่สูงส่งยิ่ง เพราะแม้จำเลยจะกล่าวปราศรัยโจมตีอภิสิทธิ์ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ไม่มีการแสดงท่าทางดังกล่าว
นอกจากนี้ พล.อ.เปรม ยังเป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้าอยู่หัว ไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจของนิติบัญญัติ บริหาร หรือตุลาการแต่อย่างใด คำพูดที่ว่ามีอะไรอยู่เบื้องหลังเปรมนั้นจึงไม่อาจมองได้ว่าหมายถึงบุคคลอื่นได้ การที่จำเลยแสดงท่าทางไม่กล้าพูดนั้น ไม่สามารถมองเป็นบุคคลอื่นใดได้ นอกจากพระเจ้าอยู่หัว เป็นการแสดงให้เห็นว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงไม่ประสงค์ให้อภิสิทธิ์ยุบสภา ซึ่งทำให้พระเจ้าอยู่หัวทรงเสื่อมเสีย คำอ้างของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักพอให้รับฟัง อีกทั้งในการปราศรัยดังกล่าวไม่มีการปราศรัยเรื่องเพศ หรือเรื่องส่วนตัวของ พล.อ.เปรม แต่อย่างใด
ศาลจึงพิพากษาในลงโทษจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง โดยลงโทษจำคุก 3 ปี แต่เนื่องจากคำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี มีเหตุให้บรรเทาโทษ 1 ใน 3 คงเหลือโทษจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา
หลังจากศาลอ่านคำพิพากษาทนายความจำเลย ธำรงค์ หลักแดง ได้เตรียมยื่นหลักทรัพย์ โดยเป็นหลักทรัพย์เดิมที่ใช้ประกันตัวเป็นเงินสดจำนวน 500,000 บาท และใช้ตำแหน่ง รมช.พาณิชย์ ของ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ในการยื่นขอการประกันตัว
ต่อมาเวลาประมาณ 14.00 น. ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าคดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นจำเลยได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมาแล้วโดยไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนี ศาลจึงมีคำสั่งให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยระหว่างอุทธรณ์โดยตีราคาประกัน 500,000 บาท

แอมเนสตี้ฯ ไทยชวนเขียนจดหมายถึงรัฐบาล ขอให้ปล่อยตัว "สมยศ พฤกษาเกษมสุข"

แอมเนสตี้ฯ ไทยชวนเขียนจดหมายถึงรัฐบาลขอให้ปล่อยตัว "สมยศ พฤกษาเกษมสุข"
          แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดกิจกรรมเขียนจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี-รมว.ยุติธรรม และ กสม. เรียกร้องปล่อยตัวและยกเลิกข้อกล่าวหาต่อ "สมยศ พฤกษาเกษมสุข" ชี้เป็นนักโทษทางความคิด และไม่ควรมีรัฐไหนมากล่าวหาว่าการกระทำของสมยศเป็นความผิด
         ตามที่เมื่อวันที่ 11 ม.ค. ที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ส่งข้อความถึงสมาชิกทั่วโลกแสดงความกังวลว่า นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการนิตยสารชาวไทยอาจถูกตัดสินลงโทษอย่างไม่เป็นธรรม โดยคดีของเขาจะมีการพิพากษาในวันที่ 23 ม.ค.นี้
        ทั้งนี้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ถือว่านายสมยศเป็นนักโทษทางความคิด (prisoner of conscience) ที่ถูกควบคุมตัวเพราะการใช้เสรีภาพในการแสดงออกโดยสงบ
        โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ขอความร่วมมือจากสมาชิกให้ร่วมกันส่งจดหมายร้องเรียนถึงรัฐบาลไทยผ่านทาง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และสำเนาถึงนายประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รวมถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยมีข้อเรียกร้องได้แก่ หนึ่ง ยกเลิกข้อกล่าวหาต่อนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และให้มีการปล่อยตัวโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข สอง จัดให้มีการเยียวยาชดเชยนายสมยศจากการถูกจองจำเป็นเวลาหลายเดือน และให้แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้สอดคล้องกับพันธกรณีของไทยที่มีต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และให้พักการใช้กฎหมายมาตรานี้จนกว่าจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมในลักษณะดังกล่าว
        ล่าสุดเมื่อวานนี้ (18 ม.ค.) ที่สำนักงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้จัดกิจกรรม "เขียนจดหมาย ลงลายเซ็นเพื่อปฏิบัติการด่วน: บรรณาธิการไทยเสี่ยงจะถูกตัดสินลงโทษอย่างไม่เป็นธรรม" โดยเป็นการเขียนจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอให้ปล่อยตัวนายสมยศดังกล่าว
        โดย น.ส.สุธารี วรรณสิริ ผู้ประสานงานฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่าในรอบประมาณ 2-3 ปีที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ติดตามสถานการณ์เรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทย และพบว่ามีการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในลักษณะที่เป็นการใช้ทางการเมือง และใช้เพื่อลิดรอนสิทธิเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน โดยในกรณีของนายสมยศ เรายืนยันว่า เราพิจารณาว่าเขาเป็นนักโทษทางความคิด ซึ่งหมายถึงบุคคลที่ถูกคุมขัง ถูกจำกัดเสรีภาพทางร่างกาย เพราะการแสดงความเห็น หรือเพราะความเชื่อทางการเมือง ศาสนาของตน หรือเพราะมีชาติพันธุ์ เพศ หรือผิวต่างจากคนอื่นๆ ในสังคม
       ส่วนข้อเรียกร้องหนึ่งที่ให้ยกเลิกข้อกล่าวหาต่อนายสมยศนั้น ถือว่าไม่ได้มีเจตนาแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม หรือการทำงานของศาลใดๆ ทั้งสิ้น แต่การเรียกร้องให้ยกเลิกข้อกล่าวหาเนื่องจากเป็นการแสดงจุดยืนต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นกับนายสมยศ ทั้งนี้นายสมยศ ไม่ได้ทำอะไรที่ถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย
      "สิ่งที่ทำคือการใช้เสรีภาพในการแสดงออกโดยสงบ ในการที่จะสื่อสารความคิดและความเชื่อของเขาเท่านั้น ดังนั้น จึงไม่มีรัฐบาลไหน หรือควรไม่มีรัฐใดๆ ที่จะมากล่าวได้ว่าการกระทำในลักษณะนี้ของคุณสมยศเป็นการกระทำผิด"
       ผู้ประสานงานฝ่ายรณรงค์ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวด้วยว่าทั้งนี้ กรณีของ นายสมยศคือการทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการ ซึ่งเป็นการใช้เสรีภาพแสดงออกตามที่ระบุไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งประเทศไทยให้สัตยาบรรณ เป็นภาคีสมาชิกซึ่งมีพันธะกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม
       นอกจากนี้สิ่งที่ยังเป็นห่วงก็คือทางการไทยปฏิเสธคำขอประกันตัวของคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข ทั้งหมดจนถึงตอนนี้ 12 ครั้งด้วยกัน โดยไม่ได้ให้เหตุผลอย่างเพียงพอ ทั้งที่มีข้อกำหนดตามมาตรา 40 (7) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 107 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ว่าจะต้องจำกัดการควบคุมตัวระหว่างการรอไต่สวนให้เหลืออยู่ในเฉพาะกรณีที่จำเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่เห็นว่ากรณีนี้มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องออกมาแสดงท่าทีต่อการปกป้องสิทธิของนายสมยศ


ไทย-เทศร่วมลงชื่อจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ ปล่อย ‘สมยศ พฤกษาเกษมสุข’

 18 ม.ค.56 โครงการรณรงค์เพื่อแรงงาน (องค์กรพัฒนาเอกชน) ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วยรายชื่อแนบท้าย 381 รายทั้งชาวไทยและต่างประเทศ  เรียกร้องให้รัฐบาลผลักดันการปล่อยตัวสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักโทษการเมืองคนหนึ่ง ซึ่งกำลังจะถูกพิพากษาในวันที่ 23 ม.ค. 56
ทั้งนี้ รายชื่อดังกล่าวประกอบด้วย รายชื่อองค์กร 110 แห่ง รายชื่อบุคคล 271 คน ซึ่งมีผู้ประสงค์ไม่ออกสื่อ 262 คน และส่วนที่เปิดเผยอีก 119 คน
โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานระบุวัตถุประสงค์ของการล่ารายชื่อในจดหมายเปิดผนึกครั้งนี้ว่าต้องการกระตุ้นให้รัฐบาลและศาลเร่งแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิพลเมืองของกระบวนการยุติธรรมไทย  และเพื่อให้ประชาชนทั่วไปรวมถึงองค์กรสหภาพแรงงานมีส่วนร่วมในการรณรงค์ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทย โดยตระหนักถึงปัญหาความไม่ยุติธรรมที่กระทำกับประชาชนที่คัดค้านการทำรัฐประหารและเรียกร้องยุบสภาเมื่อปี 2553  ซึ่งเป็นช่วงของความขัดแย้งทางการเมือง  ทั้งนี้เพื่อหาแนวทางสร้างประชาธิปไตยในสังคมมากขึ้น
การพิพากษาคดีสมยศจะมีขึ้นในวันที่ 23 มกราคม 2556 ณ ศาลอาญา รัชดา กรุงเทพฯ เราขอยืนยันว่าสมยศไม่สมควรถูกจับ  สิทธิในการแสดงออกไม่ว่าเขาจะมีความคิดเห็นทางการเมืองเป็นเช่นไรควรได้รับการปกป้องโดยกฎหมายรัฐธรรมนูญและข้อตกลงสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ผูกมัดประเทศไทย  ไม่ว่าทั้งสองบทความที่เป็นข้อกล่าวหาจับกุมสมยศถูกมองว่าเป็นการทำผิดกฎหมายอาญา แต่ก็เป็นที่น่าสงสัยอย่างมาก สิ่งที่ควรทำมากกว่าการล่าแม่มดกับฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง คือ การประกันให้มีพื้นที่เปิดรับการถกเถียงแลกเปลี่ยนประเด็นการเมืองและประเด็นผลประโยชน์ของประชาชน เพราะจะช่วยลดความตึงเครียดในสังคมและนำไปสู่การหาทางออกให้แก่สังคม” ส่วนหนึ่งของจดหมายเปิดผนึก

เอเอสทีวีผู้จัดการแถลงขอบคุณที่ ผบ.ทบ.ขอโทษ หลังใช้คำพูดรุนแรง


เอเอสทีวีผู้จัดการแถลงขอบคุณที่ ผบ.ทบ.ขอโทษ หลังใช้คำพูดรุนแรง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (ที่มา: วิกิพีเดีย/แฟ้มภาพ)
        ตามที่เมื่อวันที่ 10 ม.ค. ที่ผ่านมา เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการกองทัพบก แสดงความไม่เห็นด้วยกับการนำเสนอข่าวของ นสพ.เอเอสทีวีผู้จัดการ หลังจากถูกผู้สื่อข่าวสอบถามเกี่ยวกับการชุมนุมเพื่อทวงคืนปราสาทพระวิหาร และ พล.อ.ประยุทธ์ได้กล่าวว่า "ไอ้หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ผมบอกได้เลยว่า มันเขียนห่วย ด่าผมอย่างโน้นอย่างนี้ เอาอะไรมาด่าผม เอาศักดิ์ศรีอะไรมาด่าผม ทำไมรักประเทศชาติอยู่คนเดียวหรืออย่างไร ไปดูพฤติกรรมตัวเองเป็นอย่างไรกันบ้าง ผมทนมานานพอสมควรแล้ว" และต่อมาเอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ได้เขียนแถลงการณ์ "ไอ้ผู้จัดการห่วย หรือ ไอ้ ผบ.ทบ.ชื่อประยุทธ์ จันทร์โอชา ห่วยกันแน่" ตอบโต้ จนนำมาสู่การที่ทหารสังกัดกองทัพบกออกมาชุมนุมหน้าสำนักงานเอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ ถ.พระอาทิตย์ ในวันที่ 11 และ 12 ม.ค.  เพื่อเรียกร้องให้สื่อในเครือเอเอสทีวีผู้จัดการขอโทษ พล.อ.ประยุทธ์ นั้น
          ล่าสุดวันนี้ (14 ม.ค.) มติชนออนไลน์ รายงานว่า ในระหว่างวันสถาปนากองทัพภาคที่ 1 ครบรอบ 103 ปี ที่กองทัพภาคที่ 1 ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์เดินทางไปเป็นประธาน ในระหว่างกล่าวให้โอวาทกำลังพล เขายังกล่าวขอโทษสังคมและสื่อมวลชน ที่ได้ใช้คำพูดรุนแรง แสดงกิริยาหงุดหงิด ที่อาจทำให้หลายฝ่ายเสียความรู้สึก และยอมรับว่าตัวเองเป็นทหารก็แบบนี้ มีลักษณะพูดไม่เพราะ ส่วนกรณีที่ทหารไปชุมนุมหน้าสำนักงานเอเอสทีวีผู้จัดการ ยืนยันว่าทหารเหล่านั้นไปกันเอง ไม่มีใครสั่งให้ไป และเป็นการไปนอกเวลา ได้ฟังเหตุผลว่า ไปเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีของกองทัพ และผู้บังคับบัญชา โดยมองว่า ไม่สามารถห้ามจิตใจคนได้ ทั้งนี้ไม่ได้เป็นศัตรูใคร
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยว่าการกระทำดังกล่าวไม่ได้เป็นการคุกคามสื่อ เพราะเป็นเพียงการไปแสดงออกถึงความรู้สึกต่อการเสนอข่าวที่ไม่ถูกต้อง ทำให้จนทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ เสียกำลังใจเพียงเท่านั้น แต่ก็ต้องขอโทษแทนนายทหารในฐานะลูกน้อง ซึ่งได้กำชับไปแล้วว่าไม่ให้ไปเคลื่อนไหวเช่นนี้อีก
ทั้งนี้ ผบ.ทบ. ปฏิเสธไม่ขอกล่าวถึง การออกมาตอบโต้ของ นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยบอกว่า ตนไม่มีการทะเลาะกับใคร แต่ยอมรับว่า กรณีดังกล่าว ทำให้รู้สึกโกรธและเสียกำลังใจบ้าง แต่ต้องอดทนอดกลั้น และพยาพยามควบคุมอารมณ์ให้มากขึ้น “คนไทยด้วยกันทั้งนั้น ถ้าคิดว่าเหยียดหยามดูถูก ผมก็ขอโทษ” ข่าวในมติชนระบุ
ขณะเดียวกัน ในเวลา 14.35 น. หลังการแถลงของ พล.อ.ประยุทธ์ เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ ได้เผยแพร่“หมายเหตุ ASTVผู้จัดการ” มีเนื้อหาตอบคำแถลงของ พล.อ.ประยุทธ์ดังนี้

หมายเหตุ ASTVผู้จัดการ
“เอเอสทีวีผู้จัดการ” ขอแสดงความขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกที่ออกมาขอโทษต่อสังคม กรณีที่ทหารใต้บังคับบัญชานำกำลังพลมาแสดงพลังและคุกคามการทำงานของเราที่หน้าบ้านพระอาทิตย์ ถึง 2 ครั้ง 2 วัน เพราะการกระทำเช่นนั้นไม่มีประโยชน์อันใด และที่สำคัญ นี่เป็นบทพิสูจน์อันเป็นสัจธรรม ว่า ทางออกของการคลี่คลายปมปัญหานั้นไม่อาจแก้ไขด้วยการสำแดงพลังหรือการใช้กำลัง ทั้งยังไม่สามารถทำให้เราหวาดหวั่นในการทำหน้าที่ต่อการคุกคามนั้นเลย
“เอเอสทีวีผู้จัดการ” เป็นสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงของสังคม บอกเล่าความเป็นไปในสังคม เป็นตะเกียงส่องทางให้สังคมก้าวเดินไปในวิถีทางที่ถูกต้องยามที่สังคมอยู่ในความมืดมน เราผ่านการพิสูจน์ตัวตนด้วยการกระทำทั้งในนามของผู้นำองค์กรและองค์กร ว่า เรามีจุดยืนในการปกป้องชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ อันเป็นที่รักยิ่งของเรา และไม่เคยลังเลที่จะออกมาต่อสู้กับนักการเมืองที่โกงชาติ และเป็นศัตรูของบ้านเมือง
เช่นเดียวกัน เราซาบซึ้งในการทำหน้าที่ของกองทัพในการปกป้องชาติบ้านเมือง ทั้งภัยคุกคามจากลัทธิอุดมการณ์ทางการเมืองและปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพี่น้องประชาชนเมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ และเราตระหนักเสมอมาว่า กองทัพยังเป็นองค์กรหลักในการปกป้องชาติบ้านเมือง
แต่เรายังคงยืนยันว่า เราจะทำหน้าที่ตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของกองทัพ และผู้บังคับบัญชาของกองทัพต่อไปด้วยความตรงไปตรงมา และซื่อตรงต่อวิชาชีพ หากการทำงานของเรา มีความผิดพลาดบกพร่องและไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เราก็พร้อมจะน้อมรับคำชี้แจงจากกองทัพ ทั้งนี้ ต้องอยู่บนพื้นฐานการเคารพในการทำหน้าที่ของกันและกัน และตระหนักว่า ไม่เพียงแต่อาชีพของทหารที่มีศักดิ์ศรีเท่านั้น ความเป็นสื่อมวลชนก็มีศักดิ์ศรีเช่นเดียวกัน หรือถ้าพูดให้ถูกต้อง ก็คือ มนุษย์ทุกคนล้วนแล้วแต่มีศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกัน ไม่ว่าเขาผู้นั้นจะเป็นผู้บัญชาการทหารบก สื่อมวลชน หรือคนที่มีอาชีพต่ำต้อย
ไม่เพียงแต่เราพร้อมรับคำชี้แจงแล้ว เราขอยืนยันว่า ถ้าการทำงานของเราบกพร่อง และคิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเราและสื่อในเครือเอเอสทีวีผู้จัดการ กองทัพและผู้บัญชาการทหารบกหรือใครก็ตามยังมีช่องทางในกระบวนการยุติธรรมและการร้องเรียนต่อองค์กรวิชาชีพ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นวิถีทางอารยะในสังคมประชาธิปไตย
เราขอให้ผู้บัญชาการทหารบกทำหน้าที่ของท่านอย่างตรงไปตรงมาในการปกป้องชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ ตราบใดที่ท่านยังมีจุดยืนในหน้าที่ของตัวเอง และปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากพระมหากษัตริย์อย่างเที่ยงตรง และตระหนักต่อภาระหน้าที่กระทำในสิ่งที่ถูกต้อง โดยคำนึงถึงชาติบ้านเมืองมากกว่าจะเป็นเครื่องมือของนักการเมือง หากเป็นเช่นนั้นแล้วเราขอยืนยันว่า ผู้บัญชาการทหารบกกับเรามีอุดมการณ์เดียวกัน
เราอยากส่งสารไปยังกำลังพลในกองทัพ ว่า เอเอสทีวีผู้จัดการไม่ใช่ศัตรูของกองทัพและชาติบ้านเมือง แต่ข้าศึกที่รุกล้ำอธิปไตยของชาติ นักการเมืองที่โกงกินชาติบ้านเมืองต่างหาก ลัทธิอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต้องการจะล้มล้างเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขต่างหากที่เป็นศัตรูของกองทัพ ประชาชน และชาติบ้านเมือง เราเชื่อว่าประชาชนก็พร้อมที่จะเป็นกำลังหนุนเนื่องของกองทัพในการต่อสู้กับภัยของชาติบ้านเมืองเหล่านั้น
สุดท้ายนี้เราขอขอบคุณอีกครั้งต่อผู้บัญชาการทหารบกที่ได้ออกมาขอโทษสังคมต่อสิ่งที่ได้กระทำลงไป เราขอให้ท่านได้กระทำหน้าที่ของท่านอย่างซื่อตรงเต็มกำลัง และเราก็จะกระทำหน้าที่ของเราในฐานะสื่อมวลชนอย่างตรงไปตรงมาเช่นเดียวกั

หลักนิติธรรมในการดำเนินคดี 112: กรณีสมยศ พฤกษาเกษมสุข


หลักนิติธรรมในการดำเนินคดี 112: กรณีสมยศ พฤกษาเกษมสุข

          “พิจารณาแล้วเห็นว่า จากคำให้การของพยานบุคคลจำนวนหลายคนซึ่งมีหลากหลายอาชีพแสดงความเห็นว่า เมื่ออ่านบทความดังกล่าวปรากฏในวารสารที่ผู้ต้องหาเสนอขาย พยานทั้งหลายก็ไม่ได้ยืนยันไปในทางเดียวกันทั้งหมดว่า บทความดังกล่าวมีเนื้อหาเป็นการดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีพยานหลายรายเห็นว่า บทความดังกล่าวเป็นเนื้อเชิงวิชาการ คดีจึงยังฟังไม่ได้ว่าบทความดังกล่าวเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ประกอบกับไม่มีพยานยืนยันว่า ผู้ต้องหาเป็นผู้เขียนบทความดังกล่าว โดยเป็นเพียงผู้เสนอขายวารสารที่ปรากฏบทความดังกล่าวเท่านั้น จึงยังรับฟังไม่ได้ว่า ผู้ต้องหามีเจตนาทำผิดตามข้อกล่าวหา ... ทั้งยังมีพยานยืนยันว่า ผู้ต้องหามีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จากพยานหลักฐานดังกล่าว ยังรับฟังไม่ได้ว่า ผู้ต้องหามีเจตนากระทำผิดตามข้อกล่าวหา คดีมีพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง จึงมีคำสั่งไม่ฟ้อง”
         นี่คือคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการในคดีที่นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ถูกดำเนินคดีในความผิดตามมารา 112 เหตุเกิดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2547 นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ รับเชิญไปอภิปราย เรื่อง สังคมไทยกับทางรอดที่ควรเลือก เหลียวหลังแลหน้าจากราชดำเนินถึงตากใบ ที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ระหว่างการอภิปราย นายสุลักษณ์ได้ประชาสัมพันธ์หนังสือวารสาร  SEED OF PEACE ซึ่งวางจำหน่ายให้กับบุคคลทั่วไปที่มาร่วมฟังการเสวนาอยู่หน้าห้องอภิปราย วารสารดังกล่าวมีบทความเรื่อง SIAM of the Forgotten Monarch The True Life Sequel of the King and the Land of Smile ที่เขียนโดยผู้ใช้นามแฝงว่า B.P.(บี.พี.) ซึ่งแสดงความเห็นในลักษณะที่เป็นการกล่าวพาดพิงถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
          การที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ในกรณีนี้ นับเป็นการใช้หลักนิติธรรมในการดำเนินคดีที่น่าจะมีการนำไปใช้สำหรับคดีความผิดตามมาตรา 112 ทุกคดี กล่าวคือ หลักนิติธรรมประการหนึ่งในการดำเนินคดีอาญา สำหรับบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม คือ การรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหลายซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยมีความผิดหรือความบริสุทธิ์ [1] หมายความว่า ในการแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหานั้น ต้องหาพยานหลักฐานต่างๆ ทั้งที่เป็นพยานที่เป็นคุณแก่ผู้ต้องหาและพยานที่เป็นโทษต่อผู้ต้องหาด้วย จึงจะถูกต้องตามหลักนิติธรรม ซึ่งหลักนิติธรรมในกระบวนการยุติธรรมมิได้มีเพียงเท่านี้ แต่มีมากมายหลายประการ ดังต่อไปนี้
         1. ห้ามการทรมาน การลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี (รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 32 วรรค 2 ICCPR ข้อ 7)
         2. ห้ามจับกุมหรือควบคุมตัวโดยไม่มีเหตุผลตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย (รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 32 วรรค 2ICCPR ข้อ 9)
         3. สิทธิได้รับแจ้งถึงเหตุผลในการจับกุม และจะต้องได้รับแจ้งถึงข้อหาที่ถูกจับกุมในขณะจับกุม  (ICCPR ข้อ 9)
         4. ผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องได้รับการสันนิษฐานว่าไม่มีความผิด (รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 39 วรรค 2 ICCPR ข้อ 14 อนุ 2)
         5. สิทธิพื้นฐานในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผย (รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 40(2) ICCPR ข้อ 14 อนุ 1)
         6. สิทธิผู้ถูกจับในการนำตัวไปศาลโดยพลัน (รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 40(3) ICCPR ข้อ 9)
         7. สิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีโดยรวดเร็วตามสมควร (รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 40(3) ICCPR ข้อ 9)
         8. สิทธิได้รับการประกันตัว (รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 40 (7) ICCPR ข้อ 9)
         9. สิทธิขอให้ศาลสั่งปล่อยหากถูกควบคุมตัวโดยมิชอบ (รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 28และมาตรา 32 วรรค 5 ICCPR ข้อ 9)
       10. สิทธิได้รับค่าทดแทนหากคุมขังหรือหากถูกคุมขังหรือถูกควบคุมตัวโดยมิชอบ (รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 40 (5) ICCPR ข้อ 9)
       11. ผู้ต้องหาต้องไม่ถูกคุมขังร่วมกับผู้ต้องขังตามคำพิพากษา(รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 40 (6) ICCPR ข้อ 10)
        12. ผู้ต้องหาที่เป็นเด็กต้องแยกควบคุมมิให้ปะปนกับผู้ต้องขังที่เป็นผู้ใหญ่ (รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 40 (6) ICCPR ข้อ 10)
        13. ระบบราชทัณฑ์ต้องมีความมุ่งหมายให้ผู้ต้องขังกลับตัวเป็นคนดี (ICCPR ข้อ 10 อนุ 3)
        14. สิทธิได้รับการแจ้งข้อหาในภาษาที่เข้าใจได้ (รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 40 (4) ICCPR ข้อ 14)
        15. สิทธิมีเวลาในการเตรียมต่อสู้คดี และติดต่อทนายความที่ตนเลือก (รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 40 (7) ICCPR ข้อ 14)
        16. สิทธิในการพิจารณาคดีต่อหน้าจำเลยหรือต่อสู้คดีด้วยตนเองหรือผ่านทนายความที่ตนเลือก (รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 40 (2) ICCPR ข้อ 14)
        17.สิทธิได้รับแจ้งว่ามีสิทธิพบทนายความ (ICCPR ข้อ 14 อนุ 3)
        18. สิทธิขอให้รัฐจัดหาทนายความให้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 40 (7) ICCPR ข้อ 14 อนุ 3)
        19. สิทธิที่จะซักถามพยานซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อตน (ICCPR ข้อ 14 อนุ 3)
        20. สิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือจากล่าม โดยไม่คิดมูลค่า (ICCPR ข้อ 14 อนุ 3)
        21. สิทธิไม่ถูกบังคับให้เบิกความเป็นปรปักษ์ต่อตนเองหรือให้รับสารภาพผิด (รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 40 (4) ICCPR ข้อ 14 อนุ 3)
        22. สิทธิในการอุทธรณ์ ฎีกา (ICCPR ข้อ 14 อนุ 5)
        23. สิทธิได้รับค่าชดเชยจากการถูกลงโทษตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดแต่ภายหลังมีการกลับคำพิพากษาหรือมีข้อเท็จจริงใหม่ที่แสดงว่าได้มีการดำเนินกระบวนการยุติธรรมที่มิชอบ(รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 40 (5) ICCPR ข้อ 14 อนุ 6)
       24. สิทธิไม่ถูกดำเนินคดีซ้ำในความผิดที่ได้รับโทษแล้วหรือได้รับการปล่อยตัวแล้วตามกฎหมาย (ICCPR ข้อ 14 อนุ 7)
       หลักนิติธรรมของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่กล่าวข้างต้น มีหลักการสำคัญลำดับต้นๆ ก็คือ  สิทธิได้รับการสอบสวนโดยไม่ถูกบังคับให้เบิกความเป็นปรปักษ์ต่อตนเองหรือให้รับสารภาพผิด หรือการพิจารณาคดี ที่ถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม มีโอกาสในการต่อสู้คดีอย่างเพียงพอ และ สิทธิได้รับการประกันตัว (รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 40 (7) ICCPR ข้อ 9)
        จะเห็นได้ว่าสิทธิในการมีโอกาสต่อสู้คดีอย่างเพียงพอและการได้รับการประกันตัว เป็นสิ่งสำคัญมากของผู้ต้องหาในคดีอาญา ในคดีของนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์นั้น นายสุลักษณ์ได้รับการประกันตัวตั้งแต่ชั้นจับกุมและสอบสวน จึงมีโอกาสในการเตรียมพยานหลักฐานต่างๆ ในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ทั้งการเลือกทนายความเอง ทั้งการหาหลักฐานทั้งพยานวัตถุ พยานบุคคล พยานเอกสารมายืนยัน ความบริสุทธิ์ของตน โดยมีพยานมายืนยันว่า ตนเองเป็นผู้มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ก็กระทำเพื่อให้เกิดการพัฒนาสถาบัน และกระทำด้วยเจตนาดี จึงได้ทำหนังสือถึงพนักงานอัยการว่า การดำเนินคดีตนจะไม่เป็นดีต่อสถาบัน และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยรวม ที่สำคัญการที่กฎหมายอาญามาตรา 112 บัญญัติให้ผู้ใดก็ตามสามารถนำเรื่องไปแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้วิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์หรือพระราชวงศ์ได้ ย่อมไม่เกิดความเป็นธรรมและมีโอกาสที่จะมีการกลั่นแกล้งกันในทางการเมืองได้
        ความต่างกันของกรณีนายสุลักษณ์และนายสมยศ ก็คือ นายสมยศไม่มีโอกาสในการต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรม เช่นนายสุลักษณ์ นายสมยศไม่ได้รับการประกันตัว ไม่มีโอกาสในการดำเนินการทำหนังสือถึงอัยการ ไม่สามารถออกไปหาพยานหลักฐาน พยานวัตถุ พยานบุคคลมาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนอง เช่นที่นายสุลักษณ์ได้รับ อันเป็นผลเนื่องมาจากได้รับการปฏิเสธสิทธิในการประกันตัว นั่นเอง  
แต่สิ่งที่มีความคล้ายคลึงกันของกรณีนายสุลักษณ์และนายสมยศ ก็คือ
        ประการแรก ต่างได้รับการแจ้งข้อกล่าวหา อันเนื่องมาจากสาเหตุทางการเมือง หรือเป็นเพราะกฎหมายกำหนดให้ใครก็ได้ไปดำเนินการแจ้งความดำเนินดคี โดยอ้างเหตุแห่งความจงรักภักดี ซึ่งมิใช่เหตุผลหรือมูลที่จะอ้างตามกฎหมายได้

       ประการที่สอง นายสมยศและนายสุลักษณ์ได้รับการแจ้งข้อหาในการกระทำที่ไม่เข้าข้อกฎหมายตามมาตรา 112 กล่าวคือ นายสุลักษณ์ได้รับการแจ้งข้อหา “หมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์”  ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112  จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อ มีการกระทำที่ครบทั้งองค์ประกอบภายนอกและองค์ประกอบภายใน องค์ประกอบภายนอกก็คือ ต้องหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ส่วนองค์ประกอบภายในคือ ต้องมีเจตนา  แต่เมื่อพิจารณารายละเอียดข้อเท็จจริงในเนื้อความทั้งหมด  จะเห็นได้ว่าบทความอันเป็นเหตุแห่งการตั้งข้อกล่าวหาของนายสุลักษณ์นั้นเป็นภาษาอังกฤษ  การแปลความหมายอาจมีการคลาดเคลื่อน ทั้งเมื่อพิจารณาบทความดังกล่าว จะเห็นได้โดยชัดเจนว่ามิใช่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริง  แต่เป็นบทความทางวิชาการในเชิงวิเคราะห์วิจารณ์แพร่ปรากฏทั่วไป นอกจากนี้นายสุลักษณ์ก็มิได้เป็นผู้เขียนบทความตามที่ถูกกล่าวหาขึ้นเอง นายสุลักษณ์เป็นผู้พิมพ์โฆษณาหนังสือวารสาร  SEED OF PEACE ซึ่งวางจำหน่ายให้กับบุคคลทั่วไปที่มาร่วมฟังการเสวนาอยู่หน้าห้องอภิปราย

VOICE OF TAKSIN ฉบับปฐมฤกษ์
      ส่วนนายสมยศ ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้จัดพิมพ์ จำหน่ายและเผยแพร่นิตยสาร VOICE OF TAKSIN : เสียงทักษิณ ที่มีบทความ คมความคิด ของผู้ใช้นามปากกาว่า จิตร พลจันทร์ เรื่องแผนนองเลือดกับยิงข้ามรุ่น เนื้อหาบทความกล่าวถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ทางการเมืองสองครั้งของไทย คือ เหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516 และเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองหลังวันพิพากษาคดียึดทรัพย์ พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร   และในฉบับที่ 16 บทความของผู้เขียนคนเดิม เรื่อง 6 ตุลา แห่ง พ.ศ.2553 บทความกล่าวถึงตัวละครหนึ่งที่ชื่อว่า หลวงนฤบาล ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษอ่านแล้วตีความได้ว่า เป็นการพาดพิงถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยประการที่น่าจะทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ และทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ประเด็นคือ การเป็นผู้เผยแพร่ จำหน่าย หนังสือที่มีข้อความอันเป็นความผิดตามมาตรา 112 นั้น จะถือว่าเป็นความผิดตามมาตรา 112 ด้วยหรือไม่ ซึ่งเมื่อพิจารณาตามข้อกฎหมายแล้วจะเห็นว่า มีการฟ้องคดีต่อนายสมยศ โดยมิได้มีการพิจารณาองค์ประกอบความผิดว่านายสมยศมีการกระทำครบองค์ประกอบภายนอก และองค์ประกอบภายใน ของความผิดตามหลักทั่วไปของกฎหมายอาญาหรือไม่
         สิทธิในการมีโอกาสต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรมนั้นสอดคล้องกับสิทธิได้รับการประกันตัวเพื่อให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีโอกาสต่อสู้คดี ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา สอดคล้องกับหลักการสากลในกติการะหว่างประเทศ ICCPR ข้อ 14 [2] การไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว เป็นเหตุกระทบถึงสิทธิในการมีโอกาสต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรมด้วย เนื่องจากไม่สามารถออกไปหาพยานหลักฐานมาใช้ในการต่อสู้คดีได้
          จนถึงวันนี้นายสมยศก็ยังไม่ได้รับการประกันตัวและกำลังจะมีการฟังคำพิพากษาในวันที่ 23 มกราคม 2556 ที่จะถึงนี้ คำพิพากษาในคดีของนายสมยศจะเป็นบทพิสูจน์กระบวนการยุติธรรมของไทยอีกคำรบหนึ่ง ว่าจะมีการตัดสินลงโทษหรือปล่อยจำเลยให้เป็นอิสระ เพื่อเป็นหลักประกันความเป็นอิสระของศาลและธำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรมในการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญาต่อไป
********************************************************
เชิงอรรถ
[1] 
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา  131 ให้พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานทุกชนิด เท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา เพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา และมาตรา 226 พยานวัตถุ พยานเอกสาร หรือพยานบุคคลซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์ ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ แต่ต้องเป็นพยานชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น และให้สืบตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นอันว่าด้วยการสืบพยาน
[2] กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองข้อ 14
1. บุคคลทั้งปวงย่อมเสมอภาคในการพิจารณาของศาลและคณะตุลาการ ในการพิจารณาคดีอาญาซึ่งตนต้องหาว่ากระทำผิด หรือการพิจารณาคดีเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของตน บุคคลทุกคนย่อมมีสิทธิได้รับการพิจารณาอย่างเปิดเผยและเป็นธรรมโดยคณะตุลาการซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย มีอำนาจ มีความเป็นอิสระ และเป็นกลาง สื่อมวลชนและสาธารณชนอาจถูกห้ามเข้าฟังการพิจารณาคีทั้งหมดหรือบางส่วนก็ด้วยเหตุผลทางศีลธรรม ความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือความมั่นคงของชาติในสังคมประชาธิปไตย หรือเพื่อความจำเป็นเกี่ยวกับส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องชีวิตส่วนตัวของคู่กรณี หรือในสภาพการณ์พิเศษซึ่งศาลเห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่ง เมื่อการพิจารณาโดยเปิดเผยนั้นอาจเป็นการเสื่อมเสียต่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม แต่คำพิพากษาในคดีอาญา หรือคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีอื่นที่เปิดเผย เว้นแต่จำเป็นเพื่อประโยชน์ของเด็กและเยาวชน หรือเป็นกระบวนพิจารณาเกี่ยวด้วยข้อพิพาทของคู่สมรสในเรื่องการเป็นผู้ปกครองเด็ก
2. บุคคลทุกคนซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดอาญา ต้องมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด
3. ในการพิจารณาคดีอาญา บุคคลทุกคนซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดย่อมมีสิทธิที่จะได้รับหลักประกันขั้นต่ำดังต่อไปนี้โดยเสมอภาค
(ก) สิทธิที่จะได้รับแจ้งโดยพลันซึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับสภาพและเหตุแห่งความผิดที่กล่าวหา ในภาษาซึ่งบุคคลนั้นเข้าใจได้
(ข) สิทธิที่จะมีเวลา และได้รับความสะดวกเพียงพอแก่การเตรียมการเพื่อสู้คดีและติดต่อกับทนายความที่ตนเลือกได้
(ค) สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาโดยไม่ชักช้าเกินความจำเป็น
(ง) สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาต่อหน้าบุคคลนั้น และสิทธิที่จะต่อสู้คดีด้วยตนเอง หรือโดยผ่านผู้ช่วยเหลือทางกฎหมายที่ตนเลือก สิทธิที่บุคคลจะได้รับการแจ้งให้ทราบถึงสิทธิในการมีผู้ช่วยเหลือทางกฎหมาย หากบุคคลนั้นไม่มีผู้ช่วยเหลือทางกฎหมาย ในกรณีใดๆ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม บุคคลนั้นมีสิทธิที่จะมีผู้ช่วยเหลือทางกฎหมาย ซึ่งมีการแต่งตั้งขึ้นโดยปราศจากค่าตอบแทน ในกรณีบุคคลนั้นไม่สามารถรับภาระในการจ่ายค่าตอบแทน
(จ) สิทธิที่จะซักถามพยานซึ่งเป็นปรปักษ์ต่อตน และขอให้เรียกพยานฝ่ายตนมาซักถามภายใต้เงื่อนไขเดียวกับพยานซึ่งเป็นปรปักษ์ต่อตน
(ฉ) สิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือจากล่ามโดยคิดมูลค่า หากไม่สามารถเข้าใจหรือพูดภาษาที่ใช้ในศาลได้
(ช) สิทธิที่จะไม่ถูกบังคับให้เบิกความเป็นปรปักษ์ต่อตนเอง หรือให้รับสารภาพผิด
4. ในกรณีของบุคคลที่เป็นเด็กหรือเยาวชน วิธีพิจารณาความให้เป็นไปโดยคำนึงถึงอายุและความปรารถนาที่จะส่งเสริมการแก้ไขฟื้นฟูความประพฤติของบุคคลนั้น
5. บุคคลทุกคนที่ต้องคำพิพากษาลงโทษในความผิดอาญา ย่อมมีสิทธิที่จะให้คณะตุลาการระดับเหนือขึ้นไปพิจารณาทบทวนการลงโทษและคำพิพากษาโดยเป็นไปตามกฎหมาย
6. เมื่อบุคคลใดต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษในความผิดอาญา และภายหลังจากนั้น มีการกลับคำพิพากษาที่ให้ลงโทษบุคคลนั้น หรือบุคคลนั้นได้รับอภัยโทษ โดยเหตุที่มีข้อเท็จจริงใหม่หรือมีข้อเท็จจริงที่ได้ค้นพบใหม่อันแสดงให้เห็นว่าได้มีการดำเนินกระบวนการยุติธรรมที่มิชอบ บุคคลที่ได้รับความทุกข์อันเนื่องมาจากการลงโทษตามผลของการพิพากษาลงโทษเช่นว่า ต้องได้รับการชดเชยตามกฎหมาย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า การไม่เปิดเผยข้อเท็จจริงที่ยังไม่รู้ให้ทันเวลาเป็นผลจากบุคคลนั้นทั้งหมดหรือบางส่วน
7. บุคคลย่อมไม่ถูกพิจารณา หรือลงโทษซ้ำในความผิดซึ่งบุคคลนั้นต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ หรือให้ปล่อยตัวแล้วตามกฎหมายและวิธีพิจารณาความอาญาของแต่ละประเทศ

“พิราบกระเด้าลม”


         ประเพณีตั้งฉายารัฐบาลของผู้สื่อข่าวทำเนียบดูเหมือนจะเปลี่ยนไปในระยะหลัง คือจาก Mocking ล้อกันเล่นแสบๆ คันๆ กลายเป็นฉวยโอกาสประณามรัฐบาลส่งท้ายปี โดยที่อารมณ์ขันลดลง อารมณ์ดุดันขึ้นสูง  และอาจเป็นเพราะสื่อมีฝักฝ่าย จึงทำให้ฉายาออกมาไม่ get ไม่โดนใจคน เช่นที่โพลล์ไม่เห็นด้วย “ปูกรรเชียง”
        วาทะแห่งปี ซึ่งควรจะเลือกคำพูดที่เป็นข่าวฮือฮา กลับไปเลือกคำพูดนายกฯ ในสภา ซึ่งไม่ค่อยเป็นประเด็น นี่ไม่ใช่พูดเพราะผมเชียร์รัฐบาล แต่จะบอกว่าเลือก White Lie หรือ “ขี้ข้าทักษิณ” เสียยังโดนกว่า เหมือนนักข่าวอาชญากรรมเลือก “มีวันนี้เพราะพี่ให้” ใครๆ ก็ไม่เถียง
       ฉายารัฐบาล “พี่คนแรก” มีส่วนถูก ที่ว่ามีเงาพี่ชาย พี่สาว ปัญหาของพี่ พาดผ่านอยู่ตลอด แต่อย่าลืมว่าความขัดแย้งสำคัญในปี 2555 อยู่ที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ คำอธิบายที่ไม่ชัดเจนทำให้เหมารวมการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าไปด้วย ว่าแก้เพื่อทักษิณ ทั้งที่นักข่าวทำเนียบควรตระหนักว่า รัฐธรรมนูญ 2550 ไม่เป็นประชาธิปไตย มีผู้คนมากมายต้องการให้แก้ ถ้าอธิบายให้ดีต้องบอกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสียกระบวนไปเพราะร่าง พ.ร.บ.ปรองดองที่ดันเข้ามาเพื่อ “พี่คนแรก” ต่างหาก
        ฉายาที่ผู้สื่อข่าวรัฐสภาตั้งยังนับว่า “โดน” กว่าและดู “เป็นกลาง” กว่า เช่นที่ยกให้ 3 ส.ส.ทั้งเพื่อไทย ปชป.เป็นดาวดับ  อย่ากระนั้นเลย ไหนๆ ก็ไหนๆ ขอตั้งฉายาให้สื่อบ้าง โดยเฉพาะสื่อกระแสหลัก ซึ่งเคยแต่ตั้งฉายาให้ชาวบ้าน
        อันที่จริงไม่อยากใช้คำว่า “พิราบ” เดี๋ยวความหมายจะแปดเปื้อน เพราะ “พิราบ” หมายถึงผู้รักเสรีภาพ ไม่ใช่ผู้สนับสนุนรัฐประหาร แต่ในเมื่อสื่อยกตนเป็นพิราบ เป็นความหมายที่เข้าใจกันทั่วไป ก็ให้ยืมใช้ชั่วคราว ถ้าจะเปื้อน ก็เปื้อนเพราะคนยกตน
      “พิราบกระเด้าลม” ฟังแล้วอาจหยาบไปหน่อย แต่ก็เหมาะกับพฤติกรรมสื่อกระแสหลักในรอบปี 55 ที่ทั้งปลุกความเกลียดชัง ล่วงล้ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ล่วงล้ำก้ำเกินทางเพศ ตั้งแต่ผู้จัดการแต่งภาพ อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เป็น “วรเจี๊ยก” โดยองค์กรสถาบันสื่อเมินเฉย ไม่ตำหนิติติง หรือการใส่สีตีข่าวแบบสองแง่สองง่ามตามฝ่ายค้าน กรณี ว.5 โฟร์ซีซันส์ ซึ่งสนุกปากกันเกือบทุกฉบับ โดยองค์กรผู้หญิงไม่ยักปกป้องศักดิ์ศรีสตรี
      มาจนกระทั่งการ์ตูนนิสต์ฝรั่งเขียนการ์ตูนเหยียดเพศยิ่งลักษณ์ ว่าให้ท่าโอบามา ลง The Nation ซึ่งเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์มาก สำหรับค่ายบางนา ที่พยายามสร้างภาพ “มาตรฐานฝรั่ง” เพราะถ้าเป็นหนังสือพิมพ์ฝรั่งที่มีมาตรฐานจริง เขาไม่ทำกันอย่างนี้ ต่อให้ไม่ชอบหรือเกลียดชังอย่างไรเขาก็ไม่ล้ำเส้น ไม่รู้เหมือนกันว่า The Nation จะปล่อยให้ฝรั่งสลิ่มเหยียดเพศต่อไปไหม ในเมื่อเพิ่งเปลี่ยน บก.ใหม่ ได้ บก.ผู้หญิง
        พฤติกรรมเช่นที่ยกตัวอย่างนี้มีมาต่อเนื่องทั้งปี จึงไม่อาจเรียกอย่างอื่นได้ นอกจาก “กระเด้า”  แต่ “กระเด้าลม” หมายถึงสื่อมีความวิริยะอุตสาหะอย่างยิ่งยวด ในอันที่จะล้มรัฐบาล ตั้งแต่ศุกร์ 13 ภาคศาลรัฐธรรมนูญ มาจนม็อบสนามม้า “แช่แข็งประเทศไทย” หนังสือพิมพ์บางฉบับเชียร์ตั้งแต่หน้าข่าวการเมือง ข่าวสังคม ข่าวต่างประเทศ ไปถึงหน้าพระเครื่อง ซึ่งขนหมอดูมาทำนายว่ารัฐบาลจะอยู่ได้ไม่เกินวันที่เท่านั้นเท่านี้
       ที่ไหนได้ กระเด้าลม ม็อบทำงานไม่ถึง 8 ชั่วโมงก็ละลาย หมอดูหน้าแหกพอๆ กับคำทำนายวันโลกแตก สื่อยัง “วีน” พยายามเล่นงานตำรวจทำรุนแรง แต่ไม่เป็นผล ทีวีเสรีซึ่งเผลอหลุดปาก “ผู้ชุมนุมของเรา” อุตส่าห์ขุดหนัง Battle in Seattle มาฉาย แต่ปลุกไม่ขึ้น
       ในทางตรงกันข้าม รัฐบาลกลับมีเสถียรภาพมั่นคง เพราะการปลุกกระแสสุดขั้วสุดโต่ง จ้องล้มรัฐบาล ทำให้กระแสสังคมวงกว้างปฏิเสธ ไม่เอาด้วย สังคมไทยเบื่อหน่ายการโค่นล้มกันด้วยวิถีทางนอกระบอบ เข็ดแล้ว อยากอยู่สงบๆ จะได้ทำมาหากิน ไม่เอาอีกแล้ว รัฐประหาร ตุลาการยุบพรรค ชอบไม่ชอบรัฐบาล ก็ให้บริหารประเทศไปตามวิถี
        “พิราบกระเด้าลม” ยังเอวเคล็ดเปล่า ในอีกหลายสมรภูมิ อาทิเช่น การรณรงค์บอยคอตต์ “เรื่องเล่าเช้านี้” สรยุทธ สุทัศนะจินดา ของสมาคมนักข่าวและสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ซึ่งทำให้ราคาหุ้นช่อง 3 ปั่นป่วน เพราะนักลงทุนไม่รู้จะเอาไงแน่ จนกระทั่งช่อง 3 ต้องประกาศยืนยันว่าไม่ถอดรายการสรยุทธ ราคาหุ้นจึงพุ่งพรวดกลับไปสูงกว่าเดิม (ฮา)
         นี่อาจรวมถึงการร่วมมือกับ TDRI และยะใส กตะศิลา พยายามล้มประมูล 3G แต่ผลที่ออกมากลายเป็นพวก “ลูกอีช่างฟ้อง” ซึ่งสังคมเหม็นเบื่อ เห็นเป็นพวกถ่วงความเจริญไปเสียฉิบ
        อ้อ ยังไปจับผิดงบโฆษณา กสทช.ค่ายมติชนอีกต่างหาก ปรากฏว่าจับผิดจริงๆ เพราะไปจับตัวเลขที่เขาพิมพ์ผิด

‘เต้น’เชื่อนิรโทษฯเกิดปรองดอง‘วราเทพ’ระบุพ.ร.ก.ต้องเป็นเรื่องเร่งด่วน


‘เต้น’เชื่อนิรโทษฯเกิดปรองดอง
‘วราเทพ’ระบุพ.ร.ก.ต้องเป็นเรื่องเร่งด่วน
          “ณัฐวุฒิ” เชื่อการออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรมจะสร้างความปรองดองของคนในชาติได้ ด้าน “วราเทพ” ระบุการออก พ.ร.ก. ต้องเสนอโดยคณะรัฐมนตรีเท่านั้น เป็นเรื่องเร่งด่วนเกี่ยวกับความปลอดภัยและความมั่นคง

          นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และแกนนำ นปช. กล่าวถึงข้อเสนอของกลุ่ม นปช. ที่เรียกร้องให้รัฐบาลออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรมนักโทษการเมือง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550-31 ธันวาคม 2554 ให้มีผลนิรโทษกรรมกับประชาชนทั้งสองฝ่ายว่า การเสนอกฎหมายดังกล่าวเพราะ นปช. มองว่ากลุ่มคนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองหลังเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อปี 2549 เป็นต้นมา ไม่ได้มีพื้นฐานเป็นอาชญากร แต่เป็นสุจริตชนที่แต่ละคนรู้สึกว่าตนเองเป็นผู้ถูกกระทำและไม่ได้รับความเป็นธรรมทางการเมือง จึงออกมาต่อสู้ตามอุดมการณ์เพื่อประชาชนเท่านั้น

           แต่เมื่อต้องคดีความก็ควรได้รับโอกาสจากกระบวนการยุติธรรม เพราะเมื่อเทียบเคียงกับอาชญากรที่ก่อคดีอุกฉกรรรจ์ต่างๆแล้วก็ยังมีช่องทางจะได้รับโอกาสจากกระบวนการยุติธรรม และเมื่อตัดเงื่อนไขที่แกนนำของทุกกลุ่มจะได้รับออกไป ก็จะลดเงื่อนไขความขัดแย้งได้มากพอที่จะเดินหน้านิรโทษกรรมให้กับประชาชนทุกสีเสื้อได้ จึงนำมาสู่เหตุผลที่แกนนำ นปช. ยื่นข้อเสนอเรื่อง พ.ร.ก.นิรโทษกรรมให้รัฐบาลพิจารณา

             “แกนนำ นปช. เห็นว่าประชาชนที่บริสุทธิ์ควรได้รับโอกาสจากกระบวนการยุติธรรม ซึ่งการยื่นอิสรภาพให้กับประชาชนที่ต้องคดีหรือถูกจองจำน่าจะเป็นช่องทางหนึ่งที่สร้างความปรองดองและสามัคคีของคนในชาติได้ต่อไป เพราะถ้าประชาชนรวมทั้งเพื่อนร่วมอุดมการณ์กังวลและรู้สึกว่าตัวเองได้รับความอยุติธรรม ความปรองดองก็จะเกิดขึ้นได้ยาก และ พ.ร.ก.นิรโทษกรรมที่เสนอจะมีผลเฉพาะประชาชนเท่านั้น” นายณัฐวุฒิกล่าว
ต้องเป็นเรื่องเร่งด่วน
           นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า เรื่องดังกล่าวยังไม่มีการพูดคุยกันในส่วนของรัฐบาลในขณะนี้ และยังไม่ทราบรายละเอียดแนวทางของผู้เสนอ

          ผู้สื่อข่าวถามว่า มีแนวทางความเป็นไปได้ที่จะนำ พ.ร.ก.นิรโทษกรรมเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือไม่ นายวราเทพกล่าวว่า จากความเห็นส่วนตัวการที่จะมีการออก พ.ร.ก. รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจนในมาตรา 184 เรื่องของหลักการและเงื่อนไขในการออก พ.ร.ก. ตัวอย่างเช่น ต้องมีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นสาธารณะ ความปลอดภัยของประเทศ ความมั่นคงของเศรษฐกิจ ภัยพิบัติต่างๆ รวมทั้งยังมีเรื่องของความจำเป็นเร่งด่วนที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ เหล่านี้จะเป็นเงื่อนไขสำคัญในการพิจารณาว่าจะออกเป็น พ.ร.ก. ได้หรือไม่

รัฐยังไม่มีการหารือ

         “ผมยังไม่ทราบถึงรายละเอียดที่ผู้เสนอต้องการให้นำเรื่องนี้ให้รัฐบาลพิจารณา เพราะฉะนั้นคงต้องดูว่ารายละเอียดข้อเสนอนั้นเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนดหรือไม่ ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นการพูดกันโดยไม่มีการหารือ ผมคิดว่าอาจเกิดความสับสน แต่หากมีการหารือหรือรับข้อมูลอย่างชัดเจนแล้วคงจะได้รับความเห็นมากขึ้น แต่ในชั้นนี้ขอให้ความเห็นในข้อกฎหมายก่อน”

        ต่อข้อถามที่ว่า ในภาพรวมของรัฐบาลยังไม่มีแนวคิดที่จะออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรมใช่หรือไม่ นายวราเทพกล่าวว่า ขณะนี้อำนาจในการออก พ.ร.ก. เป็นอำนาจที่รัฐธรรมนูญให้เป็นของคณะรัฐมนตรี ซึ่งต้องดำเนินการตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 ในขณะนี้ยังไม่มีการพูดคุยกันในรายละเอียดจึงไม่สามารถออกความเห็นได้

3 สถาบันขอเวลาอีกระยะ


         ขณะที่ ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยถึงการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญว่า ได้สอบถาม รศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาแล้ว ทราบว่า นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เชิญคณะนิติศาสตร์ และคณะรัฐศาสตร์จาก มธ. มหาวิทยาลัยรามคำแหง และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาหารือเกี่ยวกับประเด็นแก้รัฐธรรมนูญ 3 ประเด็นแก้ไข ซึ่งต้องเป็นความเห็นทางวิชาการในนามคณะ ไม่ใช่มหาวิทยาลัย

         ศ.ดร.ศักดา ธนิตกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผู้แทนของคณะที่เข้าไปร่วมประชุมกับนายพงศ์เทพกลับมารายงานผลให้ทราบแล้ว แต่ขณะนี้ยังต้องขอเวลาคิดอีกระยะหนึ่ง และมีขั้นตอนต้องปรึกษากับคณาจารย์ที่เชี่ยวชาญด้านนี้ภายในกรอบที่ได้รับมอบมา ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าเรื่องนี้จะเคลื่อนไปอย่างไร จะทันระยะเวลา 60 วันหรือไม่

กลับสู่ยุคเผด็จการ‘รัฐบาลหอย’


 กลับสู่ยุคเผด็จการ‘รัฐบาลหอย’           เวลา 18.00 น. ของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน โดยมี พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดขณะนั้น เป็นหัวหน้าคณะ ได้ก่อการยึดอำนาจและยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับ พ.ศ. 2517 โดยอ้างสูตรสำเร็จเดิมๆว่า มีบุคคลกลุ่มหนึ่งกระทำการอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ราชบัลลังก์ และเศรษฐกิจของประเทศ และในที่สุดได้เกิดความจลาจลวุ่นวายอย่างร้ายแรงขึ้นในบ้านเมือง ซึ่งจะนำภัยพิบัติและความพินาศมาสู่ชาติบ้านเมืองในที่สุด




           จากนั้นคณะปฏิรูปฯได้ประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่เวลา 19.10 น. ห้ามประชาชนออกนอกบ้านยามวิกาล และห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป สั่งปิดหนังสือพิมพ์รายวันทั้งหมด ส่วนนิตยสารรายสัปดาห์ต้องส่งข้อเขียนให้คณะกรรมการตรวจสอบก่อน สถานีวิทยุทุกสถานีให้งดรายการปรกติและถ่ายทอดเสียงจากวิทยุแห่งประเทศไทยเท่านั้น จนวันที่ 7 ตุลาคม ได้มีการออกประกาศของคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 15 เพื่อควบคุมข่าวสารและเนื้อหารายการวิทยุโทรทัศน์ทั้งหมด จากนั้นจึงเปิดให้วิทยุและโทรทัศน์เสนอรายการตามปรกติ วันที่ 9 ตุลาคม ออกประกาศของคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 42 เพื่อควบคุมสื่อมวลชน แล้วจึงประกาศให้หนังสือพิมพ์เผยแพร่ข่าวสารได้ ยกเว้นหนังสือพิมพ์บางฉบับที่ถูกปิดอย่างถาวร เช่น ประชาชาติ ประชาธิปไตย อธิปัตย์ ฯลฯ


           ต่อมาได้มีพระบรมราชโองการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 22 ตุลาคม 2519 และโปรดเกล้าฯให้นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ผู้มีชื่อเสียงจากการเป็นวิทยากรต่อต้านคอมมิวนิสต์ในรายการโทรทัศน์ “สนทนาประชาธิปไตย” ร่วมกับนายสมัคร สุนทรเวช และนายดุสิต ศิริวรรณ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 14 ส่วนเนื้อหาของพระราชปรารภในรัฐธรรมนูญฉบับ 22 ตุลาคม 2519 มีโครงสร้างประชาธิปไตย 12 ปี ใจความว่า คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินจะกอบกู้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยด้วยการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินให้เหมาะสม โดยจัดให้มีการพัฒนาเป็นขั้นเป็นตอนไปตามลำดับ

           ในระยะ 4 ปีแรก เป็นระยะฟื้นฟูเสถียรภาพของประเทศ การบริหารราชการแผ่นดินให้สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน โดยมีสมาชิกที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ควบคุม ระยะ 4 ปีที่สอง เป็นระยะที่ให้ราษฎรมีส่วนร่วมในการบริหารราชการแผ่นดินมากขึ้น โดยจัดให้มีรัฐสภาอันประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้ง และวุฒิสภามาจากการแต่งตั้ง ทั้ง 2 สภานี้จะมีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมบริหารราชการแผ่นดินเท่าเทียมกัน ระยะ 4 ปีที่สาม สมควรขยายอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรให้มากขึ้น และลดอำนาจวุฒิสภาลงเท่าที่จะทำได้ ต่อจากนั้นไปถ้าราษฎรตระหนักในหน้าที่และความรับผิดชอบของตนที่มีต่อชาติบ้านเมืองในระบอบประชาธิปไตยดีแล้วก็อาจยกเลิกวุฒิสภา ให้เหลือแต่สภาผู้แทนราษฎร

ดูเผินๆเหมือนว่า คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น แต่เอาเข้าจริงรัฐบาลใช้นโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างหนัก ควบคุมการเคลื่อนไหวของนักศึกษาและประชาชน โดยยุบองค์กรนักศึกษา ยุบสหภาพแรงงาน และห้ามการนัดหยุดงาน ทั้งยังมีการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองของประชาชนมากที่สุด โดยการบริหารงานของรัฐบาลนายธานินทร์มีทหารถึง 24 นาย ทำหน้าที่เป็นสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ควบคุมการบริหารบ้านเมืองให้อยู่ในกรอบตามต้องการ ซึ่งนายธานินทร์พูดด้วยตัวเองว่า รัฐบาลเหมือนเนื้อหอย ส่วนทหารเป็นเปลือกหอยทำหน้าที่คุ้มครอง รัฐบาลจึงได้รับฉายาจากสื่อมวลชนว่า “รัฐบาลหอย”

         ส่วนนักศึกษาและประชาชนที่ร่วมเคลื่อนไหวต่อต้านการกลับมาของ “ถนอม-ประภาส” ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีจำนวนหลายพันคนที่ตัดสินใจเดินทางสู่ชนบทเพื่อร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยทำการต่อสู้ด้วยอาวุธกับรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลนายธานินทร์ได้ใช้วิธีตอบโต้และปราบปรามอย่างรุนแรง

          สำหรับนักศึกษาและประชาชนบางส่วนที่อยู่ในเมืองรับหน้าที่ทำงานประสานกับฝ่ายชนบท โดยการเคลื่อนไหวแจกใบปลิวเปิดเผยข้อเท็จจริงกรณี 6 ตุลาคม และต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ การดำเนินงานเช่นนี้ทำให้รัฐบาลหวาดระแวงจนต้องส่งตำรวจเข้าไปสอดส่องควบคุมภายในบริเวณมหาวิทยาลัย ทำให้ขบวนการนักศึกษาทำงานค่อนข้างลำบาก ทั้งยังถูกจับกุมได้โดยง่ายในข้อหาครอบคลุม “ภัยสังคม” และอีกส่วนหนึ่งยังถูกคุมขังในกรณี 6 ตุลา ต่อมาการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาในเมืองก็ซบเซาลง แต่กลับไปเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นในชนบทแทน ซึ่งรัฐบาลก็ได้ทำการปราบปรามอย่างต่อเนื่อง

            อย่างไรก็ดี รัฐบาลนายธานินทร์หรือรัฐบาลหอยที่มาจากการแต่งตั้งของคณะปฏิรูปฯที่ยึดอำนาจเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ได้ดำเนินการบริหารบ้านเมืองแบบขวาจัดสุดขั้วโดยความมั่นใจว่ามีทหารคุ้มครองได้ประมาณ 1 ปีก็ต้องสิ้นสุดลง เมื่อ พล.ร.อ.สงัดได้ตัดสินใจยึดอำนาจอีกครั้งในวันที่ 20 ตุลาคม 2520 ในนามคณะใหม่ชื่อว่าคณะปฏิวัติ รัฐบาลสิ้นสุดลง แต่นายธานินทร์ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี นับว่าเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งนี้ ต่อจากนั้น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ หลังลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้วได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้เป็นองคมนตรี

           คณะปฏิวัติชุดนี้แม้มีชื่อ พล.ร.อ.สงัดเป็นหัวหน้าคณะ แต่กลุ่มที่มีบทบาทเคลื่อนไหวเป็นกำลังสำคัญในการยึดอำนาจตัวจริงคือ กลุ่มนายทหาร จปร.7 หรือที่เรียกกันว่ากลุ่มยังเติร์ก (ต่อมาได้รับฉายาว่าลูกป๋า) กลุ่ม จปร.7 สนับสนุน พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนฝ่าย พล.ร.อ.สงัดแม้จะไม่เต็มใจแต่ก็ต้องถอยให้กลุ่ม จปร.7 ขึ้นมามีบทบาทแทน โดย พล.อ.เกรียงศักดิ์เคยเป็นเลขาธิการคณะปฏิรูปฯในปี 2519 และเป็นเลขาธิการคณะปฏิวัติ 20 ตุลาคม 2520 มีความสัมพันธ์อันดีกับ พล.อ.ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ซึ่งเป็นกลุ่มอำนาจเดิมของจอมพลประภาส จารุเสถียร

          การเปลี่ยนผลัดคณะปฏิรูปฯหรือคณะปฏิวัติตามแต่จะตั้งชื่อกันไป แม้มีหลายกลุ่มหลายชื่อ แต่เนื้อหาโดยรวมไม่มีอะไรเปลี่ยน ตั้งแต่การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 เป็นต้นมาล้วนคือการรัฐประหารเพื่อเปลี่ยนถ่ายอำนาจกันในกลุ่มที่เป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตยทั้งสิ้น และเป็นธรรมดาที่ในกลุ่มเดียวกันก็อาจมีผลประโยชน์ขัดกันหรือจัดสรรผลประโยชน์ไม่ลงตัวบ้าง เมื่อผลประโยชน์ลงตัวก็ร่วมมือกัน เมื่อผลประโยชน์ไม่ลงตัวก็แยกวงกันไป ประชาชนอย่างเราๆคงต้องแยกให้ออกว่า รัฐประหารที่อ้างกันว่าทำเพื่อประชาชนนั้น เพื่อประชาชนหรือเพื่อใครกันแน่?

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 8 ฉบับ 394 วันที่ 12-18 มกราคม 2556 หน้า 4 คอลัมน์ เปิดฟ้าเปิดตาโดย ดอม  ด่านตระกูล

เงินบริจาค หลักการและกฎหมาย


เงินบริจาค หลักการและกฎหมาย

         กรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ทำคดีเรื่อง ส.ส. และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์จำนวนหนึ่งหักเงินจากบัญชีเงินเดือนที่ได้รับบริจาคเป็นเงินบำรุงพรรคประชาธิปัตย์น่าสนใจยิ่งน่าสนใจทั้งในแง่ของกฎหมาย และน่าสนใจทั้งในแง่ของการส่งเสริมพรรคการเมือง

       ในแง่ของการส่งเสริมพรรคการเมืองนั้น เห็นด้วยกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และใครในพรรคประชาธิปัตย์อีกหลายคนที่อธิบายว่า การหักเงินเดือนจากสมาชิกพรรคมาเป็นเงินบำรุงพรรคเป็นการส่งเสริมให้สมาชิกพรรคมีความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของพรรค ซึ่งจะทำให้พรรคเข้มแข็ง

        กรณีนี้พูดเมื่อไรก็ถูก พูดเมื่อไรก็เท่และดูดี มีหลักการ เพราะเมื่อสมาชิกพรรคมีความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของพรรค ก็จะทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง แต่ในแง่ของกฎหมายก็มีข้อกำหนดเรื่องการบริจาคเงินสนับสนุนพรรคการเมืองอยู่ ตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง ปี 2550 มาตรา 57 เขียนไว้ว่า ภายใต้บังคับมาตรา 54 วรรคสาม การบริจาคแก่พรรคการเมืองตั้งแต่ห้าพันบาทขึ้นไป ต้องเปิดเผยชื่อผู้บริจาคต่อสาธารณชนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด การบริจาคแก่พรรคการเมืองตั้งแต่สองหมื่นบาทขึ้นไป จะต้องบริจาคโดยวิธีการสั่งจ่ายเป็นตั๋วแลกเงินหรือเช็คขีดคร่อม

       ชัดเจนว่าหากบริจาคเงินเกิน 20,000 บาทขึ้นไป ต้องจ่ายเป็นตั๋วแลกเงินหรือเช็คขีดคร่อมเท่านั้น ไม่ให้ทำในลักษณะอื่นปัญหาของเรื่องนี้จึงอยู่ที่ว่าการหักเงิน ส.ส. จากบัญชีเงินเดือนหรือบัญชีรายได้เข้าบัญชีพรรคประชาธิปัตย์นั้น เป็นการทำตามที่กฎหมายกำหนดว่าต้องจ่ายเป็นตั๋วแลกเงินหรือเช็คขีดคร่อมเท่านั้นหรือไม่ ขอยืนยันว่าบริจาคเงินสนับสนุนพรรคโดยหลักการนั้นดี แต่ต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมายโดยไม่มีข้อยกเว้น

        ส่วนจะทำถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ อย่างไร คนในพรรคประชาธิปัตย์ที่ถูกหักเงินเข้าพรรคย่อมรู้ดีอยู่แก่ใจ

        ประชาชนทั่วไปถึงไม่รู้ข้อเท็จจริงแต่ก็คงพอเดาทางพรรคประชาธิปัตย์ได้ว่าเป็นอย่างไร เพราะการที่นายอภสิทธิ์ และบรรดา ส.ส. ที่ถูกดีเอสไอเรียกสอบออกมาเรียกร้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมการพิเศษให้ถอนเรื่องนี้ออกจากคดีพิเศษ ไม่ใช่วิสัยของพรรคประชาธิปัตย์

       เพราะลักษณะของคนพรรคนี้หากมีช่องทางต่อสู้ไม่เคยขอร้องใคร มีแต่จะฟ้องกลับเอาคืน ไม่ยอมถูกเล่นงานอยู่ฝ่ายเดียว เหมือนอย่างที่กำลังทำกับนายธาริต เพ็งดิษฐ์
เรื่องนี้ต้องแยกเป็น 2 ประเด็นระหว่าง “หลักการ” กับ “กฎหมาย” ถ้าถูกต้องถูกทั้ง 2 อย่าง ไม่ใช่ถูก “หลักการ”แต่ผิด “กฎหมาย”

        ความจริงเรื่องนี้พิสูจน์ไม่ยาก แค่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์หรือสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เอาเช็คขีดคร่อมหรือตั๋วแลกเงินที่บริจาคให้พรรคมาโชว์เรื่องก็จบ
เว้นแต่ว่าไม่มีจะโชว์ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ดีเอสไอเผย47ส.ส.ประชาธิปัตย์เข้าข่ายผิดพ.ร.บ.พรรคการเมือง


ดีเอสไอเผย47ส.ส.ประชาธิปัตย์เข้าข่ายผิดพ.ร.บ.พรรคการเมือง

          ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ 1 ดีเอสไอ เผยคดีหักบัญชีบริจาคเงินเข้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ถูกต้องตามขั้นตอนกฎหมาย เบื้องต้นพบ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 47 คน เข้าข่ายมีความผิดตามมาตรา 57 ที่กำหนดให้การบริจาคเงินเกิน 20,000 บาท ต้องทำเป็นเช็คขีดคร่อม “อภิสิทธิ์” ยืนยันทุกอย่างโปร่งใส เพราะหักเงินเดือนผ่านสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรด้วยการเซ็นเช็คขีดคร่อม จวกดีเอสไอทำลายพรรคการเมือง ต่อไปจะไม่มีคนบริจาคอุดหนุนพรรค

          นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวผ่านรายการฟ้าวันใหม่ ช่อง Bluesky Channel ถึงกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เชิญ ส.ส.พรรค 44 คน ไปให้ปากคำเรื่องการบริจาคเงินบำรุงพรรคว่า แปลกใจกับเรื่องนี้ เพราะการบริจาคเงินทำอย่างโปร่งใส และเป็นการทำเพื่อให้ทุกคนรู้สึกมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของพรรค

“ทุกคนยินยอมให้หักเงินเดือนผ่านสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรด้วยการเซ็นเช็คขีดคร่อม ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย ดังนั้น จึงมองเป็นอื่นไม่ได้นอกจากหยิบเรื่องนี้และเรื่องเงินบริจาคช่วยน้ำท่วมมากลั่นแกล้ง ซึ่งนอกจากกลั่นแกล้งแล้วยังทำลายพรรคการเมือง เพราะจะทำให้คนไม่อยากบริจาคเงินสนับสนุนพรรค หรือบริจาคผ่านพรรคการเมืองเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน”

        พ.ต.อ.นิรันดร์ อดุลยาศักดิ์ ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ 1 ดีเอสไอ กล่าวว่า เบื้องต้นดีเอสไอตรวจสอบพบมี 47 รายชื่อที่หักเงินเดือนเข้าบัญชีพรรค ซึ่งเข้าข่ายกระทำผิดตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง มาตรา 57 ที่กำหนดให้การบริจาคเงินเกิน 20,000 บาท ต้องทำเป็นเช็คขีดคร่อม

‘มาร์ค’ขู่‘ธาริต’โดนอีกหลายคดีถ้าไม่หยุดเอาผิด


‘มาร์ค’ขู่‘ธาริต’โดนอีกหลายคดีถ้าไม่หยุดเอาผิด

          “อภิสิทธิ์” ระบุร่างคำฟ้อง “ธาริต” กับพวกเสร็จแล้ว แต่ยังไม่กำหนดวันยื่นต่อศาล โดยจะฟ้องร้อง 3 ประเด็น ขู่หากไม่หยุดเอาผิดเกี่ยวกับการสลายคนเสื้อแดงต้องเจออีกหลายคดี โฆษกเพื่อไทยจี้หยุดข่มขู่คุกคามกระบวนการยุติธรรม

         นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ทำคำฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พร้อมพวกรวม 4 คนไว้พร้อมแล้ว แต่ยังไม่ได้กำหนดว่าจะยื่นฟ้องต่อศาลวันไหน โดยจะยื่นฟ้อง 3 ประเด็น


         “การกระทำของนายธาริตและพวกผิดกฎหมายอาญา มาตรา 157 และรัฐธรรมนูญ มาตรา 200 หากดีเอสไอยังเดินหน้าทำคดีในลักษณะนี้ก็จะเจอฟ้องอีกหลายคดี จึงอยากเตือนว่าอย่าทำตามธงการเมืองหรือทำตามใบสั่ง เพราะสุดท้ายคนสั่งไม่ได้มาร่วมรับผิดชอบ แต่คนทำโดนทั้งหมด”

         นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวเตือนว่า นายอภิสิทธิ์ไม่ควรใช้พฤติกรรมข่มขู่คนในกระบวนการยุติธรรม การฟ้องร้องเป็นสิทธิที่ทำได้ แต่ไม่ควรออกมาพูดจาข่มขู่ทุกวัน ถ้าบอกว่าพร้อมรับการตรวจสอบก็ต้องพร้อมต่อสู้คดีอย่างตรงไปตรงมา ไม่ใช่ใช้วิธีข่มขู่กดดัน