วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

อุทธรณ์สั่งคุก 2 ปี แต่ให้รอลงอาญา 1 ปี 'บก.ลายจุด' ฝืนคำสั่งคสช.ไม่มารายงานตัว


30 มิ.ย. 2559 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลแขวงดุสิตอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีที่ สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก. ลายจุด เป็นจำเลยในคดีฝ่าฝืนคำสั่งไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้จากศาลชั้นต้นซึ่งเห็นว่าการไม่มารายงานตัวไม่เป็นความผิดและไม่อาจเอาผิดย้อนหลัง โดยในชั้นอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยมีความผิดตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 25/2557 และ 29/2557 ให้จำคุก 2 เดือน ปรับ 3000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี
ศูนย์ทนายความฯ ระบุว่า คดีนี้สืบเนื่องจาก คสช. ได้ออกคำสั่ง คสช.ที่ 3/2557 ลงวันที่ 23 พ.ค.57 เรียกบุคคลมารายงานตัว ซึ่ง สมบัติ เป็นหนึ่งในรายชื่อตามคำสั่งดังกล่าว อย่างไรก็ตาม สมบัติ ไม่ไปรายงานตัวตามกำหนด ต่อมา คสช. ได้ออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 25/2557 และ 29/2557 ให้บุคคลในรายชื่อที่ยังไม่มารายงานตัว มารายงานตัวภายใน 24 มิ.ย.57 และกำหนดโทษแก่ผู้ฝ่าฝืน แต่สมบัติไม่ได้ไปรายงานตัวและถูกจับกุมในวันที่ 5 มิ.ย.57 ซึ่งต่อมาพนักงานอัยการศาลแขวงดุสิตเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง สมบัติ ฐานฝ่าฝืนประกาศคสช.ฉบับที่ 1/57 ประกาศคสช.(เฉพาะ)ฉบับที่ 25/57 คำสั่งคสช.ที่ 3/57 และมาตรา 368 ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 368 วรรคหนึ่งให้ลงโทษปรับ 500 บาทส่วนความผิดตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 25/2557 และ 29/2557 ศาลไม่ลงโทษ เนื่องจากบัญญัติย้อนหลังการกระทำผิด และมุ่งหมายเฉพาะเจาะจงบุคคล ซึ่งต่อมาทั้งโจทก์และจำเลยได้อุทธรณ์ จนกระทั่งศาลนัดฟังคำพิพากษาอุทธรณ์ในวันนี้
ทั้งนี้คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ เห็นว่าอุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น เนื่องจากศาลเห็นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องเนื่องจากพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนไม่รายงานตัวต่อจำเลยแล้ว แม้จำเลยจะอ้างว่าคสช.ควบคุมการปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย “ข้อเท็จจริงก็ปรากฎอยู่แล้วว่าเป็นการยึดอำนาจโดยสำเร็จคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีฐานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์” นอกจากนี้ศาลอุทธรณ์ยังเห็นว่าการที่จำเลยกล่าวอ้างว่าการรัฐประหารจะสำเร็จเสร็จสิ้นบริบูรณ์เมื่อมีพระบรมราชโองการรองรับสถานะทางกฎหมายของคณะรัฐประหาร โดยมีการตีพิมพ์และเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการตีความดังกล่าว “ย่อมจะทำให้เกิดผลแปลกประหลาดและเป็นปัญหาในการควบคุมและรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ อีกทั้งเป็นการไม่เหมาะสมเนื่องจากเป็นการก้าวล่วงทำให้สถาบันกษัตริย์ซึ่งอยู่เหนือการเมือง ต้องมามีส่วนเกี่ยวข้องในลักษณะการพิจารณารับรองผลของการยึดอำนาจว่าสำเร็จเสร็จสิ้นบริบูรณ์แล้วหรือไม่ การยึดอำนาจสำเร็จหรือไม่จึงต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเมื่อเกิดการยึดอำนาจขึ้น”
ส่วนประเด็นข้อต่อสู้เรื่องการใช้กฎหมายอาญาย้อนหลังกับจำเลยนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่า “กฎหมายต่างๆที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติออกใช้บังคับนั้นมีผลอยู่แล้ว เพียงแต่มีการบัญญัติรับรองโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว)พ.ศ.2557 อีกครั้งว่าเป็นเรื่องที่ชอบและมีผลต่อไป กรณีจึงมิใช่เป็นการใช้กฎหมายอาญาย้อนหลังดังที่จำเลยอ้างแต่อย่างใด”
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประกาศคสช.ฉบับที่ 25/57 ฉบับที่ 29/57 อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานไม่มารายงานตัวตามคำสั่งและประกาศคสช.อันเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 ประมวลกฎหมายอาญา ให้จำคุก 2 เดือน และปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้หนึ่งปี

ชุด 2 หมายเรียกชาวบ้านกว่า 10 ราย ที่บ้านโป่ง ร่วมเปิดศูนย์ปราบโกง ชุมนุมเกิน 5 คน

ภาพเปิดศูนย์ปราบโกง บ้านโป่ง  

30 มิ.ย. 2559 จากกรณีเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา เป็นวันที่แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ประกาศตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติทั่วประเทศ ซึ่งในส่วนกลางที่ห้างอิมพีเรียล ลาดพร้าวนั้นถูกเจ้าหน้าที่อ้างคำสั่ง หัวหน้า คสช. เพื่อปิดศูนย์ดังกล่าว (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) ส่วนในหลายจังหวัดมีทั้งที่เปิดได้และเปิดไม่ได้ โดยจุดหนึ่งที่สามารถเปิดศูนย์ดังกล่าวได้ คือที่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี อย่างไรก็ตาม 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา ผู้ที่ร่วมเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติที่บ้านโป่ง 10 รายกลับได้รับหมายเรียกจาก สภ.บ้านโป่ง เนื่องจากมีผู้มาร้องทุกข์กล่าวโทษให้พนักงานสอบสวน สภ.บ้านโป่ง ดำเนินคดีผู้เปิดศูนย์ปราบโกงฯ ดังกล่าว ในข้อหาร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองในที่เกิดเหตุเกิน 5 คนขึ้นไป ด้วยการขึ้นแสดงป้ายศูนย์ปราบโกงประชามติโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
ล่าสุดวันนี้ (30 มิ.ย.59) แหล่งข่าวซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงฯ ที่บ้านโป่ง ดังกล่าว เปิดเผยว่าตนได้รับหมายเรียกในคดีนี้ด้วย โดยมีผู้ถูกหมายเรียกเพิ่มเติมอีกประมาณ 15 ราย ซึ่งทั้งหมดเป็นชาวบ้านธรรมดาในพื้นที่ มีเพียงตนคนเดียวที่เป็นนักศึกษา โดยให้ไปที่ สภ.บ้านโป่ง เพื่อพบกับพนักงานสอบสวน ในวันที่ 1 ก.ค.นี้ เวลา 11.00 น.
แหล่งข่าวดังกล่าว ซึ่งเป็นนักศึกษารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ระบุว่า ตนเองไม่ค่อยได้ร่วมกิจกรรมกับกลุ่มที่เปิดศูนย์ปราบโกงฯ มานานแล้ว แต่เมื่อกลับมาบ้าน ทราบว่าจะมีการเปิดศูนย์ปราบโกงฯ ก็แวะไปเยี่ยม เข้าไปและถ่ายรูป 

รัฐให้ข่าวสับสนเดี๋ยวเปิดได้เดี๋ยวเปิดไม่ได้

แหล่งข่าว เปิดเผยถึงเหตุผลที่เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวว่า ตามหลักการมันคือความเป็นพลเมือง ตอนนั้นเราไม่รู้ข้อมูลว่ามันทำได้หรือไม่ได้ เนื่องจากในตอนแรก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่อกรณีเปิดศูนย์ปราบโกงฯ ว่าสามารถทำได้ ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่าเปิดไม่ได้ ขณะที่ต่อมาให้ไปถาม กกต. ว่าสามารถทำได้หรือไม่ ขณะที่ กกต. ก็บอกว่าทำได้ และยินดีด้วย ช่วงนั้นข่าวจะสร้างความสับสนมากว่าสามารถทำได้หรือทำไม่ได้ ตนจึงเชื่อ กกต. ไว้ก่อนเนื่องจากมองว่ากระบวนการทำประชามติมันเป็นของ กกต. ดังนั้นเราก็ไปร่วมกิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงฯ ในฐานะพลเมือง 
เขามองว่ามันเป็นกระบวนการที่มันน่าจะทำได้ในหลักการทั่วไป เราก็ไม่รู้ว่ารัฐให้เราทำได้หรือไม่ได้ แต่อย่างที่ตนบอกไปโดยเบื้องต้น เราคิดว่าทำได้ เพราะเขาให้ถาม กกต. แล้ว ขณะที่รัฐกำลังรณรงค์ประชามติ จะรับหรือไม่รับนั้น กิจกรรมเปิดศูนย์ปราบโกงก็ไม่ได้แสดงออก ตนเองแม้ไม่ได้เป็น นปช. แต่ก็เห็นว่าศูนย์ปราบโกงฯ นี้ก็เป็นประโยชน์ มันมีช่องมีทางให้สามารถตรวจสอบได้ ก็ถือเป็นสิ่งที่ดี มันน่าจะดีต่อความชอบธรรมของประชามติครั้งนี้ รวมทั้งอำนาจรัฐด้วย
"อย่างน้อยที่สุดในยุคปกตินักการเมือง ผมคิดว่าเขามีประสิทธิภาพในการตรวจสอบคนอื่นที่โกง ถ้าตรวจสอบตัวเองว่าโกงนั้นไม่มีใครเขาทำกัน แต่ว่านักการเมืองมีประสิทธิภาพในการตรวจสอบคนอื่นที่โกง ถ้าตัวเองจะโกงมันก็จะมีกลุ่มฝั่งตรงข้ามที่เขาเข้าไปตรวจสอบถ่วงดุลกันไว้" แหล่งข่าว โต้แย้งข้อกล่าวหาที่ว่า นปช. เป็นนักการเมืองและมีข้อครหาว่ามีการทุจริตแล้วจะมาจับหรือตรวจสอบการโกงได้อย่างไร
แหล่งข่าว มองว่าสุดท้ายแล้วกระบวนการของศูนย์ปราบโกงฯ ก็ทำได้เพียงชี้มูลความผิดให้กับกลไกรัฐซึ่งก็เป็นหน้าที่ของพลเมืองอยู่แล้ว โดยการมีศูนย์ปราบโกงฯ ที่จะรวบรวมข้อมูลให้เป็นระบบเพื่อส่งให้ กกต. ก็เป็นทางเลือกหนึ่ง โดยการชี้มูลความผิดให้กับรัฐนั้นไม่ได้มีเจตนาทางการเมืองเลย 
"พอเกิดบรรยากาศแบบนี้มันเกิดความหวาดกลัว มันไม่ปกติ และเป็นส่วนหนึ่งอาจจะส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิดของคนที่จะไปลงประชามติแน่นอน และเป็นสิ่งที่กระจายไปในวงกว้าง เพราะฉะนั้นประชามตินี้ก็อาจจะไม่บริสุทธิ์ถ่องแท้ร้อยเปอร์เซ็นต์ อาจไม่ได้มาจากเจตจำนงของประชาชนร้อยเปอร์เซ็นต์" แหล่งข่าว กล่าว
นอกจากนี้ แหล่งข่าว ยังกล่าวว่า ขอให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม หากเป็นไปได้ขอให้ใช้ศาลพลเรือนปกติ และถามสมมุติว่ากระบวนการมันจบก่อนหน้านั้นได้ก็ดี เพราะเรามองว่าสิ่งที่เราทำนั้นสอดคล้องกับที่รัฐบาลบอกแน่นอน ไม่ได้มีเจตจำนงค์ใดๆ ทางการเมือง ในวันเปิดศูนย์ปราบโกงฯ นั้น ไม่ใครประกาศว่าไม่เอา คสช. เลย แค่มาถ่ายรูปร่วมกันและการรวมตัวจากนั้นก็คือการรับปรทานอาหาร และอยู่ในสถานที่ค่อนข้างเป็นส่วนตัวด้วย ไม่ได้ออกมาอยู่ในพื้นที่สาธารณะ

กกต. สมชัย เคยระบุ นปช.ตั้งศูนย์ปราบโกงฯได้

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ที่ผ่านมา สำนักข่าวไทย รายงานว่า สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. กล่าวถึงกรณีที่กลุ่ม นปช. เตรียมตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติว่า เป็นเรื่องที่ดี ที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมให้การออกเสียงประชามติครั้งนี้ให้มีความเที่ยงธรรมและเป็นที่ยอมรับ ตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใด กกต.พร้อมให้การสนับสนุน หากกลุ่มการเมืองอื่น ๆ อยากตั้งศูนย์ลักษณะเช่นนี้ก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่ขอให้ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด ต้องไม่จงใจให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ หากพบการกระทำผิดเกิดขึ้น กกต. พร้อมดำเนินการ
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ทีผ่านมา ศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. กล่าวถึงกรณีที่พล.อ.ประวิตร แนะนำให้ นปช. มาคุยกับ กกต.เรื่องการตรวจสอบกระบวนการออกเสียงประชามติ ว่า การตรวจสอบกระบวนการออกเสียงประชามติเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนที่ต้องช่วยกันดูแล
 
“หากพบเห็นการทุจริตในกระบวนการออกเสียง สามารถแจ้งผ่านแอพพลิเคชั่นตาสับปะรดของสำนักงานกกต.หรือจะมาแจ้งที่สำนักงานกกต.โดยตรง โดยการถ่ายภาพบันทึกหลักฐานสามารถกระทำได้ หากกลุ่มนปช. ต้องการเข้ามาช่วยทำงานในด้านนี้ กกต.ไม่ขัดข้อง เพราะถือเป็นประชาชนทั่วไป แต่การจะช่วยกันตรวจสอบ ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย รวมทั้งไม่มีเจตนาแอบแฝงเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง แต่มีจุดประสงค์เพื่อต้องการให้กระบวนการออกเสียงประชามติเป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม” ประธานกกต. กล่าว

ประยุทธ์ยังเคยบอกให้เปิดไป

เช่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เคยกล่าวไว้เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ที่ผ่านมา กรณี นปช. เปิดศูนย์ดังกล่าวว่า “ก็ให้เปิดไป แต่ผมไม่รับให้อยู่ตามกฎหมายอยู่แล้ว ถ้าสื่อไม่ปลุกระดมก็ไม่มีผลอะไร ใครอยากจะตั้งก็ตั้งไป ไม่มีสิทธิตามกฎหมาย และศูนย์ฯนี้ก็อย่าทำความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการประชามติด้วย ถ้าผิดก็โดนจับหมด อย่าเข้าไปเกี่ยวข้อง เข้าไปแหลมในคูหา อย่าเข้าไปพูดว่าล้มไม่ล้มผิดพ.ร.บ.ประชามติทั้งหมด ไอ้ตัวศูนย์ฯน่ะระวังให้ดี ทำไมก่อนหน้านี้ถึงไม่ตั้ง จำนำข้าวทำไมไม่ตั้ง ทุจริตทำไมไม่ตั้ง”

'กกต. สมชัย' ชี้ชุมนุมเกิน 5 คน แม้ไม่ผิด กม.ประชามติ ก็ผิด กม.ความมั่นคง


บีบีซีไทย สัมภาษณ์ สมชัย ศรีสุทธิยากร ยันรณรงค์ไม่หยาบไม่บิดเบือน ไม่ปลุกระดม ทำได้ ไม่ละเมิด พ.ร.บ. ประชามติ แต่ถ้าชุมนุมเกิน 5 คน ผิดกฏหมายทางด้านความมั่นคง ยินดีให้องค์กรต่างประเทศเข้ามา แต่ไม่มีนโยบายเชิญให้เข้ามาสังเกตการณ์เพราะไม่มีงบประมาณ
30 มิ.ย.2559 เมื่อเวลา 13.30 น. บีบีซีไทย - BBC Thai ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อจะสร้างความชัดเจนว่า มีอะไรทำได้และอะไรทำไม่ได้ ถึงกรณีความสับสนของหลายฝ่ายที่ต้องการรณรงค์ในเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ 
สมชัย บอกว่า การรณรงค์ใด ๆ หากตั้งอยู่ในกรอบข้อบังคับ คือ ไม่ใช้คำหยาบคาย บิดเบือนข้อเท็จจริง หรือปลุกระดม สามารถกระทำได้และไม่ถือว่าเป็นการละเมิด พ.ร.บ. ประชามติ แต่การฟ้องร้องโดยใช้ข้อกฏหมายดังกล่าวถือเป็นดุลพินิจของเจ้าหน้าที่และประชาชนผู้อยู่ในเหตุการณ์ซึ่งมีสิทธิฟ้องร้องได้ ส่วนกกต.มีหน้าที่ชี้แจงว่าสิ่งไหนควรทำหรือไม่ควรทำ แต่การดำเนินการทางกฏหมายขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารว่าจะปฏิบัติตามหรือไม่ 
"แต่เนื่องจากว่าภายใต้สิ่งซึ่งเป็นการเมืองการปกครองของไทยในปัจจุบันนั้น ทางฝ่ายทหารเองก็จะมีกฏหมายความมั่นคงที่ถืออยู่ ดังนั้นการชุมนุมกันในที่สาธารณะเกินกว่า 5 คนขึ้นไปนั้น แม้ไม่ผิดกฏหมายประชามติ ก็ไปผิดกฏหมายทางด้านความมั่นคง" สมชัย กล่าว

สมชัย ยืนยันว่า ที่ผ่านมากกต.ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลางแล้ว แต่ที่หลายคนมองว่าได้มีการตอบโต้กลุ่มผู้คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญเพียงกลุ่มเดียว อาจเป็นเพราะกิจกรรมของกลุ่มดังกล่าวมีความล่อแหลมกว่ากลุ่มผู้สนับสนุน จึงได้รับคำเตือนมากกว่า

ในส่วนของการจัดตั้งศูนย์ต้านโกงของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และข้อเสนอให้เชิญองค์กรต่างประเทศเข้ามาสังเกตการณ์การทำประชามติ สมชัย ระบุว่ายินดีให้ความร่วมมือหากมีองค์กรต่างประเทศติดต่อเข้ามา แต่ไม่มีนโยบายเชิญให้เข้ามาสังเกตการณ์เพราะไม่มีงบประมาณ ส่วนประชาชนทั่วไปสามารถไปสังเกตการณ์การลงประชามติได้นอกคูหาลงคะแนน

บีบีซีไทย ระบุด้วยว่านอกเหนือจากบทสัมภาษณ์ในคลิปนี้แล้ว สมชัย เสริมด้วยว่า ที่ผ่านมาตนได้ใช้โลกออนไลน์โพสตอบโต้ในเรื่องประชามติกับกลุ่มผู้คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ เพราะว่าเป็นสิทธิที่พึงกระทำได้ ถ้าอีกฝ่ายมีท่าทีสุภาพ ตนก็จะตอบด้วยความสุภาพ แต่ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งแสดงท่าที่หมิ่นประมาท ตนก็ขอใช้สิทธิปกป้องตัวเองเช่นกัน

จบไหม! หากร่างรธน.ไม่ผ่าน ประยุทธ์ ไม่ออก ไม่ลงโทษใคร ย้ำทุกคนทำดีที่สุดแล้ว


ประยุทธ์ประกาศไม่ลงโทษใครหากร่างรธน.ไม่ผ่าน ระบุทุกคนทำดีที่สุดแล้ว ย้ำตนเองจะรับผิดชอบประเทศต่อและไม่ลาออก หากไม่ผ่านก็ต้องร่างใหม่ เนื่องจากการเลือกตั้งต้องมีรัฐธรรมนูญ 
เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่าน ก็จะไม่มีการลงโทษใคร
"ผมตั้งคณะแต่ละคณะมา ถึงแม้ผมจะเป็นคนตั้งก็ตาม แต่เป็นหน้าที่ที่ผมมอบหมายไปแล้ว เขาต้องไปทำมา ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะอะไรต่างๆ ก็ตาม เขาก็ทำหน้าที่ของเขาอย่างดีที่สุดมาอยู่แล้วนะ แต่ไม่ใช่คนทุกคนจะไปลงโทษคนโน้นคนนี้ ถ้าไม่ผ่าน ก็ตั้งใจดีทุกคน" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
 
โดยเมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีการนำกรณีผลประชามติของประเทศอังกฤษและ เดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ยอมลาออกเพื่อรับผิดชอบต่อสถานการณ์ทางการเมืองดังกล่าว ส่งผลให้มีผู้ตั้งคำถามโดยนักการเมืองไทยว่า หากประชามติในไทย รัฐธรรมนูญไม่ผ่าน คสช. ก็ควรเปลี่ยนผู้นำรัฐบาลเช่นกันเพื่อแสดงความรับผิดชอบหรือไม่นั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "ทำไมจะให้ผมลาออกใช่ไหม ผมไม่ออก ผมเป็นคนกำหนดกติกาของผม เขาไม่ได้มาแบบผม บ้านเมืองเขาไม่ได้มีปัญหาแบบบ้านเรา ไม่รับผิดชอบกันเลยหรอ ทุกคนไม่รับผิดชอบอะไรกันเลย ร่วมกับผมไม่มีเลยหรอ ผมรับผิดชอบอยู่แล้ว ที่ผมเข้ามานี่ แล้วคนอื่นไม่รับผิดชอบอนาคตประเทศไทยเลยหรือไง ทำไมอนาคตประเทศไทยมันอยู่ที่ผมคนเดียวเลยหรือไง ทำไมไม่ช่วยกันเล่า"
 
จากนั้นวันที่ 29 มิ.ย.59 พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวย้ำอีกครั้งถึงกรณีประชามติไม่ผ่านในงานในระหว่างเป็นประธานพิธีเปิดงานเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก ประจำปี 2559 “Go Wild For Life” หยุดซื้อ หยุดขาย หยุดฆ่า แก้ปัญหาสัตว์ป่าสูญพันธุ์ โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว่า หากร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ผ่านประชามติ ก็ต้องเริ่มร่างใหม่ ซึ่งตนจะไม่ลาออก และไม่มีใครสามารถปลดตนได้ เพราะตนมีอำนาจตามมาตรา 44 อยู่ 
 
"ถ้ามันไม่ผ่านประชามติ ก็ทำใหม่ บอกยังงี้ ไปถามผมบ่อยนัก ก็ทำรัฐธรรมนูญใหม่ ตามกติกาเลือกตั้งก็ต้องมีรัฐธรรมนูญ จบไหม" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
 

อีสานใหม่-Walk4Rights ถูกรุกหนัก ตำรวจบุกค้นรถ อ้างนายเป็นห่วง


ตำรวจบุกค้นรถขบวนการอีสานใหม่-Walk4Rights อ้างมีอำนาจ พร้อมขอข้อมูลละเอียด เอาเงินที่ไหนมาทำกิจกรรม เจ้าหน้าที่ระบุเข้าใจ แต่นายยังห่วง เพราะระหว่างเดินมีการถือธงสัญลักษณ์
1 ก.ค. 2559 10.40 น. ในเขตอำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนจาก สภ.จอมพระ ทั้งในและนอกเครื่องแบบจำนวน 12 นาย เข้ามาสอบถามขบวนเดินเพื่อสิทธิชีวิตคนอีสาน Walk for Rights ของขบวนการอีสานใหม่ว่า จะเดินไปไหน มากันกี่คน  โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่าเข้าใจการทำกิจกรรมของขบวนการอีสานใหม่ แต่จำเป็นต้องสอบถามขอข้อมูล โดยแจ้งเหตุผลว่า นายเป็นห่วงเนื่องจากเห็นว่าเป็นกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เช่น มีธงรณรงค์ทั้งสีเขียว และสีแดง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งว่า หากจะเดินต่อไปขอให้ไม่แสดงธง พร้อมทั้งขอถ่ายรูปเสื้อที่ใส่ โดยทางขบวนการอีสานใหม่ปฏิเสธที่จะทำตามที่เจ้าหน้าที่สั่ง เพราะเห็นว่าสิ่งที่ทำไม่ใช่เรื่องที่ผิด
ต่อมา 11.15 น เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองจากอำเภอจอมพระ ได้เข้ามาระหว่างที่ขบวนการอีสานใหม่กำลังเดินทาง โดยมาสอบถามขบวนฯว่า จะไปที่ไหนบ้างในจังหวัดสุรินทร์ จะมีการแสดงสัญลักษณ์อะไรหรือไม่ มากี่คน มีรถกี่คัน คนที่มาเข้าร่วมแต่ละคนทำงานอะไร เอาเงินไหนมาทำกิจกรรม ใครคือแกนนำ ต้องการจะเข้าไปผู้คุยกับแกนนำชาวบ้านในแต่ละพื้นที่หรือไม่ พร้อมทั้งขอชื่อแกนนำชาวบ้านแต่ละพื้นที่ด้วย พร้อมขอให้ทุกคนลงชื่อ เพื่อจะได้ถือว่าให้ความร่วมมือกันเจ้าหน้าที่ แต่ทางขบวนฯ ปฏิเสธที่จะทำตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจขอ ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ระบุว่ามีอำนาจในการสั่งให้ทุกคนแสดงชื่อ และที่อยู่ อย่างไรก็ตามทางขบวนฯ เห็นว่าเจ้าหน้าที่มีอำนาจเพียงแค่ขอดูบัตรประชาชนเท่านั้น ไม่ได้มีอำนาจในการบังคับให้ทุกคนลงชื่อ
ต่อมา 12.10 น. มีเจ้าหน้าที่ตำรวจรวม 15 นาย นอกเครื่องแบบ 8 ในเครื่องแบบ 7 นาย บุกเข้าค้นรถสำหรับขนสัมภาระของขบวนการอีสานใหม่ ขณะที่กำลังหยุดพักเพื่อเข้าห้องน้ำ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่ามีสิทธิค้น แต่ไม่ได้มีการแสดงหมายค้นแต่อย่างใด
ทหารไล่ขบวน walk for Rights ออกจากพื้นที่อ้างผิด พ.ร.บ. ชุมนุม ถามใครเป็นแอดมินเพจอีสานใหม่ และขอให้ลบคลิปที่แอคชั่นเรื่อง พ.ร.บ.น้ำ
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2559 17.45 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วัดเหล่าโดน อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบราว 20 นาย และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งในและนอกเครื่องแบบราว 10 นาย เข้ามาในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งเป็นที่พักสำหรับคืนนี้ของขบวนเดินเพื่อสิทธิชีวิตคนอีสาน ซึ่งจัดโดยขบวนการอีสานใหม่
เจ้าหน้าที่ทหารได้เข้ามาถามสมาชิกในขบวนการอีสานไหมว่า ใครเป็นแอดมินเพจขบวนการอีสานใหม่ พร้อมทั้งพยายามขอให้มีการลบคลิปวีดีโอซึ่งเป็นคลิปการแอคชั่นต่อต้าน พ.ร.บ. น้ำ ซึ่งโพสต์ลงในเพจขบวนการอีสานใหม่ โดยโพสต์ดังกล่าวมีข้อความในเชิงต่อต้านอำนาจของรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ทหารได้พยายามแย่งโทรศัพท์มือถือจากสมาชิกขบวนการอีสานใหม่ด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ. ราษีไศล ได้เข้ามาแจ้งกับสมาชิกว่า การเข้ามาในพื้นที่และมีการทำกิจกรรมในลักษณะนี้เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ. การชุมนุมที่สาธารณะ พร้อมทั้งกดดันให้ออกนอกพื้นที่ภายใน 1 ชั่วโมง
โดย 18.40 น. ของวันที่ 30 มิ.ย. ขบวนการอีสานใหม่ได้ออกจากพื้นที่แล้ว โดยการเดินเท้าต่อไป แต่เจ้าหน้าที่ทหารกลับแสดงความไม่พอใจและถามว่าทำไมไม่ออกไปดีๆ จะเดินต่ออีกทำไม จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ได้กลับไป

ประวิตร ยันช็อปเรือดำน้ำจีน 3 ลำ 1.2 หมื่นล้าน ถือว่าไม่มาก รับประกันคุณภาพ


1 ก.ค.2559 จากเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.ที่ผ่านมา คมชัดลึกออนไลน์ รายงานบทวิจารณ์ว่า กองทัพเรือ ยังไม่ละความพยายามเดินหน้าจัดซื้อเรือดำน้ำรุ่น Yuan Class S26T จากสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 1 ลำ ภายหลัง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้กันงบประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท โดยบรรจุไว้ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 จากนั้นจะทยอยจัดซื้อให้ครบจำนวน 3 ลำภายในระยะเวลา 12 ปี ตามแผนยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือ เพื่อรักษาความมั่นคงและผลประโยชน์ทางทะเล เสริมกำลังการรบ 3 มิติ คือ ผิวน้ำ ใต้น้ำ และในอากาศ ให้ทัดเทียมหรือเหนือกว่าในภูมิภาค
บทวิจารณ์ของคมชัดลึกออนไลน์ ยังระบุว่า ก่อนหน้านั้น กองทัพเรือเคยเสนอจัดซื้อเรือดำน้ำรุ่นดังกล่าวมาแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา จำนวน 3 ลำ ในวงเงิน 3.6 หมื่นล้านบาท แต่ได้รับการต่อต้านอย่างหนักจากสังคม ที่มองว่าในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ประชาชนเดือดร้อน แต่ทหารจะทุ่มเงินมหาศาลจัดซื้อเรือดำน้ำ แม้กองทัพเรือจะออกมายืนยันว่า เงินที่ใช้มาจากงบประมาณประจำปีของกองทัพเรือเองไม่ได้ขอเพิ่มจากรัฐบาล พร้อมทั้งแจกเอกสาร 9 หน้าชี้แจงถึงความจำเป็น แต่ไม่สามารถลดกระแสดังกล่าวได้ จนต้องชะลอการจัดซื้อออกไปในที่สุด
ล่าสุดวันนี้ (1 ก.ค.59) มติชนออนไลน์ รายงาน ท่าทีของ พล.อ.ประวิตร ถึงกรณีการแผนการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนจำนวน 3 ลำ ดังกล่าวด้วย โดย พล.อ.ประวิตร ให้สัมภาษณ์ ว่า แผนจัดซื้อเรือดำน้ำจำนวน 3 ลำ มูลค่าลำละ 1.2 หมื่นล้านบาทนั้น ถือว่าไม่มากเนื่องจากสามารถผ่อนชำระเป็นเวลาร่วม 10 ปี ทั้งยังสามารถใช้งานได้ยาวนาน ส่วนเรื่องเทคโนโลยีของจีนที่หลายฝ่ายยังมีข้อกังขาว่าสู้ชาติอื่นไม่ได้นั้น ตนรับรองว่ามันดีแล้ว ใช้ได้แน่นอน แล้วเป็นเทคโนโลยีใหม่
เมื่อถามว่า กองทัพเรือเคยมีกองเรือดำน้ำ แต่ถูกยุบไป เนื่องจากปัจจัยทางภูมิศาสตร์ชายฝั่งทะเลไทยมีความลึกไม่มาก แต่ทำไมถึงยังมีแผนจัดซื้ออีกในยุคนี้ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ทรัพยากรธรรมชาติฝั่งอันดามันของเรามีจำนวนมาก อีกทั้ง ประเทศเพื่อนบ้านเราก็ล้วนแต่มีเรือดำน้ำทั้งหมด เมียนมายังมีตั้ง 10 ลำ ซึ่งไม่ได้ซื้อเรือเก่าเลย
 พล.อ.ประวิตร กล่าวด้วยว่า สื่อก็ต้องช่วยกัน กองทัพเรือเป็นเจ้าของเรื่องก็ต้องไปดู ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาลซึ่งขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นทำความตกลงร่วมกัน อยู่ในขั้นดำเนินการ แต่ชั้นนี้กองทัพเรือได้ไปพิจารณารายละเอียดไว้หมดแล้ว แต่ยังต้องใช้ระยะเวลาอีกนาน กองทัพเรือกำหนดแล้วว่าจะซื้อ เบื้องต้นจะใช้ประมาณปี 2560 จัดซื้อเรือดำน้ำลำแรกก่อน ต้องค่อยๆทำ ไม่ใช่ใช้งบประมาณแบบเศรษฐีเสียเมื่อไหร่ ต้องใช้แบบคนยากคนจน ซึ่งเป็นแผนงานของกองทัพเรือตั้งแต่ปี 2551-2552 แต่ตอนนั้นตนขอให้ระงับไว้ก่อน

เครือข่ายนักวิชาการต่างประเทศ เรียกร้องปล่อย 7 น.ศ.รณรงค์ประชามติ


เครือข่ายนักวิชาการในภาวะเสี่ยง หรือ Scholars at Risk (SAR) กระตุ้นนักวิชาการ-นักศึกษาทั่วโลกเรียกร้องประยุทธ์ปล่อย 7 ประชาธิปไตยใหม่
30 มิ.ย. 2559 เครือข่ายนักวิชาการในภาวะเสี่ยง หรือ Scholars at Risk (SAR) ในกรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ออกจดหมายเปิดผนึกรณรงค์ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปล่อยนักศึกษาและนักเคลื่อนไหวของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ 7 คนที่ถูกกักขังโดยทันที และหยุดการดำเนินคดีนักศึกษาที่แสดงออกความคิดเห็นอย่างสันติ
จดหมายเปิดผนึกดังกล่าว สืบเนื่องจากกรณีการจับกุมนักศึกษาและสมาชิกสหภาพแรงงาน จำนวน 13 คน ที่ทำกิจกรรมแจกเอกสารที่มีข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญที่จะลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ที่การเคหะบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ โดยเจ้าหน้าที่เห็นว่าการเผยแพร่ข้อมูลเป็นการละเมิดกฎหมาย มีการจับและยึดเอกสารโดยทันที ทั้งนี้ 13 นักกิจกรรมนักศึกษาและแรงงานถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ในประเด็นที่ชุมนุมเกิน 5 คน ฝ่าฝืนมาตรา 61 พ.ร.บ.ประชามติ พ.ศ.2559 (ก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย) และประกาศ คมช. 25/2549 เรื่องฝ่าฝืนไม่พิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งเจ้าพนักงาน ซึ่งหากถูกตัดสินว่ามีความผิด อาจมีทั้งโทษจำคุก เสียค่าปรับ และการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
ในกลุ่ม 13 คนมี 6 คนยื่นขอประกันตัวและได้รับอนุญาตจากศาลทหารในเวลาต่อมา แต่  7 คนที่ถูกกักขังอยู่ไม่ขอประกันตัวและยืนยันว่าการกระทำไม่ผิดกฎหมาย โดยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ศาลทหารสั่งฝากขังผัดแรก และในวันที่ 5 กรกฎาคม จะมีการฝากขังผัดสอง
เครือข่ายนักวิชาการในภาวะเสี่ยง (SAR)  เขียนจดหมายเปิดผนึกและชวนสมาชิกในเครือข่ายส่งจดหมายถึงพันเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐมนตรีว่ากระทรวงการต่างประเทศ และอัยการสูงสุด ด้วยการส่งฉบับถึงทั้ง จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา และ ซาอิด ราอัด อัล ฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เรียกร้องปล่อยให้นักศึกษา 7 คนที่ถูกกักขังอยู่ในเรือนจำโดยทันที และยกเลิกข้อหาและหยุดกระบวนการดำเนินคดีต่อทั้งอีก 6 คนที่ถูกจับในเวลาเดียวกัน พร้อมยืนยันว่าการกระทำของนักศึกษาประชาธิปไตยใหม่ไม่ใช่การกระทำที่ผิดกฎหมายและเป็นสิทธิที่ควรถูกปกป้อง ไม่ใช่ละเมิด
สำหรับเครือข่ายนักวิชาการในภาวะเสี่ยง (SAR) เป็นเครือข่ายของนักวิชาการและสถาบันการศึกษาทั่วโลกที่ร่วมตัวกันปกป้องนักวิชาการและนักศึกษาที่ถูกคุกคามโดยรัฐและสนับสนุนและส่งเสริมเสรีภาพทางวิชาการ โดยจะมีการบันทึกกรณีการจับกุม กักขัง การสังหาร และการละเมิดสิทธิชนิดอื่น นอกจากนี้ SAR ยังทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการจำกัดเสรีภาพทางวิชาการและการแสดงออกความคิดเห็นอย่างสันติโดยนักวิชาการและนักศึกษา

"ผมต้องมา แม้ไม่รู้จักกัน" อาจารย์-นักเขียนผู้มีโควต้า เข้าเยี่ยม 7 นักโทษประชามติ


กลุ่มนักเขียน-อาจารย์เข้าเยี่ยม 7 นักโทษประชามติ พร้อมปล่อยลูกโป่งรณรงค์ไม่ผิด ไอดา บก.นิตยสารอ่าน ระบุชัด “พวกเขาตัดสินใจแล้ว การเข้าไปของเขาเป็นการต่อสู้ การมาเยี่ยมก็เพื่อมาแสดงการสนับสนุนพวกเขา”
1 ก.ค. 2559 เวลาประมาณ 11.30 น. ที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ กลุ่มนักเขียน อาจารย์ ได้เดินทางมาเข้าเยี่ยม 7 ผู้ต้องขังขบวนการประชาธิปไตยใหม่ หรือ NDM ซึ่งถูกจับกุมคุมขังหลังจากออกไปจัดกิจกรรมแจกเอกสารแสดงความเห็นแย้งต่อร่างรัฐธรรมนูญ จนถูกจับกุมและตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 เรื่องการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรคสอง และความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศ คมช. ฉบับที่ 25/2549 เรื่องการไม่พิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งของเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้เข้าเยี่ยมวันนี้ประกอบด้วย เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์มาหวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บารมี ชัยรัตน์ ผู้ประสานงานสมัชชาคนจน ไอดา อรุณวงษ์ สุชาติ สวัสดิ์ศรี อังศุมาลี เจ้าของนามปากกา สิเหร่ เวียงวชิระ บัวสนธ์ อธิคม คุณาวุฒิ และนักเขียนรวมถึง บก. สำนักพิมพ์หลายแห่ง
สำหรับกฎของเรือนจำที่เพิ่งบังคับใช้เข้มงวดหลังรัฐประหารได้กำหนดให้ผู้ต้องขังแต่ละคนสามารถมีญาติ/เพื่อนเยี่ยมได้ไม่เกิน 10 คนและต้องระบุรายชื่อให้ชัดเจน นอกเหนือจากรายชื่อดังกล่าวจะไม่สามารถเยี่ยมได้
"ผมรู้สึกแปลใจที่เขาใส่ชื่อผมเพราะเราไม่รู้จักกันมาก่อน หรืออาจเคยเจอแต่ก็จำกันไม่ได้ พอทราบข่าวว่ามีชื่อผมผมเลยต้องรีบมาเพื่อมาให้กำลังใจพวกเขา" บารมีกล่าว
ทั้งนี้ก่อนหน้าการเข้าเยี่ยมกลุ่มนักเขียนไปร่วมกันปล่อยลูกโป่งหน้าเรือน จำเป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพที่ขาดหายไปจากสังคมนี้ และร่วมบริจาคหนังสือเข้าห้องสมุด
เดชรัตกล่าวภายหลังเข้าเยี่ยมว่า หลายคนมีสภาพอ่อนเพลียอาจเพราะสภาพอากาศและการนอนหลับที่ไม่ค่อยดี ส่วนของฝากจำพวกของกินของใช้ที่ฝากกันก่อนหน้านี้บางส่วนยังไม่ได้รับ พวกเขากระหายจะทราบข้อมูลข่าวสารภายนอกมากเพราะไม่ได้รับทราบข่าวสารเลยใน เรือนจำ เพื่อนๆ ต้องเล่าสถานการณ์ต่างๆ ให้ฟังและพวกเขายังหวังอยากให้การณรงค์เกิดขึ้นได้อย่างปกติ ส่วนกรณีของปอ กรกช แสงเย็นพันธ์ ศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แสดงความเป็นห่วงน้องๆ กลุ่มเสรีเกษตรว่าจะโดนทางมหาวิทยาลัยลงโทษทางวินัยหรือไม่ ซึ่งตนเองได้แจ้งให้ปอทราบว่า ตนได้แจ้งทางอธิการบดีไปแล้วว่าน้องๆ ไม่มีความผิดและตอนนี้ไม่มีการลงโทษจากมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด
คณะนักเขียนปล่อยลูกโป่งเสรีภาพหน้าคุก-บริจาคหนังสือผู้ต้องขัง
สุชาติ สวัสดิ์ศรี จิรภัทร อังศุมาลี เจ้าของนามปากกา สิเหร่ เวียงวชิระ บัวสนธ์ อธิคม คุณาวุฒิ และนักเขียนรวมถึงบก.สำนักพิมพ์หลายแห่ง มาร่วมกิจกรรมปล่อยลูกโป่ง 'รณรงค์ไม่ผิด' หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ พร้อมมอบหนังสือให้ ชลธิชา แจ้งเร็ว สมาชิก NDM เป็นตัวแทนนำส่งเข้าเรือนจำ
"มันเป็นตลกร้ายที่ตอนนี้เราต้องมารณรงค์เพื่อให้ได้รณรงค์" แมน ปกรณ์ อารีกุล สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ หรือ NDM
สุชาติกล่าวว่า พวกเขามาเพื่อให้กำลังใจนักศึกษานักกิจกรรม และต้องการแสดงให้สังคมได้เห็นว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและความยุติธรรม เป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานสำหรับสังคมประชาธิปไตย และต้องการให้การปล่อยลูกโปร่งเป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพที่ขาดหายไปจากประเทศนี้
สุชาติกล่าวด้วยว่า การแสดงออกและการรณรงค์เป็นสิทธิของประชาชน แต่จะไปโหวตเช่นไรเป็นเรื่องเสรีภาพของบุคคล ส่วนหนังสือนั้นตั้งใจบริจาคหนังสือดีๆ ให้ผู้ต้องขังโดยทั่วไปตลอดจนผู้คุมให้ได้อ่านด้วย
ไอดา บก.สำนักพิมพ์อ่าน ผู้ริเริ่มกิจกรรมนี้กล่าวถึงจุดเริ่มต้นว่า เป็นเพราะนักศึกษานักกิจกรรมที่ถูกขังแจ้งออกมาว่าอยากอ่านหนังสือ จึงได้เริ่มสอบถามสำนักพิมพ์ นักเขียนต่างๆ ซึ่งมีคนสนใจร่วมมากจึงคิดว่าน่ากระจายข่าวในวงกว้างเพื่อเป็นพื้นที่ให้ผู้ คนได้แสดงออกถึงการให้กำลังใจหรือสนับสนุนการต่อสู้ของพวกเขา โดยกิจกรรมนี้จะรวบรวมหนังสือที่มีผู้นำมาให้บริจาคแก่ห้องสมุดในเรือนจำ เพื่อให้ผู้ต้องขังอื่นๆ ได้อ่านด้วย และจะรวบรวมนำมาบริจาคเรื่อยๆ
"มันไม่ใช่เรื่องน่าเศร้า พวกเขาตัดสินใจแล้ว การเข้าไปของเขาเป็นการต่อสู้ การมาเยี่ยมก็เพื่อมาแสดงการสนับสนุนพวกเขา หากเศร้าหรือวิตกกังวลมันเป็นการลดทอนเขาเปล่าๆ" ไอดากล่าว

กต.ยันใช้งบเพียง 132 ล้านหาเสียงชิงเก้าอี้คณะมนตรีความมั่นคง UN


1 ก.ค.2559 จากกรณีเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ลงคะแนนเสียงเลือกผู้ดำรงตำแหน่ง ประเภทสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือ UNSC โดยในส่วนส่วนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกคาซักสถานได้ 138 เสียง ขณะที่ไทยได้ 55 เสียง ทำให้คาซักสถานได้เป็นสมาชิกยูเอ็นเอสซีในสัดส่วนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (อ่านรายละเอียด)

วันนี้ (1 ก.ค.59) สำนักข่าวไทย รายงานว่า ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กล่าวถึงกรณีที่มีผู้กล่าวอ้างว่า กต. ใช้งบประมาณกว่า 600 ล้านบาท ในการหาเสียงชิงตำแหน่งสมาชิกไม่ถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC)  โดยยืนยันว่ายังไม่เคยเห็นตัวเลขดังกล่าว และจากการตรวจสอบข้อมูลในกระทรวงก็ไม่พบตัวเลขดังกล่าวเช่นกัน
“เรื่องนี้เป็นประเด็นทางการเมือง เพื่อสร้างความปั่นป่วน เพราะในข้อเท็จจริงมีการใช้งบประมาณเพียง 132 ล้านบาท อย่างเป็นประโยชน์ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้” ดอน กล่าว
ดอน กล่าวว่า การแข่งขันหาเสียงมีหลายปัจจัย โดยเฉพาะความมีเสถียรภาพของประเทศ ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาไทยมีปัญหาทางการเมืองมาโดยตลอด และบุคคลที่ออกมากล่าวอ้างเรื่องการใช้งบประมาณนี้ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ  ก็ไม่ได้ดำเนินการใด ๆ
นายดอน ยังกล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีส่งผู้แทนไปชี้แจงต่อ บัน คี มูน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (UN)  ว่า เป็นการอธิบายให้ทราบและชี้แจงข้อสงสัยถึงสถานการณ์การบ้านเมืองไทย เนื่องจากมีกลุ่มบุคคลได้รายงานสถานการณ์ของไทยให้เสมือนว่ามีสารพัดปัญหา ทำให้ UN เริ่มสนใจสถานการณ์ในไทย และย้ำว่าที่ผ่านมาไทยไม่เคยจำกัดสิทธิเสรีภาพ โดยเฉพาะสื่อมวลชน แม้จะมีรัฐบาลที่จะมาจากการรัฐประหารก็ตามซึ่ง UN ก็เข้าใจ

ไพศาล ระบุสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ 600 กว่าล้าน ยิ่งลักษณ์ 400 กว่าล้าน

วันนี้ ไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Paisal Puechmongkol ในลักษณะสาธารณะ ระบุถึงกรณีดังกล่าวด้วยว่า ค่าใช้จ่ายเดินทางประสานงานแข่งเป็นสมาชิกไม่ถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติเท่าไหร่ ถ้านับแต่สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ 600 กว่าล้าน ถ้านับจากสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 400 กว่าล้าน และถ้านับจากสมัยรับเวร 22 พ.ค.57 ก็ 120 กว่าล้าน
ขณะที่ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.ที่ผ่านมา ไพศาล โพสต์ถึงกรณีไทยพ่ายคาซัคสถานดังกล่าวด้วยว่า บทเรียนครั้งนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลนักการเมืองเริ่มไว้ก่อนถูกยึดอำนาจหลายปี และลงทุนหาเสียงมานานแล้ว รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์  จำเป็นต้องแบกรับปัญหามากมายมาแก้ และรัฐบาลขี้ข้าฝรั่งก็หลงเชื่อว่า ฝรั่งจะล็อบบี้ให้ชนะคาซัคสถาน ขอว่าอย่าด่าผิดตัวละกัน โน่นต้องด่าพวกรัฐบาลนักการเมืองและพวกหน้าโง่แต่อวดดี

'ศูนย์ทนายสิทธิ' จี้รัฐยุติการคุกคามกิจกรรม 'เดินเพื่อสิทธิ ชีวิตคนอีสาน'


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ยุติการคุกคามเสรีภาพในการแสดงออกกิจกรรม “เดินเพื่อสิทธิ ชีวิตคนอีสาน” เคารพต่อพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนที่ไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม พร้อมขอสังคมร่วมตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ 

1 ก.ค.2559 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ยุติการคุกคามเสรีภาพในการแสดงออกกิจกรรม “เดินเพื่อสิทธิ ชีวิตคนอีสาน” 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ ระบุว่าได้ติดตามสังเกตการณ์กิจกรรม “เดินเพื่อสิทธิ ชีวิตคนอีสาน” หรือ Walk for Rights ของกลุ่มขบวนการอีสานใหม่ New E-Saan Movement ซึ่งเป็นกิจกรรมการเดินเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาโดยรัฐในพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งตั้งแต่เริ่มกิจกรรมวันที่ 4 มิ.ย.59 ได้มีเจ้าหน้าที่มาติดตามถ่ายภาพการทำกิจกรรมโดยตลอด จนกระทั่งวันที่ 30 มิ.ย. 2559 และขณะทางกลุ่ม พักผ่อนอยู่ในบริเวณวัดเหล่าโดน ตำบลหนองแคน อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารทั้งในและนอกเครื่องแบบ และฝ่ายปกครองกว่า 20 นาย เข้ามาบังคับไม่ให้ทางกลุ่มนอนพักในพื้นที่ดังกล่าว โดยอ้างอำนาจตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะพ.ศ.2558 พร้อมทั้งสอบถามและบังคับให้แอดมินเพจขบวนการอีสานใหม่ลบคลิปวีดีโอที่เกี่ยวกับการคัดค้านร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ....หากไม่ลบทางกลุ่มจะไม่สามารถเดินทางไปไหนได้
แถลงการณ์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ ระบุด้วยว่า การกระทำดังกล่าวทำให้กลุ่มขบวนการอีสานใหม่ต้องลบคลิปวีดีโอและภาพการเข้ามาเจรจาของเจ้าหน้าที่ทหารออกจากเพจ และเดินทางออกจากที่พักในเวลาประมาณ 18.30 น.ท่ามกลางความมืดโดยไม่มี่จุดหมายว่าจะไปพักค้างคืนที่ใด จนทางกลุ่มต้องเดินเท้าต่อมาเวลา ปักหลักค้างคืนที่โรงพยาบาลราษีไศลในเวลาประมาณ 22.00 น.ห่างจากจุดเดิมเกือบ 10 กิโลเมตร แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ทหารและฝ่ายปกครองจะบังคับให้ออกจากพื้นที่ตลอดเวลา
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ เห็นว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวเป็นการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและกระทำไปโดยปราศจากอำนาจตามกฎหมายด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1. บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุม โดยสงบ เปิดเผย และปราศจากอาวุธ รวมถึงมีเสรีภาพที่จะแสดงออกรับหรือเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร อันเป็นสิทธิที่ถูกรับรองไว้ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) กลุ่มขบวนการอีสานใหม่จึงมีเสรีภาพในการชุมนุม แสดงออกและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับคลิปวีดีโอดังกล่าวในช่องทางของตน เพื่อเรียกร้องและกำหนดชะตากรรมชีวิตของตนเองตามวิถีทางแห่งระบอบประชาธิปไตย
2. การกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจที่กดดันไม่ให้กลุ่มขบวนการอีสานใหม่พักในพื้นที่ และบังคับให้ลบคลิปวีดีโอในเพจขบวนการอีสานใหม่ ถือเป็นการแทรกแซงการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการละเมิดพันธกรณีตามข้อ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง(ICCPR)
3. การบังคับใช้พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ต้องบังคับใช้โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่บัญญัติขึ้นมาเพื่อคุ้มครองการใช้สิทธิและเสรีภาพ  ดังนั้นเจ้าหน้าที่รัฐจึงมีหน้าที่รักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ชุมนุมไม่ใช่ผลักดันผู้ใช้สิทธิเสรีภาพให้ตกอยู่ในอันตรายมากยิ่งขึ้น การอ้าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 เพื่อปิดกั้นมิให้กลุ่มขบวนการอีสานใหม่พักในพื้นที่ดังกล่าวโดยมิได้มุ่งคุ้มครองสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนตามพันธกรณีระหว่างประเทศ จึงเป็นการบังคับใช้ที่ไม่ชอบตามหลักสิทธิมนุษยชน
4. กรณีที่เจ้าหน้าที่เห็นว่าทางกลุ่มกระทำผิดกฎหมายไม่ว่าจะเป็นคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/58 หรือพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะพ.ศ.2558 เจ้าหน้าที่รัฐก็ยังคงต้องปฏิบัติไปตามขั้นตอนตามกฎหมาย ซึ่งไม่มีกฎหมายฉบับใดให้อำนาจเจ้าหน้าที่ไล่บุคคลออกจากพื้นที่สาธารณะดังเช่นเหตุที่เกิดเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.59 การกระทำดังกล่าวจึงเข้าข่ายเป็นการกระทำโดยอำเภอใจและปราศจากอำนาจทางกฎหมายมารองรับ

โดยตอนท้ายแถลงการณ์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ ได้ระบุถึงข้อเรียกร้องด้วยว่า ขอให้ 1. เจ้าหน้าที่รัฐทุกภาคส่วนทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครองเคารพต่อพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม บังคับใช้กฎหมายให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์และมุ่งคุ้มครองสิทธิอันชอบธรรมของประชาชน และยุติการใช้อำนาจโดยมิชอบคุกคาม กิจกรรม “เดินเพื่อสิทธิ ชีวิตคนอีสาน” หรือ Walk for Rights ของกลุ่มขบวนการอีสานใหม่ในทันที  และ 2. ขอให้สังคมร่วมกันตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ เพื่อถ่วงดุลการใช้อำนาจให้เป็นไปอย่างถูกต้องและชอบธรรม การเคารพซึ่งสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเท่านั้นที่จะนำมาสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ